ควรโยนิโสมนสิการในพระไตรลักษณ์ด้วย

 

คลิกขวาเมนู   

        อนัตตา คือ ไม่ใช่อัตตา, ไม่ใช่ตัวใช่ตน, หรือไม่มีตัวตน อย่างเป็นแก่นแกนหรือแก่นสาระแท้จริง  ตัวตนเป็นเพียงกลุ่มก้อนคือมวลรวม(ฆนะ)จนเป็นมายาของเหล่าเหตุที่มาเป็นปัจจัยประชุมปรุงแต่งกันชั่วขณะๆหนึ่ง ล้วนไม่ใช่ตัวตน ของตนแท้จริง  ตัวตนนั้นๆจึงเป็นเพียงการรวมตัวกันขององค์ประกอบย่อยๆ(ของเหตุปัจจัย)เข้าด้วยกันชั่วขณะหนึ่งๆ   จึงไม่ใช่เป็นตัวตนของตนหรือของใครๆอย่างแท้จริง,  ตัวตนจึงเป็นเพียงสภาวะหนึ่งเท่านั้นเอง แต่โดนจิตมันหลอกว่า เป็นตัวตน เป็นของตัวตน อย่างจริงจังแท้จริง  แท้จริงจึงควบคุมบังคับบัญชามันไม่ได้ เพราะย่อมเป็นไปตามเหตุต่างๆที่มาเป็นปัจจัยกันนั่นเอง

        อนัตตา  ไม่มีตัวตน คือ ไม่มีตัวตน ที่เป็นของตัวมันเองจริง,  ตัวตนที่เห็น หรือจากการรับรู้จากการผัสสะด้วยอายตนะใดๆได้ก็ดี คือ ไม่ว่าจากทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็ตามที คือตัวตนทั้งหลายที่ล้วนรับรู้ได้ในรูปแบบต่างๆทั้งหลายทั้งปวงล้วนสิ้น เช่นใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ต่างล้วนก็เป็นเพียงมวลรวม คือผลของการประกอบกันขึ้นขององค์ประกอบย่อยๆต่างๆ ที่มาประกอบชุมนุมกัน เป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกัน จึงเกิดขึ้นเท่านั้นเอง,  แท้จริงแล้วตัวตนทั้งปวงเหล่านั้น มิใช่สิ่งๆเดียวกันหรือตัวตนของมันเองอย๋างแท้จริง  แต่เกิดจากการประกอบกันขึ้นโดยมีแรงบีบคั้นให้เหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยแก่กันและกัน  การแปรปรวนไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวงทั้งหลาย(ธรรมทั้งปวง)จึงเกิดขึ้นจากการแปรปรวนของเหล่าองค์ประกอบย่อยๆที่มาเป็นเหตุมาเป็นปัจจัยกันเหล่านี้นี่เอง  เมื่อไม่มีตัวตนของตนแท้จริง จึงแน่นอนที่ย่อมเข้าไปครอบครองเพื่อเป็นเจ้าของไม่ได้ การควบคุมบังคับให้เป็นไปตามใจปรารถนาจึงย่อมไม่ได้  โดยแท้จริงแล้วจึงล้วนไม่ขึ้นอยู่กับเรา หรือแม้แต่ใครๆก็ตามที  อันเป็นไปตามพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า "ควรหรือหนอที่เห็นว่า เป็นเรา หรือของเรา" เพราะแท้จริงแล้วล้วนเพียงแต่ขึ้นหรืออยู่ในอำนาจของเหล่าเหตุต่างๆที่มาเป็นปัจจัยแก่กันและกันหรือประกอบกันให้เกิดขึ้นเท่านั้น จึงเกิดการแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัยที่มาประชุมกันเท่านั้น

        หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็ได้ว่า มีตัวตน  คือตัวตนแม้มีอยู่ก็เพียงแค่ขณะหนึ่งๆ แต่ตัวตนนั้นไม่มีแก่นแกนอย่างถาวรแท้จริง  ตัวตนที่เห็น หรือความรู้สึกว่าเป็นตัวตนที่ผัสสะได้ด้วยอายตนะใดๆก็ตามทีนั้น ล้วนเป็นเพียงกลุ่มก้อนหรือมวลรวมหรือก้อน(ฆนะ)ของเหล่าเหตุต่างๆที่มาเป็นปัจจัยกัน กล่าวคือมาประชุมปรุงแต่งกันขึ้นนั่นเอง ชั่วขณะหนึ่งๆ  ตัวตนนั้นๆจึงล้วนอิงหรือขึ้นอยู่กับเหตุที่มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นมานั้นๆ อันเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบันธรรม กล่าวคือ เป็นไปตามธรรมที่ว่า ธรรมใดล้วนเกิดแต่มาแต่เหตุนั่นเอง  หรือขึ้นตรงต่อเหตุนั่นเอง  จึงล้วนไม่ได้อิงหรือขึ้นกับใครๆหรือตัวตนที่หมายถึง"ของเราเอง,ของตนเอง"  เพราะโดยปรัตถ์แล้วย่อมไม่มีใครสามารถไปเป็นเจ้าของในสิ่งที่ไม่มีตัวตนอย่างแท้จริงได้    เมื่อไม่ใช่ตน ของตน หรือของเราเองอย่างแท้จริง เราเองจึงย่อมควบคุมบังคับบัญชามันไม่ได้อย่างแท้จริงอีกด้วย  เป็นหนึ่งในพระไตรลักษณ์ หรือสามัญญลักษณะ ที่อกาลิโกยิ่งนัก คือไม่จำกัดกาลคือไม่ขึ้นต่อกาลเวลา กล่าวคือเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้นอยู่ทุกกาลสมัย ตลอดกาลนาน

        อนัตตาเป็นธรรมที่มีการถกเถียงเป็นที่วิจิกิจฉากันอยู่เนืองๆตลอดมาทุกยุคทุกสมัย ในความที่ว่ามีตัวตน หรือไม่มีตัวตน  เป็นเหตุให้การเจริญวิปัสสนาให้เข้าใจในธรรมอันคืออนัตตาเป็นไปอย่างถึงแก่นถึงแกนได้ยาก,  บ้างก็กล่าวกันว่า มีตัวมีตน จักไม่มีตัวตนได้อย่างไร? ก็ตัวตนของตนบัดนี้ก็ทั้งเห็นๆ ทั้งสัมผัสกันอยู่  อีกทั้งสั่งอะไรในตนเช่นหันหน้าก็หันไปตามเราสั่ง ฯ.,  บ้างก็กล่าวอ้างสอนกันผิดๆไปว่า นิพพานเป็นอัตตาก็ยังมี,  บ้างก็กล่าวอ้างว่ากันตามครูบาอาจารย์หรือตำรา,ยกพุทธพจน์หรือแม้พระสูตรก็มีไปว่า ไม่มีตัวไม่มีตน   แต่ทั้งปวงก็มักล้วนเป็นการยึดมั่นยึดถือตามคำบอกกล่าว หรือตามตำราหรือคัมภีร์ ที่สืบทอดกันต่อๆมา กล่าวคือ ไม่เคยเจริญวิปัสสนาโดยการโยนิโสมนสิการอย่างจริงจังและยิ่งยวดในพระอนัตตา ให้เข้าใจแจ้งชัดหรือแจ่มแจ้งด้วยตนเองตามหลักกาลมสูตรของพระองค์ท่านเลย  หรือกล่าวได้ว่า ยังไม่เคยเกิดธรรมสามัคคีในพระไตรลักษณ์หรือพระอนัตตา  ทีมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ เมื่อไม่มีตัวตนจริง จึงเข้าไปครอบครองเพื่อเป็นเจ้าของมันไม่ได้  "จึงควบคุมบังคับบัญชามันไม่ได้"

บัดนี้ จักเป็นการกล่าวถึงพระอนัตตา ที่เป็นการจำแนกแตกธรรมกันอย่างถึงแก่นถึงแกน อย่างถึงที่สุดกันจริงๆ

 ให้เห็นอนัตตา ที่ไม่ใช่ตัวใช่ตน ไม่ใช่ของตัวของตน หรือไม่มีตัวตนของตนจริง

 ทั้งๆที่อาจผัสสะหรือแลเห็นตัวตนนั้นๆอยู่ 

อันจักเป็นการแลเห็นได้ด้วยปัญญาจักขุเท่านั้น

ว่าตัวตนหรือแม้ธรรมทั้งมวล  ล้วนเป็นเพียงตัวตนของเหล่าเหตุ ที่มาเป็นปัจจัยกัน   จึงต่างล้วนไม่ใช่ตัวตนของตนจริง

ธรรมหรือสิ่งทั้งปวงนั่น  จึงล้วนไม่ใช่เรา  เราจึงไม่ใช่นั่น  นั่นจึงไม่ตัวใช่ตนของเราอย่างแท้จริงได้

จึงกล่าวได้ว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ประชุมปรุงแต่งกันชั่วขณะหนึ่งๆ

        อันย่อมพึงมีสมถกรรมฐาน คือมีสมาธิเป็นเหตุปัจจัยเครื่องสนับสนุนในการพิจารณาธรรม จึงพึงตั้งสติ วางทิฏฐิความเชื่อความเข้าใจที่อาจไม่ตรงหรือลงรอยกันบ้างลงไปเสียก่อนสักชั่วขณะ ทําจิตทำใจให้สงบ สบาย ในระดับขณิกสมาธิ หรือใช้วิปัสสนาสมาธินั่นเอง ด้วยอาการของการสงบ ไม่ซัดส่าย ไม่สอดแส่ ไม่ส่งออกไปปรุงแต่งต่อสิ่งภายนอกต่างๆให้เกิดการผัสสะให้เกิดเวทนาต่างๆ สังขารขันธ์ต่างๆ จนว้าวุ่นใจ จนขาดกำลัง  แล้วพึงตั้งใจมั่นในการดำเนินการพิจารณาตามความเป็นจริงอย่างใช้ความคิด อย่างมีเหตุเป็นผล  ก็อาจพึงแลเห็นพระอนัตตา อันเป็นธรรมที่เห็นหรือเข้าใจให้ประจักษ์ชัดได้ด้วยตนเองได้ยากยิ่งนัก  และพึงอย่าได้น้อมเชื่อด้วยอธิโมกข์ ด้วยเชื่อถือในข้อเขียน หรือแม้จากการได้ยินได้ฟังจากครูบาอาจารย์ หรืออีกทั้งพระคัมภีร์ทั้งพระไตรปิฎกที่ล้วนจารึกกล่าวขาน  แต่พีงพิจารณาโดยแยบคายแบบมีเหตุมีผลด้วยตนเอง  จึงจักบังเกิดผลให้เห็น(เข้าใจ)เป็นอัศจรรย์เมื่อเกิดธรรมสามัคคี

        ความจริงแล้วแก่นของพระอนัตตาอาจกล่าวได้ว่า ความสำคัญอยู่ที่ความไม่มีหรือไม่เป็นแก่นแกนอย่างแท้จริง กล่าวคือ ไม่มีตัวตนของตนแท้จริง หรือไม่ใช่ตัวใช่ตนของเขาอย่างแท้จริง นั่นเอง  สามารถกล่าวได้ว่า สภาพที่มีตัวตนที่เห็นหรือผัสสะได้นั้นนั้น ไม่ใช่สภาพหรือสภาวะที่เป็นตัวตนแท้จริง แต่เกิดจากการประกอบกันขึ้นขององค์ประกอบย่อยๆในชั่วขณะระยะหนึ่งๆ  ดังนั้นจึงเป็นที่กล่าวโดยสรุปโดยย่อโดยปรมัตถ์อย่างถึงที่สุดกันโดยทั่วๆไปว่า ไม่มีตัวไม่มีตน  หรือ ไม่ใช่ตัวตนของตนจริง  ก็เพราะแม้ในสภาวะที่มีตัวตนหรือแสดงราวกับว่า"เป็นตัวตน"อยู่นั้น ก็ล้วนเป็นเพียงสภาวะของ ฆนะ เท่านั้น กล่าวคือ เป็นเพียงภาพเป็นมายาของความเป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นมวลเดียวกัน เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นชิ้นเดียวเท่านั้นเอง กล่าวคือ จึงทำให้มองไม่เห็นความเกิดขึ้นมาแต่การที่มีเหตุหรือสิ่งต่างๆนาๆ ที่มาประชุมปรุงแต่งประกอบกันหรือเป็นปัจจัยกันขึ้นนั่นเอง ที่ทำให้เกิดการรวมเป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นตัว เป็นตน แต่ล้วนเป็นมายากล่าวคือ เป็นไปได้เพียงชั่วขณะหนึ่งๆเท่านั้น  ซึ่งเพียงแลดูประหนึ่งว่าเป็นมวลรวม หรือสิ่งๆเดียวอย่างแท้จริง แต่ในตามความเป็นจริงอย่างยิ่งหรือระดับปรมัตถ์นั้น ยังคงล้วนเป็นเพียงก้อนกลุ่มที่เกิดมาแต่เหตุปัจจัยประกอบกันขึ้นเพียงชั่วขณะระยะหนึ่งๆเท่านั้น  จึงไม่ใช่ตัวตนกลุ่มก้อนแท้จริงถาวร ยังเป็นตัวตนที่เป็นเพียงโดยสมมติ หรือที่เรียกกันว่าโดยสมมติสัจจะ ดังเช่น ตัวตนของผู้เขียนนี้, ตัวตนร่างกายของท่าน ที่เป็นเพียงกลุ่มก้อนร่างกายหรือตัวตนให้แลเห็นกันอยู่นี้ ต่างล้วนเกิดแต่การประกอบกันหรือก็คือเกิดจากเหตุปัจจัยของธาตุ ๔  หรือแม้แต่ชีวิตของท่านทั้งหลาย ณ บัดนี้ก็เป็นเพียงกลุ่มก้อนของเหตุปัจจัยของเบญจขันธ์หรือขันธ์ทั้ง ๕ ที่ได้มาประชุมปรุงแต่งกันขึ้นในชั่วขณะเพียงระยะหนึ่งๆเท่านั้นเอง  จึงไม่ใช่มวลหรือสิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริงถาวรอีกด้วย  แต่เกิดแรงบีบเค้นบางประการปรุงแต่งกันขึ้นมา  แต่เมื่อแรงเหล่านั้นหมดกำลังลงในที่สุด สิ่งต่างๆเหล่านั้นก็พยายามคืนสู่สภาพเดิมๆของมันโดยธรรมหรือธรรมชาติ

 ตัวตนของตนนั้น จึงไม่ใช่ตัวใช่ตนแท้จริง เป็นเพียงการประชุมปรุงแต่งกันชั่วคราวของเหตุปัจจัยต่างๆ  หรือองค์ประกอบย่อยต่างๆเข้าด้วยกัน

        ธรรม ทั้งปวงเป็นอนัตตา  คำว่าธรรมในพระไตรลักษณ์(หรือธรรมนิยาม)นี้มีความหมายถึง ธรรมหรือธรรมชาติทั้งปวง หรือพูดอย่างง่ายๆว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนสิ้น โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ไม่ว่าจะเป็น รูปธรรม  นามธรรม  โลกุตระธรรม โลกียะธรรม  สังขาร  ขันธ์ ๕  ธรรม  จิต  วัตถุ  สิ่งของ  บุญ บาป  ดี ชั่ว  แม้แต่พระนิพพาน ฯลฯ. จึงครอบคลุมทุกๆสรรพสิ่งโดยบริบูรณ์ โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆทั้งสิ้นทั้งปวง  สามารถจำแนกได้เป็น ๒ กองด้วยกัน คือ สังขตธรรม และ อสังขตธรรม  อันมีรายละเอียดที่ควรรู้อย่างยิ่งดังนี้

        ๑. สังขตธรรม  คือ เป็นธรรมชาติหรือธรรม(สิ่ง)ที่เกิดขึ้นมาจากมีเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งกันเกิดขึ้น หรือเรียกกันในอีกชื่อหนึ่งกันโดยทั่วไปว่าสังขาร   นั่นเอง เช่น รูปขันธ์หรือตัวตน  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  จิต  ความคิด  การพูด  การกระทำ  สิ่งของ วัตถุ ธาตุต่างๆ  ที่แม้แต่อะตอมๆหนึ่ง ของวัตถุธาตุทุกชนิดเพราะต่างล้วนเกิดขึ้นมาแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งของเหล่าอิเลคตรอน ที่ล้วนต้องมีอาการแปรปรวนแสดงความไม่เที่ยงด้วยอาการการวิ่งวนเวียน ไปโดยรอบๆตัวเองและเหล่าโปรตอนและนิวตรอน โดยไม่เคยหยุดหย่อน ฯลฯ.   ดังนั้นสังขตธรรมหรือสังขารจึงครอบคลุมทุกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่มีเหตุหรือสิ่งต่างๆมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรูปธรรม หรือนามธรรม, ไม่ว่าดีชั่ว, ไม่ว่าบุญบาป, ไม่ว่าโลกิยะหรือโลกุตตร ก็ตามที  ทั้งที่เป็น อดีต ปัจจุบัน อนาคต ทั้งภายในและภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่ไกลและที่ใกล้ ทั้งหมดนั้น ฯลฯ.ที่ได้ปรุงแต่งกันขึ้น  จึงพึงมีข้อยกเว้นแต่เพียงอสังขตธรรม อันคือธรรม(สิ่ง)ที่ไม่ได้เกิดแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งเท่านั้นเอง คือ บรรดาสภาวธรรม ดังเช่น ธรรมชาติทั้งหลาย พระนิพพาน ฯ.

        ดังเช่น  รูปขันธ์หรือร่างกายหรือตัวตน จึงเป็นสังขาร เพราะเกิดขึ้นมาแต่เหตุปัจจัยของมหาภูตรูป หรือธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ดังที่ได้กล่าวไว้โดยละเอียดในเรื่องพระไตรลักษณ์

        เวทนา ก็เกิดแต่เหตุ มาเป็นปัจจัยกัน จึงจักเกิดเวทนาขึ้นมาได้   มีเหตุจึงเกิดขึ้น ไม่มีเหตุก็ไม่เกิด  เป็นไปดังกระบวนธรรมต่อไปนี้

        เวทนา จึงเป็นสังขาร อันเกิดแต่เหตุเหล่านี้ มาเป็นปัจจัยกันดังนี้...........อายตนะภายนอก    กระทบกัน เช่น ตาเห็นรูป อายตนะภายใน    การกระทบกันของปัจจัยทั้ง๒ ย่อมเกิด    วิญญาณ๖   การประจวบกันของปัจจัยทั้ง ๓ ข้างต้น เรียกว่า ผัสสะ  ผัสสะ   เป็นปัจจัย จึงมี   เวทนา

        อะตอม แม้เพียงหนึ่งอะตอม ก็เป็นสังขาร เพราะเกิดแต่การปรุงแต่งของเหตุปัจจัยเช่นกัน ดังเช่น อิเลคตรอน โปรตอน นิวตรอน ตลอดจนพลังงานในรูปต่างๆ ฯ.

        โมเลกุล แม้เพียงหนึ่ง ก็เกิดแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งของอะตอมต่างๆ ดังเช่น โมเลกุลของน้ำ ก็เกิดแต่เหตุปัจจัยของอะตอมของไฮโดรเจน ๒ อะตอมร่วมด้วยอะตอมของออกซิเจนเป็นต้น ฯ.  และแต่ละอะตอมนั้น ก็ล้วนเป็นสังขารอันไม่เที่ยงอยู่แล้วนั่นเอง

        ข้าวผัด ก็เป็นสังขาร เกิดแต่เหตุอันมี ข้าว น้ำมัน เนื้อต่างๆ ไข่ กระเทียม กรรมหรือผู้ลงมือกระทำ ฯลฯ. มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นนั่นเอง

        เก้าอี้ ก็เป็นสังขาร เพราะเกิดแต่การปรุงแต่งขึ้นของเหตุปัจจัย ดังเช่น ไม้ ตะปู กาว ผู้กระทำ เลื่อย สิ่ว ฆ้อน ฯ. ดังนี้เป็นต้น  และถ้าพิจารณาโดยแยบคายก็จะเห็นอีกว่า เหตุต่างๆที่มาประชุมกันเหล่านี้ เช่น ไม้ ตะปู กาว เลื่อย สิ่ว ฯลฯ. เหล่านี้ทั้งปวงก็ล้วนเป็นสังขารอีกด้วยเช่นกัน

        ดังนั้นสิ่งต่างๆที่เราผัสสะโดยอายตนะทางใดทางหนึ่งก็ตามที ไม่ว่าจักโดย ตา หู จมูก ลิ้น กาย แม้ใจ คนร่ำรวย-คนยากจน  เงินทอง  ดี-ชั่ว  สุข-ทุกข์  โกรธ-เกลียด  ชอบ-ชัง  บาป-บุญ  สวย-อัปลักษณ์  หอม-เหม็น  ฯลฯ. ก็ล้วนเป็นสังขารที่ปรุงแต่งขึ้นทั้งสิ้น

        ๒. อสังขตธรรม  คือ เป็นธรรมหรือธรรมชาติ ชนิดที่ยังไม่ได้มีการปรุงแต่งกันขึ้น จึงหมายถึง กระบวนธรรมหรือสภาวธรรมของเหล่าธรรมชาติที่ยังไม่ได้ถูกปรุงแต่งขึ้นนั่นเอง เช่น นิพพานธรรม  สภาวธรรมของฝน  สภาวธรรมของโลก  สภาวธรรมของพระอาทิตย์  สภาวธรรมของชีวิต.....ฯลฯ.  กล่าวคือ สภาวธรรมหรือธรรมชาติล้วนๆทั้งหลายทั้งปวงที่ยังไม่เกิดปรากฏการณ์ขึ้นนั่นเอง  จึงไม่ใช่แต่พระนิพพานเท่านั้น  ดังจักมีรายละเอียดจำแนกแตกธรรมแสดงในลำดับต่อไป

โยนิโสมนสิการ

        ขอยกตัวอย่างในเรื่องฝน มาพิจารณาโดยละเอียดหรือโยนิโสมนสิการกัน   ฝนนั้นย่อมเป็นธรรมอย่างหนึ่งอย่างแน่นอน  เพราะดังที่กล่าวแล้วว่า ธรรมนั้นครอบคลุมทุกๆสรรพสิ่งโดยบริบูรณ์ไม่มีข้อยกเว้นใดๆทั้งสิ้น  โยนิโสมนสิการหรือพิจารณาโดยแยบคายจะพบความจริงอีกต่อไปว่า ฝนที่กำลังตกอยู่นั้นมีสภาพเป็นธรรมชนิดสังขตธรรมหรือสังขาร   ที่ถูกปรุงแต่งขึ้นด้วยเหตุปัจจัยต่างๆเช่นสังขารทั้งปวงอื่นๆ  แต่เมื่อพิจารณาลงลึกโดยแยบคายเข้าไปอีก คือเมื่อกล่าวถึงฝนโดยปรมัตถ์หรือโดยถึงที่สุดกันจริงๆแล้ว ก็จะพบว่า ฝนนั้นมีสภาวะอีกสภาวะหนึ่งที่แอบแฝงอยู่ด้วย คือกล่าวได้ว่าฝนนั้นมีทั้งสองสภาวธรรม กล่าวคือ มีทั้งสภาวะสังขตธรรมหรือสังขาร  และสภาวะอสังขตธรรม!!!

        ฝนในสภาพหรือสภาวะสังขตธรรมหรือสังขาร นั้นหมายถึง ฝนในสภาวะหรือสภาพที่มีเหตุต่างๆ ปรุงแต่งกันขึ้น จนเป็นตัวเป็นตนชั่วขณะหนึ่งๆ คือเป็นเม็ดฝนเกิดขึ้น แล้วตกลงมาสู่พื้นโลก ที่เราท่านทั้งหลายสามารถสัมผัสคือผัสสะตัวตนของฝนกันได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งเห็นด้วยตา ทั้งดื่มทั้งอาบด้วยกาย ทั้งใช้ประโยชน์ต่างๆ  เหล่านั้นคือฝนในสภาพที่เป็น "สังขาร" อันถูกปรุงแต่งด้วยเหตุปัจจัยต่างๆจนเกิดขึ้นแล้วนั่นเอง จนเป็นตัว เป็นตน เป็นเม็ดฝนตกลงมา  เหตุหรือสิ่งที่มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นมานั้นก็มีมากมาย อาทิเช่น นํ้าจากแหล่งต่างๆ๑  พระอาทิตย์๑  ความร้อน๑  การระเหย๑  ฝุ่นละออง๑  การรวมตัวกัน๑  ความแตกต่างของอุณหภูมิ๑  การควบกลั่น๑  แรงดึงดูดของโลก๑ ฯลฯ.  ฝนจึงมีสภาพเป็น "สังขาร" กล่าวคือ เป็นสิ่งที่ถูกเหตุหรือสิ่งต่างๆมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นมา จึงเป็นสังขตธรรมหรือสังขารอย่างหนึ่งนั่นเอง  ดังนั้นย่อมต้องอยู่ภายใต้ธรรมนิยามหรือกฎพระไตรลักษณ์ ที่พระองค์ท่านได้กล่าวไว้ว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง   สังขารทั้งปวงเป็นทุกขังคือทนอยู่ไม่ได้ จึงดับไปเป็นที่สุด   ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาไม่มีตัวตนเป็นแก่นแกนแท้จริง" เพราะตัวตนของน้ำฝนแท้จริงก็ไม่มี เป็นการประกอบกันขึ้นด้วยอะตอมของ H & O คือ H2O  จึงครอบคลุมทั้ง ๓ ข้อของพระไตรลักษณ์  เมื่อโยนิโสมนสิการโดยแยบคายต่อไป ก็จะพบความเป็นจริงยิ่งในพระไตรลักษณ์ ย่อมเห็นสังขารธรรมของฝนเหล่านี้ว่า เมื่อได้ตกลงมาแล้วย่อมไม่เที่ยง(อนิจจัง)แปรปรวนไปมา กล่าวคือ เมื่อสังขารปรุงแต่งนี้คือฝนได้ตกลงมาแล้ว สังขารปรุงแต่งฝนนี้ย่อมมีอาการแปรปรวนของความไม่เที่ยง ตกหนักบ้าง เบาบ้าง แล้วในที่สุดก็หยุดตกหรือดับไปเป็นธรรมดาหรือทุกขัง ไม่สามารถตกหรือคงทนอยู่ได้ตลอดไปในสังขารที่ปรุงแต่งเกิดขึ้นมาในแต่ละคราครั้งหนึ่ง หรือชั่วขณะหนึ่งๆเท่านั้น  ดังนั้นตัวตนของฝนที่ตกลงมา ที่ใครก็ว่าเป็นฝน ที่เห็นได้ด้วยตา ที่สัมผัสได้ด้วยกาย ที่เมื่อโดนสิ่งใดก็เปียก ที่ใช้ดื่มที่ใช้กินได้ ฯ. เหล่านั้น ย่อมทุกขังคงทนอยู่ไม่ได้ จึงต้องหยุดตกหรือหายไป และแห้งไปในที่สุด หรือที่เรียกกันภาษาธรรมโดยทั่วไปว่าความดับไปนั่นเอง  ไม่มีความเป็นตัวตนหรือสังขารนั้นที่เป็นแก่นแกนคงเหลือแสดงให้เห็นได้อีกต่อไปในที่สุด  เหล่านี้จึงแสดงสภาวะอนัตตาของฝนคือ การประกอบกันขึ้นขององค์ประกอบต่างๆ คือ สภาพที่มีตัวตนนั้นแม้มีอยู่แต่ไม่เที่ยงแท้  ทนอยู่ไม่ได้  ควบคุมบังคับไม่ได้อย่างแท้จริง  ดังนั้นในที่สุดจึงไม่มีแก่นแกนแสดงตัวตนคงเหลืออีกต่อไป  การแปรปรวนหรือดับสูญขึ้นอยู่หรืออิงอยู่กับเหล่าเหตุปัจจัยนั่นเอง  เหล่านี้จึงแสดงสภาพอนัตตาของสังขารทั้งหลายทั้งปวง ที่แม้มีตัวตน แต่ตัวตนไม่เป็นแก่นแกนแท้จริง เพียงแต่มีตัวมีตนอยู่ได้ชั่วขณะระยะหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่แก่นแกนถาวรอย่างแท้จริง ไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างแท้จริง  จึงย่อมดับสูญไปในที่สุดเป็นธรรมดา   สังขารทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งอิงอยู่กับเหตุปัจจัย เป็นไปในลักษณาการนี้เช่นกันทั้งหมดทั้งสิ้น

         ส่วนฝนในอีกสภาวะหนึ่ง ที่จะกล่าวต่อไปนี้นั้น  เป็นฝนในสภาวะ อสังขตธรรม คือธรรมหรือสิ่งที่ไม่ได้เกิดแต่เหตุปัจจัย จึงหมายถึงกระบวนธรรมหรือสภาวธรรมล้วนๆ หรือธรรมชาติของการจะเกิดขึ้นแห่งฝน กล่าวคือ ยังไม่มีการสังขาร หรือก็คือ ยังไม่มีเหตุมาปรุงแต่งกันให้เกิดสภาวะของสังขารคือฝนนั้นๆขึ้นนั่นเอง  กล่าวคือ ยังไม่เกิดเป็นปรากฎการณ์ขึ้น เป็นตัวเป็นตน เป็นเม็ดฝนตกลงมา  ยังคงเป็นเพียงกระแสธรรมหรือสภาวธรรมชาติล้วน ที่ยังไม่มีการปรุงแต่งกันแต่อย่างใด  หรือจะเรียกแบบทางโลกว่ายังเป็นเพียง ทฤษฎี ก็ได้   จึงเป็นธรรมล้วนๆ จึงเป็นของสูญอยู่ ยังไม่มีตัวตนอันเกิดจากการปรุงแต่งขึ้น   อสังขตธรรมทั้งปวงจึงอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์หรือธรรมนิยามเพียงข้อเดียวคืออนัตตาเท่านั้น   เพราะอสังขตธรรมเหล่านี้ไม่อยู่ภายใต้กฎของอนิจจังความไม่เที่ยง กล่าวคือ คงเป็นไปดังนี้ตามธรรมหรือธรรมชาติ กล่าวคือ ยังคงเกิดสภาวธรรมของการเกิดฝน คงมีสภาวธรรมเยี่ยงนี้เป็นธรรมดา และไม่มีใครไปควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างแท้จริงแน่นอน   อสังขตธรรมเหล่านี้ไม่เป็นทุกขังที่หมายถึงสภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้  เหตุเพราะไม่ได้เกิดการปรุงแต่งขึ้น จึงย่อมยังไม่มีการดับปเป็นธรรมดา   เป็นเพียงสภาวธรรม  สภาพนี้จึงคงทนอยู่ได้ทุกกาล   เพราะความเป็นธรรมหรือธรรมชาตินั่นเอง  นั่นคือ ย่อมไม่สามารถดับ อสังขตธรรม ของฝนหรือ ธรรมชาติของการเกิดขึ้นและเป็นไปของฝน กล่าวคือ จะไม่ให้เกิดสภาวะ สังขารของฝน ที่ตกลงมาอีกต่อไป ย่อมเป็นไปไม่ได้  ไม่มีผู้ใดมีอำนาจไปควบคุมบังคับเปลี่ยนแปลงมันได้อย่างแท้จริงและแน่นอน กล่าวคือ ยังคงมีสภาวธรรมหรือกระแสธรรมหรือธรรมชาติของการจะเกิดขึ้นของฝนเยี่ยงนี้ อยู่อย่างเที่ยงตรง และคงทนอยู่ตลอดไป ตราบใดที่ยังมีเหตุเป็นปัจจัยกันดังนั้น เป็นเช่นนี้ไปตลอดกาลนาน หรืออกาลิโก ไม่ขึ้นอยู่กับกาล(เวลา)

จึงกล่าวสรุปได้ดังนี้ว่า

         สังขารหรือสังขตธรรม  เป็นสิ่งที่เกิดแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้น  ที่ถ้าแม้มีตัวมีตน ก็ไม่ใช่ตัวใช่ตนที่เป็นแก่นแกนอย่างแท้จริง เพราะความเป็นสูญ หรือดับสูญสลายไปเป็นที่สุด

         อสังขตธรรม  เป็นกระบวนการ หรือสภาวธรรม หรือธรรมชาติที่เป็นไปเยี่ยงนี้เอง แต่ยังไม่ได้ปรุงแต่งกันขึ้น จึงย่อมไม่มีตัวไม่มีตน หรือมีสภาวะเป็นสูญโดยสภาวะของมันอยู่แล้ว

จึงสรุปโดยปรมัตถ์ว่า

ธรรมคือสิ่งทั้งปวง ล้วนอนัตตา

         หรือดังเงา ที่กล่าวแสดงไว้ในเรื่อง"จิตคืออะไร? อยู่ที่ไหน?"  ถ้าถามว่ามีเงาไหม ก็ต้องตอบกันว่ามี ก็เพราะเห็นกันได้อยู่อย่างตำตา ตำใจ  ซึ่งถึงจะมีก็จริงอยู่ แต่ก็อยู่ในสภาวะอนัตตาที่ไม่มีตัวตน ไม่มีตัว ไม่มีตนของมันเองอย่างแท้จริง  ที่แม้สามารถผัสสะเงาได้ด้วยตา  เป็นไปตามกฏพระไตรลักษณ์ นั่นเอง  เพราะเงาทั้งปวงล้วนเกิดขึ้นมาแต่เหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยกัน หรือเป็นไปตามปฏิจจสมุปบันธรรม กล่าวคือเมื่อมีเหตุมาเป็นปัจจัยกันก็เกิดขึ้น เมื่อเหตุดับไปเงาก็ดับไป และเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนของตนจริง  กล่าวคือ เกิดขึ้นชั่วขณะๆจากการประกอบกันขึ้นขององค์ประกอบย่อยๆ ดังนี้คือ วัตถุทึบแสง ๑,  แสงหรือแสงแดด ๑, พื้นที่รับการตกกระทบของแสง ๑  คือเหตุทั้ง ๓ ที่มาเป็นปัจจัยแก่กันและกันจนเกิดเงาขึ้น   

เงา นั้นก็ไม่มีใน วัตถุทึบแสง          

เงา นั้นก็ไม่มีใน แสงหรือแสงแดด   

เงา นั้นก็ไม่มีใน พื้นที่รับแสง          

กล่าวคือเมื่อเหตุทั้ง ๓ มาเป็นปัจจัยแก่กันและกัน คือเมื่อ วัตถุทึบแสง >> มาบังกั้น >> แสง >> ที่ตกกระทบบน >> พื้นที่รับแสง  เหตุดังกล่าวย่อมเป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร-สิ่งที่ถูกเหตุดังกล่าวปรุงแต่งขึ้น ที่เราเรียกกันว่า เงา ขึ้น  อันย่อมต้องเกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติเช่นนี้เองเป็นธรรมดา กล่าวคือมื่อมีเหตุปัจจัยกันแล้ว จะไปห้ามไม่ให้เกิดไม่ให้มี ก็ไม่ได้   โยนิโสมนสิการโดยแยบคายต่อไปก็จะพบว่า เมื่อเหตุต่างๆอันคือวัตถุทึบแสง, แสง, พื้นที่รับแสง ที่เป็นเหตุมาเป็นปัจจัยแก่กันและกันชั่วขณะหรือในระยะหนึ่งเหล่านั้น ที่เมื่อเหตุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีอาการแปรปรวนอันใด หรือดับหรือสูญไป เช่น แสง หรือวัตถุทึบแสง หรือพื้นที่รับแสงก็ตามที  เงาที่เกิดขึ้นมานั้น ย่อมต้องเกิดอาการไม่เที่ยงแปรปรวน หรือดับไปตามเหตุนั้นๆด้วย  อันเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรม  เงาอันเป็นผลเกิดการปรุงแต่งเป็นสังขาร จึงย่อมต้องมีการแปรปรวน หรือแม้แต่การเกิดดับๆๆๆ...เป็นไปตามเหตุปัจจัยดังกล่าว ภายใต้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยงแปรปรวน จึงทนอยู่ไม่ได้จึงต้องดับไปเป็นที่สุด ไม่มีตัวตนแท้จริง ทั้งๆที่เห็นตัวตนอยู่  สังขารทั้งหลายก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน จึงก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้ไปอยากไปยึดในสังขารด้วยตัณหา หรือผู้ไปไปยึดในสังขารว่าเป็นของตัวของตนด้วยอุปาทาน

         เมื่อเห็นเงา พึงนำเงามาพิจารณาโดยแยบคายเสมอๆว่า เป็นสังขารสิ่งที่ถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นชนิดหนึ่งดังกล่าวข้างต้น   จึงย่อมต้องเป็นไปตามกฎพระไตรลักษณ์ เกิดแต่เหตุมาเป็นปัจจัย มาเนื่องสัมพันธ์กัน ชั่วขณะหรือระยะหนึ่งเท่านั้น กล่าวคือ เมื่อมีเหตุมาเป็นปัจจัยกันก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา  จึงมีความไม่เที่ยง คงทนอยู่ไม่ได้ ต้องดับไปเป็นที่สุด  และเป็นอนัตตาไม่เป็นแก่นไม่เป็นแกนอย่างแท้จริง เพราะคงทนอยู่ไม่ได้ และควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ตามใจปรารถนา  ล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปตามหลักเหตุและผลอิทัปปัจจยตา หรือหลักปฏิจจสมุปบันธรรม

         ดังนั้นสังขารทั้งปวงจึงเป็นทุกข์ในที่สุด ถ้าไปอยากหรือไม่อยากด้วยตัณหา หรือยึดไว้ว่าเป็นของตนด้วยอุปาทาน ก็เนื่องมาจากการคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้ ต้องเสื่อม มีการแปรเป็นอื่น การสูญเสีย ดั่งนี้นี่เอง

         เมื่อมากล่าวถึงเงาในฐานะอสังขตธรรม กล่าวคือ สภาวธรรมหรือธรรมหรือธรรมชาติของการเกิดขึ้นของเงา กล่าวคือ ถ้าเมื่อใดที่มีสภาวะของเหตุปัจจัยดังกล่าวข้างต้นขึ้น ย่อมต้องเกิดสังขารสิ่งปรุงแต่งของเงาขึ้นเป็นธรรมดา ไม่เป็นอื่นไปได้  กล่าวได้ว่า เที่ยงอย่างยิ่งหรือเป็นจริงเป็นอย่างยิ่ง  สภาวธรรมนี้คงทนเยี่ยงนี้อยู่ในทุกกาล(อกาลิโก)  แต่ก็เป็นอนัตตา กล่าวคือ ป็นเพียงธรรมหรือสภาวธรรมอันยังไม่ได้เกิดปรากฎการณ์ของความเป็นเหตุปัจจัยจนเป็นตัวตนขึ้น

         โยนิโสมนสิการโดยแยบคาย ก็จะได้ความรู้ความเข้าใจต่อไปว่า

         สังขตธรรม(สังขาร)  จึงแสดงสภาพที่มีตัวมีตน และสภาพที่ไม่มีตัวมีตน  แต่ก็ต่างล้วนเป็นอนัตตา คือความที่ตัวตนนั้นๆไม่เป็นแก่นไม่เป็นแกนหรือสาระอย่างแท้จริง  เพราะแม้ในสภาวะที่มีตัวตนนั้นก็เป็นไปแบบไม่ถาวรนั่นเอง มีแค่ขณะที่เหตุปัจจัยยังประชุมหรือเป็นปัจจัยกันอยู่ชั่วขณะๆ  ดังนั้นเมื่อกล่าวอย่างปรมัตถ์ตามเป็นจริงอย่างถึงที่สุด จึงต้องกล่าวว่า ม่มีตัวไม่มีตนแท้จริง  หรือไม่มีตัวตนของตนจริง

                ในสภาพที่มีตัวตนหรือสังขาร ก็ดังฝนหรือเงาดังที่กล่าวข้างต้น กล่าวคือ ฝน สามารถสัมผัสรู้ได้ด้วยตา(อายตนะ ๕) ด้วยกาย จึงรู้ได้ด้วยใจ  เงานั้นที่กล่าวว่าตำตาตำใจ คือ สามารถสัมผัสรู้ได้ด้วยตา จึงรู้ได้ด้วยใจ  สรรพสิ่งๆต่างทั้งหมดทั้งสิ้น ตั้งแต่อะตอม โต๊ะ เก้าอี้ เพชร พลอย วัตถุ สิ่งของ ฯลฯ,

                ส่วนในสภาพที่เป็นสังขารเกิดแต่เหตุปัจจัย แต่ไม่มีตัวตน เพียงรู้ได้ด้วยใจ ดังเช่น จิต เวทนา สัญญา สังขารขันธ์ วิญญาณ ฯลฯ  เป็นเฉกเช่นดังเงาที่มีสภาวะของการเกิดดับ...เกิดดับๆ... ดังเช่น เงาที่เกิดแต่เหตุปัจจัยครบองค์ จึงเกิดขึ้น แล้วก็ดับไปเมื่อเหตุปัจจัยมีอาการแปรปรวนหรือดับไปนั่นเอง จึงอยู่ในสภาพดังที่กล่าวว่า เกิดดับๆๆ....  แต่ไม่มีตัวตนเป็นแก่นแกนอย่างแท้จริงเลย

         ส่วนอสังขตธรรมนั้นเป็นเพียงสภาวะ หรือสภาวธรรม หรือธรรม หรือธรรมชาติ จึงเป็นอนัตตาไม่มีตัวไม่มีตนอยู่แล้วโดยธรรมหรือธรรมชาติอยู่แล้ว แต่มีความเที่ยง และคงทนต่อทุกกาล ดังเช่น ธรรมชาติของความตาย, สภาวธรรมของเงาคือธรรมชาติของเงา  แม้แต่พระนิพพานธรรม  ด้วยเหตุดังนี้นี่เอง อสังขตธรรมจึงเป็นธรรมดังเช่นคำกล่าวที่ว่า อกาลิโก เช่นกัน

         ในเรื่องของสภาวธรรมของความตายนั้นเป็นอสังขตธรรม จึงมีความเที่ยง คงทนต่อทุกกาล(อกาลิโก)  เพียงแต่เมื่อกล่าวถึงสภาวะที่เป็น"สังขาร"กล่าวคือ เมื่อเป็นปัจจัยปรุงแต่งของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้ว เช่น ความตายของผู้เขียน(webmaster)ดังนี้ ความตายของผู้เขียนเองย่อมอยู่ในสภาวะของสังขารที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาแล้วจากขันธ์ทั้ง ๕ จึงย่อมมีความไม่เที่ยง ความตายเกิดขึ้นเมื่อใดก็ไม่รู้ได้ ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้อย่างแท้จริง จึงคงทนอยู่ไม่ได้จึงต้องดับไปที่หมายถึงเกิดการตายขึ้นเป็นที่สุด  จึงแสดงความเป็นอนัตตาเป็นที่สุด

         อนัตตาและพระไตรลักษณ์ จึงเป็นธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อให้พิจารณาหรือวิปัสสนาเพื่อให้เกิดสัมมาญาณ ความเข้าใจหยั่งรู้อย่างแจ่มแจ้งในสังขารทั้งปวงอย่างถึงที่สุด(ปรมัตถ์)  เพื่อที่ผู้เห็นเข้าใจเกิดความรู้เแจ้งจนเกิดนิพพิทาญาณ กล่าวคือ เกิดปัญญาจากการไปรู้เห็นตามความเป็นจริง จึงเกิดความเบื่อหน่าย จึงย่อมเกิดความคลายกำหนัดไม่ไปอยากด้วยตัณหาในสังขารหรือสิ่งต่างๆ  หรือไม่ไปยึดไว้ด้วยอุปาทานในสิ่งต่างๆ ว่าเป็นตัวตน หรือของตัวของตนอย่างยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลส  หรือให้คลายจากการไปยึดไปอยากลงเสียบ้าง เมื่อเล็งเห็นว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันหมายถึงสังขาร ล้วนมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เป็นทุกข์เพราะความคงทนอยู่ไม่ได้จนดับไปเป็นที่สุด(ทุกขัง)เป็นธรรมดา  ดังนั้นเมื่อไปอยากด้วยตัณหาหรือไปยึดด้วยอุปาทาน ย่อมเป็นทุกข์อุปาทานอันเร่าร้อนเผาลนทั้งกายและใจ และแม้จะสมหวังดังใจปรารถนาในบางครั้งก็ตามที ก็ยังให้เกิดทุกข์ขึ้นเป็นที่สุดอยู่นั่นเองเพราะอาสวะกิเลส จึงล้วนเกิดขึ้นเป็นไปตามปฏิจจสมุปบาทธรรมนั่นเอง นอกจากนั้นแล้วยังไม่มีตัวไม่มีตนที่ถาวร เป็นแก่นแกนแท้จริงให้ควบคุมบังคับเป็นธรรมดา กล่าวคือ ถ้าในสภาวะมีตัวตนขณะนั้นก็ล้วนไม่เที่ยงคงทนอยู่ไม่ได้อย่างแท้จริง เพราะเกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมปรุงแต่งกันระยะหนึ่งเท่านั้น  เมื่อเหตุปัจจัยเหล่านั้นมีอาการแปรปรวนด้วยอาการใดๆ  สังขารเหล่านั้นจึงย่อมต้องแปรปรวนดับไปตามเหตุปัจจัยเหล่านั้นเช่นกัน   ยิ่งในอสังขตธรรมอันเป็นเพียงสภาวะหรือสภาวธรรมไม่มีตัวไม่มีตนอยู่แล้ว เมื่อไปอยาก ไปยึด ไปควบคุมในอสังขตธรรมเหล่านั้น ซึ่งไม่มีตัวไม่มีตนให้บังคับบัญชาได้ จึงย่อมไม่มีทางสมปรารถนา  จึงยิ่งไม่สามารถไปควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาได้  เมื่อไปยึดหรืออยากจึงเป็นทุกข์ในที่สุดอยู่รํ่าไป

สังขารหรือสังขตธรรม จึงมีทั้งชนิดที่แสดงตัวตน  และไม่แสดงหรือไม่มีตัวตน  แต่ล้วนอนัตตาไม่ใช่ตัวใช่ตนแท้จริง

         จิต  เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์  สังขารขันธ์  วิญญาณขันธ์ ฯ. เหล่านี้ก็ล้วนเป็นสังขตธรรมหรือสังขารชนิดที่ถูกเหตุปัจจัยต่างๆปรุงแต่งกันขึ้น  และเป็นชนิดไม่มีตัวไม่มีตน  ไม่เป็นแก่นแกนถาวรแท้จริง จึงควบคุมบังคับอย่างแท้จริงไม่ได้   ซึ่งล้วนเป็นนามธรรม ไม่มีตัวตนก็จริงอยู่ แต่เกิดขึ้นแต่เหตุปัจจัยมาปรุงแต่งกันล้วนสิ้น  ดังแสดงในเรื่องขันธ์ ๕ อยู่เนืองๆ

         ส่วนกายหรือรูปขันธ์นั้นก็เป็นสังขตธรรม หรือสังขารชนิดที่เกิดแต่การถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้นเช่นกัน  คือ เกิดแต่ ธาตุ ๔  จึงอิงหรือขึ้นอยู่กับธาตุ ๔   มีตัวตนก็จริงอยู่ แต่เป็นเพียงมวลหรือก้อนของธาตุ ๔ จึงไม่เป็นแก่นแกนอย่างถาวรแท้จริง  และไม่ใช่ของตัวของตนที่หมายถึงเราหรือของเราอย่างแท้จริงนั่นเอง  จึงมีสภาพที่ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้อย่างแท้จริง  ไม่เที่ยง  เป็นไปเพื่อแปรปรวน อาพาธ เจ็บป่วย  ทุกข์เพราะสภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้  จึงต้องดับไปเป็นที่สุด จึงเป็นอนัตตาเช่นกัน   บางครั้งดุจดั่งควบคุมบังคับได้ ทำให้หายเจ็บ หายแก่ หายป่วยได้เป็นครั้งคราว จนเกิดมายาจิตหลงคิดหลงยึดว่าอยู่ภายใต้อำนาจของตัวตนเอง แต่ตามความเป็นจริงอย่างยิ่งนั้น เมื่อธาตุใดธาตุหนึ่งซึ่งก็ต่างล้วนมีอาการแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่สุดคือแตกสลายดับไปเป็นธรรมดา  จึงต้องกลับคืนสู่สภาพของธาตุทั้ง ๔ เป็นที่สุดเป็นธรรมดา  ดังนั้นกายที่แม้มีอยู่ในบัดนี้ แต่ก็เป็นแค่ขณะหนึ่ง จึงกลับคืนสู่สภาพไม่มีตัวไม่มีตนตามตามความเป็นจริงอย่างที่สุดหรือปรมัตถ์ จึงกล่าวกันโดยปรมัตถ์ว่า ไม่มีตัวตนเช่นกัน

อสังขตธรรม จึงเป็นเพียงธรรม หรือสภาวะ หรือสภาวธรรม หรือธรรมชาติ

         อสังขตธรรม   หรือสภาวธรรม  หรือธรรมชาติ  นั้น จึงเป็นเพียงธรรมหรือสภาวะ คือยังไม่เกิดปรากฏการณ์ของการปรุงแต่งขึ้น  จึงย่อมยังไม่มีการปรุงแต่งเป็นเหตุปัจจัยกันต่างๆให้เกิดขึ้นในขณะหนึ่งๆ จึงย่อมยังไม่มีตัว ไม่มีตนอย่างแน่นอน  แล้วจะไปควบคุมบังคับบัญชาเขาได้อย่างไร?  ตรงไหน?  จึงแสดงสภาวะที่ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้อย่างแจ่มแจ้ง   เป็นเพียงสภาวธรรม  หรือธรรมชาติ ล้วนๆ    ลองพิจารณาตามความเป็นจริง จะเห็นได้ว่าไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของ หรือไปควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างถาวรเลย   เป็นจริงอยู่เยี่ยงนี้   คงสภาพของมันอยู่เยี่ยงนั้น   กล่าวคือแม้เป็นอนัตตา   แต่มีความเที่ยง   และคงทนต่อทุกกาลเวลา อยู่เยี่ยงนั้น    หรือมันเป็นเช่นนั้นเอง   หรือ เป็นธรรมดา   (ตถตา)  ดังเช่น สภาวธรรมการเกิดขึ้นและเป็นไปของฝน เมื่อเกิดเหตุปัจจัยคือ การระเหย ความชื้น อุณหภูมิ การควบกลั่น ฯ. ต่างๆครบองค์ ก็ย่อมเกิดสังขารของฝน ตกลงมา แม้เป็นตัวตนให้เห็นหรือสัมผัสได้แต่ก็เป็นอนัตตา เพราะย่อมแหยุดตก และแห้งเหือดหายไปเช่นกัน ไม่มีตัวตนแท้จริงอีกเช่นกัน   ส่วนสภาวะธรรมของฝนนั้นเป็นการกล่าวถึงหรือทางทฤษฎีเท่านั้น จึงยังไม่มีการปรุงแต่งใดๆเกิดขึ้นจริง แล้วจะเกิดตัวตนขึ้นมาได้อย่างไร สภาวะธรรมทั้งปวงเช่นดังนี้ จึงล้วนย่อมเป็นอนัตตาโดยแท้ เช่น สภาวธรรมของเงาหรือธรรมชาติของเงา สภาวธรรมของชีวิตหรือธรรมชาติของชีวิต  สภาวธรรมของความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่ชอบ  การปรารถนาในสิ่งใดไม่ได้ในสิ่งนั้น ฯลฯ. มีผู้ใดไปควบคุมบังคับบัญชาอย่างแท้จริงได้บ้าง   ยังคงเกิดขึ้นและ เป็นไปเยี่ยงนี้อย่างปรมัตถ์  มีสภาพที่เที่ยงแท้ และคงทนต่อทุกกาลเวลา  ดังนั้นถึงจะกราบไหว้  อ้อนวอน   สักการะบูชาด้วยลาภสักการะสักเท่าใดก็ตาม  ก็ย่อมไม่มีวันที่จะควบคุมบังคับได้ตามปรารถนาตลอดไป   เพียงแต่บางครั้งเมื่อกระทำลาภสักการะไปแล้ว อาจบังเอิญหรือประจวบเหมาะหรือครบองค์ประกอบของเหตุปัจจัย ซึ่งไปตรงกับใจปรารถนา  ทั้งที่ตามความเป็นจริงอย่างปรมัตถ์แล้วกลับเกิดขึ้นและเป็นไปตามปรารถนาก็เพราะความเป็นไปตามเหตุปัจจัย   ที่ได้ทำเกิดขึ้นต่างหาก  แต่ด้วยอวิชชาความไม่รู้   จึงเกิดโมหะ การคิดปรุงแต่ง ด้วยอวิชชา เข้าใจไปว่า การบนบานอ้อนวอนบูชายังให้สัมฤทธิ์ผล  จึงเกิดความเชื่อความยึดในสิ่งนั้นๆว่า เป็นผู้กระทำ หรือผู้ส่งผลสำเร็จให้อย่างอธิโมกข์ คือยิ่งงมงายด้วยอวิชชา เป็นทิฏฐุปาทานหรือสีลัพพตุปาทาน  ดังนั้นวิธีแก้ไขที่ถูกต้องจึงควรเป็นไปในการแก้ที่เหตุ เข้าใจเหตุผลคือเหตุปัจจัย  จึงประกอบกรรมดีอันย่อมได้รับผลของกรรมดีนั้นในที่สุด  เพราะมันต้องเป็นเช่นนั้นเอง  (ตถตา)  อันเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรมนั่นเอง

         ดังนั้นเมื่อมีการกล่าวว่าเป็นธรรม  สภาวธรรม  ธรรมชาติ  กระแสธรรม หรือนิพพาน  จึงหมายถึง อสังขตธรรม  และพึงเข้าใจด้วยว่าสิ่งเหล่านี้ ล้วนมี ความเที่ยง  คงทนอยู่ได้ทุกกาล  และเป็นอนัตตาไม่มีตัวตนที่เป็นแก่นแกนแท้จริงเช่นธรรมทั้งปวง

อนัตตา คำจำกัดความ มีความหมายเดียวกัน แต่พอจำแนกความหมายเพื่อการพิจารณาได้เป็น

         อนัตตา - ไม่ใช่ตัวใช่ตน หมายถึง ธรรมหรือสิ่งทั้งปวงล้วนไม่ใช่ตัวใช่ตน  ตัวและตนนี้มีหมายถึงความเป็นเราหรือของเรา  ดังเช่นรูปขันธ์หรือกายของท่านทั้งหลายทั้งปวง ในขณะนี้ ล้วนมีตัวตน แต่เป็นเพียงกลุ่มก้อนมวลรวมของธาตุ ๔ ที่มาเป็นเหตุปัจจัยประชุมปรุงแต่งกันขึ้นเป็นรูปกายขึ้นขณะหนึ่งเท่านั้น  กายจึงขึ้นหรืออิงอยู่กับธาตุทั้ง ๔,  สังขารทั้งปวงก็เช่นกัน  จึงไม่ได้ขึ้นหรืออิงอยู่กับเราท่านทั้งหลาย  เราท่านทั้งหลายจึงไม่ใช่เจ้าของกายหรือสังขารอื่นๆอย่างแท้จริง ดังเช่น กายเพียงแลดูประหนึ่งว่าเป็นเราหรือของเรา  แต่ควบคุมบังคับบัญชาใดๆไม่ได้อย่างแท้จริงเลย  ควบคุมบังคับบัญชาดังเช่นว่า เจ้าจงอย่าแก่ เจ้าจงอย่าเจ็บ เจ้าจงอย่าป่วย เจ้าจงอย่าตาย ฯ. (ไม่ใช่การบังคับบัญชาแบบ ซ้ายหัน ขวาหัน อันแท้จริงเป็นเพียงสังขารขันธ์ชนิดกายสังขารคือการกระทำทางกายอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง)

         อนัตตา - ไม่มีตัวมีตน หมายถึง ธรรมหรือสิ่งทั้งหลายล้วนไม่มีตัวตน ของมันเองอย่างแท้จริง  ตัวตนทั้งหลายที่เห็นหรือผัสสะได้ด้วยอายตนะใดๆก็ตามที  ล้วนเป็นเพียงมายาของกลุ่มก้อนหรือมวลรวมหรือแท่งหรือก้อน(ฆนะ)ของเหตุหรือสิ่งต่างๆ ที่มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นทั้งสิ้น เกิดขึ้นชั่วขณะระยะหนึ่งๆ  เพราะย่อมถูกบีบคั้นให้ต้องคืนสู่สภาวะเดิมๆก่อนมีการปรุงแต่ง ด้วยแรงต่างๆอันเป็นธรรมชาติหรือวิสัยของโลกนั่นเอง

 

อนัตตา โดยปรมัตถ์

ธรรม กล่าวคือ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงทั้งสิ้น  ล้วนเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวใช่ตน อย่างแท้จริง

จึงไม่ใช่ตัวตนของเรา   เพราะความจริงเป็นตัวตนที่เกิดมาแต่เหตุปัจจัยที่ประชุมกันขึ้นมานั่นเอง

         สังขตธรรม หรือ สังขาร "จึงไม่มีตัวตนที่เป็นแก่นแกนแท้จริง"  หรืออาจกล่าวอีกนัยยะหนึ่งได้ว่า "มีตัวตน แต่ก็ไม่เป็นแก่นแท้จริงเพราะล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย  จึงควบคุมบังคับไม่ได้ตามปรารถนา เพราะย่อมต้องแปรปรวนไปตามเหล่าเหตุ อันคือเหล่าเหตุปัจจัยที่มาประชุมกันในขณะนั้นๆนั่นเอง จนต้องดับหรือถึงสภาวะไม่มีตัวไม่มีตนเป็นที่สุดเช่นกัน"  กล่าวคือ อยู่ภายใต้อนิจจังไม่เที่ยง และทุกขังสภาพที่ทนอยู่ได้ยากหรือคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้  จึงต้องดับไปในที่สุด ตัวตนแท้จริงจึงไม่มีเป็นที่สุด เมื่อคืนสู่สภาพก่อนการปรุงแต่งนั่นเอง

         อสังขตธรรม หรือธรรมอันไม่ได้เกิดแต่เหตุปัจจัย เป็นเพียงสภาวะ หรือสภาวธรรม หรือธรรมชาติ   "ย่อมไม่มีตัวตนอยู่แล้วอย่างแน่นอน   จึงย่อมไปควบคุมบังคับบัญชาสิ่งที่ไม่มี ให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้"

ข้อพึงปฏิบัติในอนัตตานุปัสสนา

         อนัตตานุปัสสนา คือ การพิจารณาเห็นในสภาพที่เป็นอนัตตา คือหาตัวตนเป็นแก่นสารมิได้  จึงมิใช่ตัวตน หรือของตัวตน หรือของใครๆ

         หมั่นพิจารณา รูป-สังขารร่างกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  ตลอดจนสังขารต่างๆที่กระทบผัสสะทางอายตนะทั้ง๖  คือผ่านทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจใดๆก็ได้ อยู่เนืองๆเสมอๆว่า  ล้วนเกิดแต่เหตุต่างๆมาเป็นปัจจัย  จึงอนิจจังไม่เที่ยง  ทุกขังคงสภาพหรือคงทนอยู่ไม่ได้จึงคงอยู่ได้ยากจึงเป็นทุกข์ถ้าไปอยากหรือไปยึด  อนัตตาไม่มีแก่นแกนตัวตนแท้จริง  กล่าวคือ พิจารณาโดยแยบคายว่าสังขารทั้งปวงเป็นไปภายใต้กฎพระไตรลักษณ์ดังนั้น จริงหรือไม่?  เป็นจริงโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ จริงหรือไม่?  เมื่อพิจารณาอย่างประจำสมํ่าเสมอหรือบ่อยๆย่อมยังให้เห็นความจริงผุดขึ้นได้ อันจักยังให้เกิดนิพพิทาญาณ อันเป็นญาณหรือปัญญาที่ทำให้พ้นทุกข์ เนื่องจากการแลเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นมายา ไม่ใช่ตัวใช่ตนแท้จริง หรือไม่มีตัวตนแท้จริง จึงไม่ควรไปยึดไปหลงให้เป็นทุกข์

         อนัตตา มีความหมายว่า ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตนบ้าง, ไม่ใช่ของตัวของตน ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราบ้าง  ความจริงต่างล้วนถูกต้องดีงาม มีความหมายเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ด้วยเนื่องสัมพันธ์กัน  กล่าวคือ

         อนัตตา ที่มีความหมายว่า ไม่มีตัวตน เพราะตัวตนหรือมวลรวมหรือฆนะคือกลุ่มก้อนที่เห็นหรือผัสสะได้ด้วยอายตนะใดๆก็ตามที ล้วนเป็นเพียงกลุ่มก้อนหรือมวลรวมของเหตุ(สิ่ง)ต่างๆที่มาปรุงแต่งเป็นปัจจัยกัน คือมาประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อนคือฆนะ ชั่วระยะหนึ่งๆเท่านั้น  จึงไม่มีตัวตน ที่เป็นของตนอย่างแท้จริง  ดังนั้นเมื่อไม่มีตัวตนที่แท้จริงแล้ว จึงย่อมไม่สามารถเข้าไปครอบครองเพื่อเป็นเจ้าของได้  จึงไม่เป็นของใครๆ หรือของเราได้อย่างแท้จริง  จึงย่อมส่งผลให้ ไม่ใช่ของตัวของตน  แม้แต่ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราในที่สุด

อนัตตา เพิ่มเติม

อนัตตลักษณะ : ลักษณะที่แสดงความเป็นอนัตตา

        ลักษณะที่ชี้แสดงว่าให้เห็นว่าเป็นของมิใช่ตัวตน หรือไม่มีตัวตน โดยอรรถต่างๆ
        ๑. เป็นของสูญ ในความหมายของสังขาร(
สังขตธรรม) ก็เพราะว่า เป็นเพียงการประชุมเข้าขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยๆทั้งหลาย  เพราะเกิดขึ้นมาจากการที่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยประชุมรวมกันขึ้น จึงเพียงแต่แลดูประหนึ่งว่าเป็น สิ่งๆเดียวกัน เป็นมวลเดียวกัน, เป็นชิ้นเดียวกันจริงๆ ด้วยฆนะ, แต่ความจริงอย่างยิ่งหรืออย่างปรมัตถ์แล้วก็ยังเป็นเพียงการประชุมเข้ากันของส่วนย่อยๆดังกล่าว โดยแท้จริงจึงว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นาย ก. นาย ข. หรือการสมมติเป็นต่างๆ(สมมติสัจจะ)

            เป็นของสูญ ในความหมายของอสังขตธรรมเช่นกัน ก็เพราะว่า เป็นเพียงสภาวธรรมหรือธรรมชาติเท่านั้น กล่าวคือ เป็นเพียงธรรมหรือสภาวธรรมที่ยังไม่เกิดการปรุงแต่งกันขึ้น กล่าวคือยังไม่เกิดปรากฏการณ์ขึ้นเป็นสังขารอันเป็นฆนะกลุ่มก้อนของการที่มีเหตุต่างๆได้มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกัน
        ๒. เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้  ไม่เป็นของใครจริง  แต่มักไปหลงผิด ไปหลงยึดหรือมัวเมากันด้วยกิเลสว่า เป็นตัวตน เป็นของตัวของตน หรือของใครอย่างจริงแท้
        ๓. ไม่อยู่ในอำนาจ  ไม่เป็นไปตามความปรารถนา  
ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครๆอย่างแท้จริง  เพราะสภาวะของสังขารเองก็มีแรงแต่ภายใน ตลอดจนแรงจากภายนอก มาบีบคั้นให้คืนสู่สภาพเดิมๆเป็นที่สุด โดยไม่ยอมขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครอย่างแท้จริง  แต่เพราะอาจมีการควบคุมบังคับได้บ้างบางส่วนและได้อย่างเป็นครั้งคราว จึงมักพากันไปหลงผิดหลงยึดหรือมัวเมากันโดยไม่รู้ตัวหรืออวิชชาไปว่า สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างแท้จริงตามความปรารถนา
        ๔. เป็นสภาวธรรมที่ดำรงอยู่ หรือเป็นตามธรรมดาของมันเช่นนั้นเองในธรรมที่เป็น
สังขตธรรมคือสังขาร ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย
จึงขึ้นต่อเหตุปัจจัย จึงไม่มีอยู่โดยลำพังตัว จึงเป็นไปโดยสัมพันธ์ อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่นๆคือเหล่าเหตุนั่นเอง
        ๕. โดยสภาวะของมันเอง ก็แย้งหรือค้านต่อความเป็น
อัตตา มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา  (แสดงรายละเอียดของอัตตาในขันธ์ ๕ ว่ามีจริงหรือไม่)

อัตตา

(แสดงรายละเอียดของอัตตา(ความมีตัวตน) ที่ว่าไม่มี)

ทรงแสดงอนัตตาในขันธ์ ๕

"ภิกษุทั้งหลาย รูป....เวทนา....สัญญา....สังขาร....วิญญาณ  เป็นอนัตตา"

(ขันธ์ทั้ง ๕ ล้วนเป็นสังขาร จึงล้วนเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนเป็นแก่นแท้ หรือไม่เป็นของตัวของตนแท้จริง ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย จึงขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย)

หากรูป....เวทนา....สัญญา....สังขาร....วิญญาณ  เป็นอัตตา(มีตัวตน หรือเป็นของตัวของตนแท้จริง)แล้วไซร้

มันก็จะไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ(ความขุ่นข้อง แปรปรวน เจ็บป่วย  อันล้วนเป็นทุกข์)

ทั้งยังจะได้ตามใจปรารถนาในรูป....ในเวทนา....ในสัญญา....ในสังขาร....ในวิญญาณ ว่า

"ขอรูป....ขอเวทนา....ขอสัญญา....ขอสังขาร....ขอวิญญาณ  ของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด  อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย"

แต่เพราะเหตุที่รูป....เวทนา....สัญญา....สังขาร....วิญญาณ เป็นอนัตตา

ดังนั้น รูป....เวทนา....สัญญา....สังขาร....วิญญาณ จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ

(กล่าวคือ ย่อมไม่สามารถไปบังคับบัญชาไม่ให้เจ็บไม่ให้ป่วยได้ดังใจปรารถนา ดังแสดงไว้ในอาทีนวสัญญา)

และใครๆก็ไม่อาจได้ตามความปรารถนาในรูป....เวทนา....สัญญา....สังขาร....วิญญาณ ว่า

"ขอรูป....ขอเวทนา....ขอสัญญา....ขอสังขาร...ขอวิญญาณ  ของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย"

"ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมีความเห็นเป็นไฉน ?"

"รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง?" (พระพุทธเจ้า ตรัสถามทีละอย่างในรูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ)

"ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า" (ภิกษุทั้งหลายตอบ)

"สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข?"

"เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า"

"ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเฝ้าเห็นสิ่งนั้นว่า

นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา ?"

"ไม่ควรเห็นเป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า"

"ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล รูป....เวทนา....สัญญา....สังขาร....วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง

ทั้งที่เป็น อดีต ปัจจุบัน อนาคต ทั้งภายในและภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต

ทั้งที่ไกลและที่ใกล้ ทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันถูกต้อง ตามที่มันเป็นว่า

"นั่นไม่ใช่ของเรา  เราไม่ใช่นั่น  นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา"

(อย่างเป็นแก่นแกนแท้จริง เพราะล้วนอนัตตา)

(สํ.ข. ๑๗/๑๒๗-๑๒๙/๘๒-๘๔ , พุทธธรรม น.๖๙)

 

พุทธพจน์

         "ภิกษุทั้งหลาย  เราจักแสดงขันธ์ ๕  และอุปาทานขันธ์ ๕    เธอทั้งหลายจงฟัง"

         "ขันธ์ ๕  เป็นไฉน ?    รูป...เวทนา..สัญญา...สังขาร...วิญญาณ    อันใดอันหนึ่ง   ทั้งที่เป็นอดีต  อนาคต  ปัจจุบัน,    เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม,   หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม,   ทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม,  ไกลหรือใกล้ก็ตาม  เหล่านี้ เรียกว่า  ขันธ์ ๕"

        "อุปาทานขันธ์ ๕  เป็นไฉน ?    รูป...เวทนา..สัญญา...สังขาร...วิญญาณ    อันใดอันหนึ่ง   ทั้งที่เป็นอดีต  อนาคต  ปัจจุบัน,    เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม,   หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม,   ทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม,   ไกลหรือใกล้ก็ตาม   ที่ประกอบด้วยอาสวะ เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน(ถูกอุปาทานครอบงำนั่นเอง)เหล่านี้  เรียกว่า  อุปาทานขันธ์ ๕"

(สํ.ข. ๑๗ / ๙๕-๙๖ /๕๘-๖๐)

         "ภิกษุทั้งหลาย  เราจักแสดงธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน  และตัวอุปาทาน   เธอทั้งหลายจงฟัง.

         "รูป...เวทนา..สัญญา...สังขาร...วิญญาณ   คือ ธรรม(สิ่ง)อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน    ฉันทราคะ(ตัณหา)ในรูป...เวทนา..สัญญา...สังขาร...วิญญาณ  นั้นคือ  อุปาทานในสิ่งนั้นๆ"

         (ฉันทราคะ ความชอบใจจนติด หรืออยากอย่างแรงจนยึดติด คือตัณหา  อันเป็นเหตุเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทานครอบงำ อันเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทธรรม)

(สํ.ข. ๑๗ / ๓๐๙ / ๒๐๒)

 

ติลักขณาทิคาถา
(สามัญญลักษณะ ๓  อันนำไปสู่นิพพาน)

 

สัพเพ สังขารา อะนิจจาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ

เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง

 

อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา

เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลง
นั่นแหละ เป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด

 

สัพเพ สังขารา ทุกขาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ,

เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์

 

อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา

เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลง
นั่นแหละ เป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด

 

สัพเพ ธัมมา อะนัตตาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ

เมื่อใด บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

 

อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา

เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลง
นั่นแหละ เป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด

 

อัปปะกา เต มะนุสเสสุ เย ชะนา ปาระคามิโน

ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย, ผู้ที่ถึงฝั่งแห่งพระนิพพานมีน้อยนัก

 

อะถายัง อิตะรา ปะชา ตีระเมวานาวะติ

หมู่มนุษย์นอกนั้น ย่อมวิ่งเลาะอยู่ตามฝั่งในนี่เอง

 

เย จะโข สัมมะทักขาตา ธัมเม ธัมมานุวัตติโน

ก็ชนเหล่าใดประพฤติสมควรแก่ธรรม ในธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว

 

เต ชะนาปา ระเมสสันติ มัจจุเธยยัง สุทุตตะรัง

ชนเหล่านั้นจักถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน; ข้ามพ้นบ่วงแห่งมัจจุที่ข้ามได้ยากนัก

 

กัณหัง ธัมมัง วิปปะหายะ สุกกัง ภาเวถะ ปัณฑิโต

จงเป็นบัณฑิตละธรรมดำเสีย แล้วเจริญธรรมขาว

 

โอกา อะโนกะมาคัมมะ วิเวเก ยัตถะ ทูระมัง

จงมาถึงที่ไม่มีน้ำ จากที่มีน้ำ จงละกามเสีย, เป็นผู้ไม่มีความกังวล

 

ตัตราภิระติมิจเฉยยะ หิตวา กาเม อะกิญจะโน

จงยินดีเฉพาะต่อพระนิพพานอันเป็นที่สงัดซึ่งสัตว์ยินดีได้โดยยาก


 

 

กลับหน้าเดิม

กลับสารบัญ