กลับสารบัญ

สุปุพพัณหสูตร

พุทธพจน์ และ พระสูตร - ๖๕

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐

 

            เป็นพุทธพจน์ที่กล่าวแสดง ฤกษ์ดี ยามดี มงคลดี และยังรวมถึงได้กระทำการบูชาดีแล้วซึ่งพระองค์ท่านอีกด้วย  อันอำนวยให้เกิดสิทธิโชค คือฤกษ์งามยามดีที่จะนำความสำเร็จผลมาให้,   ส่วนฤกษ์งามยามดี ตามเวลา หรือดวงดาว หรือตามอำนาจของเทพไท้เทวาทั้งปวงนั้น ล้วนเป็นไปตามลัทธิหรือความเชื่อของอัญญเดียรถีย์ต่างๆกันไป  ซึ่งมีทั้งที่เกิดขึ้นมาก่อนพุทธกาล และภายหลังพุทธกาลอยู่ตลอดเสมอๆมา ด้วยการสั่งสมความเชื่อ และอีกทั้งความรู้,ความเข้าใจต่างๆโดยการถ่ายทอดสืบต่อๆกันมา  แม้ในลักษณะอาศัยหลักวิชาการต่างๆบ้างก็มี เช่นสถิติบ้าง ดาราศาสตร์บ้าง คณิตศาตร์บ้าง ฯลฯ. หรือเป็นไปด้วยอธิโมกข์หรือทิฏฐุปาทาน กล่าวคือเป็นไปอย่างงมงายหรือหลอกลวงกันไปเลยก็มีเป็นจำนวนมาก จนปะปน จนแยกแยะไม่ออก    จึงมีความแตกต่างจากทางพุทธศาสนาที่กล่าวเน้นแสดงความสำคัญว่า ขึ้นอยู่กับ หรือเพราะความเป็นไปตามหลักเหตุปัจจัยปฏิจจสมุปบันธรรมเป็นสำคัญหรือเป็นธรรมเอก,  แต่ต่อมาวิชชาทางโลกเหล่านี้ก็ได้แอบแฝงแทรกตัวเข้ามาในพุทธศาสนาด้วยอวิชชาโดยไม่รู้ตัว หรือเพื่อเจตนาส่งเสริมเป็นกำลังใจให้แก่ปุถุชนคนทั่วไป  จนบางอย่างนั้นปะปนกลมกลืนไปราวกับว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธศาสนา แม้แต่ในตำราหรือคัมภีร์เอง จนแยกแทบไม่ออกทีเดียว

             ส่วนในทางพระพุทธศาสนาโดยโลกุตระแล้ว  ถือว่าฤกษ์งามยามดี ก็ล้วนเพราะเป็นไปตามปฏิจจสมุปบันธรรม คือความเป็นเหตุปัจจัยกันของกรรมดี หรือวิบากของกรรมดีนั่นเอง  จึงอยู่ในวิสัยที่สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้ ขึ้นอยู่กับตนด้วยการกระทำเหตุให้ดี  จึงไม่ใช่หมายถึง การควบคุมให้เป็นตามใจปรารถนา,  จึงไม่เลื่อนลอย หรืองมงายไปด้วยไม่รู้ว่าเป็นไปตามหลักวิชาบ้าง หรือมายาล่อลวงด้วยสีลัพพตปรามาสบ้าง   จึงไม่เสียทรัพย์อันไม่ควรเสีย  และไม่เกิดความฟุ้งซ่านหรือความวิตกกังวลจนปรุงแต่งไปต่างๆนาๆจนเป็นทุกข์วิตกกังวลโดยเปล่าประโยชน์

สุปุพพัณหสูตร

             [๕๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย  สัตว์เหล่าใด ประพฤติสุจริตด้วยกาย  ประพฤติสุจริตด้วยวาจา  ประพฤติสุจริด้วยใจ

ในเวลาเช้า  เวลาเช้าก็เป็น เวลาเช้าที่ดี ของสัตว์เหล่านั้น

สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย  ประพฤติสุจริตด้วยวาจา  ประพฤติสุจริตด้วยใจ

ในเวลาเที่ยง  เวลาเที่ยงก็เป็น เวลาเที่ยงที่ดี ของสัตว์เหล่านั้น

สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย  ประพฤติสุจริตด้วยวาจา  ประพฤติสุจริตด้วยใจ

ในเวลาเย็น  เวลาเย็นก็เป็น เวลาเย็นที่ดี ของสัตว์เหล่านั้น

                          สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่าเป็น

                          ฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี และบูชาดี

                          ในผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย  แม้กายกรรมของเขาก็เป็นสิทธิโชค

                          วจีกรรมก็เป็นสิทธิโชค  มโนกรรมก็เป็นสิทธิโชค

                          ความปรารถนาของเขาก็เป็นสิทธิโชค

                          สัตว์ทั้งหลายทำกรรมอันเป็นสิทธิโชคแล้ว

                          ย่อมได้ผลประโยชน์อันเป็นสิทธิโชค

                          ท่านเหล่านั้นได้ประโยชน์แล้ว  จงได้รับความสุข จงงอกงามในพระพุทธศาสนา

                          จงไม่มีโรค ถึงความสุข พร้อมด้วยญาติทั้งมวล ฯ

จบมังคลวรรคที่ ๕

 

 

กลับหน้าเดิม

กลับสารบัญ