บุคคลาธิษฐาน และ ธรรมาฐิษฐาน
|
|
ในพระสูตร ตลอดจนคำสอนต่างๆในพุทธศาสนานั้น มีการกล่าวถึงและกล่าวสอนทั้งในลักษณะของบุคคลาธิษฐานและแบบธรรมาธิษฐาน เพื่อประโยชน์สุข จักได้ครอบคลุมถึงได้อย่างกว้างขวาง ตามจริต หรืออินทรีย์ ๕ ของแต่ละบุคคล ตลอดจนเพศที่ถือครอง, อันเป็นไปคล้ายดังในพระสูตรที่ชื่อว่าอุปริปัณณาสก์ ที่กล่าวถึงการมีปัญญาเห็นชอบหรือสัมมาทิฏฐิมี ๒ กล่าวคือมีทั้งแบบโลกิยะและโลกุตระนั่นเอง
บุคคลาธิษฐาน มีความหมายถึง การยกบุคคลเป็นที่ตั้ง, เทศนาโดยการยกบุคคลขึ้นตั้งเป็นหลัก คือ วิธีแสดงธรรมโดยยกบุคคลขึ้นกล่าวอ้าง หรือกล่าวอิง
ธรรมาธิษฐาน หมายถึง มีธรรมเป็นที่ตั้ง คือ เทศนาโดยยกธรรมขึ้นแสดง เช่นว่า ศรัทธา ศีล คืออย่างนี้ ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ ดังนี้เป็นต้น
ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจกันไว้บ้าง เพื่อประโยชน์ในการโยนิโสมนสิการพิจารณาธรรม ป้องกันความสับสน ตลอดจนทิฏฐุปาทานและสีลพพตุปาทาน จึงควรเข้าใจความหมายเทียบเคียงกัน ในธรรมทั้ง ๒ นี้ไว้บ้าง ก็เพื่อประโยชน์ดังกล่าว ดังเช่น
อรูปพรหม เป็นบุคคลาธิษฐาน ที่อาจมีความหมายในทางธรรมาธิษฐาน หมายถึง ผู้อยู่ในอรูปฌาน จึงย่อมมีความสุขสงบสบาย ดุจดั่งอรูปพรหมทั้งหลาย
รูปพรหม เป็นบุคคลาธิษฐาน ที่อาจมีความหมายในทางธรรมาธิษฐาน หมายถึง ผู้อยู่ในรูปฌาน ย่อมมีความสุขสงบสบายดุจดั่งรูปพรหม หรือหมายถึงผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ในพรหมวิหาร ๔ ซึ่งย่อมได้รับผลตอบแทนหรือเป็นเหตุปัจจัยให้มีความสุขสงบและอิ่มเอิบด้วยอำนาจของความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ดุจเดียวกับพรหม กล่าวคือ เกิดโอปปาติกะขึ้นในพรหมชาติในบัดดลนั้น
เทวดา เป็นบุคคลาธิษฐาน ที่อาจมีความหมายในทางธรรมาธิษฐานถึง ผู้ทำกรรมดี ผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อยู่ในศีล อยู่ในธรรม จึงย่อมยังเกิดความสุขขึ้นในบันดลนั้นแบบโอปปาติกะก็ได้ คือเกิดความสุข ปีติความอิ่มเอิบกายใจในบัดดลนั้น หรือย่อมได้รับความสุขในภายหน้าเป็นผลตอบแทนตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรมนั่นเอง แต่จัดว่าเป็นโลกิยสุข
สวรรค์ เป็นบุคคลาธิษฐาน ที่กล่าวอ้างสถานที่ อาจมีความหมายในทางธรรมาธิษฐานถึง มีความสุข จึงเป็นไปในลักษณะแบบโอปปาติกะ กล่าวคือ สามารถเกิดขึ้นได้ในบัดดลนั้น ราวกับอยู่ในสรวงสวรรค์ของเหล่าเทวดา เช่น สุขราวกับอยู่ในสรวงสวรรค์
นรก เป็นบุคคลาธิษฐาน ที่อ้างอิงสถานที่ อาจมีความหมายในทางธรรมาธิษฐานถึง ความทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลน ทุรนทุราย ราวกับอยู่ในนรกภูมิ เป็นไปในลักษณะแบบโอปปาติกะ กล่าวคือ ตกนรกในบัดดล จนได้ยินได้ฟังกันเสมอๆว่า ทุกข์เหมือนอยู่ในนรก
กำลังเรียบเรียง