buddha1-1.gif

 

หัวข้อธรรม ๑๓

ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด   ทุกข์ย่อมตั้งอยู่  และเสื่อมสิ้นไป

 คลิกขวาเมนู

นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด   นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ ฯ

วชิราสูตร

(แสดงธรรมโดยท่านวชิราภิกษุณี)

ขยายความได้ดังนี้

   ความจริงสังขารทั้งปวงอันย่อมเป็นทุกข์ในที่สุดเท่านั้นย่อมเกิด       สังขารทั้งปวงอันย่อมเป็นทุกข์ในที่สุดย่อมตั้งอยู่ และเสื่อมสิ้นไป

นอกจากสังขารทั้งปวงอันย่อมเป็นทุกข์ในที่สุด ไม่มีอะไรเกิด       นอกจากสังขารทั้งปวงอันย่อมเป็นทุกข์ในที่สุด ไม่มีอะไรดับ

 ภาษิตที่ท่านกล่าวถึงนี้ มิได้มีเพื่อให้ท่านเป็นทุกข์ กังวลใจ แต่เพื่อให้ท่านได้สังวร ระวัง ให้เกิดนิพพิทา ปล่อยวางการยึดมั่นถือมั่นหรืออุปาทานลง เพื่อไม่ให้ไปยึดถือในสิ่งต่างๆคือสังขาร อันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา โดยไม่รู้ความจริง จะได้ไม่เกิดทุกข์อุปาทานหรืออุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นทุกข์เร่าร้อนใจ

สังขารคือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นทั้งปวง ล้วนเกิดขึ้นแต่การที่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยกันจึงเกิดขึ้น จึงมีคุณสมบัติดังนี้  คืออนัจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นตามคุณลักษณะของ อนิจจลักษณะ และทุกขลักษณะ และอนัตตลักษณะ

อนิจจลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนิจจะ,
       ลักษณะที่แสดงว่าเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ ได้แก่
           ๑. เป็นไปโดยการเกิดขึ้น และสลายไป คือ เกิดดับๆ มีแล้วก็ไม่มี
           ๒. เป็นของแปรปรวน คือ เปลี่ยนแปลงแปรสภาพไปเรื่อยๆ
           ๓. เป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะๆ (ตามเหตุปัจจัยของแต่ละสังขาร จึงมีความยาววงจรชีวิตของสังขารไม่เท่ากัน)
           ๔. แย้งต่อความเที่ยง คือ โดยสภาวะของมันเอง ก็ปฏิเสธความเที่ยงอยู่ในตัว

(เหตุเมื่อไม่เที่ยงแล้ว ผลยังให้เกิดทุกข์ เนื่องต่อไปอีกด้วย)

ทุกขลักษณะ เครื่องกำหนดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่จัดว่าเป็นทุกข์,
       ลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นทุกข์คือ
           ๑. ถูกการเกิดขึ้น และการดับสลาย บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
           ๒. ทนอยู่ด้วยได้ยาก   อีกทั้งทนได้ยากหรือคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
           ๓. เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์
           ๔. แย้งต่อสุขหรือเป็นสภาวะที่ปฏิเสธความสุข

อนัตตลักษณะ เครื่องกำหนดว่าหรือลักษณะที่แสดงว่าไม่มีตัวตน อย่างแท้จริง

        ลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นอนัตตาคือ

            ๑.เป็นเพียงการประชุมเข้าขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยๆ ทั้งหลาย (คือ สิ่งที่คิดว่าเป็นตัวเป็นตนทั้งหลายนั้น  แท้จริงขั้นปรมัตถ์แล้ว เป็นเพียงกลุ่มหรือก้อนหรือมวลรวมขึ้นอย่างชั่วคราวหรือชั่วขณะๆหนึ่ง ของเหตุต่างๆที่มาเป็นปัจจัยแก่กันและกัน  แท้จริงโดยปรมัตถ์จึง)ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรือการสมมติเป็นต่างๆ

            ๒. เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใครจริง (เมื่อไม่มีตัวตนของตนจริง จึงครอบครองหรือเป็นเจ้าของไม่ได้   หรือกล่าวได้ว่าเจ้าของแท้จริงแล้วก็คือ เหตุต่างๆ(อันมากหลาย) ที่มาเป็นปัจจัยแก่กันและกัน จึงไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของใครๆ ดังนั้นแท้จริงจึงขึ้นอยู่กับเหตุที่มาเป็นปัจจัยกันนั่นเอง จึงไม่เป็นของใครๆทั้งสิ้น แม้แต่เรา)

           ๓. ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครๆ  (แท้จริงเพราะขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย จึงเป็นเหตุให้ล้วน ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาตัวตนของเรา เมื่อไม่ใช่ของเราอย่างปรมัตถ์ แท้จริงจึงไม่อยู่ในอำนาจของเราจึงควบคุมบังคับบัญชามันไม่ได้

           ๔. เป็นสภาวธรรมที่ดำรงอยู่หรือเป็นตามธรรมดา(ตามธรรมชาติหรือสภาวธรรมชาติ)ของมัน เช่น ธรรมที่เป็นสังขตะ คือสังขาร ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นต่อเหตุปัจจัย ไม่มีอยู่โดยลำพังตัว แต่เป็นไปโดยสัมพันธ์ อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่นๆ

           ๕. โดยสภาวะของมันเอง ก็แย้งหรือค้านต่อความเป็นอัตตา มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา

ดังนั้นสิ่งใดไม่เที่ยง จึงย่อมเป็นทุกข์ด้วยเหตุดังนี้นี่เอง

จึงมีพุทธดำรัสตรัสสอนอยู่เนืองๆเรื่อง สังขารไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ ไว้ดังใน อนัตตลักขณสูตร

        ดังนั้นแม้แต่ความสุขที่ทุกคนถวิลหาก็ย่อมเป็นทุกข์ในที่สุด สามารถพิจารณาจากอนิจจลักษณะและทุกขลักษณะข้างต้น

๑.สุขมีการเกิด แล้วดับ เกิดดับๆ มีแล้วก็ไม่มี ตั้งอยู่ตลอดไปไม่ได้

๒.สุขมีการแปรปรวน เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ไม่แน่นอนตลอดเวลา

๓.สุขเกิดขึ้นช่วงระยะหนึ่ง หรือขณะหนึ่งๆ

๔.แย้งต่อความเที่ยง ที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่เปลี่ยนแปลง

        เมื่อนำมาพิจารณาในทุกขลักษณะของความสุข

๑.สุข ถูกการเกิด การต้องดับ บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ควบคุมไม่ได้

๒.สุข ทนได้ยากคือคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้

๓.สุข จึงเป็นที่ตั้งของทุกข์ในที่สุด เพราะคงทนอยู่ไม่ได้

๔.เมื่อต้องดับ และทนอยู่ไม่ได้ จึงไม่เป็นสุขอีกต่อไป จึงแย้งต่อสุข

             เมื่อนำมาพิจารณาในอนัตตลักษณะของความสุข

๑.สุข เกิดแต่การประกอบกันขึ้นของกระบวนธรรมของขันธ์ทั้ง ๕ เกิดจากการผัสสะต่างๆ จึงเกิดขึ้น ชั่วขณะๆ

๒.จึงไม่มีตัวตนแท้จริง ให้ใครครอบครองเป็นเจ้าของได้

๓.เมื่อไม่สามารถครอบครองเป็นเจ้าของได้ จึงไม่สามารถไปควบคุมบังคัญบัญชาเขาได้ตามใจปรารถนา

๔.เป็นสภาวธรรมของสิ่งทั้งปวงอยู่แล้ว

 

 หัวข้อธรรม

กลับหน้าเดิม