|
อานิสงส์นี้รวบรวมจากประสบการณ์ความเข้าใจโดยส่วนตัวของข้าพเจ้าเอง มีดั่งนี้
๑.รู้สภาวะธรรมของตนเอง สามารถวิเคราะห์หาเหตุและผลได้ตลอดจนเข้าใจธรรมอื่นดีขึ้น สมดังพุทธพจน์ที่กล่าวว่า "ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม"
๒.เมื่อเข้าใจกระบวนการเกิดทุกข์แล้ว ย่อมมีความมั่นใจและรู้หนทางแก้ไขทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว หรือจะเกิดขึ้นอย่างได้ผลถูกต้องที่เหตุปัจจัยตรงจุด เหมือนดั่งมีแผนที่ในมือย่อมไม่หลงทาง หรือถ้าหลงทางก็จะตรวจสอบและ "รู้"ตัวอย่างรวดเร็ว และเดินทางกลับไปสู่จุดหมายถูก จึงเปรียบประดุจดั่งมีแผนที่ในมือ เพราะมีแก่นธรรมอันสูงสุดเป็นบันทัดฐานให้ตรวจสอบการปฏิบัติ
๓.มีความเข้าใจในมหาสติปัฏฐาน๔ เองโดยไม่ได้พิจารณาปฏิบัติมาก(แต่ต้องฝึกสติ และต้องให้มีสติอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติในชีวิตประจําวัน ไม่ใช่เฉพาะเวลานั่งสมาธิ)โดยเฉพาะเวทนานุปัสนาเพราะเข้าใจเวทนา และที่ชัดเจนอีกสิ่งคือจิตตานุปัสสนา เกิดอาการเห็นจิตในจิตดั่งพุทธพจน์ที่กล่าวในจิตตานุปัสนาว่า"จิตมี โมหะ โทสะโลภะก็รู้ชัดว่าจิตมี, จิตไม่มี โมหะ โทสะโลภะก็รู้ชัดว่าจิตไม่มี" ตลอดจนเห็น(เข้าใจ)ทั้งภายใน(ตัวเอง)และภายนอก(บุคคลอื่น)เนื่องจากเข้าใจในสภาวะธรรมต่างๆดีขึ้นทําให้รู้ถึงสภาวะตนเองและบุคคลอื่นเพราะธรรมใดเป็นเหตุ ทําให้เข้าใจตนเองและผู้อื่นอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงมากขึ้น
๔.กําจัด "วิจิกิจฉา"ความสงสัยที่มีซ่อนอยู่ลึกๆ หรือความไม่เข้าใจในธรรมคําสอนให้พ้นทุกข์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหมดสิ้น รู้ถึงพุทธประสงค์ในการสั่งสอนสรรพสัตว์
๕.ได้สัมผัส นิโรธ บางส่วน มีอาการเบากายเบาใจอย่างไม่เคยประสบมาก่อนโดยไม่ได้ปฏิบัติใดๆเนื่องจากทุกข์หายไปและไม่พอกพูนหรือก่อกวนอาสวะกิเลสขึ้นมา เข้าใจคําว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตลอดจนมีความเชื่อมั่น, กําลังจิต, กําลังใจ, มองเห็นทางสู่จุดหมายปลายทางอันคือ "นิโรธ" ว่าเป็นไปได้ ไม่ใช่สิ่งเพ้อฝันอีกต่อไป และไม่ใช่เรื่องบุญบารมีเก่า แต่เกิดแต่กรรมการกระทําที่มีเจตนาในปัจจุบันเท่านั้น
๖.ไม่เอาเวทนาทั่วๆไป มาก่อเป็นทุกข์โดยไร้สาระ เพราะไม่ทราบเหตุ และความไม่เข้าใจอย่างในอดีต(อวิชชา) เนื่องจากแยกแยะและเข้าใจเวทนาได้อย่างชัดเจนขึ้น ทุกข์เกิดจากเหตุนี้มีเป็นจํานวนมากมายจริงๆ เกิดจากความไม่เข้าใจและวาดภาพการพ้นทุกข์เป็นแบบเพ้อฝันหรือสีลัพพตปาทาน คือไม่เข้าใจคําว่า "เหตุแห่งทุกข์นั้นมีอยู่ แต่ไม่มีผู้รับผลทุกข์นั้น"
๗.เข้าใจใน สีลัพพตปรามาส อย่างถูกต้อง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดแต่เหตุปัจจัย ไม่มีสิ่งใดดลบันดาลในทุกๆสิ่ง แม้แต่ทุกข์ เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา ทําให้หมดความยึดมั่นในศีลและพรตข้อปฏิบัติที่งมงาย อันเนื่องจากไปยึดมั่นไว้เพื่อเป็นกําลังขวัญ กําลังใจ อย่างผิดๆ
๘.ลดละสักกายทิฎฐิ จากการเห็นและเข้าใจความเห็นแก่ตัวตนของตนเองคือ อุปาทานอันยึดมั่นในความยินดีพึงพอใจของตนเองเป็นหลัก อันก่อให้เกิดความเห็น,ความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เรานั่นแหละเห็นแก่ตัวตนของตนเองทั้งต่อกายและจิตมากที่สุด เหนือกว่าสิ่งใดๆ ตลอดจนความเข้าใจในเหตุปัจจัย อันยังให้ทราบถึงสภาพอันเป็นตัวตนล้วนแต่เกิดแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งประชุมกัน ประดุจดั่งแสงแดด แว่นขยาย เชื้อไฟ ฯลฯ.
ข้อควรระวังในการโยนิโสมนสิการปฏิจจสมุปบาท เท่าที่สังเกตุพบเมื่อมีความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทส่วนหนึ่งแล้วจะเกิดอาการเบาสบายทั้งกายและใจ ถึงแม้เป็นแก่นธรรมแท้แต่ก็บังเกิดวิปัสสนูปกิเลสได้เช่นกัน เพราะบังเกิดแก่ผู้ได้วิปัสสนาเป็นธรรมดาทําให้เข้าใจว่าตนเองนั้นเข้าใจธรรมนี้แทงตลอดแล้ว(ดูอาการ"ญาณ"ในวิปัสสนูปกิเลส )เพราะอาการดังกล่าวทําให้หลงหยุดการโยนิโสมนสิการหรือการปฏิบัติเสีย และเกิดอาการอื่นๆ ดั่งที่พระอานนท์ที่ได้กราบทูลพระพุทธองค์ จนพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสแย้งข้อกราบทูลนั้น ดังความที่กล่าวมาแล้ว, ทําให้บางท่านหยุดการพิจารณาธรรมหรือปฏิบัติ และเกิดอาการอื่นๆ ทําให้ไม่แทงตลอดในธรรมนี้จริงๆอย่างน่าเสียดาย แต่ก็ไม่ร้ายแรงเท่ากับเกิดจากฌานหรือสมาธิโดยตรง เพราะขาดนิกันติความพอใจข้อ๑๐ในวิปัสสนูปกิเลสอาการเบาสบายนี้เป็นอาการปกติเริ่มแรกเพราะใจที่เป็นทุกข์ลดน้อยลงจากปัญญาที่เกิดขึ้นในการเห็นตามความเป็นจริงในปฏิจจสมุปบาท ทําให้รู้สึกแตกต่างจากสภาพเดิมๆมาก อาจทําให้เกิดอาการญาณหรือปัสสัทธิในวิปัสสนูปกิเลสขึ้นได้จากรู้สึกสงบกาย สงบใจจนเกิดความเข้าใจผิดเป็นวิปัสสนูปกิเลส หรืออาจเกิดวิปัสสนูปกิเลสตัวอื่นๆ อย่าไปหลง เป็นแต่แค่เวทนาหรือสังขารอันไม่เที่ยง, ทนอยู่ไม่ได้จักเป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปอยาก และเป็นอนัตตา เท่านั้น และ อย่าได้ไปยึดติดยึดถือคอยเสพสัมผัสความเบากาย,เบาใจ เพราะยังอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์เช่นกัน จนกว่าสภาพ "นิโรธ"จักบังเกิดอย่างมั่นคงถาวร