buddha

หัวข้อธรรม ๓

ถึงแม้อุเบกขาแล้วก็ตาม แต่ว่า....เป็นกลาง วางใจเฉยไม่ได้

คลิกขวาเมนู

        อุเบกขา คือ การวางใจเป็นกลาง วางใจเฉย เมื่อสติเห็นคือระลึกรู้สังขารขันธ์อันให้โทษหรือสิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมอง เช่น โทสะ(โกรธ) โลภะ(โลภ, ราคะ) โมหะ(หลง, กังวล, กลัว) หดหู่ ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ทุกข์ใจ ตัณหา ฯ. โดยการไม่เอนเอียงเข้าไปปรุงแต่งคิดนึกด้วยถ้อยคิด หรืออาการจิตใดๆ ในสังขารขันธ์ (อันคืออารมณ์ต่างๆ) หรือในมโนกรรม(ความคิดนึกที่เกิดขึ้นจากสังขารขันธ์นั้นนั่นเอง)   ผลก็คือจางคลายหรือดับทุกข์จากอารมณ์(สังขารขันธ์)ที่สติเห็นว่าเป็นโทษดังเช่นที่กล่าวข้างต้น

        อุเบกขา ในที่นี้จึงเป็นการกล่าวถึงการอุเบกขาในโพชฌงค์ (องค์ของการตรัสรู้) หรือที่เรียกกันเต็มๆว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ที่ต้องประกอบด้วยทั้งสัมมาสติและสัมมาปัญญา ในการดับทุกข์  (เนื่องจาก"อุเบกขา"มีหลากหลายความหมาย คลิกไปดูได้)  จัดว่าเป็นธรรมอันมีประโยชน์สูงสุด เมื่อประกอบด้วยสติ และปัญญาพละ ในการดับอุปาทานทุกข์คือทุกข์ชนิดที่ประกอบด้วยอุปาทาน เป็นความทุกข์ที่ประกอบด้วยความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจของกิเลสตน คือยึดถือยึดมั่นด้วยอำนาจของกิเลสอยากให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้นและเป็นไปตามปรารถนาของตนนั่นเอง จึงแสนเร่าร้อนเผาลนกว่าทุกข์ทั่วๆไปตามธรรมชาติหรือทุกขอริยสัจ

        จึงควรฝึกให้มีสติระลึกรู้คือสังเกตุอยู่เสมอๆให้เห็นสังขารขันธ์คืออารมณ์ทางโลกต่างๆหรือมโนกรรมความคิดที่เกิดจากสังขารขันธ์  และมีการพิจารณาโดยละเอียดและแยบคาย(โยนิโสมนสิการ) จนจิตยอมรับตามความเป็นจริงอันยิ่งว่า  เมื่อเกิดการผัสสะ ของอายตนะภายในกับภายนอก เช่น การกระทบกันของความคิดกับใจ หรือตากับรูป หรือกายกระทบสัมผัส(โผฐทัพพะ) ฯ. ขันธ์ทั้ง๕ ย่อมทำงานของเขาไปตามธรรมหรือธรรมชาติ ไม่มีใครไปห้าม ไปหยุดการทำงานของเขาได้ จึงย่อมยังให้เกิดทั้งเวทนาและสังขารขันธ์ขึ้นทุกๆครั้งไป เป็นธรรมดา ห้ามไม่ให้เกิด ไม่ให้มี ไม่ให้เป็นไป ไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะเป็นการทำงานตามธรรมหรือธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ของขันธ์ทั้ง ๕ (ถ้ายังสงสัย ดูการทำงานของขันธ์ทั้ง ๕)   จึงพึงระลึกเตือนสติตนอยู่เนืองๆเสมอๆ สักว่ายังคงเกิดขึ้นเป็นอยู่เช่นนี้เองเป็นธรรมดา

        บางทีบางท่านอาจกล่าวว่าบางครั้งเมื่อเกิดการผัสสะแล้วไม่เกิดอะไรขึ้นก็มี ไม่รู้สึกอะไรเลยจริงๆ เฉยๆ  นั่นเป็นเพราะความไม่รู้ เพราะแท้จริงแล้วมันเกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ว่าแผ่วเบาหรือเกิดเป็นประจำสม่ำเสมอจนเคยชินยิ่งนัก ดังเช่นเกิดเวทนาประเภทอทุกขมสุขเวทนาอันแผ่วเบา คือเกิดความรู้สึกรับรู้จากการผัสสะ ชนิดความรู้สึกรับรู้เป็นไม่สุขไม่ทุกข์จากการผัสสะนั้นอันแผ่วเบา หรือเฉยๆ จึงมีความรู้สึกเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงเข้าใจไปเช่นนั้นว่า ไม่ได้เกิดเวทนาใดๆเลย ซึ่งเปรียบเสมือนดั่งการสวมใส่เสื้อผ้านั่นแหละ(กายกระทบผัสสะ)ซึ่งถ้าไม่สังเกตุหรือกล่าวถึงก็จะไม่รู้สึกจากการสัมผัสใดๆเลย เฉยๆ เป็นกลางๆ ก็เพราะด้วยความเคยชินยิ่งตามที่ได้สั่งสมสวมใส่มาตั้งแต่รู้ความ แต่นั่นแหละได้มีเวทนาเกิดขึ้นแล้ว เป็นเวทนาประเภทอทุกขมสุขเวทนาหรือเฉยๆ เป็นกลางๆ นั่นเอง,  ตาไปกระทบรูปเช่นคนไม่รู้จักทั่วๆไปก็เฉยๆเป็นกลางๆ นั่นก็เป็นความรู้สึกที่เกิดจากการรับรู้ในรูปนั้นเป็นอทุกขมสุขเวทนานั่นเอง   

        ส่วนสังขารขันธ์นั้นเป็นผลที่ย่อมเกิดขึ้นต่อเนื่องสัมพันธ์จากเวทนา เพราะเป็นกระบวนธรรมการทำงานของชีวิตโดยธรรมชาติ ซึ่งเพียงอาจเป็นอาการความรู้สึกของจิตแบบ เฉยๆกลางๆ(เป็นเพียงสภาวะของอารมณ์หรืออาการของจิตอย่างหนึ่งหรือสังขารขันธ์อย่างหนึ่งชนิดอุเบกขา แต่เป็นเพียงสังขารขันธ์คืออารมณ์ หนึ่งในเจตสิก๕๒ ข้อที่๓๔) อันแผ่วเบาเช่นกันเท่านั้นเอง ซึ่งเคยชิน เนื่องจากไม่รู้จึงไม่เคยพิจารณาเห็นเช่นกัน แต่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเพราะเป็นไปตามกระบวนธรรมการทำงานของขันธ์ทั้ง ๕ ที่เนื่องสัมพันธ์กันโดยธรรมชาติ จึงดำรงชีวิตอยู่ได้ (ดุจดั่งลูกศรที่หลุดออกจากแหล่งแล้วนั่นเอง)

เหตุที่แจงความสัมพันธ์ของขันธ์ ๕  เป็นเพียงการจำแนกเพื่อพอให้เข้าใจในกระบวนการทำงานของชีวิตโดยประมาณ ของขันธ์ทั้ง ๕

ที่ต้องทำงานประสานร่วมกันทำหน้าที่โดยธรรมชาติ  ซึ่งไม่สามารถไปแทรกแซงบังคับการทำงานใดๆของเขาได้เลย เป็นไปตามเหตุเท่านั้น

จึงต้องแก้ไขในเหตุ ที่แท้จริงคือมโนกรรมอันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากสังขารขันธ์

เพราะแม้เป็นผลที่เกิดขึ้นจากสังขารขันธ์  แต่จะแปรไปเป็นเหตุก่อให้เกิดการวนเวียนเป็นวงจร ด้วยการอุเบกขา

ใจ    กระทบกัน เช่น ตาเห็นรูป ธรรมารมณ์  ย่อมเกิด มโนวิญญาณ  (การประจวบกันของปัจจัยทั้ง ๓ คือ ผัสสะ)  สัญญาจํา   เวทนา  สัญญาหมายรู้  สังขารขันธ์ต่างๆ(มโนกรรม)

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือทวารทั้ง ๖ ที่ชีวิตมีไว้สื่อสารติดต่อกับโลกภายนอก ก็เป็นไปในลักษณาการเดียวกันกับใจทั้งสิ้นนั่นเอง

อย่าลืมว่า ความจริงแล้ว "ขันธ์ ๕" ต่างล้วนทำตามหน้าที่ของเขาเท่านั้น เป็นอนัตตา

จึงไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา จึงบังคับบัญชามันไม่ได้ ไม่เป็นไปตามปรารถนา

คือต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย คือเป็นไปตามธรรม(ธรรมชาติ)นั่นเอง

ส่วนธรรมารมณ์ความนึกคิด แม้ไม่ได้เป็นขันธ์ ๕ เป็นเพียง "เหตุปัจจัย" อีกประการหนึ่งที่จะไปเป็นปัจจัยร่วมกับขันธ์ ๕

แต่ก็เป็นอนัตตา จึงควบคุมบังคับเขาไม่ได้เช่นกัน และเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต

กล่าวคือ ธรรมารมณ์กับขันธ์ ๕ เป็นเหตุ ให้เกิดผลคือสังขารขันธ์และมโนกรรม ก็จริงอยู่ แต่ทั้ง ๖ นั้นล้วนเป็นอนัตตา จึงไม่ขึ้นอยู่กับใครๆ แม้แต่เรา ควบคุมบังคับจริงๆไม่ได้เลย และยังจำเป็นในการดำรงชีวิตอีกด้วย ไม่มีเสียก็ไม่ได้เลย จึงต้องรู้ตามความเป็นจริง จึงดับเหตุทั้ง ๖ ไม่ได้  จึงต้องอุเบกขา ก็เพื่อไม่ให้มโนกรรมกลับกลายไปเป็นเหตุได้อีก ไปหมุนหมุนเป็นวงจรได้นั้นเอง  มโนกรรมความคิดนึกอันเป็นผล เป็นอนัตตาเช่นกัน ผลของมันจึงต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เราจึวควบคุมบังคับความคิดนึกที่เกิดขึ้นจากสังขารขันธ์(มโนกรรม)ไม่ได้เลย จึงต้องมีสติระลึกรู้ตามความเป็นจริง อย่าไปอยากให้มันไม่เกิด หรืออยากให้มันหายไป อันเป็นตัณหา เพราะเขาทำงานตามหน้าที่ บังคับเขาไม่ได้นั่นเอง  แต่การอุเบกขาเป็นการดับเหตุก่อที่ทำให้ต่อเนื่องนั่นเอง

(ธรรมชาตฺิการทำงานของขันธ์ ๕)

ธรรมารมณ์ (คิดที่เป็นเหตุ เมื่อเกิดแล้วย่อมดำเนินไปตามหตุ)           ใจ         มโนวิญญูาณขันธ์          เวทนาขันธ์

 มโนกรรม                     แสดงวงจรกระบวนธรรมการทำงานของขันธ์ทั้ง ๕  ที่วนเวียนปรุงแต่ง                                 

สังขารขันธ์ คือมโนกรรม(เกิดคิดที่เป็นผล แม้ต้องรับผล ไม่สามารถดับได้  แต่อุเบกขาได้ จึงไม่ไปเป็นเหตุอีกได้)   สัญญาขันธ์

ดังนั้นเมื่อเกิดมโนกรรม แล้วอุเบกขาเสีย ย่อมไม่มีเหตุก่อให้ทุกข์เกิดการสืบเนื่องต่อไปอีก ดังภาพ  ทุกข์ที่แม้เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ย่อมเสื่อมดับไป

        ต้องทำความเข้าใจกันอีกอย่างหนึ่งด้วยว่า แม้มีสติเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เช่น มีสติเห็นในสังขารขันธ์หรือจิตตสังขารต่างๆอันให้โทษที่เกิดขึ้นก็ตาม เช่นเห็นใน โทสะ(โกรธ,ขุ่นเคือง), โมหะ(หลง, กลัว, กังวลใจ ฯ.), โลภะ(โลภ ราคะ ฯ.), ฟุ้งซ่าน, รำคาญใจ, หดหู่, ริษยา ตัณหา ฯ. แล้วถืออุเบกขา เป็นกลาง วางทีเฉย  แต่ถึงแม้อุเบกขาแล้ว มันก็ใช่ว่าจะหายไปในทันทีดังใจ ไม่สามารถเปิดปิดได้ดังใจเหมือนดังสวิตช์ไฟหรอก มันเป็นเช่นนี้เอง แต่เปรียบดั่งเปลวไฟที่แม้เราดับเปลวไฟอันเผาไหม้ร้อนแรงลงไปแล้วก็ตาม แต่ย่อมมีควันลอยคุกรุ่นบ้างระยะหนึ่ง มันเป็นสภาวธรรมชาติ มันต้องเป็นเช่นนี้เองเช่นกัน เป็นธรรมดา  มีสติและปัญญาให้เข้าใจจึงอย่าไปดิ้นรนคือ"อยากไปละ"มันจนเป็นตัณหา ซึ่งย่อมทำให้เป็นทุกข์เร่าร้อนดิ้นรนกระวนกระวายไปเสียอีก  เพราะสักพักควันไฟที่ลอยคุกรุ่นอยู่นั้นก็ย่อมค่อยๆลดลงๆ....เป็นธรรมดา จนดับสิ้นไป เมื่อไม่มีเหตุคือไม่ใส่เชื้อเพลิงและเชื้อไฟเข้าไปเพิ่มเติมอันคือมโนกรรมหรือก็คือความคิดนึกปรุงที่เกิดขึ้นมาจากสังขารขันธ์ที่แปรปรวนไปเป็นธรรมารมณ์  แล้วทั้งเวทนาความรู้สึกที่เกิดจากการรับรู้การผัสสะ และสังขารขันธ์(อารมณ์)ที่เกิดขึ้นมาแล้ว ทั้งสองก็ย่อมคลายดับไปเป็นที่สุด เป็นธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา

    เป็นปัจจัย จึงมี     เป็นปัจจัย จึงมี

        ก่อนอื่นต้องเข้าใจเสียก่อนนะว่า การอุเบกขานั้นควรเป็นการอุเบกขาที่ความคิดนึกอันเป็นผลเกิดขึ้นจากสังขารขันธ์(มโนกรรม)  ไม่ใช่ความคิดนึกอันเป็นเหตุเหตุคือธรรมารมณ์  ดังเช่น อุเบกขาเป็นกลาง วางใจเฉย ในผลคือความคิดนึกที่เกิดขึ้นมาจากสังขารขันธ์ เช่น ความคิดนึกจากความโกรธ คิดอันประกอบด้วยความโกรธอันเป็นผล โกรธเป็นสังขารขันธ์หรืออารมณ์อย่างหนึ่ง เป็นอนัตตา จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จึงบังคับบัญชาเขาไม่ได้ เขาทำตามหน้าที่ของเขา คือเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัยได้เท่านั้นเอง ไปเปลี่ยนแปลงบังคับใดๆด้วยใจปรารถนาไม่ได้  เมื่อไม่เข้าใจจึงพยายามไปละหรือดับสังขารขันธ์หรืออารมณ์เช่นความโกรธเสียอย่างเดียว อย่าโกรธ...อย่าโกรธ...อย่าโกรธไปเลยนะ อย่าโกรธไปเลยไม่ดีเลย ยกโทษให้เขาเถิด ฯ. หรือถ้าเช่นการทุกข์ใจ,เสียใจ ก็มักว่า อย่าทุกข์....อย่าทุกข์ใจไปเลย....อย่าทุกข์ใจไปเลยเดี๋ยวก็หาย อย่าทุกข์ไปเลยมันเป็นเช่นนี้เอง ฯ. แม้พึมพัมท่องบ่นดังกล่าวแต่จิตยังฟุ้งปรุงแต่งดังกล่าวอยู่เรื่อยๆ จึงย่อมไม่ได้ผล  เพราะด้วยไม่รู้ว่ากำลังทำเหตุอยู่ ผลก็ย่อมเกิดขึ้นวนเวียนเป็นวงจรของทุกข์อีกเป็นธรรมดา เพราะไม่ใช่การดับที่เหตุ ซึ่งคือความคิดนึกอันเป็นผลมาจากสังขารขันธ์(มโนกรรม)  ต้องดับที่เหตุให้เป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตา จึงได้ผลยิ่ง กล่าวคือ "เมื่อเหตุนี้มี ผลนี้จึงมี.....เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ" หรือเป็นไปตามหลักวิทยาศาตร์นั่นเอง  ดังนั้น"อุเบกขา" จึงหมายกระทำ การวางใจเป็นกลาง วางใจเฉย โดยการไม่คิดนึกเอนเอียงเข้าไปปรุงแต่งใน "ผล" อันคือความคิดนึกที่เกิดขึ้นมาจากสังขารขันธ์ต่างๆเช่นโทสะ คือความคิดนั้นๆ เป็นสำคัญนั่นเอง ที่มักจะยังให้เกิดการสืบเนื่องต่างๆต่อไปอีก

        การอุเบกขานี้จะได้ผลดียิ่ง ถ้าเข้าใจในหน้าที่การทำงานและความสัมพันธ์กันของขันธ์ทั้ง ๕  ด้วยจะมีกำลังของปัญญา(ปัญญาพละ)ในการอุเบกขา ที่จะเกิดขึ้นได้จากการพิจารณา จนเห็นเข้าใจในเหตุในผล จนยอมรับความเป็นจริงอันยิ่งได้ด้วยตนเองว่า เมื่อมีการคิดปรุงแต่งหรือมีการต่อล้อต่อเถียงกับจิตอีก ย่อมทำให้เกิดการไปผัสสะกระทบของธรรมารมณ์หรือความคิดต่างๆนาๆนั้นกับจิต อันย่อมยังให้เกิดเวทนาและสังขารขันธ์ต่างๆนาๆ เป็นความคิดนึกฝ่ายผล(มโนกรรม) ซึ่งจะแปรไปเป็นธรรมารมณ์คือความคิดนึกฝ่ายเหตุอีกนั่นเอง จึงสืบเนื่องเป็นวงจรของทุกข์ต่อไปอีก เป็นธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา

        ด้วยเหตุเหล่านี้ เราจึงอุเบกขา ด้วยการวางใจเป็นกลาง วางใจเฉย  "การวางใจเฉยนี้ ไม่ใช่การที่ต้องมีความรู้สึกเฉยๆ"  บางท่านไปเข้าใจเอาเสียว่า การอุเบกขานั้นถ้าปฏิบัติถูกต้องแล้ว เมื่อมีความทุกข์หรืออะไรจรมากระทบ(ผัสสะ)แล้วต้องรู้สึกสงบเฉยๆ ต้องไม่รู้สึกรู้สาอะไร เป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง พอเกิดความรู้สึกหรืออารมณ์(สังขารขันธ์)ต่างๆอันให้โทษขึ้นมา ก็เอ๊ะอ๊ะเกิดวิจิกิจฉาต่างๆนาๆไปว่า ทำไมมันยังเกิด ทำไมจึงทำไม่ได้ ทำไมยังรู้สึกขุ่นเคืองอยู่ ทำไมปฏิบัติแลัวจึงไม่ได้ผล ทำไมยังเป็นทุกข์ ฯ.  ด้วยไม่รู้ความจริงอันยิ่งว่า แม้จิตจะระลึกรู้ในเวทนาหรืออารมณ์หรือความคิดนึกที่เกิดขึ้นแล้วก็ตาม  เพราะแท้ที่จริงแล้วมีความรู้สึกอย่างไรที่เกิดขึ้นจากการผัสสะของเหตุ  ไม่ว่าจากสติระลึกรู้ความรู้สึกจากเวทนา(เป็นสุขเวทนา เป็นทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุข) หรือสติอาจระลึกรู้จากความรู้สึกของอารมณ์(สังขารขันธ์ เช่นโกรธ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ฯ.)ที่เกิดขึ้น  เบื้องแรกนั้นก็ย่อมต้องรู้สึกเยี่ยงนั้นเอง เป็นธรรมดาหรือโดยธรรมชาติของขันธ์ ๕ อยู่แล้วคือเป็นการทำตามหน้าที่,ตามเหตุปัจจัยของเขา "ซึ่งถูกต้องแล้ว" เป็นการทำหน้าที่ของเขาอย่างสมบูรณ์และถูกต้องดีงามแล้ว  ดังนั้นจึงไม่ต้องไปดิ้นรนขับไสความรู้สึกใดๆนั้น เช่น อยากให้มันหายไปทันทีทันใด ซึ่งย่อมไม่ได้ ด้วยเป็นอนัตตา   เพียงแต่เราปฏิบัติโดยการไม่ให้จิตนั้นคิดนึกเอนเอียงเข้าไปปรุงแต่งด้วยถ้อยคิด(ความคิด ความนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ) หรือด้วยกิริยาจิต(ฟุ้งซ่าน ชอบ-ชัง, ดี-ชั่ว, ถูก-ผิด, บุญ-บาป, ยินดี-ยินร้าย) ใดๆในเรื่อง(เหตุ)นั้น  ซึ่งเมื่อขาดเหตุเสียแล้ว ผลคือทุกข์ก็ย่อมต้องจางคลายจนดับไปเป็นธรรมดา ดั่งเปลวไฟที่กล่าวเบื้องต้น

        แต่ถ้ารู้สึกว่าสังขารขันธ์(หรืออารมณ์)ที่เกิดขณะนั้นช่างเร่าร้อนเผาลนรุนแรงยิ่งนัก เกินกว่ากำลังที่จะอุเบกขาได้เอง ยังฟุ้งซ่านเข้าไปปรุงแต่งไม่หยุดหย่อน หยุดไม่ได้ ห้ามไม่อยู่ จิตคอยแต่จะแอบเข้าไปคิดไปปรุงแต่งเมื่อขาดสติหรือเผลอเสมอๆ ก็อาจใช้วิธีการเปลี่ยนอารมณ์(อารมณ์ คราวนี้หมายถึงในทางธรรมที่หมายถึง สิ่งที่จิตไปกำหนดหมายหรือยึดเหนี่ยว จึงไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนอารมณ์(สังขารขันธ์)ที่หมายถึงอาการของจิตหรือความรู้สึกในชั่วขณะหนึ่งๆ เช่นเปลี่ยนอารมณ์เสียเป็นอารมณ์ดี อารมณ์โกรธเป็นอารมณ์เฉยๆ อารมณ์หดหู่เป็นสุขใจ) ซึ่งย่อมทำไม่ได้ ดังที่กล่าวไว้แล้วว่า สังขารขันธ์เช่นความโกรธ เป็นขันธ์ที่ล้วนเกิดและเป็นไปตามเหตุปัจจัย และเป็นอนัตตาจึงไม่ใช่ของเรา จึงไปบังคับบัญชามันไม่ได้ จริงๆแล้วมันทำตามหน้าที่ของมันอย่างถูกต้องตามเหตุปัจจัยได้เท่านั้นเอง  การเปลี่ยนอารมณ์คราวนี้จึงหมายถึงการเปลี่ยนสิ่งที่จิตไปกำหนดหมายคือเหตุในขณะนั้นๆ เพื่อดับเหตุอันเป็นสิ่งที่พึงทำได้ จึงต้องเป็นการดับที่เหตุ อันเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตา  ไปกำหนดหมายในสิ่งอื่นๆ เช่น ลมหายใจ แต่ต้องมีสติกำหนดหมายตามดูลมหายใจ(อย่างสบายๆ ไม่ใช่นั่งสมาธิ)  หรือกำหนดหมายในสิ่งอื่นๆที่ถูกจริต ถูกใจ แต่ต้องมีสติและยิ่งได้ผลยิ่งถ้าประกอบด้วยปัญญา เพื่อไม่ทำให้จิตฟุ้งซ่านไปอื่นๆ เช่น จิตไปอยู่กับธรรม(โยนิโสมนสิการ)ได้แนบแน่น หรือบริกรรมท่องบ่นแบบพิจารณาอย่างมีสติในความหมายของอุเบกขาเองก็ได้ เช่น เราถืออุเบกขา เป็นกลาง วางใจเฉย รู้สึกเยี่ยงไรก็ย่อมรู้สึกเยี่ยงนั้นเป็นธรรมดาในช่วงแรก แต่ต้องไม่เอนเอียงแทรกแซงด้วยถ้อยคิด กิริยาจิตใดๆในเรื่อง(เหตุ)นั้น เพราะย่อมยังให้เกิดผัสสะ ฯ.  หรืออะไรก็ตามทีที่จิตสามารถไปกำหนดหมายได้ดีตามจริตหรือความชำนาญของตน และไม่มีโทษ  หรือการบริกรรมพุทโธอย่างมีสติกำกับ  หรือการมีสติไปกำหนดสนใจในกิจการงานอื่นๆ  ซึ่งต่างล้วนก็เป็นอุบาย(วิธี)การเปลี่ยนอารมณ์ได้ทั้งสิ้น แต่จำต้องมีสติประกอบด้วยเป็นสำคัญ  บางท่านก็แนะนำให้ดับความโกรธด้วยการนับเลขในใจ ซึ่งก็เป็นอุบายวิธีเบี่ยงเบนอารมณ์จากเหตุคิดฟุ้งอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน จากความโกรธ(ผล)อันเกิดจากเหตุคือความคิด มาพยายามกำหนดจิตอยู่กับการนับเลข ก็ย่อมได้ผลบ้าง แต่ก็มักไม่ได้ผลดีนัก เพราะผู้ปฏิบัติแม้มีสติระลึกรู้ว่าโกรธ แต่ยังขาดปัญญาคือความเข้าใจในเหตุปัจจัย ในเหตุในผล จึงย่อมไม่มีสติและกำลังของจิตเท่าที่ควร จึงมักไปสนใจแต่ในสังขารขันธ์เช่นความโกรธ  ความทุกข์ใจ โดยไม่รู้ว่าความสำคัญอยู่ที่เหตุคือความคิดนึกต่างๆ จึงมักวนเวียนกลับไปปรุงแต่งต่อด้วยความไม่รู้   จึงต้องมีทั้งสติ๑และประกอบด้วยปัญญา๑จึงได้จะได้ผลดียิ่ง  หรืออาจใช้อุบายคือวิธี

วิธีเปลี่ยนอารมณ์

        ดังที่ท่านหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้แนะอุบายคือวิธีไว้อย่างหนึ่ง  ซึ่งได้นำมาพิจารณาโดยละเอียดและแยบคาย อีกทั้งได้ลองปฏิบัติทำดูแล้วได้ผลดียิ่ง เห็นว่ามีกำลังมาก ได้ประโยชน์แก่ผู้ที่ถูกอารมณ์(สังขารขันธ์)ต่างๆรุมเร้า จนเร่าร้อนเผาลน ด้วยความทุกข์โศก โกรธ เสียใจ หดหู่ ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ตัณหา ฯ.

        "เมื่อความโกรธเกิดขึ้น เรากลั้นลมหายใจเสีย ความโกรธนั้นก็หายไป แล้วแต่จะเหลือแต่ใจเดิม คือความรู้สึกเฉยๆ  อย่าลืม ทำบ่อยๆ ก็เห็นใจเดิม แล้วความโกรธก็ค่อยๆหายไป"

(คำสอนของ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

        ซึ่งก็คืออุบายหรือวิธีการเปลี่ยนอารมณ์อีกอย่างหนึ่งนั่นเอง แต่มีกำลังแรง ด้วยวิธีที่ท่านแนะนำนี้แม้แลดูเป็นคำสอนที่ง่ายลัดสั้น  แต่เมื่อนำมาพิจารณาด้วยเหตุและผลแล้วช่างแยบคายทั้งทางธรรมและทางโลก จะเห็นได้ว่า มีเหตุมีผลยิ่ง เพราะขณะที่กลั้นลมหายใจอย่างมีสติด้วยความตั้งใจมั่นนั้น ช่วยในการเปลี่ยนอารมณ์ได้ดียิ่งนัก เพราะสิ่งที่จิตกำหนดหมายในเรื่องใดๆในขณะนั้น (ทั้งสังขารขันธ์คืออารมณ์โกรธ ทุกข์ ฯ. อีกทั้งธรรมารมณ์และมโนกรรมคือ คือความคิดนึกต่างๆ) จึงถูกบีบบังคับด้วยเหตุอันสำคัญ อย่างน้อย ๓ ประการคือ ความมีสติระลึกรู้และตั้งใจมั่นในการจะกระทำ ๑   อีกทั้งกำลังของปัญญาหรือปัญญาพละ(ด้วยมีความเข้าใจในเหตุและผลดังที่ได้กล่าวเกริ่นกันมา)๑   และที่สำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งคือความจำเป็นยิ่งนักของกายในการต้องหายใจเพื่อการดำรงชีวิต เพราะลมหรือการหายใจย่อมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งชนิดขาดไม่ได้ในการต้องดำรงชีวิต  เมื่อกลั้นลมเสียแล้ว ย่อมต้องการลมหรือการหายใจในที่สุด๑   จิตจึงถูกบีบบังคับด้วยความจำเป็นอย่างจำยอมอย่างยิ่งยวดในชั่วขณะนั้นให้ต้องเปลี่ยนอารมณ์ คือเปลี่ยนการกำหนดหมายของจิตใน ไปในกิจของกายคือการกลั้นลมหายหายใจซึ่งบีบคั้นและจำเป็นยิ่งนัก ด้วยความจำเป็นถึงชีวิตจึงจำต้องละจาก เหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดทุกข์ได้ชั่วขณะหนึ่ง ก็ด้วยความจำเป็นในการดำรงอยู่ของชีวิตนั่นเอง  สำหรับบางท่านอาจต้องทำหลายๆครั้ง จิตจึงยอมทิ้งจากเหตุคืออารมณ์กำหนดหมายเดิมที่ให้โทษนั้นๆ มาอยู่ที่อารมณ์กำหนดหมายใหม่คือการกลั้นลมด้วยความจำเป็นบังคับ  สังขารขันธ์เดิมๆเช่น อารมณ์โกรธ ฯ. เพราะเมื่อจิตจำต้องไปกำหนดหมายในเหตุอื่นคือกายในการกลั้นลมเสียแล้วด้วยความจำเป็น จึงย่อมขาดจากการผัสสะคือการกระทบกับเหตุคือธรรมารมณ์หรือมโนกรรมคือความคิดนึกเดิมๆที่ทำให้เกิดความโกรธ หรือหยุดการปรุงแต่งต่างๆ ฯ. ไปชั่วขณะ เมื่อขาดจากเหตุอันเป็นปัจจัยปรุงแต่งเสียแล้วชั่วขณะ  ผลก็คือจิตสังขาร(อารมณ์โกรธ)ย่อมคลายหรือดับไปในชั่วขณะนั้นเช่นกัน ความโกรธจึงเริ่มเสื่อมคลายหรือดับโทสะลง.....(หรือสังขารขันธ์หรืออารมณ์อื่นใดก็เฉกเช่นกัน) ด้วยเพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ ล้วนเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตาอันยิ่งใหญ่นั่นเอง  เมื่อเหตุดับ ผลคือบรรดาอารมณ์เดิม(สังขารขันธ์)จึงย่อมจำเป็นต้องคลายและค่อยๆดับไปเองโดยธรรม(ธรรมชาติ)  อย่าลืมเสียว่ามันค่อยๆคลายดับนะ ดังควันไฟที่กล่าวเบื้องต้น  วิธีนี้จึงเป็นอุบายหรือวิธีในการเปลี่ยนอารมณ์อันดีเยี่ยมอย่างหนึ่ง ยิ่งถ้าประกอบด้วยปัญญาเป็นกำลัง  และอย่าลืมที่ท่านหลวงปู่เตือนสอนเอาไว้ด้วยว่า ต้องทำบ่อยๆ(หมายถึงบางทีบางท่านหรืออารมณ์นั้นรุนแรงจึงอาจจะต้องทำหลายๆครั้ง จึงไม่ใช่หมายถึงการที่ต้องทำเป็นกิจประจำ ทำเฉพาะยามเจอสังขารขันธ์หรืออารมณ์อันรุนแรงเร่าร้อนเผาลนเกินกำลัง) จึงจะค่อยๆหายไป คือคลายจนดับไปอย่างแน่นอนเป็นที่สุด  แต่บางท่านเมื่อลองทำดูแล้วช่วงแรกๆอาจแค่จางคลายแล้วก็ไม่ได้ผล ดังผู้เขียนเองรู้วิธีนี้เมื่อหลายปีก่อนแต่ขณะนั้นยังขาดปัญญา(ความเข้าใจ)จึงปฏิบัติไม่ค่อยได้ผล เพราะแรกๆจิตอาจยังวอกแวกคือยังแอบเข้าไปปรุงแต่งไปมาในเหตุหรือธรรมารมณ์เดิมบ้างโดยไม่รู้ตัวด้วยความไม่รู้๑  ด้วยยังไม่มีความเข้าใจเหตุและผล(ปัญญา)จึงไม่มีกำลัง๑ และทำเพียงครั้งเดียว เลยพาลคิดไปเสียเลยว่าไม่ได้ผล  ส่วนบางทีบางท่านก็อยากให้ดับไปทันทีทันใจ ดังเปิดปิดสวิทช์ไฟด้วยตัณหาเร่าร้อน๑(จึงกลายเป็นทุกข์เร่าร้อน)  เพราะมันไม่ใช่การทำปุ๊บหายปั๊บเหมือนดั่งเปิดปิดสวิตช์ไฟหรอกนะ แต่มันเป็นไปดังที่กล่าวเรื่องไฟไว้ข้างต้น  และข้อสำคัญต้องมีสติระวังอย่าเอนเอียงเข้าไปพัวพันปรุงแต่งในเหตุเดิมอีกก็คือหยุดพัวพันไปนึกคิดปรุงแต่งในเหตุเดิมๆคือมโนกรรมต่างอีกต่อไป  จิตก็จักค่อยกลับไปอยู่ใจเดิม เฉยๆกลางๆคืออุเบกขา(เจตสิก๕๒ ข้อที่๓๔)ที่หมายถึงใจหรืออารมณ์ปกติธรรมดาๆ ที่ยังไม่ถูกครอบงำด้วยเหตุอันยังให้เกิดสังขารขันธ์(อารมณ์)อันให้โทษนั้นๆ  ใจเดิมนี้จึงไม่ได้หมายความถึงขนาดใจหรือจิตเดิมแท้อันประภัสสร คือ จิตบริสุทธิ์เดิมแท้ๆก่อนที่มีกิเลสตัณหาจรมาครอบครอง

        จิตจะถูกบีบบังคับด้วยความจำเป็นอย่างที่สุด ให้เปลี่ยนไปกำหนดหมายในกายคือลมหายใจ ในจังหวะตอนที่ใกล้หมดกำลังในการกลั้นลม คือทั้งจิตและกายย่อมมีอาการดิ้นรนทุรนทุรายกระวนกระวาย จากการกลั้นลม และความต้องการลมเพื่อยังชีวิตนั่นเอง  จิตจึงจำต้องทิ้งอารมณ์ที่กำหนดหมายหรือยึดหน่วงเดิมๆ  การกลั้นลมนานเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับร่างกายตน, สังขารขันธ์หรืออารมณ์นั้นรุนแรงมากน้อยเพียงใด ถ้าน้อยก็อาจกลั้นลมแต่พอควร แล้วอาจต้องทำหลายครั้ง เพราะถึงแม้กลั้นลมน้อยแต่จิตก็ต้องเปลี่ยนอารมณ์มาอยู่ที่การกลั้นลมบ้าง  บางท่านก็จำต้องกลั้นลมสุดกำลังจนจิตและกายดิ้นรนต้องการหายใจ จึงต้องลองหาความพอเหมาะพอดีของตนนั่นแหละเป็นสำคัญในการกลั้นลมมากหรือน้อย  ถี่บ่อยแค่ไหน

        ขณะกลั้นลมหายใจควรมีสติคือมีความตั้งใจจดจ่ออยู่กับการกลั้นลม  ไม่ใช่สักแต่ว่ากลั้นลม จะทำให้ได้ผลดีกว่า  ร่วมด้วยการรู้ว่าอย่าส่งจิตวอกแวกออกไปปรุงแต่งด้วยปัญญาทราบเหตุผล ดังที่ได้พยายามอธิบายแล้ว  ลองกันดู อย่างน้อยก็จางคลายจากอารมณ์(สังขารขันธ์)อันเร่าร้อนแรงกล้า เมื่อหยุดเหตุลงไปได้ ผลก็คืออารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นๆย่อมคลายจนดับไป หรือน้อยลงไป..น้อยลง...น้อยลง ตามการปรุงแต่งมโนกรรม

        เทคนิคการกลั้นลมนั้น ขอแนะนำจากการปฏิบัติ คือมีสติระลึกรู้ในลม ทำในจังหวะหายใจเข้าออกปกติ ไม่ต้องสูดลมอั้นไว้ ทำในจังหวะหายใจออกตามปกติ เมื่อหายใจออกปกติจนสุดลมแล้ว จึงกลั้นลมไว้  เพราะเมื่อกลั้นลมจนสุดกำลังแล้ว จะได้หายใจเข้าได้สะดวก ไม่มีอาการสะดุดสำลักลมจากการรีบเร่งหายใจเข้าเพื่อชีวิต  เมื่อหายใจได้สะดวก เช่น หายใจเข้าออกสักสองสามทีพอให้หายอึดอัดหรือหายเหนื่อย(แล้วแต่จริต,ร่างกาย)  ก็สามารถทำใหม่ได้ อาจจะต้องทำหลายๆครั้งดังที่ท่าหลวงปู่กล่าวไว้  จนรู้สึกว่าจิตทิ้งธรรมารมณ์หรือมโนกรรมเดิมๆ(เหตุ)แล้วก็พอ  ข้อสำคัญขณะทำขอให้สำรวมสังวรระวังอย่าส่งจิตออกนอก คืออย่าส่งจิตออกนอกไปปรุงแต่งต่างๆนาๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆก็ตามที ดีก็ไม่ ชั่วก็ไม่ บุญก็ไม่ บาปก็ไม่ ชอบก็ไม่ ชังก็ไม่ ยินดี-ยินร้าย ฯ. เพราะล้วนเป็นเพียงการหลอกล่อของจิตให้ออกไปปรุงแต่งทั้งสิ้น ซึ่งย่อมยังให้เกิดการผัสสะ ให้เกิดการสืบเนื่องเป็นวงจรของทุกข์หมุนเนื่องต่อไปได้

       วิธีนี้จึงเหมาะแก่อารมณ์ซึ่งคือสังขารขันธ์ที่เกิดอย่างเร่าร้อนรุนแรง จนไม่มีกำลังไปอุเบกขาได้เอง เช่น ความโกรธ ความเกลียด ความหดหู่ ความขุ่นเคืองคับแค้นใจ ความกังวลใจ ความกล้ว ความทุกข์ใจ ความฟุ้งซ่าน ความเศร้าโศกเสียใจ ฯ. ที่ประเดประดังกันมาอย่างรุนแรงเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวาย คือสังขารขันธ์หรืออารมณ์ทั้งหลายที่มีกำลังแรงทั้งสิ้นนั่นเอง จนไม่สามารถหยุดคิดนึกปรุงแต่งในมโนกรรมต่างๆนาๆได้

        ตัวอย่างการอุเบกขาในเหตุ  จิตคิดถึงบุคคลใดแล้วโกรธหรือเป็นทุกข์(เป็นสังขารขันธ์หรืออารมณ์ในทางโลก)   ความคิดในบุคคลนั้นเบื้องแรกทำหน้าที่เป็นธรรมารมณ์หรือเหตุ จึงเกิดอารมณ์โกรธขึ้น ที่ต้องอุเบกขาเป็นกลาง วางทีเฉย ไม่เอนเอียงเข้าไปปรุงแต่งในความคิดนึก(มโนกรรม)ที่เกิดจากอารมณ์โกรธธ(สังขารขันธ์)ในบุคคลนั้น   ด้วยถ้อยคิด หรือกิริยาจิต(ชอบ-ชัง ผิด-ถูก ชั่ว-ดี บุญ-บาป ยินดี-ยินร้าย)ใดๆ  ความโกรธก็จะค่อยจางคลาย จนดับเป็นที่สุด ไม่เป็นอื่นไปได้

        คิดเรื่องใดแล้วเป็นทุกข์ใจ(สังขารขันธ์หรืออารมณ์อย่างหนึ่ง)  ความคิดแรกในเรื่องใดนั้นเป็นธรรมารมณ์หรือเหตุ จึงเกิดอารมณ์ทุกข์ใจขึ้น ที่ต้องอุเบกขาเป็นกลาง วางทีเฉย ไม่เอนเอียงเข้าไปปรุงแต่งในความคิดนึก(มโนกรรม)ที่เกิดจากอารมณ์ทุกข์ใจ(สังขารขันธ์)นั้น   ด้วยถ้อยคิด(ความคิดนึกต่างๆ) หรือกิริยาจิต(ชอบ-ชัง ผิด-ถูก ชั่ว-ดี บุญ-บาป ยินดี-ยินร้าย)ใดๆในเรื่องนั้น  ความทุกข์ใจก็จะค่อยจางคลาย จนดับเป็นที่สุด

        คิดเรื่องใดแล้วกังวลใจ(สังขารชันธ์)  ความคิดแรกในเรื่องใดนั้นเป็นธรรมารมณ์หรือเหตุ จึงเกิดอารมณ์กังวลใจขึ้น ที่ต้องอุเบกขาเป็นกลาง วางทีเฉย ไม่เอนเอียงเข้าไปปรุงแต่งในความคิดนึก(มโนกรรม)ที่เกิดจากอารมณ์กังวลใจ(สังขารขันธ์)นั้น   ด้วยถ้อยคิด หรือกิริยาจิต(ชอบ-ชัง ผิด-ถูก ชั่ว-ดี บุญ-บาป ยินดี-ยินร้าย)ใดๆในเรื่องนั้น  ความกังวลใจก็จะค่อยจางคลาย จนดับเป็นที่สุด

        คิดเรื่องใดแล้วหดหู่(สังขารขันธ์)  ความคิดเรื่องใดในเบื้องแรกนั้นทำหน้าที่เป็นธรรมารมณ์หรือเหตุ จึงเกิดอารมณ์หดหู่ขึ้น ที่ต้องอุเบกขาเป็นกลาง วางทีเฉย ไม่เอนเอียงเข้าไปปรุงแต่งในความคิดนึก(มโนกรรม)ที่เกิดจากอารมณ์หดหู่(สังขารขันธ์)นั้น   ด้วยถ้อยคิด หรือกิริยาจิต(ชอบ-ชัง ผิด-ถูก ชั่ว-ดี บุญ-บาป ยินดี-ยินร้าย)ใดๆในเรื่องนั้น  ความหดหู่ใจก็จะค่อยจางคลาย จนดับเป็นที่สุด

        คิดเรื่องใดแล้วมีโมหะ(สังขารขันธ์)  ความคิดต่างๆในเรื่องใดในเบื้องแรกนั้นทำหน้าที่เป็นธรรมารมณ์หรือเหตุ จึงเกิดอารมณ์โมหะขึ้น ที่ต้องอุเบกขาเป็นกลาง วางทีเฉย ไม่เอนเอียงเข้าไปปรุงแต่งในความคิดนึก(มโนกรรม)ที่เกิดจากอารมณ์โมหะ(สังขารขันธ์)นั้น   ด้วยถ้อยคิด หรือกิริยาจิต(ชอบ-ชัง ผิด-ถูก ชั่ว-ดี บุญ-บาป ยินดี-ยินร้าย)ใดๆในเรื่องนั้น  โมหะก็จะค่อยจางคลาย จนดับเป็นที่สุด

        คิดเรื่องใดแล้วมีราคะ โลภะ ผิดหวัง สมหวัง ฯ. (สังขารขันธ์)  ความคิดในสิ่งใดๆเบื้องแรกนั้นเป็นธรรมารมณ์ จึงเกิดอารมณ์ต่างๆขึ้น ที่ต้องอุเบกขาเป็นกลาง วางทีเฉย ไม่เอนเอียงเข้าไปปรุงแต่งในความคิดนึก(มโนกรรม)ที่เกิดจากอารมณ์ต่างๆ(สังขารขันธ์)นั้น   ด้วยถ้อยคิด หรือกิริยาจิต(ชอบ-ชัง ผิด-ถูก ชั่ว-ดี บุญ-บาป ยินดี-ยินร้าย)ใดๆ  อารมณ์ต่างๆหรือสังขารขันธ์ต่างๆก็จะค่อยจางคลาย จนดับเป็นที่สุด

        ตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบในสิ่งใดแล้วเกิดสังขารขันธ์(อารมณ์)ชนิด โทสะ โมหะ โลภะ หดหู่ รำคาญใจ ตัณหา ฯ. เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องของขันธ์ ๕ ที่ย่อมต้องดำเนินเป็นไปตามเหตุที่จรมาเป็นปัจจัยกัน เป็นเรื่องธรรมชาติ บังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ (แต่มีสติระลึกรู้ได้)  แต่ปุถุชนมักคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านต่อด้วยความไม่รู้  ความคิดนึกปรุงแต่ง(มโนกรรม)ในสิ่งใดนั้นย่อมแปรไปเป็นธรรมารมณ์หรือเหตุที่จะเกิดขึ้นอีกนั่นเอง จึงต้อง อุเบกขาเป็นกลาง วางทีเฉย ไม่เข้าไปคิดนึกปรุงแต่งต่อในสิ่งใดๆในเรื่องนั้น ด้วยความคิด หรือกิริยาจิตใดๆ ในมโนกรรมที่เกิดขึ้น  สังขารขันธ์คืออารมณ์ต่างๆก็จะต้องค่อยจางคลายดับไป

        เมื่อพิจารณาแล้ว จะเห็นว่าไม่ว่าจะผัสสะกับอายตนะใดๆ  ที่สุดของที่สุดแล้ว ย่อมนำมาสู่ใจคือสังขารขันธ์แลัวเกิดความคิด(มโนกรรม) และปุถุชนมักเกิดความคิดเสริมเติมแต่งอีก(ปรุงแต่ง)ในมโนกรรมต่างๆอีกต่อไป  จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีสติระลึกรู้ และรู้จักการอุเบกขาไว้นั่นเอง

        ดังที่กล่าวมาแล้วว่า สังขารขันธ์ เป็นขันธ์ ๕ เป็นขันธ์อย่างหนึ่ง เป็นอนัตตา เพราะเกิดจากการที่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยประชุมปรุงแต่งกัน จึงเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยนั้น ในขณะหนึ่งๆ แท้จริงสังขารขันธ์จึงขึ้นอยู่กับเหตุต่างๆเหล่านั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราเลย แต่ด้วยความไม่รู้หรืออวิชชาเราจึงไปยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา พยายามไปบังคับบัญชา ทั้งๆที่แท้จริงแล้วไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เพราะถ้าเป็นของเรา เราย่อมสามารถบังคับบัญชามันได้ให้เป็นไปตามปรารถนา, ขันธ์ทั้ง ๕ จึงเพียงทำงานตามหน้าที่ของตนไปตามสภาวธรรมของขันธ์นั้นๆ  ไม่สามารถไปห้ามไปหยุดการทำหน้าที่ต่างๆของเขาเพื่อให้เป็นไปตามปรารถนาได้  เขาทำหน้าที่ตามเหตุต่างๆที่มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งแก่กันและกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องระลึกรู้ แล้วละวาง ไม่ยึดถือ ไม่ยึดมั่น หรืออุเบกขาในผลคือสังขารขันธ์หรือมโนกรรมที่เกิดเนื่องต่อมานั้นเสียนั่นเอง  ทุกข์จึงค่อยจางคลายดับไป จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ตามคำสอนของพระศาสดา

        อีกอย่างหนึ่งที่พึงสังวรระวังไว้ เมื่อปฏิบัติแล้วแม้ทั้งเหตุและสังขารขารขันธ์(อารมณ์)อันเร่าร้อนเผาลนได้จางคลายหรือแม้ดับไปแล้วก็ตามที  อย่าลืมว่า สัญญาขันธ์ความจำได้ ความหมายรู้ ในสิ่งต่างๆนั้นยังคงมีอยู่เป็นธรรมดา เพราะเป็นขันธ์ๆหนึ่งและเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในการดำเนินชีวิต มันจึงอาจผุดขึ้นมาได้เองเมื่อไรอีกก็ได้(ทั้งความจำทั่วไปที่ใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต อีกทั้งกุศลสัญญาและอกุศลสัญญาหรืออาสวะกิเลส) หรืออีกทั้งเมื่อมีสิ่งกระตุ้นเร้าจรมากระทบ  เราจึงต้องมีสติเท่าทันเห็นในความคิดนึกที่อาจผุดเกิดขึ้นจากสัญญาขันธ์เหล่านี้ กล่าวคือเมื่อสัญญาขันธ์ผุดระลึกคิดนึกขึ้นมานั้น เบื้องแรกย่อมทำหน้าที่เป็นธรรมารมณ์ แล้วย่อมยังให้เกิดมโนกรรมคือความคิดนึกฝ่ายผลอีกด้วยนั่นเอง  ดังนั้นเมื่อมีสติจากการหมั่นฝึกฝนซ้อมทำให้เห็นความคิดนึกอยู่เสมอๆ ก็ย่อมอุเบกขาได้เสียแต่ต้นมือด้วยความเด็ดขาด ไม่พิรี้พิไร ไม่โอดครวญ คือจะเป็นเหมือนดั่งที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ได้กล่าวสอนไว้ คือ เมื่อมีสติ แม้เมื่อแขกที่เราไม่ยินดีต้อนรับ ได้มาเยือนถึงหน้าบ้าน เราก็รู้ (แขก หมายถึงความคิดนึกที่เกิดจากสังขารขันธ์ทุกข์หรืออารมณ์อันให้โทษหรือเป็นอกุศลต่างๆหรือมโนกรรมเท่านั้น, จึงไม่ใช่การพยายามหยุดคิดหยุดนึกทั้งปวงเสีย จึงหมายถึงเห็นความคิดนึกที่เกิดจากการผัสสะเป็นผลให้เกิดสังขารขันธ์ความคิดนึกอันให้โทษหรือเป็นอกุศลขึ้นมาแล้ว ดังนั้นจึงไม่ได้หมายถึงความคิดนึกที่ผุดขึ้นมาเป็นธรรมารมณ์ทั่วไปอันเป็นธรรมดาของชีวิต) แต่ไม่ต้อนรับแขกนั้นให้เข้าบ้านเสียนั่นเอง จึงย่อมไม่เป็นทุกข์  เมื่อปฏิบัติดั่งนี้ได้บ่อยๆย่อมมีอาการดังที่ว่า คือรู้ทันแต่ไม่ต้อนรับแขกนั้นๆ(แขก=ความคิดนึกจากสังขารขันธ์หรืแมโนกรรมฝ่ายอกุศล) ด้วยอาการอุเบกขา หรือการทำความเห็นให้เป็นปกติ ไม่ยึดถือความเห็นใดๆทั้งสิ้น(ดี-ชั่ว ถูก-ผิด บุญ-บาป ชอบ-ชัง ฯ.) คือเมื่อชำนาญขึ้นสามารถทำเองอย่างเป็นมหาสติคือโดยอัติโนมัติได้เองอีกด้วย ทุกข์ย่อมเบาบางไปตลอดกาลนาน

        ขอย้ำเตือน การอุเบกขา ไม่ใช่การหยุดคิดหยุดนึกไปเสียเกือบทุกๆเรื่อง หรือในทุกเรื่อง หยุดคิดหยุดนึกแต่ความคิด(มโนกรรม,จิตตสังขาร,สังขารขันธ์แล้วแต่จะเรียก)อันให้โทษหรือฟุ้งซ่านเท่านั้น  เพราะย่อมไม่สามารถห้ามจิตให้หยุดคิดหยุดนึกได้ ด้วยจิตเป็นอนัตตา ไม่ใช่ของเรา จิตอย่างไรเสียก็ต้องคิดต้องนึก(ธรรมารมณ์)เพื่อการดำรงขันธ์หรือชีวิต, เพื่อการงาน, เพื่อการดำรงชีวิตให้ดำเนินไปตามปกติได้  เมื่อไปพยายามหยุดคิดหยุดนึกไปเสียเกือบทุกๆเรื่อง หรือพยายามไปในทุกเรื่องจึงเป็นการไม่ถูกต้องและเป็นโทษอันร้าย เพราะผิดวิสัยของโลก เพียงแต่ว่าเมื่อจิตคิดจิตนึกแล้ว มีสติระลึกรู้เท่าทัน คือสังเกตุรู้, สังเกตุเห็นความคิดนั้นๆได้ และอีกทั้งสำคัญยิ่งคือการมีปัญญากำกับรู้อีกด้วยว่าความคิดนั้นๆเป็นคุณหรือโทษหรือสมควรแก่เหตุ,เป็นมิตรหรือศตรู เมื่อเห็นว่าเป็นโทษแล้วจึงอุเบกขาคือ วางใจเป็นกลาง วางใจเฉย หยุดคิดหยุดนึกทั้งปวงในมโนกรรมในเรื่องนั้นๆ  ยิ่งด้วยความเด็ดขาดยิ่งประสบผลดี

        ในกรณีที่เกิดทุกขเวทนา จากความเจ็บปวดหรือเจ็บป่วยทางกาย แม้อุเบกขาแล้ว แต่ทุกขเวทนาทางกายนั้นย่อมยังมีอยู่ ด้วยยังมีชีวิตประสาทรับสัมผัสมันจึงยังทำงานอยู่ และเวทนามีหน้าที่รับรู้ความรู้สึกหรือเสวยอารมณ์(หมายถึงสิ่งที่จิตกำหนดหมายหรือกระทบ)ของสิ่งที่ผัสสะตามหน้าที่ของเขาจึงยังคงมีอยู่เป็นธรรมดาถ้าเหตุจากการเจ็บปวดหรือโรคภัยไข้เจ็บยังคงมีอยู่ แต่จักขาดหรือผ่อนคลายจากความทุกข์ใจอันแสนเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายลง เหตุเพราะแม้ว่าเวทนายังคงทำหน้าที่ของเขาตามธรรม ตามหน้าที่ของเวทนาขันธ์นั้นๆ และด้วยเป็นอนัตตา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา จึงบังคับบัญชาเขาไม่ได้ กล่าวคือ แม้ยังคงเสวยทุกขเวทนาทางกายอยู่  แต่ไม่เนื่องให้เป็นทุกข์ทางใจ(สังขารขันธ์,อารมณ์)อันเร่าร้อนเผาลนถ้าเราอุเบกขาเสีย  สภาวะเช่นนี้จะเหมือนกับเมื่อมีใครมาตีเราแรงๆเราจะเกิดความเจ็บปวดจากความรู้สึกรับรู้ในทุกขเวทนาทางกาย พร้อมเกิดความรู้สึกขึ้นเช่นความโกรธ เร่าร้อน ความไม่พอใจต่างๆนาๆขึ้นทันทีจนถึงขั้นทะเละวิวาทได้จากสังขารขันธ์ใจเช่นความโกรธที่เกิดเนื่องต่อมาด้วย  แต่ถ้าเราตีตัวเราเองด้วยความแรงที่พอๆกันนั้น แม้เราย่อมเจ็บปวดจากทุกขเวทนาทางกายเหมือนกันเป็นธรรมดา เพราะเป็นทุกขอริยสัจ เพราะเวทนาขันธ์เขาทำตามหน้าที่คือเสวยความรู้สึกในการรับรู้นั้นๆของเขา  แต่จะขาดจากความโกรธเกรี้ยวไม่พอใจหรือไม่เกิดความรู้สึกขึ้นจากสังขารขันธ์(อารมณ์)ความโกรธ ความไม่พอใจ อันเป็นทุกข์เร่าร้อน  อันเกิดขึ้นจากสติและสัญญาคือรู้ตัว(สติ)และรู้ดี(สัญญาหมายรู้)ว่าเราตีตัวเองจึงไม่เกิดการยึดถือ จึงไม่เกิดกิเลสขึ้น จึงไม่เกิดทุกข์ทางใจเนื่องต่อขึ้น คือแม้เกิดทุกขเวทนาทางกายเป็นธรรมดา แต่ไม่ก่อให้เป็นทุกข์ใจ(สังขารขันธ์)อันแสนเร่าร้อนใจ คือเกิดสังขารขันธ์อาการของจิตชนิดปัญญินทรีย์(ความเข้าใจ, ความไม่หลง) ซึ่งจัดเป็นสังขารขันธ์หรืออาการของจิตอย่างหนึ่งในเจตสิก ๕๒ ในหัวข้อที่ ๕๒ ที่เกิดจากสัญญาหมายรู้ชนิดกุศลสัญญา(คือสัญญาที่เกิดจากปัญญาที่ได้สั่งสมอบรมไว้)ที่หมายรู้คิดอ่านว่าตีตนเองนั่นเอง  ที่กล่าวมาเป็นเพียงการเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างความทุกข์ใจอันเร่าร้อน กับความทุกข์ที่ปล่อยวางไม่ยึดถือด้วยเข้าใจ อันเกิดมาจากทุกขเวทนาอันแรงกล้า แต่ถ้ามีสังขารขันธ์เช่นความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ก็เพียงต้องอุเบกขาเสีย นั่นก็คือการปล่อยวางไม่ยึดถือนั่นเอง จึงจะทำให้เหมือนต้องศรเพียงดอกเดียว ไม่ใช่ ๒ ดอก ดังมีพุทธพจน์ตรัสไว้ในพระสูตรสัลลัตถสูตร

        อุเบกขาสัมโพชฌงค์นี้ แท้จริงแล้วเป็นไปเพื่อการปล่อยวาง ไม่ยึดถือ ไม่ยึดมั่นถือมั่น วางอุปาทานลงนั่นเอง  จึงเป็นหลักการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลขึ้นคือการปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง  ปฏิบัติด้วยจิตตั้งมั่น(สมาธิสัมโพชฌงค์)คือ ดับคือหยุดธรรมารมณ์ชนิดมโนกรรมปรุงแต่งต่างๆนั่นเองด้วยตั้งใจมั่น

 

แสดง การทำงานของขันธ์ ๕ ว่าทำไมดับธรรมารมณ์ลงแล้ว จึงคลายดับทุกข์ลงไปได้

 วิธีการอุเบกขา โดยสรุปลัดสั้น 

 

 อุเบกขา การวางใจเป็นกลาง วางใจเฉย เมื่อสติเห็นเหตุอันควร

 

ธรรมข้อคิด

ขันธ์ ๕ ย่อมทำงานของเขาไปตามธรรมชาติ  ไม่มีใครหยุด หรือห้ามการทำงานของเขาได้ เพียงแต่มีสติ ระลึก รู้ แล้ว วาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็สามารถเป็นอิสระเหนือขันธ์ ๕ ได้ โดยวิธีนี้

หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล

 

หลักการที่สำคัญมากในการดูจิตที่ขอย้ำ  ก็คือ ให้ รู้ อารมณ์(สังขารขันธ์)เฉยๆ  อย่าไปพยายาม ละ อารมณ์นั้นเด็ดขาด  จะเดินทางผิดทันที เพราะอารมณ์ทั้งปวงนั้น เป็นตัวขันธ์(คือสังขารขันธ์ จึงย่อมละไม่ได้) เป็นตัวทุกข์  ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่รู้เท่านั้น  อย่าอยาก (มีตัณหา) ที่จะไปละมันเข้า

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

webmaster-เนื่องจากขันธ์ทั้ง ๕ จึงทั้งสังขารขันธ์(อารมณ์)ต่างล้วนไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์หรือตัวทุกข์  อีกทั้งไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จึงบังคับบัญชามันไม่ได้ เพราะเป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงไปละสังขารขันธ์นั้นๆย่อมเป็นไม่ได้  จึงอย่าอยากด้วยตัณหาที่จะละมันเข้าจะเป็นทุกข์ เพียงปล่อยวาง ไม่ยึดมั่น ด้วยการกระทำคือการทำอุเบกขาเสียนั่นเอง

 

ประโยชน์ของการดูจิตนั้นมีอยู่มากนัก เบื้องต้นดูจิตเพื่อให้เห็นความคิด  การเห็นความคิดบางทีเผลอบ้าง หลงลืมบ้างไม่เป็นไร  ฝึกบ่อยๆ จนชำนาญก็เอาอยู่ เมื่อฝึกจนชำนาญแล้วแขกจะไม่ค่อยมาเยือน  เมื่อถึงที่สุดเมื่อแขกมา...ยืนหน้าบ้าน เราก็รู้ แต่ไม่ต้อนรับแขกให้เข้ามาแล้ว

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

Webmaster-เมื่อถึงที่สุด ของหลวงปู่หมายถึง เมื่อปฏิบัติทำบ่อยๆก็เป็นมหาสติได้อย่างหนึ่งนั่นเอง คือหมายถึงมันสามารถทำเองได้โดยอัติโนมัติ ไม่ต้องตั้งใจ เหมือนดังเมื่อมีแมลงมาตอมก็ยกมือขึ้นปัดโดยอัติโนมัติ  เดินสะดุดจะล้มก็มีสติที่สั่งสมให้ทรงตัวเองโดยอัติโนมัติ ของตกก็รีบคว้าโดยทันทีอัติโนมัติ  หรือดังมีผู้ถาม ๒+๒ = เท่าไร ก็สามารถตอบได้ทันที ฯ. ดังนั้นเมื่อฝึกให้เห็นจิตอันให้โทษแลัวอุเบกขาเสีย จนชำนาญ อีกหน่อยจิตก็สามารถทำเองได้โดยอัติโนมัติ  แล้วจึงเหมือนดังที่หลวงปู่ท่านกล่าวไว้คือ เมื่อมีแขกอันให้โทษมาเยือนถึงหน้าบ้านแล้ว เราก็มีสติรู้และด้วยปัญญา(ซึ่งกลายสัญญาหมายรู้) จึงอุเบกขาเสีย คือไม่ต้อนรับแขกนั้นให้เข้าบ้านเสียแต่ต้นมือ เราก็ย่อมอาศัยอยู่ในบ้านได้อย่างร่มเย็น

        กล่าวคือ มีสติ(รู้)ว่า เมื่อมีแขกชื่อ"มโนกรรม"และผองเพื่อนชื่อ"คิดนึกปรุงแต่ง" อันไม่เป็นมิตร(ให้โทษ) มาเยือนที่หน้าบ้าน  เราก็ไม่เปิดประตู(ไม่เอา,อุเบกขาเสีย) คือไม่ต้อนรับเขาให้เขาเข้ามาในบ้าน(คือใจ)

 

มีผู้เรียนถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ว่า "ท่านยังมีโกรธอยู่ไหม?"

หลวงปู่ตอบสั้นๆว่า "มี  แต่ไม่เอา"   (อตุโล ไม่มีใดเทียม น.๔๖๑)

 หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

Webmaster-หลวงปู่ตอบตามความสัจจริงยิ่งว่า "มี"  เหตุเพราะ "โกรธ" เป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง จึงเป็นไปของเขาเองตามเหตุปัจจัยของขันธ์ ๕ ของเขา ซึ่งบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ จึงยังคงมีอยู่เป็นธรรมดา แม้ในพระอริยะเจ้า,  ซึ่งปุถุชนมักคาดเดากันไปเองว่าไม่มี,  แต่หลวงปู่ "ไม่เอา" ที่มีความหมายยิ่งถึง เมื่อเป็นสังขารขันธ์อันให้โทษ(คืออารมณ์โกรธ)แล้ว ท่านก็ไม่เอา คือปล่อยวาง ไม่ยึดถือ ไม่ยึดมั่น ไม่เอาไปปรุงแต่งต่อ ทั้งปวงก็คือการอุเบกขาเสียนั่นเอง

 

อีกครั้งหนึ่ง มีผู้เรียนถามหลวงปู่เรื่องการละกิเลส "หลวงปู่ครับทําอย่างไรจึงจะตัดความโกรธให้ขาดได้"

หลวงปู่ตอบว่า "ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก  มีแต่รู้ทัน...เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง."    (อตุโล ไม่มีใดเทียม น.๔๖๒)

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

Webmaster-สังขารขันธ์ อันให้โทษอื่นๆก็ปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกัน เช่น โมหะ โลภะ หดหู่ ทุกข์ใจ รำคาญใจ ฯ. เพราะสังขารขันธ์เป็นขันธ์ที่ทำงานตามหน้าที่ของเขาตามสภาวธรรมหรือธรรมชาติ มันเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น จึงไปควบคุมบังคับบัญชาเขาให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้  จะไปละเสีย หรือไม่ให้เกิด ไม่ให้มี ไม่ให้เป็นย่อมไม่ได้  ที่เราทำได้คือ รู้เท่าทัน แล้วไม่เอา คือการปล่อยวาง ไม่ยึดถือ ด้วยการทำอุเบกขาเสียนั่นเอง มันก็ดับไป

 

 

 ฟุ้งซ่าน -  ไม่สงบ, ไม่นิ่ง, พล่านไป, คิดไปไม่หยุดนิ่ง, ใช้แก่อาการของจิต

 

หัวข้อธรรม

 

กลับหน้าเดิม

สารบัญ