ธรรมชาติเดิมแท้ของทุกข์
|
|
ธรรมชาติเดิมแท้ของความทุกข์ ทุกข์ที่กล่าวในคราวนี้ หมายถึง ทุกขอริยสัจ และทุกข์ธรรมชาติหรือทุกขเวทนา อีกทั้งสังขารขันธ์อันเป็นทุกข์ต่างๆเช่น ความทุกข์ใจ โกรธ โลภ หดหู่ ฯ. อีกด้วย ที่เป็นสภาวธรรมของชีวิต จึงมีความเที่ยงเป็นอย่างยิ่ง คงทนอยู่ในทุกกาล(อกาลิโก)
ทุกขอริยสัจ อันมี ๗ เท่านั้น แต่ครอบคลุมไว้อย่างครบถ้วนกระบวนความโดยบริบูรณ์ คือ ความเกิด๑ ความแก่๑ ความเจ็บ๑ ความตาย๑ การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก๑ การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก๑ การปรารถนาในสิ่งใดแล้วไม่ได้ในสิ่งนั้น๑. ลองโยนิโสมนสิการดู ไม่ว่าทุกข์ใดๆของปุถุชนล้วนไม่พ้นไปจากทุกขอริยสัจทั้ง ๗ นี้ได้เลย
ส่วนทุกข์ธรรมชาตินั้น ก็คือทุกขเวทนา อันเป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นแต่การผัสสะ อันเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติ จะห้ามไม่ให้เกิด ไม่ให้มี ก็เป็นไปไม่ได้ ส่วนทุกขอริยสัจก็กล่าวได้ว่าเป็นทุกข์โดยธรรมชาติเช่นกัน ที่ต่างล้วนยังคงต้องเกิดขึ้นและเป็นไปเช่นนั้นเองในผู้มีชีวิต เพียงแต่แยกแยะเพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างทุกขอริยสัจ อันจักย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และย่อมยังให้เกิดทุกขเวทนาอันเป็นทุกข์ธรรมชาติไปด้วยทุกครั้งครา จึงส่งผลให้เกิดสังขารขันธ์อันเป็นทุกข์ต่างตามมา เป็นความทุกข์อย่างหนึ่งของชีวิต ที่หลีกหนีไม่พ้น แต่สภาวะเดิมแท้ๆของทั้งทุกขอริยสัจและทุกข์โดยธรรมชาติหรือทุกขเวทนานั้นที่ยังไม่ประกอบด้วยตัณหาหรืออุปาทานนั้น ทั้งสองแม้เป็นทุกข์อย่างหนึ่ง แต่ต่างไม่เร่าร้อน เผาลน กระวนกระวายอย่างแสนสาหัส
ครั้งนี้ต้องการแจงให้เห็นสภาวธรรมเดิมๆแท้ๆของทุกข์ธรรมชาติและทุกขอริยสัจเหล่านี้
ก่อนมีการปรุงแต่ง จนเป็นอุปาทานทุกข์ที่แสนเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวาย
คือหมายถึง ให้เห็นสภาวธรรมเดิมแท้ ก่อนที่ทุกข์อริยสัจหรือทุกข์ธรรมชาติเหล่านั้นจะถูกปรุงแต่งด้วย
ตัณหา
อุปาทาน
ภพ
ชาติ
ชราอันเร่าร้อนเผาลนด้วยไฟของอุปาทานขันธ์
๕
มรณะ
อาสวะกิเลส..โสกะ..ปริเทวะ..ทุกข์..โทมนัส..อุปายาส.
กล่าวคือ ต้องการแจงให้เห็นความเร่าร้อน ความรุนแรงที่แตกต่างกันอย่างมากมายระหว่างทุกข์ธรรมชาติและอุปาทานทุกข์
ทุกขอริยสัจหรือทุกข์ทั้ง ๗ เหล่านี้ เป็นความทุกข์โดยสภาวธรรมหรือโดยธรรมชาติ เป็นทุกข์จริงๆอย่างหนึ่ง และคงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นไปอยู่เยี่ยงนี้ จะไปควบคุมไม่ให้เกิด ไม่ให้มี ไม่ให้เป็นไป ก็เป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งเหล่านี้โดยธรรมชาติเดิมๆแท้ๆแล้ว แม้เป็นทุกข์ในระดับหนึ่งแต่ไม่ได้ก่อให้เกิดความรู้สึก เร่าร้อน เผาลน กระวนกระวาย และวนเวียนยาวนาน เยี่ยงดั่งอุปาทานทุกข์ที่แสนจะเร่าร้อนเผาลนและวนวียนยาวนาน เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้องแจ่มแจ้งแล้ว จะได้ไม่เกิดวิจิกิจฉาและความท้อแท้ว่าปฏิบัติแทบตายแต่ก็หลีกหนีทุกข์มันไปไม่พ้น อันจะเป็นความเข้าใจผิด แม้ว่าตามความเป็นจริงแล้วก็หลีกหนีมันไม่พ้นก็จริงอยู่ แต่อยู่เหนือสภาวะของทางโลก จึงทำให้ผลลัพธ์อันเกิดแก่ปุถุชนทั่วไปคือความทุกข์ชนิดอุปาทานทุกข์นั้นเกิดขึ้นไม่ได้ หรือส่งผลไปไม่ถึง(เหนือกรรม) กล่าวคือ ไม่ทำให้เกิดอุปาทานทุกข์อันเผาลนเร่าร้อนและวนเวียนยาวนานอย่างที่ปุถุชนเป็นหรือรู้สึกกันอยู่ ราวกับตกอยู่ในนรกอเวจีทั้งเป็นๆ อันเป็นไปดังความตามพระสูตร
[๓๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง
(ต้องเกิดเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นเป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติหรือสภาวธรรมของชีวิตินทรีย์ ในการรับรู้ในผัสสะต่างๆของเหล่าอายตนะทั้ง ๖)
อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง
(พึงพิจารณาตรงนี้โดยแยบคายว่า สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ยังคงมีอยู่เช่นเดียวกับปุถุชน ที่เมื่อมีการผัสสะย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย (แต่)ใน ชน ๒ จำพวกนั้น (ก็มี)อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก
เป็นเครื่องทำให้ต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับ กับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ..................ฯ
(สัลลัตถสูตร พระไตรปิฏก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๘)
โดยปกตินั้น เราก็เห็นหรือพบพานกับสภาวธรรมเดิมๆแท้ๆของทุกข์ธรรมชาติทั้งสองนี้อยู่เกือบตลอดเวลา เพียงแต่ไม่เคยโยนิโสมนสิการหรือพิจารณาโดยละเอียดอย่างแยบคายเพื่อให้เกิดปัญญาโดยแจ่มแจ้งเท่านั้นเอง เพราะย่อมถูกครอบงำด้วยอวิชชาด้วยวิสัยของปุถุชน แม้ใน ณ ขณะปัจจุบันจิตนี้ ที่กำลังพิจารณา หรือลองน้อมคิดถึงเรื่องทุกข์ใดขึ้นมา ย่อมเกิดทุกขเวทนาขึ้น แต่ขอให้สังเกตุว่า ไม่มีความเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวาย คิดที่เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้น ตั้งอยู่ แล้วจางคลาย แล้วดับไป ถ้าในขณะนี้มีสติระลึกรู้เข้าใจและเท่าทันพอควร เพราะมีความตั้งใจอยู่ในธรรม(เพราะขณะนี้กำลังพิจารณาศึกษาอยู่อย่างแน่วแน่)หรือก็คือ มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ จึงไม่เกิดการปรุงแต่งแทรกซ้อนด้วยตัณหาใดๆขึ้นมา ก็จะสามารถเห็นสภาพธรรมชาติเดิมๆแท้ๆของทุกข์ ที่รู้ ที่เห็น ที่เกิดขึ้น แต่ไม่เป็นอุปาทานทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลนแต่ประการใด แต่ก็เป็นทุกขเวทนาธรรมดาโดยธรรม(ธรรมชาติ)
หรือดังเช่น การไปงานศพของคนที่รู้จักคุ้นเคยกัน ไปผัสสะในความทุกข์อันเกิดแต่ความตายในบุคคลอื่นที่ไม่ใกล้ชิดกันมากเกินไปนัก อย่างไรเสียก็ย่อมมีความรู้สึกเป็นทุกข์ชนิดทุกขเวทนาที่เศร้าใจเสียใจไปกับเขาหรือต่อญาติพี่น้องของผู้ที่จากไปด้วย แต่ลองสังเกตุพิจารณาโดยแยบคาย เมื่อก้าวล่วงออกจากวัดไปแล้ว การผัสสะโดยตรงย่อมดับไป ทุกข์ที่เกิดแต่ทุกขเวทนาโดยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อครู่นั้น ก็จางคลาย ดับไป ขอให้พิจารณาสังเกตุโดยละเอียดแยบคายต่อไปให้ดีว่า ได้เกิดทุกขเวทนาที่ย่อมไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจ ไม่สบายใจ อันเป็นทุกข์ขึ้นจริงๆ ก็จริงอยู่ แต่ไม่มีความเร่าร้อน ความเผาลน ความกระวนกระวายด้วยกิเลสตัณหาหรือความอยากหรือไม่อยาก และไม่วนเวียนต่อเนื่องยาวนาน จนพิรี้พิไร รำพัน ตีอกชกหัว กินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่เป็นไปในลักษณาการของ ทุกข์นั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่...จางคลาย...แล้วดับไป เป็นเพียงทุกข์ธรรมชาติที่เกิดจากทุกขเวทนาอันเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง แต่ไม่เป็นอุปาทานทุกข์ที่ยังให้เกิดทุกขเวทนาชนิดเวทนูปาทานขันธ์อันแสนเร่าร้อนเนื่องด้วยประกอบด้วยตัณหาแลอุปาทาน กล่าวคือด้วยความอยากด้วยความยึดว่าเป็นของตัวของตน
หรือได้ข่าวหรือไปเยี่ยมคนรู้จักมักคุ้นซึ่งป่วยเจ็บด้วยโรคหรือภัยร้ายใด ก็ย่อมเกิดทุกขเวทนาอันเป็นทุกข์ธรรมชาติขึ้น แต่ขาดความเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวาย ไม่วนเวียนหรือเวียนว่ายตายเกิดอย่างยาวนาน เกิดขึ้น ตั้งอยู่อย่างแปรปรวนจางคลาย แล้วดับไป แต่ถ้าเป็นบุคคลในครอบครัวหรือตัวตนเอง อันเป็นที่รักของกูหรือเป็นตัวกูขึ้น ทุกขเวทนานั้นก็จะเปลี่ยนไปเป็นเวทนูปาทานขันธ์อันเร่าร้อนด้วยอำนาจปรุงแต่งของตัณหาแลอุปาทานทันที เป็นความรู้สึกรับรู้หรือเวทนาที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน แล้วดำเนินเกิดขึ้นอย่างวนเวียนไปมาอยู่ในชราอันร้อนรุ่มเผาลนต่อไปอีกนาน จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ
ผู้เขียนเองจำแนกแยกแยะทุกขเวทนาโดยธรรมชาติ กับทุกขเวทนาอันประกอบด้วยอุปาทาน(เวทนูปาทานขันธ์) ได้เข้าใจ ก็จากการพิจารณาในตัวอย่างทั้ง ๒ ข้างต้นนี้นี่เอง โดยพิจารณาทั้งในลักษณะโดยทั่วๆไปดังข้างต้น พร้อมทั้งใช้ปฏิจจสมุปบันธรรมในการพิจารณาโดยละเอียด จึงได้เห็นความเร่าร้อนความเผาลนความกระวนกระวายวนเวียน ที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน อันเกิดแต่เหตุ อันใด
หรือพิจารณาโดยอาศัยกาย
ลองตีตัวเองแรงๆ เจ็บไหม? เจ็บอย่างแน่นอน
เพราะย่อมเกิดความรู้สึกรับรู้หรือเวทนาอันเป็นทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นโดยธรรมหรือธรรมชาตินั่นเอง
แต่มีความเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายไม่หยุดไหม? นี่ก็เป็นการแสดงสภาวธรรมเดิมแท้ของทุกขเวทนาอันเป็นทุกข์ธรรมชาติอย่างหนึ่ง
แล้วลองพิจารณาว่า ถ้าเป็นคนอื่นมาตีเราแรงๆด้วยเหตุอันใดที่ไม่ยอมรับ,ไม่เห็นด้วย
จะแปรปรวนไปเป็นเวทนูปาทานขันธ์อันแสนเร่าร้อนเผาลนด้วยตัณหาความไม่อยากให้เกิด
ไม่อยากให้เป็นไป
อุปาทาน
ภพอันคือกามภพชนิดโทสะเกิดขึ้นทันที
ชรา
อันเกิดอุปาทานขันธ ์๕ ที่อาจก่อทุกข์โทษภัยถึงขั้นด่าทอต่อว่าหรือฆ่ากันตาย......ฯ.
ขอให้โยนิโสมนสิการ สังเกตุความแตกต่างของเวทนาที่เกิดขึ้นดังตัวอย่างข้างต้น เป็นไป ๒ ลักษณะ
ลักษณะที่๑ ทุกข์ที่เกิดนั้น เป็นไปในลักษณาการของทุกข์ธรรมชาติ เกิดเวทนาชนิดทุกขเวทนา ความรู้สึกรับรู้อันยังให้รู้สึก เป็นทุกข์ หรือออกไปทางอาการไม่ถูกใจ ไม่สบายใจ ไม่ชอบใจ ในขันธ์๕หรือกระบวนธรรมของชีวิต แม้เป็นทุกข์ชนิดทุกขเวทนา แต่ก็ไม่เผาลน ไม่วนเวียน ไม่ยาวนาน เหล่านี้เป็นไปในลักษณาการของธรรมชาติเดิมๆแท้ๆของความทุกข์นั่นเอง แม้เป็นทุกข์อย่างหนึ่งก็จริงอยู่ แต่ขาดเสียซึ่งความเร่าร้อนเผาลนวนเวียนยาวนานเหมือนตกอยู่ในนรกอเวจี จึงกล่าวว่า ธรรมชาติเดิมๆแท้ๆของความทุกข์นั้น เป็นเพียงทุกขเวทนา ที่แม้เป็นทุกข์ ที่แสดงออกมาด้วยอาการ เจ็บบ้าง ปวดบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง ไม่สบายใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง แต่ก็ไม่เร่าร้อน ไม่เผาลน และไม่กระวนกระวายอย่างวนเวียนยาวนาน แต่เป็นไปในลักษณาการของธรรมหรือธรรมชาติที่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่อย่างจางคลาย แล้วดับไป เป็นทุกข์ธรรมชาติที่จะไม่ให้เกิด ไม่ให้มี ไม่ให้เป็น ก็ไม่ได้เช่นกัน แต่ไม่เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์อย่างเผาลนรุนแรงเร่าร้อนยาวนานแต่อย่างใด
ลักษณะที่๒
ทุกข์ที่เกิดนั้น เป็นไปในลักษณาการของอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลน
เกิดเวทนาชนิดทุกขเวทนา
ความรู้สึกรับรู้อันยังให้รู้สึกไม่ถูกใจ ไม่สบายใจ
ไม่ชอบใจ ในขันธ์๕หรือกระบวนธรรมของชีวิตเหมือนดังในลักษณะแรกทุกประการ แล้วดำเนินไปตามวงจรของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์
คือ เกิดตัณหาขึ้น คือเกิดความยินดี,ยินร้ายในเวทนานั้นๆ
จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอุปาทาน
ภพ
ชาติการเริ่มเกิดขึ้นของทุกข์
ชราอันแสนแปรปรวนแสนเร่าร้อนและวนเวียนด้วยอำนาจของเวทนูปาทานขันธ์จากการคิดการนึกปรุงแต่งต่างนาๆที่วนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่องกันไปอย่างยาวนานราวกับอยู่ในนรกอเวจี
ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ต้องรอจนถึงกาลที่กายแตกดับแต่ประการใด และอุปาทานขันธ์๕นี้ก็ยังก่อให้เกิดกรรมวิบากต่างๆนาๆอันเป็นอจินไตยอีกด้วย
(อ่านรายละเอียดในเหนือกรรม)
...ตัณหา
→ อุปาทาน
→ ภพ → ชาติ
→ รูปูปาทานขันธ์
+ ใจ + วิญญูาณูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์
เช่นคิดที่เป็นทุกข์ ในวงจรแสดงความวนเวียนเร่าร้อนด้วยเหล่าอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เพราะล้วนถูกครอบงําโดยอุปาทานแล้ว |
ดังนั้นถ้าเรามองย้อนไปในอดีต (การไม่รู้อดีตเป็นหนึ่งในอวิชชา ๘) เพื่อเป็นเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติ (ไม่ใช่การไปรู้อดีตเพื่อการติดเพลินในสุข หรือพิรี้พิไรรำพันในทุกข์ หรือการรู้อดีตอย่างมีฤทธิ์มีเดช) จะเห็นได้ว่าทุกข์ธรรมชาตินั้น แม้เป็นความทุกข์อย่างหนึ่งก็จริงอยู่ แต่ก็ไม่รุนแรงเร่าร้อนเผาลนและไม่วนเวียนอย่างยาวนาน มักเป็นไปในลักษณาการของ เกิดขึ้น ตั้งอยู่อย่างแปรปรวน....โดยค่อยๆจางคลายไป...และดับไปเป็นที่สุด แต่ที่ปุถุชนรู้สึกเร่าร้อนเผาลนอย่างรุนแรงและอย่างยาวนานและอย่างปล่อยวางลงไม่ได้นั้น เพราะล้วนแล้วแต่เร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายในอุปาทานทุกข์(ชรา)อันประกอบด้วยอุปาทาน ดังภาพที่แสดง เพียงแต่ไม่รู้เนื่องเพราะอวิชชานั่นเอง กล่าวคือ ยังไม่มีวิชชาของพระองค์ท่านจึงไม่รู้ว่ากำลังดำเนินชีวิตเป็นไปตามกระบวนธรรมของจิต ในวงจรของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ปฏิจจสมุปบาท กลับไปคิดว่าความเร่าร้อนเผาลนนั้นเป็นทุกข์ตามธรรมชาติเสียอีก ทั้งๆที่ความเร่าร้อนเผาลนเหล่านั้น ตามความเป็นจริงแล้วเกิดแต่ตัณหาแลอุปาทานได้ครอบงำจนเกิดภพเกิดชาติที่แสนเร่าร้อนเสียแล้วโดยไม่รู้ตัว
ขณะเมื่อพิจารณาว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก การปรารถนาในสิ่งใดแล้วไม่ได้ในสิ่งนั้น. เหล่านี้เป็นทุกข์ ก็ไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอันใด สักแต่ว่ารู้เท่านั้น แต่เมื่อไรที่ ตัวกูเกิดมาต้องทุกข์ ตัวกูกำลังแก่ ตัวกูกำลังเจ็บ ตัวกูกำลังตาย ตัวกูพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ตัวกูประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ตัวกูปรารถนาในสิ่งใดแล้วไม่ได้ในสิ่งนั้น. จึงกลับกลายเป็นอุปาทานทุกข์อันแสนเร่าร้อนเผาลน
แสดงเวทนาโดยธรรมชาติที่ยังคงมีอยู่ แม้ในพระองค์ท่าน แต่ทรงไม่เป็นทุกข์เร่าร้อนเผาลน
แสดงเวทนานั้นคงมีอยู่ ทั้งสุขและทุกข์ แต่มีความแตกต่างกันระหว่างอริยบุคคลและปุถุชน