หยุดคิดนึกปรุงแต่ง |
คลิกขวาเมนู |
หยุดคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่าน อย่างหนึ่งคือ หยุดคิดปรุงแต่งมโนกรรม
"หยุดคิดนึกปรุงแต่ง" เพื่อการบรรลุฉับพลัน ตามแนวทางวิถี"เซ็น" อันเนื่องมาจาก คำสอนของฮวงโป
"หยุดคิดนึกปรุงแต่ง" ก็หยุดคิดนึกปรุงแต่งเท่านั้น, หาใช่การไป"หยุดคิดหยุดนึกทั้งปวง"ไม่ อย่าให้จิตหลอกล่อไป"คิดนึกปรุงแต่ง"เข้าไปอีก ด้วยการคิดนึกปรุงแต่งด้วยความสงสัยหรือวิจิกิจฉา ดังเช่นว่า ต้องทำยังไง หยุดคิดนึกปรุงแต่งอะไร? หยุดยังไง? ถูกหรือผิด? ทำไมจึงต้องทำเช่นนี้? ปฏิบัติถูกไหม? จริงหรือไม่? ได้ผลไหม? จะมีอะไรเกิดขึ้นไหม? จะมีอะไรปรากฏเป็นนิมิตหมายไหม? และก็ไม่ต้องถึงขั้นบริกรรมท่องบ่นดังว่า"หยุดคิดนึกปรุงแต่ง" (อาจมีเพียงการเตือนสติตัวเองเป็นครั้งเป็นคราวบ้างเท่านั้นเอง), ก็เพียงแค่"หยุดคิดนึกปรุงแต่ง"คือเมื่อเกิด"มโนกรรม"ความคิดนึกขึ้นแล้ว ก็ไม่เอา หรือหยุดเสียเท่านั้นเอง ในวิถีจิตที่รับรู้จากทวารทั้ง ๖ ปกติธรรมดา และหยุดการกระวนกระวายเพราะการแสวงหา หรือกริยาจิตต่างๆ เช่น ชอบชัง ผิดถูก ชั่วดี บุญบาป ยินดียินร้าย ฯ. ใหม่ๆก็ยากเพราะธรรมชาติของจิตมักจะกวัดแกว่งไปหากิเลส เหมือนดั่งน้ำที่ย่อมต้องไหลลงสู่ที่ต่ำ ตามแรงดึงดูดของโลก ฉันใดก็ฉันนั้น จิตจึงหาเรื่องคิดนึกปรุงแต่งต่างๆอยู่ตลอดเวลา ตามความเคยชินที่ได้สั่งสมอบรมไว้ของปุถุชนมาตั้งแต่เกิด ดังนั้นเมื่อมีความคิดนึกคือธรรมารมณ์ใดเกิดผุดนึกผุดจำขึ้นมา ก็ต้องมีเข้าใจดีว่า เป็นเรื่องที่พึงต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ก็เพียงแต่รับรู้และยอมรับ ตามความเป็นจริง ว่ามันเป็นเช่นนี้เอง ไม่ว่าสุข,ทุกข์,โทสะ,โลภะ,หดหู่,กังวล ฯ. แต่ต้องไม่ปรุงแต่งต่อเท่านั้นเอง กล่าวคือเมื่อเกิดการผัสสะรับรู้อะไรจากการผัสสะของทวารทั้ง ๖ ก็ตาม เพียงมีสติรู้อยู่ตามความเป็นจริง ถูกต้องแล้ว เพราะเป็นการฝึกสติให้เห็นความคิด เมื่อเกิดมโนกรรมต่างๆขี้นก็ไม่ไป เอ๊อ๊ะไปว่า อะไร ทำไม ยังไง.....ฯ. เพียงมีสติเห็นว่ามันเกิดขึ้น, อีกทั้งย่อมเผลอไปคิดนึกปรุงแต่งไปเรื่อยๆ ก็ไม่เป็นไร แต่เมื่อมีสติระลึกรู้แล้ว ก็หยุดปรุงแต่ง สังเกตุจดจำไว้ด้วย
ท่านโดเก็น แห่งนิกายเซ็น ได้กล่าวไว้ว่า "คิดถึงการไม่คิด จะคิดถึงการไม่คิดได้อย่างไร โดยปราศจากการคิด สิ่งนี้เองคือ หัวใจแห่งศิลปะการนั่งซาเซ็น"
เมื่อสามารถหยุดคิดนึกปรุงแต่งได้แล้ว ก็ย่อมหมดเหตุก่อ ให้ทุกข์หรือกิเลสเกิดการสืบเนื่องสัมพันธ์ต่อไปอีกได้ จิตจักเริ่มคลายจากอารมณ์เดิมๆจนสงบ เพราะแม้อยู่ในวิถีจิตรับรู้ในอารมณ์ที่กระทบต่างๆแต่ขาดการปรุงแต่งไปในระยะเวลาพอควรแล้ว(เวลาขึ้นอยู่กับ สติ สมาธิ ปัญญา และจริตของผู้ปฏิบัติเอง) จนอยู่กับจิตเดิมแท้ หรือจิตพุทธะ(ของนิกายเซ็น) ซึ่งเป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติของจิตที่ผ่องใส หรือมโนที่ผุดผ่องคือใจที่ผุดผ่อง ซึ่งก็คือ จิตขณะอยู่ในวิถีจิตที่ผ่องใส คือใจที่ผุดผ่องหรือผ่องใสไม่เจือกิเลส เมื่อมีหน้าที่เกิดการทำงานขึ้นก็เพียงเพื่อรับการกระทบกับ อายตนะภายนอกทั้ง ๖ คือตามหน้าที่เพียงรับอารมณ์กำหนดหมายที่มากระทบโดยไม่แฝงด้วยกิเลส ที่ไปส่งผลแต่แรกเริ่มต่อกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ ที่เกิดสืบเนื่องต่อไปอีก กล่าวคือ จิตหรือมโนวิญญาณที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากใจนั้น ไม่ประกอบด้วยกิเลส คือไม่แฝงเป็นวิญญานูปาทานขันธ์อยู่ในที
การฝึกดั่งนี้ จะทำให้นักปฏิบัติเห็นและเข้าใจได้ว่า"คิดนึก"ที่เกิดขึ้นจากการกระทบอารมณ์(สิ่งที่กำหนดหมาย)ต่างๆ หรือที่สามารถผุดนึกจำขึ้นมาเองได้นั้น อีกทั้งฝึกรู้จักการปล่อยวาง ไม่เอา คือหยุดปรุงแต่งต่อ เพราะเมื่อคิดนึก(ธรรมารมณ์)ขึ้นมาแล้ว ย่อมดำเนินไปจนสิ้นสุดกระบวนธรรมของขันธ์คือเกิดสังขารขันธ์ขึ้นแล้วเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความคิดนึกชนิดมโนกรรมขึ้นในที่สุด มโนกรรมนี้นี่เองที่มักไปทำหน้าที่ให้เกิดการ"คิดนึกปรุงแต่ง" เมื่อปฏิบัติดังนี้จะค่อยเกิดภูมิรู้ภูมิธรรมขึ้น มีสติระลึกรู้เท่าทันความคิดนึก(ธรรมารมณ์) และความคิดนึก(มโนกรรม)ว่า เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แล้วจะดับลงไปได้อย่างไร แตกต่างกันอย่างไร และพิจารณาให้เห็นว่าทำไมจึงเป็นโทษ และมีคุณแก่ชีวิตยังไง
ธรรมารมณ์ ใจ มโนวิญญูาณขันธ์ เวทนาขันธ์ หยุดมโนกรรม ขันธ์ทั้ง๕ ที่เป็นวงจร สังขารขันธ์ จึงเกิดมโนกรรมขึ้น สัญญาขันธ์ วงจรแสดงขันธ์ทั้ง ๕ ที่วนเวียนคิดนึกปรุงแต่งฟุ้งซ่านจนเป็นทุกข์ในที่สุด |
เมื่อทำได้ผล ผู้ปฏิบัติจะพบกับความรู้สึกผ่อนกายใจ สงบกายใจ(ปัสสัทธิ) ด้วยตัวตนเอง นั่นหมายถึงท่านปล่อยวาง"คิดนึกปรุงแต่ง"ลงไปได้ ก็เดินมาถูกทางแล้ว เกิดขึ้นจากจิตได้เสื่อมคลายตัวจากอารมณ์ต่างๆที่เกาะกุมแฝงอยู่ ด้วยอำนาจของธรรมนิยาม เข้าไปสู่จิตเดิมแท้หรือจิตพุทธะที่ผ่องใส ปราศจากกิเลส จึงเกิดการผ่อนคลายกายใจหรือปัสสัทธิ
เพราะทั้งเวทนาและสังขารขันธ์อารมณ์ต่างๆนั้น เพราะต่างล้วน "เว้นจากเหตุปัจจัย มิได้มี"
เมื่อรู้จักจิตเดิมแท้หรือจิตพุทธะแล้ว ในทางปฏิบัติในชีวิตประจำวันหรือในชีวิต กล่าวคือ เมื่อมีสติ(รู้)ว่า เมื่อมีแขกชื่อ"มโนกรรม"หรือผองเพื่อนชื่อ"คิดนึกปรุงแต่ง" อันเรารู้เท่าทัน อีกทั้งประกอบด้วยปัญญาว่าไม่เป็นมิตร(ให้โทษเท่านั้น เช่น โทสะ โมหะ โลภะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ตัณหา ฯ. ต่างๆเหล่านี้) มาเยือนที่หน้าบ้าน เราก็ไม่เปิดประตูต้อนรับเขา (ไม่เอา,ไม่ยินดียินร้าย,อุเบกขาเสีย) คือไม่ให้เข้าบ้าน(ใจ)เสีย คือการ"หยุดคิดนึกปรุงแต่ง"เสียนั่นเอง
กล่าวให้ชัดเจนขึ้นคือ "หยุดคิดนึกปรุงแต่ง"คือมโนกรรมที่เกิดขึ้นมาจากสังขารขันธ์คืออารมณ์ต่างๆอันให้โทษเท่านั้น ดังเช่น โทสะ โมหะ โลภะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ตัณหา ฯ. จึงไม่ใช่การไปหยุดการนึกคิดทั้งปวงเสีย อันคิดนึกบางประการย่อมมีประะโยชน์ต่อชีวิต เช่น คิดพิจารณาธรรม คิดในกิจการงานทำ ฯ.
ข้อควรระวัง ผู้เขียนเคยเห็นนักปฏิบัติบางท่าน ไปพยายามหยุดการคิดการนึกทั้งปวงเสีย จะเป็นผลร้าย จะว่างแบบมีอาการนิ่งๆ ไม่สดชื่นผ่องใส เบลอๆ ไม่เหมาะแก่การงาน แต่ผู้ปฏิบัติมีความรู้สึกว่างจากความคิดนึกจึงไม่เป็นทุกข์ จึงคิดว่าเดินมาถูกทาง แต่เมื่อทำไปนานๆจะมีอาการหลงๆลืมๆ เกิดจากเมื่อเชี่ยวชาญชำนาญยิ่งแล้ว เนื่องจากฝึกไปหยุดคิดนึกเสียจนเป็นดั่ง"สังขาร"ที่สั่งสมไว้ในปฏิจจสมุปบาท จิตจึงเกิดทำงานของมันเองคือโดยอัตโนมัติขึ้น แต่เพราะเป็นไปโดยขาดเหตุขาดผลขาดปัญญา ไปหยุดเสียทุกๆความคิดที่แม้มีคุณต่อการดำเนินชีวิตต่างๆ จึงกลายเปฌนโทษเป็นผลร้าย เพราะไม่มีปัญญาเห็นเฉพาะความคิดนึกอันให้โทษที่เกิดขากสังขารขันธ์อันเป็นโทษ เช่น โทสะะ โมหะ ฯ. หยุดไปเสียทุกอย่างจนเป็นมหาสติ มันทำของมันเองโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เป็นแบบมิจฉาสติเสีย จึงเป็นโทษ
แท้จริงแล้วในการปฏิบัติ จึงไม่ใช่การหยุดคิด เป็นเพียงสำนวนเท่านั้น แท้จริงคือให้มีสติระลึกรู้คือเห็นความคิดเช่นมโนกรรม และมีปัญญาเล็งเห็นว่าดีหรือชั่ว เมื่อเห็นว่าเป็นชั่วอันให้โทษ เช่น โทส โมหะ โลภะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ฯ. ก็หยุดคิดนึกต่อเนื่องไปในเรื่องนั้น หรือคือ ไม่เอา ปล่อยวาง หรือการอุเบกขาเสีย ถือว่าเป็นการปฏิบัติขั้นสูงสุด เมื่อทำได้จักรู้ด้วยตัวตนเอง
การปฏิบัติดังนี้ได้ผล เพราะแท้จริงแล้วก็ตรงกับการปฏิบัติในฝ่ายเถรวาทของไทย คือการปฏิบัติ จิตตานุปัสสนา ในสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง แต่แบบลัดสั้นหวังผลฉับพลันเรียบง่ายตามวิถีเซ็น ที่เน้นปัญญา, และ"คิดนึกปรุงแต่ง"นี้ก็ตรงกับ อุทธัจจะ ในสังโยชน์ ๑๐ ข้อที่ ๙ ที่ละเอียดอ่อนนอนเนื่องเป็นเพียงรองจากอวิชชาเท่านั้น เมื่อกำจัดอุทธัจจะได้ด้วยปัญญาแล้ว จึงเป็นเหตุปัจจัยช่วยทำลายอวิชชาอีกด้วย
หยุดคิดนึกปรุงแต่ง อันเนื่องมาจากคำสอนของฮวงโป และหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
ข้อสังเกตุ-ความคิดเห็นของ webmaster ในเรื่องหยุดคิดนึกปรุงแต่งของท่านฮวงโป ของนิกายเซ็น
จิตเดิมแท้หรือจิตพุทธะ ที่ท่านฮวงโปและท่านเว่ยหล่างกล่าวถึงนั้นว่า ที่สอนทางลัดให้เกิดอย่างฉับพลันได้นั้น เกิดจากการ"หยุดการคิดนึกปรุงแต่ง" และยังต้องประกอบด้วยปัญญาความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งเกิดขึ้นในเรื่อง"คิดนึกปรุงแต่ง" เกิดขึ้นได้ในขณะจิตหนึ่งนั้น ซึ่งประกอบด้วยองค์สำคัญยิ่ง คือเกิดปัญญาเห็นในการเกิด๑ การดับ๑ อีกทั้งคุณ๑ โทษ๑ ของการ"หยุดคิดนึกปรุงแต่ง" "หยุดแสวงหา" ในฉับพลัน ซึ่งเกิดขึ้นในขณะวิถีจิตปกติธรรมดา คือขณะจิตที่รับรู้อารมณ์(สิ่งที่กำหนดหมาย)จากทวารทั้ง ๖ ตามปกติของชีวิตธรรมดา ในขณะฟังธรรมหรือจากการพิจารณานั่นเอง ทางนิกายเซ็นจึงกล่าวไว้ว่าเป็นอย่างลัดสั้นฉับพลัน สำหรับผู้มีปัญญา ไม่ต้องล่าช้าดังนิกายอื่นๆดังที่ท่านกล่าวถึงว่า "เป็นการปฏิบัติชนิดคืบหน้าไป ทีละชั้นๆ" เป็นการเสียเวลา (แต่แท้จริงแล้วก็ไม่ง่าย เพราะต้องประกอบด้วยมีปัญญาเป็นเลิศเป็นสำคัญ หรือได้มีการสั่งสมของปัญญาไว้ดีแล้วทั้งโดยรู้ตัว หรือโดยไม่รู้ตัวก็ดี) จึงเกิดมรรคสมังคีขึ้นในขณะจิตหนึ่งนั้น จึงเป็นสิ่งที่พีงเป็นไป
ส่วนการ"หยุดคิดนึกปรุงแต่ง"ในขณะปฏิบัติสมาธินั้น ผลไม่เหมือนกันเพราะยังไม่ประกอบด้วยปัญญาซึ่งเป็นองค์สำคัญสุดของการรู้แจ้ง แท้จริงจิตยังมีภาระหน้าที่การงานอันหนัก คือ ต้องควบคุมจิตเองอยู่ คือมีภาระหน้าที่การงานที่ต้องทำให้จิตแน่วแน่อยู่กับอารมณ์ที่กำหนดหมายต่างๆ(เช่น พุทโธ, สัมมา อรหัง ลมหายใจ ฯ.) อันเป็นหัวใจของการปฏิบัติสมาธิ ถ้าทำได้ก็ย่อมเกิดผลขึ้นคือ ย่อมละความดำริพล่านต่างๆลงไปได้ ซึ่งก็ย่อมครอบคลุมถึง"ความคิดนึกปรุงแต่ง"ต่างๆอีกด้วย เมื่อเข้าสู่สภาวะจิตสงบได้แล้ว จิตจักถอนจากการบริกรรมต่างๆ เข้าสู่ภาวะจิตสงบ หรือจิตเดิมแท้ขึ้นในขณะหนึ่ง ที่ย่อมขาดจากกิเลสปรุงแต่งพัวพันชั่วขณะนั้นๆ แต่แล้วเข้าสู่ภาวะของความสงบระงับหรือองค์ฌานต่างๆเช่น ปีติ สุข ฯ. คือเข้าสู่ภวังคจิต แต่สติและปัญญานั้นก็อยู่ไม่ได้ในภวังคจิต เพราะมีอยู่แต่ในวิถีจิตเท่านั้น โดยสังเกตุได้จากเมื่ออยู่ในสมาธิหรือฌานขั้นประณีตแล้วแม้แต่คำบริกรรมหรือความคิดนึกต่างๆ(ซึ่งรวมทั้งปัญญาด้วยนั่นเอง)นั้นหายเงียบไป และเพราะจิตอยู่ในภวังคจิตหรือองค์ฌานต่างๆ จึงไม่เกิดจากปัญญาร่วมด้วย และมักเข้าใจไปด้วยอำนาจของทิฏฐุปาทานเสียอีกว่าเกิดจากอำนาจหรือฤทธิ์เดชของฌานสมาธิ ไม่เข้าใจว่าเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยหรือปฏิจจสมุปบันธรรมของการดับกิเลสชั่วขณะจากการหยุดความคิดนึกคิดปรุงแต่ง ปัญญาจึงไม่เกิด และเมื่อถอนออกจากสมาธิใหม่ๆนั้น จิตกำลังอยู่ในขณะที่มีกำลังมาก แต่ก็ไม่ได้นำไปดำเนินการวิปัสสนา นำไปพิจารณาในธรรมต่างๆให้เกิดปัญญาความเข้าใจแจ่มแจ้ง, เมื่อถอนหรือคลายหลุดออกมาจึงกลับมาอยู่ในสภาพถูกเขย่าคลุกเคล้ากับกิเลสเดิมๆ ท่านจึงจัดว่าเป็นเพียงวิกขัมภนวิมุตติ จึงย่อมค่อยๆเสื่อมคลายกำลังลง กลับคืนสู่สภาพเดิมๆเมื่อกลับเข้าสู่วิถีจิตทุกครั้งไป ผลที่ออกมาจึงมีความแตกต่างกัน เพราะจิตเดิมแท้หรือจิตพุทธะของนิกายเซ็นที่กล่าวถึงนั้น เกิดจากการ"หยุดคิดนึกปรุงแต่ง"ที่จำต้องประกอบด้วยปัญญามีความเข้าใจในเหตุในผลหรือเหตุปัจจัยของการหยุดคิดนึกปรุงแต่งในบันดล และอยู่ในวิถีจิตที่มีสติปัญญาบริบูรณ์จนเกิดความเข้าใจอย่างฉับพลัน คืออยู่ในวิถีจิตของการรับรู้อารมณ์จากทวารทั้ง ๖ อันเป็นเพียงการทำงานตามปกติธรรมชาติของชีวิต หรือเป็นปกติธรรมดาของวิสัยชีวิต คือยังคงรับรู้ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์(คิด)อีกทั้งปัญญา โดยไม่มีการคิดนึกปรุงแต่ง จึงมีความแตกต่างกันของสภาวะจิตในขณะปฏิบัติมาก จนผลออกมาไม่เหมือนกัน
การ"หยุดนึกคิดปรุงแต่ง" นี้ จึงเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับธรรมคำสอน ของท่านหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่ได้กล่าวไว้สั้นๆราวกับปริศนาธรรมของเซ็นว่า
"คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดถึงรู้ แต่ก็รู้เพราะคิด" |
ซึ่งเมื่อขยายความ เพื่อความเข้าใจแจ่มแจ้ง มีความหมายว่า "คิดนึกปรุงแต่งเท่าไรก็ไม่รู้จักสงบ(นิโรธ) ต้องหยุดคิดนึกปรุงแต่งจึงรู้จักความสงบ(นิโรธ) แต่ที่รู้ในสิ่งเหล่านี้ได้ก็ด้วยความคิดพิจารณาธรรมหรือธรรมวิจยะนั่นเอง" ซึ่งถ้าขยายความให้ละเอียดลึกซึ้งขึ้นไปอีกหน่อย เพื่อให้เห็นเนื่องไปถึงการเป็นแนวทางนำไปปฏิบัติในชีวิตได้ ก็จะได้ใจความว่า "คิดนึกปรุงแต่งมโนกรรมเท่าไรก็ไม่รู้จักการดับทุกข์(นิโรธ) ต้องหยุดคิดนึกปรุงแต่งมโนกรรมจึงรู้จักการดับทุกข์(นิโรธ) แต่ที่รู้ดั่งนี้ได้ก็ด้วยคิดธรรมวิจยะนั่นเอง"
มีคำสอน ที่แสดงเกี่ยวเนื่องกับการ "หยุดคิดนึกปรุงแต่ง" ของหลวงปู่ไว้อีกมากมาย ดังเช่น
เมื่อจิตกระทบเข้ากับอารมณ์ภายนอกอย่างไร ก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น, อย่าไปทะเลาะวิวาทโต้แย้ง, อย่าไปเอออเห็นดีเห็นงาม ให้จิตได้โอกาสก่อรูปร่างเป็นตุเป็นตะ เป็นเรื่องเป็นราวยืดยาวออกไป อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป อย่าไปใส่ใจอีกต่อไป พอกัน เพียงรู้อารมณ์เท่านี้เอง หยุดกันเพียงเท่านี้ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล |
กล่าวคือ อารมณ์ภายนอก หลวงปู่หมายความถึง การกระทบกับ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์นึกคิดต่างๆที่เกิดจากเหตุภายนอก แล้ว"หยุดคิดนึกปรุงแต่ง"เสียนั่นเอง)
ที่จริงพระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เพียงแต่เจริญจิตให้ รู้แจ้งในขันธ์ ๕, แทงตลอดในปฏิจจสมุปบาท, หยุดการปรุงแต่ง(คืออุทธัจจะในสังโยชน์ ๑๐), หยุดการแสวงหา, หยุดกริยาจิต มันก็จบแค่นี้ เหลือแต่ บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง ว่าง มหาสุญตา ว่างมหาศาล หลวงปู่ดูลย์ อตุโล |
กล่าวคือ การรู้แจ้งในขันธ์ ๕ และปฏิจจสมุปบาท ย่อมหมายถึงการสั่งสมให้เกิดปัญญาอันดียิ่ง แล้ว"หยุดคิดนึกปรุงแต่ง" จึงจะยังผลให้บริบูรณ์ เป็นไปในแนวทางแห่งนิกายเซ็นเช่นกัน จึงเกิดมรรคสมังคีขึ้นได้
ข้อสังเกตุ ความคิดนึกปรุงแต่ง เป็นผลจากปฏิจจสมุปบันธรรม คือการที่เหตุปัจจัยหนึ่ง ยังผลให้เกิดอีกเหตุปัจจัยหนึ่ง แล้วดำเนินดังนี้สืบเนื่องกันต่อๆไป... เกิดขึ้นจากความคิดนึกชนิดมโนกรรม คือความคิดที่เป็นผลที่เกิดขึ้นมาจากสังขารขันธ์(หรืออารมณ์ทางโลก)ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการผัสสะกับสิ่งต่างๆคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์, จึงเป็นเหตุปัจจัยสืบเนื่องให้เกิดสัญเจตนาคือเจตนาหรือความคิดอ่านต่างๆจากความคิดนึกนั้น แล้วจึงเป็นเหตุปัจจัยสืบเนื่องให้เกิดมโนกรรมขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งมโนกรรมนี้นี่เอง สามารถแปรปรวนคือไปเป็นเหตุปัจจัยคือแปรไปทำหน้าที่เป็น"ธรรมารมณ์" ขึ้นอีกได้ เป็นไปดังนี้สืบเนื่องไปได้เรื่อยๆไป... จนกว่าจะขาดเหตุปัจจัยที่หนุนให้เกิดการหมุนเวียนเป็นวงจร แต่เมื่อยังมีเหตุปัจจัยอยู่ก็ยังเกิดการหมุนหนุนเนื่องให้วนเวียนไปได้อย่างยาวนาน เพราะส่งเสริมหนุนเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา ดุจดั่งคลื่นในทะเลที่ซัดหนุนเนื่องกระทบฝั่งอยู่ตลอดเวลา ตราบเท่าที่ยังมีแรงลม(คิดนึกปรุงแต่ง) คลื่นจึงหนุนเนื่องกระทบฝั่งไม่ขาดสาย ไม่มีต้นไม่มีปลายอีกต่อไป ดังภาพที่แสดงกระบวนธรรมของขันธ์ทั้ง ๕ แล้วนำไปคิดนึกปรุงแต่ง จนต่อเนื่องเป็นวงจรของการคิดนึกปรุงแต่ง ดังภาพ
(คิดนึกที่เป็นเหตุ) (ผัสสะ) ธรรมารมณ์ ใจ มโนวิญญาณ สัญญาจํา เวทนา สัญญาหมายรู้ สังขารขันธ์ เกิดสัญเจตนา(เจตนา, คิดอ่าน) กรรม (เช่น เกิดมโนกรรมคือความคิดนึกอันเป็นผลขึ้นนั่นเอง) ที่สามารถแปรไปทำหน้าที่เป็นธรรมารมณ์แบบตอนต้นของกระบวนธรรมได้อีก |
แล้วมโนกรรมที่เกิดขึ้นนี้ในภาพบน แปรไปทำหน้าที่เป็นธรรมารมณ์ได้อีก จึงเกิดการคิดนึกปรุงแต่งหรือก็คืออุทธัจจะนั่นเอง
จึงเกิดการวนเวียนเป็นวงจร ที่ไม่มีต้นไม่มีปลายอีกต่อไป จนเกิดเป็นทุกข์ขึ้นในที่สุด ดังภาพด้านล่าง
จึงหยุดการปรุงแต่งมโนกรรม หรือก็คือการ"หยุดคิดนึกปรุงแต่ง"หรือหยุดอุทธัจจะเสีย
หรือการอุเบกขา ในมโนกรรมที่เกิดขึ้นนั่นเอง อันเป็นสิ่งๆเดียวกัน
รูป หรือ ธรรมารมณ์(คิดที่เป็นเหตุ) ใจ + มโนวิญญูาณขันธ์ เวทนาขันธ์ มโนกรรม แสดงวงจรของขันธ์ทั้ง ๕ ที่คิดนึกปรุงแต่ง สังขารขันธ์(คิดที่เป็นผล-มโนกรรม) สัญญาขันธ์ วงจรแสดงขันธ์ทั้ง๕ ที่วนเวียนคิดนึกปรุงแต่ง |
กล่าวโดนสรุป ธรรมารมณ์ความคิดนึกเป็นสิ่งจำเป็นและะมีประโยชน์ทั้งต่อการดำเนินและดำรงของชีวิต อีกทั้งสามารถผุดนึกผุดจำได้เองจากสัญญาความจำอันเป็นวิสัยของชีวิตที่พึงต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แท้จริงแล้วจึงไปหยุดไปห้ามเขาไม่ได้เลย จำเป็นยิ่งในการดำเนินชีวิตเพราะเราไม่ใช่มนุษย์กลหรือ robot, เราจะรับรู้การเกิดของธรรมารมณ์ที่เป็นเหตุขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อดำเนินไปจนเกิดเวทนาและสังขารขันธ์อีกทั้งมโนกรรมความคิดนึกที่เป็นผลเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง มโนกรรมนี้นี่เองที่มักไปทำหน้าที่ให้เกิดการ"คิดนึกปรุงแต่ง" เราจึงสามารถมีสติรู้เท่าทันมันได้(คือทั้งเวทนา,สังขารขันธ์และมโนกรรม)เพราะเป็นผลที่เกิดขึ้นมาแล้วนั่นเอง อีกทั้งประกอบด้วยปัญญาที่รู้ว่าเป็นโทษ จึงปล่อยวาง ไม่เอา ไม่ยินดียินร้าย หรืออุเบกขาเขาเสีย ได้ทั้งจากเวทนาด้วยปัญญารู้ดีว่าสักว่า มันเป็นเช่นนี้เอง, หรือจากสังขารขันธ์คืออารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเกิดมโนกรรมขึ้น ก็ไม่เอา คือ ปล่อยวาง หรืออุเบกขา ในเหล่าความคิดนึกมโนกรรม โดยการไม่เอาไป"คิดนึกปรุงแต่ง" ให้เกิดการสืบเนื่องของทุกข์สืบไป, ตามแต่สติที่รู้เท่าทันตามจริต หรือปัญญา ที่ได้อบรมสั่งสมไว้นั่นเอง
เมื่อปฏิบัติได้ผลอย่างน้อยที่สุดก็ย่อมดับทุกข์ได้ตามควรแห่งฐานะตน
ทำไม หยุดคิดปรุงแต่ง จึงเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิบัติของนิกายเซ็น