เปรียบเทียบขันธ์ ๕ กับสังขารอื่นๆ
ว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕ |
|
พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบขันธ์ทั้ง ๕ คือส่วนต่างๆที่ประกอบกันเป็นชีวิต กับสิ่งต่างๆไว้ใน"เผณปิณฑสูตร" โดยการเปรียบเทียบเพื่อให้มองเห็นความจริงได้ง่ายว่า ล้วนเป็นเพียงสิ่งไร้สาระ ไร้แก่นสาร เพื่อให้คลายความยึดถือ ยึดมั่น การปล่อยวาง เพื่อให้เกิดนิพพิทาญาณ คือความเบื่อหน่ายจากการรู้ความจริง เพื่อการปล่อยวาง ไม่เข้าไปยึดถือ ไม่ไปยินดียินร้าย หรืออุเบกขา ไว้ดังนี้
๑. รูปหรือรูปขันธ์ คือร่างกาย อุปมาดั่ง กลุ่มของฟองน้ำ ซึ่งแท้จริงแล้วย่อมไม่มีแก่นสาระ เป็นเพียงกลุ่มก้อนหรือมวลรวม(ฆนะ)ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของเหตุคือฟองอากาศเล็กๆบนผิวน้ำที่มาเกาะกลุ่มรวมกันเป็นกลุ่มก้อน แล้วมีแรงน้ำ,แรงลม,แรงตึงผิว ฯ. ที่มาร่วมเป็นปัจจัยกัน จึงเป็นผลให้ไหลดึงดูดมารวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน แลเห็นเป็นรูปร่างต่างๆนาๆได้ ในชั่วระยะขณะหนึ่งๆ ซึ่งอุปมาดั่งรูปขันธ์หรือร่างกายของเราเช่นกันซึ่งเป็นเพียงกลุ่มก้อนมวลรวมของธาตุ ๔ ที่ถูกบีบคั้นจากแรงต่างๆ ให้มารวมตัวกันชั่วขณะหนึ่งๆ, ตัวตนโดยแท้จริงจึงไม่มี ว่างเปล่าเหมือนดั่งกลุ่มฟองน้ำ จึงไม่มีแก่นสาระใดๆเหมือนกลุ่มฟองน้ำนั้นๆ ซึ่งย่อมต้องทะยอยแตกดับไปในที่สุดเมื่อหมดแรงบีบคั้นจากแรงน้ำ แรงลม แรงตึงผิว ฯ. ไม่มีแก่นแกนสาระโดยแท้จริงอย่างสิ้นเชิง
กลุ่มฟองน้ำ รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นรูปร่างต่างๆ ได้แค่ชั่วขณะๆ แล้วแตกสลายไป ไม่มีแก่นสาระ สูญดับไป
๒. เวทนาขันธ์ การเสวยอารมณ์ หรือเสวยรสในสิ่งที่ผัสสะ คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ในรสของการกระทบกันของอายตนะภายนอกและภายในคือการผัสสะ เวทนาเกิดขึ้นอุปมาดั่ง ฟอง(ฟองอากาศ)ของน้ำ ที่ย่อมต้องเกิดขึ้นเช่นนั้นเอง เมื่อเม็ดฝนอันเป็นเหตุที่ได้ตกกระทบ(ผัสสะ) กับผิวน้ำ(เหตุอีกอันหนึ่งที่มาเป็นปัจจัยกัน)ทุกครั้งทุกคราไป ที่ย่อมเกิดผลคือฟองน้ำเป็น ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง หรืออาจแค่ระลอกบ้างเป็นธรรมดา แต่คือยังไงก็ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา จึงเป็นดั่งสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขบ้างนั่นเอง ที่ต้องเกิดขึ้นทุกครั้งทุกคราไปที่เกิดการผัสสะ จึงต้องมีสติระลึกรู้ว่า มันต้องเกิดขึ้นเช่นนี้เป็นธรรมดา เหมือนฟองน้ำ เม็ดฝนเปรียบได้ดั่งความคิด(อายตนะภายนอก-รูป เสียง กลิ่น ฯ.) ผิวน้ำเปรียบประดุจดั่งใจ(อายตนะภายใน-ตา หู จมูก ฯ.) เมื่อเม็ดฝนตกกระทบผิวน้ำ ย่อมเกิดพลังงานขึ้น(เปรียบได้ดั่งวิญญาณที่ย่อมต้องเกิดขึ้นเป้นธรรมดา) จึงเกิดผลเป็นฟองน้ำเป็นใหญ่บ้าง เป็นเล็กบ้าง เป็นระลอกบ้าง ที่เปรียบประดุจเวทนาขึ้น ที่ย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเช่นกันเมื่อมีการผัสสะ จึงเกิดเป็นสุขเวทนาบ้าง เป็นทุกขเวทนาบ้าง เป็นอทุกขมสุขบ้าง เป็นธรรมดา จึงห้ามไม่ให้เกิดขึ้นจึงเป็นไปไม่ได้ แต่ไม่มีแก่นสาระเช่นเดียวกันดุจฟองน้ำที่ก็แตกสลายดับไป ไม่มีสาระ เป็นเพียงสภาวธรรมที่มันเป็นเช่นนี้เองเป็นธรรมดา ที่ต้องเกิดขึ้นและเป็นไปเช่นนี้เอง สิ่งหนึ่งทีพึงโยนิโสมนสิการเปรียบเทียบกับเวทนาว่า เมื่อเม็ดฝนตกกระทบแล้ว ย่อมต้องเกิด ฟองน้ำใหญ่ ฟองน้ำเล็ก หรือระลอกน้ำ อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นเป็นธรรมดา ใช่หรือไม่
ฟองน้ำย่อมต้องเกิดจาการกระทบของเม็ดฝนกับผิวน้ำ เกิดฟองน้ำใหญ่บ้าง เล็กบ้าง เป็นระลอกบ้าง แล้วล้วนแตกดับไปเป็นธรรมดา ไร้แก่นสาระ
๓. สัญญาขันธ์ ความจำได้ หมายรู้ อุปมาดั่ง พยับแดด (mirage ภาพลวงตา) แลดูเหมือนมีตัวมีตนจริงๆ แต่แท้จริงแล้วล้วนว่างเปล่า ไม่มีตัวตนเป็นแก่นสาระ ซึ่งแท้จริงตัวตนหรือภาพที่แลเห็นนั้นๆ เกิดจากการหักเหแปรปรวนของแสง จากอากาศที่มีอุณหภูมิแตกต่างกัน อากาศร้อนจึงลอยตัวแปรปรวน จึงทำให้เกิดการแลเห็นเป็นกลุ่มก้อนมายา หรือมวลรวมต่างๆนาๆ ทั้งที่แท้จริงแล้วไม่มีแก่นสาระหรือตัวตนใดๆแท้จริง สัญญาขันธ์เป็นเพียงอดีตที่เคยประสบสั่งสมมา ผ่านไปแล้ว เป็นเพียงเหมือนดั่งภาพลวงตา สิ่งหนึ่งทีพึงโยนิโสมนสิการเปรียบเทียบกับสัญญาขันธ์ว่า พยับแดดเกิดขึ้นได้เองตามธรรม(ธรรมชาติ)
ภาพลวงตา แลเห็นน้ำบนผิวถนน แต่ไม่มีน้ำหรือแก่นสาระตัวตนใดๆแท้จริง
๔. สังขารขันธ์ สภาพหรือธรรมหรือสิ่ง ที่ปรุงแต่งจิต ให้เกิดเจตนาหรือจงใจให้เกิดการกระทำ(กรรม)ต่างๆ ได้ทั้งในทางดีและชั่ว หรือกลางๆทั่วๆไป หรือก็คือสภาพของใจหรืออาการของจิต ที่สนับสนุนให้เกิดเจตนาหรือจงใจผลักดันให้เกิดการกระทำต่างๆ ได้ทั้งดีหรือชั่วหรือกลางๆที่ใช้ดำเนินชีวิต ได้ทั้งทางกาย วาจา หรือใจ หรือทางโลกจะเรียกกันว่า"อารมณ์"ก็คงได้ เช่น อารมณ์โกรธ-สภาพที่ปรุงแต่งจิตหรืออาการของจิตที่ประกอบด้วยความโกรธ จึงเกิดการกระทำต่างที่ประกอบหรือปรุงแต่งด้วยความโกรธ เช่นเกิดวจีกรรม ด่าทอ ต่อว่า ฯ., อารมณ์หดหู่-สภาพที่ปรุงแต่งจิตต่างแต่ล้วนประกอบด้วยความหดหู่, อารมณ์กังวล อารมณ์กลัว อารมณ์ฟุ้งข่าน ฯ. ก็เป็นเฉกเช่นกัน (แต่ในทางธรรมแล้ว อารมณ์หมายถึง สิ่งที่จิตไปกำหนดหมายในขณะนั้นๆ) สังขารขันธ์นั้นจึงอุปมาดั่ง ต้นกล้วย แม้ต้นแลดูทั้งอวบทั้งใหญ่ จึงแลดูราวกับว่ามีคุณค่าเหมือนไม้แก่นทั้งหลาย แต่แท้จริงต้นกล้วยไม่มีแก่น ไม่มีแกน ไม่มีกระพี้ใดๆ แท้จริงจึงไม่มีสาระหรือประโยชน์ใดๆได้ดั่งไม้แก่น คือใม่สามารถนำเอาแก่นหรือแกนไปใช้งานด้านความแข็งแรง สร้างบ้านเรือน หรือเป็นฟืน ฯ.ได้ดังเช่นไม้แก่นทั้งหลาย จึงเปรียบเหมือนดังสังขารขันธ์ที่แท้จริงแล้วไม่มีสาระใดๆ ไม่มีประโยชน์ใดๆดังที่คิดหรือเห็น จึงอย่าไปยึดถือ เพราะเกิดขึ้นจากเวทนาเป็นเหตุปัจจัย อีกทั้งร่วมด้วยสัญญา จึงต้องเกิดขึ้นเป็นเช่นนี้เป็นธรรมดา แต่ไม่มีแก่นสาระแท้จริง ดั่งต้นกล้วย สิ่งหนึ่งทีพึงโยนิโสมนสิการเปรียบเทียบกับสังขารขันธ์ว่า เพียงเกิดจากเหตุปัจจัยของเวทนาและสัญญาขันธ์
แม้อวบใหญ่ แต่ไม่มีแก่น ไม่มีแกน จึงไม่มีสาระประโยชน์ดังไม้แก่น
๕. วิญญาณขันธ์ อุปมาดั่งมายากล เกิดดับๆดุจดั่งมายากล ซึ่งแท้จริงแล้วไม่เป็นไปดั่งที่ตาเห็นหรือคิดหรือที่แสดงให้เห็น ไม่ใช่สิ่งที่แท้จริง ดังกลที่เป็นเพียงการแสดง วิญญาณขันธ์จึงเกิดขึ้นดับไปเหมือนดั่งการเล่นมายากลนั่นเอง คือสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีสาระแก่นแกนตัวตนดั่งตาเห็น เพราะเป็นเพียงมายาล่อลวง ด้วยอาศัยการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนต่างๆอย่างแคล่วคล่องว่องไวยิ่ง ดังวิญญาณ ที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงเกิดดับๆได้อย่างว่องไวดุจราวกับมายากลทั้งหลาย กล่าวคือ เมื่อเกิดการผัสสะของอายตนะภายในใดๆก็เกิดวิญญาณนั้น เป็นจักษุวิญญาณบ้าง โสตวิญญาณบ้าง มโนวิญญาณบ้าง ฯ. เพราะย่อมเกิดดับๆเป็นไปตามการกระทบของอายตนะภายนอกและภายในนั่นเอง ซึ่งรวดเร็วว่องไวเสียยิ่งกว่ามายากลเสียอีก สิ่งหนึ่งทีพึงโยนิโสมนสิการเปรียบเทียบกับวิญญาณขันธ์ว่า เกิดดับดั่งมายากล เมื่อมีการเล่นกลก็เกิดขึ้น แล้วไม่มีตัวตนจริงใด แล้วก็ดับไปเมื่อเล่นเสร็จ
วิญญาณ เกิดขึ้นว่องไวราวมายากลที่ไม่เป็นความจริงตามที่เห็นหรือเข้าใจ แท้จริงจึงไม่มีแก่นสาระเหมือนมายากล
วิญญาณเป็นไปตามกระทบของอายตนะภายนอกและภายใน
ท่านจึงสอนให้รู้ในความจริงของขันธ์ทั้ง ๕ เพื่อให้เกิดความเบื่อหน่าย(นิพพิทาญาณ)จากการรู้ความจริง ในขันธ์ทั้ง ๕ หรือชีวิต ที่มีความไม่เที่ยง ทุกขังคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้จึงเป็นทุกข์ในที่สุด อีกทั้งเป็นอน้ตตา ไม่มีตัวตนของมันเองจริง จึงเข้าครอบครองเป็นเจ้าของโดยแท้จริงไม่ได้ จึงบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปราถนาไม่ได้ จึงเป็นทุกข์ ที่ปุถุชนมักเกิดจากความหลงไปโดยไม่รู้ตัวว่า ขันธ์ต่างๆอีกทั้งชีวิต ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เราเป็นเจ้าของ เพื่อให้คลายความยึด ความอยาก ในขันธ์ทั้ง ๕ หรือชีวิต
ว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕