หัวข้อธรรม ๓๘

วิธีเปลี่ยนอารมณ์

 คลิกขวาเมนู

ให้ปล่อยวางจากอารมณ์โกรธ หดหู่ เศร้าหมอง ฯ, อันรุนแรง เพื่อผ่อนคลายความเร่าร้อน

        ดังที่ท่านหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้แนะอุบายคือวิธีไว้อย่างหนึ่ง  ซึ่งได้นำมาพิจารณาโดยละเอียดและแยบคาย อีกทั้งได้ลองปฏิบัติทำดูแล้วได้ผลดียิ่ง เห็นว่ามีกำลังมาก ได้ประโยชน์แก่ผู้ที่ถูกอารมณ์(สังขารขันธ์)ต่างๆรุมเร้า จนเร่าร้อนเผาลน ด้วยความทุกข์โศก โกรธ เสียใจ หดหู่ ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ตัณหา ฯ.

        "เมื่อความโกรธเกิดขึ้น เรากลั้นลมหายใจเสีย ความโกรธนั้นก็หายไป แล้วแต่จะเหลือแต่ใจเดิม คือความรู้สึกเฉยๆ  อย่าลืม ทำบ่อยๆ ก็เห็นใจเดิม แล้วความโกรธก็ค่อยๆหายไป"

(ธรรมคำสอนของ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

        ซึ่งก็คืออุบายหรือวิธีการเปลี่ยนอารมณ์อีกอย่างหนึ่งนั่นเอง แต่มีกำลังแรง ด้วยวิธีที่ท่านแนะนำนี้แม้แลดูเป็นคำสอนที่ง่ายลัดสั้น  แต่เมื่อนำมาพิจารณาด้วยเหตุและผลแล้ว ช่างแยบคายทั้งทางธรรมและทางโลก จะเห็นได้ว่า มีเหตุมีผลยิ่ง แต่ต้องประกอบด้วยความมีจิตตั้งใจมั่นและปัญญาพละจึงมีกำลัง เพราะขณะที่กลั้นลมหายใจอย่างมีสติด้วยความตั้งใจมั่นนั้น ช่วยในการเปลี่ยนอารมณ์ทั้งทางโลกได้ดียิ่งนัก เพราะสิ่งที่จิตกำหนดหมายในเรื่องใดๆในขณะนั้น (ทั้งสังขารขันธ์ต่างๆคืออารมณ์โกรธ ทุกข์ หดหู่ ต่างๆ ฯ. คือทั้งความคิดนึกธรรมารมณ์ และมโนกรรมคือความคิดนึกมโนกรรมอันเป็นผลจากสังขารขันธ์) เพราะถูกบีบบังคับด้วยเหตุอันสำคัญอย่างน้อย ๓ ประการคือ ความมีสติระลึกรู้และตั้งใจมั่นในการจะกระทำ๑  อีกทั้งสำคุญยิ่งคือกำลังของปัญญาหรือปัญญาพละ(ด้วยมีความเข้าใจในเหตุและผล)๑  และที่สำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งคือความจำเป็นยิ่งนักของกายในการดำรงชีวิต เพราะลมหรือการหายใจย่อมเป็นสิ่งจำเป็นอันสำคัญยิ่งขาดไม่ได้เลยในการดำรงชีวิต  เมื่อกลั้นลมเสียแล้วย่อมต้องการลมหรือการหายใจเพื่อชีวิตในที่สุด๑   จิตจึงถูกบีบบังคับด้วยความจำเป็นอย่างจำยอมอย่างยิ่งยวดในชั่วขณะนั้นให้ต้องเปลี่ยนอารมณ์(สิ่งที่จิตกำหนดหมายรวมทั้งอารมณ์ทางโลกต่างๆ) คือเปลี่ยนการกำหนดหมายของจิตจากเรื่องต่างๆ ไปในกิจของกายคือการกลั้นลมซึ่งบีบคั้นและจำเป็นยิ่ง ด้วยความจำเป็นถึงชีวิตจึงจำต้องละจาก เหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดทุกข์ได้ชั่วขณะหนึ่ง ก็ด้วยความจำเป็นในการดำรงอยู่ของชีวิตนั่นเอง  สำหรับบางท่านอาจต้องทำหลายๆครั้ง จิตจึงยอมทิ้งจากเหตุคืออารมณ์กำหนดหมายเดิมที่ให้โทษนั้นๆ มาอยู่ที่อารมณ์กำหนดหมายใหม่คือการกลั้นลมด้วยความจำเป็นบังคับ  สังขารขันธ์เดิมๆเช่นความโกรธ ฯ. เพราะเมื่อจิตจำต้องไปกำหนดหมายในเหตุอื่นคือกายในการกลั้นลมเสียแล้วด้วยความจำเป็น จึงย่อมขาดจากการผัสสะคือการกระทบกับเหตุคือธรรมารมณ์หรือมโนกรรมความคิดนึกเดิมๆที่ทำให้เกิดความโกรธ หรือการปรุงแต่งต่างๆ ฯ. ไปชั่วขณะ เมื่อขาดจากเหตุอันเป็นปัจจัยปรุงแต่งเสียแล้วชั่วขณะ ผลก็คือสังขารขันธ์(โกรธ)ย่อมค่อยคลาย..ดับไปเช่นกัน ความโกรธจึงคลายหรือดับโทสะลง.....(สังขารขันธ์หรืออารมณ์อื่นใดก็เฉกเช่นกัน) ด้วยเพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ ล้วนเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตาอันยิ่งใหญ่นั่นเอง  เมื่อเหตุดับ ผลคือบรรดาอารมณ์เดิม(สังขารขันธ์)จึงย่อมจำเป็นต้องคลายและค่อยๆดับไปเองโดยธรรม(ธรรมชาติ)  อย่าลืมเสียว่ามันค่อยๆคลายดับนะ  วิธีนี้จึงเป็นอุบายหรือวิธีในการเปลี่ยนอารมณ์อันดีเยี่ยมอย่างหนึ่ง ยิ่งถ้าประกอบด้วยปัญญาพละ  และอย่าลืมที่ท่านหลวงปู่เตือนสอนเอาไว้ด้วยว่า ต้องทำบ่อยๆ(หมายถึงบางทีบางท่านหรืออารมณ์นั้นรุนแรงจึงอาจจะต้องทำหลายๆครั้ง จึงไม่ใช่หมายถึงการที่ต้องทำเป็นกิจประจำ ทำเฉพาะยามเจอสังขารขันธ์หรืออารมณ์อันรุนแรงเร่าร้อนเผาลนเกินกำลัง) จึงจะค่อยๆหายไป คือคลายจนดับไปอย่างแน่นอนเป็นที่สุด  แต่บางท่านเมื่อลองทำดูแล้วช่วงแรกๆอาจแค่จางคลายแล้วก็ไม่ได้ผล ดังผู้เขียนเองรู้วิธีนี้เมื่อหลายปีก่อนแต่ขณะนั้นยังขาดปัญญาพละ(ความเข้าใจ)จึงปฏิบัติไม่ค่อยได้ผล เพราะแรกๆจิตอาจยังวอกแวกคือยังแอบเข้าไปปรุงแต่งไปมาในเหตุหรือธรรมารมณ์เดิมบ้าง ในมโนกรรมต่างๆบ้าง โดยไม่รู้ตัวก็ด้วยความไม่รู้๑  ด้วยยังไม่มีความเข้าใจเหตุและผล(ปัญญา)จึงไม่มีกำลัง๑  เลยพาลคิดไปเสียว่าไม่ได้ผล  ส่วนบางทีบางท่านก็อยากให้ดับไปทันทีทันใจ ดังเปิดปิดสวิทช์ไฟด้วยตัณหาเร่าร้อน๑(จึงกลายเป็นทุกข์เร่าร้อน)  เพราะมันไม่ใช่การทำปุ๊บหายปั๊บเหมือนดั่งเปิดปิดสวิตช์ไฟหรอกนะ  และข้อสำคัญต้องมีสติระวังอย่าเอนเอียงเข้าไปพัวพันปรุงแต่งในเหตุอีกก็คือหยุดพัวพันไปนึกคิดปรุงแต่งในเหตุเดิมๆต่อไป จิตก็จักค่อยกลับไปอยู่ใจเดิม เฉยๆกลางๆที่หมายถึงใจปกติธรรมดาๆ ที่ยังไม่ถูกครอบงำด้วยเหตุอันยังให้เกิดสังขารขันธ์หรืออารมณ์อันให้โทษนั้นๆ  ใจเดิมนี้จึงไม่ได้หมายความถึงขนาดใจหรือจิตเดิมแท้อันประภัสสร คือ จิตบริสุทธิ์เดิมแท้ๆก่อนที่มีกิเลสตัณหาจรมาครอบครอง

        จิตจะถูกบีบบังคับด้วยความจำเป็นอย่างที่สุดของชีวิต ให้เปลี่ยนไปกำหนดหมายในกายคือลมหายใจในจังหวะตอนที่ใกล้หมดกำลังกลั้นลม คือทั้งจิตและกายย่อมมีอาการดิ้นรนทุรนทุรายกระวนกระวาย จากการกลั้นลมและการต้องการลมเพื่อยังชีวิตนั่นเอง จิตจึงจำต้องทิ้งอารมณ์ที่กำหนดหมายหรือยึดหน่วงเดิม  การกลั้นลมนานเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับร่างกายและจริตตน, สังขารขันธ์หรืออารมณ์นั้นรุนแรงมากน้อยเพียงใด ถ้าน้อยก็อาจกลั้นลมแต่พอควร แล้วอาจต้องทำหลายครั้ง เพราะถึงแม้กลั้นลมน้อยแต่จิตก็ต้องเปลี่ยนอารมณ์มาอยู่ที่การกลั้นลมบ้าง  บางท่านก็จำต้องกลั้นลมสุดกำลังจนจิตดิ้นรนต้องการหายใจ จึงต้องลองหาความพอเหมาะพอดีของตนนั่นแหละเป็นสำคัญในการกลั้นลมมากหรือน้อย ถี่บ่อยแค่ไหน

        ขณะกลั้นลมหายใจควรมีสติคือมีความตั้งใจจดจ่ออยู่กับการกลั้นลม ไม่ใช่สักแต่ว่ากลั้นลม จะทำให้ได้ผลดีกว่า  ร่วมด้วยการอย่าส่งจิตวอกแวกออกไปปรุงแต่งด้วยปัญญาทราบเหตุผล ดังที่ได้พยายามอธิบายแล้ว  ลองกันดู อย่างน้อยก็จางคลายจากอารมณ์(สังขารขันธ์)อันเร่าร้อนแรงกล้า เมื่อเหล่าเหตุจางคลายจนดับ หรือน้อยลงไป..น้อยลง...น้อยลง

        เทคนิคการกลั้นลมนั้น ขอแนะนำจากการปฏิบัติ คือมีสติระลึกรู้ในลม ทำในจังหวะหายใจเข้าออกปกติ ไม่ต้องสูดลมอั้นไว้ ทำในจังหวะหายใจออกตามปกติ เมื่อหายใจออกปกติจนสุดลมแล้ว จึงกลั้นลมไว้  เพราะเมื่อกลั้นลมจนสุดกำลังแล้ว จะได้หายใจเข้าได้สะดวก ไม่มีอาการสะดุดสำลักลมจากการรีบเร่งหายใจเข้าเพื่อชีวิต  เมื่อหายใจได้สะดวก เช่น หายใจเข้าออกพอให้หายอึดอัดหรือหายเหนื่อย(แล้วแต่จริต,ร่างกาย) ก็สามารถทำใหม่ได้ อาจจะต้องทำหลายๆครั้งดังกล่าว จนรู้สึกว่าจิตทิ้งอารมณ์เดิมๆแล้วก็พอ ข้อสำคัญขณะทำขอให้สำรวมสังวรระวังอย่าส่งจิตออกนอก คืออย่าส่งจิตออกนอกไปปรุงแต่งต่างๆนาๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆก็ตามที ดีก็ไม่ ชั่วก็ไม่ บุญก็ไม่ บาปก็ไม่ ชอบก็ไม่ ชังก็ไม่ ฯ. เพราะล้วนเป็นเพียงการหลอกล่อของจิตให้ออกไปปรุงแต่งทั้งสิ้น ให้เกิดเป็นวงจรของทุกข์หมุนเนื่องต่อไปได้

       วิธีนี้จึงเหมาะแก่อารมณ์ซึ่งคือสังขารขันธ์ที่เกิดอย่างเร่าร้อนรุนแรง จนไม่มีกำลังไปอุเบกขาได้เอง เช่น ความโกรธ ความเกลียด ความหดหู่ ความขุ่นเคืองคับแค้นใจ ความกังวล ความกล้ว ความทุกข์ ฟุ้งซ่าน เสียใจ ฯ. ที่ประเดประดังกันมาอย่างรุนแรงเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวาย คือสังขารขันธ์หรืออารมณ์ทั้งหลายที่มีกำลังแรงทั้งสิ้นนั่นเอง จนไม่สามารถหยุดคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆได้ด้วยกำลังตนเอง

แล้วจงหยุดมโนกรรมความคิดนึกที่เกิดขึ้นจากสังขารขันธ์เสีย ก็เพื่อที่ความคิดนึกเหล่านั้นไม่ไปทำหน้าที่เป็นธรรมารมณ์อันเป็นเหตุก่อได้อีกนั่นเอง

 

อุเบกขา อย่างลัดสั้นที่สุด

 

  หัวข้อธรรม

กลับหน้าเดิม