buddha1-1.gif

จูฬเวทัลลสูตร

พุทธพจน์ และ พระสูตร ๕๓.

พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๒

 คลิกขวาเมนู

            เวทัลละ เป็นพระสูตรแบบถามตอบ ที่ให้เกิดความรู้และความอิ่มเอิบพอใจ แล้วซักถามยิ่งๆ ขึ้นไป เช่นมหาเวทัลลสูตร  และจูฬเวทัลลสูตรนี้   เป็นพระสูตร แสดงการสนทนาธรรมในลักษณะถามตอบ ระหว่างวิสาขอุบาสกกับท่านธรรมทินนาภิกษุณี  ที่ยังให้เกิดปีติความอิ่มเอิบ จากปัญญาที่เกิดขึ้นจากการไปรู้เห็นความจริง

๔. จูฬเวทัลลสูตร

การสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปีติ

             [๕๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่ให้เหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์.

ครั้งนั้น วิสาขอุบาสกเข้าไปหาธรรมทินนาภิกษุณีถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

เรื่องสักกายทิฏฐิ

             [๕๐๖] วิสาขอุบาสกครั้นนั่งแล้ว ได้ถามธรรมทินนาภิกษุณีว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายะ สักกายะ ดังนี้ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายะ?

             ธรรมทินนาภิกษุณีตอบว่า ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อุปาทานขันธ์ ๕ คือ

รูปูปาทานขันธ์ ๑   เวทนูปาทานขันธ์ ๑  สัญญูปาทานขันธ์ ๑  สังขารูปาทานขันธ์ ๑  วิญญาณูปาทานขันธ์ ๑

อุปาทานขันธ์ ๕ นี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายะ.

             วิสาขอุบาสก ชื่นชม อนุโมทนา ภาษิตของธรรมทินนาภิกษุณีว่า ถูกละพระแม่เจ้า ดังนี้ แล้ว

ได้ถามปัญหาต่อไปว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายสมุทัย สักกายสมุทัย ดังนี้

ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าสักกายสมุทัย? (เป็นเหตุให้เกิดยึดว่าเป็นตนหรือของตน)

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ตัณหาอันทำให้เกิดในภพใหม่  (กล่าวคือ)สหรคตด้วยความกำหนัดยินดี เพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้นๆ

คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหานี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายสมุทัย.

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่าสักกายนิโรธ สักกายนิโรธดังนี้ ธรรมอะไร ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธ?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ความดับด้วยความคลายกำหนัดไม่มีเหลือ ความสละ ความสละคืน ความปล่อย

ความไม่พัวพัน ด้วยตัณหานั้น นี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธ.

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา ดังนี้

ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อริยะมรรคมีองค์ ๘ คือ

ปัญญาอันเห็นชอบ ๑   ความดำริชอบ ๑   วาจาชอบ ๑   ทำการงานชอบ ๑

เลี้ยงชีวิตชอบ ๑   ความเพียรชอบ ๑   ความระลึกชอบ ๑   ความตั้งจิตไว้ชอบ ๑ นี้แล

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา.

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า อุปาทาน กับ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอันเดียวกัน  หรืออุปาทาน เป็นอย่างอื่นจากอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อุปาทาน กับ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ หาใช่อันเดียวกันไม่  อุปาทานเป็นอย่างอื่นจากอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ก็หาใช่ไม่

ความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕  เป็นอุปาทานในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นั้น.

             [๕๐๗] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็สักกายทิฏฐิมีได้อย่างไร?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยะไม่ฉลาด ในธรรมของพระอริยะ

ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัปบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัปบุรุษ

ย่อมตามเห็นรูป โดยความเป็นตนบ้าง  ตามเห็นตนว่ามีรูปบ้าง  ตามเห็นรูปในตนบ้าง  ตามเห็นตนในรูปบ้าง

ย่อมตามเห็นเวทนา โดยความเป็นตนบ้าง  ตามเห็นตนว่ามีเวทนาบ้าง  ตามเห็นเวทนาในตนบ้าง  ตามเห็นตนในเวทนาบ้าง

ย่อมตามเห็นสัญญา ... ย่อมตามเห็นสังขารทั้งหลาย ...

ย่อมตามเห็นวิญญาณ  โดยความเป็นตนบ้าง  ตามเห็นตนว่ามีวิญญาณบ้าง  ตามเห็นวิญญาณในตนบ้าง ตามเห็นตนในวิญญาณบ้าง

อย่างนี้แล สักกายทิฏฐิจึงมีได้.

(กล่าวคือ ปุถุชนนั้นเมื่อกำเนิดเกิดขึ้นมา ย่อมยังไม่มีวิชชาหรือความรู้ดังนี้เป็นธรรมดา  เมื่อไม่ได้สดับจากพระอริยะหรือผู้รู้ธรรม จึงย่อมปล่อยให้เป็นไปตามธรรม หรือธรรมชาติของชีวิตสัตว์ ที่ย่อมดำเนินไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทโดยธรรมชาติ กล่าวคือ มีความคิดเห็นว่าเป็นตัวของตนโดยธรรมชาติ)

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อย่างไรสักกายทิฏฐิจึงจะไม่มีฯ

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ

ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัปบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัปบุรุษ

ย่อมไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็นตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนว่ามีรูปบ้าง ไม่ตามเห็นรูปในตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนในรูปบ้าง

ย่อมไม่ตามเห็นเวทนา โดยความเป็นตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนว่ามีเวทนาบ้าง ไม่ตามเห็นเวทนาในตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนในเวทนาบ้าง

ย่อมไม่ตามเห็นสัญญา....

ย่อมไม่ตามเห็นสังขารทั้งหลาย....

ย่อมไม่ตามเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนว่ามีวิญญาณบ้าง ไม่ตามเห็นวิญญาณในตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนใน วิญญาณบ้าง

อย่างนี้แล สักกายทิฏฐิจึงจะไม่มี.

เรื่องมรรค ๘ กับขันธ์ ๓

             [๕๐๘] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อริยมรรคมีองค์ ๘ ไฉน?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ

ปัญญาอันเห็นชอบ ๑  ความดำริชอบ ๑  วาจาชอบ ๑  ทำการงานชอบ ๑

เลี้ยงชีวิตชอบ ๑  ความเพียรชอบ ๑  ความระลึกชอบ ๑  ความตั้งจิตไว้ชอบ ๑.

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะหรือเป็นอสังขตะ?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะ.

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ขันธ์ ๓ (หมายถึง กองศีล กองสมาธิ กองปัญญา) พระผู้มีพระภาค ทรงสงเคราะห์ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘  

หรือว่าอริยมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วย ขันธ์ ๓.

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ  ขันธ์ ๓ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงสงเคราะหด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘

ส่วนอริยมรรคมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะหด้วยขันธ์ ๓ คือ

(กล่าวโดยย่อ กันความสับสน   ศีล สมาธิ ปัญญา จัดเป็นเครื่องเกื้อหนุนให้เจริญในมรรคองค์ ๘)

วาจาชอบ ๑ ทำการงาน ชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ทรงสงเคราะหด้วยศีลขันธ์

ความเพียรชอบ ๑ ความระลึกชอบ ๑ ความตั้งจิตไว้ชอบ ๑ ทรงสงเคราะห์ด้วยสมาธิขันธ์

ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ ทรงสงเคราะห์ด้วยปัญญาขันธ์.

เรื่องสมาธิและสังขาร

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ธรรมอย่างไร เป็นสมาธิ   ธรรมเหล่าใด เป็นนิมิตของสมาธิ

ธรรมเหล่าใด เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ   การทำให้สมาธิเจริญ เป็นอย่างไร?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว เป็นสมาธิ   

สติปัฏฐาน ๔ เป็นนิมิตของสมาธิ

สัมมัปปธาน ๔ เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ

ความเสพคุ้น ความเจริญ ความทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้นแหละ  เป็นการทำให้สมาธิเจริญ.

             [๕๐๙] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็สังขาร มีเท่าไร?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ สังขารเหล่านี้ มี ๓ ประการคือ กายสังขาร  วจีสังขาร  จิตตสังขาร.

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็กายสังขาร เป็นอย่างไร  วจีสังขารเป็นอย่างไร  จิตตสังขารเป็นอย่างไร?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ  ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า เป็นกายสังขาร

วิตกและวิจาร เป็นวจีสังขาร

สัญญาและเวทนา เป็นจิตตสังขาร.

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็เหตุไร ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า จึงเป็นกายสังขาร

วิตกและวิจาร จึงเป็นวจีสังขาร   

สัญญาและเวทนา จึงเป็นจิตตสังขาร?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าเหล่านี้ เป็นธรรมมีในกาย

เนื่องด้วยกาย ฉะนั้น ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า จึงเป็นกายสังขาร

บุคคลย่อมตรึก(คิด) ย่อมตรอง(พิจารณา)ก่อนแล้ว จึงเปล่งวาจา ฉะนั้น วิตกและวิจาร จึงเป็นวจีสังขาร

สัญญาและเวทนา เป็นธรรมมีในจิต เนื่องด้วยจิต ฉะนั้นสัญญาและเวทนา จึงเป็นจิตตสังขาร(อย่างหนึ่ง).

เรื่องสัญญาเวทยิตนิโรธ

             [๕๑๐] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็การเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นอย่างไร?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ มิได้มีความคิดอย่างนี้ว่า

เราจักเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ  ว่าเรากำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่  ว่าเราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว

ก็แต่ความคิดอันนำเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น อันท่านให้เกิดแล้วตั้งแต่แรก.

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ธรรม คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร อย่างไหน ย่อมดับไปก่อน?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ วจีสังขารดับก่อน  ต่อจากนั้น กายสังขารก็ดับ  จิตตสังขารดับทีหลัง.

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็การออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เป็นอย่างไร?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ มิได้มีความคิดอย่างนี้ว่า

เราจักออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ  ว่าเรากำลังออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ

ว่าเราออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว

ก็แต่ความคิดอันนำเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น อันท่านให้เกิดแล้วแต่แรก.

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ธรรมคือกายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร อย่างไหน เกิดขึ้นก่อน.

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ จิตตสังขารเกิด ขึ้นก่อน  ต่อจากนั้นกายสังขารก็เกิดขึ้น  วจีสังขารเกิดขึ้นทีหลัง.

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ผัสสะเท่าไร ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ผัสสะ ๓ ประการ คือ

ผัสสะชื่อสุญญตะ (รู้สึกว่าว่าง)  ผัสสะชื่ออนิมิตตะ (รู้สึกว่าไม่มีนิมิต)  และผัสสะชื่ออัปปณิหิตะ (รู้สึกว่าไม่มีที่ตั้ง)

ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ.

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ.

มีจิตน้อมไปใน ธรรมอะไร  โอนไปในธรรมอะไร  เอนไปในธรรมอะไร?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ  มีจิตน้อมไปใน วิเวก  โอนไปใน วิเวก  เอนไปใน วิเวก.

เรื่องเวทนา

             [๕๑๑] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า เวทนามีเท่าไร?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ เวทนานี้มี ๓ ประการ คือ สุขเวทนา ๑  ทุกขเวทนา ๑  อทุกขมสุขเวทนา ๑.

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็สุขเวทนาเป็นอย่างไร  ทุกขเวทนาเป็นอย่างไร  อทุกขมสุขเวทนา   เป็นอย่างไร?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขสำราญ  อันเป็นไปทางกาย หรือเป็นไปทางจิต นี่เป็นสุขเวทนา

ความเสวยอารมณ์ที่เป็นทุกข์ไม่สำราญ  อันเป็นไปทางกาย หรือเป็นไปทางจิต นี่เป็นทุกขเวทนา

ความเสวยอารมณ์ที่มิใช่ความสำราญ และมิใช่ความไม่ สำราญ (เป็นส่วนกลางมิใช่สุขมิใช่ทุกข์) อันเป็นไปทางกาย หรือเป็นไปทางจิต นี่เป็นอทุกขมสุขเวทนา

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า   ก็สุขเวทนา  เป็นสุขเพราะอะไร  เป็นทุกข์เพราะอะไร?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ สุขเวทนา  เป็นสุขเพราะตั้งอยู่  เป็นทุกข์เพราะแปรไป

                                         ทุกขเวทนา  เป็นทุกข์เพราะตั้งอยู่  เป็นสุขเพราะแปรไป

                                         อทุกขมสุขเวทนา  เป็นสุขเพราะรู้ชอบ  เป็นทุกข์เพราะรู้ผิด.

(กล่าวคือ เกิดสุขเวทนา  เพราะสุขนั้นยังคงตั้งอยู่  ก็เกิดภวตัณหา  จึงเป็นทุกข์เกิดขึ้นเพราะสุขเหล่าใดเหล่านั้นย่อมต้องแปรปรวนและดับไปด้วยพระไตรลักษณ์  จึงเกิดการโหยไห้อาลัยหาในสุขนั้นๆ  อันอาจเกิดได้ในขณะนั้น หรืออาจกินเวลาคือเกิดขึ้นในภายหน้าได้โดยการรำลึก(สัญญา)จึงเกิดการโหยไห้อาลัยหา  จึงวนเวียนอยู่ในสุขทุกข์ คือกองทุกข์อยู่นั่นเองโดยไม่รู้ตัว)

(ส่วนทุกขเวทนานั้น  เมื่อตั้งอยู่ย่อมเป็นทุกข์อยู่แล้วโดยธรรม ก็เกิดวิภวตัณหาขึ้น  ดังนั้นเมื่อทุกข์เหล่าใดเหล่านั้นแปรปรวนดับไปด้วยอำนาจพระไตรลักษณ์  จึงเกิดภาวะจิตที่เราเรียกกันโดยภาษาสมมติว่าสุขขึ้น  เป็นมายาของจิต ที่จริงๆแล้วก็คือการดับทุกข์เท่านั้นนั่นเอง ดังนั้นพึงระลึกว่าเมื่อเป็นทุกข์แล้ว  สุขนั้นย่อมเกิดตามมาโดยธรรมคือความสงบลง ความสบายใจขึ้น  ก็ไม่เพลิดเพลิน พึงสำรวม สังวร ระวัง อย่าไปปรุงแต่งฟุ้งซ่านให้วนเวียนอยู่ในทุกข์ดั่งนี้อีกเลย)

(ส่วนอทุกขมสุขเวทนา  เป็นสุขเพราะรู้ชอบ ว่าถ้าประมาทย่อมเป็นโทษภัย จึงไม่ฟุ้งซ่านไปปรุงแต่ง  ส่วนเมื่อรู้ผิด คิดว่าไม่เป็นโทษภัย จึงประมาท จึงฟุ้งซ่านปรุงแต่งจนเป็นสุขเป็นทุกข์  ผลจึงเกิดเป็นทุกข์ขึ้น เป็นในที่สุด)

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อนุสัยอะไร ตามนอนอยู่ในสุขเวทนา  อนุสัยอะไร ตามนอน อยู่ในทุกขเวทนา  อนุสัยอะไร ตามนอนอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ราคานุสัย ตามนอนอยู่ในสุขเวทนา  

                                         ปฏิฆานุสัย ตามนอน อยู่ในทุกขเวทนา  

                                         อวิชชานุสัยตามนอนอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา.

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ราคานุสัยตามนอนอยู่ในสุขเวทนาทั้งหมด

ปฏิฆานุสัยตามนอน อยู่ในทุกขเวทนาทั้งหมด

อวิชชานุสัยตามนอนอยู่ในอทุกขมสุขเวทนาทั้งหมด  หรือหนอแล?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ  ราคานุสัย ตามนอนอยู่ในสุขเวทนาทั้งหมด หามิได้

ปฏิฆานุสัย ตามนอนอยู่ในทุกขเวทนาทั้งหมด หามิได้

อวิชชานุสัย ตามนอนอยู่ใน อทุกขมสุขเวทนาทั้งหมด หามิได้.

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ธรรมอะไร จะพึงละได้ในสุขเวทนา

ธรรมอะไร จะพึงละได้ในทุกขเวทนา

ธรรมอะไร จะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ราคานุสัยจะพึงละได้ในสุขเวทนา

(หมายความว่า ไม่ไปยึดติดยึดถือหรือไม่ติดเพลินในสุขเวทนา ที่ถึงอย่างไรก็ยังคงต้องเกิดคงมีเช่นนั้นเองตามธรรม)

ปฏิฆานุสัย จะพึงละได้ใน ทุกขเวทนา

(หมายความว่า ไม่ไปยึดติดยึดถือหรือไม่ขุ่นเคืองในทุกขเวทนา ที่ถึงอย่างไรก็ยังคงต้องเกิดคงมีเช่นนั้นเองตามธรรม)

อวิชชานุสัยจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา.

(หมายความว่า รู้ชอบจึงไม่ปรุงแต่งหรือไม่ฟุ้งซ่านไปในอทุกขมสุขเวทนาอันแลว่าไม่มีโทษ จนแปรเป็นสุขเป็นทุกข์ในที่สุด  ที่ถึงอย่างไรก็ยังคงเกิดคงมีเช่นนั้นเองตามธรรม)

             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ราคานุสัยจะพึงละเสียได้ในสุขเวทนาทั้งหมด

ปฏิฆานุสัยจะพึง ละเสียได้ในทุกขเวทนาทั้งหมด

อวิชชานุสัยจะพึงละเสียได้ในอทุกขมสุขเวทนาทั้งหมด  หรือหนอแล?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ราคานุสัยจะพึงละเสียได้ในสุขเวทนาทั้งหมด หามิได้

ปฏิฆานุสัยจะพึงละเสียได้ในทุกขเวทนาทั้งหมด หามิได้

อวิชชานุสัยจะพึงละเสียได้ในอทุกขมสุขเวทนาทั้งหมด หามิได้

             ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม

บรรลุปฐมฌาน มีวิตกมีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่

ย่อมละราคาด้วยปฐมฌานนั้น  ราคานุสัย มิได้ตามนอนอยู่ในปฐมฌานนั้น  อนึ่ง

(เมื่ออยู่ในปฐมฌาน ยังมีวิตก วิจาร อยู่ กล่าวคือมีสติในการพิจารณาธรรมได้ โดยปราศจากการรบกวนจากราคะทั้งหลาย จึงเหมาะแก่การใช้ปฐมฌานในการพิจารณา)

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นอยู่ว่า เมื่อไร เราจะได้บรรลุอายตนะที่พระอริยะทั้งหลายบรรลุแล้วอยู่ ในบัดนี้ ดังนี้

เมื่อภิกษุนั้นเข้าไปตั้งความปรารถนาในวิโมกข์ทั้งหลายอันเป็นอนุตตรธรรมอย่างนี้  โทมนัสย่อมเกิดขึ้น

(โทมนัส ย่อมเกิดจากความอยาก อันแม้เป็นกุศลตัณหาในธรรมก็ตามที  ก็ย่อมยังให้เกิดทุกข์ขึ้นได้)

เพราะความปรารถนาเป็นปัจจัย ท่านละปฏิฆะได้ด้วยความโทมนัสนั้น  ปฏิฆานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในความโทมนัสนั้น อนึ่ง

(เมื่อเกิดความอยากดังนั้น ย่อมเกิดการขุ่นเคือง(ปฏิฆะ)ด้วยทุกข์นั้น  ก็ให้ละปฏิฆะความขุ่นเคืองด้วยทุกข์นั้น จากความอยากนั้นเสีย ด้วยรู้เข้าใจแล้วในโทษแม้ในกุศลตัณหานั้น  ปฏิฆานุสัยก็จะไม่นอนเนื่องเป็นอาสวะกิเลสนั่นเอง)

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้

มีอุเบกขาเป็น เหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ย่อมละอวิชชาได้ด้วยจตุตถฌานนั้น  อวิชชานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในจตุตถฌานนั้น.

             [๕๑๒] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่ง สุขเวทนา?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ราคะ เป็นส่วนเปรียบแห่ง สุขเวทนา.

             วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่ง ทุกขเวทนา?

             ธ. ปฏิฆะ เป็นส่วนแห่งเปรียบแห่ง ทุกขเวทนา.

             วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่ง อทุกขมสุขเวทนา?

             ธ. อวิชชา เป็นส่วนเปรียบแห่ง อทุกขมสุขเวทนา.

             วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่ง อวิชชา?

             ธ. วิชชา เป็นส่วนเปรียบแห่ง อวิชชา.

             วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่ง วิชชา?

             ธ. วิมุติ เป็นส่วนเปรียบแห่ง วิชชา.

             วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่ง วิมุติ?

             ธ. นิพพาน เป็นส่วนเปรียบแห่ง วิมุติ

             วิ. อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่ง นิพพาน?

             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ท่านล่วงเลยปัญหาเสียแล้ว ไม่อาจถือเอาส่วนสุดแห่งปัญหา ได้

ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ เพราะพรหมจรรย์หยั่งลงในพระนิพพาน  มีพระนิพพานเป็นที่ถึงใน เบื้องหน้า  มีพระนิพพานเป็นที่สุด

ถ้าท่านจำนงอยู่  ก็พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลถามเนื้อความนี้เถิด

พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านอย่างใด  ท่านพึงจำทรงพระพยากรณ์นั้นไว้ อย่างนั้นเถิด.

วิสาขอุบาสกสรรเสริญธรรมทินนาภิกษุณี

             [๕๑๓] ลำดับนั้น วิสาขอุบาสก ชื่นชม อนุโมทนา ภาษิตของธรรมทินนาภิกษุณี แล้ว

ลุกจากอาสนะ อภิวาทธรรมทินนาภิกษุณี ทำประทักษิณแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ

ถวายอภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว

ได้กราบทูลเรื่องที่ตนสนทนาธรรมกถากับธรรมทินนาภิกษุณีให้ทรงทราบทุกประการ.

             เมื่อวิสาขาอุบาสกกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า

ดูกรวิสาขะ  ธรรมทินนาภิกษุณีเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก แม้หากท่านพึงสอบถามเนื้อความนั้นกะเรา

แม้เราก็พึงพยากรณ์เนื้อความนั้น เหมือนที่ธรรมทินนาภิกษุณี พยากรณ์แล้ว

เนื้อความแห่งพยากรณ์นั้น เป็นดังนั้นนั่นแล ท่านพึงจำทรงไว้อย่างนั้นเถิด.

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพจน์นี้แล้ว วิสาขอุบาสก ชื่นชม ยินดี พระภาษิตของ พระผู้มีพระภาคแล้ว ฉะนั้นแล.

จบ จูฬเวทัลลสูตร ที่ ๔

 

 

กลับหน้าเดิม

กลับสารบัญ