ไปสารบัญ

กระดานธรรม ๓

  นิวรณ์ ๕  

คลิกขวาเมนู  

        นิวรณ์, นิวรณธรรม, นิวรณูปกิเลส  ธรรมหรือสิ่งที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี,  กิเลส(สิ่งขุ่นมัว)ที่ขัดขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้าในธรรม มี ๕ ปรการ  จึงเป็นธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความดีหรือการปฏิบัติ ที่ควรละนั่นเอง   และยังเป็นธรรมที่เป็นปฏิปักษ์หรือคู่ปรับกับฌานสมาธิโดยสภาพธรรม คือโดยสภาพธรรมชาติเอง คือมีสภาพเหมือนดั่ง น้ำกับน้ำมัน หรือน้ำกับไฟ คืออยู่ร่วมกันโดยดีๆไม่ได้ มีคุณสมบัติโดยธรรมชาติที่พยายามแยกกันอยู่,  ดังนั้นเมื่อมีนิวรณ์ก็ไม่สามารถบรรลุคุณความดี  อีกทั้งย่อมเกิดฌานสมาธิขึ้นไม่ได้  และเมื่อมีสมาธิก็ทำให้นิวรณ์ตั้งอยู่ไม่ได้เช่นกัน ไม่อยู่ร่วมกันอย่างโดยดี,  นิวรณ์สิ่งขุ่นมัวหรือกิเลส ที่ทำให้ไม่บรรลุความดี หรือทำเกิดทุกข์ขึ้นนั่นเอง มี ๕ อย่าง คือ  
        
๑. กามฉันท์  ความพอใจ,ความกำหนัด หรือราคะ คือ ความพอใจ ความยินดีใน รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ  หรือกามคุณ ๕  จิตเมื่อสอดส่ายส่งออกไปปรุงแต่งในกิเลสต่างๆเหล่านั้น จิตย่อมไม่สงบระงับความดำรพล่านลงไปได้  ย่อมปรุงแต่งจนทำให้เป็นทุกข์เป็นที่สุด  และ
จึงย่อมไม่สามารถเป็นสมาธิ คือไม่สามารถแน่วแน่ต่อเนื่องอยู่กับอารมณ์ที่กำหนดนั้นๆได้จนเป็นสมาธิ
     
   ๒. พยาบาท  คิดร้ายผู้อื่น  ความอาฆาต พยาบาท  ความขุ่นเคือง  ความขัดข้อง  จิตเมื่อส่งออกไปปรุงแต่งในกิเลสต่างๆเหล่านี้ จิตย่อมไม่สงบระงับความดำรพล่านลงไปได้ ย่อมปรุงแต่งจนทำให้เป็นทุกข์เป็นที่สุด  จึง
ย่อมไม่สามารถเป็นสมาธิได้
        
๓. ถีนมิทธะ  ความหดหู่ซึมเซา  ถีนะ-ความหดหู่ใจ  ความท้อแท้ใจ,  มิทธะ-ความง่วงเหงาหาวนอน ความง่วงงุน ความซึมเซา อันเกิดแต่จิตเป็นเหตุ,  ส่วนการต้องการนอนเพราะร่างกายต้องการการพักผ่อนเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ หรือสภาวธรรมของชีวิต  จิตเมื่อปรุงแต่งอยู่ในกิเลสต่างๆเหล่านี้ จิตย่อมไม่สงบระงับความดำรพล่านลงไปได้  ย่อมปรุงแต่งจนทำให้เป็นทุกข์เป็นที่สุด  
จึงย่อมไม่สามารถเป็นสมาธิได้
        
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ  ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ  อุทธัจจะ - ความฟุ้งซ่าน, กุกกุจจะ - ความรำคาญใจ  อันเกิดจากความฟุ้งซ่านออกไปปรุงแต่งไปในสิ่งต่างๆ ซึ่งเมื่อผัสสะย่อมยังให้เกิดเวทนา  
  เป็นเหตุปัจจัย ให้เกิด  เกิดตัณหาหรือสังขารขันธ์ต่างๆขึ้นได้ เป็นไปตามธรรมคือธรรมชาติจากการผัสสะต่างๆ คือย่อมเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ,ความรำคาญใจต่างๆนาๆขึ้นได้เป็นธรรมดา  เมื่อจิตเมื่อส่งออกไปปรุงแต่งในกิเลสต่างๆเหล่านี้ จากการฟุ้งซ่านหรืออุทธัจจะ ก็ย่อมเกิดความรำคาญใจต่างๆนาๆขึ้น  จิตจึงย่อมไม่สงบระงับความดำริพล่านลงไปได้  ย่อมปรุงแต่งจนทำให้เป็นทุกข์เป็นที่สุด  จึงย่อมไม่สามารถเป็นสมาธิได้
       
 ๕. วิจิกิจฉา  ความลังเลสงสัย  ความลังเลสงสัยในธรรมต่างๆ  ในการปฏิบัติ ฯ. เพราะเกิดจากศรัทธาหรือจากอธิโมกข์ จึงยังไม่เข้าใจหรือยังไม่สามารถเห็นได้ด้วยปัญญาจักขุเอง เมื่อปฏิบัติไปย่อมพบปัญหาบ้างเป็นธรรมดาก็ย่อมไม่สามารถแก้ไขได้คือคิดพิจารณาได้ด้วยตนเอง จึงย่อมเกิดวิจิกิจฉาขึ้นเป็นธรรมดา
ใจย่อมไม่สงบเพราะย่อมเกิดความคิดสงสัยกังวลคือกิเลส จิตย่อมไม่สงบระงับความดำริพล่านต่างๆลงไปได้  ย่อมปรุงแต่งจนทำให้เป็นทุกข์เป็นที่สุด  และย่อมไม่สามารถเป็นสมาธิได้  พึงหยุดความลังเลสงสัยในขณะนั้นเสีย  แต่พึงแก้ไขได้ด้วยปัญญาดยการโยนิโสมนสิการ คือเมื่อจิตสงบแล้วเจริญวิปัสสนาจนเข้าใจ จึงถึงที่สุดของวิจิกิจฉา จิตจึงสงบระงับความดำริพล่านลงไปได้

        การสงบระงับของนิวรณ์ ๕ จึงเป็นสุขยิ่งนัก  แต่การสงบระงับไปของนิวรณ์ทั้ง ๕ มี ๒ แบบ คือ

        ๑.ดับระงับไปด้วยปัญญาเป็นปัญญาวิมุตติ ซึ่งถาวรและเที่ยงแท้

        ๒.ส่วนอีกวิธี ก็ด้วยฌานสมาธิที่เป็นธรรมคู่ปรับหรือปฏิปักษ์กัน ไม่ยอมอยู่ร่วมกันโดยสภาพธรรม จึงเป็นแบบวิขัมภนวิมุตติ คือวิมุตติแบบชั่วขณะหนึ่งๆ คือเกิดขึ้นเมื่อจิตเป็นฌานหรือสมาธิอยู่  เมื่อหลุดหรือเลื่อนไหลออกจากฌานสมาธิ กิเลสก็ยังคงเกิดขึ้นใหม่ได้อีก เพราะฌานสมาธิเป็นสังขารอย่างหนึ่ง จึงย่อมไม่เที่ยง คงสภาพอยู่ไม่ได้ตลอดไป จึงเป็นการชั่วคราวอยู่  และเกิดขึ้นเสมอๆในการปฏิบัติสมาธิ ดังนั้นนักปฏิบัติจำต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ถูกต้อง จำให้มั่น ไม่เช่นนั้นมักหลงด้วยโมหะไปว่า นิวรณ์ที่สงบระงับนั้นเป็นไปด้วยอำนาจฤทธิ์เดชต่างๆนาๆ สิ่งศักดิ์สิทธ์ ตลอดจนอธิโมกข์ไปในผู้สอนแบบผิดๆได้ ฯ. จนเกิดการติดเพลินในฌานสมาธิอันแทนที่จะเป็นคุณ แต่กลับกลายเป็นโทษไปเสียในที่สุด

        และการสงบระงับของนิวรณ์ทั้ง ๕ ลงด้วยอำนาจฌานสมาธินั้น จึงไม่ใช่ด้วยอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือปาฏิหาริย์ใดๆทั้งสิ้น อย่างที่ปุถุชนคนทั่วๆไปเข้าใจกัน  แต่เป็นไปตามหลักธรรมอันยิ่งใหญ่คือตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรมนั่นเอง คือเป็นไปตามหตุปัจจัยนั่นเอง จึงยังเป็นการชั่วคราวอยู่  เกิดแต่เหตุคือเมื่อจิตเมื่อเป็นสมาธิ จิตย่อมอยู่กับอารมณ์ คือแน่วแน่อยู่ในสิ่งที่จิตกำหนดใดได้ดี แม้ในวิถีจิตก็เกิดขึ้นได้  จึงเป็นปัจจัยให้จิตไม่ฟุ้งซ่านซัดส่ายส่งออกไปปรุงแต่งต่างๆนาๆ   จิตเมื่อหยุดคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านออกไปปรุงแต่ง จึงย่อมไม่เกิดการผัสสะให้เกิดเวทนาและสังขารขันธ์อันเป็นทุกข์ขึ้นเป็นธรรมดาในขณะนั้นๆลงไปได้ระดับหนึ่งๆ ชั่วขณะระยะหนึ่งๆ  แท้จริงจึงยังเป็นการสงบระงับแบบชั่วคราวอยู่ ทำให้เกิดความสุขหรือวิมุตติชนิดวิกขัมภนวิมุตติ ซึ่งยังไม่เที่ยงแปรปรวนได้อยู่  ที่จำเป็นต้องเจริญวิปัสสนาต่อไปเพื่อยังให้เกิดปัญญาวิมุตติ ที่ไม่แปรปรวนกลับกลายหายสูญอีกต่อไป  ความสุขสงบจากอำนาจสมาธิจึงเพราะล้วนจากการเป็นเหตุปัจจัยกันดังกล่าว คือเมื่อหยุดระงับการผัสสะต่างๆลงไปได้แล้วด้วยกำลังของฌานสมาธิ แล้วจะเกิดเวทนาและสังขารขันธ์ต่างๆขึ้นมาได้อย่างไร?  เมื่อไม่มีการเกิดขึ้นจิตจึงย่อมสงบระงับ เมื่อสงบระงับ ย่อมเกิดความสุข ฯ.

        ปุถุชนเมื่อเกิดการสงบระงับของนิวรณ์ได้ ซึ่งย่อมเกิดความสุขสงบ จากการระงับไปของจิต ที่ไม่ส่งออกไปผัสสะให้เกิดเวทนาหรือสังขารต่างๆอันเป็นทุกข์  จึงมักพากันหลงผิดงมงายไปต่างๆนาๆว่า เป็นไปด้วยอำนาจวิเศษบ้าง ความศักสิทธิ์บ้าง  ด้วยอิทธิฤทธิ์ของฌานสมาธิจึงดับทุกข์ได้บ้าง  และจากการแนะสอนของผู้สั่งสอนอย่างผิดบ้างจนเกิดอธิโมกข์ในผู้สอนบ้างก็มี ฯ.  แต่แท้จริงแล้วเกิดจากอำนาจหรืออิทธิฤทธิ์ของ ปฏิจจสมุปบันธรรม นี้นี่เอง ซึ่งมีความยิ่งใหญ่ด้วยเป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติ ทั้งเป็นอกาลิโก อันต้องเกิดขึ้นและเป็นไปเช่นนี้เองเป็นธรรมดา  ไม่เป็นอื่นไปได้

        นิวรณ์ ๕ หรือนิวรณธรรมเป็นธรรมจึงป็นปฏิปักษ์ หรือธรรมคู่ปรับกับฌาน,สมาธิ โดยสภาวธรรมคือโดยธรรมชาติเอง  ดุจดั่งนํ้ากับไฟ หรือนํ้ากับนํ้ามัน ที่ย่อมมีสภาวธรรมหรือธรรมชาติที่ไม่รวมอยู่ด้วยกันโดยดีเป็นธรรมดา,   ก็ล้วนเป็นไปและเกิดขึ้นด้วยความเป็นเหตุเป็นปัจจัยกันหรือปฏิจจสมุปบันธรรม กล่าวคือ เมื่อมีนิวรณ์ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้นในจิต  เหล่าฌาน,สมาธิก็ไม่สามารถเกิดขึ้นหรืองอกงามได้อย่างดีงาม,  และเช่นเดียวกัน เมื่อเจริญในสมาธิหรือฌานอยู่ เหล่ากิเลสในนิวรณ์ทั้ง ๕ เหล่าใดเหล่านี้ก็เป็นอันไม่สามารถงอกงามได้ดีหรือระงับไประยะหนึ่งๆเช่นกัน  การระงับนี้ กินเวลาได้นานเท่าใด ขึ้นอยู่กับความชำนาญ,จริต,การสั่งสม,แนวทางปฏิบัติ ฯ.  จึงไม่ใช่เกิดขึ้นแต่เฉพาะในขณะการนั่งสมาธิแบบมีรูปแบบเท่านั้น กล่าวคือความสุขความสงบความสบายตลอดจนการระงับไปของนิวรณ์นั้น สามารถดำเนินเกิดขึ้นและเป็นไปอยู่ในวิถีจิตคือในการดำเนินชีวิตตามปกติธรรมดาได้อีกระยะหนึ่งๆ ที่เพียงแต่แผ่วเบากว่าเท่านั้น แต่ต้องระวังอย่าพึงเพลินหรือติดใจอยากอยู่ในสภาพนั้นตลอดเวลา ด้วยเข้าใจผิดว่าเป็นการดับทุกข์อย่างถูกต้องเพราะความสุขสงบที่ได้รับในขณะนั้นๆ  เพราะจะทำให้เกิดการติดเพลิน ติดสุข ติดปีติ ติดความสงบ ฯ, อันล้วนเป็นวิปสสนูกิเลสขึ้นในที่สุด

        ดังนั้นจึงพึงสังวรและทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า กิเลสที่พึงระงับไปด้วยอำนาจของสมาธิหรือฌานนี้  เป็นไปอย่างชั่วคราว ยังไม่ถาวร  เป็นความสุข สงบ สบาย ที่ยังเป็นวิกขัมภนวิมุตติอยู่  จึงยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการวิปัสสนาให้เกิดปัญญาต่อไปอีก จนกว่าจะเกิดปัญญาวิมุตติจึงเป็นการถาวรไม่กลับกลายหายสูญ   และถ้าเกิดไปติดเพลิน(นันทิ)ในฌานหรือสมาธิเสียด้วยเหตุคือความสุข สงบ สบายที่เกิดขึ้น เป็นเครื่องล่อลวง จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ดี ก็จะกลับกลายเป็นผลร้ายแทนผลดี ดังแสดงออกด้วยอาการจิตส่งในที่เป็นไปพราะไปติดสุข ติดสงบ ติดสบาย อันล้วนย่อมสั่งสมจนเป็นสังขารอันให้โทษอย่างรุนแรงในภายหน้า  ทั้งไม่สามารถก้าวหน้าในธรรมได้อีกด้วย

        ลักษณาการของการเป็นปฏิปักษ์ของฌานสมาธิกับนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ เป็นไปโดยอาการธรรมชาติ  หรือเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบันธรรมคือเกิดขึ้นจากการเป็นเหตุปัจจัยกันนั่นเอง กล่าวคือ สมาธิหรือฌาน มีหตุอันเป็นองค์ประกอบหลักอยู่ที่การมีจิตแน่วแน่หรือเป็นเอกอยู่กับสิ่งที่กำหนด(อารมณ์)  ดังนั้น เมื่อเกิดกิเลสในนิวรณ์ ๕ เหล่าหนึ่งเหล่าใดขึ้นแก่จิตก็ดี  ย่อมหมายถึงจิตย่อมฝักใฝ่สอดแส่คือส่งส่ายหรือตกไปในอารมณ์ของนิวรณ์ ๕ เหล่าใดเหล่านั้นอันใดอันหนึ่ง กล่าวคือ จิตย่อมมีการส่งออกไปคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านไปในนิวรณ์เหล่าใดเหล่านั้นที่เกิดขึ้นมา  ซึ่งเมื่อเกิดการคิดนึกปรุงแต่งขึ้นแล้วย่อมเป็นเหตุปัจจัยยังให้เกิดเวทนาและสังขารขันธ์อารมณ์ต่างๆนาๆขึ้นในสิ่งเหล่านั้น จึงย่อมต้องเกิดความรู้สึก(เวทนา)เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นเป็นธรรมดา  จิตย่อมไม่สามารถตั้งมั่นหรือแน่วแน่อยู่กับสิ่งที่กำหนดเป็นอารมณ์ได้ดี  หมายถึงย่อมต้องซัดส่ายสอดแส่ไปตามกระแสของเวทนา(ความรู้สึก)ที่เกิดขึ้นตามความคิดนึกปรุงแต่งคือฟุ้งซ่านนั้นๆ(จิตสังขาร)ที่เกิดดับ..เกิดดับๆๆ..ขึ้นเสมอๆเหล่าใดเหล่านั้น,  องค์ประกอบหลักที่สำคัญที่สุดของฌานและสมาธิ ก็คือความมีจิตตั้งมั่นหรือจิตที่แน่วแน่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง จึงย่อมเกิดขึ้นไม่ได้   จึงเป็นผลให้จิตย่อมไม่สามารถรวมเป็นหนึ่งเป็นฌานสมาธิระดับประณีตได้นั่นเอง เป็นเหตุเป็นผลกัน ตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรม หรืออิทัปปัจจยตา

         ส่วนเมื่อจิตเป็นฌาน,สมาธิแล้ว ก็เช่นกัน  ก็เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรมเช่นกัน กล่าวคือ แสดงว่าจิตในขณะนั้นมีอารมณ์เป็นหนึ่งหรือเป็นเอกอยู่ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำหนดนั้น(เอกัคตา)  จึงย่อมเป็นปัจจัยให้ คือเกิดผลให้จิตไม่ซัดส่ายสอดแส่ไปในเหล่ากิเลสในนิวรณ์ทั้ง ๕ นั้น  จึงย่อมเป็นเหตุปัจจัยไม่เกิดการผัสสะกับเหล่าความคิดฟุ้งซ่านอันประกอบด้วยกิเลสขึ้น  จึงย่อมไม่เกิดเวทนาหรือจิตสังขารให้ฟุ้งซ่านซัดส่ายหรือเป็นทุกข์(เมื่อผัสสะดับจากการหยุดปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่าน เวทนาจึงดับ เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทธรรม ฝ่ายปฏิโลมหรือนิโรธวารหรือฝ่ายดับทุกข์)  ซึ่งหมายความว่า กิเลสอันเร่าร้อนจากนิวรณ์ทั้ง ๕ นั้นเป็นอันระงับไปนั่นเอง  จึงย่อมเกิดความสงบ  เมื่อเกิดความสงบย่อมเกิดความสุข เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรมอีกเช่นกัน กล่าวคือเมื่อเกิดความสุขแล้ว จิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิ จึงยังให้เกิดสมาธิ(ที่เรียกกันทั่วไปสั้นๆว่าสมถะ,สมถสมาธิ,สมาธิ)หรือฌานระดับละเอียดประณีตได้ดี  เป็นไปดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในปาฏลิยสูตร  เมื่อกายสงบ ย่อมพบความสุข  เมื่อเป็นสุข จิตย่อมตั้งมั่น ขยายความ

         นำมาเขียนแสดงความเป็นเหตุปัจจัยกันตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรมได้ดังนี้

จิตแน่วแน่อยู่กับอารมณ์   เป็นเหตุปัจจัย ให้เกิด  ความสงบ   เป็นเหตุปัจจัย ให้เกิด   ความสุข   เป็นเหตุปัจจัย ให้เกิด   สัมมาสมาธิ   เป็นเหตุปัจจัย ให้เกิด   สมาธิหรือฌานระดับประณีต

         ดังที่กล่าวอยู่เนืองๆเป็นอเนกว่า ความสุข,ความสงบ,ความสบายที่เกิดขึ้นเหล่าใดเหล่านั้นอันเกิดแต่อำนาจของฌานสมาธิระดับประณีตนั้น เป็นเราเป็นผู้ปรุงแต่งขึ้น จึงย่อมเป็นสังขารอย่างหนึ่ง จึงไม่เที่ยง คงทนอยู่ไม่ได้ จึงทรงอยู่ไม่ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเชี่ยวชาญชำนาญยิ่งสักเพียงใดก็ตามที จึงมีอาการเสื่อมไป ดับไปโดยธรรมหรือธรรมชาติ  ตลอดจนเมื่อจิตหวั่นไหวเลื่อนไหลหลุดออกจากสมาธิหรือฌานอันเนื่องจากมีเหตุแห่งทุกข์จรมากระทบผัสสะเข้าโดยธรรมคือโดยธรรมชาติดังเช่นทุกขอริยสัจทั้งหลาย  จึงยังเป็นวิกขัมภนวิมุตติ ที่เหล่ากิเลสยังกำเริบเสิบสานกลับกลายได้อีก   ด้วยเหตุดังนี้นี่เอง เมื่อถอนออกจากฌานสมาธิในระดับประณีตแล้ว จึงต้องเจริญวิปัสสนาทางปัญญากำกับไปด้วยทุกครั้ง ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความเข้าใจระดับปัญญาญาณหรือนิพพิทาญาณ ที่ยังให้เกิดสัมมาวิมุตตอันไม่กลับกลายหายสูญเป็นที่สุด  และเป็นการป้องกันวิปัสสนูปกิเลส อันเกิดจากการติดเพลินในความสุขความสงบความสบาย อันเกิดแต่อำนาจของฌาน,สมาธิ  อันมักแสดงออกในรูปของจิตส่งในหรือจิตส่องในไปแช่นิ่งเสพรส ของความสุขความสงบจากสมาธิหรือองค์ฌานต่างๆอยู่ภายในกายหรือภายในจิตแห่งตน จนเสียการคือเกิดวิปัสสนูกิเลสคือติดสุข

         อนึ่ง วิจิกิจฉา ที่พึงระงับได้ด้วยอำนาจของฌานสมาธินั้น  เกิดขึ้นแต่ในขณะนั้นจิตแน่วแน่หรือตั้งมั่นอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใด จิตจึงวางหรือหยุดการปรุงแต่งในเหล่าวิจิกิจฉาเหล่าใดเหล่านั้นลงไปชั่วระยะขณะหนึ่ง  จึงยังจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญาในการเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง วิจิกิจฉาหรือความคลางแคลงสงสัยจึงดับไปอย่างถาวร  และเมื่อมีวิจิกิจฉาจิตย่อมเกิดสมาธิไม่ได้ เพราะจิตย่อมไปวุ่นวายซัดส่ายไปในความคิดนึกสงสัยจึงปรุงแต่งจนเกิดเวทนาต่างๆนาๆ ดังเช่น วิจิกิจฉาคือสงสัยในการปฏิบัติว่า ใช้พุทโธหรือสัมมาอรหังหรือลมหายใจเป็นอารมณ์ในการปฏิบัติดีกว่ากัน?  ปฏิบัติถูกหรือผิด?  ของอาจารย์คนไหนดีกว่ากัน?....จิตจึงย่อมสงบหยั่งลงสู่สมาธิหรือฌานไม่ได้เป็นธรรมดาเป็นไปตามธรรมหรือปฏิจจสมุปบันธรรมนั่นเอง  ซึ่งแท้จริงแล้วการใช้สิ่งใดบริกรรมหรือกสิณหรือเพ่งก็ตามที  ล้วนมีค่าเหมือนกันหมด เป็นเพียงอุบาย(วิธี)ให้จิตแน่วแน่กับสิ่งนั้นๆได้  ถ้าจิตแน่วแน่กับอารมณ์ที่ยึดหมายได้ก็เป็นสมาธิได้ทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งอาจมีกำลังจิตจากกำลังศรัทธาในสิ่งนั้นๆเกิดขึ้นบ้าง  แต่สาระอยู่ที่การมีจิตแน่วแน่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างแน่วแน่

          จึงเป็นไปดั่งที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้กล่าวไว้ว่า   พูดอย่างถูกต้องที่สุดก็ว่า "ไม่มีนิวรณ์นั่นแหละคือความเป็นสมาธิ"

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน  ถาม - ตอบ เรื่องฌานสมาธิ

 

Google


ทั่วโลก  ค้นหาเฉพาะใน"ปฏิจจสมุปบาท"

 

กลับหน้าเดิม

กลับสารบัญ