ทุกข์ให้รู้  สมุทัยให้ละ

หัวข้อธรรม ๒๗

แต่ต้องทำอย่างไร

คลิกขวาเมนู

        เป็นกิจญาณในอริยสัจ ๔ คือกิจอันพึงกระทำยิ่ง  เป็นสิ่งที่รู้กันอยู่แต่ต้องปฏิบัติอย่างไร ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม คือปฏิบัตินำไปกระทำเพื่อให้เกิดผลขึ้นได้จริงๆ  เพราะฟังดูแล้วแสนง่ายแต่ทำไมจึงปฏิบัติไม่ได้  ก็เพราะความที่ยังไม่เข้าใจว่า มีทุกข์ให้รู้  รู้อะไร?  แล้วตัณหาให้ละ  ละอย่างไร?  นั่นเอง

        ปุถุชนมีทุกข์ให้ประสบกันอยู่เสมอๆ ดังเช่น ทุกข์เพราะไม่ได้ตามปราถนา ทุกข์เพราะพลัดพราก ทุกข์เพราะประสบสิ่งที่ไม่ถูกใจ  ทุกข์เพราะไม่ได้ในรัก ทุกข์เพราะหนี้สิน ทุกข์เพราะลูกหลานไม่เป็นไปดังใจ  ทุกข์เพราะยากจน ทุกข์เพราะเจ็บเพราะป่วย ฯ. ต่างก็รู้คือรู้ตัวว่าเป็นทุกข์ เร่าร้อนกัน บ่นกันไป ปรึกษากันไปว่าเราเป็นทุกข์ ต่างก็รู้ตัวว่าเป็นทุกข์กันทั้งนั้น  ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่ความหมายของคำว่า"รู้"อย่างแท้จริงในทุกข์ในทางพุทธศาสนา

        ทุกข์ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วมีความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ทนอยู่ด้วยได้ยาก เป็นสิ่งที่ รู้  กันทั่วไปในปุถุชน  การรู้เพียงเท่านี้จึงไม่พอ  เพราะมีทุกข์อยู่หลายแบบ จึงต้องทำความเข้าใจ คือ ให้"รู้"ว่า  มีทุกข์บางอย่างเป็นทุกข์ตามธรรมชาติ เมื่อเป็นธรรมชาติแล้ว จึงพึงเกิดขึ้นและเป็นไปเช่นนี้เอง จึงต้องเข้าใจเพื่อให้เกิดการปล่อยวาง  ทุกข์จาก ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก การปรารถนาในสิ่งใดไม่ได้ในสิ่งนั้น ทั้ง ๗ นี้เป็นทุกข์ธรรมชาติหรือทุกขอริยสัจ  ยังไงก็ต้องเกิดแก่ทุกผู้นาม ไม่มียกเว้น เยี่ยงนี้ก็พอรู้ๆกันอยู่แล้ว  แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นทุกข์อันเร่าร้อนยิ่งกว่าทุกขอริยสัจ และเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้ดับลงไปเสีย กล่าวคือสามารถดับมันลงไปได้ ก็คือทุกข์นั้นก็คือ ทุกข์ที่เกิดจากทุกข์ธรรมชาติทั้งหลายนั่นแหละแต่เป็นปัจจัยร่วมกับอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นตามกิเลสของตัวตน อันมีเหตุมาจากตัณหา กล่าวคือทุกข์ทั่วไปหรือทุกข์ธรรมชาติแล้วประกอบด้วยอุปาทาน หรืออุปาทานขันธ์ ๕ นั่นแหละทุกข์ คือขันธ์ต่างๆที่แอบแฝงหรือถูกครอบงำด้วยกำลังของอุปาทาน ๔ นั่นเอง  จึงเกิดเป็นความทุกข์ที่ประกอบหรือถูกครอบงำซ้ำเติมด้วยกำลังของอุปาทาน ๔ จึงขอเรียกว่าทุกข์อุปาทานหรืออุปาทานทุกข์ก็ได้  หรืออุปาทานขันธ์ ๕ นั่นแหละทุกข์ที่เร่ารอนเผาลนแท้จริง และไม่ใช่ทุกข์ธรรมชาติ แต่เป็นทุกข์ที่ปรุงแต่งขึ้นประกอบด้วยอุปาทาน  ซึ่งสามารถดับได้ด้วยธรรมะของพระองค์ท่าน

        ดังนั้นเราจึงต้องรู้ในขันธ์ ๕ ว่าทุกข์อริยสัจยังมีอยู่เป็นวิสัยของชีวิต,  แต่เมื่อประกอบด้วยอุปาทานแล้ว เป็นอุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นความทุกข์ที่ประกอบด้วยอุปาทานจึงเร่าร้อนและวนเวียนยาวนาน ที่ต้อง" รู้ " ๑,  และเมื่อเกิดทุกข์ขึ้นมาแล้วต้องมีสติระลึก" รู้ "เท่าทันอีก ๑

        ส่วนตัณหาต้อง"ละ"  จะ"ละ"ได้อย่างไร ตัณหาแล้วความจริงก็คือ สังขารขันธ์ในขันธ์ ๕ นั่นเอง คือ เป็นความรู้สึกหรือสิ่งที่ทำให้จิตหรืออาการของจิต ที่ไปปรุงแต่งจิตให้เกิดเจตนาหรือคิดอ่าน(สัญเจตนา)ในการกระทำต่างๆ ทั้งดี ชั่ว และกลางๆ ต่างเพียงแต่ว่าเพียงแต่ตัณหานั้นไปปรุงแต่งจิตให้เกิดเจตนาคิดอ่านคิดเห็นเป็นไปตามอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นตามกิเลสของตัวตน จึงเป็นฝ่ายอกุศลสังขารขันธ์  เมื่อตัณหาเปรียบดั่งสังขารขันธ์แล้วย่อมหมายความว่า มันเป็นอิสระจากเรา ไม่ใช่ของเรา ควบคุมบังคับไม่ได้  จะควบคุมให้เกิด ให้ดับ ย่อมไม่ได้ ด้วยเป็นอนัตตา ดังนั้นตัณหาความทะยานอยาก ความปรารถนา จึงยังคงเกิดขึ้นเยี่ยงนั้น จึงไปห้ามเสียก็ไม่ได้ จึงเป็นเรื่องธรรมดา  เหมือนดังมีผูัเรียนถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ว่า "ท่านยังมีโกรธไหม" หลวงปู่ตอบว่า " มี  แต่ไม่เอา "  เหตุเพราะโกรธอันเป็นตัณหาเป็นอกุศลสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง เป็นขันธ์จึงทำงานเป็นอิสระจากเรา เพราะไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ทำงานตามหน้าที่เขาเท่านั้น ถูกต้องตามธรรม ควบคุมบังคับให้เกิดให้ดับตามใจปรารถนาไม่ได้ จึงคงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา,  แต่ท่านไม่เป็นทุกข์ประกอบด้วยอุปาทาน เพราะความโกรธที่แม้เกิดขึ้นคราแรกเป็นวิสัยของชีวิตแล้วท่านก็ " แต่ไม่เอา " กล่าวคือ ด้วยสติเห็นอกุศลสังขารขันธ์ที่เกิดโดยธรรมแล้ว และย่อมเกิดมโนกรรมหรือความคิดนึกอันเป็นผลหรือเหตุปัจจัยจากสังขารขันธ์  ท่านก็ไม่เอาไปยึดถือ ปล่อยวาง ไม่เอาไปคิดปรุงแต่งต่อให้เป็นเหตุก่อให้ความโกรธนั้นดำเนินสืบต่อไปได้  เมื่อขาดซึ่งเหตุก่อให้เกิดความสืบเนื่องเสียแล้ว มันก็ดับไป ความโกรธคราแรกนั้นมันจำต้องเสื่อมดับไปด้วยธรรมนิยาม  หรือก็คือการอุเบกขาเสียนั่นเอง

 

กลับหน้าเดิม

สารบัญ