สักว่า |
|
สักว่า หมายความตามพจนานุกรมว่า "เพียงแต่ว่า...เท่านี้เอง" ในการปฏิบัติธรรมเราก็มักได้ยินคำว่า "สักว่า" อยู่เนืองๆเช่นกัน แลดูไม่สำคัญแต่แท้จริงแล้วแฝงด้วยหลักแก่นธรรมสำคัญของการดับทุกข์ทีเดียว ถ้าพิจารณาดีๆโดยละเอียดและแยบคาย เช่นดั่ง สักว่าเวทนา สักว่าทุกข์(สังขารขันธ์) ฯ. สักว่า ที่มีความหมายเป็นไปในลักษณะเพื่อให้เกิดการปล่อยวาง เพราะมันเป็นของมันเช่นนี้เอง โดยธรรมคือธรรมชาติจึงยิ่งใหญ่ จึงไม่ไปยึดถือยึดมั่น ซึ่งย่อมต้องประกอบด้วยความรู้แจ้งอีกด้วยจึงเกิดประสิทธิผล เช่น รู้ว่าธรรมหรือสิ่งนั้นๆล้วนเกิด แต่เหตุปัจจัย จึงเป็นอนัตตา จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา, เข้าใจดีว่าเกิดขึ้นและเป็นไปเช่นนี้เองตามธรรมหรือธรรมชาติ
ดังนั้นในทางธรรม "สักว่า" จึงมีความหมายว่า "เป็นเพียงแค่ เครืองรู้ เครื่องระลึก เพียงเพื่อไว้ใช้ในการดำรงขันธ์ เท่านั้นเอง" ที่มีความหมายยิ่งว่า เป็นเพียงเครืองรู้คือ ทั้งความรู้ว่ามันเกิดขึ้นและเป็นไปเช่นนี้เอง อีกทั้งรับรู้ เพียงเพื่อเป็นเครื่องระลึกเพื่อเตือนสติ ว่าแม้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการดำเนินชีวิตตามธรรม(ธรรมชาติ)หรือให้เป็นไปโดยปกติก็ตาม แต่ก็เพียงมันเกิดขึ้นของมันเอง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จึงอย่าไปยึดถือ
สักว่ารูปขันธ์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นเช่นนี้เอง
สักว่าเวทนา ที่มีความหมายว่า เพียงแต่ว่าเวทนาเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นเพียงเพื่อ เครืองรู้ เครื่องระลึก เพื่อการดำรงขันธ์ เท่านั้นเอง ที่มีความหมายยิ่งว่า เวทนาเป็นเพียงเพื่อเครื่องรู้คือ เครื่องรับรู้ในการผัสสะ อีกทั้งรู้ว่ามันเกิดขึ้นและเป็นไปโดยธรรมชาติของมันเช่นนี้เท่านั้นเอง จึงไม่สามารถไปห้ามไปหยุดเขาได้ อีกทั้งรู้คือระลึกรู้เท่าทัน เวทนาจึงเป็นไปเพียงเพื่อการดำเนินชีวิตให้เป็นไปโดยปกตินั่นเอง
สักว่าสัญญา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นเช่นนี้เอง
สักว่าสังขารขันธ์ เช่น มีความหมายว่า เพียงแต่ว่าทุกข์เท่านั้นเอง เป็นเพียงแต่ เครื่องรู้ เครื่องระลึก เพื่อการดำเนินชีวิต เท่านั้นเอง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นเช่นนี้เอง
สักว่าวิญญาณ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นเช่นนี้เอง