กลับหน้าเดิม

อุปาทาน

  คลิกขวาเมนู

                 อุปาทาน  ความยึดมั่น,   ความถือมั่นยึดมั่นด้วยอำนาจของกิเลส   หรือความยึดมั่นถือมั่นให้เป็นไปตามอำนาจของตัณหาความปรารถนาความทะยานอยากของตัวตน  หรือความยึดมั่นถือมั่นเพื่อความพึงพอใจของตัวของตนเป็นสำคัญที่สุด

                 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง  อุปาทาน เทียบเคียงได้กับสัญเจตนาในเรื่องขันธ์ ๕ กล่าวคือ อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลสตน จึงเกิดเจตนา(ความจงใจ หรือคิดอ่าน)ที่ปรุงจิตให้เห็นเป็นไปตามกิเลสตน จึงทำให้เกิดการกระทำ(กรรม)ต่างๆขึ้น ได้ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา และทั้งทางใจ จึงย่อมเป็นไปตามอำนาจอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นตามกิเลสตนที่ครอบงำ จึงเป็นฝ่ายชั่วหรืออกุศลแต่เพียงอย่างเดียว,  จึงเป็นสัญเจตนาฝ่ายอกุศลนั่นเอง  จึงต่างจากสัญเจตนาความคิดอ่านหรือเจตนา ที่ไปปรุงแต่งจิตให้เกิดการกระทำ(กรรม)ต่างๆโดยทั่วไป คือได้ทั้งในทางดี และชั่ว และแม้กลางๆ,   ส่วนอุปาทานนั้นเป็นฝ่ายอกุศลเจตนาอยู่ในอำนาจของกิเลสหรือตัณหาแต่ฝ่ายเดียว  การกระทำต่างๆจึงเป็นไปตามความยึดมั่นหรือความพึงพอใจของตัวตนเป็นสำคัญ (ดู สัญเจตนา กับ อุปาทาน)

                อุปาทาน มี ๔ ประการ คือ

                ๑. กามุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในกาม คือยึดถือในสิ่งต่างๆคือในกามทั้ง ๕ ว่า เป็นเรา เป็นของเรา หรือเราเป็นเจ้าของ จึงเป็นเหตุให้เกิดความริษยาหรือหวงแหน ลุ่มหลง เข้าใจผิด ทำผิด เนื่องด้วยตัณหาความกำหนัดในสิ่งต่างๆเหล่านั้นด้วยอำนาจของกิเลส  ไม่รู้ด้วยอวิชชาว่าสังขารเหล่านั้นทั้งหลายทั้งปวงล้วนอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์ มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์เพราะคงสภาพอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตาไม่มีตัวตนของตนจริง จึงเข้าครอบครองเป็นเจ้าของเพื่อเข้าควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้เป็นธรรมดา  ไม่มีใครๆครอบครองเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริง  จึงไม่เป็นไปตามใจปรารถนาของใครๆแต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย

                (กามุปาทาน-ความยึนมั่นในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่ น่าพอใจ)

                ๒. ทิฏฐุปาทาน  ความยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิ คือ ยึดมั่นในความคิด  ความเห็น  ความเชื่อ ในทฤษฎีของตัวของตน  จึงเกิดการไม่เชื่อหรืออีกทั้งต่อต้านในสิ่งต่างๆที่ขัดแย้งหรือไม่ลงรอยไปกับความคิด ความเห็น ความเชื่อ หรือทฤษฎีของตัวของตนเหล่านั้นทั้งโดยรู้ตัว หรือโดยไม่รู้ตัว   ดังนั้นจิตจึงไม่ยอมศึกษาหรือพิจารณาอย่างจริงจังในความคิด ความเห็นอื่นๆ แม้ที่ถูกต้องและดีงาม แต่เพราะไปขัดแย้งกับความเชื่อความคิดเห็นเดิมๆของตน  จึงเกิดความรู้สึกต่อต้าน ขัดแย้ง ขุ่นเคือง ไม่พอใจในสิ่งต่างๆ ที่ไม่ตรงความเชื่อความเข้าใจของตัวของตนโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา   จึงทำให้ไม่สามารถเห็นหรือเข้าใจในสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงที่เป็นไปของธรรมหรือสิ่งนั้นๆได้อย่างปรมัตถ์หรือถูกต้องดีงาม ดังเช่น อ้อนวอนบนบานเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆนาๆ,   คล้องพระเพื่อคงกระพัน โชคลาภ,  ทำบุญทำกุศลแต่ฝ่ายเดียวด้วยหวังว่าจะเกิดมรรคผลและผลบุญ,  ล้างบาปกรรมได้ด้วยผลบุญ,  ความเชื่อในความคิดของตนอย่างหัวชนฝาไม่สนใจข้อมูลหรือยอมรับในความเป็นจริงแต่อย่างใด

แสดง เรื่องของวิญญาณ และการเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ที่จำเป็นต้องรู้  เพื่อการถอดถอนทิฏฐุปาทาน

 แสดง เหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นแห่งทิฏฐุปาทานและสีลัพพตปาทาน

                (ทิฏฐุปาทาน - ความยึดมั่นในทิฏฐิหรือทฤษฎี คือความเห็น ลัทธิ หรือหลักคำสอนต่างๆ  : จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยท่านพระธรรมปิฏก)

พุทธพจน์ที่ตรัสแสดงถึง ทิฏฐุปาทาน แบบต่างๆ

        ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว  ไม่ถืออุกกาบาต  ไม่ถือความฝัน  ไม่ถือลักษณะดีหรือชั่ว  ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว ครอบงํากิเลสที่ผูกสัตว์ไว้ในภพ อันประดุจคูกั้นเสียได้ ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก (ขุ.ชา. ๒๗/๘๗/๒๘)

 

        ถ้าแม้นบุคคลจะพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการอาบนํ้า(ชําระบาป)  กบ เต่า นาค จรเข้ และสัตว์เหล่าอื่นที่เที่ยวไปในแม่นํ้า ก็จะพากันไปสู่สวรรค์แน่นอน.......(กล่าวต่อในอีกมุมมองหนึ่งอันน่าพิจารณายิ่งว่า) ถ้าแม่นํ้าเหล่านี้พึงนําบาปที่ท่านทําไว้แล้วในกาลก่อนไปได้ไซร้  (ดังนั้น)แม่นํ้าเหล่านี้ก็พึงนําบุญของท่านไปได้ด้วย(เช่นกัน) (ขุ.เถรี.๒๖/๔๖๖/๔๗๓)

 

        บุคคลประพฤติชอบเวลาใด  เวลานั้นได้ชื่อว่า  เป็นฤกษ์ดี  เป็นมงคลดี  เป็นเช้าดี  อรุณดี  เป็นขณะดี  ยามดี  และ(นับได้ว่า)เป็นอันได้ทําบูชาดีแล้วในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย  แม้กายกรรมของเขา(นั้น)ก็เป็นสิทธิโชค  วจีกรรมก็เป็นสิทธิโชค  มโนกรรมก็เป็นสิทธิโชค  ประณิธานของเขาก็(ย่อมต้อง)เป็นสิทธิโชค  ครั้นกระทํากรรม(การกระทําใดๆ)ทั้งหลายที่เป็นสิทธิโชคแล้ว เขาย่อมได้ประสบแต่ผลที่มุ่งหมายอันเป็นสิทธิโชค (สุปุพพัณหสูตร)

 

        ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนเขลา ผู้คอยนับฤกษ์อยู่   ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ ของประโยชน์เอง  ดวงดาวจักทําอะไรได้ (หรือโดยพิจารณาว่า ไปเปลี่ยนแปลงดวงดาวได้หรือ? แต่เปลี่ยนแปลงโดยการทำเหตุให้ดีหรือถูกต้อง จึงเป็นปัจจัยในสิ่งที่ดีหรือเป็นไปได้ ) (ขุ.ชา ๒๗/๔๙/๑๖ )

                ๓. สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในศีล(ข้อสำรวมระวัง ไม่ล่วงละเมิด) และพรต(ข้อที่พึงถือปฏิบัติ)  แต่เป็นการยึดมั่นด้วยอำนาจกิเลส ดังเช่น ตามความเชื่อ หรือตามการปฏิบัติที่ทำตามๆกันสืบต่อมาจึงเชื่ออย่างมั่นคง แต่ไม่ถูกต้องงมงายด้วยอวิชชา  ดังเช่น เชื่อมั่นว่าพ้นทุกข์ได้ด้วยการถือศีลถือพรตแต่ฝ่ายเดียว ไม่ต้องปฏิบัติวิปัสสนาให้เกิดปัญญาญาณ,  ปฏิบัติแต่สมาธิแล้วจะบรรลุมรรคผลต่างๆจากสมาธิได้โดยตรงตามที่เห็นเขาปฏิบัติกันจึงขาดการพิจารณาวิปัสสนา,  ทรมานตนเพื่อหวังผลหรือบรรลุธรรม,  ทำบุญแต่ฝ่ายเดียวโดยเชื่อว่าได้มรรคผลและผลบุญให้บรรลุธรรม,  สวดมนต์แต่เพียงอย่างเดียวแล้วสามารถดับทุกข์หรือสมหวังหรือบรรลุธรรมได้  ไม่เป็นไปตามหลักเหตุและผล

                (สีลัพพตุปาทาน  - ความยึดมั่นในศีลและพรต คือ หลักความประพฤติ ข้อปฏิบัติ แบบแผน ระเบียบ วิธี ขนบธรรมเนียมประเพณี ลัทธิพิธีต่างๆ ถือว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ โดยสักว่ากระทำสืบๆ กันมา หรือปฏิบัติตามๆ กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ มิได้เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจตามหลักความสัมพันธ์แห่งเหตุและผล : จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยท่านพระธรรมปิฏก)

                ๔. อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในคำพูด(วาทุ-วาทะ)ที่ใช้เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของหรือแสดงความเป็นของตัวเป็นของตน ที่ใช้อยู่เสมอๆในชีวิตประจำวัน  จึงเกิดการซึมซ่านไปย้อมจิตให้หลงผิด คือเกิดการไปหลงคิดหลงยึดหรือจดจำ(สัญญา)เอาอย่างเป็นจริงเป็นจังมั่นหมายในที่สุดโดยไม่รู้ตัวว่า เป็นตัวตน หรือเป็นของตนอย่างแท้จริง โดยไม่รู้ตัวก็ด้วยอวิชชา จึงสำคัญมั่นหมายดังนั้นอยู่ภายใจจิต  กล่าวคือ เกิดความหลงผิดไปยึดในวาทะคำพูดจา ที่ใช้เพื่อการสื่อสารกันให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันในสิ่งต่างๆในทางโลกโดยไม่รู้ตัว ซึ่งย่อมเกิดขึ้นและใช้อย่างเป็นไปประจำสมํ่าเสมอในการดำเนินชีวิต  จึงเกิดการซึมซับ จนซึมซ่านไปย้อมจิตให้หลงไปยึด หลงไปยึดในคำพูดต่างๆเหล่านั้นว่า เป็นจริงเป็นจัง อย่างจริงแท้แน่นอน เช่น คำพูดต่างๆในการสื่อสารเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ  เช่น นี่ของฉัน นี่เงินฉัน นั่นนมฉัน นี่บ้านฉัน  นั่นรถฉัน  แฟนฉัน  สมบัติฉัน ฯ. จิตจึงหลงเข้าไปในวังวนของอวิชชา เกิดการไปหลงคิดหลงยึด และซึมซาบย้อมจิตจากความเคยชินในคำพูดต่างๆ ที่เพียงพูดเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของในทางโลกว่า เป็นตัวตน เป็นของตัวตน  ทั้งๆที่เหล่านี้เพียงมีเจตนาเพื่อใช้สื่อสารแสดงความเป็นเจ้าของในทางโลกๆ เป็นไปโดยไม่รู้ตัวอยู่เป็นประจำเสมอๆ ด้วยอวิชชา(รายละเอียดเพิ่มเติม)   เนื่องด้วยไม่เข้าใจว่า สังขารทั้งปวงล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย เป็นเพียงการประชุมประกอบกันขององค์ประกอบย่อยๆเข้าด้วยกันเพียงชั่วขณะๆ ไม่มีตัวตนของมันเองจริง จึงเข้าครอบครองเป็นเจ้าของไม่ได้ จึงบังคับบัญ๙ามันไม่ได้ตามใจปรารถนา, ด้วยอวิชชาจึงเกิดความรู้สึกที่ท่านพุทธทาสภิกขุเรียกว่า เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวกู ของกู

                (อัตตวาทุปาทาน  ความยึดมั่นในวาทะว่าตัวตน คือ ความถือหรือสำคัญหมายอยู่ในภายในว่า มีตัวตน เป็นของตัวตน ที่จะได้ จะเป็น จะมี จะสูญสลาย ถูกบีบคั้นทำลายหรือเป็นเจ้าของ เป็นนายบังคับบัญชาสิ่งต่างๆได้ ไม่มองเห็นสภาวะของสิ่งทั้งปวงอันรวมทั้งตัวตนว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ประชุมประกอบกันเข้า เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหลายที่มาสัมพันธ์กันล้วนๆ  : จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยท่านพระธรรมปิฏก)

                สิ่งต่างๆทั้ง๔ เหล่านี้  ล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว  เริ่มเป็นไปตั้งแต่เกิดจวบจนปัจจุบัน คือเริ่มตั้งแต่ประมาณว่าทารก ที่รู้ความว่า นมของฉัน แม่ฉัน ฯ. ไปจวบจนวันตายว่า สมบัติของฉัน เงินฉัน ลูกฉัน ฯ. คือเป็นไปดังนี้เสียนานจนไม่รู้ว่าสักกี่ภพ กี่ชาติมาแล้วนั้น  โดยไม่เคยคิดที่จะหยุดยั้งหรือเข้าใจกระบวนการจิตเหล่านี้เลย เนื่องเพราะความไม่รู้(อวิชชา)นั่นเอง จึงปล่อยให้เกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรมชาติของปุถุชนหรือสรรพสัตว์ทั่วไป

                ดังนั้นอุปาทานนี้จึงมีอยู่แล้วตามที่ได้สั่งสมมาแต่ช้านานดังข้างต้น  แต่ในสภาพที่นอนเนื่องอยู่ ยังไม่ได้ถูกกระตุ้นเร่งเร้าด้วยตัณหา  จึงอยู่ในสภาพที่เรียกกันโดยทั่วๆไปว่า ดับ อยู่   กล่าวคือ นอนเนื่องอยู่อยู่ในสภาพเดียวกับอาสวะกิเลส หรือกิเลสที่นอนเนื่องรอเวลาผุดขึ้นมาซึมซาบย้อมจิตนั่นเอง

                เมื่ออุปาทานที่นอนเนื่อง ในรูปของอาสวะกิเลสชนิดหนึ่ง  เกิดการถูกกระตุ้นปลุกเร้า  เหตุปัจจัยโดยตรงที่ปลุกเร้าก็คือตัณหา(อันเป็นอกุศลสังขารขันธ์หรืออารมณ์อย่างหนึ่ง) อันเป็นการดำเนินไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง กล่าวคือ  เมื่อเกิดตัณหาหรืออารมณ์ความอยากหรือไม่อยากจาก เวทนา (การรู้สึกรับรู้อันเกิดแต่การผัสสะ) อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นในจิตแล้ว   สิ่งเหล่านั้นยังเป็นเพียงแค่อารมณ์ความปรารถนาอันเกิดมาแต่เวทนา แต่ยังไม่เกิดขึ้นหรือเป็นเพียงนามธรรมอยู่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล   โดยธรรมชาติของจิต จึงต้องเกิดปฏิกริยาต่อตัณหาเหล่านั้นตามอุปาทานใดๆข้างต้น  โดยการตั้งเป้าหมายหรือตั้งเจตนา(สัญเจตนา)ตามที่ยึดถือยึดมั่น ก็เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายหรือสัมฤทธิ์ผลเป็นเรื่องเป็นราว หรือเป็นตัวเป็นตนขึ้นตามความปรารถนา  ให้เป็นไปตามตัณหาความปรารถนาของตัวของตนนั้นๆที่เกิดขึ้น  ก็เพื่อให้ตัวตนของตนได้รับความพึงพอใจจากการได้รับการตอบสนองอันเป็นไปตามตัณหาความอยากนั่นเอง   อันเป็นพื้นฐานโดยธรรมชาติในการดำรงคงชีวิตอย่างหนึ่งของสรรพสัตว์ทั้งหลาย    และในทางธรรมะก็จัดว่าสิ่งเหล่านี้ก็เป็นธรรมชาติ  เพียงแต่เป็นธรรมชาติที่ก่อให้เกิดทุกข์ขึ้นของสรรพสัตว์โดยถ้วนหน้าด้วยเช่นกัน

                เมื่ออุปาทานเกิดขึ้นจากสังขารขันธ์อารมณ์ประเภทตัณหาขึ้น  ที่หมายถึง อุปาทานที่สั่งสมนอนเนื่องอยู่ได้ถูกปลุกเร้าให้ผุดขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยตัณหาเป็นปัจจัยแล้ว  สิ่งต่างๆที่ดำเนินเกิดขึ้นและเป็นไปต่อจากนั้นในจิต  จึงย่อมถูกครอบงำไว้ด้วยกำลังของอุปาทาน ที่มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ให้บรรลุถึงความพึงพอใจของตัวของตนหรือกิเลสตนเป็นสำคัญโดยไม่รู้ตัว  จึงไม่เห็นสิ่งต่างๆตามที่มันเกิดขึ้นและเป็นไปตามความเป็นจริง  แต่เห็นและอยากให้เป็นไปตามความพึงพอใจของตัวของตนเป็นสำคัญแต่ฝ่ายเดียวและโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา   จึงผูกมัดสัตว์ทุกตัวไว้กับกองทุกข์มาตลอดกาลนานแสนนานและตลอดไป

anired06_next.gif ตัณหา

 

 ภพ

เหตุที่ทำให้เกิดทิฏฐุปาทาน และสีลัพพตุปาทาน

 

 

กลับสารบัญ