อารมณ์ |
|
สิ่งที่น่ารู้ยิ่งเกี่ยวกับอารมณ์ทางโลกหรือสังขารขันธ์
อารมณ์ในทางโลก เช่น โลภ โกรธ หลง หดหู่ ฟุ้งซ่าน สุขใจ ทุกข์ใจ ตัณหา ฯลฯ. หรือก็คือสังขารขันธ์ในทางธรรม ที่เกิดขึ้นมานั้น ล้วนเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยล้วนสิ้น เว้นแต่เหตุปัจจัยมิได้มี โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆทั้งสิ้น อีกทั้งยังเป็นขันธ์ๆหนึ่งที่จำเป็นของการดำรงชีวิต จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการดำเนินไปของชีวิตอันเป็นปกติ อีกทั้งเป็นอนัตตาจึงหมายความว่าไม่ตัวตน ของมันเองจริง เมื่อไม่มีตัวตนจึงย่อมเข้าไปครอบครองเข้าไปเป็นเจ้าของไม่ได้ เมื่อไม่ได้เป็นเจ้าของมันอย่างแท้จริงจึงย่อมควบคุมบังคับบัญชามันไม่ได้ดังใจ อารมณ์จึงเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น จึงหมายความว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะไปควบคุมบังคับบัญชาเปลี่ยนแปลงใดๆให้เป็นตามใจปรารถนาได้ เพราะเขาทำงานเป็นอิสระจากเรา เป็นไปตามเหตุปัจจัย
(ขันธ์ทั้ง ๕ ทำงานเป็นอิสระจากเรา)
อารมณ์ สามารถเกิดขึ้นจากเหตุ คือ จากการผัสสะของอายตนะภายในใดๆก็ได้ คือเกิดขึ้นได้จากทวารทั้ง ๖ คือทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ, กระทบกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่เมื่อมีการผัสสะกัน เป็นเหตุปัจจัยกันจนส่งผลให้เกิดอารมณ์หรือสังขารขันธ์ต่างๆขึ้นเป็นที่สุดทั้งสิ้น และบางท่านที่มีความเห็นว่าไม่เกิดอารมณ์ใดๆขึ้นก็ได้ หรือไม่มีอารมณ์หรือสังขารขันธ์เกิดขึ้นจากการผัสสะนั้นๆ ในบางครั้งบางคราได้นั้น, เป็นการเข้าใจผิด จึงไม่จริง แต่เป็นเพียงเพราะความไม่รู้ด้วยอวิชชาว่า เป็นการเกิดของอารมณ์ชนิดเป็นกลางๆ หรือเฉยๆ ที่เรียกว่า"อุเบกขา"อีกอย่างหนึ่งเท่านั้น หรือเรียกกันทั่วๆไปได้ว่า อารมณ์เฉยๆ ที่มีความหมายว่าอารมณ์แบบอุเบกขานั่นเอง คืออารมณ์ที่มีอาการของจิตเพียงว่าเป็นกลางๆ เฉยๆ ไม่สุขใจ ไม่ทุกข์ใจ คล้ายดั่งความหมายของอุเบกขาเวทนาหรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดความรู้สึกจากการผัสสะ, ดังมีแสดงอารมณ์เป็นกลางๆไว้ในเจตสิก ๕๒ (ข้อที่ ๓๔ อุเบกขา-ตัตรมัชฌัตตตา คืออุเบกขาของอารมณ์คือสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง)
(ดู อุเบกขาแบบต่างๆ)
นักปฏิบัติโดยธรรมชาติและเพราะไม่ได้สดับในธรรมของพระองค์ มักพยายามที่จะไปควบคุมบังคับอารมณ์หรือสังขารขันธ์ต่างๆโดยไม่รู้ตัว ด้วยคิดว่าเป็นสิ่งที่ควบคุมบังคับมันได้ คือเป็นไปในลักษณะดับมันลงไปได้ด้วยใจสั่ง หรือไม่อยากให้ทุกข์มันเกิดขึ้นมาเลย ไม่อยากให้เป็นไปดังนั้น แต่อยากให้เป็นไปตามใจปรารถนาที่ไม่ต้องการให้ความทุกข์มากระทบได้ หรือเมื่อกระทบกับเหตุที่เป็นทุกข์แล้วก็อยากให้ไม่รู้สึกเป็นทุกข์ ฯ. เช่นอย่าโกรธนะ อย่าเกลียดนะ อย่าหดหู่นะ อย่าฟุ้งซ่านนะ ฯ. ย่อมระงับไม่ได้โดยตรงตามใจปรารถนา ด้วยเป็นการเข้าใจผิดด้วยอวิชชา เพราะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติไม่ได้ เป็นการฝืนสภาวธรรมหรือธรรมชาติของสังขารขันธ์ที่เพียงทำงานต่างๆตามหน้าที่ของตนเท่านั้น ไม่ทำอื่น เป็นไปตามเหตุปัจจัยของเขาเท่านั้น ไม่อาจเป็นไปได้เพียงเพราะใจปรารถนา จึงย่อมไม่ประสพความสำเร็จในที่สุด เพราะอารมณ์หรือสังขารขันธ์นั้นเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น เป็นอิสระจากเรา ด้วยเป็นอนัตตาจึงควบคุมบังคับไม่ได้ เป็นไปตามอนัตตลักษณะ
ดังมีคำกล่าวสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับอารมณ์หรือสังขารขันธ์ คือ ความโกรธหรือโทสะ เป็นตัวอย่างไว้น่าพิจารณาให้เกิดความเข้าใจธรรมยิ่ง ดังนี้
มีผู้เรียนถามหลวงปู่ว่า "ท่านยังมี"โกรธ"ไหม"
ท่านตอบอย่างลัดสั้น ตัดตรงตามความเป็นจริงยิ่งว่า "มี แต่ไม่เอา"
เหตุเพราะ"โกรธ"นั้นเป็นอารมณ์ทางโลกหรือสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง ที่พึงเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัยต่างๆที่ผัสสะกันขึ้นดังที่กล่าว และดำเนินไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น ไปบังคับบัญชาเขาไม่ได้เลย และความโกรธนี้เป็นเพียงเป็นไปตามธรรมชาติของกระบวนธรรมของขันธ์ ๕, จึงเป็นทุกข์ธรรมชาติหรือทุกข์อริสัจเท่านั้น ไม่ใช่ความโกรธที่เกิดจากการประกอบด้วยอุปาทานขันธ์ จึงไม่นอนเนื่องเป็นอนุสัย (หรืออาสวะกิเลสในปฏิจจสมุปบาท) ดังตัวอย่างกระบวนธรรมของจิตหรือขันธ์ ๕ ที่แสดงนี้ ไม่มีเป็นอื่น
(คิดอันเป็นเหตุ) ผัสสะ
ธรรมารมณ์
ใจ
มโนวิญญาณ
สัญญาจํา
เวทนา
สัญญาหมายรู้
สังขารขันธ์(โกรธ) [
เกิดสัญเจตนา(เจตนา,คิดอ่าน)
กรรม คือ
การกระทำต่างๆ ทางใจ(มโนกรรม)เช่นความคิดนึกเป็นทุกข์อันให้โทษ(คิดนึกที่เกิดจากสังขารขันธ์(โกรธ)นี้เป็นผล]
แสดงขันธ์
๕ อย่างละเอียดขึ้นโดยแสดงรายละเอียดของสัญญาต่างๆ
หรือเขียนแบบย่อ ลงไปอีกได้ดังนี้
(คิดอันเป็นเหตุ) ผัสสะ โกรธ เจตนา,คิดอ่าน การกระทำ
ธรรมารมณ์
ใจ
มโนวิญญาณ
เวทนา
สัญญา
สังขารขันธ์
เกิดสัญเจตนา
กรรม
มโนกรรม
เช่นความคิดเป็นทุกข์อันให้โทษ(ความคิดนึก
ที่เกิดจากสังขารขันธ์โกรธนี้เป็นผล)
นักปฏิบัติโดยทั่วไป จึงมักมีวิจิกิจฉาความลังเลสงสัยเกิดขึ้นว่า เมื่อยังมีโกรธ หรือมีอารมณ์ต่างๆเช่นทุกข์ใจ ยังคงเกิดขึ้นอยู่เป็นธรรมดา แล้วจะปฏิบัติไปเพื่ออะไรกัน? ในเมื่อไม่สามารถดับความโกรธ หรือดับความทุกข์ คืออารมณ์ทุกข์(สังขารขันธ์ทุกข์)ต่างๆลงไปได้ ! หรือต้องปฏิบัติอย่างไร จึงดับอารมณ์โกรธหรืออารมณ์ทุกข์หรือความทุกข์ ลงไปได้ ?
ซึ่งหลวงปู่ได้ตอบไว้แล้ว อย่างลัดสั้นกระชับตามความสัจจ์จริงยิ่งแล้วว่า ถึงแม้ว่าท่านมีโกรธ อันเป็นธรรมดาของขันธ์ ๕ คือเกิดสังขารขันธ์ "แต่ไม่เอา" ซึ่งมีความหมายถึง การปฏิบัติในแนวทางที่ว่า ไม่เอา ไม่ยึดถือ ไม่เอาไปปรุงแต่งต่อ หรือปล่อยวาง หรือสรุปก็คือการอุเบกขาสัมโพชฌงค์เสียนั่นเอง อารมณ์โกรธหรือสังขารทุกข์ต่างๆนั้น กล่าวคือแม้มีโกรธหรือสังขารทุกข์ต่างๆย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาตามเหตุปัจจัยของขันธ์ ๕ อันย่อมควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ตามใจปรารถนา ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ด้วยเป็นอนัตตา แต่เมื่อ"ไม่เอา" ก็ย่อมทำให้สังขารขันธ์ทุกข์นั้น เสื่อมจนดับไปด้วยอำนาจธรรมนิยามอันยิ่งใหญ่ เพราะเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ ตามวิสัยของโลก คือเมื่อไม่เอา ไม่ยึดถือ หรือปล่อยวางในอารมณ์นั้นก็คือ แม้เกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่ไม่เอาคือปล่อยวางไม่ไปคิดนึกปรุงแต่งใดๆในสังขารขันธ์(โกรธ)หรือมโนกรรม(ความคิดนึก)ที่เกิดขึ้น ย่อมขาดเหตุปัจจัยให้เกิดการสืบเนื่องหมุนเวียนเป็นวงจรที่สืบเนื่องสัมพันธ์กันต่อไปได้อีก อารมณ์ทุกข์(โกรธ)นั้นๆก็ย่อมต้องค่อยเสื่อมสลายด้วยทุกขังคือคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้ แล้วดับไปเป็นที่สุด ด้วยธรรมนิยาม การดับทุกข์จึงเป็นการไม่ให้ทุกข์เกิดสืบเนื่องต่อไปได้นั่นเอง และเป็นไปดังที่กล่าวไว้แล้วว่า ความโกรธนี้เป็นเพียงเป็นไปตามธรรมชาติของกระบวนธรรมของขันธ์ ๕, จึงเป็นทุกข์ธรรมชาติหรือทุกข์อริสัจเท่านั้น ไม่ใช่ความโกรธที่เกิดจากการประกอบด้วยอุปาทานขันธ์ จึงไม่เป็นความทุกข์ที่ประกอบด้วยอุปาทานที่พระองค์ท่านทรงสั่งสอนให้ดับไป อีกทั้งไม่นอนเนื่องเป็นอนุสัย (หรืออาสวะกิเลสในปฏิจจสมุปบาท)อีกด้วย ดังตัวอย่างกระบวนธรรมของจิตหรือขันธ์ ๕ ที่แสดงนี้ ไม่มีเป็นอื่น ดังภาพ
คิดนึกที่เป็นเหตุ ผัสสะ ธัมมสัญญา ธัมมสัญเจตนา
ธรรมารมณ์ ใจ
มโนวิญญาณ
สัญญาจํา
เวทนา
สัญญาหมายรู้
สังขารขันธ์
เกิดสัญเจตนา(คิดอ่าน,จงใจ)
กรรม คือ
การกระทำต่างๆ เช่นทางใจคือ
มโนกรรม (คือความคิดนึกอันเป็นผลขึ้น)
ถ้าไม่อุเบกขาเสีย
มโนกรรมความคิดนึกที่เกิดจากอารมณ์นี้
ก็จะไปทำหน้าที่เป็นธรรมารมณ์ให้เกิดการสืบเนื่องต่อไปอีกนั่นเอง
เมื่อหยุดการคิดนึกปรุงแต่งต่างๆหรืออุเบกขาใน"มโนกรรม"ที่เกิดจากสังขารขันธ์ ดังภาพล่าง ก็เป็นการตัดวงจรไม่ให้เกิดการสืบเนื่องต่อไปอีก
รูป(ธรรมารมณ์) +
ใจ + มโนวิญญูาณขันธ์ มโน สังขารขันธ์(เกิดมโนกรรมขึ้น)
วงจรแสดงขันธ์ทั้ง๕ ที่วนเวียนปรุงแต่ง(อุทธัจจะอันเป็นสังโยชน์) |
ดังนั้นในการปฏิบัติ จึงไม่ใช่การไปห้ามหรือไปดับ เพื่อไม่ให้เกิดมีอารมณ์หรือสังขารขันธ์ต่างๆเช่นความโกรธเกิดขึ้น เพราะการทำเช่นนั้นเหมือนดั่งเอาหัววิ่งชนภูเขา ย่อมหัวแตกจนตายไม่มีทางสำเร็จผลได้ มีแต่ต้องมีสติรู้เท่าทัน แล้วอุเบกขา อารมณ์หรือสังขารขันธ์ทุกข์ต่างๆนั้นแม้เกิดขึ้นมาแล้ว แต่ก็ต้องเสื่อมคลายจนดับไปเป็นที่สุด ด้วยพระไตรลักษณ์เอง ดังนี้จึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ ก็เพียงเพื่อไม่ให้เกิดการสืบเนื่องต่อไปอีกได้ จึงเปรียบดั่งการใช้น้ำยาดับเพลิง(อุปมาดั่งการอุเบกขาหรือไม่เอา) ที่ฉีดเมื่อเกิดเพลิงลุกไหม้(อุปมาดั่งความทุกข์ คือสังขารขันธ์ทุกข์หรือมโนกรรม)ขึ้นมาแล้วเท่านั้น แต่เมื่อยังไม่เกิดเพลิงไหม้ขึ้น(ซึ่งอุปมาได้ดั่ง ธรรมารมณ์ความคิดนึกทั่วๆไป) ก็ยังไม่ต้องฉีดต้องใช้น้ำยาดับเพลิงนั่นเอง
จำไว้ให้ขึ้นใจจนเป็นมหาสติว่า อารมณ์สุข,ทุกข์ คืออารมณ์ทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล(สังขารขันธ์)ต่างๆนั้นยังย่อมมีอยู่ ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาตามเหตุปัจจัย อย่าคิดหรือพยายาม "ไม่ให้มันเกิดขึ้น" หรือพยายามไป"ดับ"หรือ"ละ"มันโดยตรง จะเป็นการกระโจนก้าวสู่ความผิดพลาดทันที เบื้องแรกเพราะเกิดตัณหาอยากไป"ละ"มันเข้าจนยิ่งดิ้นรนจึงยิ่งเร่าร้อนนั่นเอง๑, อีกทั้งอารมณ์หรือสังขารขันธ์อันเป็นตัวขันธ์ เป็นขันธ์หนึ่งของชีวิต เป็นอนัตตาจึงควบคุมบังคับไม่ได้๑ เหตุก็ด้วยสติไม่รู้เท่าทัน อีกทั้งความไม่รู้ด้วยอวิชชานั่นเอง ซึ่งตรงนี้แหละที่นักปฏิบัติมักพลาดท่าเสียที, ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่เพียงมีสติ"รู้" แล้วให้ปฏิบัติเพียงอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เพื่อการปล่อยวาง ไม่ยึดถือ ไม่เอา ไม่เข้าไปพัวพัน ไม่เข้าไปปรุงแต่ง ด้วยถ้อยคิดคือความคิดนึกใดๆในสังขารขันธ์อีกทั้งมโนกรรมคือความคิดนึกใดๆที่เกิดขึ้นจากสังขารขันธ์ต่อมานั้น คือปล่อยวางจากความคิดนึกในเรื่องราวๆนั้น เมื่อเล็งเห็นแล้วว่าเป็นสังขารขันธ์คืออารมณ์อันเป็นโทษหรือสมควรแก่เหตุแล้ว สังขารขันธ์หรืออารมณ์อันให้โทษหรือทุกข์นั้นจึงย่อมเสื่อมแล้วดับไป ด้วยอำนาจธรรมนิยาม เพราะสังขารขันธ์อันเป็นทุกข์ย่อมไม่สามารถเกิดสืบเนื่องต่อไปได้เมื่อขาดเหตุก่อให้เป็นปัจจัยกัน ดังแสดงในภาพข้างต้นนั่นเอง จึงเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติเพียงเท่านั้น
อีกทั้งสังขารขันธ์หรืออารมณ์ต่างๆ อาทิเช่น ความทุกข์ใจ กังวลใจ หวาดหวั่น ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ หดหู่ใจ โลภ โกรธ หลง ฯลฯ.ใดๆ ที่เห็นว่าเป็นโทษหรือเห็นว่าสมควรแก่เหตุแล้วเหล่านี้ที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยได้ เป็นเพียงทุกขอริยสัจที่พึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดาจากการผัสสะ เป็นวิสัยของโลก ก็เพียงแต่อุเบกขาเสีย ในเหล่ามโนกรรมที่ย่อมเกิดขึ้นตามมาเสีย อารมณ์ต่างๆเหล่านั้นก็ย่อมเสื่อมแล้วดับไป เยี่ยงนี้จึงเป็นการดับทุกข์ที่ถูกต้อง จึงไม่ใช่การที่ไปพยายามไม่ให้มันเกิดขึ้น แต่เป็นการไม่ให้มันเกิดการสืบเนื่องต่อไปอีกได้
ถ้าเราไม่สามารถอุเบกขาในสังขารขันธ์หรือมโนกรรม อะไรจะเกิดขึ้น? ก็ย่อมต้องยอมรับความจริงที่ไม่อาจเลี่ยงหลบได้ว่า ทุกข์หรือสังขารขันธ์นั้นก็ย่อมต้องดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ยิ่งเร่าร้อน ยิ่งรุนแรงขึ้นไปเป็นลำดับ จนอาจมีตัณหาเข้ามาแทรกจนเกิดอุปาทานขันธ์อันเร่าร้อน หรือจนกว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่ามาแทรกแซงจึงดับไป แล้วก็ย่อมสามารถเกิดขึ้นใหม่ได้อีกจากอาสวะกิเลสอีกนั่นเอง จึงต้องมีกำลังจากปัญญาพละมาช่วยเป็นกำลัง คือความเข้าใจการเป็นเหตุปัจจัยกันจึงเกิดทุกข์ขึ้น จึงเกิดความเชื่อมั่นจนเป็นกำลังปัญญาอันดีเลิศ
เมื่อยังมีเหตุก่อ ยังไม่หมดสิ้นไป ก็ย่อมเกิดขึ้นอีกเป็นธรรมดา ก็ปฏิบัติดังเดิมนั่นเอง