ฝึกสติจนเป็นมหาสติ ขั้นจางคลายจากทุกข์และดับสนิทแห่งทุกข์ |
|
มหาสติ ในการดับทุกข์ในทางปฎิบัติ หมายถึงการมีสติ รู้เท่าทันและเข้าใจอย่างถูกต้อง(สัมมาปัญญา)ในกายบ้าง ในเวทนาบ้าง ในสังขารขันธ์บ้าง(ซึ่งรวมทั้งจิตตสังขาร ที่เป็นผลเมาจากสังขารขันธ์จึงเกิดมโนกรรมเช่นความคิด,คิดฟุ้งซ่าน ฯ.) ในธรรมบ้าง อยู่เนืองๆเป็นอเนก, ฝ่ายเวทนาหรือจิต(จิตสังขาร)เมื่อมีสติรู้เท่าทันแล้ว ต้องปล่อยวางโดยการอุเบกขา(ในโพชฌงค์ ๗) กล่าวคือเป็นกลาง วางทีเฉย แม้จะรู้สึกเป็นสุข,เป็นทุกข์,หรือไม่สุขไม่ทุกข์(คือเวทนา)ตามธรรม(สิ่ง)ที่เกิดอย่างไรก็ตามที ด้วยการไม่เอนเอียง ไม่แทรกแซง ไม่ปรุงแต่ง ไม่พัวพันไปในเรื่องนั้นๆ ไม่ทั้งในทางดีหรือชั่ว คือ ถูกก็ไม่ ผิดก็ไม่, ดีก็ไม่ ชั่วก็ไม่ หมายถึงไม่ไปยึดมั่นหมายมั่นแม้ในดีชั่ว บุญบาป เป็นสภาพที่เรียกได้ว่า เหนือบุญเหนือบาป เหนือดีเหนือชั่ว หรือเหนือกรรมนั่นเอง จนเกิดความชำนาญอย่างยิ่งยวด อันเกิดแต่การสั่งสมอบรมประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้องนั่นเอง เกิดการประสานกันอย่างกลมกลืนอย่างลงตัวในที่สุด ก็จะเกิดมหาสติขึ้น กล่าวคือมีสติอยู่เสมอโดยไม่ต้องประคองโดยตั้งใจ แต่มันเกิดมันทำของมันเองโดยธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นมาแต่การสั่งสมอย่างดีเลิศหรือเชี่ยวชาญชำนาญยิ่ง จนเคยชินยิ่ง อันเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งของชีวิตนั่นเอง จึงยิ่งใหญ่ ดังเมื่อมีผู้ถาม ๒ x ๒ = ? เราสามารถตอบได้ทันที
กล่าวคือเกิดการกระทำตามที่ได้สั่งสมอบรมไว้ด้วยความเพียร และอย่างถูกต้อง จนสามารถกระทำเองได้โดยอัติโนมัติ เป็นเหมือนดั่งสังขารในปฏิจจสมุปบาท เพียงแต่มิได้เกิดแต่อวิชชา แต่เกิดจากวิชชาหรือวิชา ดังเช่น สติระลึกรู้ในแม่สูตรคูณ ระลึกรู้ในการอ่านหนังสือออก ขอให้โยนิโสมนสิการโดยแยบคายจะเห็นได้ว่า เมื่อตากระทบตัวอักษร จะเกิดการอ่านออกโดยอัติโนมัติ จะอ่านไม่ออกก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นสังขารอันอบรม สั่งสม ปฏิบัติไว้ด้วยความเพียรมาแต่ครั้งเล่าเรียนนั่นเอง จึงเป็นอาการมหาสติอย่างหนึ่ง เพียงแต่เป็นมหาสติแบบประโยชน์ทางโลก มิได้เป็นมหาสติที่นำพาให้จางคลายจากทุกข์ หรือดับทุกข์อันเป็นสุขอย่างยิ่ง
ดังตัวอย่างกระบวนธรรม ที่เกิดจากการอ่าน เช่น อ่านที่เกี่ยวกับข่าวร้าย คือไม่ดี ไม่ถูกใจ
ตา รูปคือตัวหนังสือ จักษุวิญญาณ ผัสสะ สัญญาจำ(รูปสัญญา) เข้าใจถึงความหมาย เกิดเวทนา ความรู้สึก รับรู้ตามความหมายที่เห็นนั้น จึงเกิดทุกขเวทนา สัญญาหมายรู้(รูปสัญเจตนา) คิดอ่านในข้อมูลที่อ่านนั้น จึงเกิดสังขารขันธ์ เช่น หดหู่ใจ เป็นปัจจัยปรุงแต่งจิตให้เกิด สัญเจตนา จึงเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำ(กรรม)ต่างๆขึ้น เช่น มโนกรรม(การกระทำทางใจ เช่น คิดนึก), จิตจึงเกิดการคิดวนเวียนปรุงแต่งสืบต่อไปอีก จึงวนเวียนอยู่ในกองทุกข์นั่นเอง
ตัวอย่างดังข้างต้นนี้ จึงแสดงสังขารของการอ่านหนังสือออก อันเป็นสังขารที่เป็นไปในลักษณาการของมหาสติ เมื่อเห็นคือกระทบแล้วย่อมเกิดกระบวนธรรมต่างๆดังข้างต้น โดยไม่ต้องเจตนา เป็นไปโดยสภาวธรรมดังมหาสตินั่นเอง ที่ย่อมต้องเข้าใจในตัวหนังสือนั้นเป็นธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ส่วนในตอนท้ายคือสังขารขันธ์นั้นก็แสดงอาการดั่งมหาสติอีกอย่างหนึ่ง แต่เป็นฝ่ายให้เกิดทุกข์อย่างยิ่งยวด คือ จิตสังขารที่มีอาการฟุ้งซ่าน คิดนึกปรุงแต่ง คิดวนเวียนในทุกข์ ด้วยเป็นความสั่งสมเคยชินด้วยอวิชชา จึงสั่งสมมาแต่ช้านาน แต่อ้อนแต่ออก นานจนไม่รู้ว่าสักกี่ภพ กี่ชาติมาแล้ว จึงหยุดการคิดวนเวียนปรุงแต่งคือหยุดฟุ้งซ่านไม่ได้ ด้วยเป็นสังขารที่สั่งสมมาช้านานด้วยอวิชชา จึงเกิดทุกขเวทนาที่ประกอบด้วยอุปาทานกระทบอยู่ตลอดเวลาราวกับเป็นชิ้นเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งๆที่ทุกขเวทนานั้นเกิดขึ้นในสภาวะเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับๆๆ....จากการคิดปรุงหรือฟุ้งซ่านไม่หยุดหย่อนราวกับต่อเนื่องกันไป โดยไม่รู้ตัว ทั้งควบคุมไม่ได้เพราะทั้งไม่เคยรู้ ทั้งไม่เคยฝึกฝนปฏิบัตินั่นเอง จนยิ่งเร่าร้อนยิ่งขึ้นไป ทั้งยาวนานยิ่ง
ลองโยนิโสมนสิการในการขี่จักรยาน การว่ายนํ้า บุคลิกต่างๆเหล่านี้ ล้วนเป็นสังขารที่ได้สั่งสม อบรม ประพฤติ ปฏิบัติมาแต่อดีตทั้งสิ้น จึงเป็นไปดังเช่นเดียวกับสังขารในปฏิจจสมุปบาทเพียงแต่มิได้เป็นสังขารที่เกิดจากอวิชชาอันนำพาให้เกิดทุกข์ เป็นเพียงสังขารทางโลกอย่างหนึ่ง หรือก็คือขันธ์ ๕ ธรรมดาๆที่ฝึกฝนมาอย่างลงตัวแล้ว ยังฝึกฝนจนชำนาญยิ่งและใช้ในการดำเนินขันธ์หรือชีวิตอันมิได้ก่อทุกข์โทษภัย และบางอย่างก็จำเป็นยิ่งในการดำรงขันธ์หรือชีวิต โยนิโสมนสิการดูความยิ่งใหญ่ของสภาวธรรมหรือธรรมชาติ(คล้ายดั่งสังขารในปฏิจจสมุปบาท)นี้ ที่เมื่อเกิดขึ้นลงตัวได้แล้ว จดจำได้ไม่สามารถลบเลือนไปได้จนกว่าแตกดับไป และสามารถกระทำเองได้โดยแทบไม่ต้องเจตนา(สัญเจตนา)ทั้งๆที่แท้จริงแล้วมีเจตนา หรือเรียกได้ว่ากระทำไปเองโดยอัติโนมัตินั่นเอง กล่าวคือมันเกิดมันทำของมันเอง ดั่งเช่น ถ้าฝึกฝนสั่งสมจนว่ายนํ้าเป็นอย่างลงตัวแล้ว แม้ไม่ได้ว่ายมา ๒๐ ปี แต่เมื่อตกนํ้าก็สามารถทำได้เองในทันทีโดยอัติโนมัติ, การขี่จักรยาน การอ่านหนังสือ การพูด บุคคลิกท่าทาง ฯลฯ. เราต้องการสังขารในลักษณะเยี่ยงนี้ไปในการดับไปแห่งทุกข์เช่นกัน ที่เรียกกันภาษาธรรมทั่วๆไปได้ว่า มหาสติ นั่นเอง กล่าวคือ ต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องด้วย และอย่างเป็นมหาสติ กล่าวคือถ้าไม่ถูกต้องก็ย่อมกลายเป็นสังขารในปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง
สำหรับนักปฏิบัติ มีสังขารอีกอย่างหนึ่งที่เป็นอาการของมหาสติ แต่เป็นฝ่ายก่อให้เกิดทุกข์ในภายหน้า จึงไม่จัดว่าเป็นมหาสติ คืออาการของ จิตส่งในหรือจิตส่องใน ไปในกายหรือจิต เป็นอาการของมหาสติฝ่ายก่อให้เกิดทุกข์อย่างยิ่งยวดอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นจากการติดเพลินหรือติดสุขในฌานหรือสมาธิ จึงกระทำอยู่เสมอๆทั้งโดยรู้ตัวและโดยไม่รู้ตัว จึงควบคุมบังคับไม่ให้ไม่ทำไม่ได้ เหตุเกิดขึ้นเพราะความสงบความสุขที่เกิดขึ้นแต่สมาธิหรือองค์ฌานต่างๆเป็นเครื่องล่อลวงให้เข้าไปติดเพลิน มักขาดการเจริญวิปัสสนา จึงไปติดเพลินโดยไม่รู้ตัว จึงถวิลหาสังขารของสมาธิหรือฌานอยู่เสมอๆแม้ในวิถีจิตปกติธรรมดา โดยอาการจิตส่งในไปสังเกตุกายหรือจิตเพื่อเสพรส ในที่สุดกายและจิตย่อมแปรปรวนเป็นทุกข์ด้วยวิปัสสนูปกิเลส อันเกิดขึ้นเพราะเหตุที่ว่าสังขารของสมาธิและฌานก็ไม่เที่ยงด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง จิตส่งในจึงเป็นสังขารที่ควรรีบแก้ไขอย่างยิ่งยวด ก่อนที่จะเป็นสังขารดังมหาสติอย่างผิดๆอย่างยิ่งยวด ด้วยเหตุดั่งนี้นี่เอง จึงจัดรูปราคะและอรูปราคะอันเกิดแต่มิจฉาฌานสมาธิเพราะติดเพลินหรือนันทิเป็นหนึ่งในสังโยชน์ขั้นละเอียด ที่ละได้ยากยิ่งนัก
สติรู้เท่ารู้ทันกาย เวทนา จิต ธรรม เรียกว่า มหาสติ เป็นไปเพื่อการดับทุกข์
สติรู้เท่าทันในหน้าที่การงาน เรียกว่า สั่งสมจนเชี่ยวชาญชำนาญยิ่ง เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางโลกๆ
สติรู้ในกิเลสที่ผุดขึ้นมา(อาสวะกิเลส)และประกอบด้วยอวิชชา คือสังขารกิเลส ในองค์ธรรมสังขารในปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง ล้วนเป็นไปเพื่อหยุดฟุ้งซ่านจึงดับทุกข์อันเร่าร้อน
สติ ควรระลึกรู้เท่าทันระดับใด ที่ยังผลยิ่ง