กระดานธรรม ๓ : ๒๓

ปฐมบทแห่งโลกและธรรม

คลิกขวาเมนู   

        เหตุปัจจัย กล่าวได้ว่า เป็นปฐมบทแห่งโลกและธรรม เป็นเหตุเบื้องต้น คือต้นกำเนิดทั้งของทางโลกและธรรมทั้งปวง จึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งที่พึงต้องทำความเข้าใจกันเป็นเบื้องต้น  เพื่อความก้าวหน้าในการเจริญวิปัสสนาในธรรม  ซึ่งเมื่อมีความเข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว พระอรรถกถาจารย์ท่านจัดว่าเป็น"จูฬโสดาบัน" หรือ"พระโสดาบันน้อย"ทีเดียว คือถือว่าเป็นผู้มีคติหรือความก้าวหน้าอย่างแน่นอนในพระศาสนา ด้วยเห็นด้วยปัญญาแล้วว่า สิ่งทั้งหลายสักแต่ว่าเกิดแต่เหตุปัจจัย (รายละเอียดอยู่ใน ญาณ ๑๖)

        เหตุ หมายถึง สิ่ง, สิ่งต่างๆ, สิ่งที่ก่อเรื่อง

        ปัจจัย หมายถึง เครื่องสนับสนุนหรือเครื่องปรุงแต่งกัน ให้เกิดสิ่งอื่นหรือผลอื่นขึ้น

  เหตุปัจจัย จึงมีความหมายที่ว่า  การที่มีเหตุคือสิ่งต่างๆ  มาเป็นเครื่องสนับสนุนหรือเครื่องปรุงแต่งกันหรือประชุมประกอบกัน  จนเกิดอีกสิ่งหนึ่งขึ้น

        ดังเช่น น้ำ (H2O) อันย่อมเป็นสังขาร เพราะความที่เกิดแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นอย่างหนึ่ง ชนิดรูปธรรม เพราะแลเห็นได้ด้วยตา หรือสัมผัสได้ด้วยกาย ที่ย่อมประกอบด้วย เหตุต่างๆ อันมี ไฮโดรเจน(H) ๒ อะตอม กับออกซิเจน(O) ๑ อะตอม  และถ้ากล่าวกันโดยละเอียดก็ต้องกล่าวด้วยว่า มีแรงที่มากระทำคือแรงบีบคั้นหรือปรุงแต่งอีกด้วย,  ทั้ง ๓ นี้มาเป็นปัจจัยกันหรือปรุงแต่งกันและกันขึ้น เป็น H2O หรือสิ่งที่เราเรียกกันโดยสมมติทางโลกในภาษาไทยว่า น้ำ   ถ้าเราพิจารณาโดยแยบคายจะพบว่าทั้ง H และ O ที่ก่อนมาประชุมหรือก่อนมาปรุงแต่งกันนั้นต่างก็เป็นของในสภาวะเป็น ก๊าซ  ไม่มีตัวตนรูปร่างให้แลเห็นหรือสัมผัสได้ชัด ส่วนแรงนั้นก็ย่อมแลไม่เห็นเป็นธรรมดา  แต่เมื่อมีเหตุทั้ง ๓ มาเป็นปัจจัยกันดังกล่าว ย่อมเกิดคือมีการสนับสนุนกันให้เกิดอีกสิ่งหนึ่งขึ้นคือน้ำ ซึ่งมีสภาพแปรปรวนเปลี่ยนไปเป็นของเหลว ที่มองเห็น และสัมผัสได้,  เมื่อรวมตัวปรุงแต่งกัน เป็นเหตุปัจจัยกันแล้วย่อมเกิดน้ำขึ้น  ที่เป็นฆนะคือมีความเป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นมวลรวมของกันและกันขึ้นนั่นเอง  คือเมื่อเป็นกลุ่มก้อนเป็นมวลแล้วก็ทำให้เกิดขึ้นแลเห็นว่าเป็นน้ำ  แลดูไม่เห็นได้เลยว่ามาจากเหตุ H และ O  ทั้งๆที่ความจริงอย่างยิ่งหรือปรมัตถ์คือตามความเป็นจริงขั้นสูงสุดแล้ว ก็ยังประกอบอยู่ด้วยเหตุเหล่านั้นอยู่ คือ ทั้ง H และ O และย่อมประกอบด้วยแรงบีบคั้นปรุงแต่งอีกด้วย จึงเป็น H2O ขึ้นนั่นเอง

        ดังนั้นเมื่อเราเห็นน้ำ เราก็มีปัญญาความรู้คือ กล่าวคือเป็นการหยั่งรู้ได้ด้วยปัญญา(ปัจจัยปริคคหญาณ)ว่า เป็นสังขารสิ่งปรุงแต่งขึ้นอย่างหนึ่งที่เกิดแต่เหตุปัจจัยของ H และ O ที่เมื่อรวมเป็นฆนะกลุ่มก้อนแล้ว เกิดมายาให้เห็นว่าเป็นน้ำนั่นเอง,  แท้จริงขั้นสูงสุดแล้วเป็นอนัตตา คือไม่มีตัวตนของมันเองจริง เป็นเพียงเกิดแต่การประกอบกันขึ้นของเหตุต่างๆมาสนับสนุนปรุงแต่งกัน

        ด้วยเหตุดังนี้นี่เอง สังขารสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายจึงมีอายุขัย ตั้งอยู่ได้ชั่วขณะๆ แตกต่างกันไป ตามความเสื่อมของเหตุต่างๆ ที่มาประชุมประกอบกันขึ้น อีกทั้งความเสื่อมของแรงบีบคั้นที่กระทำต่อสังขารนั้นๆ จนถึงภาวะสุดท้ายคือดับสูญไป คือว่างเปล่าจากตัวตน กลับสู่สภาวะเดิมๆ

        สังขาร หรือสังขตธรรม หรือสิ่งปรุงแต่งทั้งปวงไม่เที่ยง มีความแปรปรวน ก็เพราะความที่ล้วนย่อมเกิดขึ้นมาแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นดังกล่าว  คือล้วนเกิดมาจากการที่มีเหตุต่างๆอันแปรปรวนอยู่เสมอๆมาเป็นปัจจัยแก่กันและกันขึ้น   เหตุปัจจัยเป็นสิ่งเราควรทำความเข้าใจกันโดยละเอียดดูเป็นเบื้องต้นทีเดียว เพราะกล่าวได้ว่าเป็นเหตุเบื้องต้น หรือพื้นฐานคือบาทฐานของธรรมทั้งปวง และแม้กระทั่งการเกิดขึ้นอีกทั้งการดับไปของสังขารทั้งปวงอีกด้วย อีกทั้งตรงกับหลักพื้นฐานสำคัญในทางวิทยาศาสตร์ในสมัยปัจจุบัน คือความเป็นเหตุเป็นผลกันนั่นเอง คือความมีเหตุเป็นปัจจัยกัน(สนับสนุนกัน)จึงยังให้เกิดผลขึ้น  จัดว่าเป็นญาณหนึ่งในญาณ ๑๖ หรือ"โสฬสญาณ"ทีเดียว คือ ปัจจัยปริคคหญาณ กล่าวได้ว่าเป็นพื้นฐานความรู้อันยิ่งในการเจริญวิปัสสนาคือทำความเข้าใจในธรรมต่างๆอย่างโลกุตระ   ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า เหตุปัจจัยเป็นปฐมบทของธรรมทั้งปวงได้ทีเดียว  ดังเช่น

        ปฏิจจสมุปบาท ที่ภาวะที่อาศัยเหตุต่างๆเป็นปัจจัยกัน(สนับสนุนซึ่งกันและกัน)จึงเกิดผล ที่ต่อเนื่องสัมพันธ์กันให้เกิดความทุกข์ชนิดที่ประกอบด้วยอุปาทานคือเจตนาหรือคิดอ่านที่ไปปรุงจิตให้เห็นเป็นไปตามกิเลสตน หรือความพึงพอใจของตัวตน อันเร่าร้อนขึ้น ดังเช่น เวทนาเป็นเหตุ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา แล้วตัณหานั้นจึงเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน....ฯ.

        ขันธ์ ๕ ที่อาศัยภาวะความเป็นเหตุของขันธ์ต่างๆ เป็นปัจจัยกัน จึงเกิดผลคือชีวิต   และขันธ์ทั้ง ๕ ยังเป็นเหตุปัจจัยกัน จึงเกิดการทำงานเป็นผล คือสังขารขันธ์ต่างๆคืออารมณ์ทางโลกต่างๆขึ้นได้ เช่น สุข ทุกข์ โลภ โกรธ หลง หดหู่ ฟุ้งซ่าน เป็นกลางๆ กังวล กลัว ฯ.

        สังขารขันธ์ หรืออารมณ์ในทางโลกต่างๆ เป็นผลที่เกิดจากการผัสสะของขันธ์ ๕  และยังเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการกระทำ(กรรม)ต่างๆขึ้น

        พระไตรลักษณ์ ที่เพราะความเป็นเหตุปัจจัยกันจึงเกิดสังขารทั้งปวงขึ้น จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ในสังขารทั้งปวงตามมา

        นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ หรือสัมมาทัสสนะคือ ญาณหรือปัญญากำหนดรู้คือเข้าใจแจ่มแจ้งในทั้งในนามและรูป คือนามธรรมสิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ ส่วนรูปธรรมนั้นคือสิ่งที่รับรู้ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น และกาย ทั้ง ๕  ก็ล้วนต่างเกิดขึ้นแต่เหตุปัจจัย  ดังนั้นแม้ชีวิตที่เกิดแต่นามและรูป จึงย่อมเกิดแต่เหตุปัจจัยด้วยกันทั้งสิ้น

        อริยสัจ ๔ ที่เพราะตัณหาเป็นเหตุคือสมุทัย จึงเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์คืออุปาทานทุกข์หรืออุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นทุกข์  หรือเพราะมรรคเป็นเหตุ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดนิโรธขึ้น

        อิทัปปัจจยตา ที่เพราะมีเหตุมาเป็นปัจจัยกัน จึงเกิดผลขึ้น  หรือเพราะเหตุนั้นดับ จึงเป็นปัจจัยให้ผลนั้นดับ

        สมาธิ, ฌาน  ที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการสงบระงับชั่วคราว(วิขัมภนวิมุตติ)ของกิเลส (สิ่งขุ่นมัว)ที่ทำให้เกิดทุกข์ คือ กิเลสต่างๆในนิวรณ์ ๕ ที่เนื่องมาจากเหตุคือการระงับการปรุงแต่งหรือการผัสสะต่างๆได้ ในชั่วขณะสมาธินั้นๆได้ เพราะจิตไปแน่วแน่กับอารมณ์ที่กำหนดได้นั่นเอง จึงไม่เกิดการคิดปรุงแต่งจนเกิดการผัสสะ

        สัมมาสมาธิ เป็นเหตุปัจจัยเครื่องหนุนการเจริญวิปัสสนา

        การเจริญวิปัสสนา เป็นเหตุปัจจัยเครื่องหนุนปัญญา(สัมมาญาณ)

        ปัญญา(สัมมาญาณ) เป็นเหตุปัจจัยเครื่องหนุนให้เกิดสัมมาวิมุตติ คือ ความสุขจากการหลุดพ้นจากกองทุกข์

        ความทุกข์ทั้งหลาย ก็ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย คือเกิดจากเหตุคือขันธ์ทั้ง ๕ กับอายตนะภายนอกทั้งหลายคือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ จึงเกิดการผัสสะ แล้วเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดตัณหา อุปาทาน จึงเกิดอุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นทุกข์

        ความเจ็บป่วยไข้ ก็ล้วนเกิดแต่มีเหตุเป็นปัจจัยกันจึงเกิดขึ้น  ก็ย่อมต้องรักษาดูแลกันที่เหตุ

กล่าวโดยย่อ สังขารทั้งปวงล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยทั้งสิ้น

        เวทนา การเสวยอารมณ์ เป็นนามธรรม ไม่มีตัวตนให้สัมผัสได้ด้วยอายตนะทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย แต่เป็นสิ่งทีรู้ได้ด้วยใจ(อายตนะที่ ๖) แม้ไม่มีตัวตน แต่ก็เป็นสังขารที่ถูกปรุงแต่งกันขึ้นอย่างหนึ่งจากการมีเหตุมาเป็นปัจจัยแก่กันและกันของขันธ์ต่างๆ จึงเกิดขึ้นได้(ชาติ)  ดังภาพที่แสดง

อายตนะภายนอก    กระทบกัน เช่น ตาเห็นรูป อายตนะภายใน   การประจวบกันของปัจจัยทั้ง ๓  เรียกว่าผัสสะ วิญญาณ ๖   การประจวบกันของปัจจัยทั้ง ๓  เรียกว่าผัสสะ ผัสสะ   การประจวบกันของปัจจัยทั้ง ๓  เรียกว่าผัสสะ สัญญาจำได้   การประจวบกันของปัจจัยทั้ง ๓  เรียกว่าผัสสะ จึงเกิดเวทนาขึ้น

 

ตา กระทบกับ รูป     เป็นปัจจัย จึงมี จักขุวิญญาณ     เป็นปัจจัย จึงมี ผัสสะ     เป็นปัจจัย จึงมี สัญญาจำได้(รูปสัญญา)     เป็นปัจจัย จึงมี เวทนา ย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา   ไม่เกิดได้ไหมหนอ?

        เพราะความเป็นเหตุปัจจัยกันดังนี้นี่เอง จึงเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารต่างๆทั้งปวงในโลกนี้ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรูปธรรม หรือนามธรรม (เช่น เวทนา สัญญา สังขารขัน์ วิญญาณ ฯ.) ไม่ว่าเป็นเซล หรือโมเลกุล หรืออนุภาคปรมาณูต่างๆ  และเพราะสังขารเป็นไปดังนี้นี่เองแท้จริงตัวตนโดยแท้จริงของเขาจึงไม่มี เพราะมิใช่เป็นสิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริง แต่เกิดจากการประกอบกันขึ้นขององค์ประกอบย่อยๆมาประกอบปรุงแต่งกัน  จึงยังให้เกิดอาการของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นผลตามมา,  เหตุปัจจัย จึงกล่าวได้ว่า เป็นต้นกำเนิดแห่งธรรมนิยามหรือพระไตรลักษณ์ กล่าวคือเป็นฆนะคือกลุ่มก้อนหรือมวลรวมที่ปรุงแต่งกันขึ้นมานั้น ยังมีความไม่สมบูรณ์ในตัวเองก็เพราะความที่มันไม่ใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริง ดังแสดงข้างต้นเรื่องน้ำว่า ความจริงแล้วยังประกอบอยู่ด้วยทั้ง H และ O ตลอดจนแรงบีบคั้นที่กระทำ   จริงๆแล้วจึงมีสภาพที่เหตุต่างๆถูกปรุงแต่งจากแรงกระทำบางอย่างที่บีบคั้นอย่างแอบแฝงอยู่ ซึ่งไม่อาจเห็นได้ตามปกติธรรมดาๆ   การถูกปรุงแต่งขึ้นเป็นสภาพที่ถูกกระทำหรือบีบคั้นด้วยแรงต่างๆให้เกิดขึ้น และแรงกระทำหรือแรงปรุงแต่งที่บีบคั้นอยู่เหล่านั้นก็ย่อมไม่เที่ยงด้วยเป็นสังขารอย่างหนึ่งเช่นกัน  ดังนั้นเมื่อแปรปรวนอ่อนแรงหรือหมดแรงกระทำคือหมดแรงของการปรุงแต่งแล้ว สังขารทั้งปวงที่ถูกร้อยรัดอยู่ด้วยแรงปรุงแต่งย่อมคลาย, ย่อมคืนสู่สภาพเดิมๆ โดยธรรมหรือธรรมชาติ  จึงเกิดอาการแปรปรวนต่างๆขึ้นในขณะที่พยายามคืนสู่สภาพเดิมๆก่อนการปรุงแต่ง  จึงเป็นผลให้เกิดสภาพธรรมที่เรียกว่า เกิดอาการอนิจจังไม่เที่ยง มีการแปรปรวนขึ้นในสังขารต่างๆทั้งปวงเหล่านั้นตามมาล้วนสิ้นนั่นเอง   และแม้แต่ตัวเหตุที่ทำให้เกิดของน้ำเอง คือทั้ง H และ O เหล่านี้ ซึ่งเป็นเพียงอะตอม หรือโมเลกุล ก็ยังประกอบมาแต่เหตุปัจจัยต่างๆอีกเช่นกันดังเช่นบรรดา โปรตรอน proton, นิวตรอน neutron  อีกทั้งอิเลคตรอน electron ที่เป็นพลังงานวิ่งวนเวียนแปรปรวนอยู่โดยรอบๆของอะตอม แท้จริงจึงมีการแปรปรวน(ชรา)คือการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา จนถึงจุดหนึ่งๆที่แรงบีบคั้นค่อยเสื่อมจนดับไป  เป็นสิ่งที่ปุถุชนเพิ่งค้นพบความรู้นี้กันในศตวรรษที่ ๒๐ นี้เอง  แต่พระพุทธองค์ทรงรู้หลักพื้นฐานกฏเกณ์ของทุกๆสรรพสิ่ง คือสังขารทั้งปวงนั่นเองถึงขั้นปรมัตถ์กันมาตั้งแต่ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว   ดังภาพของอะตอมที่แสดง

        เมื่อเกิดการอนิจจัง ไม่เที่ยง แปรปรวนขึ้นแล้ว หมายถึง ย่อมมีการแปรปรวนการเปลี่ยนแปลงในสังขารนั้นๆ จากแรงบีบคั้นที่เกิดดับๆปรุงแต่งอย่างแปรปรวนอยู่ตลอดเวลานั้น  จนเมื่อแปรปรวนเปลี่ยนแปลงจนถึงที่สุด กล่าวคือ จนหมดแรงกระทำหรือหมดแรงปรุงแต่งโดยสิ้นเชิงแล้ว หมายความว่า สังขารนั้นๆคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้ย่อมคืนสู่สภาพเดิมๆก่อนการปรุงแต่ง แม้ในขั้นแรกอาจจะไม่ใช่สภาพเดิมสุดก็ตามที  สังขารทั้งปวงจึงย่อมหมดสภาพของความเป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นมวลรวมหรือฆนะ ของการปรุงแต่ง คือเกิดการแตกสลายหรือการดับไปในที่สุดนั่นเอง ดังเช่น น้ำ H2O ก็กลับคืนสู่ H และ O,  แม้รูปหรือรูปขันธ์ของเราท่าน ก็ย่อมคืนสู่ธาตุ ๔ ฯ  กล่าวคือสังขารทั้งปวงจึงล้วนเป็นไปในลักษณาการดั่งนี้ล้วนสิ้น

         แม้แต่สิ่งที่เป็นอนุภาคต่างๆ ซึ่งเล็กเสียยิ่งกว่าอะตอมหรือปรมาณูลงไปอีกมากมายนัก เช่น แรงต่างๆ  แสง เสียง คลื่นต่างๆ เช่นคลื่นลม คลื่นน้ำ คลื่นวิทยุ คลื่นเสียง คลื่นรังสีต่างๆ ตลอดจนพลังงานในรูปแบบต่างๆนาๆ  ก็ล้วนเป็นสังขารที่เกิดจากการมีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันและกันขึ้นทั้งสิ้น จึงล้วนไม่เที่ยง  คงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้จนสลายดับไไปเป็นที่สุด  เป็นอนัตตา ลองพิจารณาด้วยถ้วนถี่ดู จริงหรือไม่

         ดังนั้นสังขารทั้งปวงในสากลโลกนี้ ตั้งแต่มวลที่เล็กที่สุด จนถึงใหญ่ที่สุด แม้สุดขอบโลก ทั้งกี่ภพกี่หมื่นจักรวาล ทั้งรูปธรรมและนามธรรม  จึงล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยทั้งสิ้น ทั้งรูปธรรมและนามธรรม กล่าวคือ ไม่มีเหตุ-มาเป็นปัจจัยกัน-ก็ไม่เกิด   เมื่อมีเหตุ-มาเป็นปัจจัยกัน-ย่อมต้องเกิดขึ้น  เป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติหรือที่เรียกว่าอสังขตธรรม จึงมีความเที่ยงแท้ และอกาลิโกคือเป็นจริงอยู่อย่างนี้ตลอดมาและตลอดไป  สังขารทั้งปวงจึงเป็นดั่งที่ท่านกล่าวไว้ว่า

สังขารทั้งปวง เว้นจากเหตุปัจจัย  มิได้มี

         หรือกล่าวได้เลยว่า สิ่งทั้งปวง ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย  อันยกเว้นเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นคืออสังขตธรรม อันเป็นเพียงสภาวะหรือสภาวธรรมหรือกฏธรรมชาติ  คือยังไม่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นจริงนั่นเอง (จึงยังคงอยู่เพียงในรูปกฏหรือทฤษฎี หรือยังเป็นเพียงสภาวธรรมนั่นเอง),  เหตุปัจจัยจึงครอบคลุมถึงอนุภาคน้อยใหญ่ จนกระทั่งโลก และจักรวาล แม้ชีวิต ก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากเหตุปัจจัยทั้งสิ้น จึงส่งผลให้มีอนิจจังความไม่เที่ยง  ทุกขังคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนของมันเองจริง เพราะเกิดจากการประกอบกันขึ้นขององค์ประกอบย่อยๆมาประชุมเป็นเหตุปัจจัยกัน จึงขึ้นอยู่และเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆตามหลักอิทัปปัจจยตา  เมื่อไม่มีตัวตนแท้จริงจึงเข้าครอบครองเป็นเจ้าของโดยแท้จริงไม่ได้เลย  แท้จริงจึงไม่อยู่ในอำนาจควบคุมบังคับบัญชาของใครๆ แม้แต่เรา  จึงย่อมไม่ได้เป็นไปตามใจอยากคือปรารถนา แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่มาประชุมกันเท่านั้นเอง

         รูปขันธ์หรือรูปกาย อันเป็นรูปธรรม ก็เกิดแต่เหตุปัจจัยของธาตุ ๔ หรือมหาภูตรูป

         เวทนาขันธ์หรือเวทนา แม้เป็นนามธรรม ก็เกิดแต่เหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยกัน จากการเกิดการผัสสะ จึงเกิดเวทนาขึ้นได้  ไม่ผัสสะไม่เกิด ดังภาพ

                                         ผัสสะ       รูปสัญญา                         

รูป    กระทบกัน เช่น ตาเห็นรูป ตา ย่อมทำให้เกิดขึ้น โดยธรรม จักขุวิญญาณ  การประจวบกันของปัจจัยทั้ง ๓ ข้างต้น  สัญญาจํา ย่อมทำให้เกิด  เวทนา

         สัญญาขันธ์หรือสัญญา ความจำได้อีกทั้งหมายรู้ อันเป็นนามธรรม ก็เกิดแต่เหตุปัจจัยของหทัยวัตถุคือสมอง ร่วมด้วยเหตุปัจจัยแต่อดีต คือจำได้ทั้งหมายรู้จากการเคยเกิดเคยเป็นจากขันธ์ ๕ ในอดีต 

         สังขารขันธ์ หรือสภาพหรืออาการของใจ ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ(หรืออารมณ์ในทางโลก) อันเป็นนามธรรม ก็เกิดขึ้นแต่เหตุปัจจัยของขันธ์อื่นๆทั้ง ๔ พร้อมทั้งเหตุอันได้แก่อายตนะภายนอกทั้ง ๖ ต่างๆคือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อีกทั้งธรรมารมณ์ทั้งหลายที่มากระทบ มาเป็นเหตุปัจจัยกัน 

         วิญญาณขันธ์หรือวิญญาณ อันเป็นนามธรรม ก็เกิดแต่เหตุปัจจัยของการกระทบกันของอายตนะภายนอกและภายใน ที่ย่อมเกิดขึ้นในผู้มีชีวิต  ขาดแต่เหตุปัจจัย มิได้มี ดังภาพบนที่แสดงการเกิดขึ้นของจักขุวิญญาณ ในผู้ที่ยังมีดำรงชีวิตอยู่

        และสังขารขันธ์ อันเป็นผลของการเกิดแต่เหตุปัจจัยของกระบวนธรรมของขันธ์ทั้ง ๕  ยังดำเนินไปเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสัญเจตนา แม้กระทั่งอุปาทาน(ถ้าสังขารขันธ์นั้นเป็นตัณหา) และยังดำเนินต่อไปให้เกิดกรรม(การกระทำ)ต่างๆขึ้นเนื่องต่อมา

         ชีวิตหรือมนุษย์ที่เห็น อันเป็นรูปธรรม ก็เกิดแต่เหตุปัจจัยของขันธ์ทั้ง ๕

         แม้ดวงชะตาของชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย แท้จริงแล้วก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย

         อะตอม เพียงอะตอมหนึ่งก็เกิดแต่เหตุปัจจัย ของโปรตอน นิวตรอน นิวเคลีส และอิเลคตรอน ฯ. มาประกอบรวมกันทั้งสิ้น

         โมเลกุล เพียงโมเลกุลหนึ่ง ก็เกิดแต่เหตุคืออะตอมต่างๆ มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันหรือประกอบรวมกันจนเกิดเป็นโมเลกุล

         อวัยวะ น้อยใหญ่ ก็เกิดจากการรวมตัวปรุงแต่งกันของเหตุคือโมเลกุลต่างๆ จนเป็นกลุ่มก้อน(ฆนะ) มวลรวมของอวัยวะน้อยใหญ่

         กล่าวคือ สังขารทั้งปวงนั่นเอง  คราวนี้ลองพิจารณาดูด้วยตัวตนเองบ้างว่า มีสังขาร(สังขตธรรม)ใดบ้างที่มิได้เกิดแต่เหตุปัจจัย? แม้สิ่งหนึ่ง!  เพราะถ้ามีได้แม้เพียงสิ่งหนึ่งแล้วไซร้ ก็ถือได้ว่าพุทธศาสนาเป็นของไม่แท้จริงได้ทีเดียว  ดังนั้นจึงพึงพิจารณาโดยละเอียดและแยบคาย

 

         ความทุกข์ อันเป็นนามธรรม ก็ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย คือเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัยตามวงจรปฏิจจสมุปบาท

         เงา อันเป็นรูปธรรม ก็ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยของ แสง วัตถุทึบแสง และพื้นที่รับแสง ฯ. (รายละเอียดอยู่ในเรื่อง จิต คืออะไร?)

         จิต อันเป็นนามธรรม ก็ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย ที่ย่อมเกิดขึ้นจากการกระทบกันของอายตนะภายในและภายนอก ในผู้มีชีวิตอยู่

         ฝน อันเป็นรูปธรรม ก็ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยต่างๆปรุงแต่งกันขึ้น ดังเช่น น้ำ การระเหย ความร้อน ความแตกต่างของอุณภูมิ การควบกลั่น ฝุ่นละออง แรงดึงดูดของโลก ฯลฯ. (ส่วนฝน ที่หมายถึงฝ่ายนามธรรม คือเป็นเพียงสภาวธรรมที่ทำให้เกิดฝน ยังไม่มีเหตุมาเป็นปัจจัยกันให้การเกิดขึ้นเป็นตัวเป็นตนชนิดรูปธรรม จึงเป็น"อสังขตธรรม" จึงไม่ใช่สังขาร  จึงมีความเที่ยง ไม่ทุกขังแปรปรวน แต่ก็เป็นเพียงอนัตตาเช่นกัน และเป็นอกาลิโก)

         แรงลม เกิดแต่เหตุ ของแสงแดดความร้อน อากาศร้อนจึงลอยตัว และอากาศเย็นเข้าแทนที่ ฯ. มาเป็นปัจจัยกัน

         คลื่นเสียง ก็เกิดจากเหตุปัจจัยของการสั่นสะเทือนของวัตถุต่างๆ ฝ่าอากาศ

         การแผ่อนุภาครังสี เกิดจากเหตุ คือธาตุต่างๆถูกกระทำจนมีการแตกตัวของอะตอม จึงเป็นปัจจัยให้เกิดการแปรรูปเป็นพลังงานรังสีต่างๆขึ้นได้  หรือพลังงานต่างๆเป็นเหตุปัจจัยกันถูกบีบคั้นให้เป็นวัตถุธาตุต่างๆ ตามกฏฟิสิกส์ก็ตาม ที่กล่าวเกี่ยวกับกฏของพลังงานไว้ว่า พลังงานไม่สูญหายไปไหน แต่แปรรูปหรือแปรปรวนระหว่างพลังงานและวัตถุ ก็ล้วนแต่เกิดจากมีเหตุปัจจัยต่างๆจึงเกิดการแปรเปลี่ยนกันขึ้นได้ แท้จริงก็คือการมีเหตุปัจจัยทำให้มีการเกิดขึ้นและการดับไปของแต่ละสถานะภาพนั่นเอง จึงถูกต้อง, ดังนั้นพลังงานทั้งหลายที่เมื่อเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย ย่อมมีการแปรปรวนเช่น เบาลง แรงขึ้น แม้การแปรเปลี่ยนรูปไปมา ฯ. เมื่อมีการแปรปรวนจึงต้องมีการดับไปเป็นที่สุดเช่นกัน จึงล้วนเป็นสังขารอย่างหนึ่งทั้งสิ้น

         โลก พระอาทิตย์ พระจันทร์ ฯ. ก็ล้วนแต่เกิดจากเหตุปัจจัย เป็นกลุ่มก้อนมวลรวมปรุงแต่งของธาตุต่างๆ หรือกลุ่มก๊าซต่างๆ ฯลฯ.

จึงกล่าวได้ว่า"เหตุปัจจัย"นี้นี่เอง จึงเป็นปฐมบทอันสำคัญยิ่ง ทั้งของจักรวาล ทั้งโลก และทั้งธรรมทีเดียว

เว้นแต่เหตุปัจจัยเสียแล้ว  มิได้มี

และอีกทั้งถือได้ว่าเป็นปฐมบทแห่งธรรม อิทัปปัจจยตา อันนับได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของธรรมในพุทธศาสนาทีเดียว  ที่ว่า

เพราะเหตุ(ปัจจัย)นี้มี  ผลนี้จึงมี

เพราะเหตุ(ปัจจัย)นี้ดับ  ผลนี้จึงดับ

หรือดังพุทธภาษิต ที่พระอัสสชิกล่าวแก่พระสารีบุตร ทำให้ท่านดวงตาเห็นธรรม จนออกบวช ที่ว่า

ธรรม เหล่าใดล้วนเกิดแต่ เหตุ

         ด้วยเหตุดังนี้จึงควรพิจารณาให้เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของการเจริญธรรมต่างๆในพุทธศาสนา ที่ล้วนต้องเกี่ยวข้องพัวพันกับเหตุปัจจัย  เพราะทุกสรรพสิ่งที่เป็นสังขารหรือสังขตธรรม ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งจากเหตุปัจจัยขึ้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนามธรรม หรือรูปธรรมต่างล้วนเป็นไปดังนี้ทั้งสิ้น  ไม่มียกเว้นใดๆทั้งสิ้น แม้สิ่งหนึ่ง  พึงนำไปพิจารณาด้วยตนเองในทุกๆสรรพสิ่งหรือสังขารทั้งปวงว่าเป็นจริงดั่งนี้หรือไม่  จนเกิดความเข้าใจ แน่ใจ อย่างมั่นคง ไม่คลอนแคลนอีกต่อไป เพราะมีประโยชน์ให้เจริญธรรมต่อไปในภาคหน้า

         ด้วยความที่สังขารทั้งปวง เกิดแต่เหตุปัจจัย จึงอยู่ภายใต้กฏธรรมนิยาม คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เพราะคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนของมันเองจริง ให้ใครๆแม้เรา เข้าไปครอบครองยึดเป็นเจ้าของเพื่อการควบคุมบังคับมันได้   จึงย่อมไม่สามารถไปสั่งไปนึกให้เป็นไปตามใจปรารถนาของตนได้  จึงพากันเป็นทุกข์กันขึ้นเมื่อไม่เป็นไปตามใจปรารถนาหรือตัณหานั่นเอง  เพราะะเขาทั้งหลายล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น  เพียงแต่บางครั้งไปตรงกับใจปรารถนาจึงเกิดการไปยึดไปเชื่อ(ทิฏฐุปาทาน)ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เราควบคุมบังคับเขาได้ อย่างจริงจังแท้จริงขึ้น ซึ่งเป็นการอบรมสั่งสมโดยไม่รู้ตัวมาตั้งแต่เกิด

         เมื่อเข้าใจหรือเกิดปัญญาญาณ(ปัจจัยปริคคหญาณ) ใน"เหตุปัจจัย" จะเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุน คือเป็นเหตุปัจจัยอีกนั่นแหละให้เกิดปัญญามีความเข้าใจใน สักกายทิฏฐิ ว่าสังขารทั้งหลาย แม้แต่กายตน อีกทั้งชีวิตตน ก็สักว่าเกิดแต่เหตุปัจจัยเช่นกัน จึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์เพราะคงสภาพอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา  จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เข้าใจในธรรมต่างๆจนลดละวิจิกิจฉา เพราะรู้ว่าธรรมใดเป็นธรรมแท้จริงถูกต้องจึงสิ้นความสงสัย  อีกทั้งจึงเข้าใจในสีลัพพตปรามาส ว่าต้องทำเหตุอันใดแน่จึงเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาดับทุกข์ขึ้นได้ เพราะทั้ง ๓ จัดเป็นสังโยชน์ ๑๐ ธรรมหรือสิ่งที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ จึงสามารถละสังโยขน์ทั้ง ๓ ได้เป็นอย่างดีตามมาอีกด้วย จนเข้าสู่อริยบุคคล ด้วยการละสังโยชน์ทั้ง ๓ ข้อแรกได้ ที่พระองค์ท่านทรงตรัสไว้ว่า เขาผู้นั้นเป็นผู้ไม่มีความตกต่ำเป็นธรรมดา ด้วย"มีปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ดี เป็นที่ไปในเบื้องหน้า"

         กล่าวได้ว่า ถ้าขาดเสียซึ่งความเข้าใจในเหตุปัจจัย(ปัจจัยปริคคหญาณ)เสียแล้ว ย่อมไม่สามารถเจริญในธรรมอย่างถูกต้องได้เลย

 

ญาณ ๑๖ หรือ โสฬสญาณ

 

กลับหน้าเดิม

กลับสารบัญ