สัมมาสมาธิ
|
|
สัมมา แปลว่า โดยชอบ, ดี, ถูกต้อง, ถูกถ้วน, สมบูรณ์, จริง, แท้
สมาธิ แปลว่า ความมีใจตั้งมั่น, ความตั้งมั่นแห่งจิต, การทำให้ใจสงบแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน, การมีจิตกำหนดแน่วแน่อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง(อารมณ์)โดยเฉพาะ
สัมมาสมาธิ จึงมีความหมายว่า การมีความตั้งใจมั่น อย่างถูกต้อง
จึงมีการตีความหมายในสัมมาสมาธิกันไปต่างๆนาๆ บ้างก็อ้างพระไตรปิฎกยกถอดความกันมา จึงมีการตีความหมายกันไปหลากหลายรูปแบบ จนก่อให้เกิดวิจิกิจฉาแก่ผู้ปฏิบัติโดยทั่วไปว่า สัมมาสมาธิเยี่ยงไรจึงถูกต้อง หรือมิฉนั้นก็เข้าใจผิดไปเลยด้วยอวิชชา จึงทำให้การปฏิบัติพาลออกไปนอกลู่แนวทางพระศาสนาอันดีงามยิ่ง โดยไม่รู้ตัว
สัมมาสมาธิ แปลกันตรงตัว ก็คือ สมาธิอย่างถูกต้อง ในทางพุทธศาสนาจึงหมายถึง สมาธิที่ถูกต้อง อันยังผลเป็นไปตามเป้าหมายหรือจุดประสงค์โดยบริบูรณ์ ทางพุทธธรรม เป็นสมาธิในองค์มรรค จึงมีความหมายที่แตกต่างกับสมาธิโดยทั่วไปหรือสมถสมาธิ ที่วัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายในการปฏิบัติ เหมือนดังคำว่า ชาติ ชรา-มรณะ ฯลฯ ในปฏิจจสมุปบาทธรรม ดังที่กล่าวในเรื่อง ชาติ ว่าโดยทั่วไปแม้มีความหมายถึงความเกิดของตัวตนเป็นชีวิต แต่ก็มีความหมายถึงการเกิดขึ้นของสังขาร(สิ่งปรุงแต่ง)ต่างๆทั้งปวงด้วยเช่นกัน ดังนั้นชาติในปฏิจจสมุปบาทธรรม จะไปตีความว่า การเกิดขึ้นของชีวิตหรือตัวตนแต่อย่างเดียว จึงไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เป็นต้น
ส่วนสัมมาสมาธิของพระอริยเจ้า นั้น มีความตามพระสูตรกล่าวไว้ใน มหาจัตตารีสกสูตร ไว้ดังนี้
[๒๕๓] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ
ดังนั้นสัมมาสมาธิในองค์มรรคหรือการปฏิบัติ สำหรับนักปฏิบัติ จึงหมายถึง ความมีจิตหรือสติตั้งมั่นหรืออย่างต่อเนื่องในการปฏิบัตินั่นเอง ส่วนการที่บางครั้งเกิดสมาธิในระดับประณีต หรือเกิดฌานในระดับละเอียดประณีตที่ประกอบด้วยองค์ฌานต่างๆขึ้นด้วยนั้น เป็นเพียงผลพลอยได้ที่ดีงามอย่างหนึ่งถ้าไม่ได้เกิดแต่การไปติดเพลินเสีย คือเป็นเครื่องอยู่เครื่องพักผ่อนหรือวิหารธรรมและกำลังของจิตอันดีเลิศ แต่ถ้าเกิดการติดเพลินเสียแล้วด้วยอวิชชา ก็กลับกลายไปให้โทษในเหล่าวิปัสสนูปกิเลสนั่นเอง, แต่จุดประสงค์สำคัญของสมาธิในการปฏิบัติจริงๆแล้ว ก็คือ การมีสติ อย่างต่อเนื่องหรือตั้งมั่นนั่นเอง
ส่วนมิจฉาสมาธิ แปลว่า ความตั้งใจผิด ได้แก่จดจ่อ ปักใจแน่วในกามราคะ เช่น จดจ่อความสุข, จดจ่อความสบายในสมาธิ, ความจดจ่อในพยาบาท เป็นต้น (ข้อ ๘. ใน มิจฉัตตะ ๑๐) หรือตีความในแง่ของการปฏิบัติทางพุทธศาสนาได้ว่า มิจฉาสมาธิ คือสมาธิที่มิได้นำไปใช้เพื่อการสนับสนุนการเจิรญวิปัสสนา แต่เป็นการหลงผิดนำไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นๆทางโลกหรือโลกิยะ อันเป็นไปเพื่อความสุขสบาย เป็นไปทั้งโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัวด้วยอวิชชาเป็นจำนวนมาก
ผู้เขียนเพียงต้องการแจงเพื่อให้แยกแยะสัมมาสมาธิให้ถูกต้อง ถูกจุดประสงค์ของการปฏิบัติ ตามความเห็นของผู้เขียน เพราะมีการปฏิบัติกันไปในทางสมถสมาธิเสียฝ่ายเดียว จนขาดการวิปัสสนา ก็เนื่องจากความเข้าใจผิดในเรื่องสัมมาสมาธิจากการตีตวามตามพระไตรปิฎกนั่นเอง ที่บางครั้ง แม้ในสติปัฏฐานสูตร ก็มีการกล่าวถึงสัมมาสมาธิในรูปของฌาน คือปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุถฌาน ว่าเป็นสัมมาสมาธิ จึงเป็นที่ยืนยันยึดถือกันอย่างแน่นแฟ้นว่าต้องกระทำดังนี้ให้ได้เป็นสำคัญ ความจริงแล้วเป็นการกล่าวในบทธรรมมานุปัสสนา ที่เพียงต้องการแสดงให้เห็นเข้าใจในฌานสมาธิอย่างเป็นลำดับขั้นเท่านั้น จึงเป็นการกล่าวแสดงตัวธรรมเฉยๆ จึงไม่ได้เน้นแสดงความจำเป็นอันสำคัญยิ่งว่า เพื่อนำไปเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญา จึงไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์เพื่อการดับทุกข์โดยตรงๆที่เกิดขึ้นเนื่องจากความสุขสบายสงบจากอำนาจของฌานสมาธิแต่อย่างใด
เมื่อต้องการปฏิบัติสมาธิ และปฏิบัติได้จนเกิดฌาน,สมาธิในระดับประณีต ก็ถือว่านั่นเป็น สัมมาสมาธิ แต่เป็นสมาธิที่ถูกต้องดีงามในแง่มุมของการปฏิบัติสมถสมาธิ คือการมีจิตแน่วแน่ในอารมณ์หรือสิ่งที่จิตไปยึดกำหนดนั้นๆ จนมีความแน่วแน่นั่นเอง ก็เป็นสัมมาสมาธิอันถูกต้อง หรือกล่าวให้ชัดเจ้งขึ้นได้ว่าเป็นสัมมาสมาธิของฝ่ายสมถสมาธิ กล่าวคือ เมื่อใดที่จิตตั้งมั่นหรือแน่วแน่อยู่ในสิ่งที่กำหนด(อารมณ์)ได้เป็นอย่างดี เป็นสัมมาสมาธิของฝ่ายสมถสมาธิ ดังในสมาธิ ๓ หรือ ฌาน
แต่ถ้าเมื่อใดที่สัมมาสมาธิของสมถสมาธิ ประกอบด้วยการติดเพลิน(นันทิ) หรือยึดติดดำเนินไปในสมถสมาธิแต่ฝ่ายเดียว โดยมีจุดประสงค์โดยตรง หรือแม้แต่โดยไม่รู้ตัวด้วยขาดสติ ปล่อยให้เลื่อนไหลไปติดเพลินหรือนันทิในการเสพความสุข ความสงบ ความสบาย ในผลที่เกิดขึ้นจากอำนาจของฌานสมาธิ สัมมาสมาธิฝ่ายสมถสมาธินี้ ก็กลับกลายเป็นมิจฉาสมาธิหรือมิจฉาฌานโดยธรรม หมายถึงเป็นมิจฉาสมาธิในแง่มุมของพระพุทธศานาเลยทีเดียว และยังให้เกิดโทษตามมาได้อย่างมากมายต่อผู้ไปงมงายแช่เสพ จึงยังผลร้ายทั้งต่อกายและจิตโดยไม่รู้ตัวเพราะอวิชชา ดังเช่นด้วยอาการจิตส่งในไปจดจ้องเสพสุขที่เกิดขึ้นแก่กายและจิตจนเกิดปัญหาในที่สุด
ส่วนสมาธิที่ใช้ในการปฏิบัติวิปัสสนา หรือปฏิบัติในการดับทุกข์ในชีวิตนั้น เป็นสมาธิที่มีจุดประสงค์หรือความหมายต่างกัน คือเป็นสมาธิ ชนิดที่มีสติต่อเนื่อง มีจิตหรือสติตั้งมั่นไม่ไหลเลื่อนด้วยอาการติดเพลินอยู่ในภวังค์หรือองค์ฌาน,สมาธิ แต่เป็นการที่จิตกำหนดอยู่ที่สติ และให้เป็นไปอย่างตั้งมั่นหรือต่อเนื่อง กล่าวคือ การมีสติในธรรมหรือการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่ซัส่ายออกไปปรงแต่งหรือฟุ้งซ่านนั่นเอง อย่างนี้ จึงเป็นสัมมาสมาธิในการปฏิบัติวิปัสสนาหรือการปฏิบัติเพื่อการดับไปแห่งทุกข์
ดังนั้นสัมมาสมาธิ จึงมีความหมายได้ทั้งในแง่สมาธิล้วนๆหรือสมถสมาธิ หรือหมายถึงในแง่มุมของสัมมาสมาธิในการเจริญวิปัสสนาหรือพระศาสนาก็ได้
ดังนั้น การปฏิบัติสมาธิในฝ่ายพระพุทธศาสนา ที่กล่าวกันตามพระไตรปิฎกจึงหมายถึงการฝึกสมถสมาธิเพื่อให้เกิดสัมมาสมาธิ แต่เพื่อจุดประสงค์อันสำคัญยิ่ง กล่าวคือ นำสัมมาสมาธิของฝ่ายสมถสมาธิที่ฝึกปรือไว้นั่นเอง นำมาเป็นบาทฐาน เป็นกำลังของจิต มาดำเนินในขั้นการเจริญสัมมาสมาธิในการดับทุกข์หรือการวิปัสสนา กล่าวคือ นำมาเป็นเครื่องสนับสนุนสติและปัญญา ให้สตินั้นเป็นไปได้อย่างตั้งมั่นหรือต่อเนื่องในการปฏิบัติหรือดำเนินชีวิต อย่างมีสติระลึกรู้เท่าทันหรือพิจารณาในธรรม หรือในกาย เวทนา จิต ธรรม ในสติปัฏฐาน๔ และยังทำหน้าที่เป็นกำลังของจิตหรือพลังจิตในการตัดกิเลสตัณหาที่เกิดขึ้นเหล่านั้นในการปฏิบัติช่วงแรกๆที่อาจต้องช่วยให้จิตมีที่อยู่อันควร
เพราะถ้าไม่เข้าใจธรรมหรือการปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้ว ก็จักนำให้การปฏิบัตินั้นออกไปนอกลู่ผิดทางโดยไม่รู้ตัวหรืออวิชชา เพราะศรัทธาแบบอธิโมกข์เป็นเหตุนั่นเอง จึงถูกน้อมนำไปโดยไม่รู้ตัวอย่างขาดเหตุผล คิดว่าตนปฏิบัติสัมมาสมาธิตามผู้สอนตลอดจนคัมภีร์ที่กล่าวถึงสัมมาสมาธิแต่หมายถึงในสมถสมาธิอันเพื่อเป็นเครื่องหนุนการวิปัสสนาหรือปัญญาในภายหน้า แต่ผู้ปฏิบัติยังไม่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่ายังต้องนำไปปฏิบัติต่อไปในการเจริญปัญญา ดังเช่น นำไปฝึกสติในสติปัฏฐาน๔, หรือนำไปเป็นกำลังในการปฏิบัติตามแนวทางปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจ จึงปฏิบัติแต่สมถสมาธิแต่ฝ่ายเดียว จนเกิดการติดเพลิน(นันทิ)โดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา เนื่องจากความสุขความสงบความสบายต่างๆที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของสมาธิ อันเนื่องการระงับไปของนิวรณ์ ๕ และโดยธรรมชาติของจิตในปุถุชน ที่เมื่อมีสุขเวทนาเกิดขึ้น ก็ย่อมถูกใจ ชอบใจ เป็นธรรมดา จึงเกิดนันทิขึ้น จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสในที่สุด อันมีโทษตั้งแต่น้อยไปถึงมาก แต่ตามปกติไม่ค่อยกล่าวถึงตรงๆ เพราะในกาลก่อนไม่มีการสื่อสารมากมายทั้งทางหนังสือและสื่อต่างๆ จึงมีครูบาอาจารย์ผู้รู้ธรรมคอยกำกับดูแล และด้วยความไม่อยากให้เกิดความกลัวหรือกังวลอย่างผิดๆในการปฏิบัตินั่นเอง แต่ในสมัยนี้ที่การสื่อสารทุกรูปแบบแม้กระทั่งหนังสือหรือเว็บต่างล้วนมีอย่างมากมาย ที่ทำให้นักปฏิบัติมีการศึกษาปฏิบัติกันเองได้ง่ายๆ และเพราะความไม่รู้ด้วยอวิชชา จึงทำให้การปฏิบัติออกไปนอกลู่ผิดทางโดยไม่รู้ตัวจริงๆ จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในสมัยนี้ที่ต้องกล่าวถึง ให้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปเพื่อระวังป้องกันนั่นเอง เพราะเมื่อปฏิบัติผิดไปแล้วเป็นการยากในการแก้ไข จึงควรรู้ทั้งคุณและโทษตามความเป็นจริง(ปรมัตถ์) และเมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้องกล่าวคือดำเนินไปทั้งสมถะและวิปัสสนาแล้วก็ไม่ต้องไปกังวลให้เป็นวิจิกิจฉาเพราะจะเป็นสังโยชน์ ที่ร้อยรัดไม่ให้ดำเนินก้าวหน้าในการปฏิบัติ, เพราะจักไม่เกิดโทษแต่อย่างใด กลับยังประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ผู้ปฏิบัติ เป็นเครื่องสนับสนุนอันจำเป็นยิ่งในการวิปัสสนาเพื่อการดับไปแห่งทุกข์
ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาที่ตั้งอยู่บนหลักความจริง อันมีเหตุผลจริงๆ และเป็นจริงถึงขั้นปรมัตถ์ ดังที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่เนืองๆ และเปิดใจกว้างให้ใช้หลักกาลามสูตรเป็นเครื่องตัดสินใจว่าถูกหรือผิด ถ้าศึกษาโดยโยนิโสมนสิการโดยแยบคายในหลักอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาทแล้ว จักเห็นเข้าใจได้ด้วยตัวเองถึงหลักเหตุผล หรือการมีเหตุมาเป็นปัจจัยจึงเกิดผลขึ้นได้อย่างแจ่มแจ้งว่าเป็นไปตามธรรม(สภาวธรรมหรือธรรมชาติ)ที่ต้องเป็นเช่นนี้เองได้อย่างแจ่มแจ้ง แสดงถึงสัจจธรรมอย่างปรมัตถ์จริงๆ แต่กาลกลับตาลปัตรไปเสียว่า พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่กลับไปงมงายด้านอิทธิปาฏิหาริย์หรือไสยศาสตร์เสียอย่างงมงาย ก็เนื่องแต่การขาดการโยนิโสมนสิการอย่างจริงจัง และสีลัพพตปรามาสตามที่ถ่ายทอดสืบๆต่อเนื่องกันมา ส่วนในผู้ที่ปฏิบัติก็ไปปฏิบัติแต่สมถสมาธิฝ่ายเดียวด้วยความเข้าใจผิดหรืออวิชชา จนยังให้ต้องเป็นไปเช่นนั้นเอง กล่าวคือไปยึดสภาวะบางอย่างอันเกิดแต่อำนาจของฌานสมาธิว่าเป็นไปในการดับทุกข์อย่างถาวรหรือนิโรธ หรือเห็นเป็นไปในแนวทางอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ไสยศาตร์เสีย เพราะความไม่เข้าใจเหตุนั่นเอง
ดังนั้นเมื่อปฏิบัติสมถสมาธิ จึงควรปฎิบัติวิปัสสนาควบคู่ไปด้วย กล่าวคือมีการพิจารณาธรรมควบคู่กันไปด้วย
ธรรมอะไรดีเล่า ? ธรรมที่ถูกจริต ต้องใจ แต่ควรเป็นแก่นธรรมที่ถูกต้องดีงาม
แล้วจะรู้ได้อย่างไรเล่า ? ปัญญาในการธรรมะวิจยะอันครอบคลุมถึงการเลือกเฟ้นธรรมด้วยนั่นเอง ถ้าจะให้กล่าวก็ดังเช่น อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท พระไตรลักษณ์ ขันธ์๕ อุปาทานขันธ์๕ อิทัปปัจจยตา สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ.
เอ๊ะ ! อิทัปปัจจยตาก็ไม่เห็นมีอะไร แค่กล่าวว่า เพราะเหตุนี้มี ผลนี้จึงเกิดขึ้น อ่านเที่ยวเดียวก็เข้าใจแล้ว จะให้พิจารณาอะไรอีก ? นั่นแหละจึงเป็นปัญหาเพราะคิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ยังเป็นเพียงความเข้าใจอย่างโลกๆเท่านั้น จึงไม่ได้โยนิโสมนสิการเพราะเห็นว่าถูกต้องแล้ว แต่ไม่แจ่มแจ้งจนจิตน้อมยอมรับว่าเป็นดังนั้นจริงๆในทุกสรรพสิ่งจนเป็นสัญญาความจำยิ่ง(ปัญญา)
"ว่าโดยสาระสำคัญ สมาธิที่ใช้ถูกทาง เพื่อจุดหมายในทางหลุดพ้น เป็นไปเพื่อปัญญา ที่รู้เข้าใจ สิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง มิใช่เพื่อผลในทางสนองความอยากของตัวตน เช่น จะอวดฤทธิ์ อวดความสามารถ เป็นต้น นั่นเอง เป็นสัมมาสมาธิ" (พุทธธรรม น.๘๒๕ โดยพระธรรมปิฏก)วิปัสสนาสมาธิ
คัมภีร์บางแห่งกล่าวถึง วิปัสสนาสมาธิ เพิ่มเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง แทรกอยู่ระหว่างขณิกสมาธิ กับ อุปจารสมาธิ (เช่น ปฏิสํ.อ.๑๕๐) พึงทราบว่า วิปัสสนาสมาธิ นั้นก็ คือ ขณิกสมาธิที่นำไปใช้ในการเจริญวิปัสสนานั่นเอง และมีความประณีตขึ้นไปเพราะการปฏิบัติ................
(พุทธธรรม หน้า ๘๒๘)
(webmaster - หมายความว่า เป็นการปฏิบัติโดยใช้สมาธิระดับขณิกสมาธิไปในการเริ่มพิจารณาธรรมหรือวิปัสสนา กล่าวคือใช้การคิดพิจารณาธรรมนั้นเป็นอารมณ์หรือเป็นวิตกโดยตรงเลยนั่นเอง เมื่อดำเนินไปได้อย่างแนบแน่นในธรรมในบางครั้งหรือบางขณะก็จะเกิดความประณีตเลื่อนไหลไปสู่สมาธิในระดับละเอียดประณีตขึ้นไปได้เองเป็นลำดับด้วย จึงเจริญสมาบัติระดับประณีตไปด้วยในที่สุด ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมิจฉาฌานหรือมิจฉาสมาธิชนิดไปติดเพลินหรือนันทิในองค์ฌานสมาธิอันยังให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสอีกด้วยอันมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มุ่งหวังในฌานสมาบัติระดับประณีตก่อน โดยขาดการวิปัสสนา, วิปัสสนาสมาธิจึงเป็นสมถวิปัสสนาอันดีงามยิ่ง เหมาะกับทุกเพศ ทุกฐานะ ฯ.)
สัมมาสมาธิ
"ว่าโดยสาระสำคัญ สมาธิที่ใช้ถูกทาง เพื่อจุดหมายในทางหลุดพ้น เป็นไปเพื่อปัญญา ที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง มิใช่เพื่อผลในทางสนองความอยากของตัวตน เช่น จะอวดฤทธิ์ อวดความสามารถ เป็นต้น นั่นเอง เป็นสัมมาสมาธิ"พระธรรมปิฎก
สมาธิ ๓ ฝ่ายวิปัสสนา
คือ
๑.
สุญญตสมาธิ สมาธิอันพิจารณาเห็นความว่าง ได้แก่ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้น
ด้วยการวิปัสสนากำหนดอนัตตลักษณะ
๒.
อนิมิตตสมาธิ สมาธิอันพิจารณาธรรมไม่มีนิมิต คือ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้น
ด้วยการวิปัสสนากำหนดอนิจจลักษณะ
๓.
อัปปณิหิตสมาธิ การเจริญสมาธิที่ทำให้ถึงความหลุดพ้น ด้วยการวิปัสสนากำหนดทุกขลักษณะ
สมาธิ ๓ ฝ่ายสมถสมาธิ
อีกหมวดหนึ่ง ได้แก่
๑.
ขณิกสมาธิ
๒.
อุปจารสมาธิ
๓.
อัปปนาสมาธิ
ข้อคิด แนวทางปฏิบัติ
หลักปฏิบัติ สมถสมาธิ(สมถกรรมฐาน)
- ให้หยุดคิดหยุดนึกทั้งปวง มีแต่สติหรือจิตตั้งมั่นอยู่แต่ในอารมณ์
หลักปฏิบัติ วิปัสสนา(วิปัสสนากรรมฐาน)
- ให้หยุดแต่การคิดนึกปรุงแต่ง มีแต่สติหรือจิตอยู่กับการคิดพิจารณา(ใช้ปัญญา)ในเหล่าธรรมอันเป็นกุศล
หลักปฎิบัติ สมถวิปัสสนา
- เมื่อปฏิบัติสมถสมาธิ(สมถกรรมฐาน)เป็นกำลังแล้ว ให้เจริญวิปัสสนา(วิปัสสนากรรมฐาน)
หนึ่งในสมถวิปัสสนาอันดีงามยิ่ง คือวิปัสสนาสมาธิ
พนมพร