สารบัญ

มีพุทธพจน์ ตรัสไว้ว่า

คลิกขวาเมนู

ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท    ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม

ผู้ใดเห็นธรรม    ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท

(มชฺฌิมนิกาย มูลปณฺณาสก ๑๒/๓๔๖/๓๕๙)

มีพุทธพจน์ตรัสเตือนไว้ ไม่ให้ประมาท หลักปฏิจจสมุปบาทนี้ว่าเป็นหลักเหตุผลที่เข้าใจง่าย

เพราะมีเรื่องที่พระอานนท์ เข้าไปกราบทูลพระองค์ และพระองค์ได้ตรัสตอบ มีความดังนี้

 

"น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาเลย พระเจ้าข้า,  หลักปฏิจจสมุปบาทนี้ ถึงจะเป็นธรรมลึกซึ้ง

และปรากฏเป็นของลึกซึ้งแต่ก็ยังปรากฏแก่ข้าพระองค์  เหมือนเป็นธรรมง่ายๆ"

 

"อย่ากล่าวอย่างนั้น   อย่ากล่าวอย่างนั้น   อานนท์,

ปฏิจจสมุปบาทนี้  เป็นธรรมอันลึกซึ้ง  และปรากฏเป็นของลึกซึ้ง

เพราะไม่รู้  ไม่เข้าใจ ไม่แทงตลอด   หลักธรรมข้อนี้แหละ

หมู่สัตว์นี้จึงวุ่นวายเหมือนเส้นด้ายที่ขอดกันยุ่ง......ฯลฯ."

(สํ.นิ. ๑๖/๒๒๔-๕/๑๑๐-๑)

ปฏิจจสมุปบาท

กระบวนธรรมของจิต ในการเกิดขึ้น และดับไปแห่งทุกข์

        เป็นปรมัตถธรรมอันแสดงกระบวนการของจิต ในการเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ และการดับไปแห่งกองทุกข์ ว่าเกิดมาแต่เหตุอันใด มาเป็นปัจจัยกันอย่างใด และแสดงความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยนั้นๆอันเป็นปัจจัยแก่กันและกัน สืบต่อกันจนเกิดขึ้นเป็นวงจรต่อเนื่องของความทุกข์ที่เผาลนสรรพสัตว์มาตลอดกาลนาน,  ดังนั้นเมื่อเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งก็จักมีคุณอนันต์ เป็นสัมมาญาณอันช่วยให้การปฏิบัติเพื่อการดับไปแห่งทุกข์ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว เพราะเมื่อรู้เท่าทันและเข้าใจถึงเหตุได้อย่างแจ่มแจ้ง ก็สามารถดับทุกข์ที่เหตุนั้นได้โดยตรงและถูกต้องอย่างปรมัตถ์ จึงย่อมไม่ดำเนินออกไปผิดลู่แนวทาง  อันย่อมบังเกิดผลขึ้นตามหลักอิทัปปัจจยตาอันดำเนินอยู่ในปฏิจจสมุปบาท คือเมื่อเหตุดับ  ผลอันคือความทุกข์ก็ต้องดับไปด้วย ไม่สามารถก่อตัวเป็นความทุกข์ชนิดอุปาทานทุกข์อันร้อนรุ่มเผาลนทั้งจิตและกายขึ้นมาได้

        ปฏิจจสมุปบาท เป็นธรรมอันลึกซึ้ง ที่พระองค์ท่านทรงตรัสไว้ทั้งเมื่อตอนตรัสรู้ และตอนตรัสสอนพระอานนท์ไว้ว่า ธรรมอันยากและลึกซึ้งมีเพียง ๒ คือ ปฏิจจสมุปบาท และ นิพพาน,  ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมที่เปิดเผยกระบวนธรรมของจิตอันแสนละเอียดอ่อนลึกซึ้งของมวลมนุษย์ทั้งปวงในการเกิดขึ้นแห่งทุกข์,  คุณประโยชน์มิใช่อยู่ที่การจดจําวงจรที่เป็นเหตุปัจจัยกันได้อย่างคล่องแคล่ว   แต่จักต้องพิจารณา(โยนิโสมนสิการ)ให้เห็นด้วยปัญญาจักขุอันคือปัญญา(สัมมาญาณ)เท่านั้น   เพื่อให้เข้าใจถึงสภาวธรรมหรือธรรมชาติของกระบวนการทํางานของจิตอันต้องเป็นไปเช่นนี้เองเป็นธรรมดา  จึงยังผลให้เกิดความทุกข์หรือก็คืออุปาทานทุกข์ขึ้นนั่นเอง   จึงจักเกิดประโยชน์อันสูงสุดขึ้นได้  จึงมิใช่การเห็นเข้าใจโดยการน้อมเชื่อด้วยอธิโมกข์ หรือท่องจำอย่างคล่องแคล่วแต่ฝ่ายเดียว,   แต่ต้องเป็นการเห็นที่หมายถึงความเข้าใจที่ประกอบด้วยปัญญา ที่ประกอบด้วยเหตุผลเท่านั้น  คือ เห็นเข้าใจในการเกิด - ดับของเหตุปัจจัยต่างๆ อันเป็นไปตามสภาวธรรมชาติอันก่อให้เกิดทุกข์ขึ้นอย่างแจ่มแจ้ง  อันจักยังผลให้เข้าใจในหลักอิทัปปัจจยตา  อริยสัจอันมี ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  และมรรค   เข้าใจพระไตรลักษณ์   สติปัฎฐาน ๔  ได้อย่างถูกต้องถ่องแท้  เพราะเป็นผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรมแล้วสมดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้  "ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท    ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม"  ตลอดจนใช้แก้ปัญหาต่างๆที่ก่อให้เกิดความทุกข์ได้อย่างมหาศาลเกินความคาดคิด  นอกจากทำให้รู้ในเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความทุกข์อย่างแจ่มแจ้งแล้ว เมื่อโยนิโสมนสิการจนเกิดธรรมสามัคคีอันแจ่มแจ้งแล้ว ย่อมทำให้เกิดนิพพิทาญาณความหน่ายจากการไปรู้ความจริงในเวทนา,ในการเวียนว่ายตายเกิดในภพชาติอันแสนเร่าร้อนเผาลนเป็นทุกข์ ฯ.  เมื่อเกิดนิพพิทาความหน่ายจึงคลายกำหนัดหรือตัณหา จึงย่อมจางคลายจากทุกข์ได้ตามฐานะอันควรแห่งตน  ไปจนถึงการดับสนิทไปแห่งทุกข์อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของมวลมนุษย์ชาติ

มงกุฎแห่งธรรม

ปฏิจจสมุปบาท  มงกุฎแห่งธรรม

แก่นธรรมของธรรมทั้งหลายทั้งปวง

เพราะหลักธรรมทั้งหลายทั้งปวงล้วนดำเนินแอบแฝงอยู่ในปฏิจจสมุปบาทล้วนสิ้น

แล้วจำแนกแตกธรรมในภายหลัง เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ไปตามจริต สติ ปัญญา ฯ.

วงจรปฏิจจสมุปบาท

 

ดังมีองค์ธรรม ที่ดำเนินเป็นเหตุปัจจัย สืบเนื่องสัมพันธ์กัน โดยย่อดังนี้

ประกอบด้วย ๑๒ องค์ธรรม  เป็น ๑๑ องค์แห่งเหตุปัจจัย

๑. อวิชชาร่วมกับอาสวะกิเลสเป็นปัจจัย  จึงมีสังขาร

อวิชชา ความไม่รู้ตามความเป็นจริงแห่งธรรม ร่วมด้วยอาสวะกิเลสกิเลสที่สั่งสมอบรมจดจำมาแต่เก่าก่อน  เป็นปัจจัยแก่กันและกัน จึงมี สังขาร อันย่อมเป็นสังขารกิเลสเกิดขึ้น

๒. สังขารเป็นปัจจัย  จึงมีวิญญาณ

สังขาร สิ่งปรุงแต่งต่างๆ โดยเฉพาะยิ่งทางใจ  สิ่งปรุงแต่ง(แฝงด้วยกิเลสจากอาสวะกิเลส)เป็นธรรมารมณ์หรือมโนกรรมจากสังขารขันธ์เดิมๆตามที่ได้เคยสั่งสม อบรม ประพฤติ ปฏิบัติมาแต่อดีตขึ้น จึงคือสัญญาเก่าแต่แฝงด้วยกิเลสและอวิชชา จึงเกิดการปรุงแต่งจิตให้เกิดความคิดนึกต่างๆแต่แฝงกิเลสและอวิชชาที่จะก่อให้เกิดทุกข์   เป็นเหตุ เป็นปัจจัย จึงมี วิญญาณ คือ"รู้"ในสื่งที่สังขารขึ้นมา หรือระบบประสาท และยังใช้สื่อสารสัมพันธ์กันระหว่างขันธ์  จึงรู้ใน"สังขาร"ที่เกิดขึ้นมาจากสัญญาโดยเบื้องแรกได้โดยทั้งตั้งใจหรือแม้ไม่ตั้งใจ อันสามารถเกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติของชีวิต   คือเมื่อ"สังขาร"จาก"สัญญา"หรือธรรมารมณ์ได้ผุดระลึกจำขึ้นมา อันเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติของชีวิต ที่ย่อมรู้ในสิ่งที่มากระทบ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ การรู้

๓. วิญญาณเป็นปัจจัย  จึงมีนาม-รูป

วิญญาณ การรู้ ที่เป็นไปโดยธรรมชาติ จากการกระทบกันของอายตนะภายนอกคือสังขารดังเช่นธรรมารมณ์ข้างต้น ฯ. อันเป็นธรรมคือธรรมชาติของชีวิต  เป็นปัจจัย จึงมี นาม-รูป

๔. นาม-รูปเป็นปัจจัย  จึงมีสฬายตนะ

นาม-รูป ทำให้รูปนามหรือขันธ์๕หรือชีวิตที่มีอยู่แล้ว แต่ยังนอนเนื่อง เมื่อเกิดวิญญาณคือระบบประสาทที่รับรู้ อีกทั้งวิญญาณยังเชื่อมสัมพันธ์กันในขันธ์ทั้ง ๕ จึงเกิดครบองค์ประกอบของการเกิดการทำงานตามหน้าที่ตนคือชีวิตหรือนาม-รูป คือ เกิดการตื่นตัวทำงานตามหน้าที่ตนทุกส่วน  เป็นปัจจัย จึงมี สฬายตนะ ที่หมายถึงการทำงานของอายตนะภายในทั้ง ๖ อันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ  หรือการทำงานของอายตนะที่๖ หรือใมโน หรือใจ

๕. สฬายตนะเป็นปัจจัย  จึงมีผัสสะ

สฬายตนะ  ที่หมายถึงอายตนะภายในทั้ง ๖ คือ ตา, หู ,จมูก ,ลิ้น ,กาย ,ใจ  หรือหมายถึงอายตนะที่ ๖ คือใจหรือมโนก็ได้  เข้าทำงานตามหน้าที่ของตนได้อย่างครบเต็มหน้าที่  ก็เนื่องเพราะ"นาม-รูป"ครบองค์ประกอบในการทำงาน ตื่นตัวเกิด(การทำงาน)ขึ้นทั้งระบบ  อีกทั้งรับรู้ในอายตนะภายนอกต่างๆ ที่อาจร่วมจรเข้ามากระทบด้วยอีก จึงเป็นการเกิดทำหน้าที่โดยสมบูรณ์ เป็นปัจจัย จึงมี ผัสสะ

๖. ผัสสะเป็นปัจจัย  จึงมีเวทนา

ผัสสะ การประจวบกันของอายตนะภายในคือใจ(จากข้อ ๔) & อายตนะภายนอก (สังขาร จากข้อ ๑) & วิญญาณ (จากข้อ ๒) ทั้ง ๓ เป็นเหตุปัจจัย ครบองค์ประกอบของการผัสสะจึงมี เวทนา

๗. เวทนาเป็นปัจจัย  จึงมีตัณหา

เวทนา การเสวยอารมณ์หรือความรู้สึกจากการรับรู้ที่เกิดจากการผัสสะ เป็นสุขเวทนาบ้าง, ทุกขเวทนาบ้าง, อทุกขมสุขบ้าง เป็นปัจจัย จึงมี ตัณหา อันเป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่งแต่เพราะมีเหตุเกิดจากสังขารกิเลส(สังขารจากข้อ ๑) จึงเป็นสังขารขันธ์ชนิดตัณหา ซึ่งยังให้เกิดมโนกรรมความคิดนึกต่างๆซึ่งย่อมแฝงด้วยตัณหาความทะยานอยาก ความปรารถนา ความใคร่ ฯ.

๘. ตัณหาเป็นปัจจัย  จึงมีอุปาทาน

ตัณหา ความทะยานอยาก ความปรารถนา ความใคร่   เป็นปัจจัย จึงมี อุปาทาน  ที่ไปปรุงแต่งจิตให้เกิดเจตนาหรือความคิดอ่าน(มโนกรรม)ให้เป็นไปตามความปรารถนาและกิเลสของตัวตน

๙. อุปาทานเป็นปัจจัย  จึงมีภพ

อุปาทาน ที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นไปตามเจตนายึดมั่น,ถือมั่นในกิเลสหรือความพึงพอใจในตน,ของตนเป็นสำคัญ เป็นปัจจัย จึงมี ภพ

๑๐. ภพเป็นปัจจัย  จึงมีชาติ

ภพ สภาวะของจิต หรือบทบาทที่ตกลงใจ ความจงใจกระทำทางใจ อันเป็นไปตามอิทธิพลที่ถูกครอบงำโดยอุปาทาน เป็นปัจจัย จึงมี ชาติ

๑๑. ชาติเป็นปัจจัย  จึงมีชรา-มรณะ พรั่งพร้อมด้วย โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส หรืออาสวะกิเลสนั่นเอง

ชาติ อันคือ ความเกิด ที่หมายถึง การเริ่มเกิดขึ้นของกองทุกข์ คือทุกข์ที่ประกอบด้วยอุปาทาน หรืออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ อันเป็นทุกข์ได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว ตามภพหรือสภาวะ,บทบาทที่ตกลงใจเลือกนั้น  ชาติจึงเป็น ปัจจัยจึงมี  ชรา-มรณะพร้อมทั้งอาสวะกิเลส

ชรา-มรณะ พร้อมทั้ง อาสวะกิเลส    เมื่อมีการเกิด(ชาติ)ขึ้น  ก็ย่อมมีการตั้งอยู่ระยะหนึ่ง แต่ย่อมมีอย่างแปรปรวน(ชรา)  แล้วดับไป(มรณะ)เป็นธรรมดา  ดังนี้

        ชรา - ความเสื่อม ความแปรปรวน  จึงหมายถึง ความแปรปรวน ความผันแปร ความแปรปรวนวนเวียนอยู่ในกองทุกข์ อันคือการเกิดอุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นทุกข์ขึ้น และเป็นไปอย่างวนเวียนหนุนหนุนเนื่องเป็นวงจร และเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายอย่างต่อเนื่อง

        มรณะ - การดับ การตาย จึงหมายถึง การดับไปของทุุกข์นั้นๆ อันพรั่งพร้อมกับการเกิดขึ้นเป็นอาสวะกิเลส - อันคือความจำ(สัญญา)ได้ในสิ่งที่ทำให้จิตขุ่นมัวหรือกิเลส ที่เกิดขึ้น  จึงเป็นความจำเจือกิเลสที่อยู่ในสภาพนอนเนื่อง แอบหมักหมมหรือสร้างรอยแผลเป็นอยู่ในจิตหรือความจำ อันจักยังผลให้เกิดเป็นทุกข์ขึ้นอีกในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน  กล่าวคือ

        อาสวะกิเลส - ความจำเจือกิเลสที่ตกตะกอนนอนก้น นอนเนืื่องอยู่ในจิต  ซึ่งเมื่อผุดขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ  หรือเกิดแต่เจตนาขึ้น  หรือเกิดแต่การกระตุ้นเร้าของการกระทบสัมผัส(ผัสสะ)กับอารมณ์ใดก็ตามที ก็จะไหลไปซึมซาบย้อมจิต ซึ่งจะไปเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับอวิชชาอีกครั้ง ดังเหตุปัจจัยแรก  ดังนี้

๑. อวิชชาร่วมกับอาสวะกิเลสเป็นปัจจัย  จึงมีสังขาร

จึงหนุนเนื่องขับดันวงจรของความทุกข์ให้ดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายต่อไปในภายภาคหน้า  จึงก่อให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิดในกองทุกข์ หรือสังสารวัฏไม่รู้จักจบสิ้นไปตลอดกาลนาน

ขยายความรายละเอียดแต่ละองค์ธรรมของปฏิจจสมุปบาท

อาสวะกิเลส

        อาสวะกิเลส เป็นผลพวงหรือผลงานที่เกิดขึ้นเองโดยธรรม(ธรรมชาติ) จะไม่ให้เกิด ไม่ให้มีก็ไม่ได้  เพราะเป็นสัญญาคือความจำชนิดหนึ่งจึงทำงานโดยธรรมของชีวิต อันเป็นขันธ์หนึ่งใน ๕ ของชีวิต(เบญจขันธ์หรือขันธ์ ๕)  เพียงแต่เฉพาะเจาะจงไปว่า เป็นสัญญาหรือความจำที่เจือกิเลส ชนิดที่นอนเนื่อง ที่พร้อมที่จะซึมซาบขึ้นย้อมจิต เมื่อกระทบกับอารมณ์   หรือก็คือความจำ(สัญญา)ที่แฝงหรือประกอบด้วยกิเลส พระองค์ท่านจำแนกออกเป็น โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส

        โสกะ - ทำให้เกิดกิเลสสิ่งขุ่นมัวที่นอนเนื่องหหมักหมมอยู่ในจิต อันเกิดจาก ความโศก, ความเศร้าใจ, ความแห้งใจ จากความทุกข์กระทบ เช่น ความเสื่อม ความสูญเสีย เช่น เสื่อมทรัพย์ เสื่อมยศ เสื่อมลาภ เสื่อมญาติ เสื่อมสุข เสื่อมสรรเสริญ ฯลฯ  อันจักยังให้เกิดองค์ธรรมสังขาร(สังขารกิเลส)ต่างๆนาๆขึ้นในภายหน้า คือ เกิดการกระทำต่างๆทั้งทางกาย วาจา และใจ ในภายหน้าที่จะก่อให้เป็นทุกข์ขึ้นอีก

         ปริเทวะ - ทำให้เกิดกิเลสสิ่งขุ่นมัวที่นอนเนื่องหหมักหมมอยู่ในจิต อันเกิดจากความจำได้ในทั้งสุข และทุกข์แต่อดีต  จึงมีความครํ่าครวญ รํ่าไร รําพัน อาลัย คํานึงถึง คิดถึง คือการโหยหาในสุข ในสิ่งที่ชอบ ในสิ่งที่รัก ในเพศสัมผัส ในรสชาดอาหาร ในความสุข สนุกแต่ในอดีต ฯลฯ.  ปริเทวะจึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าสุขก็คือทุกข์อย่างละเอียด,  หรือการครํ่าครวญในทุกข์ คือพิรี้พิไร ครํ่าครวญ บ่นถึงทุกข์ สิ่งที่ไม่ชอบ ที่เกลียด  อันได้เคยเกิด เคยมี เคยเป็นทุกข์แต่ในอดีต,     อันยังให้เกิดสังขารปรุงแต่งต่างๆนาๆที่เป็นสังขารกิเลสอันก่อทุกข์ในภายหน้า

         ทุกข์ - ทำให้เกิดกิเลสสิ่งขุ่นมัวที่นอนเนื่องหหมักหมมอยู่ในจิต อันเกิดมาจาก ความทุกข์อันเกิดมาแต่กาย  เสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เกิดแต่กายสัมผัส เช่นความป่วยไข้ ความเจ็บปวด ความกลัว ความกังวลในความเจ็บ ป่วยไข้ต่างๆนาๆ  กลัวความแก่อันเกิดแต่กาย กลัวความตาย  อันยังให้เกิดสังขารปรุงแต่งต่างๆนาๆที่จะก่อให้เป็นทุกข์ในภายหน้า

         โทมนัส - ทำให้เกิดกิเลสสิ่งขุ่นมัวที่นอนเนื่องหหมักหมมอยู่ในจิต อันเกิดมาจาก ความทุกข์ใจอันเกิดมาแต่ความไม่สําราญทางจิต, ทุกข์อันเกิดแต่ใจ, เสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เกิดแต่ใจ(มโนสัมผัส) ความไม่ได้ตามปรารถนา ความคิดนึกปรุงแต่งฟุ้งซ่าน  อันยังให้เกิดสังขารปรุงแต่งต่างๆนาๆที่จะก่อให้เป็นทุกข์ในภายหน้า

         อุปายาส - ทำให้เกิดกิเลสสิ่งขุ่นมัวที่นอนเนื่องหหมักหมมอยู่ในจิต อันเกิดมาจาก ความขุ่นข้อง, ความคับแค้น, ความขัดเคืองใจ, อาฆาตพยาบาท, ความกลัว, ความไม่ได้ดังใจ  อันเป็นกิเลสสิ่งขุ่นมัวที่หมักหมมไว้(อาสวะกิเลส)  อันยังให้เกิดองค์ธรรมสังขารปรุงแต่งต่างๆนาๆที่จะก่อให้เป็นทุกข์ในภายหน้า

         อาสวะกิเลสอันจักต้องเกิดร่วมด้วยกับ ชรา-มรณะ ทุกครั้งทุกทีอันเป็นไปตามธรรมหรือสภาวธรรม(ธรรมชาติ)อันยิ่งใหญ่หนึ่งของชีวิต  เป็นผลข้างเคียงอันต้องพึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  เพราะเป็นความจําของชีวิต(สัญญา)อย่างหนึ่ง อันเป็นหนึ่งในขันธ์ ๕ นั่นเอง  แต่เมื่อร่วมด้วยกับอวิชชาจึงเป็นปัจจัยให้เกิดแรงหนุนเนื่องขับดันให้วงจรปฏิจจสมุปบาทหรือวงจรของทุกข์ดําเนินต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยให้เกิด ....สังขารการกระทำต่างๆ..... .....เป็นไปตามวงจรปฏิจสมุปบาทอย่างต่อเนื่อง อย่างไม่รู้จักจบสิ้น,  จึงเป็นแรงหนุนเนื่องให้วงจรของทุกข์เกิดการหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องเป็นภวจักรหรือวงจรแห่งสังสารวัฏ อันคือการเวียนว่ายตายเกิดในภพในชาติตั้งแต่อดีตชาติจวบจนปัจจุบันชาตินี้  และจะยังคงหมุนเวียนสืบเนื่องต่อไปอีกเช่นนี้ต่อไปในภายภาคหน้า

       เหล่านี้คืออาสวะกิเลส คือกิเลสหมักหมมที่นอนเนื่องอยู่ ซึ่งจักไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ    ซึ่งต้องเกิดร่วมมาด้วยกับชรา-มรณะทุกครั้งทุกทีไปโดยธรรมชาติ  ซึ่งจักเป็นเหตุปัจจัยให้จิตขุ่นมัวเศร้าหมองเพราะความจำแต่อดีตที่แฝงกิเลส ไปเป็นปัจจัยที่ กระตุ้น เร่งเร้า เป็นรากเหง้า หรือเชื้อทุกข์ หนุนเนื่องขับดันให้ดำเนินไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาท  กล่าวคือเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับ อวิชชา จึงยังให้เกิดหรือมี สังขาร คิด,พูด,กระทำ ตามที่ได้เคยสั่งสม อบรมไว้ขึ้นใหม่อีกต่อไปเรื่อยๆ ......เป็นวงจรใหม่ของทุกข์  เป็นแรงหนุนให้หมุนเวียนต่อเนื่อง   ถ้าพิจารณาโดยละเอียดโดยการย้อนระลึก  ดังเช่น ลองสังเกตุหรือย้อนระลึกดูอดีต เมื่อเกิดอารมณ์โกรธขึ้นอย่างรุนแรง จะเห็นว่า สักระยะหนึ่งความโกรธก็จะค่อยๆดับไป  แต่ในช่วงแรกนั้นอารมณ์ยังขุ่นมัว กรุ่นๆ หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน รำคาญใจกินเวลาอีกนาน (ยังมีอาการออกมาใหัรู้เพราะทุกข์ยังไม่ดับสนิทคือยังเกิดทุกข์อุปาทานขันธ์๕ปรุงแต่งต่างๆนาๆ ที่ เกิดๆ ดับๆ ในชรา(การเปลี่ยนแปลง,การแปรปรวน) กล่าวคือยังเกิดความคิดนึกปรุงแต่งในเรื่องนั้นเป็นช่วงๆหรือตลอดเวลา  จนเวลาผ่านไปจนทุกข์นั้นได้ดับแล้ว(มรณะ) จิตราบเรียบไม่เป็นทุกข์ไม่ครุ่นคิดคำนึงถึงทุกข์นั้นอีกแล้ว,  แต่เมื่อมีใครพูดถึงคือเข้าทางอายตนะ(หู)  หรือเกิดสังขารคิดคือนึกคิดตามที่สั่งสมหรือตามประสบการณ์ในเรื่องทุกข์ดังกล่าวผุดขึ้นมา  ความทุกข์เรื่องนั้นเกิดขึ้นใหม่ได้อีกทันที  เหตุเนื่องเพราะอาสวะกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตอันคือเหล่า โสกะ-หดหู่ใจ เสียใจ, ปริเทวะ-คร่ำครวญ โหยหา อาลัย, ทุกข์-ทุกข์ทางกาย, โทมนัส- ทุกข์ใจ ทุกข์อันเกิดแก่ใจ, อุปายาส - ขุ่นข้อง คับแค้นใจ  เมื่อถูกกระตุ้นเร้าหรือเจตนาขึ้นมาก็ตามที เมื่อเกิดขึ้นหรือผุดขึ้นแล้วก็จะเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกันร่วมกับอวิชชา คือ เกิดการทำงานขึ้นทันที  เกิดการดําเนินไปตามวงจรของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์อีกครั้ง,   อาสวะกิเลสเป็นกิเลสที่ละเอียดมากแทบไม่รู้ตัวว่ามีอยู่ กำจัดได้ยากต้องใช้อาสวักขยญาณอันเป็นญาณหรือปัญญาญาณหรือความรู้ความเข้าใจ(ญาณ)ที่เกิดในขั้นสุดท้ายเท่านั้น ที่จักกำจัดอาสวะกิเลสเป็นการสิ้นไปอย่างถาวร กลายเป็นเพียงสัญญา(ความจำได้หมายรู้)ที่ไม่ร้อยรัดด้วยกิเลสตัณหาอีกต่อไป

        ข้อสังเกตุเพื่อการโยนิโสมนสิการปฏิจจสมุปบาทนี้  จะพบความจริงว่าทุกครั้งทุกทีที่มีไม่ว่าจะเป็นทุกข์หรือสุขทางโลกๆก็ตามที เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอยู่ตลอดเวลานั้น  จะมีอาสวะกิเลสเกิดขึ้นร่วมด้วยทุกครั้งทุกทีไป หมายความว่าในทุกขณะจิตของปุถุชนที่ล้วนยังมีทุกข์และสุขเกิดๆดับๆอยู่เนืองๆนั้น ก็ย่อมมีอาสวะกิเลสสั่งสม หมักดอง นอนเนื่อง ซึมซ่าน ย้อมจิตเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เป็นธรรมดาและจะห้ามไม่ให้เกิดไม่ให้มีก็ไม่ได้ และเป็นไปโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชาอีกด้วย  และในแนวทางปฏิจจสมุปบาทท่านจัดชรา-มรณะและอาสวะกิเลสว่าเป็น สมุทัยเหตุแห่งทุกข์ คือเป็นแหล่งพลังสำคัญในการกระตุ้นหรือขับเคลื่อนวงจรการเกิดขึ้นของทุกข์ให้เคลื่อนหมุนเวียนเป็นวงจรไปตลอดกาลนาน  (อ่านรายละเอียดของอาสวะกิเลสเพิ่มเติมภายหลังได้ที่นี่อาสวะกิเลส และสัญญา)

การเกิดขึ้นแห่งทุกข์

         ปฏิจจสมุปบาท เป็น "ปฎิจจสมุปบันธรรม" อันคือ ธรรมหรือสิ่งที่เกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมเป็นปัจจัยแก่กันและกัน   ปัจจัยในปฏิจจสมุปบาท หมายถึง เหตุหรือสิ่งที่จําเป็นต้องมี เพื่อยังให้เกิดอีกสิ่งหนึ่ง,  อุปมาดั่งเมล็ดพืชที่จะงอกงามขึ้นได้ จําเป็นต้องมีเหตุอันคือดินและนํ้า เป็นปัจจัยในการงอกขึ้นเป็นต้นฉันใด,   เหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายจึงเปรียบได้ดั่งเมล็ดพืช  อันจึงจําต้องอาศัยเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยดังที่แสดงในวงจรปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเปรียบได้ดังดินและนํ้า  มาเป็นปัจจัยจึงจักเติบโตขึ้นเป็นความทุกข์ได้ฉันนั้น   เมื่อโยนิโสมนสิการโดยแยบคาย จะพบว่าเมื่อเมล็ดพืช ขาดเหตุปัจจัยคือดินและนํ้า ย่อมไม่สามารถงอกเป็นต้นได้ฉันใด   เหตุแห่งทุกข์ก็เช่นกันฉันนั้น   จึงทําให้เหตุแห่งทุกข์นั้นแม้ยังคงมีอยู่ เฉกเช่นเมล็ดพืชที่ย่อมมีอยู่อันเป็นไปตามธรรม(ธรรมชาติ) แต่เมื่อขาดเหตุปัจจัยอันคือดินและนํ้าย่อมไม่สามารถเจริญเติบโตขึ้นมาได้  จึงย่อมต้องแห้งเหี่ยวตายไป คือเกิดการเสื่อมดับไปนั่นเอง  ความทุกข์ก็เป็นเฉกเช่นนั้น  เมื่อขาดเหตุปัจจัยย่อมไม่สามารถเติบโตกลับกลายไปเป็นความทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลนๆได้(ทุกข์อุปาทานหรืออุปาทานขันธ์ ๕),  จึงเกิดขึ้นและเป็นไปดังคํากล่าวของพระอริยะเจ้า

เหตุแห่งทุกข์นั้นมีอยู่  แต่ไม่มีผู้รับผลทุกข์นั้น

หรือ

เหตุแห่งทุกข์นั้นยังคงมีอยู่เป็นธรรมดา เพราะเป็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ)   แต่ทําให้เป็นอุปาทานทุกข์ไม่ได้

ขณะอ่านต้องการดู "วงจรปฏิจจสมุปบาท" อีกทั้งวงจรโดยพิศดาร หรือ "คำศัพท์" ฯลฯ. เพื่อประกอบการพิจารณาให้  คลิกขวาเมนู

อ่านครั้งละสั้นๆแต่ละองค์ธรรมก็ได้ แต่พิจารณาหลายๆสิบครั้งแบบค่อยเป็นค่อยไป  ให้กระจ่าง สว่าง

และคิดพิจารณา(ธัมมวิจยะ) ไล่ลําดับกระบวนธรรม  แบบหาเหตุหาผล

ให้เห็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ของกระบวนจิตทั้งหมด  จึงจักเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง

การอ่านแม้ด้วยความเพียร  แล้วเกิดความเข้าใจในช่วงแรกๆ  จักยังเป็นความเข้าใจในแบบทางโลกๆ

อันจักยังมิสามารถหยั่งลงสู่แก่นของธรรมได้จริงๆ

ต้องโยนิโสมนสิการเท่านั้นจึงจะบังเกิดความเข้าใจในสภาวธรรมได้จริง

จนเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นและเป็นไปเยี่ยงนั้นด้วยเหตุด้วยผลจริง  ด้วยตนเองในทุกองค์ธรรม

  ไม่ใช่การท่องจำหรือจดจำได้  อย่างคล่องแคล่วในองค์ธรรมต่างๆ    

และต้องไม่ใช่ด้วยการน้อมเชื่อด้วยอธิโมกข์ในข้อเขียน  หรืออธิโมกข์ในพระศาสนาหรือองค์พระศาสดา

การทํางานของจิตตามวงจรปฏิจจสมุปบาท การเกิดขึ้นแห่งทุกข์ จึงดำเนินเกิดขึ้นและเป็นไปดังนี้

แสดงวงจรปฏิจจสมุปบาท คลิก ดูวงจรปฎิจจสมุปบาท ฝ่ายสมุทยวาร เป็นลำดับขั้น

๑. อวิชชาเป็นปัจจัย  จึงมีสังขาร

กล่าวโดยย่อ

ธรรมชาติของจิตเดิมที่ปภัสสร แต่หมองหม่นเพราะเพราะเหล่ากิเลสที่จรมา

จิตหมองหม่น, หดหู่, ขุ่นมัว, หรือเศร้าหมองเพราะอาสวะกิเลส-ความจําอันเจือด้วยกิเลสเป็นปัจจัย  

อันล้วนเกิดมาแต่เหล่า ความเศร้าใจ(โสกะ), ครํ่าครวญ อาลัย รําพันในสุข(ปริเทวะ), ทุกข์ทางกาย(ทุกข์), ทุกข์อันเกิดแต่ใจ(โทมนัส), ความคับแค้นขุ่นข้องใจ(อุปายาส)

อันเกิดมาจากความทุกข์และสุขทางโลกๆตามที่ได้เคยสั่งสม อบรม ประพฤติ ปฏิบัติมาแต่อดีต,

จึงได้ครอบงํา หมักหมม ราวกับ เป็น ตัณหา และ อุปาทาน ที่นอนเนื่องค้างคาอยู่ในจิต  ที่ท่านเรียกว่า" อาสวะกิเลส"  ซึ่งเมื่อผุดขึ้นมา หรือเจตนาขึ้นมาก็ตามที

 อันย่อมไปเป็นเหตุ เป็นปัจจัยแก่กันและกัน ร่วมกับ อวิชชา

คือความไม่รู้ตามความเป็นจริงแห่งธรรม, สติไม่รู้เท่าทัน ตามที่มันเกิด ตามความเป็นจริงแห่งธรรม(ธรรมชาติ)

 จึงเป็นเหตุ ที่เป็นปัจจัยที่ยังให้เกิด  

สังขาร สภาพของใจ หรือเหล่าอารมณ์ เช่นโลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน ฯ. ที่ยังให้เกิดการกระทําทางกาย, วาจา หรือใจ ดีหรือชั่วต่างๆ

ตามที่ได้เคยสั่งสม อบรม เคยประพฤติ ปฏิบัติ เคยชิน มาแต่อดีต   หรือจะเรียกสังขารกิเลส  หรือสังขารวิบากก็ยังได้

ขยายความ

        เนื่องเพราะอาสวะกิเลสที่หมักหมมและนอนเนื่องซึมซาบอยู่ในจิต อันล้วนเกิดมาจากความทุกข์และความสุขในทางโลกๆอันเกิดมาแต่อดีต  อันเป็นสิ่งที่ทําให้จิตขุ่นมัวและเศร้าหมองแอบแฝงอยู่ลึกๆภายในจิตโดยไม่รู้ตัว และเพราะอวิชชาความไม่รู้ตามความเป็นจริงตามเหตุปัจจัยของสภาวธรรมหรือธรรมชาติของการเกิดทุกข์และการดับไปแห่งทุกข์ จึงครอบคลุมถึงความไม่รู้เท่าทันอาสวะกิเลสนี้ด้วย,  หรือกล่าวอีกนัยคือความไม่รู้แจ้ง ไม่แทงตลอดในอวิชชาทั้ง๘ อันมี อริยสัจ๔ และ ปฏิจจสมุปบาท ฯ.  ดังนั้นอาสวะกิเลสและอวิชชาจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกัน  ยังให้เกิด สังขาร อันคือ สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ที่หมายถึง การกระทำต่างๆ ทั้งทางกาย(กายสังขาร) ทางวาจา(วจีสังขาร) ทางใจ(มโนสังขาร) ต่างๆนาๆขึ้น โดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา  และย่อมเป็นสังขารชนิดมีกิเลสตามที่แฝงนอนเนื่องอยู่ ที่จักก่อให้เกิดเป็นความทุกข์ต่อไป

         หรือกล่าวโดยย่อได้ว่า เพราะวิบากกรรมหรือกรรมเก่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยร่วมกับอวิชชา จึงยังให้เกิดสังขารกิเลสต่างๆนาๆขึ้น ตามที่ได้สั่งสมอบรมไว้

อวิชชา ๘  ความไม่รู้และไม่ปฏิบัติ ตามความเป็นจริงแห่งธรรมหรือในสิ่งต่างๆอย่างถูกต้อง อันมีดังนี้

        ๑. ความไม่รู้ใน"ทุกข์"  ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ รู้ และให้ดับสนิทนั้น หมายถึงทุกข์อุปาทานหรือการเกิดอุปาทานขันธ์ ๕, และรู้เท่าทันทุกข์อุปาทานที่เกิดนั้น,  ตลอดจนไม่เข้าใจเวทนา จึงไม่ยอมรับทุกขเวทนา-ความรู้สึกรับรู้ที่เกิดขึ้นชนิดไม่ถูกใจไม่สบายใจหรือไม่ชอบใจอันเป็นสภาวธรรมชาติของชีวิตอย่างหนึ่งที่ย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา   จึงเกิดการสับสนไม่เข้าใจ  การปฏิบัติจึงไม่ถูกเป้าหมายที่ถูกต้อง  อันย่อมทำให้การดับไปแห่งทุกข์ไม่สัมฤทธิ์ผล ดังเช่น ต้องปฏิบัติเพื่อดับอุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นอุปาทานทุกข์อย่างแท้จริงที่สามารถดับลงไปได้  แต่ด้วยอวิชชาจึงไม่รู้ จึงกลับไปพยายามปฏิบัติในแนวทางที่จะดับทุกขเวทนาอันเป็นสภาวธรรมชาติอย่างหนึ่งของชีวิตหรือขันธ์หนึ่งของชีวิต ที่อย่างไรเสีย ก็ต้องมีอยู่

        ๒. ความไม่รู้ใน"สมุทัย"  เหตุหรือปัจจัยให้เกิดทุกข์คือตัณหา อันมี ๓  กามตัณหา-ความอยากในกามหรือในทางโลกๆ(เช่นใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส), ภวตัณหา-ความอยากในธรรมารมณ์(สิ่งที่สัมผัสหรือรับรู้ได้ด้วยใจ), ตลอดจนวิภวตัณหา-ความไม่อยากในธรรมารมณ์,หรือความอยากในความไม่อยาก หรือความอยากดับสูญ  อันล้วนเป็นเหตุปัจจัยโดยตรงให้เกิดอุปาทาน อันเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องให้เกิดทุกข์อุปาทานขึ้นในที่สุด   เมื่อไม่รู้ ไม่เข้าใจจริงๆ จึงไม่ระมัดระวังจึงสร้างตัณหาความทะยานอยาก  หรือความไม่อยากแอบแฝงขึ้น  จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอุปาทานขึ้น

        ๓. ความไม่รู้ใน "นิโรธ"  ความสุขจากการหลุดพ้น  ว่าเป็นเช่นใด?  ไม่เคยสัมผัส หรือไม่เข้าใจสภาวะนิโรธอันว่างจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน ที่ล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน อันยังผลให้เกิดอุปาทานทุกข์อันรุ่มร้อนเผาลนขึ้น,  บางทีเข้าใจผิดไปยึดความสุขสงบในฌาน หรือความว่างในอรูปฌาน   ทําให้ไม่ทราบว่าดับทุกข์ได้แล้วจักเป็นสุขสงบบริสุทธิ์เยี่ยงใด?   หรือดับร้อนอะไร?  เยี่ยงใด?   คุ้มค่าให้ปฏิบัติไหม?   มีจริงหรือเปล่า?   และมักเข้าใจผิด จับสภาวะผลของความสุขสงบสบายอันเกิดแต่การปฏิบัติสมาธิหรือฌาน  หรือความว่างในอรูปฌานว่าเป็นสภาวะนิโรธ ฯลฯ.   ทั้งหลายเหล่านี้ทําให้จริงๆแล้วยังคงมีความกังวลความสงสัยอยู่ลึกๆในจิต(วิจิกิจฉา)  จึงทำให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างผิดแนวทางโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา

        ๔. ความไม่รู้ใน"มรรค"   แนวทางปฎิบัติเพื่อการดับทุกข์ คือ มรรค ๘  ควรปฏิบัติอย่างไร?   ศึกษาแล้วยังไม่เข้าใจ   ปฏิบัติไม่ถูก  ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน?   วิธีใด?  ของใครถูกแน่?  มรรคองค์ใดแน่ๆที่ทำให้พ้นทุกข์?  ต้องปฏิบัติเป็นลำดับหรือไม่?  จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติอยู่เสมอๆ อันมักก่อให้เกิดการปฏิบัติแบบนอกลู่ผิดทาง อันนําผลร้ายมาสู่นักปฏิบัติเองโดยไม่รู้ตัว

        ๕. ความไม่รู้"อดีต"   อันคือการไม่รู้ระลึกชาติ หรือภพ(ชาติ ภพ ในปฏิจจสมุปบาท)ที่เคยเกิดเคยเป็นต่างๆในอดีต ของปัจจุบันชาติ อันคือ สภาวะมนุษย์ในชาตินี้นั่นเอง  หรือก็คือการไม่รู้ย้อนระลึกพิจารณาในขันธ์ ๕ หรืออุปาทานขันธ์ ๕ (การกระทําต่างๆในอดีตโดยการพิจารณาเป็นระบบอย่างแยบคาย)ที่เคยเกิด เคยเป็น  กล่าวคือ ไม่รู้ไม่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในขันธ์ ๕ ที่เคยเกิดๆดับๆในอดีตว่า ก่อให้เกิดอุปาทานทุกข์ขึ้นนั้น ล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัย  มิใช่อยู่ดีๆก็เกิดขึ้นเองอย่างไร้เหตุผล   การรู้อดีต หรือการระลึกชาติภพในปฏิจจสมุปบาทมีจุดประสงค์เพื่อเป็น เครื่องรู้(ความรู้)  เครื่องระลึกเพื่อเตือนสติ  เครื่องพิจารณาเพื่อก่อให้เกิดปัญญาญาณและนิพพิทา(ความหน่าย คลายกําหนัดในความชื่นชม ความยินดี)ในสิ่งที่ไปยึดไปอยาก  อันยังผลให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องทุกข์และการดับทุกข์   การรู้อดีตจึงมิได้มีเจตนาเพื่อการพิรี้พิไร ครํ่าครวญอาลัยในอดีต หรือมุ่งหมายทางอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แต่ประการใด หรือเพื่อประโยชน์ในทางโลก (พิจารณาในปฏิจจสมุปบาทจนเข้าใจเรื่องภพ ชาติ ชรา-มรณะ จนมีความเข้าใจแล้ว ลองย้อนมาพิจารณาอีกครั้ง),  อดีตแม้จะเที่ยงเพราะผ่านไปแล้ว จึงเป็นเพียงสภาวะธรรมอย่างหนึ่งที่เคยเกิดเคยเป็นอย่างหนึ่งเท่านั้น  แต่ก็เป็นเพียงอนัตตา

        ๖. ความไม่รู้"อนาคต"  การไม่รู้อนาคต คือไม่รู้ไม่เข้าใจในการอุบัติ(เกิด) การจุติ(ดับ)ของขันธ์ทั้ง ๕ หรือการเกิดๆดับๆของขันธ์ทั้ง ๕ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาว่าล้วนเป็นไปตามกรรม(การกระทําที่มีเจตนา)และหลักอิทัปปัจจยตาทั้งสิ้น  ล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัย  และในอนาคตนั้น ก็จักต้องเป็นเช่นนั้น เป็นไปตามหลักเหตุผล-อิทัปปัจจยตา อันเกิดมาแต่กรรมอันคือการกระทํานั่นเอง   และความทุกข์ในภายหน้าก็ล้วนเกิดๆดับๆอันเกิดแต่กรรมอันจักยังให้เกิดอุปาทานขันธ์ ๕ เช่นเดิมหรือเกิดความทุกข์ขึ้นเฉกเช่นเดียวกับอดีต   และด้วยความความไม่รู้อนาคต  จึงประมาท  ขาดการป้องกัน  จึงมิได้ระมัดระวัง  สำรวม  หรือแก้ไข,  กล่าวคือ การรู้อนาคตนั้นเพราะการเข้าใจในหลักเหตุปัจจัย(อิทัปปัจจยตา)นั่นเอง คือเมื่อเหตุเป็นเช่นนี้  ผลเยี่ยงนี้จึงต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน   อันเกิดขึ้นจากความเข้าใจในเหตุหรือสภาวธรรม(ธรรมชาติ)อย่างแจ่มแจ้งหรือหลักอิทัปปัจจยตา  จึงย่อมรู้ผลที่จักเกิดขึ้นในอนาคต  เพื่อเป็นเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติ  ระวังป้องกันแก้ไข หรือยังให้เกิดนิพพิทาเช่นกัน  มิใช่เพื่อประโยชน์ในทางโลกๆ,  อนาคตย่อมไม่เที่ยง คงสภาพทนอยู่ไม่ได้จึงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

        ๗. ความไม่รู้ใน"อดีตและอนาคต"  คือ เมื่อไม่รู้อดีตและอนาคต  จึงไม่สามารถหยั่งรู้ได้ถึงทุกข์ต่างๆที่จักต้องบังเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากอดีต  จึงเกิดการไม่ยอมรับเมื่อวิบากกรรมเหล่านั้นมาเยือน จึงไม่เข้าใจในผลหรือเหตุปัจจัยต่างๆที่จะเกิดในอนาคตอย่างถูกต้องตามธรรมหรือตามความเป็นจริง ล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงเกิดความไม่เข้าใจ  ความไม่รู้  ความไม่มีเครื่องเตือนสติ  และเกิดความประมาทขึ้นเป็นที่สุด จึงไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา   การรู้อดีตหรือรู้อนาคตไม่ได้เป็นไปเพื่ออิทธิฤทธิ์หรือประโยชน์ในทางโลกแต่อย่างใด  แต่ล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการดับทุกข์  พึงทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

        ๘. ความไม่รู้ใน"ปฏิจจสมุปบาท"   ไม่ทราบ, ไม่รู้กระบวนการเกิดขึ้นแห่งทุกข์และกระบวนการดับไปแห่งทุกข์  เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจจึงย่อมไม่สามารถดับทุกข์ที่เหตุปัจจัยได้อย่างเข้าใจและถูกต้องตามจริง(ปรมัตถ์),   อันอุปมาได้ดั่ง "ช่างยนต์ที่ไม่รู้ไม่ศึกษาเรื่องเครื่องยนต์  แล้วจักซ่อมเครื่องยนต์ให้ได้ดีและเร็วได้ฉันใด"

        ดังนั้นเมื่อไม่รู้ ไม่เห็น และไม่เข้าใจในปฏิจจสมุปบาทหรือเรื่องการเกิดขึ้นของทุกข์และการดับไปของทุกข์ด้วยอวิชชา  จึงไม่มีการแก้ไข  หรือแก้ไขหรือปฏิบัติโดยไม่ถูกต้อง,  จิตย่อมถูกครอบงําด้วยอาสวะกิเลสอันเป็นสัญญาความจําที่แฝงด้วยกิเลสที่ทําให้จิตขุ่นมัวอันนอนเนื่องอยู่ในจิต  กล่าวคือ เมื่ออาสวะกิเลสผุดขึ้นมาจะเป็นด้วยผุดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ๑   หรือเจตนาขึ้นมา๑  หรือเกิดแต่การกระทบผัสสะขึ้นมา๑  ก็ตามที  ก็จักเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับอวิชชาโดยทันที  จึงเป็นเหตุที่ไปกระตุ้น เร่งเร้า ส่งเสริมให้เกิดสังขารสิ่งปรุงแต่ง อันหมายถึงการกระทําต่างๆทั้ง ๓ ทาง อันมี มโนสังขาร(จิตสังขารหรือความคิด),  วจีสังขาร(ทางวาจา),  กายสังขาร(การกระทําทางกาย) ตามความเคยชินที่ได้เคยสั่งสม ได้เคยอบรม หรือได้เคยประพฤติ, ได้เคยปฏิบัติ หรือก็คือการกระทํา(กรรม)ต่างๆแต่ในอดีต  จึงเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารอันเป็นเหตุ เช่นความคิด ความนึก ความเห็น  อันล้วนแฝงกิเลส จึงเป็นเหตุก่อ ให้ดำเนินไปในกองทุกข์

         สังขารในปฏิจจสมุปบาท ที่หมายถึง สภาพของใจที่เคยได้สั่งสมอบรมไว้นั่นเอง ซึ่งย่อมยังให้เกิดการกระทําต่างๆนั้น เช่น การกระทําทางใจ-ความคิดนึกต่างๆ, การกระทําทางวาจา-การพูดจาต่างๆ, การกระทําทางกาย-การกระทําต่างๆทางกาย  ล้วนเป็นไปตามความเคยชินตามที่ได้สั่งสม,จดจำ,อบรมหรือประพฤติ,ปฏิบัติมาแล้วแต่อดีต ที่จะก่อให้เกิดทุกข์ หรืออาสวะกิเลสและร่วมด้วยกับอวิชชาความไม่รู้ นั่นเอง

ในที่นี้ เราจะเน้นที่จิตหรือใจอันยังให้เกิดมโนสังขาร ที่ยังให้เกิดมโนกรรมการกระทําทางใจหรือจิต อันคือ ความคิดนึกอันเป็นฝ่ายผล

ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยหลักหรือศูนย์บัญชาการของชีวิต,  และทําให้เกิดทุกข์และดับทุกข์โดยตรง

ตลอดทั้งยังเป็นต้นกําเนิดหรือเหตุปัจจัยหลักของ

กายสังขารอันยังให้เกิดกายกรรม-การกระทําทางกาย  และ

วจีสังขารอันยังให้เกิดวจีกรรม-การกระทําทางวาจา

ผ่านทางสัญเจตนาหรือเจตนาอันเกิดมาแต่จิตหรือใจนั่นเอง

จึงกล่าวได้ว่าจิตเป็นประธานทั้งต่อฝ่ายกายและฝ่ายใจ  เป็นไปดั่งพุทธพจน์ดังนี้ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม  บุคคลคิดแล้ว  จึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ

(นิพเพธิกสูตร)

        บรรพบุรุษย่อมถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมไปสู่ลูก หลาน เหลน...ฉันใด,  อาสวะกิเลส และอวิชชาก็เปรียบเสมือนบรรพบุรุษของความทุกข์ฉันนั้น   ดังนั้นต้องรู้ต้องเข้าใจยอมรับว่า องค์ธรรมต่างๆที่จักเกิดสืบเนื่องต่อๆไปในวงจรปฏิจจสมุปบาทนั้น จึงย่อมแฝงทั้งอาสวะกิเลสและอวิชชาความไม่รู้ตามความเป็นจริงแห่งธรรมไปด้วย คือยังไม่รู้และรู้เท่าทันในเรื่องสภาวธรรมของทุกข์และการดับทุกข์,  ดังนั้นจึงควรไม่ประมาท  เพราะในทุกๆองค์ธรรมที่จักเกิดสืบเนื่องเป็นปัจจัยแก่กันและกันต่อไปอีกนั้น  ก็ย่อมต้องมอามิส อันคือกิเลส,ตัณหาและอุปาทานที่แฝงอยู่รูปของอาสวะกิเลสไปด้วย (คือพร้อมที่จะทํางานให้เกิดเป็นความทุกข์ทันทีที่มีเหตุปัจจัยอันคือตัณหาเข้าร่วม  และตัณหานี้ อาศัยเกิดที่หมายถึงเกิดการทำงานหรือactiveขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัยโดยตรงที่สุดก็คือเวทนา)

         ดังนั้นท่านจึงตรัสไว้ว่า อวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร คือการกระทําต่างๆทางกาย,วาจา,ใจ(เช่นคิดที่ก่อทุกข์)ตามความเคยชินที่ได้สั่งสมไว้ หรือ ได้เคยประพฤติ ได้เคยปฏิบัติ หรือก็คือกรรม(การกระทําที่มีเจตนา)ตามที่ได้เคยสั่งสมอบรมไว้ในอดีต ซึ่งล้วนเป็นสังขารที่จักไปก่อให้เป็นความทุกข์  อันเป็นสังขารวิบาก (วิบาก - ผลที่ได้รับ, สังขาร-การกระทําที่มีเจตนา,  สังขารวิบาก จึงหมายถึง ผลที่ได้รับ อันพึงเกิดขึ้นจากการกระทําที่ผ่านมาหรืออดีตหรืออาสวะกิเลสนั่นเอง)    หรือพิจารณาว่าเป็นสังขารกิเลสก็ถูกต้องเช่นกัน กล่าวคือ การกระทำที่มีกิเลสแฝงอยู่ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า " กิเลส "  คือเกิดขึ้นจากกิเลสที่นอนเนื่องอยู่นั้น ได้เกิดขึ้นเป็นตัวเป็นตนเป็นความคิดเป็นการกระทำต่างๆที่ประกอบด้วยกิเลสนั่นเอง

         ซึ่งถ้าว่ากันโดยละเอียดถูกต้องจริงๆแล้ว องค์ธรรมสังขาร หรือสังขารกิเลส หรือกิเลสที่เกิดขึ้นนี้  เกิดแต่กระบวนธรรมของจิตหรือความคิดล้วนๆก่อน กล่าวคือ จากอาสวะกิเลสอันเป็นสัญญาความจำที่นอนเนื่องอยู่นั่นเอง   อันจะเกิดความเข้าใจขึ้นในภายหน้า เมื่อมีความเข้าใจปฏิจจสมุปบาทหรือขันธ์๕โดยแจ่มแจ้งบ้างแล้ว

         ข้อสังเกตุ สังขารที่สั่งสมไว้เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยเท่านั้นที่ก่อทุกข์ เพราะย่อมเป็นสังขารกิเลส กล่าวคือย่อมแฝงกิเลสจากอาสวะกิเลสที่นอนเนื่องนั่นเอง,   ส่วนสังขาร(คิด-มโนสังขาร, การกระทําต่างๆ)อันเป็นสังขารขันธ์ในขันธ์ ๕ อันเป็นปกติธรรมชาติของผู้มีชีวิตนั้น  เป็นสิ่งจําเป็นต้องมีเพื่อการยังชีวิตให้สมบูรณ์ทั้งในปุถุชนและพระอริยเจ้า  เพราะชีวิตประกอบด้วยขันธ์ทั้ง๕ และชีวิตดํารงคงอยู่ได้อย่างปกติสมบูรณ์ ก็ด้วยการทํางานกันอย่างประสานกลมกลืนและอย่างสมดุลย์กันของขันธ์ทั้ง ๕ นั้นเอง (มีรายละเอียดอยู่ในเรื่องขันธ์๕)

 

๒. เพราะสังขารเป็นปัจจัย  จึงมีวิญญาณ

 

ปฏิจจสมุปบาท โดยสรุป แบบย่นย่อ

 

สัญเจตนิยวรรคที่ ๓

พระสูตรที่กล่าวว่า อวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร

สังขาร ที่หมายถึงสังขารขันธ์ คือธรรมหรือสิ่ง ที่ไปปรุงแต่งทางใจให้เกิดสัญเจตนาให้กระทำการ(กรรม)ต่างๆ ทางกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร

จึงไม่ใช่สังขารที่มีความหมายถึงชีวิตหรือร่างกายตัวตนในทางโลก

กลับสารบัญหน้า ปฏิจจสมุปบาท