|
|
สติ ควรระลึกรู้เท่าทันระดับใดในการปฏิบัติ ที่ยังผลอันยิ่ง
อุปมาดั่ง สติระลึกรู้เท่าทันว่า ๒ x ๒ = เท่าใด, สติระลึกรู้เท่าทันเวทนา หรือจิต แม้กาย, ธรรมก็ฉันนั้น อันจักให้ผลอันยิ่ง
อนึ่งพึงระลึกรู้ด้วยว่า
สติระลึกรู้เท่าทัน ดังนี้ว่า ๒ x ๒ = ๔, เป็นสติที่ประกอบด้วยปัญญาอันยิ่ง อันยังให้วิชชานั้นบริบูรณ์ในที่สุด
อนึ่งสติระลึกรู้เท่าทัน ดังนี้ว่า ๒ x ๒ = ๖, เป็นสติที่ประกอบด้วยมิจฉาญาณ หรือเป็นอวิชชายังให้เกิดความเดือดร้อนในที่สุด
สติ คือ สังขารขันธ์อย่างหนึ่ง ท่านจัดอยู่ในเจตสิก๕๐ เป็นอาการอย่างหนึ่งของจิต คือการที่จิตระลึกได้ นึกได้ ความไม่เผลอ การคุมใจไว้กับกิจ หรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง, จำการที่ทำและคำที่พูดแล้วได้ แท้จริงลึกๆแล้วจึงมีความหมายถึง การระลึกหรือนึกได้ในสัญญา(ความจำ,ความหมายรู้)ที่สั่งสมอบรมไว้แต่อดีตนั่นเอง (ถ้าพิจารณาในแบบขันธ์ ๕ ก็จะมีความเนื่องสัมพันธ์กับสัญญาขันธ์ในขันธ์ ๕ ด้วย) หรืออีกนัยหนึ่งกล่าวได้ว่า สติ คือ การระลึกรู้หรือจำได้ในอดีตที่สั่งสมอบรมมาอีกทั้งประกอบด้วยปัญญา, ดังนั้นพึงรู้ไว้ว่าทั้งสติแลปัญญาแม้เป็นสังขารขันธ์คืออาการอย่างหนึ่งของจิต ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่เมื่อสั่งสมอบรมดีแล้วย่อมสามารถแปรไปทำหน้าที่เป็นสัญญา(ความจำได้หมายรู้)อีกอย่างหนึ่งได้ด้วย
ในการปฏิบัติธรรมให้ได้ผลบริบูรณ์นั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้สติระลึกรู้อย่างเท่าทันในสิ่งที่ปัญญาเห็นคือเข้าใจ (จึงประกอบด้วยสัญญาอีกด้วย) กล่าวคือเป็นมหาสติในกาย เวทนา จิต หรือธรรม, หรือเป็นมหาสติในปฏิจจสมุปบาทธรรม จึงเป็นสติดังในลักษณะที่จักอาราธนาธรรมคำสอนของ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี จากหนังสือ เทสรังสีอนุสรณาลัย เรื่อง "สิ้นโลก เหลือธรรม (นัยที่สอง)" (หน้า ๙๓) ที่ได้กล่าวถึงเรื่อง สติ ไว้ดังนี้
"จิตคือผู้คิดผู้นึกในอารมณ์ต่างๆที่รวมเรียกว่ากิเลสอันเป็นเหตุทำให้จิตเศร้าหมองนั่นเอง จึงต้องฝึกหัดให้มีสติระวังควบคุมจิต ให้รู้เท่าทันจิต ซึ่งคำนี้เป็นโวหารของพระกรรมฐานโดยเฉพาะ คำว่า " รู้เท่า " คือ สติรู้จิตอยู่ ไม่ขาดไม่เกินยิ่งหย่อนกว่ากัน สติกับจิตเท่าๆกันนั่นเอง คำว่า " รู้ทัน " คือ สติทันจิตว่าคิดอะไร พอจิตคิดนึก สติก็รู้สึกทันที (webmaster-ดังแม่สูตรคูณ) เรียกว่า " รู้ทัน " แต่ถ้าจิตคิดแล้วจึงรู้นี้เรียกว่า " รู้ตาม " อย่างนี้เรียกว่าไม่ทันจิต ถ้าทันจิตแล้ว พอจิตคิดนึก สติจะรู้ทันที ไม่ก่อนไม่หลัง ความคิดของจิตก็จะสงบทันที.......ฯ."
คำว่า รู้เท่า รู้ทัน ตามที่ท่านหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี กล่าวแสดงข้างต้นนั้น ต้องทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้ง ถ้ายังไม่แจ่มแจ้ง ก็ขอให้ลองพิจารณาย้อนระลึกรู้อดีตชาติในปัจจุบันชาตินี้ เมื่อในสมัยอยู่อนุบาลหรือประถมต้นๆ ที่เมื่อคุณครูสอนเลข เรื่องการบวก ลบ คูณ หารใหม่ๆ แล้วเมื่อถูกคุณครูหรือคุณพ่อคุณแม่ที่บ้านถามว่า ๒ x ๒ เท่ากับเท่าใด? แล้วตอบได้ แต่ประกอบด้วยอาการที่ลังเลบ้าง คิดนึกเสียนานบ้าง คิดนึกไม่ออกในเบื้องแรกบ้าง ตอบผิดบ้าง ตอบถูกอย่างไม่แน่ใจบ้าง อาการลังเลสงสัยไม่แน่ใจบ้าง อาการประคับประคองกว่าจะตอบออกมาบ้าง นั่นแหละเป็นเหมือนอาการที่หลวงปู่เทสก์กล่าวไว้ว่า เป็นอาการของการ"รู้ตาม"
ส่วนอาการในปัจจุบันชาติที่ได้สั่งสมจนเป็นมหาสติ เมื่อมีใครถามว่า ๒ x ๒ เท่ากับเท่าใด? แล้วสามารถตอบได้ทันที โดยอัตโนมัติ ทำได้เองราวกับตั้งอกตั้งใจอย่างแรงกล้า ทั้งๆที่ไม่ได้ตั้งใจหรือประคับประคองอันใดเลย ก็สืบเนื่องมาจากการฝึกฝนอบรมและสั่งสมมาอย่างดีงามมาแต่อดีต(สัญญา)จากการร่ำเรียนท่องบ่นยิ่งว่า ๒ คูณ ๒ เท่ากับ ๔ จึงจดจำอันเป็นกุศลสัญญาด้วย จากการสั่งสมอบรมปฏิบัติท่องบ่นอยู่เสมอๆสมัยเด็ก, นั่นแหละอาการ"รู้ทัน, รู้เท่าทัน, รู้เท่าทันจิต" หรือก็คืออาการ"มหาสติ"นั่นเอง เพียงแต่ว่าการรู้เท่าทัน ๒ x ๒ เยี่ยงนี้นั้น ไม่จัดเป็นมหาสติในทางธรรมหรือโลกุตระ เหตุก็เพราะเป็นการระลึกรู้เท่าทันอย่างโลกๆหรือโลกิยะ ที่เป็นไปเพื่อยังประโยชน์แก่ขันธ์หรือชีวิตในปัจจุบันชาติเท่านั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อการดับไปของทุกข์ ที่เป็นไปเพื่อการดับภพชาติอย่างโลกุตระ ที่ควรระลึกรู้อยู่ใน กาย เวทนา จิต ธรรม เหมือนดั่งการระลึกรู้ในสูตรคูณแม่ต่างๆ อย่างเชี่ยวชาญชำนาญยิ่ง, ดังมักท่องจำได้ในสูตรคูณแม่ ๒ ถึงแม่ ๑๒ ที่แม้อาจไม่คล่องแคล่วในบางสูตรคูณที่ไม่จำเป็นบางประการบ้าง อุปมาดั่งวิชชาทางโลกบางประการ ที่ชำนาญบ้าง ไม่ชำนาญบ้างเป็นธรรมดา แต่ยังประโยชน์อันยิ่งใหญ่ในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันชาติ
หรือดั่งการอ่านหนังสือ ตามที่ได้สั่งสมอบรมบ่มเพาะร่ำเรียนมาจนเป็นสัญญาอย่างหนึ่ง และเมื่อตากระทบกับอักษรหนังสือ ก็เกิดสติระลึกรู้จำได้ในความหมายในทันที นั่นแหละ"มหาสติ" เกิดขึ้นจากอะไร? ถ้าพิจารณาแบบขันธ์ ๕ มหาสติก็คือสติระลึกเท่าทันปัญญาที่อบรมสั่งสมดีแล้วจนเป็นสัญญาแล้วนั่นเอง กล่าวคือแม้สติเป็นสังขารขันธ์ที่ประกอบด้วยปัญญาอย่างหนึ่ง แต่เมื่อมีการสั่งสมอบรมฝึกฝนอยู่เนืองๆ ย่อมเกิดการสั่งสมเก็บจำได้หมายรู้เป็นกุศลสัญญาอีกอย่างหนึ่งด้วยนั่นเอง มหาสติ ก็คือสิ่งปรุงแต่งหรือสังขารที่ประกอบด้วยปัญญาตามที่ได้สั่งสมอบรมไว้ดีแล้วจนเป็นสัญญา เมื่อเกิดการผัสสะกับสิ่งนั้นๆก็เกิดการระลึกรู้ขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมัวคอยประคับประคองอย่างตั้งอกตั้งใจ สามารถทำได้โดยอัตโนมัติ ดังเช่น
หนังสือ ผัสสะ คิดอ่านหมายรู้ในข้อความนั้นๆ รูป |
2X2 ผัสสะ คิดอ่านหมายรู้ว่า = 4 รูป |
หรือจากความคิด
2X2 ผัสสะ คิดอ่านหมายรู้ว่า = 4 ธรรมารมณ์(คิด) |
สติ ระลึกรู้เท่าทันเยี่ยงดังนี้นี่เอง จึงเป็นเหมือนดังที่ท่านหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้กล่าวแสดงดังข้างต้น คือ อาการของ สติที่ "รู้เท่า" "รู้ทัน" ที่จักบังเกิดผลอันยิ่ง กล่าวคือ รู้เท่าทันสังขาร(ในแง่หรือมุมมองแบบปฏิจจสมุปบาท)ที่เกิดขึ้นจากอวิชชาร่วมกับความทรงจำ(สัญญาที่เจือกิเลสหรือก็คืออาสวะกิเลสนั่นเอง), หรือการรู้เท่าทันเวทนาว่าสักว่าเวทนา หรือเห็นจิตต่างๆในชาติหรือชราที่เกิดขึ้นในวงจรปฏิจจสมุปบาท, ส่วนในทางสติปัฏฐาน ๔ ก็คือรู้เท่าทันใน กาย เวทนา จิต ธรรม, ทั้ง ๒ ต่างล้วนดีงามยิ่ง จึงรู้เท่าทันแบบใด จึงขึ้นอยู่กับจริต สติ ปัญญา แนวทางปฏิบัติของตนที่สั่งสมอบรม เป็นสำคัญ แต่ล้วนยังให้เกิดผลอันยิ่ง มีจุดหมายปลายทางเดียวกัน
สติระลึกรู้เท่าทัน ในขณะฝึก สั่งสมอบรมนั้น ก็ไม่ใช่การที่ต้องมีสติระลึกรู้ทุกอย่างเสียจนเขม็งเกร็ง หรือแน่วแน่ แน่นิ่งดั่งสมถสมาธิ และต้องไม่ประคับประคองจนเกินไป แต่ให้เหมือนดังสติรู้เท่าทันในทางโลกเช่นเรื่องสูตรคูณ ที่ร้องท่องบ่นเป็นเพลงแม่สูตรคูณต่างๆด้วยความเพียร จนเชี่ยวชาญชำนาญยิ่งเสียแค่พอเห็นหรือได้ยิน ก็เกิดการ"ระลึกรู้จำได้"คือสัญญาขึ้นในทันที, และก็ไม่ใช่การต้องมีสติระลึกรู้เท่าทันไปเสียทุกๆอย่าง ก็เพียงแม่ ๒ ถึงแม่ ๑๒ ก็เพียงพอแล้วในการดำเนินชีวิตในทางโลกไปได้ด้วยดีแล้ว เป็นแค่พอเหมาะพอควร ในทางธรรมก็เป็นไปในลักษณาการเดียวกัน เช่น ฝึกสติให้สติเห็นจิต อันให้โทษเช่น โทสะ โมหะ โลภะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ฯ. เหล่านี้เป็นต้น
ในสติปัฏฐาน ๔ ที่ให้รู้ทันเวทนาหรือจิต ในขณะเกิดบ้าง ขณะแปรปรวนบ้าง ขณะดับไปแล้วบ้าง กล่าวคือ อาจรู้ทันบ้าง อาจรู้ตามบ้าง อาจระลึกรู้ภายหลังบ้าง หรือรู้ธรรมของจิตบ้าง(เช่นเกิดแต่เหตุปัจจัยใด) เพราะล้วนเป็นการฝึกฝนปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์อยู่ อันย่อมมิสามารถรู้เท่าทันจนเป็นมหาสติได้อย่างสูตรคูณ เป็นธรรมดา ในขั้นแรกย่อมเป็นเหมือนกับขณะเล่าเรียนในชั้นอนุบาลหรือประถมต้น ที่มีการรู้ทันบ้าง รู้ตามบ้าง ระลึกรู้เมื่อดับไปแล้วบ้าง ระลึกรู้เห็นในสภาวธรรมของการเกิด การแปรปรวน การดับไปเป็นธรรมดาบ้าง แต่ล้วนเป็นการฝึกสติอีกทั้งสั่งสม อีกทั้งยังสั่งสมจนเกิดปัญญาเข้าใจในสภาวธรรมต่างๆ เช่น พระไตรลักษณ์ ฯลฯ. และเมื่อมีสติดังนี้อยู่เนืองๆเป็นอเนก ย่อมกลายเป็นมหาสติขึ้นในที่สุด เหมือนดั่งเป็นมหาสติในแม่สูตรคูณหรือการอ่านหนังสือนั่นเอง เป็นการระลึกรู้ในภาวะวิถีจิต คือในขณะที่มีการรับรู้อารมณ์ต่างๆที่กระทบในวิถีชีวิตปกติ (จึงไม่เหมือนดั่งสมถสมาธิที่แน่วแน่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเดียวเท่านั้น)
ส่วนในปฏิจจสมุปบาทนั้นก็เป็นไปเฉกเช่นเดียวกัน ที่ขั้นแรกนั้นปัญญาย่อมยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้งและยังทั้งไม่เท่าทันในสังขารอันเกิดแต่อวิชชาร่วมกับอาสวะกิเลสเป็นธรรมดาในการปฏิบัติขั้นต้นๆ แต่ก็เป็นไปเพื่อให้เกิดการสั่งสม จึงต้องรู้ทันเวทนา(องค์ธรรมในปฏิจจสมุปบาท)บ้าง เวทนูปาทานขันธ์และสังขารูปาทานขันธ์ที่เกิดขึ้นในองค์ธรรมชราบ้าง ดังนั้นในระยะแรกปฏิบัติจึงย่อมเป็นการรู้เท่าทันบ้าง รู้ตามบ้าง รู้เมื่อเป็นสุขเป็นทุกข์ดับไปแล้วบ้าง เป็นธรรมดา จนในที่สุดแล้วสติที่ใช้ร่วมกับปัญญาที่ใช้ในการปฏิบัติเพื่อการดับไปแห่งอวิชชาที่ต้องปฏิบัติสั่งสมจนพัฒนาเป็นสติที่ "รู้เท่า" "รู้ทัน" บรรดาสังขารกิเลสดังแสดงข้างต้นจึงเป็นที่สุดของการดับทุกข์ อันจักบังเกิดขึ้นจากการปฏิบัติด้วยความเพียรสั่งสมจนกล้าแข็ง แลเป็นมหาสตินั่นเอง อนึ่งการรู้เท่าทันสังขารกิเลสที่เกิดขึ้น ไม่ได้หมายถึงการปฏิบัติแบบหยุดคิดหยุดนึกเสียดื้อๆทุกอย่าง แต่เป็นเพียงสังขารกิเลส
จงฝึกจิตหรือสติให้รู้เท่าทันความคิดมโนกรรม ให้ได้ดุจดั่งตาเห็นรูป เช่นตัวอักษรหรือแม่สูตรคูณ และประกอบด้วยปัญญาที่เล็งเห็นว่าเกิดจากสังขารขันธ์ อันเป็นโทษ เช่น โทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ตัณหา ฯ. ก็ปล่อย วาง ไม่เอา หรืออุเบกขาเสียนั่นเอง อันเป็นการปฏิบัติิจิตตานุปัสสนานั่นเอง
สติควรระลึกรู้เท่าทัน ระดับใด จากธรรมคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่กล่าวแสดงไว้ใน วิธีเจริญจิตภาวนา ในข้อที่ ๔ ดังนี้
"จงทำญาณให้เห็นจิต ให้เหมือนดั่งตาเห็นรูป" (webmaster- ญาณหมายถึงปัญญาอีกทั้งสติ จึงหมายทั้ง สติ(ทั้งปัญญา)ให้เห็นจิต จิตที่หมายถึงจิตสังขารคือมโนกรรม ให้ได้ดุจดั่ง ตาเห็นรูป ที่ย่อมรู้แจ้งจำได้เข้าใจในรูปนั้นทันใด, อันจักพึงเกิดขึ้นได้จากการฝึก เหมือนการอ่านเขียนเช่นกัน)
หรือสติเป็นไปดังธรรมคำสอนของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล จากหนังสือ "อตุโล ไม่มีใดเทียม" (น.๔๖๙)
".........ในทางปฏิบัติที่ว่า
ปฏิบัติจิต ปฏิบัติใจ โดยให้ใจอยู่กับใจนี้
ก็คือให้มีสติกํากับใจให้เป็นสติถาวร
ไม่ใช่เป็นสติคล้ายๆ หลอดไฟที่จวนจะขาด
เดี๋ยวก็สว่างวาบ เดี๋ยวก็ดับ เดี๋ยวก็สว่าง (ดังภาพ
)แต่ให้มันสว่างติดต่อกันไปตลอดเวลา
เมื่อสติมันติดต่อกัน(webmaster-
เป็นสัมมาสมาธิในการดับทุกข์อย่างแท้จริงคือจิตตั้งมั่นที่เป็นไปอย่างมหาสติ
คือเกิดดับๆโดยอัติโนมัติ)ไปอย่างนี้แล้ว
ใจมันก็มีสติควบคุมอยู่ตลอดเวลา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "อยู่กับตัวรู้ตลอดเวลา"
ตัวรู้ก็คือ "สติ"
นั่นเอง
หรือจะเรียกว่า "พุทโธ" ก็ได้ พุทโธที่ว่า รู้ ตื่น
เบิกบาน ก็คือตัวสตินั่นแหละ"
สติรู้เท่าทันในกายนั้น เป็นไปเพื่อจุดประสงค์ คือละความดำริพล่าน จิตจึงตั้งมั่น และเพื่อให้เกิดปัญญาคือนิพพิทาญาณในสังขารกายที่พิจารณา อนึ่งพึงเข้าใจด้วยว่า อาการที่จิตส่งในไปในกายนั้น ไม่ใช่อาการของสติรู้เท่าทันในกายในสติปัฏฐานแต่อย่างใด แต่เป็นอาการของการติดเพลินในสมาธิหรือฌาน อันให้โทษแก่ผู้ปฏิบัติในที่สุดเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก็คือสุขในวิปัสสนูปกิเลส เรียกกันง่ายๆทั่วไปว่าติดสุขนั่นเอง จึงควรรีบแก้ไขเสีย
สติรู้เท่าทันในธรรม ก็ด้วยจุดประสงค์ คือ เมื่อจิตอยู่กับการพิจารณาธรรม จิตย่อมละความดำริพล่าน จิตจึงตั้งมั่น และเพื่อให้เกิดปัญญาญาณจากธรรมต่างๆที่พิจารณาหรือรู้เท่าทันในขณะจิตนั้นๆ
ส่วนการมีสติรู้เท่าทันเวทนาและจิต หรือเรียกรวมกันสั้นๆทั่วไปกันว่า สติเท่าทันจิต นั้นก็เพื่อการละดำริพล่านเช่นกัน ใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน พร้อมการอุเบกขาอยู่เนืองๆเป็นอเนก จึงยังให้เกิดทั้งปัญญาญาณและเป็นมหาสติขึ้นในที่สุด จึงเป็นการดับทุกข์ในที่สุด
ในผู้ที่พิจารณาปฏิจจสมุปบาทอยู่เนือง จะพึงสังเกตุเห็นว่า สตินั้นอุปมาได้ดั่ง "องค์ธรรมสังขาร"ในปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง คือ สังขารปรุงแต่งที่ได้สั่งสมอบรมไว้ เพียงแต่ไม่ได้เกิดจากอาสวะกิเลส แต่เกิดจากสัญญาที่ไม่ได้เจือกิเลส อีกทั้งไม่ได้ร่วมด้วยกับ"อวิชชา" แต่ประกอบด้วยวิชชานั่นเอง
สติ ระลึกรู้เท่าทันระดับใดที่ยังผลอันยิ่ง
อุปมาดั่ง สติระลึกรู้เท่าทันว่า ๒ x ๒ = เท่าใด, สติระลึกรู้เท่าทันก็ฉันนั้น อันจักให้ผลยิ่ง
อนึ่งพึงระลึกรู้ว่า
สติระลึกรู้เท่าทันดังนี้ ๒ x ๒ = ๔, เป็นสติที่ประกอบด้วยปัญญาอันยิ่ง อันยังให้ผลบริบูรณ์ต่อขันธ์หรือชีวิตในที่สุด
สติระลึกรู้เท่าทันดังนี้ ๒ x ๒ = ๖, เป็นสติที่ประกอบด้วยมิจฉาญาณ อันยังให้เกิดความเดือดร้อนต่อขันธ์หรือชีวิตในที่สุด
ดังนั้นคงจะพอเห็นได้แล้วว่าความเร็วของสติเท่าทันในระดับใด ที่ยังให้ผลอันยิ่ง
สตินี้จึงมีองค์ประกอบในการปฏิบัติ เช่นเดียวกับการเจริญอิทธิบาท ๔ อีกด้วย กล่าวคือ
ไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป
ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก
(ทำให้ได้เหมือนดั่งระลึกรู้ในแม่สูตรคูณ ที่ไม่ต้องประคองอยู่ตลอดเวลา)
พนมพร
มหาสติ คืออะไร เป็นอย่างไร
สมาธิขั้นใด จำเป็นในการเจริญกรรมฐาน โดยท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
มี"สติ"ให้รู้เท่าทัน"มโนกรรม"ความคิดนึกที่เกิดขึ้นจากอารมณ์อันเป็นโทษ
ให้ได้ดุจดั่ง
ตาเห็นรูป เช่นตัวหนังสือ หรือแม่สูตรคูณ ที่ประกอบด้วยความเข้าใจพลัน