|
|
มหาสติปัฏฐานสูตร |
คลิกขวาเมนู |
มิจฉาสมาธิ ย่อมบังเกิดแก่ผู้มี มิจฉาสติ
สัมมาสมาธิ ย่อมบังเกิดแก่ผู้มี สัมมาสติ
มิจฺฉาสติสฺส มิจฺฉาสมาธิ ปโหติ
สมฺมาสติสฺส สมฺมาสมาธิ ปโหติ
(อวิชชาสูตร ๑๙/๑)
|
เป็นสมุทัย เหตุแห่งทุกข์ |
|
||
|
เป็นอุปาทานขันธ์๕ อันเป็นทุกข์ |
|
||
|
สติเห็นกาย,เวทนา,จิตหรือธรรมเป็นเหตุ |
เป็นมรรค ปฏิบัติ |
|
|
|
ผลของสติเห็นกาย,เวทนา,จิต,ธรรม |
เป็นนิโรธ อันพ้นทุกข์ |
|
พนมพร คูภิรมย์
สติกับสมาธินั้นเป็นธรรมที่มีการประสานอาศัยสนับสนุนซึ่งกันและกันอยู่ในที, สติ คือ การระลึกได้ ไม่ลืม ไม่เผลอเรอ การนึกจำขึ้นได้ในสัญญา (ความจำ) จึงอุปมาเหมือนดั่งเส้นเชือกที่ผูกโคที่ไว้กับหลักดีแล้ว วัวจึงไม่หายไปไหน ได้แต่วิ่งวนเวียนไม่หนีหายสูญไปได้นั่นเอง อยู่ในวงรัศมีของเชือกนั้นนั่นแล สามารถดูแลได้(เหมือนดั่งการจำได้บ้าง ลืมไปบ้างนั่นเอง), ส่วนสมาธิก็คล้ายสติ แต่สมาธิเป็นการตรึงจิตไว้กับอารมณ์ได้ดี คือ จึงตรึงจิตไว้กับกิจ หรือไว้กับงานได้ดีกว่า จึงเหมือนดั่งวัวที่ผูกไว้กับหลักดีแล้ว(ด้วยสติ) แต่ยังผูกตอกตรึงวัวนั้นให้หมอบอยู่กับที่ ใม่ให้ดิ้นรนดิ้นพล่านไปที่ใดอีก เราก็ย่อมจัดการใดๆกับโคที่ถูกตรึงดีแล้วนั้น ดังเช่นการนำมาชำแหละได้ง่ายขึ้น หรือใช้ในการพิจารณาใดๆ หรือใช้ปัญญาไปในปัญหาต่างๆ ตลอดจนธัมมวิจยะได้ดีนั่นเอง จึงย่อมสัมฤทธิ์ผลได้ง่ายกว่าการไปวิ่งไล่จับโคที่ปล่อยเป็นอิสระวิ่งเพ่นพล่านไปทั่ว หรือแม้แต่ผูกกับหลักเอาไว้แต่อย่างเดียว อีกทั้งสมาธิยังเป็นกำลังของจิตอันดีเลิศอีกด้วย แต่อย่าไปติดเพลินจนเป็นมิจฉาสมาธิเสีย
สติปัฏฐาน ๔ แปลว่า ที่ตั้งแห่งสติทั้ง ๔, ส่วนมหา แปลว่า ยิ่งใหญ๋ จึงหมายถึง การฝึกสติ หรือการใช้สติเป็นที่ตั้ง ในการปฏิบัติอันยิ่งใหญ่คือสำคัญยิ่ง, สติปัฏฐาน ๔ ที่ตั้งของสติ, การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมันเอง, อันท่านได้กล่าวไว้ในเบื้องท้ายของพระสูตรว่าเป็นทางปฏิบัติสายเอก(เอกายนมรรค) พึงสังวรว่า"สติปัฏฐาน"นั้นเป็นทั้งการฝึกสติและอีกทั้งปัญญา มิใช่การปฏิบัติหรือฝึกฌาน,สมาธิโดยตรง ฌานสมาธิอาจเป็นผลข้างเคียงจากการปฏิบัติ ที่อาจพึงบังเกิดขึ้น แต่ก็เพื่อนำไปใช้ประโยชน์กล่าวคือใจกาย ที่สุข,สงบ,สบาย จากอำนาจของฌานสมาธิที่เกิดขึ้นจากการระงับไปชั่วคราว(วิกขัมภนวิมุตติ)ของเหล่ากิเลสในนิวรณ์ ๕ เพื่อนำไปปฏิบัติวิปัสสนาหรือเจริญวิปัสสนา แต่ถ้าไปยึดติดเพลินในความสุข,สงบ,สบายที่เกิดขึ้นโดยไม่นำพาต่อการวิปัสสนาด้วยอวิชชาแม้โดยไม่รู้ตัวก็ตามที ฌานสมาธินั้นก็จักกลับกลายเป็นฝ่ายมิจฉาสมาธิเสีย
สติ มีลักษณะ ทำให้จิตใจไม่เลื่อนลอย (อปิลาปนลักขณา) หมายถึง จิตไม่ซัดส่ายฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อื่นจากปัจจุบันที่กำหนดอยู่ โดยไม่คิดถึงอดีตหรืออนาคต สติปัฏฐาน แปลว่า เข้าไปตั้งไว้ หมายถึง ความจดจ่ออย่างต่อเนื่อง การสร้างขึ้น การนำมาใช้ การทำให้ปรากฏขึ้นและตั้งอยู่อย่างแนบแน่นและมั่นคง ความจดจ่อ หมายถึง การกำหนดรู้อารมณ์กรรมฐานโดยละเอียด ความต่อเนื่องคือ การตามรู้สภาวธรรมปัจจุบันโดยไม่ขาดจังหวะ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเกิดขึ้นทางทวารใดก็กำหนดรู้ได้ทันปัจจุบัน คำว่า สติปัฏฐาน จึงหมายถึง การทำให้สติเกิดขึ้น และ ดำรงอยู่อย่างแน่นแฟ้นมั่นคง และ แนบสนิทกับอารมณ์ที่กำลังกำหนดรู้อยู่การระลึกรู้เช่นนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า สุปฺปติฏฺฐิต สติ หรือ สติที่ตั้งมั่นด้วยดี (จาก ความหมายของสติปัฏฐาน ๔) |
สติปัฏฐาน ๔ การมีสติเป็นที่ตั้ง หรือประธานในการปฏิบัติ และยังให้เกิดสมาธิเป็นผลตามมาอีกด้วย เนื่องจากเมื่อจิตสงบจากอุบายการอยู่กับกายแบบต่างๆจนละความดำริ(ความคิด)พล่านต่างๆลงไปได้ (ดังรายละเอียดแสดงอยู่ในกายคตาสติสูตร) จิตย่อมสงบ เมื่อจิตสงบกายย่อมสงบเป็นเหตุปัจจัยกัน ย่อมเกิดสุข จิตจึงตั้งมั่นเป็นสมาธิตั้งมั่นได้ดีอีกด้วย อีกทั้งนำไปทำการวิปัสสนาพิจารณาธรรมต่างๆ จึงมีจุดมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่เป็นการฝึกสติ ทั้งสมาธิ(เป็นสมาธิชนิดที่เป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ) และนำไปใช้วิปัสสนา(ปัญญา) เพื่อให้มีสติระลึกรู้เท่าทันในธรรมหรือสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะที่จะเป็นเหตุก่อให้เกิดทุกข์๑. ซึ่งประกอบด้วยการมีสติอย่างตั้งมั่นหรือต่อเนื่อง(สมาธิ)๑. และเป็นสติที่รู้เข้าใจตามความเป็นจริงหรือปัญญาในกาย เวทนา และจิต ธัมมานุปัสสนา๑. ตลอดจนเป็นเครื่องอยู่ของจิตอันดีงามยิ่งยามเมื่อปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพราะเมื่อปฏิบัติอยู่ จิตย่อมมีกิจอันควรกระทำอยู่ หรือเครื่องอยู่(ที่อยู่, ที่กำหนดหมายของจิต)อันควรยิ่ง จิตจึงไม่ส่งส่ายออกไปปรุงแต่งคือฟุ้งว่านจนให้เกิดทุกข์ สติปัฏฐาน ๔ จึงต้องปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่การปฏิบัตเฉพาะเมื่อเวลาปฏิบัติธรรม, ปฏิบัติโดยพยายามให้สติอยู่ในธรรมหรืออยู่ในฐานทั้ง ๔ อันมี ๔ หมวด
กายานุปัสสนา การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันกายและเรื่องทางกาย
เวทนานุปัสสนา
การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันเวทนา
(เวทนา)
จิตตานุปัสสนา การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันจิต หรือสภาพและอาการต่างๆของจิต คือ สังขารขันธ์ เช่น โทสะ โมหะ โลภะ ฟุ้งซ่าน ฯ. หรืออารมณ์ต่างๆทางโลกนั่นเอง จึงรวมทั้ง เจตสิก ๕๐ และมโนกรรมต่างๆอันเป็นผลต่อเนื่องขึ้นอีกด้วย
ธัมมานุปัสสนา การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้เกิดปัญญารู้ตามความเป็นจริง, อีกทั้งมีสติกำกับดูรู้เท่าทันธรรม
เรียกกันสั้นๆว่า มีสติเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม หรือมีสติในกาย เวทนา จิต ธรรม
เมื่อโยนิโสมนสิการจากพระสูตรนี้ จักทำให้เห็นพระพุทธประสงค์ได้อย่างแจ่มแจ้งขึ้น ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ กล่าวคือ สติปัฏฐาน ๔ นั้น เป็นการปฏิบัติที่เน้นตามชื่ออยู่แล้ว คือ การมีสติ ตั้งมั่น แน่วแน่ เป็นประธาน หรือการใช้สติเป็นฐาน เป็นบาทฐานในการปฏิบัติต่างๆ แต่ก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสมาธิร่วมขึ้นด้วยเพียงในระดับหนึ่งที่ยังกอบด้วยสติพร้อมบริบูรณ์ และตลอดจนใช้สติยังให้เกิดปัญญาขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องด้วยเพราะธัมมานุปัสสนานั้น เป็นการใช้สติเป็นแก่น ที่มีสมาธิเป็นองค์ประกอบร่วมด้วยนั้น ไปในในการระลึกรู้เท่าทันธรรมที่หมายครอบคลุมถึงการใช้สติพิจารณาในธรรมต่างๆเพื่อให้เกิดปัญญา ดังที่ท่านหยิบยกมาเป็นแบบอย่างในพระสูตร
ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ เพื่อจุดประสงค์อะไร
มีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้
๑. กายานุปัสสนา คือ เป็นทั้งการฝึกสติ และการใช้สตินั้นไปพิจารณากาย หรือตามดูรู้เท่าทันตามจริงในสังขารกายในแบบต่างๆ ตลอดจนเพื่อนำสติที่ฝึกหัดดีนั้น นํามาพิจารณาและปฏิบัติใน เวทนา จิต และธรรม อีกต่อไป, จุดประสงค์ของกายานุปัสสนาเป็นการฝึกสติในขั้นแรก คือใช้สตินั้นไปพิจารณากาย เพื่อเป็นการฝึกจิตให้มีสติ โดยให้มีสติระลึกรู้อยู่กับกายในแบบต่างๆเช่น อิริยาบถ ลมหายใจ อีกทั้งการพิจารณาให้เห็นความจริงของกายในแบบต่างๆ ฯ. และทำให้จิตมีที่อยู่อันควรคืออยู่กับกายแบบต่างๆจึงลดละการดำริพล่านหรือความคิดพล่านปรุงแต่งต่างๆ(อุทธัจจะ)ไปนั่นเอง เนื่องจากจิตหรือสติไปอยู่กับการพิจารณากายแบบต่างๆนั่นเอง จิตจึงไม่ฟุ้งซ่านออกไปปรุงแต่ง จิตเมื่อไม่ฟุ้งซ่านจึงมีสติอีกทั้งกำลัง, อีกทั้งยังให้เกิดปัญญาและเกิดนิพพิทาความหน่ายคลายกําหนัดและความหลงไหลในกายจากการไปรู้ตามความเป็นจริงต่างๆของกาย อันท่านได้กล่าวอุบายวิธีต่างๆไว้ดังนี้
๑.๑ อานาปานบรรพ หรืออานาปานสติ เป็นการฝึกสติ ให้มีสติตามกําหนดตามลมหายใจเข้า, ลมหายใจออก อันท่านกล่าวไว้ว่าลมหายใจนั้นก็เป็นกายสังขารชนิดหนึ่ง(การกระทําทางกาย) เช่น เดียวกับการยืน นอน เดิน นั่ง ฯ.
การปฏิบัติในข้อนี้มีความสับสนกันมาก เพราะมีความนิยมเอาลมหายใจเช่นกันไปเป็นอุบาย กล่าวคือ เป็นอารมณ์หรือเครื่องกำหนด,เครื่องล่อจิต เพื่อปฏิบัติสมาธิหรือฌาน จริงๆแล้วอานาปานสติเป็นการปฏิบัติวิปัสสนาที่ต้องเป็นการมีสติตามดูรู้เข้าใจลมหายใจอย่างมีสติ มิใช่ขาดสติโดยการปล่อยให้เลื่อนไหลเข้าสู่ภวังค์หรือสมาธิอันแสนสงบสบายแต่อย่างเดียวดังที่นิยมปฏิบัติกันโดยไม่รู้ตัว ด้วยมีความสุข สงบ สบายเป็นเครื่องล่อลวง, แต่ถ้าปฏิบัติสมถสมาธิโดยใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดหรืออารมณ์ ก็ขอให้เป็นไปโดยรู้ตัวว่าทำสมาธิ ก็ถือว่าถูกต้องตามวัตถุประสงค์ แต่มิใช่ว่าตั้งใจฝึกสติ แต่กลับไปทำสมถสมาธิจนจิตระงับด้วยเข้าใจผิด ว่าเพื่อเอาแต่ความสงบ,สุข,สบาย แล้วไปคิดไปนึกเอาเองว่าเป็นการฝึกสติในสติปัฏฐาน ๔
เพราะละการดำริ(คิด)พล่านลงไปได้ จากการที่จิตไปอยู่กับอารมณ์กำหนดหมายได้ดี อันคือลมหายใจ จึงเป็นปัจจัยให้จิตสงบระงับ เป็นปัจจัยให้กายสงบระงับ เมื่อจิตและกายสงบระงับย่อมเป็นปัจจัยให้เป็นสุขสงบ ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้จิตไม่ซัดส่าย ไม่ฟุ้งซ่าน จิตจึงแน่วแน่ คือจิตตั้งมั่น หรือจิตเป็นสมาธิตั้งมั่นนั่นเอง จึงเป็นประโยชน์ยิ่งในการดำเนินการวิปัสสนา
๑.๒ อิริยาบถ กําหนดรู้เท่าทันอิริยาบถ เป็นการฝึกสติ ให้ให้มีสติรู้เท่าทันอิริยาบถต่างๆ เช่น ยืน นอน เดิน นั่ง ฯ.
๑.๓ สัมปชัญญะ เป็นการฝึกสติในขั้นต่อไป กล่าวคือ ขั้นแรกระลึกรู้เพียงอิริยาบทเดียวให้ชำนาญ แล้วให้ฝึกความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการเคลื่อนไหวที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เช่น ในการดื่ม การกิน การเดิน การเคี้ยว ปัสสาวะ อุจจาระ ฯลฯ. (เพื่อให้เกิดความชำนาญหรือเป็นวสี และไม่เกาะเกี่ยวมีสติแต่กับสิ่งใดแต่อย่างเดียว แต่มีสติระลึกรู้ในสิ่งอื่น หรือทั่วพร้อมในสิ่งอื่นๆอีกด้วย เพื่ออำนวยประโยชน์เมื่อนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันในการเห็น กายบ้าง เวทนาบ้าง จิตบ้าง หรือธรรมบ้าง อันล้วนเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน) อยากแนะนำให้ต่อเนื่องสัมพันธ์กันคือสติระลึกรู้ต่อเนื่องในอิริยบถต่างๆที่เปลี่ยนไปมาด้วย ไม่ใช่เดินก็พิจารณาแต่เดินอย่างเดียว เช่น เมื่อเดินก็รู้ว่าเดิน แต่เมื่อดื่มนํ้าก็รู้ว่าดื่มนํ้าคืออิริยบถที่ต่อเนื่องกัน ไม่ใช่อิริยบถเดียวแต่หมายถึงรู้เท่าทันต่อเนื่องกันไป และมีสติระลึกรู้ไม่เพ่งจนแน่วแน่จนเป็นสมาธิระดับสูง เพราะต้องการฝึกสติเป็นหลักหรือประธานตามชื่อพระสูตร ไม่ใช่สมาธิ สมาธิเป็นผลที่เกิดตามมาบ้างเท่านั้น บางท่านฝึกสัมปชัญญะในการเดิน ก็ไปเป็นการฝึกสติตามอิริยบถแต่อย่างเดียวเสียแน่วแน่ต่อเนื่องเป็นสมาธิในการยก การเหยียบ การย่าง ผลที่ออกมาจึงเป็นการเจริญอิริยบถจนเป็นสมถสมาธิแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นการฝึกจึงควรมีสติ ไม่ปล่อยให้เป็นไปในรูปสมาธิเป็นหลัก กล่าวโดยย่อก็คือ มีสติรู้เท่าทันอิริยาบถต่างๆที่เกิดขึ้นหรือสังขารขึ้นนั่นเอง ไม่เกาะเกี่ยวกับอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งโดยเฉพาะดังเช่นในข้อ ๑.๒ อิริยาบถ แต่รู้สึกตัวทั่วพร้อม, จึงเหมาะอย่างยิ่งในการปฏิบัติต่อจากข้อ ๑.๒ อิริยาบถข้างต้น ก็เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ในการปฎิบัติในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ มีสติต่อเนื่องแต่ไม่เกาะเกี่ยวกับสิ่งใดแต่อย่างเดียวจนขาดสติไม่รู้เท่าทันในสิ่งอื่นๆ แต่มีสติรู้เท่าทันในสิ่งต่างๆทั่วพร้อม ดังเช่น สติรู้เท่าทันในกายบ้าง เวทนาบ้าง จิตบ้าง ธรรมบ้าง, จึงไม่ใช่การไปมีสติยึดเกาะแต่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดแต่ฝ่ายเดียวจนไม่มีสติในสิ่งอื่นๆ ซึ่งถ้าเป็นไปอย่างนั้นก็จัดว่าเป็นสติในลักษณะอุปัฏฐานะในวิปัสสนูปกิเลสอันให้โทษ ในพระอภิธรรม ท่านให้คำจำกัดความของ สัมปชัญญะ ไว้ดังนี้ : ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ อันใด นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ (พระไตรปิฏก เล่มที่ ๓๕ ข้อที่ ๔๕๕) หรือการรู้ตัวทั่วพร้อมในกิจหรืองานที่กระทำนั่นเอง, กล่าวคือ สัมปชัญญะ คือ รู้ปัจจุบัน ดังนั้นสติรู้ตอนขณะจะเคลื่อน จะย้าย รู้ตัวอยู่ เรียกว่า สติ, ส่วนสัมปชัญญะตัวนี้คือรู้ปัจจุบัน สติตอนรู้ขณะจะเคลื่อนจะย้ายก็รู้ว่าจะย้าย รู้ตัวไปควบคู่กับจิต เรียกว่า สติสัมปชัญญะ
๑.๔ ปฏิกูลมนสิการ เป็นการใช้สติที่ฝึกนั้น นำสติมาพิจารณาในกายตนว่า ล้วนประกอบด้วยสิ่งที่ไม่สะอาด ปฏิกูลต่างๆทั้งสิ้น เพื่อให้เกิดนิพพิทาคลายความรัก ความหลงใหล ความลุ่มหลง ความยึดถือ ทั้งในกายตน ตลอดจนในกายของบุคคลอื่นๆอีกด้วย
๑.๕ ธาตุมนสิการ เป็นการใช้สติในการพิจารณาให้เห็นว่า กายเรานั้นตามความเป็นจริงขั้นสูงสุด(ปรมัตถ์) หรือแก่นแท้แล้วล้วนเกิดแต่เหตุของธาตุทั้ง ๔ มาเป็นปัจจัยกัน หรือกายสักแต่เกิดจากเหตุ คือธาตุ ๔ มาเป็นปัจจัยประชุมปรุงแต่งรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนอยู่ชั่วขณะหรือระยะหนึ่งๆเท่านั้น จึงเป็นสังขารอย่างหนึ่ง จึงไม่เที่ยง คงสภาพทนอยู่ไม่ได้ จึงต้องดับไป เป็นอนัตตาจึงควบคุมบังคับบัญชาเขาไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น เพื่อให้เกิดนิพพิทา คลายความกำหนัดความยึดถือยึดมั่นต่างๆในกาย
๑.๖ นวสีวถิกา พิจารณาศพในสภาพต่างๆ อันมี ๙ ระยะ เพื่อให้นิพพิทาคลายความยึดมั่น ความหลงใหล ลุ่มหลงในกาย ว่ากายเราหรือบุคคลอื่นๆ ในที่สุดต่างก็ล้วนเป็นอสุภที่เน่าเปื่อยสลายไปเป็นเช่นนี้เป็นที่สุด ในปัจจุบันนี้คงต้องใช้การน้อมนึกพิจารณา
๒. เวทนานุปัสนา การมีสติรู้เท่าทันเวทนา เท่าทันขณะเกิดขึ้นบ้าง เท่าทันขณะที่กำลังแปรปรวนอยู่บ้าง หรือขณะดับไปบ้าง พร้อมทั้งรู้ว่าเป็น สุขเวทนา ทุกขเวทนา เฉยๆหรืออทุกขมสุขก็ดี ทั้งที่มีอามิส(เจือด้วยกิเลส), หรือไม่มีอามิส(เป็นธรรมชาติไม่มีอามิส) ก็รู้ชัดตามที่เป็น (พิจารณาสักนิดตรง รู้ชัดตามที่เป็น ไม่ใช่พยายามไม่ให้เกิด ไม่ให้มี ไม่ให้เป็น) สติรู้เท่าทันเวทนานั้น แล้วไม่ยึดถือเป็นกลางอุเบกขา วางทีเฉย โดยการไม่เอนเอียงไปคิดไปนึกปรุงแต่งไปทั้งในทางดีหรือชั่ว เพราะล้วนเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดเวทนาต่างๆนาๆขึ้นอีกด้วยความไม่รู้หรืออวิชชา
ลองสังเกตุดูความหมายข้างต้น จึงมีความสัมพันธ์กับ "เวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา" ในปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง จึงให้มีสติรู้เท่าทันเวทนานั้นตามความเป็นจริง และประกอบด้วยปัญญาว่า เกิดแต่เหตุปัจจัย คือการผัสสะกันของอายตนะภายนอกและภายใน แล้วย่อมเกิดขึ้น จึงเป็นสังขารอย่างหนึ่ง ย่อมไม่เที่ยง คงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้จึงเป็นทุกข์ในที่สุด เป็นอนัตตาไม่มีตัวตนของตนเองจริง เกิดแต่การประกอบกันขององค์ประกอบย่อยๆ จึงไม่มีใครเป็นเจ้าของ จึงไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา จึงควบคุมบังคับเขาไม่ได้ เป็นไปตามธรรมคือเหตุปัจจัยเท่านั้นเอง มันจึงเป็นเช่นนี้เอง
เมื่อเทียบเคียงกับปฏิจจสมุปบาทแล้ว ก็สามารถกล่าวได้ว่า เป็นอาการที่จิตมีสติที่รู้เท่าทัน เวทนาที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา๑ หรือเวทนามีอามิสที่เกิดในองค์ธรรมชรา อันย่อมเป็นเวทนูปาทานขันธ์ที่เกิดวนเวียนเป็นวงจรอยู่ในองค์ธรรมชรา๑ ในวงจรปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง
๓. จิตตานุปัสสนา การมีสติรู้เท่าทันจิต คือการระลึกรู้เท่าทันทั้ง สังขารขันธ์คืออาการของจิตต่างๆ หรืออารมณ์ในทางโลกต่างๆนั่นเอง เช่นโทสะ โมหะ โลภะ หดหู่ ฯ. และอีกทั้งมโนกรรมคือความคิดความนึก ดังเช่น คิดฟุ้งซ่าน ฯ. อันเกิดมาจากสังขารขันธ์เป็นเหตุปัจจัยนั่นเอง, ระลึกรู้เท่าทันขณะเกิดขึ้นบ้าง เท่าทันขณะที่กำลังแปรปรวน(กำลังคิดปรุง)อยู่บ้าง หรือขณะดับไปแล้วบ้างก็ตามที พร้อมทั้งอาการรู้อยู่ในทีว่าในขณะนั้นว่า จิตมีราคะ ไม่มีราคะ, มีโทสะ ไม่มีโทสะ, มีโมหะ ไม่มีโมหะ, จิตหดหู่, จิตคิดฟุ้งซ่าน(จิตปรุงแต่ง), จิตเป็นสมาธิ, จิตมีสิ่งอื่นยิ่งกว่า, จิตหลุดพ้น ไม่หลุดพ้น ฯ. ก็รู้ชัดตามที่มันเป็นในขณะนั้น (พิจารณาสักนิดตรง รู้ชัดตามที่เป็น ไม่ใช่พยายามไม่ให้เกิด ไม่ให้เป็น เสียแต่ฝ่ายเดียว) และที่สําคัญคือเมื่อปัญญาเห็นว่าเป็นโทษหรือสมควรแก่เหตุแล้ว ให้อุเบกขา วางใจเป็นกลาง วางทีเฉย โดยไม่เอนเอียงไปปรุงแต่งในสังขารขันธ์และมโนกรรมนั้นๆ ไม่ว่าในทางดีหรือทางร้าย เพราะอาจเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาต่างๆนาๆขึ้นอีกต่อเนื่องไป เช่น ทุกขเวทนา
อนึ่งอาการของจิตทั้งหลายหรือเจตสิก ดังเช่นอาการของ ราคะ โทสะ โมหะ ฯลฯ. นั้นมันไม่มีอาการเป็นรูปธรรมแท้จริง แต่เป็นสังขารขันธ์คืออาการของจิตที่ไปเป็นเหตุปัจจัยยังให้เกิดสัญเจตนา ส่งผลเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการกระทำต่างๆ(ทั้งมโนกรรม) ได้ทั้งดี ชั่ว หรือกลางๆแม้ในการดำเนินชีวิตโดยทั่วไปนั่นเอง ดังเช่น ความคิด(มโนสังขาร)ที่ประกอบด้วยราคะ, การทำร้ายผู้อื่นทางกาย(กายสังขาร)ที่ประกอบด้วยโทสะ, การด่าทอต่อว่า(วจีสังขาร)ที่ประกอบด้วยโทสะ, การเกี้ยวพาราสีทั้งด้วยคำพูดทั้งกริยาท่าทางที่ประกอบด้วยราคะ ฯลฯ.
๔. ธัมมานุปัสสนา การมีสติรู้ทันธรรม อันหมายถึง มีธรรมเป็นเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องพิจารณา เครื่องเตือนสติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจหรือปัญญาญาณ ตลอดจนเป็นเครื่องอยู่ของจิต และยังให้เกิดนิพพิทาญาณ เพื่อการดับทุกข์, สติระลึกรู้เท่าทันหรือพิจารณาให้แจ่มแจ้งในธรรม ดังเช่นที่พระองค์ท่านกล่าวถึงก็มี นิวรณ์ ๕, ขันธ์ ๕, อายตนะภายในและภายนอกทั้ง ๑๒, โพชฌงค์ ๗, และอริยสัจจ ๔ อันมี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.
ข้อสังเกตุ การปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน๔ เป็นการปฏิบัติในชีวิตประจําวันในชีวิต จึงไม่ใช่การปฏิบัติเฉพาะในการปฏิบัติพระกรรมฐานที่นั่งพิจารณาในรูปแบบแผนหรือเฉพาะเวลาแต่อย่างเดียว
ถ้านั่งปฏิบัติแบบมีรูปแแบบแผน ให้มีสติอย่าปล่อยให้เลื่อนไหลสู่องค์ฌานหรือสมาธิระดับประฌีต ผ่อนคลายกายและใจ เมื่อดูลมหายใจ ก็จะเกิดอาการต่างๆทางวิปัสสนามาให้เห็น แต่นักปฏิบัติมักจะไม่ชอบ คิดว่าผิด อันไปคิดกันว่าไม่ดี ไม่ถูก จิตไม่สงบ เพราะไม่รู้จึงไม่แยกแยะว่านี่เป็นการฝึกสติ ไม่ใช่ฝึกสมาธิ ไม่ได้ลิ้มรสอร่อยของสมาธิหรือฌานตามที่เข้าใจหรือเคยประสบ, โดยธรรมชาติของจิตนั้น จิตจะส่งออกไปเห็นนั่น เห็นนี่ คิดนั่น คิดนี่ เป็นปกติธรรมดาตามสภาวธรรมหรือธรรมชาติของปุถุชน ตรงนี้แหละที่สําคัญที่สุดในการปฏิบัติ เพราะต้องการให้เห็น ให้รู้ ให้เข้าใจตามธรรม(ธรรมชาติ)ของเวทนาหรือจิตสังขารที่ผุดขึ้นมาเหล่านั้น อันเป็นเหตุให้เกิดจิตปรุงกิเลส ให้มีสติรู้เข้าใจว่านั่นแหละเวทนาหรือจิต(จิตตสังขาร)หรือความคิดความนึกที่เป็นโลภ โกรธ หลง หดหู่ สมาธิ ฌาน ฯ. ก็ให้มีสติรู้ตามความเป็นจริง อย่าไปกดข่ม แค่ต้องรับรู้ตามจริง แล้วเป็นอุเบกขาเป็นกลาง เป็นกลางอย่างไร? เป็นกลางวางทีเฉย โดยการไม่ไปนึกคิดปรุงแต่งเอนเอียงไปในทางใดๆทั้งสิ้นไม่ว่าจะ ดีหรือชั่ว, ถูกหรือผิด เป็นการฝึกอบรมสั่งสมสังขารใหม่อันไม่เกิดแต่อวิชชา จึงเป็นการปฏิบัติเวทนานุปัสสนาหรือจิตตานุปัสสนาที่ถูกต้อง, หรือเมื่อปวดเมื่อยหรือรับรู้ความรู้สึกใดๆที่กระทบทางกายหรือใจ ก็ให้รู้ว่านั่นแหละเวทนา ให้มีสติรู้ว่าเป็นความรู้สึกรับรู้ต่อกายหรือใจเยี่ยงไร มีกิเลสแฝงด้วยไหม แล้วอุเบกขาเป็นกลางวางเฉยไม่ปรุงแต่งเอนเอียงไปในด้านใด รู้สึกอย่างไรก็รู้สึกอย่างนั้น ไม่ใช่หวังว่าอาการนั้นๆต้องหายไป แต่ต้องวางใจเป็นอุเบกขา ไม่ปรุงแต่ง อันเป็นการปฏิบัติเวทนานุปัสสนา เพื่อสร้างสมสังขารใหม่เช่นดั่งจิตตานุปัสสนา, หรือธรรมใดบังเกิดต่อจิตหรือหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ก็ให้พิจารณาธรรมนั้นๆเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมอันมีกําลังของสติที่ไม่ซัดส่ายมีกําลัง เป็นเครื่องช่วย อันเป็นการปฏิบัติธัมมานุปัสสนา, หรือใช้สตินั้นพิจารณากายว่าล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย สักแต่ว่าธาตุ ๔ มาประชุมกันชั่วขณะหรือระยะหนึ่ง หรืออันล้วนแต่เป็นสิ่งปฏิกูล ฯ. เป็นการคลายลดละความยึดถือยึดมั่นในกายแห่งตน อันเป็นการปฏิบัติแบบกายานุปัสสนาอย่างหนึ่งเช่นกัน
พุทธประสงค์ของสติปัฏฐาน ๔ นั้นก็คือ ต้องการให้ฝึกสติและใช้สตินั้นพิจารณาอยู่ในธรรมทั้ง ๔ คือพิจารณาธรรมใดหรือสิ่งใดที่บังเกิดแก่จิตในขณะนั้น หรือตามจริตของผู้ปฏิบัติ ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมให้เกิดปัญญาญาณ(สัมมาญาณ)อันเป็นมรรคองค์ที่ ๙ ในสัมมัตตะ ๑๐ หรือภาวะแห่งความถูกต้องในการปฏิบัติ แล้วยังเป็นเครื่องอยู่ของจิต คือให้จิตวนเวียนเฝ้าปฏิบัติและพิจารณาอยู่ในธรรมเหล่านั้น อันเมื่อปฏิบัติหรือพิจารณาอย่างมีความเพียรไม่ย่อท้อในชีวิตประจําวัน ย่อมส่งผลให้ไม่ส่งจิตฟุ้งซ่านออกนอกไปปรุงแต่ง(คิดนึกปรุงแต่ง) จึงย่อมไม่เกิดการผัสสะให้เกิดเวทนาอันอาจเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดตัณหาจนเป็นทุกข์ อันเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรม และเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องอันเนื่องมาจากการปฏิบัติและพิจารณา และเกิดกําลังแห่งจิตอันเกิดขึ้นจากสภาวะปลอดทุกข์ชั่วขณะ เนื่องจากจิตไม่ส่งออกไปคิดนึกปรุงแต่งภายนอกใดๆ เหล่านี้อันเป็นปัจจัยสําคัญให้เกิดปัญญาญาณอันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสัมมาวิมุตติหรือสุขจากการหลุดพ้น อันเป็นมรรคองค์ที่๑๐ ในสัมมัตตะ ๑๐ ของพระอริยเจ้า
การปฏิบัติหรือพิจารณานั้น หลายท่านมีความสงสัยว่า ไม่ต้องตั้ง "กายให้ตรง ดํารงจิตเฉพาะหน้า"ตามพระสูตรหรือ?
การ "ตั้งกายตรง ดํารงสติเฉพาะหน้า" นั้นใช้ขณะฝึกสติโดยใช้ลมหายใจในเบื้องต้น เพื่อให้การหายใจสะดวก และช่วยให้สติสังเกตุลมหายใจได้ดีขึ้น ดังนั้นในภายหน้า เราควรทําหรือปฏิบัติในชีวิตประจําวันทุกโอกาส หรือทันทีที่สติรู้เท่าทัน หรือตามธรรมใดๆที่บังเกิดขึ้นแก่จิต
พิจารณาธรรมทําอย่างไร? ต้องคิดอย่างไร. ทําไม่เป็น. ปัญญาไม่ดี. หัวไม่ดี. เริ่มไม่ถูก ....ฯลฯ. เหล่านี้เป็นปัญหาข้อสงสัย(วิจิกิจฉา)ของนักปฏิบัติโดยทั่วไป จริงๆแล้วคือให้คิดในข้อธรรมนั้นๆอย่างมีเหตุมีผลเหมือนความคิดทั่วไป และอย่างมีสติ ไม่ซัดส่ายสอดแส่หรือฟุ้งซ่านไปภายนอกหรือไปในความคิดอื่นๆนั่นเอง เพราะเมื่อพิจารณาธรรมไปเรื่อยๆดูราวกับว่าซํ้าๆซากๆ ดูราวกับว่าไม่มีอะไรให้เกิดประโยชน์ แต่ในความเป็นจริงนั้นเมื่อพิจารณาไปเรื่อย บ่อยๆ นานๆ(ไม่ใช่วันเดียวนะครับ) จิตเองย่อมจะเกิดข้อสงสัยต่างๆขึ้น เช่น ทําไมจึงเป็นเช่นนั้น? อย่างนี้ถูกหรือเปล่า? จริงอย่างที่ท่านกล่าวไว้ไหม? เป็นไปได้หรือ? สารพัดสารเพในข้อธรรมเหล่านั้น ทําให้จิตหยุดการส่งออกไปคิดนึกปรุงแต่งในเรื่องอื่นๆอันอาจก่อให้เกิดทุกข์อันทําให้เกิดกําลังแก่จิตโดยไม่รู้ตัว และจิตเองเริ่มพิจารณาหาคําตอบที่สงสัยโดยไม่รู้ตัว จนเกิดความรู้ความเข้าใจทีละน้อยๆโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน อันทําให้เป็นกําลังแก่จิตมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดจักเกิดอาการ อ๋อ มันเป็นเช่นนี้เอง ในธรรมเหล่านั้นขึ้นมา อันเป็นสัมมาญาณที่จําเป็นในการดับทุกข์ หรือก็คือการปฏิบัติให้เกิดสังขารอันสั่งสมอบรมไว้(ในปฏิจจสมุปบาท)ที่ไม่เกิดแต่อวิชชา อันเป็นความเคยชินที่สั่งสมอบรมเพื่อการพ้นทุกข์อย่างแท้จริง
ข้อสังเกตุในหมวดเวทนานุปัสสนา และจิตตานุปัสสนาก็คือ ให้มีสติรู้เท่าทัน และรู้ตามความเป็นจริงของธรรม หมายความว่า ยังมีการเกิดขึ้นของสิ่งเหล่านั้นอยู่ ไม่ใช่ไม่เกิด เช่น จิตมีโมหะ โทสะ โลภะ ก็รู้ว่าจิตมี, หรือมีเวทนาใด ก็รู้ว่ามี เพราะเมื่อปฏิบัติไปสักระยะหรือเมื่อขาดสติหรือเผลอตัว หรือเมื่อเกิดเวทนาหรือจิตสังขารต่างๆขึ้น(คิด)ขึ้นมาแล้ว รู้(แต่ไม่เท่าทันแต่แรก)เลยมักหงุดหงิด มันยังคงต้องมีต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เพราะเมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ เมื่อลืมตัวขาดสติ พอเห็นมันเกิดขึ้นก็ลืมตัวว่า ทําไมยังเกิด? ทําไมยังมี? ท่านขอให้แค่มีสติรู้เท่าทัน เพราะขณะจิตที่เห็นเวทนาหรือจิต(คิด)นั้น จิตจะหยุดทุกข์นั้นชั่วขณะเพราะสติ ตลอดจนเห็นคุณโทษค่อยๆชัดแจ้งขึ้น และข้อสําคัญ....
สติรู้เท่าทันนั้นแล้ว ยังครอบคลุมถึงสติวางใจเป็นกลางหรืออุเบกขา ไม่คิดนึกปรุงแต่งอันยังให้เกิดเวทนา อันอาจยังให้เกิดตัณหาขึ้น ไม่คิดนึกปรุงแต่งไปทั้งในทางดีหรือชั่ว เช่น คิดว่าเราถูก คิดว่าเขาผิด, คิดว่านี่บุญ คิดว่านั่นบาป จึงจะถูกต้องจริงๆ และนี่คือสิ่งที่พระพุทธองค์ต้องการให้เกิดขึ้นจากการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ คือเกิดสังขารที่สั่งสมอบรมอันมิได้เกิดแต่อวิชชาขึ้นใหม่ ที่เกิดแต่ความเข้าใจหรือวิชชา แล้วอุเบกขา เป็นกลาง วางเฉยโดยการไม่ปรุงแต่งไปทั้งในด้านดีหรือชั่ว อันจักเกิดขึ้นได้จากการฝึกฝนปฏิบัติเท่านั้น ไม่ใช่อยู่ดีจะวางจิตเป็นกลางเฉยๆดังความเข้าใจของบางท่าน อย่าไปหงุดหงิดกับการที่ยังมีเกิดขึ้นของเวทนาและจิตสังขารในระยะแรกๆ มันเป็นเช่นนั้นเอง จนกว่าท่านจะปฏิบัติจนเป็นสังขารที่สั่งสมไว้อันดียิ่งมิได้เกิดแต่อวิชชา หรือมหาสตินั่นเอง
เมื่อเกิดเวทนาหรือจิตสังขารขึ้นแล้ว มีสติรู้เท่าทันสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ของเวทนาหรือจิตสังขารที่เกิดขึ้นนั้น และมันเป็นเช่นนั้นเองเป็นธรรมดา ไม่ต้องไปทําอะไรกับเขา เพียงแต่มีสติ แล้วละเสีย ถืออุเบกขาเป็นกลางวางทีเฉย, วางเฉยโดยการไม่คิดนึกปรุงแต่งทั้งทางดีและร้าย เพราะจักยังให้เกิดเวทนา อันอาจเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ตามวงจรปฏิจจสมุปบาท
ข้อสังเกตุและความคิดเห็นของผู้เขียน. ในหมวดธรรมานุปัสสนา อันกล่าวถึงธรรมต่างๆเพื่อเป็นเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติ อันเป็นจุดมุ่งหมายของพระองค์ท่านเพื่อให้เป็นเครื่องอยู่ของจิตและพิจารณาให้เกิดปัญญาญาณ, และมีกล่าวถึงสมาธิหรือองค์ฌานไว้ในหมวดของมรรค ๘ ว่าเป็นสัมมาสมาธิหรือหมายถึงสมาธิที่ถูกต้อง ที่ถูกที่ควร, ถูกต้องจริงแต่หมายถึงในแง่สมถสมาธิเท่านั้น อันไว้เป็นกําลังแห่งจิตหรือพักผ่อนกายและจิตเป็นแค่เครื่องอยู่, ไม่ใช่ในแง่การปฏิบัติวิปัสสนา หรือสติปัฏฐาน ๔ อันเป็นการใช้สติปฏิบัติวิปัสสนาให้รู้แจ้งตามความเป็นจริงแห่งธรรม ดังมีกล่าวไว้ชัดแจ้งดีแล้วใน "สัลเลขสูตร", จึงมีผู้สับสนเป็นจํานวนมาก เพราะมีการอาศัยอุบายวิธีหรือสื่อเดียวกันคือลมหายใจ จึงเกิดความเข้าใจว่าปฏิบัติสมาธิหรือฌานแล้ว เป็นสติปัฏฐาน๔ที่ถูกต้อง เป็นคนละเรื่องกัน, แม้แต่เกิดองค์ฌานตามพระสูตรอันเป็นสัมมาสมาธิก็ต้องไม่ไปยึดติดยึดมั่นในองค์ฌาน ปีติ สุข อุเบกขา นั้นด้วยจึงจะถูกต้อง มิฉนั้นก็จะเกิดวิปัสสนูปกิเลส เช่นเกิดการติดสุขขึ้นได้ อันมักจะทำจิตส่งในอยู่เนืองๆโดยไม่รู้ตัว อันยังผลร้ายแก่นักปฏิบัติในภายหลังเป็นยิ่งนัก
สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ที่ใช้ในการปฏิบัติพระกรรมฐาน
การปฏิบัติสติปัฏฐาน๔ จึงต้องให้เกิดและมีสติเห็นธรรม(ธรรมชาติ)ของเวทนาหรือจิตสังขารคิดที่ไม่สงบเหล่านั้น แล้วถืออุเบกขา ที่ท่านใช้คำว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆในโลกนี้ เพื่อให้เห็นว่าทุกข์นั้นเกิดแต่ใด? อะไรเป็นเหตุ ? เหตุใดจึงดับไปได้? แสดงพระไตรลักษณ์ ตลอดจนธรรมต่างๆเพื่อเป็นเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติ ให้เกิดปัญญา สติปัฏฐาน ๔ จึงเป็นการปฏิบัติทั้งใน สติ สมาธิ และวิปัสสนา(ปัญญา)
กุณฑลิยะ : ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์?
พระพุทธเจ้า : ดูกรกุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์.
กุณฑลิยะ : ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์?
พระพุทธเจ้า : ดูกรกุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์.
|
|
(พระไตรปิฎก ฉบับสมาคมศิษเก่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)
[๒๗๓] ข้าพเจ้า(หมายถึงพระอานนท์เถระ)ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในกุรุชนบท มีนิคมของชาวกุรุ ชื่อว่า กัมมาสทัมมะ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์
เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ
เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส
เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง
เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ,
๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
(อภิชฌา-ความยินดี, ความโลภ ; โทมนัส-ความเสียใจ, ความทุกข์)
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ ฯ
จบอุทเทสวารกถา
[๒๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า (ลืมตาแบบสำรวมก็ได้ สติจะเคลิบเคลิ้มหรือลงภวังค์ได้ยากขึ้น)
เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัด(มีสติ)ว่า เราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร(จังหวะหยุดเปลี่ยนลม) หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายช่างกลึงหรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ขยัน
เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่า เราชักยาว
เมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่าเราชักสั้น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก
ย่อมสำเนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดกองลมทั้งปวง หายใจเข้า
ย่อมสำเนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย(เห็นกายโดยละเอียดและแยบคาย) ภายในบ้าง(กายของตัวตน)
พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง (หมายถึงเห็นกายในกายของบุคคลอื่นๆ)
พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายใน ทั้งภายนอกบ้าง (ทั้งของตนเองบ้าง, ทั้งของผู้อื่นบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม(ธรรมชาติ,สภาวธรรม)คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือ ความเสื่อมในกายบ้าง (พิจารณากาย แม้ลมหายใจ ฯ. ว่าล้วน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในพระไตรลักษณ์)
พิจารณาเห็นธรรมคือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง (พิจารณาการเกิด แล้วต้องดับเสื่อมไป ดังไตรลักษณ์)
ย่อมอยู่อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า
กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้(เพื่อญาณ-ปัญญา) เพียงสักว่าอาศัยระลึก(มีสติ)เท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก(ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน ดังด้วยการอุเบกขาในโพชฌงค์เสียนั่นเอง)
(ไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก เหตุเพราะ ธรรมอันคือทุกสรรพสิ่งต่างล้วนเป็นอนัตตา จึงไม่มีอะไรๆในโลกนี้ ที่เป็นเรา หรือเป็นของเราจริงแม้เพียงสิ่งเดียว เพราะต่างล้วนเป็นไปเพียงตามเหตุปัจจัยเท่านั้น, ไม่เป็นไปตามปรารถนาโดยตรงของเราหรือใครๆได้ เพียงแต่อาจไปตรงกับความปรารถนาของเราหรือใครบ้างบ้าง จึงเกิดการไปยึดปรุงแต่งด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเสียอีกว่า มันเป็นเรา เป็นของเรา มันเป็นไปตามใจปรารถนาของเราได้จริง)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ (อย่างแจ่มแจ้ง)
จบอานาปานบรรพ (๑)
[๒๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเมื่อเดิน ก็รู้ชัด(มีสติ)ว่าเราเดิน
เมื่อยืน ก็รู้ชัด(มีสติ)ว่าเรายืน เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อนอน ก็รู้ชัดว่าเรานอน
หรือ เธอตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้นๆ
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง(กายของตัวตน)
พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง (กายภายนอกหมายถึง กายของบุคคลอื่นๆบ้าง ว่าล้วนเฉกเช่นกัน)
พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายใน ทั้งภายนอกบ้าง (หมายถึงเห็นกายภายในแม้ในบุคคลอื่นๆ โดยการแยกแยะชำแหละพิจารณาด้วยความชาญฉลาด)
พิจารณาเห็นธรรม(ธรรมชาติ,สภาวธรรม)คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง (อาทิเช่น อิริยาบถเป็นเพียง กายกรรมบ้าง เกิดแต่การปรุงแต่งกันของเหตุปัจจัยคือขันธ์ ๕)
พิจารณาเห็นธรรมคือ ความเสื่อมในกายบ้าง (ความเสื่อมความแปรปรวนต่างๆของกาย แม้กายกรรม)
พิจารณาเห็นธรรมคือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง (เช่น พิจารณาการเกิดจากเหตุปัจจัย และความเสื่อม ดังไตรลักษณ์)
ย่อมอยู่อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า
กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้(เพื่อญาณ-ปัญญา) เพียงสักว่าอาศัยระลึก(มีสติ)เท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก(ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน ดังด้วยการอุเบกขาในโพชฌงค์เสียนั่นเอง)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ (อย่างแจ่มแจ้งตามความเป็นจริง)
จบอิริยาปถบรรพ (๒)
[๒๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงผ้าสังฆาฏิบาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง (สัมปชัญญะ หมายถึง รู้ปัจจุบัน(ของกาย) คือสติรู้ตอนขณะจะเคลื่อนจะย้าย หรือเคลื่อนไหว ก็รู้ตัวอยู่ เรียกว่า สติสัมปชัญญะตัวนี้คือรู้ปัจจุบัน สติตอนรู้ขณะจะเคลื่อนจะย้ายก็รู้ว่าจะย้าย, รู้ตัวไปควบคู่กับจิต เรียกว่า สติสัมปชัญญะ)
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง ภายในบ้าง(กายของตัวตน)
พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง (หมายถึงเห็นกายภายในโดยแยบคาย แม้ในบุคคลอื่นๆ)
พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายใน ทั้งภายนอกบ้าง (ทั้งของตนเองบ้าง, ทั้งของผู้อื่นบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม(ธรรมชาติ,สภาวธรรม)คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง (อาทิเช่น เกิดแต่การประชุมกันของเหตุปัจจัย)
พิจารณาเห็นธรรมคือ ความเสื่อมในกายบ้าง (พิจารณาใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในพระไตรลักษณ์ ในการเคลื่อนไหวต่างๆ)
พิจารณาเห็นธรรมคือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง (เช่น พิจารณาการเกิดจากเหตุปัจจัย และความเสื่อมจากพระไตรลักษณ์ จึงล้วนไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา)
ย่อมอยู่อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า
กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้(เพื่อญาณ-ปัญญา) เพียงสักว่าอาศัยระลึก(มีสติ)เท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก(ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน ดังด้วยการอุเบกขาในโพชฌงค์เสียนั่นเอง)
(ไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก เหตุเพราะ ธรรมอันคือทุกสรรพสิ่งต่างล้วนเป็นอนัตตา จึงไม่มีอะไรๆในโลกนี้ ที่เป็นเรา หรือเป็นของเราจริง เพราะต่างล้วนเป็นไปเพียงตามเหตุปัจจัยเท่านั้น, ไม่เป็นไปตามปรารถนาโดยตรงของเราได้ เพียงแต่อาจไปตรงกับความปรารถนาของเราบ้าง จึงเกิดการไปยึดด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเสียอีกว่า มันเป็นของเรา มันเป็นไปตามใจปรารถนาของเรา)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ (อย่างแจ่มแจ้ง)
จบสัมปชัญญบรรพ (๓)
[๒๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุด(โดย)รอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ ผังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้ทบ อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไถ้มีปากสองข้าง เต็มด้วยธัญชาติต่างชนิดคือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง งา ข้าวสาร บุรุษผู้มีนัยน์ตาดี(ปัญญา)แก้ไถ้นั้นแล้ว พึงเห็นได้ว่า นี้ข้าวสาลี นี้ข้าวเปลือก นี้ถั่วเขียว นี้ถั่วเหลือง นี้งา นี้ข้าวสาร ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน (พิจารณาให้เห็นสิ่งต่างๆ ที่ผสมปนเปเป็นปฏิกูล ไม่สะอาดอยู่ภายในกาย ทั้งยังประกอบไปด้วยซากพืช อสุภะของสัตว์ใหญ่น้อย ดุจดังสุสานใหญ่, ทางหนึ่งพึงเข้าทางปาก อีกทางหนึ่งพึงขับถ่ายออกมาปฏิกูลเหลือกำลัง จึงอุปมาได้ดังไถ้ก้นรั่ว ที่มีปากเข้าอยู่ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านก็ก้นรั่วเสีย เติมเท่าไรจึงไม่รู้จักเต็ม จึงต้องหมั่นเติมอยู่เสมอๆ ทุกๆวัน วันละหลายๆครั้ง)
ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ ผังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้ทบ อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง
พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง (หมายถึงเห็นกายภายในแม้ในบุคคลอื่นๆ โดยการแยกแยะชำแหละพิจารณา)
พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายใน ทั้งภายนอกบ้าง (ทั้งของตนเองบ้าง, ทั้งของผู้อื่นบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม(ธรรมชาติ,สภาวธรรม)คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง (อาทิเช่น เกิดแต่การประชุมกันของเหตุปัจจัย)
พิจารณาเห็นธรรมคือ ความเสื่อมในกายบ้าง (พิจารณาเห็นใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของกายบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรมคือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง (เช่น พิจารณากายว่าเกิดจากเหตุปัจจัย และความเสื่อมจากพระไตรลักษณ์ อีกล้วนไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา)
ย่อมอยู่อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า
กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้(เพื่อญาณ-ปัญญา) เพียงสักว่าอาศัยระลึก(มีสติ)เท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก(ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน ดังด้วยการอุเบกขาในโพชฌงค์เสียนั่นเอง)
(ไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก เหตุเพราะ ธรรมอันคือทุกสรรพสิ่งต่างล้วนเป็นอนัตตา จึงไม่มีอะไรๆในโลกนี้ ที่เป็นเรา หรือเป็นของเราจริง เพราะต่างล้วนเป็นไปเพียงตามเหตุปัจจัยเท่านั้น, ไม่เป็นไปตามปรารถนาโดยตรงของเราได้ เพียงแต่อาจไปตรงกับความปรารถนาของเราบ้าง จึงเกิดการไปยึดด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเสียอีกว่า มันเป็นของเรา มันเป็นไปตามใจปรารถนาของเรา)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ (อย่างแจ่มแจ้ง)
[๒๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปรกติโดยความเป็นธาตุ ว่ามีอยู่ในกายนี้ (อันมี)ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ขยัน ฆ่าโคแล้ว แบ่งออกเป็นส่วน นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง ฉันใด(แยกแยะชำแหละ ทั้งให้ผู้สัญจรไปมา เห็นได้อย่างเด่นชัด จึงง่ายต่อการค้าขายเนื้อโคนั้นได้ดี ดังนั้นการแบ่งกายแห่งตนต่างๆออกไป ดังเช่น เป็นธาตุทั้ง ๔ ก็เช่นกัน ก็เพื่อให้พิจารณาเห็นเข้าใจได้ชัดเจน และง่ายต่อการพิจารณาขึ้น)
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้ง อยู่ตามปรกติ โดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน(แร่ธาตุต่างๆ,ของข้นแข็ง) ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม (พิจารณาแยกกาย ให้เห็นว่าเกิดมาแต่เหตุปัจจัยของธาตุทั้ง ๔ จึงจะเห็นกายที่แท้จริงอย่างเด่นชัดทั่วถึง ดุจดั่งเนื้อโคที่แบ่งออกเป็นส่วนแล้ววางขายตรงทาง ๔ แพร่ง ก็เพื่อให้พิจารณาให้เห็นเข้าใจในกายได้โดยทั่วถึงและรวดเร็ว) รายละเอียดของ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง...ฯลฯ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ...................ฯ
[๒๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ที่ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้(ของตนเอง)เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง ฯลฯ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ
[๒๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า อันฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขจิ้งจอกกัดกินอยู่บ้าง หมู่สัตว์ตัวเล็กๆต่างๆ กัดกินอยู่บ้าง
เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง(กายของตัวตน)
พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง (หมายถึงเห็นกายภายในแม้ในบุคคลอื่นๆ)
พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายใน ทั้งภายนอกบ้าง (ทั้งของตนเองบ้าง, ทั้งของผู้อื่นบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม(ธรรมชาติ,สภาวธรรม)คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง (อาทิเช่น ร่างกายเกิดแต่การประชุมกันของเหตุปัจจัยคือธาตุ ๔)
พิจารณาเห็นธรรมคือ ความเสื่อมในกายบ้าง (พิจารณาเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในพระไตรลักษณ์)
พิจารณาเห็นธรรมคือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง (เช่น พิจารณาการเกิดจากเหตุปัจจัย และความเสื่อมจากพระไตรลักษณ์ ตามเหตุปัจจัย จึงล้วนไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา)
ย่อมอยู่อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า
กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้(เพื่อญาณ-ปัญญา) เพียงสักว่าอาศัยระลึก(มีสติ)เท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก(ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน ดังด้วยการอุเบกขาในโพชฌงค์เสียนั่นเอง)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ (อย่างแจ่มแจ้ง)
[๒๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูก ยังมีเนื้อและเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ ฯลฯ
[๒๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูก ปราศจากเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือด ยังมีเส้นเอ็น ผูกรัดอยู่ ฯลฯ
[๒๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูก ปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว ยังมีเส้นเอ็น ผูกรัดอยู่ ฯลฯ
[๒๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูก ปราศจากเส้นเอ็นผูกรัดแล้ว เรี่ยรายไปในทิศใหญ่ทิศน้อย คือกระดูกมือไปทางหนึ่ง กระดูกเท้าไปทางหนึ่ง กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง กระดูกขาไปทางหนึ่ง กระดูกสะเอวไปทางหนึ่ง กระดูกหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสันหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสีข้างไปทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกไปทางหนึ่ง กระดูกไหล่ไปทางหนึ่ง กระดูกแขนไปทางหนึ่ง กระดูกคอไปทางหนึ่ง กระดูกคางไปทางหนึ่ง กระดูกฟันไปทางหนึ่ง กระโหลกศีรษะไปทางหนึ่ง ฯลฯ
[๒๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูกมีสีขาว เปรียบด้วยสีสังข์ ฯลฯ
[๒๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูกกองเรียงรายอยู่แล้วเกินปีหนึ่งขึ้นไป ฯลฯ
[๒๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูกผุ เป็นจุณแล้ว
เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง ภายในบ้าง(กายของตัวตน)
พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง (หมายถึงเห็นกายภายในแม้ในบุคคลอื่นๆ)
พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายใน ทั้งภายนอกบ้าง (ทั้งของตนเองบ้าง, ทั้งของผู้อื่นบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม(ธรรมชาติ,สภาวธรรม)คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง (อาทิเช่น เกิดแต่การประชุมกันของเหตุปัจจัย)
พิจารณาเห็นธรรมคือ ความเสื่อมในกายบ้าง (พิจารณาใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในพระไตรลักษณ์)
พิจารณาเห็นธรรมคือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง (เช่น พิจารณาการเกิดจากเหตุปัจจัย และความเสื่อมจากพระไตรลักษณ์ ตามเหตุปัจจัย อีกทั้งล้วนไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา)
ย่อมอยู่อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า
กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้(เพื่อญาณ-ปัญญา) เพียงสักว่าอาศัยระลึก(มีสติ)เท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก(ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน ดังด้วยการอุเบกขาในโพชฌงค์เสียนั่นเอง)
(ไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก เหตุเพราะ ธรรมอันคือทุกสรรพสิ่งต่างล้วนเป็นอนัตตา จึงไม่มีอะไรๆในโลกนี้ ที่เป็นเรา หรือเป็นของเราจริง เพราะต่างล้วนเป็นไปเพียงตามเหตุปัจจัยเท่านั้น, ไม่เป็นไปตามปรารถนาโดยตรงของเราได้ เพียงแต่อาจไปตรงกับความปรารถนาของเราบ้าง จึงเกิดการไปยึดด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเสียอีกว่า มันเป็นของเรา มันเป็นไปตามใจปรารถนาของเรา)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ (อย่างแจ่มแจ้ง)
จบนวสีวถิกาบรรพ (๖)
จบกายานุปัสสนา
[๒๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เสวยสุขเวทนา(ความรู้สึกรับรู้จากการผัสสะเป็นสุข)อยู่ "ก็รู้ชัด(มีสติระลึกรู้)ว่า เราเสวยสุขเวทนา" หรือ
เสวยทุกขเวทนา(ความรู้สึกรับรู้จากการผัสสะเป็นทุกข์) "ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนา" หรือ
เสวยอทุกขมสุขเวทนา(เฉยๆ,รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์) "ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา" หรือ
เสวยสุขเวทนามีอามิส "ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนามีอามิส" หรือ
เสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส "ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส" หรือ
เสวยทุกขเวทนามีอามิส "ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนามีอามิส" หรือ
(ดังเวทนาในปฏิจจสมุปบาทธรรม ล้วนเป็นเวทนามีอามิสอันเนื่องมาจากอาสวะ กิเลสที่นอนเนื่อง ด้วย โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส นั่นเอง)
เสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส "ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส" หรือ
เสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส "ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส" หรือ
เสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส "ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส"
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา
(การพิจารณาเวทนา ให้เห็นองค์ประกอบในแบบต่างๆของเวทนา เพื่อการเจริญวิปัสสนา ให้เห็นความจริง คือเห็นเวทนาโดยละเอียดและแยบคาย ดังการแยกแยะชำแหละให้เห็นเวทนาเป็นส่วนๆ จึงเห็นการเกิดแต่เหตุใดๆมาเป็นปัจจัยกันตามความเป็นจริงบ้าง เป็นอาทิ) ภายในบ้าง (หมายถึงเวทนาที่เกิดขึ้นภายในตน) ดังเช่น
รูป ตา จักขุวิญญาณ สัญญาจําได้หมายรู้ (รูปสัญญา) จักขุสัมผัสสชาเวทนา (ความรู้สึกรับรู้จากการสัมผัส(ผัสสะะ)กับรูปที่เห็นนั้น พร้อมความจำได้ อย่างใดอย่างหนึ่งต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา) แยกแยะพิจารณาโดยละเอียดและแยบคาย เพราะ เวทนามีอามีส เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดตัณหา หรือสังขารขันธ์ฝ่ายอกุศล ดังเช่น ราคะ โทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ฯ. ดังแสดงในปฏิจจสมุปบาทธรรม เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์อุปาทาน) |
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ภายนอกบ้าง (ภายนอกที่หมายถึงเวทนาของบุคคลอื่นบ้าง)
พิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาทั้งภายใน ทั้งภายนอกบ้าง(ทั้งตนเอง ทั้งผู้อื่นบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม(ธรรมชาติ,สภาวธรรม) คือความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง (เห็นเท่าทันและเข้าใจในการเกิดขึ้นบ้าง ตามความเป็นจริงของการเกิดเวทนา ดังเช่น เกิดแต่เหตุปัจจัยของการผัสสะ ดัง ตากระทบรูป ดังนั้น สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความเกิดของเวทนาขึ้นเป็นธรรมดา)
พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในเวทนาบ้าง (เห็นเข้าใจในการแปรปรวนเสื่อมดับไปบ้าง ว่าจากไม่เที่ยงบ้าง, คงทนอยู่ไม่ได้บ้าง, อนัตตาบ้างตามเหตุปัจจัย)
พิจารณาเห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในเวทนาบ้าง (เห็นเท่าทันและเข้าใจทั้งการเกิดขึ้นบ้างและการแปรปรวนเสื่อมดับไปบ้าง)
ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า
เวทนามีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้(เพื่อญาณ-ปัญญา) เพียงสักว่าอาศัยระลึก(มีสติ)เท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก(ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน ดังด้วยการอุเบกขาในโพชฌงค์เสียนั่นเอง)
(ไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก เหตุเพราะ ธรรมอันคือทุกสรรพสิ่งต่างล้วนเป็นอนัตตา จึงไม่มีอะไรๆในโลกนี้ ที่เป็นเรา หรือเป็นของเราจริง เพราะต่างล้วนเป็นไปเพียงตามเหตุปัจจัยเท่านั้น, ไม่เป็นไปตามปรารถนาโดยตรงของเราได้ เพียงแต่อาจไปตรงกับความปรารถนาของเราบ้าง จึงเกิดการไปยึดด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเสียอีกว่า มันเป็นของเรา มันเป็นไปตามใจปรารถนาของเรา)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯ (รายละเอียดของเวทนา)
(อนึ่ง เมื่อปฏิบัติเวทนานุปัสสนา เห็นเวทนาที่เกิดขึ้นแล้วต้องไม่อาศัยอยู่ ไม่ยึดมั่น คืออาการปล่อยวางหรืออุเบกขา มักหลงผิดไปเกาะไปยึดไปจดจ้อง เวทนา เสียก็มี)
(พระอภิธรรม แสดงความหมายของเวทนาภายใน ที่มิได้หมายถึงอาการจิตส่งใน และแสดงเวทนาภายนอก)
[๒๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้
จิตมีราคะ ก็รู้(มีสติเท่าทัน)ว่า"จิตมีราคะ" หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่า"จิตปราศจากราคะ"
(ราคะ เป็นเจตสิก คืออาการหนึ่งของจิต หรือสังขารขันธ์อารมณ์ทางโลกที่ประกอบด้วยราคะ กล่าวคือ อาการของจิต ที่ไปปรุงแต่งจิตให้เกิดสัญเจตนาความคิดอ่าน ในการกระทำต่างๆ ที่ประกอบด้วยกิเลสความกำหนัดความปรารถนาในกาม นั่นเอง กล่าวคือ จึงต้องมีจิตคือสติ สังเกตุรู้เท่าทันในสังขารขันธ์ อีกทั้งจิตตสังขารคือมโนกรรมความคิดนึกที่เป็นผลเกิดจากสังขารขันธ์นั้นๆด้วยเช่นกัน) (๑)
ราคะ คือความกำหนัด, ความยินดีในกาม, ความติดใจหรือความย้อมใจติดอยู่ในอารมณ์ (สิ่งที่กำหนด จึงเป็นได้ในทุกสิ่งในกามทั้ง ๕ อันมี รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส)
จิตมีโทสะ ก็รู้ว่า"จิตมีโทสะ" หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่า"จิตปราศจากโทสะ"
(โทสะ เป็นเจตสิกคือสังขารขันธ์ เป็นอาการหนึ่งของจิตหรืออารมณ์ทางโลกที่ประกอบด้วยความโกรธความขุ่นข้อง กล่าวคืออาการของจิตหรืออารมณ์ที่ไปปรุงแต่งจิตให้เกิดสัญเจตนาความคิดอ่าน ในการกระทำต่างๆ ที่ประกอบด้วยความโกรธ ขุ่นข้อง) (๒)
จิตมีโมหะ ก็รู้ว่า"จิตมีโมหะ" หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่า"จิตปราศจากโมหะ"
(โมหะ เป็นเจตสิกคือสังขารขันธ์ เป็นอาการหนึ่งของจิตที่ประกอบด้วยโมหะความหลง ความไม่รู้ตามความเป็นจริง หรือกลุ่มของความคิดนึกหรือฟุ้งซ่านที่ประกอบด้วยความไม่รู้จริง จึงไปปรุงจิตให้เกิดสัญเจตนาความคิดอ่าน ในการกระทำต่างๆ อย่างหลงผิด ด้วยความไม่รู้นั่นเอง) (๓)
จิตหดหู่ ก็รู้ว่า"จิตหดหู่" (๔)
(หดหู่ ก็เป็นเจตสิกในข้อที่ ๒๕ ในเจตสิก ๕๒ คืออาการหนึ่งของจิต หรือสังขารขันธ์อารมณ์ ที่ไปปรุงแต่งจิตให้เกิดสัญเจตนาความคิดอ่านไปในทางหดหู่ใจ ใจหดห่อ แห้งเหี่ยวใจ)
จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่า"จิตฟุ้งซ่าน" (๕)
(ฟุ้งซ่าน ก็เป็นอาการของจิตอย่างหนึ่ง ที่เรียกอุทธัจจะในข้อที่ ๑๗ ในเจตสิก ๕๒ อีกทั้งจัดเป็นสังโยชน์ในข้อที่ ๙ รองจากอวิชชาเท่านั้น ที่ไปปรุงแต่งจิตให้คิดอ่านสัญเจตนาไปฟุ้งซ่าน เป็นอาการของจิตที่ฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่งไปในสิ่งหรือเรื่องต่างๆที่อาจยังให้เกิดกิเลสตัณหาต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นมาจากความคิดนึกมโนกรรม แล้วนำไปปรุงแต่งต่อจนเกิดการวนเวียนเป็นวงจรของความคิดนึกฟุ้งซ่านหรือคิดนึกปรุงแต่ง)
จิตเป็นมหรคต(จิตเป็นฌาน, จิตอยู่ในกำลังฌาน, จิตมีกำลังของฌานอยู่) ก็รู้ว่า"จิตเป็นมหรคต" หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่า"จิตไม่เป็นมหรคต" (๖)
จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่า"จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า" หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่า"จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า" (๗)
(จิตอื่นยิ่งกว่า หมายถึงอาการของจิตเป็นเอกหรือเป็นใหญ่อยู่ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ เช่นจิตเป็นเอกอยู่กับการคำบริกรรมพุทโธ หรือจิตเป็นเอกอยู่ในกิจหรืองานใดๆ, หรือจิตเป็นเอกในธรรมที่เป็นเครื่องอยู่เครื่องพิจารณา, หรือจิตหมกมุ่นจดใจจ่อในสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ เช่น วนเวียนปรุงแต่งวอแวอยู่ในสิ่งที่กังวลหรือเป็นทุกข์อยู่เนืองๆ)
จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่า"จิตเป็นสมาธิ" หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่า"จิตไม่เป็นสมาธิ" (จิตมีความตั้งใจมั่นหรือไม่มี) (๘)
จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่า"จิตหลุดพ้น" หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่า"จิตไม่หลุดพ้น" (๙)
(จิตหลุดพ้นจากกิเลส หรือจากเจตสิกต่างๆดังข้างต้น เช่น จิตหลุดจากโมหะที่เกิดขึ้นนั้นๆแล้ว จึงไม่ได้หมายถึงการหลุดพ้นอย่างถาวร)
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิต ภายในบ้าง (หมายถึงของตนเอง)
(เห็นจิตในจิต หมายถึง การที่จิตคือสติเห็นจิตตสังขาร ที่หมายถึงสังขารขันธ์คืออาการของจิตหรืออารมณ์ต่างๆ อย่างระลึกรู้เท่าทัน อีกทั้งปัญญารู้ตามความเป็นจริง เช่น เป็นเพียงสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง จึงไม่เที่ยง ชำแหละจิตจนเห็นว่าจิต เกิดแต่การประกอบกันของเหตุปัจจัย เกิดจากการผัสสะกัน เห็นจิตในจิต ว่าล้วนเกิดขึ้นมา แต่การประกอบเป็นเหตุปัจจัยกันของขันธ์ต่างๆ ดังตัวอย่างที่แสดงด้านล่างนี้)
รูป ตา จักขุวิญญาณ(จิตหนึ่ง) สัญญาจํา(รูปสัญญา) จักขุสัมผัสสชาเวทนา สัญญาหมายรู้(รูปสัญเจตนา) สังขารขันธ์ อาการของจิตต่างๆ หรืออารมณ์ทางโลกๆนั่นเอง ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด สัญเจตนา ความคิดอ่าน จิตสังขาร คือ มโนกรรม |
พิจารณาเห็นจิตในจิต ภายนอกบ้าง (พิจารณาจิตภายนอก หมายถึงจิตของผู้อื่น)
พิจารณาเห็นจิตในจิต ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (พิจารณาจิตของตนเองบ้าง ของบุคลอื่นบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม(ธรรมชาติ,สภาวธรรม) คือความเกิดขึ้นในจิตบ้าง (เห็นเท่าทันและเข้าใจในขณะการเกิดขึ้นของจิตตามความเป็นจริงอย่างแจ่มแจ้ง ดังตัวอย่างข้างต้น)
พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในจิตบ้าง (เห็นเท่าทันและเข้าใจในการแปรปรวนเสื่อม แล้วเสื่อมดับไปบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในจิตบ้าง (เห็นเท่าทันและเข้าใจทั้งการเกิดขึ้นและการแปรปรวนเสื่อม,ฟุ้งซ่านปรุงแต่งตามเหตุปัจจัยบ้าง)
ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า
จิตมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้(เพื่อญาณ-ปัญญา) เพียงสักว่าอาศัยระลึก(มีสติ)เท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก(ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน ดังด้วยการอุเบกขาในโพชฌงค์เสียนั่นเอง)
(ไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก เหตุเพราะ ธรรมอันคือทุกสรรพสิ่งต่างล้วนเป็นอนัตตา จึงไม่มีอะไรๆในโลกนี้ ที่เป็นเรา หรือเป็นของเราจริง เพราะต่างล้วนเป็นไปเพียงตามเหตุปัจจัยเท่านั้น, ไม่เป็นไปตามปรารถนาโดยตรงของเราได้ เพียงแต่อาจไปตรงกับความปรารถนาของเราบ้าง จึงเกิดการไปยึดด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเสียอีกว่า มันเป็นของเรา มันเป็นไปตามใจปรารถนาของเรา)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯ
(แสดงรายละเอียดของจิต ที่หมายถึง จิตตสังขารหรือสังขารขันธ์)
(พระอภิธรรม ที่ แสดงรายละเอียดของจิตภายในที่มีหมายถึงตน มิได้หมายถึงจิตส่งใน และแสดงจิตภายนอกที่หมายถึงบุคคลอื่นๆ )
จิตตานุปัสสนา คือ การที่จิตหรือสติระลึกรู้จิตสังขาร ที่หมายถึงสังขารขันธ์(อารมณ์ทางโลก)ต่างๆเช่นโทสะ โมหะ ฯ. หรือมโนกรรมความนึกคิดต่างๆ ที่เป็นผลเกิดขึ้นจากสังขารขันธ์นั้นๆ แล้วปัญญาเห็นว่าเป็นโทษหรือสมควรแก่เหตุ แล้วอุเบกขา โดยการวางใจเป็นกลาง วางทีเฉย หรือกล่าวโดยกว้างๆ จิตตานุปัสสนา ก็คือ การมีสติ พิจารณาใจที่ผ่องแผ้ว หรือเศร้าหมอง เป็นอารมณ์(สิ่งกำหนดหมาย) กำหนดรู้จิตตามสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ เช่น จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ฯ. ก็รู้ว่าจิตมีราคะ โทสะ โมหะ ฯ., จิตปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ฯ. ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ฯ.
(อนึ่ง เมื่อปฏิบัติจิตตานุปัสสนา เห็นจิตที่เกิดขึ้นแล้วต้องไม่่ยึดมั่นหมายมั่น คือการปล่อยวางหรืออุเบกขา)
[๒๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือ นิวรณ์ ๕
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือนิวรณ์ ๕ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เมื่อกามฉันท์ มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า กามฉันท์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือ
เมื่อกามฉันท์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า กามฉันท์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง
กามฉันท์ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
กามฉันท์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
กามฉันท์ที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อีกอย่างหนึ่ง
(แสดง นิวรณ์ ๕)
เมื่อพยาบาทมีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า พยาบาทมีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือ
เมื่อพยาบาทไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า พยาบาทไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง
พยาบาทที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
พยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
พยาบาทที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อีกอย่างหนึ่ง
เมื่อถีนมิทธะมีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าถีนมิทธะมีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือ
เมื่อถีนมิทธะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า ถีนมิทธะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง
ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
ถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
ถีนมิทธะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อีกอย่างหนึ่ง
เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะ มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุทธัจจกุกกุจจะมีอยู่ณ ภายใน จิตของเรา หรือ
เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุทธัจจกุกกุจจะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง
อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
อุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
อุทธัจจกุกกุจจะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อวิจิกิจฉามีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า วิจิกิจฉามีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือ
เมื่อวิจิกิจฉาไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า วิจิกิจฉาไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง
วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
วิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
วิจิกิจฉาที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม(เห็นธรรมโดยละเอียดและแยบคาย โดยการพิจารณาแยกชำแหละจนเห็นเหตุปัจจัยบ้างฯ.) ภายในบ้าง (ธรรมดังนี้ ที่เกิดขึ้นในตนบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรมในธรรม ภายนอกบ้าง (ธรรมดังนี้ ที่เกิดขึ้นในบุคคลอื่นๆบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (ธรรมดังนี้ ที่เกิดขึ้นทั้งในตนเองบ้าง หรือในบุคคลอื่นบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง (เห็นการเกิดขึ้นของธรรมนี้บ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในธรรมบ้าง (เห็นการเสื่อมดับไปของธรรมนี้บ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง (เห็นการเกิด ทั้งการดับไปตามเหตุปัจจัยของธรรมนี้บ้าง)
ย่อมอยู่ อีกอย่าง หนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า
ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้(เพื่อญาณ-ปัญญา) เพียงสักว่าอาศัยระลึก(มีสติ)เท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก(ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน ดังด้วยการอุเบกขาในโพชฌงค์เสียนั่นเอง)
(ไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก เหตุเพราะ ธรรมอันคือทุกสรรพสิ่งต่างล้วนเป็นอนัตตา จึงไม่มีอะไรๆในโลกนี้ ที่เป็นเรา หรือเป็นของเราจริง เพราะต่างล้วนเป็นไปเพียงตามเหตุปัจจัยเท่านั้น, ไม่เป็นไปตามปรารถนาโดยตรงของเราได้ เพียงแต่อาจไปตรงกับความปรารถนาของเราบ้าง จึงเกิดการไปยึดด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเสียอีกว่า มันเป็นของเรา มันเป็นไปตามใจปรารถนาของเรา)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือนิวรณ์ ๕ อยู่ ฯ (นิวรณ์ ๕)
จบนิวรณบรรพ (๑)
[๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม(เห็นโดยละเอียดและแยบคาย ดังชำแหละออกให้เห็นเกิดแต่เหตุใดมาเป็นปัจจัยกัน เป็นอาทิ) คือ อุปาทานขันธ์ ๕ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออุปาทานขันธ์ ๕ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นดังนี้ว่า
อย่างนี้(คือ)รูป อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป
(ดังเช่น นี่คือรูปขันธ์ เป็นสังขารปรุงแต่งอย่างหนึ่งของธาตุทั้ง ๔ เกิดแต่เหตุปัจัยปรุงแต่ง จึงคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้ จึงต้องดับไป เป็นอนัตตา)
อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา อย่างนี้ความดับแห่งเวทนา
(นี้คือเวทนาขันธ์ ความรู้สึกรับรู้ที่ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เกิดจากการผัสสะของอายตนะภายนอกกับภายใน แล้วคงสภาพเดิมอยู่ไมได้ด้วยทุกขัง เป็นอนัตตา)
อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา อย่างนี้ความดับแห่งสัญญา
(นี้คือสัญญาขันธ์ ความจำได้หมายรู้ เกิดขึ้นเมื่อมีการผัสสะจึงเกิดเวทนา แล้วคงสภาพเดิมอยู่ไมได้ด้วยทุกขัง เป็นอนัตตา)
อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร อย่างนี้ความดับแห่งสังขาร
(นี้คือสังขารขันธ์ อาการของจิตหรืออารมณ์ต่างทางโลก เกิดแต่การที่ขันธ์ ทั้ง ๕ กระทบกัน เกิดเวทนา เกิดสัญญา จึงเกิดสังขารขันธ์ต่างๆขึ้น เป็นทุกขัง และอนัตตา)
อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ
(นี้คือวิญญาณ ความรู้(แจ้ง)ในอายตนะภายนอก ที่เกิดจากการกระทบกับอายตนะภายในต่างๆ เช่นตา ไม่เที่ยงคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา)
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม(เห็นธรรมโดยละเอียดและแยบคาย โดยการพิจารณาแยกชำแหละจนเห็นเหตุปัจจัยบ้างฯ.) ภายในบ้าง (ธรรมดังนี้ ที่เกิดขึ้นในตนบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรมในธรรม ภายนอกบ้าง (ธรรมดังนี้ ที่เกิดขึ้นในบุคคลอื่นๆบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (ธรรมดังนี้ ที่เกิดขึ้นในตนเองบ้าง หรือในบุคคลอื่นบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง (เห็นการเกิดขึ้นของธรรมนี้บ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในธรรมบ้าง (เห็นการเสื่อมดับไปของธรรมนี้บ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง (เห็นการเกิด ทั้งการเสื่อมดับไปตามเหตุปัจจัยของธรรมนี้บ้าง)
ย่อมอยู่ อีกอย่าง หนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า
ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้(เพื่อญาณ-ปัญญา) เพียงสักว่าอาศัยระลึก(มีสติ)เท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก(ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน ดังด้วยการอุเบกขาในโพชฌงค์เสียนั่นเอง)
(ไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก เหตุเพราะ ธรรมอันคือทุกสรรพสิ่งต่างล้วนเป็นอนัตตา จึงไม่มีอะไรๆในโลกนี้ ที่เป็นเรา หรือเป็นของเราจริง เพราะต่างล้วนเป็นไปเพียงตามเหตุปัจจัยเท่านั้น, ไม่เป็นไปตามปรารถนาโดยตรงของเราได้ เพียงแต่อาจไปตรงกับความปรารถนาของเราบ้าง จึงเกิดการไปยึดด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเสียอีกว่า มันเป็นของเรา มันเป็นไปตามใจปรารถนาของเรา)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คืออุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ ฯ (อุปาทานขันธ์ ๕)
จบขันธบรรพ (๒)
[๒๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คืออายตนะภายในและภายนอก ๖ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คืออายตนะภายในและภายนอก ๖ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมรู้จักนัยน์ตา รู้จักรูป, และรู้จักนัยน์ตาและรูปทั้ง ๒ นั้น อันเป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์ อนึ่ง
(อันพึงเกิดขึ้นจากการกระทบกันของอายตนะภายนอกกับภายใน เช่น ตา กระทบ รูป หู กระทบ เสียง ฯลฯ.)
สังโยชน์ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
สังโยชน์ที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
ภิกษุย่อมรู้จักหู รู้จักเสียงทั้ง ๒ นั้น..., ภิกษุย่อมรู้จักจมูก รู้จักกลิ่น..., ภิกษุย่อมรู้จักลิ่น รู้จักรส..., ภิกษุย่อมรู้จักกาย รู้จักสิ่งที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย,
ภิกษุย่อมรู้จักใจ รู้จักธรรมารมณ์ ทั้ง ๒ นั้น, อันเป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์ อนึ่ง
สังโยชน์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย (เกิดการกระทบของอายตนะต่างๆ)
สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้น ด้วย (สติเท่าทัน แล้วไม่ยึดถือ)
สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้น ด้วย (สำรวม สังวร ระวัง)
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม (เห็นธรรมโดยละเอียดและแยบคาย โดยการพิจารณาแยกชำแหละจนเห็นเหตุปัจจัยบ้างฯ.) ภายในบ้าง (ธรรมดังนี้ ที่เกิดขึ้นในตนบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรมในธรรม ภายนอกบ้าง (ธรรมดังนี้ ที่เกิดขึ้นในบุคคลอื่นๆบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (ธรรมดังนี้ ที่เกิดขึ้นในตนเองบ้าง หรือในบุคคลอื่นบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง (เห็นการเกิดขึ้นของธรรมนี้บ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในธรรมบ้าง (เห็นการดับไปของธรรมนี้บ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง (เห็นการเกิด ทั้งการดับไปตามเหตุปัจจัยของธรรมนี้บ้าง)
ย่อมอยู่ อีกอย่าง หนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า
ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้(เพื่อญาณ-ปัญญา) เพียงสักว่าอาศัยระลึก(มีสติ)เท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก(ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน ดังด้วยการอุเบกขาในโพชฌงค์เสียนั่นเอง)
(ไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก เหตุเพราะ ธรรมอันคือทุกสรรพสิ่งต่างล้วนเป็นอนัตตา จึงไม่มีอะไรๆในโลกนี้ ที่เป็นเรา หรือเป็นของเราจริง เพราะต่างล้วนเป็นไปเพียงตามเหตุปัจจัยเท่านั้น, ไม่เป็นไปตามปรารถนาโดยตรงของเราได้ เพียงแต่อาจไปตรงกับความปรารถนาของเราบ้าง จึงเกิดการไปยึดด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเสียอีกว่า มันเป็นของเรา มันเป็นไปตามใจปรารถนาของเรา)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คืออายตนะภายในและภายนอก ๖ อยู่ ฯ (รายละเอียดของอายตนะต่างๆอยู่ในบทขันธ์ ๕, ส่วนสังโยชน์อยู่ในบทสังโยชน์)
จบอายตบรรพ (๓)
[๒๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือโพชฌงค์ ๗ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม(เห็นธรรมโดยละเอียดและแยบคาย โดยการพิจารณาแยกชำแหละจนเห็นเหตุปัจจัยบ้างฯ.)คือโพชฌงค์ ๗ อย่างไรเล่า ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้
เมื่อสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า สติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือ
เมื่อสติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า สติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง
สติสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
สติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อีกอย่างหนึ่ง
เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือ
เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อีกอย่างหนึ่ง
เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต... ฯลฯ อีกอย่างหนึ่ง
เมื่อปีติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต... ฯลฯ อีกอย่างหนึ่ง
เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต... ฯลฯ อีกอย่างหนึ่ง
เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ฯลฯ อีกอย่างหนึ่ง
เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือ
เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
พิจารณาเห็นธรรมในธรรม ภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม ในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรมบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมในธรรมบ้าง
ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า
ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้(เพื่อญาณ-ปัญญา) เพียงสักว่าอาศัยระลึก(มีสติ)เท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก(ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน ดังด้วยการอุเบกขาในโพชฌงค์เสียนั่นเอง)
(ไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก เหตุเพราะ ธรรมอันคือทุกสรรพสิ่งต่างล้วนเป็นอนัตตา จึงไม่มีอะไรๆในโลกนี้ ที่เป็นเรา หรือเป็นของเราจริง เพราะต่างล้วนเป็นไปเพียงตามเหตุปัจจัยเท่านั้น, ไม่เป็นไปตามปรารถนาโดยตรงของเราได้ เพียงแต่อาจไปตรงกับความปรารถนาของเราบ้าง จึงเกิดการไปยึดด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเสียอีกว่า มันเป็นของเรา มันเป็นไปตามใจปรารถนาของเรา)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุ ชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือโพชฌงค์ ๗ อยู่ ฯ (โพชฌงค์ ๗)
จบโพชฌงคบรรพ (๔)
จบภาณวารที่หนึ่ง
[๒๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออริยสัจ ๔ อยู่ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไรเล่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา(มรรค) ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์ แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็เป็นทุกข์ แม้ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ แม้ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ (สรุปลงกล่าว)โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ฯ
[๒๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชาติเป็นไฉน ความเกิด ความบังเกิดความหยั่งลงเกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชาติ ฯ
ก็ชราเป็นไฉน ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังเป็นเกลียว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชราฯ (ผู้ที่ยังลังเลสงสัยเรื่องชราในปฏิจจสมุปบาท)
ก็มรณะเป็นไฉน ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่ามรณะ ฯ
ก็โสกะเป็นไฉน ความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะแห่งบุคคลผู้แห้งใจ ความผาก ณ ภายใน ความแห้งผาก ณ ภายใน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้ เรียกว่าโสกะ ฯ
ก็ปริเทวะเป็นไฉน ความคร่ำครวญ ความร่ำไร รำพัน กิริยาที่คร่ำครวญ กิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ ภาวะของบุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าปริเทวะ ฯ
ก็ทุกข์เป็นไฉน ความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่กายสัมผัส อันนี้เรียกว่าทุกข์ ฯ
ก็โทมนัสเป็นไฉน ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่มโนสัมผัส อันนี้เรียกว่าโทมนัส ฯ
ก็อุปายาสเป็นไฉน ความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้น ภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าอุปายาส ฯ
ก็ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความประสบ ความพรั่งพร้อม ความร่วม ความระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็น ประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่ เกษมจากโยคะ ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ฯ
ก็ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความไม่ประสบ ความไม่พรั่งพร้อม ความไม่ร่วม ความไม่ระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนา ประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตร อมาตย์หรือ ญาติสาโลหิต ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็ เป็นทุกข์ ฯ
ก็ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเกิดเป็นธรรมดา ขอความเกิดอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความแก่เป็นธรรมดา ขอความแก่อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้ สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเจ็บเป็นธรรมดา ขอความเจ็บอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่า ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมความตายเป็นธรรมดา ขอความตายอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส เป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีโสก ปริเทว ทุกข โทมนัส อุปายาส เป็นธรรมดา ขอโสก ปริเทว ทุกข โทมนัส อุปายาส อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ฯ (ล้วนเป็นทุกข์ธรรมชาติทั้ง ๑๑)
ก็โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นไฉน อุปาทานขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้เรียกว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ (อัน)เป็นทุกข์ ฯ (ขันธ์ ๕ ซึ่งถูกครอบงำหรือประกอบด้วยอุปาทาน เป็นทุกข์ที่เกิดจากเหตุคือ ตัณหาแลอุปาทาน)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ ฯ
[๒๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขสมุทัยอริยสัจ เป็นไฉน ตัณหานี้ใด อันมีความเกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์(สิ่งที่จิตกำหนดหมาย)นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ฯ
[๒๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ตัณหานี้นั้น เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่ไหน เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่ไหน ที่ใดเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหานั้น เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ อะไรเป็นที่รัก ที่เจริญใจในโลก ฯ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ ณ ที่นี้ ฯ
รูป (อารมณ์ที่รู้ได้ด้วยจักษุ, สิ่งที่ปรากฏแก่ตา) เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ ณ ที่นี้ ฯ
จักขุวิญญาณ (ข้อมูลหรือการรู้แจ้งที่เกิดขึ้นเพราะรูปกระทบตาหรือการเห็น) โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ เป็นที่รักที่เจริญในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ ณ ที่นี้ ฯ
จักขุสัมผัส (อาการที่ตา รูป และจักขุวิญญาณประจวบกัน หรือเกิดขึ้นครบองค์) โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโน สัมผัส เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ ณ ที่นี้ ฯ (เรียกรวมกันทั่วไปว่า ผัสสะ นั่นเอง)
จักขุสัมผัสสชาเวทนา (คือเวทนา-เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่ ตา รูป และจักขุวิญญาณประจวบกัน) โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ ณ ที่นี้ ฯ (เรียกรวมกันทั่วไปว่า เวทนา นั่นเอง)
รูปสัญญา (ความจำได้หมายรู้ในรูป) สัททสัญญา(ความหมายรู้เสียง) คันธสัญญา(ความหมายรู้กลิ่น ) รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา(หมายรู้ในธรรมารมณ์) เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ ณ ที่นี้ ฯ
ตา รูป(อาหาร) จักษุวิญญาณ ผัสสะ สัญญาจำได้(รูปสัญญาจึงย่อมจำได้ในอาหารนั้นว่าเป็นอาหาร พร้อมทั้งจำอะไรๆในอาหารนั้นได้ อร่อย ไม่อร่อย หวาน ขม อมเปรี้ยว ฯ.) |
รูปสัญเจตนา (ความคิดอ่านในรูปที่เห็น เกิดต่อจากรูปสัญญา) สัททสัญเจตนา(ความคิดอ่านในเสียงที่ได้ยิน) คันธสัญเจตนา(ความคิดอ่านในกลิ่นที่ได้ดม) โผฏฐัพพสัญเจตนา(ความคิดอ่านในผัสสะที่ได้กระทบ) ธัมมสัญเจตนา(ความคิดอ่านในธรรมารมณ์ที่ได้คิดนึก) เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ ณ ที่นี้ ฯ (จึงส่งผลให้เกิดสังขารขันธ์คืออารมณ์คืออารมณ์ต่างๆขึ้น)
ตา รูป(อาหาร) จักขุวิญญาณ ผัสสะ รูปสัญญา(จำได้) เวทนา รูปสัญเจตนา สังขารขันธ์ จึงเป็นผลให้เกิดสัญเจตนา เป็นผลให้เกิดกรรมคือการกระทำต่างๆทางกาย วาจา ใจ(มโนกรรม) |
รูปตัณหา (ความอยากในรูป) สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหาา ธัมมตัณหา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ ณ ที่นี้ ฯ
รูปวิตก (ความตรึก-คิด ในรูป เกิดต่อจากรูปตัณหา) สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตก เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ ณ ที่นี้ ฯ
รูปวิจาร (ความตรอง-พิจารณา ในรูป เกิดต่อจากรูปวิตก) สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจาร เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ ณ ที่นี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ(เรียกโดยย่อว่า สมุทัย) ฯ
[๒๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน ความสำรอก และความดับโดยไม่เหลือ ความสละ ความส่งคืน ความปล่อยวาง ความไม่มีอาลัยในตัณหานั้น ก็ตัณหานั้น เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่ไหน เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่ไหน ที่ใดเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ ณ ที่นี้ ฯ
อะไรเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ฯ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก
ตัณหาเมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้
รูปเสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก
ตัณหาเมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ
จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก
ตัณหาเมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ
จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโน สัมผัส เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก
ตัณหาเมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ (เรียกรวมกันทั่วไปว่า ผัสสะ นั่นเอง)
จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา เป็นที่รัก ที่เจริญใจในโลก
ตัณหาเมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ (เรียกรวมกันทั่วไปว่า เวทนา นั่นเอง)
รูปสัญญา (ความจำได้,หมายรู้ในรูป) สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก
ตัณหาเมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ
ตา รูป(อาหาร) จักษุวิญญาณ ผัสสะ สัญญาจำได้(รูปสัญญาจึงย่อมจำได้ในอาหารนั้นว่าเป็นอาหาร พร้อมทั้งจำอะไรๆในอาหารนั้นได้ อร่อย ไม่อร่อย หวาน ขม อมเปรี้ยว ฯ.) |
รูปสัญเจตนา (ความคิดอ่านในรูปที่เห็น เกิดต่อจากรูปสัญญา) สัททสัญเจตนา(ความคิดอ่านในเสียงที่ได้ยิน) คันธสัญเจตนา(ความคิดอ่านในกลิ่นที่ได้ดม) โผฏฐัพพสัญเจตนา(ความคิดอ่านในผัสสะที่ได้กระทบ) ธัมมสัญเจตนา(ความคิดอ่านในธรรมารมณ์ที่ได้คิดนึก) เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก
ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ
ตา รูป(อาหาร) จักขุวิญญาณ ผัสสะ รูปสัญญา(จำได้) เวทนา รูปสัญเจตนา สังขารขันธ์ จึงเป็นผลให้เกิดสัญเจตนา เป็นผลให้เกิดกรรมคือการกระทำต่างๆทางกาย วาจา ใจ(มโนกรรม) |
รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก
ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ
รูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตก เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก
ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ
รูปวิจาร สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจาร เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก
ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ(เรียกกันโดยย่อว่า นิโรธ) ฯ
[๒๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริสัจ(มรรค)เป็นไฉน นี้คือมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ คือ
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ก็สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อันนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิฯ
สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในความไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน อันนี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ฯ
สัมมาวาจา เป็นไฉน การงดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ อันนี้เรียกว่า สัมมาวาจา ฯ
สัมมากัมมันตะ เป็นไฉน การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม อันนี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะฯ
สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ อันนี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ ฯ
สัมมาวายามะ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดฉันทะพยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ไม่เลือนหาย เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้น เต็มเปี่ยม แห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว อันนี้เรียกว่า สัมมาวายามะ ฯ
สัมมาสติ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ อันนี้เรียกว่า สัมมาสติ ฯ
(สติกับสมาธินั้นมีการทำงานประสานอาศัยสนับสนุนซึ่งกันและกันอยู่, สติ การระลึกได้ ไม่ลืม ไม่เผลอเรอ ก็อุปมาเหมือนดั่งเส้นเชือกที่ผูกโคที่ไว้กับหลักดีแล้ว วัวจึงไม่หายไปไหน ได้แต่วิ่งวนเวียนไม่หนีหายสูญไปได้นั่นเอง อยู่ในวงรัศมีของเชือกนั้นนั่นแล, ส่วนสมาธิก็คล้ายสติ แต่สมาธิตรึงจิตไว้กับกิจหรือไว้กับงาน ได้ดีกว่า จึงเหมือนดั่งวัวที่ผูกไว้กับหลักดีแล้ว(ด้วยสติ) แต่ยังผูกตอกตรึงวัวนั้นให้หมอบอยู่กับที่ ใม่ให้ดิ้นรนดิ้นพล่านไปที่ใดอีก เราก็ย่อมจัดการใดๆกับโคที่ถูกตรึงดีแล้วนั้น ดังเช่น แม้การนำมาชำแหละได้ง่ายขึ้น หรือใช้ในการพิจารณาใดๆ หรือใช้ปัญญาไปในปัญหาต่างๆ ตลอดจนธัมมวิจยะได้ดีนั่นเอง จึงย่อมสัมฤทธิ์ผลได้ง่ายกว่าการไปวิ่งไล่จับโคที่ปล่อยเป็นอิสระวิ่งเพ่นพล่านไปทั่ว หรือแม้แต่ผูกกับหลักเอาไว้แต่อย่างเดียว อีกทั้งสมาธิยังเป็นกำลังของจิตอันดีเลิศอีกด้วย แต่อย่าไปติดเพลินจนเป็นมิจฉาสมาธิเสีย)
สัมมาสมาธิ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุข เกิดแต่วิเวกอยู่
เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติ และสุข อันเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมี อุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย
เพราะปีติสิ้นไป (มีแต่สุข และอุเบกขา)บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ฯ
(สมาธิภาวนา มี ๔ ประการ สัมมาสมาธิในฌาน ๔ นี้ เป็นสมาธิภาวนา ชนิดเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ตามพระวินัยหรือตามอัตตภาพ
พึงเข้าใจด้วยว่า ยังเป็นเพียงสัมมาสมาธิ ของสมถสมาธิ เป็นการกล่าวแสดงธรรมถึงอาการของสัมมาสมาธิ จึงไม่ใช่การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ แล้วต้องให้เป็นสมาธิดังนี้ ด้วยเข้าใจผิดในข้อธรรมนี้ ที่ยังเป็นเพียงการกล่าวอธิบายถึงประโยชน์ตลอดจนอาการต่างขององค์ฌานของฌาน และเป็นที่นิยมปฏิบัติแต่สมาธิหรือฌานกันโดยทั่วไปด้วยเข้าใจผิดว่าเป็นสติปัฏฐานหรือการฝึกสติอีกด้วย เพราะแม้สัมมาสมาธิล้วนๆอันละเอียดประณีตสูงสุดแต่ประการใด ก็ยังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์อย่างถาวร ยังเป็นวิกขัมภนวิมุตติ เป็นเพียงเครื่องอยู่ ให้อยู่สบายในพระวินัย ก็เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เป็นเครื่องสนับสนุนการวิปัสสนา ก็เพื่อให้เกิดสัมมาปัญญา กล่าวคือ เป็นเครื่องอยู่เครื่องอบรมจิตให้คลายในกามราคะ ก็เพื่อยังประโยชน์ในการเจริญวิปัสสนา จึงจักเป็นการพ้นไปจากทุกข์อย่างถูกต้องและถาวร จึงเป็นโลกุตตระวิมุตติอันไม่กลับกลายหายสูญ, เป็นไปดังพระดำรัสตรัสแสดงในสีลเลขสูตร, หรือตาม หลักเกณฑ์ในการปฏิบัติสมาธิ-ปัญญา ของหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ประกอบการพิจารณา)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามิมีปฏิปทาอริยสัจ(มรรค) ฯ
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็น ธรรมในธรรม(เห็นธรรมโดยละเอียดและแยบคาย โดยการพิจารณาแยกชำแหละจนเห็นเหตุปัจจัยบ้างฯ.) ภายในบ้าง (ธรรมดังนี้ ที่เกิดขึ้นในตนบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม ในธรรมภายนอกบ้าง (ธรรมดังนี้ ที่เกิดขึ้นในบุคคลอื่นๆบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง (ธรรมดังนี้ ที่เกิดขึ้นในตนเองบ้าง หรือในบุคคลอื่นบ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง (เห็นการเกิดขึ้นของธรรมนี้บ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในธรรมบ้าง (เห็นการดับไปของธรรมนี้บ้าง)
พิจารณาเห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง (เห็นการเกิด ทั้งการดับไปตามเหตุปัจจัยของธรรมนี้บ้าง)
ย่อมอยู่ อีกอย่าง หนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า
ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้(เพื่อญาณ-ปัญญา) เพียงสักว่าอาศัยระลึก(มีสติ)เท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก(ไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน ดังด้วยการอุเบกขาในโพชฌงค์เสียนั่นเอง)
(ไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก เหตุเพราะ ธรรมอันคือทุกสรรพสิ่งต่างล้วนเป็นอนัตตา จึงไม่มีอะไรๆในโลกนี้ ที่เป็นเรา หรือเป็นของเราจริง เพราะต่างล้วนเป็นไปเพียงตามเหตุปัจจัยเท่านั้น, ไม่เป็นไปตามปรารถนาโดยตรงของเราได้ เพียงแต่อาจไปตรงกับความปรารถนาของเราบ้าง จึงเกิดการไปยึดด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเสียอีกว่า มันเป็นของเรา มันเป็นไปตามใจปรารถนาของเรา)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม ฯ
จบสัจจบรรพ (๕)
จบธัมมานุปัสสนา
[๓๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ อย่างนี้ ตลอด ๗ ปี เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑ หรือ เมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ (ยังมีอุปาทานครอบครอง เหลืออยู่บ้าง) เป็นพระอนาคามี ๑
๗ ปี ยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ตลอด ๖ ปี ... ๕ ปี ... ๔ ปี ... ๓ ปี ...๒ ปี ... ๑ ปี เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลใน ปัจจุบัน ๑ หรือ เมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑
๑ ปียกไว้ ผู้ใดผู้ หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ตลอด ๗ เดือน เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑ หรือ เมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑
๗ เดือนยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ อย่างนี้ ตลอด ๖ เดือน ... ๕ เดือน ... ๔ เดือน ... ๓ เดือน ... ๒ เดือน ... ๑ เดือน ... กึ่งเดือน เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑ หรือ เมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑
กึ่งเดือนยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ตลอด ๗ วัน เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑ หรือ เมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑ ฯ
(อนึ่งคำว่าปฏิบัติหรือเจริญสติหรือเจริญสติปัฏฐานนั้น หมายครอบคลุมถึงการปฏิบัติอยู่เนืองๆ ทั้งในชีวิตประจำวัน เป็นสำคัญ จึงไม่ใช่หมายเฉพาะเวลาปฏิบัติพระกรรมฐานแบบนั่งสมาธิเป็นรูปแบบเท่านั้น)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์
เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์ โทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง
เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ฉะนี้แล
คำที่เรากล่าวดังพรรณนามาฉะนี้ เราอาศัยเอกายนมรรคกล่าวแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว
ภิกษุเหล่านั้น ยินดี ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฉะนี้แล ฯ
กุณฑลิยะ : ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์?
พระพุทธเจ้า : ดูกรกุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์.
กุณฑลิยะ : ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์?
พระพุทธเจ้า : ดูกรกุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์.
ดังนั้นเมื่อเจิญสติปัฏฐาน ๔ แล้วจึงพึงเจริญโพขฌงค์ ๗ อีกด้วย จึงยังให้บริบูรณ์ได้
สติ ระลึกรู้ขั้นใดที่ให้ผลอันยิ่ง
พระอภิธรรม บทขยายความสติปัฏฐาน ๔ เพิ่มเติม ทั้งแสดงระดับฌานหรือสมาธิระดับใดที่ควรใช้ในการเจริญวิปัสสนาหรือเจริญสติปัฏฐาน ๔
การใช้สติปัฏฐาน ๔ ในการดับทุกข์ที่กำลังเผาลน
วิธีปฏิบัติ"สติปัฏฐาน ๔" โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)