|
(จากส่วนหนึ่งของ มหาปฏิปัฏฐานสูตร)
จิตตานุปัสสนา หมายถึง การปฏิบัติที่ใช้"สติ"อันเนื่องมาจากเป็นส่วนหนึ่งของสติปัฏฐาน ๔ ที่หมายถึงการปฏิบัติที่มีสติเป็นบาทฐานนั่นเอง จิตตานุปัสสนา จึงหมายถึง การใช้"สติ"พิจารณาให้ระลึกรู้เท่าทันคือเห็นอาการของจิตต่างๆ(ดังเช่น เจตสิก ๕๒) หรือจิตตสังขารคือมโนกรรมความคิดนึกอันเป็นผลที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากสังขารขันธ์ที่เกิดขึ้นมานั้นโดยตรง, หรือคือ การใช้สติพิจารณาใจหรือระลึกรู้เท่าทันใจที่เศร้าหมอง หรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์(หมายถึง สิ่งกำหนดหมาย)ว่า ใจนี้ก็สักว่าใจ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา, หรือคือ การกำหนดรู้จิตตามสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ, ดังเช่น จิตมี ราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมี ราคะ โทสะ โมหะ, จิตปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ ฯลฯ. เมื่อสติระลึกรู้ และปัญญาเล็งเห็นว่าให้โทษแล้ว ก็ไม่เอา ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น หยุดคิดนึกปรุงแต่ง หรือก็คือการอุเบกขาเสียนั่นเอง แต่ถ้าให้ถึงที่สุดแล้วก็ไม่ยึดมั่นหมายมั่นทั้งดีและชั่ว ถูกและผิด ทั้งผ่องแผ้วหรือหม่นหมอง
บางทีก็เรียกกันว่าการปฏิบัติแบบ "จิตเห็นจิต หรือคือ สติเห็นจิต จิตหลังที่หมายถึง จิตสังขารคือทั้งสังขารขันธ์และมโนกรรมอันเป็นผล" นั่นเอง
[๒๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า? ภิกษุในธรรมวินัยนี้
จิตมีราคะ ก็รู้(มีสติเท่าทัน)ว่า จิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ
(ราคะ เป็นเจตสิก คืออาการหนึ่งของจิต หรือสังขารขันธ์อารมณ์ทางโลกอย่างหนึ่งที่ประกอบด้วยกิเลสคือความกำหนัด ความยินดีในกาม กล่าวคือ อาการของจิต ที่ไปปรุงแต่งจิตให้เกิดสัญเจตนาความคิดอ่าน ในการกระทำต่างๆ ที่ประกอบด้วยกิเลสความกำหนัดความปรารถนาในกาม นั่นเอง กล่าวคือ จึงต้องมีจิตที่หมายถึงสติ รู้เท่าทันในสังขารขันธ์ เช่น ราคะ หรือจิตตสังขาร คือมโนกรรมความคิดนึกที่เป็นผลเกิดจากสังขารขันธ์นั้นๆโดยตรง)
จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ
(โทสะ เป็นเจตสิกคือสังขารขันธ์ เป็นอาการหนึ่งของจิตหรืออารมณ์ทางโลกที่ประกอบด้วยความโกรธ ความขุ่นข้อง กล่าวคืออาการของจิตหรืออารมณ์ที่ไปปรุงแต่งจิตให้เกิดสัญเจตนาความคิดอ่าน ในการกระทำต่างๆ ที่ประกอบด้วยอำนาจของความโกรธ ขุ่นข้อง)
จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ
(โมหะ เป็นเจตสิกคือสังขารขันธ์ เป็นอาการหนึ่งของจิตที่ประกอบด้วยโมหะความหลง ความไม่รู้ตามความเป็นจริง หรือกลุ่มของความคิดนึกหรือฟุ้งซ่านที่ประกอบด้วยความไม่รู้จริง จึงไปปรุงจิตให้เกิดสัญเจตนาความคิดอ่าน ในการกระทำต่างๆ อย่างหลงผิด ด้วยความไม่รู้นั่นเอง)
จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่
(หดหู่ ก็เป็นเจตสิกในข้อที่ ๒๕ ในเจตสิก ๕๒ คืออาการหนึ่งของจิต หรือสังขารขันธ์อารมณ์ ที่ไปปรุงแต่งจิตให้เกิดสัญเจตนาความคิดอ่านไปในทางหดหู่ใจ ใจหดห่อ แห้งเหี่ยวใจ)
จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน
(ฟุ้งซ่าน
ก็เป็นอาการของจิตอย่างหนึ่ง ที่เรียกอุทธัจจะในข้อที่
๑๗ ในเจตสิก ๕๒ อีกทั้งจัดเป็นสังโยชน์ในข้อที่
๙ รองจากอวิชชาเท่านั้น ที่ไปปรุงแต่งจิตให้คิดอ่านสัญเจตนาไปฟุ้งซ่าน
เป็นอาการของจิตที่ฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่งไปในสิ่งหรือเรื่องต่างๆที่อาจยังให้เกิดกิเลสตัณหาต่างๆ
ซึ่งเกิดขึ้นมาจากความคิดนึกมโนกรรม
แล้วนำไปปรุงแต่งต่อจนเกิดการวนเวียนเป็นวงจรของความคิดนึกฟุ้งซ่านหรือคิดนึกปรุงแต่ง)
จิตเป็นมหรคต(จิตเป็นฌาน, จิตอยู่ในกำลังฌาน, จิตมีกำลังของฌานอยู่) ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต
จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
(จิตอื่นยิ่งกว่า หมายถึงอาการของจิตเป็นเอกหรือเป็นใหญ่อยู่ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ เช่นจิตเป็นเอกอยู่กับการคำบริกรรมพุทโธ หรือจิตเป็นเอกอยู่ในกิจหรืองานใดๆ, หรือจิตเป็นเอกในธรรมที่เป็นเครื่องอยู่เครื่องพิจารณา, หรือจิตหมกมุ่นจดใจจ่อในสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ เช่น วนเวียนปรุงแต่งวอแวอยู่ในสิ่งที่กังวลหรือเป็นทุกข์อยู่เนืองๆ)
จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ (จิตมีความตั้งใจมั่นหรือไม่มี)
จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น
(จิตหลุดพ้นจากกิเลส หรือจากเจตสิกต่างๆดังข้างต้น เช่น จิตหลุดจากโมหะที่เกิดขึ้นนั้นๆแล้ว จึงไม่ได้หมายถึงการหลุดพ้นอย่างถาวร)
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิต (เห็นจิตในจิต หมายถึง การที่จิตคือสติ เห็นจิตตสังขาร ที่หมายถึงสังขารขันธ์จึงรวมถึงมโนกรรมคืออาการของจิตหรืออารมณ์ต่างๆ อย่างระลึกรู้เท่าทัน อีกทั้งปัญญารู้ตามความเป็นจริง เช่น เป็นเพียงสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง จึงไม่เที่ยง ชำแหละจิตจนเห็นว่าจิต เกิดแต่การประกอบกันของเหตุปัจจัย เกิดจากการผัสสะกัน เห็นจิตในจิต ว่าล้วนเกิดขึ้นมา แต่การประกอบเป็นเหตุปัจจัยกันของขันธ์ต่างๆ ดังตัวอย่างที่แสดงด้านล่างนี้) ภายในบ้าง (หมายถึงของตนเอง)
รูป |
พิจารณาเห็นจิตในจิต ภายนอกบ้าง (พิจารณาจิตภายนอก หมายถึงจิตของผู้อื่น)
พิจารณาเห็นจิตในจิต ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (พิจารณาจิตของตนเองบ้าง ของบุคลอื่นบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม(ธรรมชาติ,สภาวธรรม) คือความเกิดขึ้นในจิตบ้าง (เห็นเท่าทันและเข้าใจในขณะการเกิดขึ้นของจิตตามความเป็นจริงอย่างแจ่มแจ้ง ดังตัวอย่างข้างต้น)
พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในจิตบ้าง (เห็นเท่าทันและเข้าใจในการแปรปรวนเสื่อม แล้วเสื่อมดับไปบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในจิตบ้าง (เห็นเท่าทันและเข้าใจทั้งการเกิดขึ้นและการแปรปรวนเสื่อม,ฟุ้งซ่านปรุงแต่งตามเหตุปัจจัยบ้าง)
ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า จิตมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้(หรือเครื่องรับรู้) เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิ(ความเชื่อ,ความยึดมั่น)ไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก(ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯ
(แสดงรายละเอียดของจิต ที่หมายถึง จิตตสังขารหรือสังขารขันธ์)
(พระอภิธรรม ที่ แสดงรายละเอียดของจิตภายในที่มีหมายถึงตน มิได้หมายถึงจิตส่งใน และแสดงจิตภายนอกที่หมายถึงบุคคลอื่นๆ )