เหตุใดมีสติรู้เท่าทันแล้ว ยังต้องประกอบด้วยปัญญา
สติยังต้องประกอบด้วยปัญญายิ่ง |
|
การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ นั้น เมื่อมีสติระลึกรู้เท่าทันในธรรมทั้ง ๔ แล้ว ยังจำเป็นยิ่งที่ต้องประกอบด้วยปัญญาในการเท่าทันเหล่าหนึ่งเหล่าใดนั้น กล่าวคือต้องประกอบ ด้วยปัญญาที่เข้าใจในธรรมยิ่ง ดังเช่น มีความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทหรือขันธ์ ๕ อย่างแจ่มแจ้ง ดังว่า เมื่อมีการผัสสะ ย่อมเกิดเวทนา เป็นสุข หรือทุกข์ หรืออทุกขมสุขเป็นธรรมดา ไม่เป็นอื่นไปได้ ดังนั้นเมื่อสติระลึกรู้เท่าทันในเวทนาใดแล้ว ก็รู้เข้าใจด้วยปัญญาว่าเป็นเวทนาชนิดใด ดังเช่น สุขเวทนา(สุข) ทุกข์เวทนา(ทุกข์) อทุกขมสุขเวทนา(เฉยๆ) ทุกขเวทนามีอามีส(แฝงกิเลส) ฯ.
หรืออาจไปเห็นการเกิดขึ้นแต่เหตุปัจจัย การแปรปรวนเพราะไม่เที่ยง หรือเห็นการดับไปด้วยทุกขัง ดังมีรายละเอียดในสติปัฏฐาน ๔
การปฏิบัติดังกล่าว มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้การปฏิบัติสมบูรณ์ ตามปกตินั้นมักปฏิบัติกันแบบโดยทั่วไป ที่เข้าใจกันไปเองว่า ปฏิบัติถูกต้องแล้วโดยอาการดังนี้
มีสติระลึกรู้เท่าทันว่าเกิดเวทนาหรือจิต แล้วอุเบกขาเสียดื้อๆก็มี เพื่อให้ทุกข์ดับไปโดยเร็ว ด้วยเข้าใจผิด จึงขาดปัญญา
หรือสติเห็นหรือเท่าทันเวทนาแล้วก็จริงอยู่ แต่กลับปล่อยจิตออกไปปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านต่อไป ขาดการอุเบกขาอันเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งของการดับทุกข์หรือองค์ของการดับทุกข์
หรือ ยึดในความว่างหรือสุญญตาอย่างผิดๆ กล่าวคือ ปฏิบัติไปในแนวทางพยายามหยุดคิดหยุดนึกเสีย อย่างขาดเหตุขาดผล หยุดมันดะทั่วไปหมด จนซึมหรือมะลื่อทื่ออยู่แต่ภายในตนเองเป็นสำคัญ ไปยึดความว่าง ด้วยเข้าใจผิด และเนื่องจากเกิดความสุขสงบสบายในช่วงแรกๆ ไม่เกิดปัญญา
การปฏิบัติดังกล่าว ล้วนโดยขาดการประกอบด้วยปัญญาซึ่งอาจให้ผลดีเพียงในระยะแรกๆเท่านั้น แต่ไม่ยังให้เกิดผลดีในการปฏิบัติอย่างจริงจังแต่อย่างใด แต่กลับก่อให้เกิดผลร้ายในภายหน้าขึ้นเสียอีก
เหตุที่ต้องมีสติชนิดที่ประกอบด้วยปัญญานั้น จึงจะยังผลให้บริบูรณ์ได้นั้น เพราะ
๑. สติที่ประกอบด้วยปัญญา กล่าวคือเมื่อสติระลึกรู้เท่าทันแล้ว ยังต้องรู้ด้วยปัญญาว่า เกิดแต่เหตุอันใดอย่างปรมัตถ์ ดังเช่น สติระลึกรู้เท่าทันว่าเกิดจากสุขเวทนา ทุกขเวทนามีอามิส ฯ. หรืออาจเห็น(สติ)จิตที่กำลังคิดปรุงแต่ง หรือสติเห็นจิตมีโมหะ ฯ. ก็รู้ในธรรมเหล่านั้นที่เกิดขึ้น และปัญญายังเป็นผู้จำแนกแตกธรรมว่า สิ่งใดที่คิดเพื่อกิจเพื่องานก็คิดไป ส่วนคิดใดเป็นคิดนึกปรุงให้เกิดอุปาทานทุกข์ก็อุเบกขา เป็นกลาง ไม่โอนเอียงเข้าไปปรุงแต่งต่อไป จึงไม่ใช่การพยายามไปหยุดคิดหยุดนึกเสียทั้งหมดอย่างขาดปัญญา เหล่านี้จึงเป็นการสั่งสมอันสำคัญยิ่งที่จะก่อให้เกิดความก้าวหน้า ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งไม่ใช่แค่ความเข้าใจอย่างทางโลกเท่านั้น
๒. ขณะที่สติระลึกรู้เท่าทันนั้น และประกอบด้วยปัญญานั้น เป็นเครื่องอยู่ของจิตอย่างหนึ่งอันดียิ่ง กล่าวคือ ขณะสติระลึกรู้เท่าทันแล้วนั้น ขณะจิตที่พิจารณาด้วยปัญญาว่าธรรมเหล่าใดเป็นเหตุ แม้ในแค่ชั่วเสี้ยวขณะจิตเดียวนั้น หมายความว่า ขณะนั้นจิตยึดธรรมเป็นอารมณ์ หรือมีธรรมเป็นเครื่องอยู่หรือที่พึ่ง และยังประกอบด้วยมีการมีตนเป็นที่พึ่ง กล่าวคือ ปัญญาที่เห็นได้ด้วยตนเอง
๓. ในขณะจิตที่ จิตมีธรรมเป็นเครื่องอยู่หรือมีธรรมเป็นที่พึ่งนั้น ย่อมเกิดปรากฏการณ์ที่สำคัญยิ่งเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติที่กล่าวไว้ในเรื่องพระไตรลักษณ์ คือ ธรรมอันคือ อิริยาบถ เป็นเครื่องเบี่ยงเบนหรือบดบังทุกขัง อันเกิดขึ้นแต่อิริยาบถทางจิตอย่างหนึ่ง เพียงแต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นและเป็นไปโดยที่นักปฏิบัติไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง แต่ย่อมเกิดขึ้นมากหรือน้อยเท่านั้นอย่างแน่นอนเป็นธรรมดา กล่าวคือ มากน้อยขึ้นอยู่กับจริต สติ ปัญญา แต่ไม่เป็นอื่นไปได้ กล่าวคือ จิตย่อมมีอาการถูกเบี่ยงเบนออกไปจากเหล่าเวทนาหรือจิตเหล่านั้น ไม่มากก็น้อย จึงทำให้ไม่ไปผูกพันหรือครุ่นคิดในเหล่าเวทนาหรือจิตเหล่านั้น จึงมีกำลังของจิตในการอุเบกขาได้ง่ายขึ้น