จิต กับ ใจ |
|
จิต กับ ใจ มีความหมายคล้ายๆกัน โดยทั่วไปก็มักก็ใช้แทนกันในภาษาพูด จนบางครั้งเมื่อใช้ในการพิจารณาธรรมก็เกิดความสับสน แต่แท้จริงเพียงมีความหมายที่เกยกัน คือคล้ายกัน แม้ไม่เหมือนกันโดยสมบูรณ์ทีเดียว
ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม (หัวข้อที่ ๓๕๖)ของพระเดชพระคุณเจ้าพระธรรมปิฏก ก็ได้กล่าวถึงจิตหรือวิญญาณไว้ดังนี้ (๓๕๖) จิต ๘๙ หรือจิต ๑๒๑ (ธรรมชาติที่รู้อารมณ์, สภาพที่นึกคิด, ความคิด, ใจ, วิญญาณ) "จิต มีไวพจน์ คือ คำที่ต่างเพียงรูป แต่มีความหมายเหมือนกันหรือคล้ายกัน ใช้แทนกันได้หลายคำ เช่น มโน มานัส หทัย บัณฑร มนายตนะ มนินทรีย์ และ วิญญาณ เป็นต้น คำเหล่านี้มีความหมายเกยกัน มิใช่ตรงกันโดยสมบูรณ์ ใช้แทนกันได้ในบางโอกาส มิใช่เสมอไป"เมื่อจัดแบ่งสภาวธรรมทั้งหลายเป็นประเภทๆ ที่เรียกว่าขันธ์ ๕ จิตได้แก่ วิญญาณขันธ์....... |
จิต คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ คือ สิ่งธรรมชาติที่รู้ในสิ่งที่กระทบใจหรือใจกำหนดหมาย กล่าวคือ ธรรมชาติที่รู้แจ้งทั้งใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ที่จรมากระทบ, ในขันธ์ ๕ จิตก็คือ วิญญาณหรือวิญญาณขันธ์นั่นเอง
ใจหรือมโน แท้จริงแล้วเป็นการกล่าวถึงอายตนะภายใน ข้อที่ ๖, ใจมีธรรมชาติที่มีหน้าที่รับผิดชอบเพียงเป็นเครื่องมือในการรับการกระทบกับธรรมารมณ์ความคิดนึก เพียงอย่างเดียว จึงเป็นอายตนะภายในที่ ๖ คือ อวัยวะคือส่วนที่ใช้ในการรับการกระทบสัมผัสกับธรรมารมณ์นั่นเอง, ที่ทำหน้าที่เหมือนกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่รับผิดชอบเป็นส่วนเครื่องรับการกระทบกับอายตนะภายนอกอื่นๆคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นเอง, ดังนั้นใจหรือมโนจริงๆแล้วจึงทำหน้าที่เป็นเพียงเครื่องรองรับธรรมารมณ์ความคิดนึกต่างๆ แล้วจึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดมโนวิญญาณหรือจิตหนึ่งขึ้น
ด้วยเหตุดังนี้นี่เอง ที่ใจคืออายตนะภายในที่ ๖ เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดมโนวิญญาณหรือจิต(จิต คือสิ่งหรือธรรมชาติที่รู้แจ้งในธรรมารมณ์)ขึ้นโดยตรง จึงมีความแนบแน่นเนื่องสัมพันธ์กันตรงๆ จึงเกิดการไปเรียกขานรวมกัน หรือสับสนกันไปบ้างว่า จิตบ้าง หรือใจบ้าง ด้วยทั้งสองคล้ายคลึงและเนื่องสัมพันธ์กันคือมีเป้าหมายเดียวกันที่ธรรมารมณ์ กล่าวคือ ใจที่ทำหน้าที่รับกระทบในธรรมารมณ์ เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดมโนวิญญาณคือจิตที่รู้แจ้งในธรรมารมณ์ จึงเกยชิดแนบแน่นกันอยู่อย่างใกล้ชิด แม้ไม่สมบูรณ์ทั้งหมด, จึงเกิดการใช้แทนกันบ้าง เรียกกันจนก่อความสับสนในผู้เรียนรู้ใหม่ๆ ซึ่งถ้าไม่จำแนกแตกธรรมในขันธ์ ๕ ให้ชัดเจนแล้วย่อมพิจารณาแลเห็นได้ยาก
ธรรมารมณ์
|