ติดปีติ ติดความสงบ ติดจิตแช่นิ่ง
มิจฉาสมาธิ ย่อมบังเกิดแก่ผู้มีมิจฉาสติ สัมมาสมาธิ ย่อมบังเกิดแก่ผู้มีสัมมาสติ มิจฺฉาสติสฺส มิจฺฉาสมาธิ ปโหติ สมฺมาสติสฺส สมฺมาสมาธิ ปโหติ (อวิชชาสูตร ๑๙/๑) |
ติดสุข หมายถึง การติดเพลินหรือติดใจอยากในความสุขความสบาย อันเกิดขึ้นจากอำนาจขององค์ฌานหรือสมาธิ สุขนี้จึงหมายถึงสุขที่เป็นวิปัสสนูปกิเลสในข้อ ๕ และยังครอบคลุมถึงอาการเหล่านี้ด้วยคือ ติดปีติ หมายถึง ติดเพลินหรือติดใจอยากในความอิ่มเอิบหรือซาบซ่าน ติดอุเบกขา หมายถึง ติดเพลินหรือติดใจอยากในความสงบ หรือติดเอกัคคตารมณ์ หมายถึง จิตแช่นิ่งคือจิตจดจ่อหรือจดจ้องแช่นิ่งอยู่ภายใน ติดนิมิต คือติดเพลินยึดถือในนิมิตทั้งหลาย สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นอาการของการไปเสพจนติดใจอยากในผลอันเกิดแต่ฌานหรือสมาธิ จึงเกิดการกระทำทั้งโดยมีสติรู้ตัว รวมทั้งโดยไม่รู้ตัวโดยการเลื่อนไหลไปแม้ในวิถีจิตตื่น(ในชีวิตประจำวัน)อยู่เสมอๆ คือ การพยายามให้อาการขององค์ฌานสมาธิดังกล่าวคงอยู่ คงเป็น ดังเช่น อาการกระทำจิตส่งใน ล้วนเกิดขึ้นเพราะอวิชชาจึงเป็นไปอย่างผิดๆ และปัญหาใหญ่ยิ่งคือผู้ที่เป็นจะไม่รู้ตัว และเมื่อรู้ตัวก็แก้ไขไม่ได้เสียแล้ว อาการเหล่านี้ต้องใช้การโยนิโสมนสิการ กล่าวคือ ใช้ปัญญาพิจารณาโดยละเอียดอย่างแยบคาย หรือย้อนระลึกอดีตจึงจะทราบได้ ทั้งหมดนี้เรียกรวมๆกันว่า ติดสุขบ้าง ติดฌานบ้าง ติดสมาธิบ้าง หรือมิจฉาสมาธิบ้าง มิจฉาฌานบ้าง ดังนั้นฌานสมาธิอันดีงามที่ช่วยสนับสนุนการปฏิบัติวิปัสสนาให้เกิดปัญญาญาณ จึงกลับกลายเป็นมิจฉาฌาน หรือมิจฉาสมาธิอันให้โทษ
ผู้ที่เจริญปฏิจจสมุปบาทอันเป็นกระบวนธรรมของจิตในการเกิดขึ้นของทุกข์ได้แจ่มแจ้ง ย่อมพิจารณาได้ว่า ภพ ชาติ ในปฏิจจสมุปบาทที่เกิดเมื่อใดเป็นทุกข์เมื่อนั้นแม้ในปัจจุบันชาตินี้ ย่อมครอบคลุมถึงรูปภพอันเกิดแต่รูปฌาน และอรูปภพอันเกิดแต่อรูปฌาน กล่าวคือ เมื่อใดที่กลับกลายเป็นนันทิความติดเพลินความเพลิดเพลินความอยากอันคือเกิดตัณหาในเวทนาคือสุขเวทนาความรู้สึกสุข,สงบ,สบายอันเกิดแต่อำนาจหรือกำลังของฌานสมาธิ เมื่อนั้นฌานสมาธิที่แม้จัดว่ามีประโยชน์ยิ่งในการปฏิบัติ เป็นองค์มรรคของการปฏิบัติ ก็จะกลับกลายเป็นมิจฉาสมาธิ,มิจฉาฌานอันให้โทษ เป็นการดำเนินไปตามวงจรของทุกข์ปฏิจจสมุปบาทโดยทันที ย่อมไม่ใช่สัมมาสมาธิหรือสัมมาฌานในองค์มรรคแห่งการปฏิบัติอีกต่อไป เป็นมิจฉาสมาธิหรือมิจฉาฌานโดยไม่รู้ตัวทีเดียว และเป็นตัวทำให้เกิดทุกข์ขึ้นเสียเองอีกในภายหน้าอย่างแสนสาหัส จึงเป็นสิ่งที่ควรรู้เพื่อจะได้ไม่ไปปฏิบัติอย่างให้เกิดนันทิ(ตัณหา)ความติดเพลินจนเกิดทุกข์ กล่าวคือเกิดการติดสุขในฌานสมาธิอันยังให้เป็นทุกข์ขึ้นนั่นเอง ซึ่งมักแสดงออกด้วยอาการจิตส่งใน กระบวนธรรมของจิตที่ไปติดเพลิน จึงเป็นการดำเนินไปในกระบวนธรรมของการเกิดขึ้นของทุกข์ ปฏิจจสมุปบาท ดังนี้
อวิชชา สังขาร อันย่อมเป็นสังขารกิเลสด้วยอวิชชาและอาสวะกิเลส คือฌานสมาธิที่สังขารปรุงขึ้นแม้โดยไม่รู้ตัวเพราะติดใจในความอร่อย วิญญาณ นาม-รูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนาเป็นสุขเวทนาจากอำนาจของสมาธิและฌาน คือความสงบ ความสุข ความสบายต่างๆ นันทิ อันเกิดการติดเพลินขึ้นอันคือ ตัณหา อุปาทาน ภพ คือรูปภพหรืออรูปภพตามที่สังขารขึ้นโดยไม่รู้ตัว ชาติ การเกิดขึ้นของทุกข์ ชรา จึงวนเวียนปรุงแต่งกระทำต่างๆแต่ล้วนแฝงอยู่ในอำนาจของฌารสมาธิโดยไม่รู้ตัว ดังนี้ จนมรณะคือดับไป และเก็บจำสั่งสมเป็น โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส.......แล้วก็วนเวียนเกิดวงจรของทุกข์ขึ้นใหม่อีก.......
สาเหตุก็คือ มักเกิดจากฝึกสติ แต่เป็นมิจฉาสติ จึงเกิดมิจฉาสมาธิขึ้น กล่าวคือ ตั้งใจฝึกสัมมาสติ แต่ไปจดจ่อกับอารมณ์เดียว ดำเนินอยู่เช่นนี้ทุกครั้งที่ปฏิบัติ จึงขาดการพัฒนาสติต่อไปในการระลึกรู้เท่าทันในสิ่งอื่นๆที่ท่านต้องการให้ระลึกรู้เท่าทันยิ่ง คือ เวทนา จิต ธรรม, จิตจึงไปแน่วแน่ในอารมณ์เดียวจนเป็นสมาธิจนเกิดการติดเพลินใน ปีติบ้าง สุขบ้าง ความสงบบ้าง จิตแช่นิ่งบ้าง จึงเป็นมิจฉาสมาธิเนื่องจากติดเพลินและขาดการวิปัสสนา กล่าวคือไม่ได้ใช้สติไปในทางปัญญาเพื่อให้เกิดนิพพิทา เมื่อถอนออกจากความสงบสบายจากฌานสมาธิแล้วนั่นเอง แต่กลับไปจดจ่อแช่นิ่งเลื่อนไหลไปในความสุขสงบสบายที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว, และอาจเกิดจากการเข้าใจผิดๆด้วยอวิชชา ดังเช่นว่า ได้ทำวิปัสสนาแล้ว แต่ไม่ได้ทำ เพียงแต่ทำสมาธิหรือการบริกรรมหรือท่องบ่นโดยไม่ได้ใช้สติปัญญาพิจารณาหาเหตุหาผลในธรรมอย่างจริงจังแต่อย่างใด หรือทำไปเพราะการหวังผลไปใช้ประโยชน์ในทางโลกๆโดยไม่รู้ตัว จึงก่อเป็นโทษรุนแรงที่เกิดต่อธาตุขันธ์และจิตโดยตรงในภายหน้า และยังให้ไม่สามารถดำเนินต่อไปในธรรมได้อีกด้วย(วิปัสสนูปกิเลส) และยังก่อให้เกิดความเจ็บป่วยทางกาย ตลอดจนความทุกข์ทางใจเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอย่างมากมายทวีคูณในภายหน้าจนทนไม่ไหว และข้อสำคัญคือเป็นไปโดยไม่รู้ตัว, และไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุอันใดอีกด้วย หรือแม้รู้ตัว แต่ควบคุมบังคับไม่ได้เสียแล้ว คือเกิดการกระทำอยู่เสมอๆโดยควบคุมไม่ได้
ติดสุข ติดสมาธิ ติดฌาน จึงหมายครอบคลุมถึง การติดเพลินหรือติดใจอยากในองค์ฌานต่างๆหรือผลของสมาธิ อย่างแนบแน่นด้วยอวิชชาความไม่รู้ตามความเป็นจริง เมื่อเกิดการติดใจอยาก จึงยึดติด ยึดมั่น แอบเสพสุข เสพสบาย เสพความสงบในผลอันเกิดแต่อำนาจของสมาธิหรือฌานเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว กล่าวคือเกิดไปยึดติดพึงพอใจด้วยอาการจิตส่งในเพราะไปติดใจอยาก จึงจดจ้องจดจ่ออยู่ที่ความสบาย ความอิ่มเอิบ ความซาบซ่าน ที่เกิดแต่กายบ้าง หรือจับอยู่ที่ความสงบ หรือความสุข ความสบายอันเกิดแก่ใจบ้าง อันบังเกิดขึ้นจากอำนาจขององค์ฌานต่างๆหรือความสงบในสมาธิ จนเกิดการเสพติดในรสอร่อยของความสุข ความสบาย ความอิ่มเอิบ ความซาบซ่าน หรือความสงบต่างๆเหล่านั้น จึงไปติดในสุขบ้าง ปีติบ้าง อุเบกขาหรือความสงบบ้าง หรือเอกัคคตาแต่เป็นแบบแช่นิ่งๆอยู่ภายในบ้าง อันล้วนเป็นผลที่บังเกิดขึ้นแก่กายและจิตที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติสมาธิหรือฌาน แต่เป็นมิจฉาสมาธิหรือมิจฉาฌานแบบผิดๆ สาเหตุใหญ่มักเป็นเพราะความไม่รู้ในคุณ,โทษอย่างแจ่มแจ้ง(อวิชชา) ดังนั้นเมื่อปฏิบัติฌานหรือสมาธิแล้ว เมื่อถอนจากวามสงบสบายออกมาแล้ว ก็ไม่ได้ดำเนินการวิปัสสนาหรือใช้ปัญญาพิจารณาธรรมอย่างจริงจังให้แจ่มแจ้งเลย อันมัวแต่คิดไปว่าการบริกรรมท่องบ่นในธรรมนั้นเป็นการพิจารณา จึงเกิดการติดเพลิน(นันทิ-อันเป็นตัณหา)เพราะเป็นความสุขความสบาย อันเป็นที่พึงพอใจโดยธรรมชาติอยู่แล้วของชีวิต และเมื่อปล่อยให้เกิดการเลื่อนไหลหรือจิตส่งในไปตามกําลังอํานาจของความสุขสบายต่างๆก็เพราะอวิชชา จึงเกิดเป็นตัณหาในที่สุดโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงย่อมดำเนินไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาท จนเป็นอาสวะกิเลสที่สั่งสมไว้ แล้วไปเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับอวิชชาจึงเกิดหรือจึงมีสังขารตามที่ได้สั่งสมนั้นโดยไม่รู้ตัวเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จึงกระทำเองโดยไม่ตั้งใจและไม่สามารถหยุดยั้งได้ สาเหตุใหญ่ๆก็มาจากความสุข ความสบาย ความสงบที่เกิดขึ้น หรืออาจเกิดจากความความเชื่อ,ความเข้าใจผิดๆว่าปฏิบัติแล้วได้บุญได้กุศลโดยตรง, หรือเพราะคิดว่าได้ปฏิบัติโดยถูกต้องแล้วคือตามความเชื่อความเข้าใจผิดๆที่ว่ายิ่งปฏิบัติมากยิ่งเกิดปัญญา ตามที่กล่าวอ้างสืบทอดกันมาว่า สมาธิยังให้เกิดปัญญา แต่ไปเข้าใจผิดคิดว่า ปฏิบัติฌาน,สมาธิแล้วปัญญาจักเกิดขึ้น ดังนี้เป็นต้น เพราะตามความเป็นจริงนั้น สมาธิเป็นบาทฐานให้เกิดปัญญา หมายถึง นำเอาผลของสมาธิที่เกิดขึ้นคือทําให้จิตสงบ กายสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน เพราะปราศจากนิวรณ์ ๕ จึงก่อเป็นกําลังแห่งจิตไปใช้ในการปฏิบัติวิปัสสนาคือพิจารณาธรรม อันจะยังให้เกิดปัญญาหรือสัมมาญาณหรือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในอันที่จักยังให้เกิดสัมมาวิมุตติอันพ้นทุกข์อย่างแท้จริงและถูกต้อง เยี่ยงนี้สมาธิหรือฌานก็จักยังคุณอันยิ่งใหญ่ กล่าวคือแทนที่จะเป็นสัมมาสมาธิชนิดที่มีสติอยู่อย่างต่อเนื่องอันถูกต้องดีงาม อันเป็นกำลังอันสำคัญยิ่งในการปฏิบัติ และการพิจารณา เพื่อการปฏิบัติวิปัสสนาให้เกิดปัญญา คือใช้เป็นกําลังของจิตอันเกิดขึ้นเนื่องจากกายและจิตสงบระงับจากอํานาจกิเลสตัณหาด้วยกําลังอํานาจของสัมมาสมาธิชั่วขณะ คือนําไปเป็นกำลังของจิตทั้งในการปฏิบัติ หรือในการพิจารณาธรรมที่บังเกิดแก่จิตหรือสงสัยให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้และถูกต้อง, แต่เกิดสติขาดเลื่อนไหลลงสู่ภวังค์หรือสมาธิ,ฌานเสมอๆและมิได้ปฏิบัติวิปัสสนาอย่างจริงจัง จึงเกิดการเพลิดเพลินยังเกิดการไปยึดติดพึงพอใจในรสชาติอันเอร็ดอร่อยของความสุขความสงบ อันรับรู้สัมผัสได้ทั้งจากทางกายและทางจิตของฌาน,หรือมิจฉาสมาธิโดยไม่รู้ตัวเพราะนันทิหรือตัณหา หรือเพราะไม่รู้(อวิชชา) ทําให้จิตส่งในไปคอยแอบเสพรสอยู่รํ่าไปตลอดเวลาทั้งขณะที่รู้ตัวและโดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยไม่รู้ตัวโดยการเลื่อนไหลไปเองตามธรรมชาติของจิต จนในที่สุดกลายเป็นองค์ธรรมสังขารที่ได้เคยชิน,สั่งสม,อบรม,ประพฤติ,ปฏิบัติไว้(สังขารในปฏิจจสมุปบาท)ที่สามารถกระทำหรือเกิดขึ้นเองโดยไม่รู้ตัว จึงทำให้เกิดการเลื่อนไหลจมแช่อยู่ในสมาธิฌานหรือองค์ฌานต่างๆ อย่างเบาๆ แต่เกือบตลอดเวลาได้เอง แทบทุกขณะจิต แม้แต่ในขณะหลับ อันจักต้องเป็นเช่นนั้นเอง และบางครั้งจากการกระทําบางอย่างโดยไม่รู้เท่าทันตามความเป็นจริงของธรรม(ธรรมชาติของทุกข์) เช่น นำไปใช้งานในทางที่ผิด หรือทางโลกๆ, มักจมแช่หรือแช่นิ่งอยู่ภายในนั้นโดยไม่รู้ตัว อันยังให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสอันเป็นผลร้ายต่อผู้ปฏิบัติอย่างรุนแรงในที่สุด, ดังมีคำกล่าวของเหล่าพระอริยเจ้าในเรื่องมิจฉาฌานสมาธิไว้ดังนี้
"การบำเพ็ญจิตให้สงบจนเกิดกำลังแล้ว ก็ไม่ควรที่จะทำความสงบอย่างเดียว เพราะถ้าทำแต่ความสงบไม่พิจารณาทุกขสัจจ์ ก็จะเป็นเฉพาะฌาน ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิผิด ไม่พ้นทุกข์ ต้องพิจารณาทุกข์จึงจะพ้นทุกข์" (หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)
ในหนังสือ"อตุโล ไม่มีใดเทียม" ได้มีการกล่าวถึงพลังจิตหรือสมาธิไว้ดังนี้"พลังจิตที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงหลังจากเกิดสมาธินั้น หมายถึงว่า จิตนั้นจะยกสภาวะธรรมขึ้นมาพิจารณาไตร่ตรองให้เกิดวิปัสสนาญาณ เกิดปัญญาแล้วปัญญานั้นก็จะแจ่มแจ้งดีกว่าจิตที่ไม่เกิดสมาธิ หรือจิตที่ไม่มีสมาธิ" (น. ๒๒๒)
"พูดถึงความสุขในสมาธิมันก็สุขจริงๆ จะเอาอะไรมาเปรียบเทียบไม่ได้ แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้น มันก็ได้แค่นั้นแหละ ยังไม่เกิดปัญญาอริยมรรค ที่จะตัดภพ ชาติ ตัณหา อุปาทานได้ ให้ละสุขนั่นเสียก่อน แล้วพิจารณาขันธ์๕ให้แจ่มแจ้งต่อไป" (น.๔๙๕)
มีผู้อยากฟังความคิดความเห็นเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของหลวงปู่ และยกบุคคลมาอ้างว่าท่านผู้นั้น ท่านผู้นี้ระลึกชาติย้อนหลังได้หลายชาติ
หลวงปู่ว่า
"เราไม่เคยสนใจเรื่องอย่างนี้ แค่อุปจารสมาธิก็เป็นไปได้แล้ว ทุกอย่างมันออกไปจากจิตทั้งหมด อยากรู้อยากเห็นอะไร จิตมันบันดาลให้รู้ให้เห็นได้ทั้งนั้น และรู้ได้เร็วเสียด้วย หากพอใจเพียงแค่นี้ ผลที่ได้ก็คือ ทําให้กลัวการเวียนว่ายตายเกิดในภพที่ตํ่า แล้วก็ตั้งใจทําดี บริจาคทาน รักษาศีล แล้วก็ไม่เบียดเบียนกัน พากันกระหยิ่มยิ้มย่องในผลบุญของตัว, ส่วนการที่จะขจัดกิเลสเพื่อทําลาย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงนั้น อีกอย่างหนึ่งต่างหาก" (น.๔๙๙)
ในหนังสือส่องทางสมถวิปัสสนาของหลวงปู่ เทสก์ เทสรังสี ก็ได้มีกล่าวถึงการปฏิบัติไว้ทั้ง ๒ ทาง คือแบบสมถะหรือสมาธิล้วนๆ และอีกแบบหนึ่งที่ท่านกล่าวว่า แนวนี้เดินสมํ่าเสมอกว่าแนวสมถะล้วนๆ คือ แนวสมถวิปัสสนา กล่าวคือใช้สมาธิเป็นบาทฐานของวิปัสสนานั่นเอง ท่านได้กล่าวไว้ดังนี้ "บริกรรมหรือเพ่งอย่างนั้นเหมือนกัน(หมายถึงเหมือนสมถะ) แต่ไม่ให้จิตสงบ คือน้อมจิตให้เข้าไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว(webmaster - เช่นในข้อธรรม หรือนิมิตอันดีงามถูกต้องงเช่นอสุภหรือธาตุ นำมาเป็นกสิณ) เพ่งพิจารณานิมิตนั้นให้เป็นธาตุหรือเป็นอสุภ ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์เป็นต้น เมื่อเห็นชัดแล้วจิตจะรวมลงไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว หรือจะเป็นสมาธิ หรือจะเกิดปัญญาให้สลดสังเวชก็ได้ พูดย่อๆ เรียกว่าหัดสมถะเป็นไปพร้อมกันกับวิปัสสนา"
"ฌาน ได้แก่ การเพ่ง และเพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว จะเป็นกสิณ หรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ข้อสำคัญจะต้องให้จิตจับจ้องอยู่ในเฉพาะอารมณ์อันนั้นเป็นใช้ได้ เบื้องต้นจะต้องตั้งสติควบคุมจิตให้แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างแน่นแฟ้น เมื่อจิตถอนออกจากอารมณ์อื่นมารวมอยู่ในอารมณ์อันเดียวเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ เสวยความสุขอันไม่เคยได้รับมาแต่ก่อน จิตก็จะยินดีและน้อมเข้าไปสู่เอกัคคตารมณ์อย่างยิ่ง เรียกว่าเพ่งเอาความสุขอันเกิดจากเอกัคคตารมณ์เป็นอารมณ์ของฌานต่อไป จนเป็นเหตุให้เผลอตัวลืมสติไปยึดมั่นเอาเอกัคคตาว่าเป็นของบริสุทธิ์และดีเลิศ จิตตอนนี้จะรวมวูบเข้า ภวังค์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับเผลอสติ หรือลืมสติไปเสียเลยอยู่พักหนึ่ง แล้วจึงรู้สึกตัวขึ้นมา แต่ผู้ที่เคยเป็นบ่อยและชำนาญแล้ว จะมีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกันแต่เป็นไม่แรง และนิมิตหรือความรู้อะไรจะเกิดก็มักเกิดในระยะนี้ เมื่อนิมิตและความรู้เกิดขึ้นแล้ว จิตที่อยู่ในเอกัคคตานั้นจะวิ่งตามไปอย่างง่ายดาย จิตที่อยู่ในเอกัคคตารมณ์เป็นของเบาและไวต่ออารมณ์มาก (อารมณ์ หมายถึง สิ่งที่จิตไปยึดเหนี่ยวในการกระทบเช่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดต่างๆ - webmaster) ที่เรียกว่า จิตส่งใน เป็นภัยต่อผู้เจริญฌานอย่างยิ่ง บางทีอาจทำให้เสียผู้เสียคนไปก็มี ฌานมีเอกัคคตารมณ์เป็นเครื่องวัดในที่สุด แต่ไม่มีปัญญาจะพิจารณาสังขารให้เห็นเป็นพระไตรลักษณญาณได้ กิเลสของผู้ได้ฌานก็คือมานะแข็งกระด้างทิฐิถือรั้นเอาความเห็นของตัวว่าเป็นถูกทั้งหมด คนอื่นสู้ไม่ได้ เรื่องนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความแน่วแน่ของฌานหรือทิฐินิสัยเดิมของแต่ละบุคคลอีกด้วย ผู้ที่ผ่านเรื่องนั้นมาด้วยกันแล้วหรือมีจิตใจสูงกว่าเท่านั้นจึงจะแก้และแสดงให้เขาเห็นจริงตามได้ ถ้าแก้ไม่ตกก็เสียคนไปเลย" จาก โมกขุบายวิธี โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
"....แล้วการที่เรามาใช้ปัญญาพิจารณา เหตุผลต่างๆ ที่จิตใจมันยึดมั่นถือมั่นอยู่นั้น อันนั้นมันเป็นวิธีการที่จะละอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นให้หมดไปสิ้นไป แต่ลำพังสมาธินั้น เพียงแต่ระงับความอยากความหิวไปได้ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้นเอง ส่วนที่จะละความอยากความหิวให้มันขาดเด็ดออกไปจากจิตใจได้ ต้องอาศัยปัญญา....ปัญญานั้นก็ต้องเกิดจากสมาธิ (เป็นฐานกำลัง ไม่ใช่จากสมาธิโดยตรงๆ- webmaster)....ฯ." จาก บุญญาพาชีวิตรอด โดย หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
"..ผู้ที่เป็นสมาธิ ถ้าไม่ออกพิจารณาทางด้านปัญญา จะเป็นสมาธิอยู่อย่างนั้นตลอดไป จนกระทั่งวันตาย ก็หาเป็นนิพพานได้ไม่ หาเป็นปัญญาได้ไม่.." จาก หลักเกณฑ์การปฏิบัติสมาธิ - ปัญญา (๓ พ.ศ. ๒๕๔๑) โดย พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
-------------------------
ติดสุข ติดปีติ ติดสงบ ติดจิตแช่นิ่ง และอาการต่างๆของนักปฏิบัติ
การปฎิบัติที่เน้นหนักไปแต่ด้านสมถสมาธิอันขาดการวิปัสสนา ทั้งที่ปฏิบัติโดยรู้ตัว, ไม่รู้ตัว หรือไม่เข้าใจด้วยอวิชชาก็ตามที ล้วนยังให้เกิดโทษเพราะได้ทำเหตุไปแล้ว ย่อมเกิดผลขึ้นเป็นธรรมดาตามหลักอิทัปปัจจยตา จึงเลื่อนไหลไปเองตามสังขารความเคยชินที่สั่งสมอบรมไว้ของจิตก็ดี(สังขาร ชนิดกิเลสในปฏิจจสมุปบาท) และขณะนี้อยู่ในสภาวะเบาสบายและปลอดจากทุกข์และแกล้วกล้า อ่านแล้วอาจรู้สึกฝืนความรู้สึก ความเชื่อ ความเข้าใจอย่างรุนแรง ผู้เขียนเองก็เคยมีความรู้สึกเป็นเช่นนั้น, ขอให้อ่านพิจารณาอย่างใจเป็นกลาง วางความเชื่อหรือความเข้าใจของตนเอง อย่าปฏิเสธในสิ่งที่ไม่เห็นพ้องกับความคิดความเห็นความเข้าใจของตนเอง(ทิฏฐุปาทาน)เสียแต่ต้น, หากแต่ใช้ปัญญาพิจารณาอย่างหาเหตุหาผลโดยแยบคาย พร้อมเทียบเคียงตนเองอย่างละเอียด และยอมรับตามความเป็นจริง ขอรับรองด้วยสัจจะว่า วันข้างหน้าจักเกิดคุณประโยชน์แก่นักปฏิบัติเองในที่สุด
ข้อสังเกตุและแก้ไข สําหรับผู้ปฏิบัติสมาธิและฌานแบบผิดๆจากความไม่รู้หรือทิฏฐุปาทาน แล้วในที่สุดรู้สึกเป็นทุกข์แทนที่จะทุกข์น้อยลง และมีอาการต่างๆทั้งทางจิตและทางกาย ขอให้ฉุกใจคิดสักนิดว่า มิได้เป็นเพราะกายเป็นเหตุปัจจัยโดยตรง แต่เพราะจิตเป็นเหตุ จึงส่งผลมาถึงกาย อันเกิดมาจากการปฏิบัติผิด คือ เกิดจากมิจฉาสมาธิ,มิจฉาณาน อันจะมีอาการต่างๆนาๆเกิดขึ้น เช่น อึดอัด,ไม่สบาย ระยะเวลาที่จะเริ่มเกิดไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดตามที่กล่าวไว้ในเรื่อง ฌานสมาธิ เหตุเพราะฌานวิสัยเป็นอจินไตยเพราะขึ้นอยู่กับความจริงจังในการการปฏิบัติและเหตุปัจจัย(ทุกข์)ที่มากระทบ ฯลฯ. แต่มักจะเริ่มอาการต่างๆเมื่อการปฏิบัตินั้นแก่กล้าขึ้นเรื่อยๆ หรือเมื่อมีอาการเลื่อนไหลไปเองโดยไม่รู้ตัวโดยสังขารความเคยชิน (อันเป็นสังขาร ชนิดสังขารกิเลสในปฏิจจสมุปบาท)สักระยะหนึ่ง และปัจจัยอันสําคัญยิ่งอีกอย่างคือเมื่อมีความทุกข์ หรือสิ่งใดมากระทบผัสสะให้ซัดส่าย จนเกิดการขุ่นข้อง ขัดเคือง หงุดหงิด จึงเกิดการหวั่นไหวจนเคลื่อนหลุดไปจากฌาน,สมาธิ! ดังนั้นเมื่อแก่กล้าขึ้น หรือถูกภัยพิบัติหรือทุกข์ หรือสิ่งที่มาผัสสะกระทบแล้วจนทำให้จิตหวั่นไหว ซัดส่าย ก็จะเริ่มมีอาการไม่สบายต่างๆนาๆโดยไม่รู้สาเหตุ ดังเช่น รู้สึกเป็นทุกข์มากกว่าปกติ หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน หดหู่ ทางกายมีอาการต่างๆนาๆ เช่น แน่นหน้าอก ปวดหน้าอก ปวดตามส่วนต่างๆของร่างกายได้ทุกส่วน ส่วนเมื่อมีความทุกข์มากระทบจะ หมดแรง ขาอ่อน ใจสั่น อ่อนล้า เกิดอาการต่างๆเมื่อเป็นทุกข์มากกว่าเมื่อก่อนปฏิบัติ ต้องพิจารณาย้อนระลึกชาติระลึกขันธ์ดู ปัญหาใหญ่คือมักไม่รู้ตัวว่าเป็นเพราะจิตอันเนื่องมาจากการปฏิบัติผิดเป็นเหตุเป็นปัจจัย กลับไปคิดว่าเพราะความเสื่อมของกายหรือตามวัย จึงมัวแต่มั่วหาเหตุอื่นๆ หรือเพียรมุมานะแบบผิดๆหนักขึ้นไปอีก ซึ่งผู้เขียนขอยืนยันว่านักปฏิบัติที่ไม่มีครูบาอาจารย์ที่เข้าใจจริงๆแนะนําสั่งสอนอย่างใกล้ชิดต้องเป็นกันทุกคนเนื่องจากความไม่รู้หรืออวิชชานั่นเอง อันยังให้เกิดเป็นสังขารโดยไม่รู้ตัว และข้อสำคัญมันเป็นธรรมชาติของจิตหรือชีวิตที่จะยึดติดเพลินกับความสุข ความสงบ จึงยังส่งผลออกมาเช่นนั้นเอง ก็เนื่องมาจากการหลั่งสารชีวเคมีภายในกายตนออกมาควบคุมโดยไม่รู้ตัว ท่านจึงต้องสํารวจ พิจารณาให้ดีจะได้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะต้องใช้ความละเอียดอย่างยิ่งและแยบคายอย่างยิ่งจริงๆในการพิจารณา(โยนิโสมนสิการ) จึงจักรู้และเข้าใจได้ เพราะความเชื่อความยึดในความเข้าใจของตนเอง(ทิฏฐุปาทาน) ความไม่รู้ตามความเป็นจริง(อวิชชา) และวิปัสสนูปกิเลสจะปิดกั้นไว้ และการไปเข้าใจว่าเกิดแต่กาย ทั้งๆที่ตามความเป็นจริงแล้วเป็นเกิดมาแต่จิตเป็นเหตุโดยตรง แล้วจึงส่งผลนั้นไปถึงกายจริงๆเช่นกัน
ก่อนอื่นขอให้ทําใจให้กว้าง เปิดรับความคิดเห็นใหม่ๆ เป็นอุเบกขาเป็นกลางๆ ไม่เอาความรู้สึก ความเชื่อ ความเข้าใจส่วนตัวที่มีอยู่เดิมๆของตนเองมาร่วม เพียงแต่พิจารณาโดยละเอียดและแยบคายจริงๆตามที่ประสบมา, อย่าปล่อยให้อุปาทานความเชื่อ ความยึด, และฤทธิ์อำนาจของมิจฉาฌาน,สมาธินี้ อันแสดงผลโดยตรงต่อสมองหรือหทัยวัตถุอันเป็นส่วนหนึ่งของจิตมาครอบงําท่านได้ ตลอดจนอย่าให้ผลประโยชน์ทางโลก และผลของความสุขความสบายอันเกิดแต่ฤทธิ์อำนาจของฌานสมาธิมาขัดขวางปัญญาเพื่อการดับไปในทุกข์, ถ้าพิจารณาและไตร่ตรองโดยละเอียดและแยบคายสักระยะหนึ่งแล้ว ไม่เห็นว่าเป็นดังที่กล่าว ก็ขออภัย ให้ลืมไปเสีย ถือเสียว่าผู้เขียนปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านไปเองก็แล้วกัน แต่ถ้าพิจารณาโดยแยบคายถึงอย่างไรก็จักยังประโยชน์แก่ท่านเองเป็นที่สุดในวันข้างหน้า
ปีติและสุขในฌาน มักสับสนและแยกกันยาก ในหนังสืออันทรงคุณค่า"พุทธธรรม" โดย ท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ท่านอธิบายไว้ได้ใจความที่ดีมาก ว่าดังนี้
"ปีติ หมายถึงความยินดีที่ได้อารมณ์ที่ต้องการ" (webmaster - เช่น อาการซาบซ่าน อิ่มเอิบ ขนลุก ขนชันน ฯลฯ. อ่านรายละเอียดได้ในเรื่อง ฌานสมาธิ)
"สุข หมายถึงความยินดีที่เสวยรสอารมณ์ที่ต้องการ" [webmaster - เช่นอิ่มใจเบาๆนานๆ อิ่มเย็นแผ่วเบาสบายไปทั่วใจกาย ที่กายบางท่านดุจดั่งมีลมเบาๆลูบไล้กายไปทั่ว ขนลุกฟูเบาๆไปทั่วตามร่างกาย(เบาบางกว่าปีติมาก) หรือดั่งมีประจุไฟฟ้าอ่อนๆหรือมวลตามส่วนต่างๆของร่างกาย]
และท่านยกตัวอย่างไว้อย่างน่าสนใจ "เหมือนคนเดินทางในทะเลทรายและแสนจะเหนื่อยอ่อนล้า อาการดีใจเมื่อเห็นหรือได้ยินข่าวว่ามีหมู่ไม้อันร่มรื่นและแอ่งนํ้านั้นเรียกว่าปีติ อาการชื่นใจเมื่อเข้าพักใต้ร่มไม้และได้ดื่มนํ้าเรียกว่าสุข " (webmaster - ดังนั้นอาการสุขสบายแผ่วเบาที่เกิดอยู่นนานๆคืออาการของสุขนั่นเอง)
----------------
จากประสบการณ์และการปฏิบัติของผู้เขียน และจากการโยนิโสมนสิการ จนพอมีวิชชาหรือความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆเหล่านี้ เมื่อปฏิบัติจนจิตเป็นสมาธิหรือฌานแล้ว(ส่วนใหญ่เป็นสมาธิหรือฌานโดยไม่รู้ตัวและจะกล่าวยืนยันว่าไม่เป็นเช่นนั้นกันทุกคน)กล่าวคืออาจจะมี "ปีติ หรือ สุข"อยู่ได้นานๆ โดยเกิดจากการไปจดจ่ออยู่กับความสงบ ความสุข หรือความสบายต่างๆที่เกิดขึ้นที่จิต หรือสังเกตุจดจ่อที่ผิวกาย ภายในกาย เช่น ความอิ่มเอิบ ความซาบซ่าน , บางท่านที่ชำนาญเป็นวสี แม้ในขณะจิตตื่นในชีวิตตามปกติโดยไม่ต้องตั้งจิตก็เกิดองค์ฌานต่างๆขึ้นได้จากการสั่งสม บางท่านก็รู้ตัวแต่เข้าใจผิดว่าดีงาม ส่วนใหญ่ก็เป็นไปโดยไม่รู้ตัวสักน้อยนิด ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน วิธีปฏิบัติ อันสามารถเกิดในวิถีชีวิตปกติประจําวันได้โดยไม่ต้องปฏิบัติในรูปแบบที่เรียกว่าปฏิบัติพระกรรมฐานชนิดต้องนั่งหรือตั้งใจเฉพาะในรูปแบบใดแบบหนึ่ง กล่าวคือ อาจไม่ต้องใช้อุบายวิธีใดๆมาล่อจิต ดังเช่น ลมหายใจอันเป็นรูปฌาน มักเป็นไปในลักษณะของอรูปฌานก็ได้ เมื่อนานๆเข้าจะมีอาการต่างๆเกิดขึ้น มักเกิดหลังตื่นนอนบ้าง, หลังการกังวลอะไรบ้าง หลังทําอะไรๆอย่างจดจ่อตั้งใจบ้าง หรือมีอะไรมากระทบใจให้จิตเกิดตึงเครียดบ้าง หรือเมื่อหงุดหงิด หรือมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาผัสสะกระทบทําให้จิตเคลื่อนหรือหวั่นไหวบ้าง เช่น ความไม่ถูกใจใดๆที่กระทบ หรือแม้แต่การฝัน หรือการเคลื่อนออกของสมาธิเองในขณะหลับ หรือมีเรื่องขุ่นข้องมากระทบจิตผ่านตา หู จมูก ฯลฯ. การเพ่งสนใจหรือจดจ่อสิ่งใดนานๆ เช่น งานที่จดจ่อ, อ่านหนังสือ ดูทีวี หรือแม้ในขณะที่ท่านสนใจอ่านอย่างจดจ่ออยู่ในขณะนี้ หรือการใช้สมาธิหรือฌานในการทํากิจทางโลกๆเช่นดูภาพนิมิตเพื่อให้เห็นบางสิ่ง, การตั้งจิตเพื่อรักษาโรคต่างๆ ในที่สุดก็จะเกิดอาการต่างๆนาๆ อันมักเกิดขึ้นเป็นประจํา เช่น ทางกายจะมีการแปรปรวนต่างๆนาๆ จนคาดไม่ถึง ตลอดจนมีอาการต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นตามแต่จุดอ่อนของนักปฏิบัตินั้นๆ ดังเช่น
อึดอัด ครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่สบายแบบอธิบายไม่ใคร่ถูก อ่อนแรง หรืออ่อนเปลี้ยไปทั้งตัว อ่อนเปลี้ยขาแข้งอ่อนอย่างผิดปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีภัยพิบัติหรือทุกข์มากระทบใจให้หวั่นไหวรุนแรงร่วมด้วยความอึดอัดต่างๆนาๆ, หรือมีอาการหดหู่อย่างผิดปกติคือรุนแรงผิดวิสัย ตามปกติของท่าน
แน่นหน้าอก แสบๆภายในหน้าอก เจ็บภายในหน้าอก หรือมีความรู้สึกมีมวลหรือก้อน หรือประจุไฟฟ้าอ่อนๆที่อก หรือรู้สึกมีมวลประจุละเอียดเล็กๆละเอียดยิบๆ บริเวณใบหน้า อก หรือร่างกาย แขน ขา มือต่างๆ หรือตามส่วนต่างๆของร่างกายที่ใช้ในกิจบางอย่างนั้นๆ
ปวดร้าวประสาทต่างๆ เช่นปวดกราม ปวดฟันแต่ไม่รู้แน่ๆว่าซี่ไหน รู้แต่ว่าปวดๆร้าวๆแต่ชี้ชัดไม่ได้ เสียวฟัน ปวดตึงท้ายทอย ไหล่ หลัง ฯลฯ.
ปวดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ขา หลัง หรือรู้สึกแข็งทื่อ กล้ามเนื้อเกร็ง ตะคริว ฯลฯ.
ปวดตามกระดูกต่างๆ รู้สึกเหมือนปวดอยู่ภายในกระดูก เช่น กระดูกต้นคอ แขน ขา หลัง ตามข้อต่างๆ ฯลฯ.
ปวดหัว, เวียนหัว, มึนงง ทึบตื้อ, คลื่นไส้, อาเจียร, เรอ ท้องอืดมีลมในท้อง (มักเกิดในขณะจิตซัดส่ายแล้วหลุดออกจากฌานหรือสมาธิหลังจากเมื่อจมแช่อยู่นานๆ), ท้องเดิน โดยไม่มีสาเหตุ (ท้องเดินท้องเสียอันเกิดขึ้นเมื่อเสพสุขมากๆ คือปล่อยเลื่อนไหลแช่อยู่ในมิจฉาฌานเป็นระยะเวลานานๆหรือรุนแรงจึงเกิดการแปรปรวนให้ท้องเดินดังกล่าวเนื่องจากชีวเคมีที่หลั่ง)
มีอาการภูมิแพ้ต่างๆนาๆ เช่น ในระบบหายใจ ไอแห้ง ไอเรื้อรังอาจเป็นระยะเวลายาวเป็นวันๆ เดือนๆ ภูมิแพ้ผิวหนัง
มีอาการนอนไม่หลับ ซึ่งมี ๒ ลักษณะ ในระยะแรกๆตอนเกิดใหม่ๆนั้น จิตตื่นเบาสบาย ไม่อยากนอน ไม่อยากหลับ ต่อมาภายหลังมักจะเป็นอาการนอนไม่ใคร่หลับสนิท ต้องตื่นนอนเป็นระยะๆ อยู่สมํ่าเสมอเป็นปีๆ นอนได้น้อย และเมื่อเป็นมากๆมักมีอาการหงุดหงิดขัดข้องหรือหดหู่ร่วมด้วยอย่างรุนแรง
และเมื่อเกิดอาการต่างๆ ก็เข้าใจไปว่า ป่วยเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคข้อ โรคกระดูก โรคความดัน ฯ. หรือคิดว่าเป็นเพราะสังขารที่เสื่อมหรือวัยที่แก่ขึ้น ทั้งๆที่แท้จริงแล้ว ล้วนเกิดแต่จิตเป็นเหตุทั้งสิ้นโดยไม่รู้ตัว และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยยาทางโลกๆใดๆ แม้แต่หมอเทวดาก็รักษาได้แต่ตามอาการเป็นครั้งคราวเท่านั้น เมื่อหมดฤทธิยาก็กลับมาเป็นดังเดิม
เป็นมากๆมักจะแช่ หรือเลื่อนลอยอยู่ในปีติ,สุข,ความสงบ,ความสบาย หรือแช่นิ่งภายใน โดยไม่รู้ตัว หมายถึงรับรู้ต่อสิ่งภายนอกลดน้อยลงกว่าที่ควรเป็น(แต่บางครั้งจะรุนแรง) คอยแต่จิตส่งใน ส่องกายหรือแช่นิ่งในจิตของตนเองอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัวและบางครั้งก็อาจจะเลื่อนไหลไปลึกจนรับรู้ต่อสิ่งต่างๆน้อยลงกว่าปุถุชนอย่างรุนแรงแต่ไม่รู้ตัว ในที่สุดก็จะเกิดอาการหดหู่ และท้อแท้อันเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
บางท่านนั้นทํางานอะไรแบบจดจ่อตั้งใจไม่ได้เลย เช่นการอ่านหนังสือ อาจจะเบาสบายซู่ซ่าในระยะแรกๆ แต่เมื่อหยุดแล้ว จะเกิดตึงเครียด อึดอัด หรือปวดหัว หรือมีอาการแน่นหน้าอก ปวดตามส่วนต่างๆเกิดตามมาในภายหลัง กล่าวคือ มักเกิดภายหลังจากกิจหรืองานที่ทําอย่างจดจ่อหรือตั้งใจนั่นเองที่ได้กระทําเป็นระยะเวลาหนึ่งๆ
และอาการทุรนทุรายต่างๆตลอดจนความเร่าร้อนกระวนกระวายจากความเจ็บปวดทรมานที่เกิดขึ้น และจากความหงุดหงิดในการค้นหา ปีติ หรือ สุข หรือความสงบ ที่หายไป อันเป็นตัณหาอันเป็นทุกข์โดยไม่รู้ตัว
ในผู้ที่ติดฌานสมาธิอย่างแก่กล้าอยู่ ณ ปัจจุบันจิตนี้ เมื่อพิจารณาข้อเขียนนี้แล้วโดยละเอียด และมีความเห็นอันเป็นสัมมาทิฎฐิคล้อยตามหรือเห็นจริงบ้างตามคำของผู้เขียน ก็จะเกิดอาการคล้ายเมาหรือวิงเวียนขึ้นเล็กน้อยสักระยะหนึ่ง อันเกิดขึ้นเนื่องมาจากเมื่อจิตเข้าใจหรือจับความจริงได้บ้างโดยตนเองในปัญหาเรื่องวิปัสสนูปกิเลสข้อนี้ จึงทําให้จิตเกิดการชะงักการเลื่อนไหลในมิจฉาสมาธิหรือการเสพสุขลงชั่วขณะหนึ่ง นั่นยิ่งแสดงอาการอันแน่ชัดขึ้น, อาการนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นการที่จิตแสดงอาการตอบสนองความเข้าใจอันเริ่มถูกทาง จึงเกิดการชงักงันของมิจฉาสมาธิ แต่แค่ชั่วขณะเท่านั้น
เมื่อเป็นดังนี้มากๆเข้า ก็คิดก็เข้าใจไปเองว่า เกิดแต่กายเจ็บป่วย แต่ไม่รู้ว่าเป็นผลอันล้วนมาจากจิตเป็นเหตุมาเป็นปัจจัยโดยตรงทั้งสิ้น แล้วจึงยังผลให้เกิดแก่กาย
อาการต่างๆเหล่านี้คล้ายๆกับผู้เสพยาเสพติดแล้วขาดยา (แต่รุนแรงน้อยกว่า แต่ยาวนานกว่า และเลิกยากกว่า เพราะเป็นสังขารอันได้สั่งสมอบรมไว้อันสามารถทำงานเองได้อันเป็นสภาวธรรมชาติของชีวิต ท่านจึงจัดเป็นสังโยชน์ขั้นละเอียด ที่ละลดได้ยากจริงๆ จนกว่าจะรู้เข้าใจและเกิดนิพพิทาคลายความอยาก ความติดเพลินภายในจิตลึกๆลงไปด้วยญาณ)
ในกรณีผู้เขียนเอง ที่เคยเกิดเคยเป็นมาแล้วเช่นกัน ที่เด่นชัดก็คือ เมื่อเกิดอาการ จะปวดเจ็บหน้าอกภายในอย่างรุนแรง พรัอมทั้งรู้สึกปวดในกระดูกแขน และหน้าอกอย่างรุนแรง อ่อนล้า หมดแรง กระวนกระวาย มีอาการเปลี้ยอ่อนแรงทั้งกาย โดยเฉพาะเมื่อมีอะไรมากระทบใจให้หงุดหงิดหรือฟุ้งซ่านจนหวั่นไหวเคลื่อนออกจากสมาธิหรือองค์ฌาน, โดยทั่วไปบางครั้งปวดกรามหรือเสียวฟัน อันเกิดขึ้นเองเป็นระยะๆ และถี่ขึ้นๆ ถี่ขึ้น รุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ในขณะปกตินั้น บางครั้งรู้สึกมีมวลพลังงานละเอียดยิบๆรอบๆตัวอย่างหนาแน่น, ถ้าเป็นมากๆเวลาปวดหรืออ่อนเปลี้ยเกิดขึ้นนั้น จะพูดคุยและทําอะไรไม่ได้เลย เป็นวันหนึ่งหลายๆครั้ง จนถี่ขึ้นๆเป้นลำดับ จนบางครั้งนั้นนั่งนํ้าตาไหลด้วยความท้อใจ เรามาปฏิบัติธรรมเพื่อดับไปแห่งทุกข์แท้ๆ ไฉนจึงบังเกิดเป็นเช่นนี้? แม้แต่ขณะนอนหลับแล้วก็ยังต้องตื่นขึ้นมา เพื่อใช้สมาธิคลายออก หรือขับออกไปชั่วขณะ อันยังผลสั้นๆแค่ครึ่งชม. หรือ ๒ - ๓ ชม.เท่านั้น ขึ้นอยู่กับการประคองจิตให้อยู่ในองค์ฌานได้นานเท่าใด และมีทุกข์จรมากระทบผัสสะไหม
อาการต่างๆเหล่านี้ ดูเหมือนผู้เขียนพยายามครอบคลุมทุกๆอาการไว้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ แล้วแต่จุดอ่อนของผู้ปฏิบัตินั้นๆ
อาการต่างๆเหล่านี้ในความเข้าใจและพิจารณาโดยโยนิโสมนสิการ ตามประสบการณ์และความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทแล้ว จนเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ขึ้นบ้างว่า เกิดขึ้นจากเมื่อเรามี ปีติ สุขจากฌานหรือสมาธิก็จะมีการหลั่งสารชีวเคมีหรือสารสุข หรือสารฮอร์โมนเช่นเอนดอร์ฟิน(ENDORPHIN) ขึ้นภายในร่างกาย ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้เกิดความสดชื่น,แก้เหนื่อยล้าที่ร่างกายหลั่งเมื่อเกิดความสุข ความสบาย หรือภายหลังการกระทําหรือออกกําลังกายอย่างต่อเนื่องและสมํ่าเสมออันเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิโดยไม่รู้ตัวหรือโดยธรรมชาติเช่นกัน ซึ่งทําให้ร่างกายสดชื่น และแก้ปวด แก้เมื่อยต่างๆของกายอันเป็นกระบวนการธรรมชาติของมนุษย์ สารสุขนี้โดยทั่วไปมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจอย่างสูงตามกล่าวข้างต้น แล้วไม่ได้นำไปใช้งานอย่างถูกต้อง เช่นเป็นกำลังของปัญญา และในผู้ที่มีจิตเป็นฌานหรือสมาธิ (บางท่านเป็นวสี สามารถมีปีติหรือสุขได้ตามใจปรารถนาอันเนื่องมาจากสัญญา หรือบางท่านก็เลื่อนไหลไปโดยไม่รู้ตัวเพราะความไม่รู้) จะสามารถบังคับการหลั่งสารชีวเคมีหรือสารสุขนี้ได้เกือบตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว, ทําให้ร่างกายเบาสบาย และจิตใจเกิดความสดชื่นกระชุ่มกระชวย จิตตื่น ไม่ง่วงนอน เป็นสุข เบาสบายอยู่ตลอดเวลา(บางครั้งเวลาเลื่อนไหลไปนานๆและคอยจดจ่ออยู่จะเย็นฉํ่าภายในจนหนาวสะท้านภายในอันเกิดจากจดจ่อหรือจิตส่งในคอยเสพรสโดยไม่รู้ตัวหรือติดเพลิน) หรืออาจพอกล่าวได้ว่าจิตค้นพบวิถีจิตในการบังคับควบคุมการหลั่งสารสุขภายในกายได้นั่นเอง และเพราะความไม่รู้ตามความเป็นจริง และเพราะตัณหาความอยากอันมาในรูปความติดเพลิน อย่างในกรณีผู้เขียนบางครั้งจะร้องบอกไม่ได้อยาก ไม่ได้สนใจ แต่เมื่อพิจารณาย้อนระลึกอดีตกลับพบว่า คอยแอบสังเกตุ(จิตส่งในส่องดูกาย ดูจิต)อยู่เสมอๆตลอดเวลา. ทําไม? นั่นแหละความติดใจอยากจึงเป็นการเสพโดยไม่รู้ตัว นั่นละตัวปัญหา เพราะมองไม่เห็นความอยากความติดเพลินที่แอบซ่อนเร้นอยู่ลึกๆในจิต อันเกิดขึ้นเนื่องจากความสุข ความสงบ ความพอใจ ความเพลิดเพลินที่ได้รับจากผลของฌานหรือสมาธิ และประจวบกับความเข้าใจผิดว่าได้บุญได้กุศล ได้ปัญญาโดยตรง ที่สําคัญยิ่งคือความไม่รู้ตามความเป็นจริง(อวิชชา) จึงมีความพยายาม และประคับประคองหรือแช่อยู่ และส่วนใหญ่เลื่อนไหลไปเองตามธรรมชาติของจิตอันปุถุชนไม่สามารถควบคุมได้ และการพยายามที่จะให้จิตและกายคงอยู่ในสภาพนั้นนานๆ อันล้วนเป็นการเสพสุขทั้งในสภาพที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวแทบทุกขณะจิต ทําให้สารสุขนี้คงอยู่ในร่างกายในระดับสูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน สารสุขที่หลั่งมาจากผลของการที่จิตมีสมาธิ มีทั้งคุณมหาศาลและโทษมหันต์เหมือนยาทั้งหลาย ขึ้นกับผู้ใช้นั่นเอง, ถ้าใช้ถูกก็เป็นยา กลายเป็นกําลังแห่งจิตในการปฏิบัติและเกิดสมาธิที่สามารถนําไปใช้เป็นประโยชน์ในการพิจารณาธรรมอันยังให้เกิดสัมมาปัญญาในการดับทุกข์, หากใช้ผิดกินเกินขนาดก็จักก่อให้เกิดโทษเป็นดั่งยาพิษ หรือเปรียบได้ดั่งยาเสพติดชนิดหนึ่ง, ดังนั้นเมื่อใดที่จิตกระทบกระเทือนเคลื่อนหวั่นไหวออกโดยการกระทบสัมผัส(ผัสสะ)กับสิ่งต่างๆด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ดี เช่นความคิด รูป เสียง ฯ. หรือแม้แต่การหลับไปแล้วจิตเคลื่อนออกจากฌานหรือสมาธิโดยไม่รู้ตัวด้วยอำนาจพระไตรลักษณ์ จิตจึงเลิกการบังคับกายให้หลั่งสารสุขต่างๆหรือสารชีวเคมีนี้ กายอันเคยชินได้รับและเสพใช้อยู่ในระดับสูงตลอดเวลาเป็นระยะเวลานานกว่าธรรมชาติโดยปกติ จึงเกิดอาการขาดสารสุขนี้ขึ้นมา สังเกตุจากอาการที่เกิดขึ้นจะคล้ายผู้ติดยาเสพติดทั่วๆไป ทําหน้าที่เหมือนมอร์ฟีนอย่างอ่อนๆ LIGHT MORPHIN จึงเหมือนเสพอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อขาดหายไปจึงก่อทุกข์เหมือนกัน
เนื่องจากองค์ฌานอันมี ปีติ สุข เอกัคคตา และอุเบกขา อันเป็นผลของฌาน ส่วนสมาธิก็ยังให้เกิดความสงบความสบาย อันท่านยังจัดว่าเป็นจิตสังขาร อันเป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่งทางจิต(เป็นหนึ่งใน ๕๐ ใน เจตสิก๕๒ ที่จัดเป็นจิตตสังขาร) และสังขารทั้งหลายทั้งปวงมีความไม่เที่ยง มีการแปรปรวนไปเป็นอาการธรรมดา เป็นทุกข์คือมีสภาพคงทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา จึงเกิดดับๆ ไม่สามารถควบคุมให้มีให้เป็นได้ตลอดไปตามใจปรารถนา ปัญหาจึงย่อมต้องเกิดขึ้นเมื่อไม่สามารถทําจิตสังขารให้อยู่ในองค์ฌานเหล่านั้นได้, ท่านจึงจัดสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นหนึ่งในวิปัสสนูปกิเลสด้วย อันเมื่อใช้หรือปฏิบัติไม่ถูกทางก็จะเป็นอุปสรรคแห่งการปฏิบัติธรรมหรือวิปัสสนาอันทําให้ไม่สามารถก้าวหน้าต่อไปได้ พร้อมทั้งเกิดความทุกข์ต่างๆนาๆเพิ่มขึ้นไปอีก
ปัญหาเหล่านี้แท้จริงแล้วจึงเกิดขึ้นจากการไปติด ยึดติด ติดเพลินใน ปีติ(ความอิ่มเอิบ ซาบซ่าน) สุข(ความสุข สบาย) เอกัคคตา(จิตแน่วแน่แต่แบบแช่นิ่ง) อุเบกขา(ความสงบแต่แบบขาดสติคือติดเพลิน)โดยไม่รู้ตัวเพราะความเคยชินของจิต(สังขารในปฏิจจสมุปบาทอันเกิดแต่อาสวะกิเลสและอวิชชา) หรือเพราะความเข้าใจผิด คิดว่าช่วยให้พ้นทุกข์หรือบรรลุธรรมเพราะสมาธิ ความจริงนั้นท่านหมายถึงเอาสมาธิที่มี ที่เกิด ที่เป็นนั้น นําไปเป็นบาทฐานเป็นเครื่องเกื้อหนุน คือ ใช้เป็นกำลังของจิตในการปฏิบัติพิจารณาธรรมให้เกิดปัญญาในการดับทุกข์ กล่าวคือจิตสงบ กายสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ตลอดจนกําลังของจิตที่เกิดขึ้นเพราะสมาธิหรือฌานนั้น ไปปฏิบัติโดยการพิจารณาธรรมให้เกิดปัญญาความเข้าใจที่จักนําให้พ้นทุกข์(สัมมาปัญญา), ต้องเลิกเสพสุขนี้เสียโดยการไม่แอบไปเสพทางจิตก่อนคือ จิตส่งใน การแอบมอง,แอบรับรู้ความสุขความสบายอยู่เกือบตลอดเวลา(การแอบ การเหลือบมองไปส่องกาย ส่องจิตภายในของตนอยู่บ่อยๆว่าดี หรือไม่ดี, หรือจิตส่งใน) เพราะความพึงพอใจในสุขอันละเอียดอ่อน ละมุนละไมซึ่งแอบซ่อนนอนเนื่องอยู่ในจิตลึกๆ ลองพิจารณาดูดีๆ ว่ามีความชอบใจ ถูกใจ พึงพอใจ ติดเพลินในความเบาสบาย ความซู่ซ่า ความรู้สึกไม่มีทุกข์ที่เกิดขึ้นใช่ใหม และเพราะอวิชชาไม่รู้ถึงโทษ คิดว่ามีแต่คุณฝ่ายเดียว
การมีปีติ,สุข,อุเบกขา เป็นเรื่องดีของดี แต่ต้องนําไปใช้ให้ถูกทาง ไม่ไปยึดติดหรือติดเพลิน มิฉนั้นจะเป็นโทษอย่างรุนแรงผู้ที่เป็นจะทราบเป็นอย่างดีถึงอาการต่างๆที่แสนทรมานอย่างสุดแสนเหล่านี้(แต่ก็มักจะไม่รู้ว่าเป็นมาจากจิตอันเกิดแต่การปฏิบัติผิดพลาด) และไม่ก่อให้เกิดปัญญาในการดับทุกข์ และกลับเป็นการตัดทอนกําลังปัญญาอย่างรุนแรงในที่สุดอีกด้วย
ตลอดจนการใช้ฌานหรือสมาธิใดๆในการทําสิ่งต่างๆ จิตที่เคยชินจากการอบรมสั่งสมบ่มไว้จักตั้งมั่นขึ้นเป็นสมาธิหรือฌานในทันทีโดยอัติโนมัติ ทําให้เกิดสภาวะเสพติดเพลินขึ้นโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน(เช่นการใช้น้อมภาพนิมิต, การน้อมนึกสิ่งใดๆเข้าไปภายในตนแม้สิ่งนั้นจะเป็นพระพุทธรูปหรือพระพุทธเจ้า, อุคคหนิมิต, ปฏิภาคนิมิต, การใช้พลังจิตไปในทางโลกๆ, การทํางานที่จดจ่ออยู่นานๆ, การนอนแบบปล่อยกายปล่อยใจ, การอ่านหนังสือ, การดูโทรทัศน์ ฯลฯ.)
ภาวะอันสำคัญยิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาคือ ไม่ได้ทำ แต่ทำ อันหมายถึงไม่ได้ตั้งใจกระทำ แต่กระทำโดยไม่ได้ตั้งใจ จึงไม่รู้เนื้อรู้ตัวสักนิด อันเกิดขึ้นแม้แต่ในขณะหลับ!
สำหรับผู้ที่ใช้สมาธิหรือฌานไปในทางโลกๆ ขอให้สังเกตุดูเมื่อเวลาใช้สมาธิหรือฌานมากๆ จะมีอาการภายในร่างกายตามส่วนต่างๆเช่น กล้ามเนื้อส่วนต่างๆโดยเฉพาะส่วนที่ใช้ในการถ่ายทอดพลังต่างๆ หัวใจ สมอง รู้สึกราวกับว่าเต้นสั่นระริกๆอยู่ภายใน(ลองสังเกตุเวลานอนในท่าสบายๆหลังจากใช้งานในฌานหรือสมาธินั้นๆแล้ว)อันเกิดแต่ปริมาณสารชีวเคมีในกายอยู่ในสภาพเกินพอดี(Overdose)นั่นเอง
ถ้าคงอยู่ในภาวะสุขได้นานๆ การสร้างและเสพโดยไม่มีการสะดุดสักระยะหนึ่งหน้าจักแลดูขาวนวลดูเหมือนผุดผ่องอันมักทําให้ผู้ปฏิบัติหลงเข้าใจผิดคิดว่าดี และมีอาการจิตตื่น ไม่ง่วง ไม่ทุกข์, และสังเกตุดูดีๆจะมีความรู้สึกอาจหาญ(แต่จะกร้าว ตัวเองนึกว่าอาจหาญใช้ประโยชน์ได้) จิตกร้าว จิตแกร่ง อวดรู้ ทําให้คล้ายๆอวดเก่ง แต่จะมีสภาพคล้ายๆลูกโป่งที่เมื่อเจอเข็มแหลมเล็กก็พร้อมจะระเบิดได้ทันที หรือมีสภาพเหมือนต้นไม้ใหญ่แต่เปราะหักได้ง่าย เนื่องจากสารสุขอันเป็นชีวเคมีของกายนี้ เมื่อเกิดการกระทบจนหลุดจากองค์ฌานแล้วหลังจากนั้นอาจจะมีอาการเปลี้ย ขาอ่อนขึ้นทันที และบางครั้งถ้าหลุดก็หลุดในเรื่องไม่เป็นเรื่องจนบางครั้งเรายังฉงน แค่นี้ทําไมถึงโกรธรุนแรงนัก ล้วนแล้วแต่มาจาก"พลังงาน"อันก่อเกิดจากอิทธิพลของปฏิกริยาชีวเคมีของสารสุขหรือเอนดอร์ฟินนี้เกินพอดี มิใช่เกิดจากจิตของผู้นั้นโดยตรง ที่ปกติแล้วใฝ่ดีจึงมาปฏิบัติธรรม, ในบางครั้งคล้ายมีประจุไฟฟ้าอ่อนๆ หรืออณูเล็กๆละเอียด หรือมีความรู้สึกเป็นมวลหรือเป็นก้อน หรือคล้ายๆเหน็บชาแต่เบาๆละเอียดอ่อนกว่ามากๆ เกิดในบริเวณใบหน้า, รอบๆตัว หรืออวัยวะบางส่วนเช่น แขน ขา หน้าอก ล้วนจากภาวะOVERDOSE หรือเกินขนาด โดยเฉพาะเวลาปฎิบัติหรือปล่อยแช่นิ่งในสภาพเต่าหดอยู่ในกระดอง อันคือสภาพจิตแช่นื่งอยู่แต่ภายใน ติดเพลิน คอยเสพ คอยจ้อง คอยสังเกตุแต่จิตและกายอยู่ตลอดเวลาโดยการจิตส่งในโดยไม่รู้ตัว จนจิตไม่อาจส่งออกมาสู่โลกภายนอกได้อย่างสมบูรณ์ อาจจนถึงขนาดเกิดภาพหรือเสียงอันคือนิมิต(ภาพหรือเสียงที่เห็นหรือได้ยินในใจของผู้เจริญกรรมฐาน)ต่างๆหรืออาการEUPHORIA (มักเกิดในช่วงแรกๆมาก)โดยเฉพาะถ้ามีการน้อมนําหรือชี้แนว หรือมีการคิดเน้นไปในเรื่องใด จะทําให้เห็นภาพ หรือเสียงต่างๆไปตามที่ชี้นําหรือคิดนั้น อันเช่นภาพพระพุทธเจ้า สวรรค์ นรก ผี เทวดา หรือภาพในความจำหรือคิดน้อม(สัญญาหรืออาสวะกิเลส) ฯลฯ., และภาพหรือนิมิตหรือเสียงที่ได้เห็นได้ยินนั้น อันเป็นไปดังที่ท่านหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ได้กล่าวไว้ในเรื่องนิมิตดังนี้
ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง. (หนังสือ อตุโล ไม่มีใดเทียม น.๔๕๔)
นิมิตที่เกิดจากฌานนั้นจริงบ้างไม่จริงบ้าง และส่วนใหญ่ไม่จริง และจะเสื่อมไปอย่างรวดเร็ว มีอธิบายอยู่ในท้ายบท ในแง่มุมมองแบบปฏิจจสมุปบาท
แต่ถ้าน้อมไปพิจารณาแล้วเกิดนิมิต ที่ทำให้เกิดความหน่ายคลายกําหนัดจากปัญญาไปเห็นความจริง(นิพพิทา)และไม่จดจ้องเสพผลสุขอันเกิดแต่สมาธิหรือฌาน เช่นการปฏิบัติกายานุปัสสนา อันมี การพิจารณาอสุภกรรมฐาน หรือกายก็สักแต่ว่าธาตุ๔ ฯ. เพื่อเป็นการปล่อยวาง ก็จะเป็นการถูกต้องและได้ประโยชน์อันเป็นการใช้กําลังของสมาธิน้อมนําให้เกิดความหน่ายคลายกําหนัด(ชื่นชม ยินดี)ในกายต่างๆได้อย่างรวดเร็วและอย่างเชื่อมั่นอย่างมั่นคง อันทํางานดุจเดียวกับการเกิดภาพนิมิตทั่วไปที่ผู้เห็นจะยึดเชื่ออย่างรุนแรง แต่ในกรณีกายานุปัสสนานี้จะเป็นไปอย่างเกิดคุณอนันต์ต่อผู้ปฏิบัติทําให้น้อมเชื่อในสิ่งที่ถูกต้องในขั้นปรมัตถ์อย่างมั่นคง ทําให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างก้าวหน้ารวดเร็ว ข้อสําคัญต้องพิจารณาในธรรมอันถูกต้อง(ธรรมะวิจยะ-การเฟ้นธรรม) แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาผิดพลาดมาแล้วควรระมัดระวังให้เป็นพิเศษเพราะมักจะเกิดน้อมเกิดนำให้เป็นไปตามสังขารที่ได้สั่งสมไว้แล้ว
อาการอีกอย่างที่พบบ่อยๆของผู้ติดสุขก็คือเมื่อจิตถูกกระทบแรงๆจากความคิด รูป เสียง ฯ.ผ่านทางสฬายตนะอันไม่ถูกใจหรือเคลื่อนออกจากฌานจะมีอาการอ่อนเปลี้ย หมดแรงทันที ขาอ่อน และจิตอ่อนไหว อ่อนแอกว่าปกติธรรมดา เป็นอาการที่ผู้เขียนกล่าวว่าแกร่งแต่เปราะนั่นเอง ต้องมองย้อนระลึกชาติ หรือย้อนระลึกขันธ์ที่เคยเกิดเคยเป็นก็จะเกิดภูมิรู้ขึ้นได้ แต่ส่วนใหญ่หลงคิดว่าเป็นมาจากกาย
ข้อสําคัญที่สุดมีผลหรือออกฤทธิ์ต่อสติหรือสมองโดยตรงอันเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งอันสําคัญยิ่งของจิต ในสภาพที่เจ้าตัวคิดว่าสติตัวเองสมบูรณ์ ฮึกเหิมแข็งแกร่ง แต่ตามความเป็นจริงแล้วมิได้เป็นเช่นนั้น แต่กลับตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรูปภพ หรือ อรูปภพ อันเกิดแต่ฌานที่ผิดหรือมิจฉาสมาธิอันหลั่งสารสุขออกมาโดยไม่รู้ตัวและโดยธรรมชาติแล้วจะออกฤทธิ์ต่อสมองโดยตรงก่อนที่จะส่งมาให้รับรู้ทางจิตและกายให้สัมผัสรู้สึกว่าไร้ทุกข์ ซาบซ่าน อิ่มเอิบ สุขสบาย, ซึ่งจะเหมือนคนเมาแล้วร้องขอเพิ่มเหล้าอีกบอกว่ายังไม่เมา แต่เสียงออกอาการอ้อแอ้โดยไม่รู้ตัว ฉันใดก็ฉันนั้น, ผู้เขียนแรกๆท้อใจในการชี้แจงให้ฟังโดยเฉพาะผู้ที่กำลังอยู่ในสภาวะสุขสบายอันเกิดแต่ผลของสมาธิหรือฌาน เพราะจะไม่รับฟัง, แต่เมื่อพอเข้าใจในกระบวนการทํางานของทุกข์แล้วจึงวางใจ ไม่ท้อใจ เพราะเข้าใจแล้วว่าเขาเหล่านั้นล้วนถูกครอบงําด้วยทิฎฐุปาทานและภพ อันเป็นผลจากสมาธิหรือฌานอันเกิดแต่การปฏิบัติผิดนั่นเอง จึงได้แต่ทําหน้าที่ให้ดีที่สุดในการคอยช่วยเหลือเท่าที่พอทําได้
นักปฏิบัติที่อ่านแล้วเข้าใจความหมายของคําจิตส่งใน หรือจิตส่องกายหรือจิตภายใน, แอบดูจิตหรือกายของตนเอง ที่ผู้เขียนกล่าวถึง หมายความว่าท่านมีสมาธิหรือฌานแล้วอย่างแน่นอนนั่นเอง จึงจับความหมายของผู้เขียนได้ แต่ก็มีบางท่านที่ไม่รู้ความหมายแต่ก็เป็นสมาธิหรือฌานเช่นกัน เกิดแบบไม่รู้ตัวหรือเกิดจากการปฏิบัติแบบไม่เป็นระบบจึงแยกแยะไม่ออกด้วยไม่รู้
วิธีแก้ไขมีได้หลากหลายวิธี ทั้งวิธีทางสมาธิเองและวิธีการต่างๆ แต่จะแก้ไขได้ชั่วคราวเท่านั้น หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น
สร้างความรู้สึกสมาธิให้ความอึดอัดหรือก้อนมวลนั้นให้มันระเหยออกไปประดุจก้อนนํ้าแข็ง
สร้างความรู้สึกสมาธิ ทําให้มันไหลออกตามมือตามเท้าออกไป,
พ่นลมออกจากปากให้ยาวๆ,
จ้องมองแบบปล่อยกายใจให้ลอยไปในที่ไกลๆ
หรือทําจิตบดขยี้ก้อนมวลนั้น(อันเป็นการตั้งฌานขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวเช่นเดียวกัน)ฯลฯ.
ต่างๆเหล่านี้ก็เป็นวิธีการแก้อย่างชั่วคราวหรือเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะจริงๆแล้วเป็นอาการที่รวมจิตให้ตั้งมั่น ไม่ซัดส่าย เป็นสมาธิหรือฌานขึ้นเบาๆอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจักมีการหลั่งสารสุขออกมาชดเชย อาการต่างๆก็จะหายไปชั่วขณะระยะหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าจิตยังกระวนกระวายอยู่อีกหรือหลั่งออกมาได้น้อยก็อาจหายแค่บางส่วน แล้วในที่สุดก็กลับมาเป็นอีกไม่มีที่สิ้นสุดไม่มีประมาณ เหตุเพราะความไม่รู้ว่ามาจากเหตุปัจจัยอันคือการไปยึดเสพติดเพลินในปีติสุขความสงบความสบาย, บางครั้งกลับไปหลงคิดว่าปฏิบัติผิดวิธีหรือเพียรไม่พอ จึงยิ่งมุมานะหนักยิ่งขึ้น อันกลับยิ่งก่อผลร้ายหนักยิ่งขึ้นไปอีก อาการต่างๆเหล่านี้เพราะไม่รู้ไม่เห็น สามารถอยู่ได้เป็นหลายๆสิบปีจนกว่าจะทิ้งสุขหรือฌานซึ่งยากมากเพราะธรรมชาติของจิต, ลองคิดดูพระพุทธองค์ทรงจัดว่ารูปฌานและอรูปฌานนั้นเป็นสังโยชน์ขั้นละเอียดอันต้องละ และละได้โดยระดับพระอรหันต์เจ้าเท่านั้น, แต่จากการโยนิโสมนสิการจึงพบวิธีแก้ไขโดยวิธีวิปัสสนาได้ (ละนี้หมายความว่ายังมีอยู่ไม่ได้หายไปไหน แต่ไม่ยึดติด เสพสุข ติดเพลิน อันคือตัณหาในฌานหรือสมาธินั้น อันก่อให้เกิดภพชนิดรูปภพหรืออรูปภพอันยังให้เกิดอุปาทานทุกข์ในที่สุด อันเป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาท, แต่เมื่อไม่ยึดติดไม่ติดเพลิน สมาธิและณานนั้นก็เป็นคุณประโยชน์ เป็นเครื่องอยู่อันเป็นคุณยิ่ง)
วิธีแก้ไขอย่างถาวรต้องใช้วิธีวิปัสสนาเท่านั้น ต้องให้เกิดกําลังแห่งปัญญาคือรู้เห็นและเข้าใจตามความเป็นจริงจนเกิดนิพพิทาความคลายกำหนัดด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความหน่ายจากการไปรู้ตามความเป็นจริง เพื่อจะได้วางความเชื่อที่ผิดๆอันได้หลงยึดไว้เพื่อหยุดตัณหาและอุปาทานความพึงพอใจ คือความอยากในสุข และไม่อยาก(ความไม่อยาก เกิดขึ้นขณะกําลังดิ้นรนออกจากทุกขเวทนาอาการอึดอัด,ไม่สบายอันจักเกิดขึ้นชนิดควบคุมไม่ได้) หรือก็คือเป็นอุปาทานความพึงพอใจในการไปยึดความสุขอันเกิดจากผลของสมาธิและฌาน ซึ่งมักจะสังเกตุตัวเองไม่ออก, ต้องเข้าใจธรรม ต้องมีสติรู้ และไม่แอบเสพ, การแอบเสพโดยพึงพอใจติดเพลินอยู่ลึกๆโดยไม่รู้ตัว และการปล่อยไหลไปตามความเคยชินอันเป็นธรรมชาติของจิต และความเชื่อนี่แหละสําคัญที่สุด ซึ่งจิตจะอยู่ในสภาพนิ่งแช่ แอบมองจิตภายในหรือความสบายกายและใจ หรือเลื่อนไหลไปโดยไม่รู้ตัวอยู่บ่อยๆหรือตลอดเวลา นี่แหละคือโทษที่กล่าวกันว่าเกิดจากการไปติดสุขในสมาธิหรือฌานทางรูปธรรมให้เห็นกันชัดๆ เพียงแต่เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจจึงเกิดขึ้น อันท่านจัดเป็นวิปัสสนูปกิเลส
ผู้ที่ติดปีติ สุขในฌานทุกคน เช่นผู้เขียนจักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ได้ทําอะไร ไม่ได้ตั้งใจทํา ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น กล่าวคือมีการเลื่อนไหลเข้าสมาธิเองโดยไม่ได้ตั้งใจทํา หลายๆท่านเพียงนั่งหรือนอน หรืออ่านหนังสือ หรือจดจ่อในสิ่งใดก็จักไหลเลื่อนไปทันที ดังนั้นมีหลายๆท่านอยากจะทิ้งฌานทิ้งสมาธิ แต่ไม่สามารถทําได้ เพราะจิตมีความเคยชิน เฉกเช่นธรรมชาติของนํ้า อันย่อมต้องไหลลงสู่ที่ตํ่ากว่าตามแรงดึงดูดของโลก ธรรมชาติของจิตก็เช่นกันย่อมเลื่อนไหลไปตามแรงดึงดูดของความเคยชินที่ได้สั่งสม อบรม และกิเลสตลอดจนตัณหาอันคือความสุขใจสุขกายอันเกิดแต่ผลของสมาธิและฌานตามที่ได้สั่งสมหรือฝึกฝนอบรมมา จึงเป็นความเคยชินโดยธรรมชาติ ท่านจึงจัด "สุข"เหล่านี้ในณานเป็น"วิปัสสนูปกิเลส" หรืออุปกิเลส ๑๐ ของวิปัสสนา อันคําว่า "อุป "นี้มีความหมายว่าเคยชิน,เป็นประจําสมํ่าเสมอ เหมือนคําว่าอุปนิสัยที่หมายความว่านิสัยเคยชินนั่นแหละ ดังนั้นผู้ที่ติดสุขในฌานเมื่อเผลอหรือจิตตั้งมั่น แน่วแน่หรือจดจ่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาจะเป็นอะไรก็ได้ แม้แต่การทํางาน,ดูทีวี, อ่านหนังสือ, แม้แต่ขณะหลับ ฯลฯ. สารพัดจนคาดไม่ถึง จิตจะมีอาการไหลเลื่อนเข้าองค์ฌานโดยไม่รู้ตัว สังเกตุให้ดีมีอาการเบาสบายชนิดละเอียดจริงๆแฝงอยู่จากจิตตั้งมั่นชนิดพึงพอใจในกิจหรืองานที่ทํานั้น อย่างผู้เขียนเองนั้นเมื่อจิตตั้งมั่นเบาๆเท่านั้นกับสิ่งใดๆหรือสิ่งที่ถูกจริต แม้การนอนในท่าที่ถูกใจก็จะมีอาการซาบซ่านไปทั่วกายและใจ และจะคอยเสพและสังเกตุแต่รสชาติอันสัมผัสได้ทั้งทางกายและทางใจที่เกิดขึ้นนั้น โดยเฉพาะที่กายมีอาการเย็นสบาย และตามใบหน้า ที่หลัง หรือไหล่หรือแขนขาดุจดั่งมีขนนกอันอ่อนนุ่มละมุนละไมหรือประจุที่ละเอียดอ่อน นุ่มนวล มาลูบไล้เบาๆไปทั่วกาย และสามารถบังคับให้ปรากฎชัดที่ส่วนไหนก็ได้ตามใจปรารถนา แม้แต่ใจก็สดชื่น เมื่ออยู่ในสิ่งเหล่านี้นานๆเป็นเดือน เป็นปี แต่เมื่อถูกกระทบด้วยทุกข์จนจิตหวั่นไหว ก็จะทําให้เกิดอาการต่างๆตามที่ได้กล่าวมาแล้วทันที
บางท่านรู้ตัวในอาการนี้ดี ต้องการเลิกหรือกําจัดปีติ,สุข หรือสมาธิ,ฌานออกไป ขอเรียนให้ทราบว่าไม่มีทางเสมือนหนึ่งขี่จักรยานเป็นแล้ว ว่ายนํ้าเป็นแล้ว อ่านหนังสือเป็นแล้ว ย่อมไม่มีวันลืมฉันใด ฌานหรือสมาธิก็ฉันนั้น เป็นสังขารอันได้สั่งสมไว้แล้วเช่นกัน แต่อาการต่างๆเราสามารถแก้ไขปรับปรุงให้เป็นสัมมาสมาธิหรือสัมมาฌานอันมีคุณประโยชน์แก่การปฏิบัติอันเป็นสื่งที่พึงกระทําได้
เราสามารถเอามาใช้ประโยชน์ให้ถูกทาง มีอยู่และใช้ให้ถูกให้เป็นประโยชน์ ขณะใช้ขอให้มีสติรู้ จึงเกิดประโยชน์สูงสุดในการปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นสิ่งจําเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน แต่แค่ให้จิตและกายปลอดโปร่ง ตั้งมั่น ไม่ซัดส่าย ไม่วอกแวกออกไปคิดนึกปรุงแต่งอันยังให้เกิดเวทนาอันเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา เยี่ยงนี้จึงเป็นผลดีของสมาธิ อันเป็นกําลังอันสําคัญของจิต เป็นฐานกําลังใหญ่ในการปฏิบัติพิจารณาธรรม ปล่อยเป็นไปตามสภาวะธรรมชาติ โดยต้องไม่ไปยึดติด แอบเสพ แอบมอง แอบพึงพอใจ ติดเพลินยึดไว้เพื่อเสพสุข หรือเพื่อผลประโยชน์ทางโลกอื่นๆ
หรือ ใช้รักษาผู้อื่นในบางโรค โดยอาศัยพลังงานที่ก่อเกิดขึ้นจากปฏิกริยาชีวเคมีและพลังจิต และการรวมสมาธิหรือศรัทธาของผู้ป่วยเอง (แต่ไม่แนะนําให้ปฏิบัติ เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจจะเกิดผลที่ร้ายรุนแรงกว่าที่ท่านนึกมาก ทั้งต่อผู้รักษาและผู้ถูกรักษา ดังเช่น พลังจักรวาล ฯลฯ.ทั้งหลาย)
แต่เราสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ในคราวจำเป็นในสิ่งเหล่านี้ได้ เมื่อไม่เกิดจากการติดเพลิน หรือติดสุข
ระงับเวทนาทางกาย เช่นความเจ็บปวด, ป่วยไข้
ระงับเวทนาทางใจที่แรงกล้า ที่บังเกิดอย่างรุนแรง เป็นกําลังของจิต
ระงับกามารมณ์
ใช้ปีติดับความหดหู่หรือเสียใจ ที่บังเกิดแก่จิตดังพุทธพจน์ ที่ตรัสไว้ดังนี้
"สมัยใดจิตหดหู่ สมัยนั้นเป็นกาลเจริญธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชน์ฌงค์ ปีติสัมโพชน์ฌงค์.....ส่วนสติ เรากล่าวว่ามีประโยชน์ในทุกกรณี" (พุทธธรรม น.๘๘๕)
หมายถึง เมื่อใดที่จิตหดหู่เศร้าหมอง ให้พิจารณาธรรมหรือสิ่งที่บังเกิดขึ้นในจิต(ธรรมวิจัย), เพียรยกหรือปรับจิต ไม่ให้หดหู่ตกตํ่า(วิริยะ)เช่นเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อบดบังทุกข์ และใช้ปีติอันอิ่มเอิบอันเกิดจากเข้าใจในธรรมนั้นๆอันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด หรืออาจใช้ปีติที่เราสามารถตั้งหรือระลึกได้จากสมถะสมาธินี้พอสมควร, สําหรับสตินั้นท่านกล่าวว่าเป็นคุณประโยชน์ในทุกกรณี
ใช้ให้เป็นประโยชน์ถูกต้องก็จักเป็นคุณอนันต์ แต่ต้องไม่ไปยึดพึงพอใจกับปีติและสุขที่เกิดขึ้น(ซึ่งปกติสังเกตุไม่ออกเสียด้วย) ให้สังเกตุให้เห็นด้วยตาปัญญา(เข้าใจ) แล้วจักแยกออกว่าเราแอบเสพหรือติดเพลินมันอยู่ทุกขณะจิตที่จิตมีโอกาสโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเมื่อจิตตั้งมั่นกับอยู่สิ่งใดหรืองานที่ชอบโดยไม่รู้ตัว
สุขในทางโลกๆก็เฉกเช่นเดียวกันโดยเฉพาะอุปาทานมีอาการติดที่ลึกซึ้ง ละเอียด แยบคาย เบาบางกว่าไม่อาจสัมผัสได้ชัดเจนเท่า แต่ก็เป็นเฉกเช่นกัน เมื่อติดแล้วก็ต้องพยายามหาเสพอยู่เรื่อยๆเช่นกันและแก่กล้าขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไม่ได้ก็มีอาการทุกข์ต่างๆนานาทางใจและกาย มีโรคจํานวนมากป่วยทางกายแต่สาเหตุมาจากจิต และสุขทางโลกยังมีอาการลึกซึ้งกว่า ร้ายกาจเลือดเย็น อํามหิตยิ่งกว่าติดสุขในฌานเสียอีก ลองพิจารณาดูความร้ายกาจของสุขในวิปัสสนูปกิเลสดู ขนาดเราๆยังหลงขนาดนี้ แล้วทุกข์ตัวจริงที่มองไม่เห็นจักดับยากแค่ไหน
ถึงตอนนี้ เราต้องโยนิโสมนสิการด้วยตัวเราเองว่า สมาธิ หรือฌานที่เราฝึกนี้มีจุดประสงค์เพื่อดับทุกข์ หรือเพื่อเสพหรือมีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝงอยู่ในจิต จักได้รู้วัตถุประสงค์ที่ถูกต้อง และไม่เกิดความไขว้เขว ควรดับทุกข์เสียก่อนแล้วจึงกระทําในสิ่งอื่นๆเช่นใช้เป็นเครื่องอยู่ หรืออภิญญาอันแล้วแต่วาสนาบารมีอันมิใช่เรื่องของตัณหาความทะยานอยากจึงเป็นเรื่องถูกต้อง
การละการติดสุขในสมาธิหรือฌานนี้ หมายถึงสุขที่เกิดแล้วไปติดเพลินยึดติดยึดเสพเพลิน(ไม่ได้หมายถึงองค์สมาธิ หรือฌานที่ดี ที่ถูกต้อง อันคือสัมมาสมาธิ แยกแยะให้ถูกต้องด้วย) ไม่ใช่ของง่ายๆ จัดเป็นทั้งวิปัสสนูปกิเลส และจัดเป็นสังโยชน์ในขั้นละเอียดที่ละได้ในขั้นอรหันต์เท่านั้น(ดูสังโยชน์๑๐) ตลอดจนเป็นรูปภพ,อรูปภพในภพแห่งปฏิจจสมุปบาทอันถูกครอบงําโดยไม่รู้ตัวด้วยอุปาทานความพึงพอใจ, จึงทําให้ละยากกว่ากามราคะและความขุ่นข้องหมองใจ(ปฏิฆะ)เสียอีก ดังนั้นจึงควรมีสติเข้าใจถึงคุณและโทษที่จักบังเกิด จึงจักเป็นกำลังในการฟันฝ่าให้หลุดออกมาได้
ที่กล่าวกันว่านักปฏิบัติมักเกิดวิกลจริตก็เกิดจากสาเหตุนี้เอง มิได้เกิดจากวิญญาณ หรือภูตผี หรือบารมีไม่ถึง หรือจากการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง ฯลฯ. แต่เกิดจากการปฏิบัติผิดพลาด คือเมื่อมีอาการเป็นนานๆไม่สามารถถอดถอนออกได้เพราะความไม่รู้หรือปล่อยอยู่ได้นานๆเป็นเดือนๆหรือเป็นปีๆแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นเหตุเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่มีสิ่งใดมากระทบจิตกระเทือนใจให้หลุดจากสมาธิ และเสพติดเพลินแต่เพียงเบาบางไปเรื่อยๆ จึงทําให้สามารถอยู่ได้นานๆโดยยังไม่มีอาการ แต่ในที่สุด ตามธรรมชาติของจิตที่ต้องไหลเลื่อนลงไปเรื่อยๆตามความเคยชินอันท่านได้สั่งสมไว้โดยไม่รู้ตัว(สังขารในปฏิจจสมุปบาท) หรือเมื่อมีทุกข์สิ่งใดมากระทบจิตก็จักเกิดขึ้น และจักมีอาการต่างๆตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ในสภาพเกิดๆดับๆ ถี่ขึ้นๆ รุนแรงขึ้นๆ ถี่ขึ้นไปเป็นลําดับเรื่อยไป จนจิตและกายถูกโจมตีจนอ่อนล้าเนื่องจากความถี่และวิตกจริต ตกอยู่ในสภาพที่รับไม่ไหว หาทางออกไม่พบ ในที่สุดจึงกลายเป็นสภาพวิกลจริต,คิดสั้น อันเป็นทางออกสุดท้ายของจิตชนิดหนึ่ง, หรือมิฉนั้นก็เกิดจากอาการเจ็บป่วยหรือเจ็บปวดอย่างรุนแรงนานๆ ที่แม้แต่หมอเทวดาหรือครูบาอาจารย์ก็แก้ไขให้โดยตรงไม่ได้ แก้ไขได้เพียงเป็นครั้งคราวสั้นๆเท่านั้น ต้องแก้ไขด้วยตนเองเท่านั้น
ดังนั้นผู้มีอาการมากๆ ควรหยุดการจดจ่อในสิ่งใดๆรวมทั้งการปฏิบัติสมาธิ การสวดมนต์ สักระยะหนึ่ง และมีความเข้าใจทั้งคุณและโทษ อ่านวิปัสสนูปกิเลสประกอบการพิจารณา เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ
ผู้ที่มีอาการรุนแรงควรปฏิบัติในเบื้องต้นดังนี้
ฌานหรือสมาธินั้นเป็นทั้งเวทนาและจิตสังขารชนิดหนึ่ง เราจึงใช้หลักเวทนานุปัสสนาและจิตตานุปัสสนาในสติปัฏฐาน๔
เมื่อเกิดสุขเวทนาก็ไม่ติดเพลิน แล้วถืออุเบกขาไม่เอนเอียงไปปรุงแต่งทั้งดีและชั่ว
จิตเป็นฌาน(มหรคต)เป็นสมาธิอยู่ก็รู้ว่าจิตเป็น แล้วพยายามเป็นกลาง(อุเบกขา)คือวางทีเฉยอยู่โดยไม่ต้องไปยุ่งแค่รู้แล้วละ และถืออุเบกขาโดยไม่คิดนึกปรุงแต่งทั้งฝ่ายดีก็ไม่ ฝ่ายชั่วก็ไม่ อันจักยังให้ไม่เกิดเวทนา อันจักยังให้เกิดตัณหาและทุกข์เพิ่มขึ้นอีก
อนึ่งต้องมีความเข้าใจว่า ฌานและสมาธินั้นเป็นสิ่งที่เข้าง่าย แต่ออกยาก ถ้าเข้าใจปฏิจจสมุปบาทจะพิจารณาเห็นได้อย่างแจ่มแจ้งว่า ทำไมพระพุทธองค์จึงทรงจัดเป็นสังโยชน์ขั้นละเอียด อันละได้ยากแสนยาก จึงต้องมีความเพียรอย่างจริงจังจริงๆ แล้วก็ต้องก่อภูมิรู้ภูมิญาณในธรรมให้ก้าวหน้า จึงจักออกมาได้อย่างถาวร กล่าวคือมิได้หมายถึง การกำจัดฌานสมาธิ ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นสังขารเสียแล้ว แต่หมายถึง ณานสมาธินั้นก็ยังคงมีอยู่ แต่แค่เป็นเครื่องอยู่ ขาดเสียซึ่งการติดเพลิน อันไม่ก่อทุกข์โทษภัยใดๆอีกต่อไป จึงกลับกลายเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
วิธีปฏิบัติแก้ไขในระยะแรก ๓ ข้อ ด้วยความเพียรยิ่ง
๑. ทำความเข้าใจในฌานและสมาธิว่า มีทั้งคุณในการเป็นเครื่องสนับสนุนการปฏิบัติวิปัสสนาหรือปัญญา และทั้งโทษถ้าไปติดเพลินหรือติดใจอยากให้แจ่มแจ้ง แล้วทันทีที่รู้ว่าจิตส่งใน ไปในองค์ฌานหรือองค์ของสมาธิต่างๆ หรือกระทำอะไรตามที่ฝึกไว้แต่แบบผิดๆจนเกิดปัญหา เช่น การตามลมหายใจ(แต่อย่างขาดสติไม่รู้ตัวเป็นไปในลักษณะไหลเลื่อนหรือกระทำ่เพลินโดยไม่รู้ตัวคือไม่ประกอบด้วยสติ)จนเกิดอาการอึดอัด หรือเลื่อนไหลอยู่ในองค์ฌาน, การน้อมสิ่งต่างๆเข้าภายในกาย แม้แต่พระพุทธเจ้า หรือคำบริกรรม การเคลื่อนไหวร่างกายส่วนต่างๆที่ใช้เป็นเครื่องกำหนด(อารมณ์) การจงกรม ตลอดจนการรับพลังต่างๆเช่นพลังธรรมชาติ พลังเจ้าพ่อเจ้าแม่ ฯ. หรือแม้แต่การเป็นผู้ส่ง หรือผู้ให้พลังธรรมชาติทั้งหลายเหล่านั้น ฯลฯ. ให้รีบทำความรู้สึกตัว โดยหยุดทันที หรืออาจใช้การเปลี่ยนอริยบถบดบังทุกข์ แต่อย่าอย่างต่อเนื่อง เช่นนั่งอยู่ ก็ลุกขึ้นไปเสีย, รู้เท่าทันเมื่อไรก็ทำเมื่อนั้นทันที เมื่อไม่รู้เท่าทันเลื่อนไหลก็ปล่อยเขาไปแต่เมื่อรู้สึกตัวต้องหยุดทันที อย่าหงุดหงิดกับการที่ไม่รู้เท่าทันนั้นๆอย่างเด็ดขาด พึงเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติอันเป็นธรรมดาที่ต้องเป็นเช่นนี้กับทุกผู้คน ชนิดไม่มีข้อละเว้นใดๆเพราะเป็นสภาวะธรรมชาติของชีวิตหรือสังขารที่ท่านได้สั่งสมมาแล้วจึงกล้าแกร่งเป็นธรรมดา และเกิดขึ้นบ่อยๆถี่ๆเสียด้วย จึงเป็นเรื่องธรรมดาๆอย่างยิ่งที่ต้องเกิดอย่างนี้ เพียงแต่ว่า เมื่อรู้สึกตัวต้องรีบหยุดการกระทำดังเช่นที่กล่าวทันที ให้สั่งสมจนเป็นสังขารใหม่
ตลอดจนผู้ที่ยึดความว่าง ที่พยายามหยุดคิดหยุดนึก ความว่างนั้นต้องว่างจากกิเลส,ตัณหา,อุปาทาน หรือก็คือการว่างจากอุปาทานทุกข์เท่านั้น โดยการหยุดคิดนึกปรุงแต่งฟุ้งซ่าน จึงไม่ใช่การว่างชนิดพยายามไปหยุดคิดหยุดนึกไปเสียทุกอย่าง หยุดแค่การคิดนึกปรุงแต่งที่จะทำให้เกิดทุกข์เท่านั้น เมื่อมีสติรู้ตัวก็ให้พยายามไม่ไปทำให้ว่างจากความคิดนึกดังเก่าก่อน
๒. ขณะก่อนนอน ท่านอนใดที่นอนแล้วซาบซ่านสงบสบาย ให้เปลี่ยนจากท่านอนอันท่านเคยชินโปรดปรานนั้นโดยเด็ดขาด รวมทั้งกริยาอาการต่างๆที่ทำแล้วสงบ,สบาย,ซาบซ่านหรือแช่นิ่งทั้งหลาย ไม่เอาเป็นเด็ดขาด แล้วพึงให้ทำการโยนิโสมนสิการคือยกข้อธรรมต่างๆมาพิจารณา อันนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน เป็นการลดละการเลื่อนไหลลงสู่สมาธิหรือฌานก่อนการหลับอันกระทำเองโดยไม่รู้ตัวจึงเลื่อนไหลไปทำแม้ในขณะหลับไปแล้วเหมือนความฝัน อันท่านมิสามารถควบคุมได้ด้วยตนเองจนกว่าท่านจะมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง การพิจารณาธรรมนั้นต้องเป็นแบบการใช้ความคิด ใช้ปัญญา หาเหตุหาผล ต้องมิใช่การบริกรรมท่องบ่นให้เกิดการต่อเนื่องสมํ่าเสมอเป็นสมาธิอย่างเด็ดขาด ต้องกระทำเช่นนี้จนหลับไป ข้อควรระวังอย่างยิ่งยวด อย่าจิตส่งในไปจับความสงบความเบาสบายใดๆทั้งต่อกายและจิตตามความเคยชินอย่างเด็ดขาด, และเมื่อตื่นนอนก็อย่าปล่อยแช่ให้เลื่อนไหลไป อันพึงยกเว้นเวลาที่ง่วงเหงาหาวนอนจริงๆเพราะเป็นปฏิปักษ์กันอยู่แล้วกับฌานสมาธิ แต่ที่ควรระวังก็คือ การดูทีวีอย่างสบายๆจนเลื่อนไหลหลับไป
๓. ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้นกับนักปฏิบัติ คือเมื่อให้กระทำดังข้อ๑ แล้ว กล่าวคือเมื่อหยุดกระทำจิตส่งใน ก็จะเกิดปัญหาขึ้น คือ ไม่รู้ว่าจะเอาจิตไปอยู่ที่ใด มีความรู้สึกเคว้งคว้าง วางจิตไม่ถูก เหมือนจิตไม่มีจุดยึด จุดยืน เหมือนเปลือยเปล่า เหมือนไม่มีเกราะกำบัง เหมือนอ้างว้าง กล่าวดังนี้ ราวกับว่าผู้เขียนพูดเล่น หรือพูดฟุ้งซ่านเป็นเรื่องตลกว่า จิตที่อยู่กับเรามาตลอดชีวิตตั้งแต่เกิด แต่ดันมาเกิดความรู้สึกว่าไม่รู้จะให้อยู่หรือวางที่ใด แต่ขอรับรองว่าผู้ที่เป็น จะไม่รู้สึกตลกอย่างแน่นอน เพราะมันจักเกิดขึ้นเช่นนี้จริงๆ เพราะจิตเคยชินอยู่กับการเกาะติดองค์ฌานหรือจิตและกายของตนด้วยจิตส่งในอย่างชำนาญยิ่งโดยไม่รู้ตัว เมื่อไม่ได้ยึดเกาะดังกล่าวจึงเกิดอาการดังนี้ขึ้น จึงขอให้ จิตไปยึดในการพิจารณาธรรม คือการใช้ธรรมเป็นเครื่องอยู่ (คือการปฏิบัติอยู่ใน ธรรมานุปัสนา,หรือธรรมวิจยะ,หรือการโยนิโสมนสิการนั่นเอง) ในขณะที่มีความรู้สึกเคว้งคว้าง,อ้างว้างเช่นนั้น ดังเช่นการปฏิบัติก่อนนอน ข้อสำคัญอีกประการต้องรู้จักเฟ้นเลือกธรรม(ธรรมวิจยะ) เลือกธรรมที่ถูกต้อง ถูกจริต เป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นเครื่องอยู่ เป็นที่พักของใจ และยังก่อให้เกิดภูมิรู้ภูมิญาณในการถอดถอนอย่างถาวรในภายหน้าอีกด้วย ผู้ เขียนขอแนะนำ ปฏิจจสมุปบาท พระไตรลักษณ์ อริยสัจ๔ ขันธ์๕ ฯ. อันมีกล่าวไว้ในเว็บนี้โดยละเอียดพอสมควรทั้งสิ้น และกล้ากล่าวได้ว่าเป็นแก่นธรรมแท้ๆอันไม่ก่อทุกข์โทษภัยใดๆทั้งสิ้น มีแต่คุณอย่างอนันต์ล้วนสิ้นถ้ามีความเข้าใจ ขอให้ใช้การพิจารณาอย่างใช้ปัญญาหาเหตุหาผล ไม่น้อมเชื่ออย่างงมงายด้วยอธิโมกข์ ถ้าไม่ใช้ธรรมเป็นเครื่องอยู่ ก็จะกลับไปจิตส่งใน อย่างเดิมๆโดยไม่รู้ตัว แค่ในเวลาไม่นานโดยไม่รู้ตัว
ช่วงนี้ห้ามใช้ความคิดไปพิจารณาในเรื่องอื่นๆหรือทางโลกโดยเด็ดขาด เพราะจะก่อให้เกิดการคิดนึกปรุงแต่งให้เกิดทุกข์ อันจักยังให้อาการกำเริบขึ้น
ถ้าทำได้ดังนี้ อาการต่างๆจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่โปรดเข้าใจอย่างแน่นแฟ้นจริงจังด้วยว่ายังไม่เป็นการถาวร ตั้งอยู่ในความประมาทขาดการวิปัสสนาให้เกิดปัญญา ปัญหาก็จะเกิดขึ้นอีก เป็นๆหายๆ ผู้เขียนเคยเห็นคนที่แก้หายไป๘-๙เดือน แต่ประมาทและมีทุกข์มาร่วมกระทบก็เกิดอาการเลื่อนไหลไปตามสังขารเดิมอันได้สั่งสมไว้ กลับไปอย่างเดิม แต่ก็เบาบางลงไปมาก เพราะมักเกิดจากความประมาทว่าหายแล้ว รู้แล้ว เข้าใจถ่องแท้แล้ว จึงขาดการวิปัสสนาให้ก้าวหน้าอย่างถาวร จึงกลับไปติดเพลินด้วยอาการจิตส่งใน อีกโดยไม่รู้ตัวตามสังขารที่สั่งสมไว้นั่นเอง จึงเกิดอาการขึ้นอีกได้ เช่น เดิมอาจติดสุข ประมาทคิดว่าดีแล้ว กลับกลายไปติดในความสงบอันละเอียดอ่อน และสังเกตุได้ยากกว่าแทน
อ่านประกอบการพิจารณา การแก้วิปลาส โดยหลวงปู่เทส เทสก์รังสี
ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งเพราะสังขารความเคยชินเดิมๆ มักจะทำให้จิตส่งในไปคอยจับความเบากาย เบาใจใหม่ๆที่จักเกิดขึ้นจากการหลุดออกจากมิจฉาฌานสมาธิ อันจักเกิดขึ้นอย่างแน่นอนและสบายเสียยิ่งกว่าเดิมอีก ขอห้ามอย่างเด็ดขาด ไม่ไปยึดมั่นหมายมั่นในสิ่งใดๆแม้ในความสบายเหล่านั้น มิฉนั้นก็จะกลับไปอยู่ในสภาพมิจฉาฌานสมาธิอย่างเดิมๆโดยไม่รู้ตัว และขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้ ควบคู่ไปด้วยกับการเจริญในธรรม เช่น ขันธ์๕ ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจ ไตรลักษณ์ ฯลฯ.
๑. ในช่วงแรกๆ ต้องหลีกเลี่ยงพิธีกรรมหรืองาน การปฏิบัติ รวมทั้งการกระทำใดๆที่ก่อให้จิตเกิดการจดจ่ออย่างต่อเนื่องจนจิตรวมหรือเกิดสมาธิ เช่น การสวดมนต์ การนั่งสมาธิ การจงกรม การบริกรรมท่องบ่น การตามลมหายใจ การตามลมยุบหนอพองหนอ หรือสิ่งที่นำมาเป็นการ วิตก วิจาร อันจะเป็นเหตุให้เกิดองค์ฌานทั้งหลายนั่นเอง ตลอดจนหยุดใช้ฌานหรือสมาธิในสิ่งต่างๆเพื่อประโยชน์ทางโลกๆทุกชนิด เช่น ใช้พลังจิต พลังธรรมชาติต่างๆนาๆ การอธิษฐาน ฯ. หลายท่านมีความกังวลเมื่อไม่ได้ทำดังนี้ กลัวบุญกุศล กลัวฌานสมาธิจะหายไป อย่าไปกังวล ไม่หายไปไหนหรอก รับรองว่ายังอยู่อย่างเดิม ต้องแก้ไขเสียก่อน จึงเหมือนคนป่วยต้องงดอาหารบางอย่างนั่นแหละ
๒. ในช่วงแรกๆให้หยุดการการกระทำต่างๆทุกชนิดที่ก่อให้เกิดความสบาย ให้ความเคลิบเคลิ้ม และการออกกำลังบางประเภทที่ต่อเนื่องอันก่อเป็นสมาธิได้โดยไม่รู้ตัว เช่น รํามวยจีน จ๊อคกิ้ง การเดินสบายๆ การจงกรม การดูโทรทัศน์อย่างสบายอารมณ์ การอ่านหนังสือนานๆ ท่านอนท่านั่งอันโปรดปรานที่พอกระทำแล้วซาบซ่านหรือแช่นิ่งลงไป(ลองสังเกตุดูพบแน่ๆ) การเล่นวิดิโอเกมส์(เด็กรุ่นใหม่จึงพากันเกิดปัญหานี้มากที่ทําให้เป็นโรคฮิตในปัจจุบันคือโรคสมาธิสั้น อันมิได้เกิดแต่กรรมพันธ์ วันหน้าผู้เขียนจะเขียนรายละเอียดที่เกิดขึ้นให้อ่าน เนื่องจากเกิดจากกระบวนจิตที่เกี่ยวเนื่องกับสมาธิ เป็นเรื่องที่ซับซ้อน) อันจักก่อให้เกิดอาการได้อีกเช่นกัน และทำให้กลับไปอยู่ในสภาพเดิมๆโดยไม่รู้ตัว เพราะกีฬาหรือการกระทำที่ออกกําลังกายชนิดสมํ่าเสมอ หรืองานที่ทําอย่างใช้ความตั้งใจหรือสมาธิแต่ในงานนั้น ก่อให้เกิดสมาธิอย่างหนึ่งเช่นกัน อันโดยปกตินั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่สําหรับผู้ที่กําลังประสบปัญหาหรือผู้ป่วยไข้อยู่, หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถแต่ต้องไม่ต่อเนื่อง เพื่อเบี่ยงเบนหรือบดบังทุกข์ อย่าจดจ่อแช่นิ่งกับสิ่งใด โดยเฉพาะในกายและจิตตนไม่ว่าทั้งภายในและภายนอก
๓. สังเกตุอาการเป็นดังที่ผู้เขียนพูดจริงๆหรือไม่ เช่น จิตส่งใน เพื่อให้รู้ให้เข้าใจอันสัมผัสได้ด้วยตนเองว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ แล้วให้พิจารณาดูทุกข์โทษที่เกิดขึ้นนั้นๆ และมองย้อนระลึกชาติหรือขันธ์๕ที่ผ่านมาว่ามีความก้าวหน้าในธรรมจริงๆหรือไม่ เพื่อจิตจักได้มีกําลังจิตอันเกิดแต่ปัญญาที่เข้าใจ จึงค่อยๆคลายความยึดมั่น ถือมั่น พึงพอใจ(นิพพิทา)ที่แอบติดเพลิน แอบเสพ แอบยึด แต่โดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา
๔. ผ่อนกาย ใจ ไปทางโลกๆบ้างในเบื้องต้น อย่าหมกมุ่นในสิ่งใดมากเกินไป เพื่อลดอาการต่างๆ มีฌานอยู่ก็รู้ว่ามีอยู่ แต่ไม่ต้องไปทําอะไรกับเขา อันเป็นไปตามหลักเวทนานุปัสสนาและจิตตานุปัสสนา เพราะมิว่าอย่างไรก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่อย่าติดเพลินเท่านั้น
๕. พิจารณาตนเองว่า มาปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์จริงๆหรือไม่ และที่เกิดขึ้นนี้เพราะความไม่รู้(อวิชชา) หรือเพื่อหวังสิ่งอื่นสิ่งใดอันซ่อนเร้นอยู่ในจิต เช่นอยากพ้นไปจากทุกข์ที่เกิดในปัจจุบันเท่านั้น อยากเก่ง อยากให้คนนับถือ อยากเอาไปใช้เป็นผลประโยชน์ทางโลก อยากใช้ประโยชน์แก้ทุกข์ พิจารณาตัวเองให้รู้แจ้งประจักษ์แก่ใจตนจริงๆ (ลองพิจารณาโดยละเอียดและแยบคายต้องพบการแอบจิตอย่างแน่นอน) จักได้รู้เข้าใจตามความเป็นจริง และละวางได้ แม้แต่ผู้ที่ต้องการพ้นทุกข์อย่างแท้จริงก็ลองโยนิโสมนสิการด้วยว่า ภายหลังจากการถูกครอบงำควบคุมแล้ว จุดมุ่งหมายเบี่ยงเบนไปหรือไม่ ยังคงเป็นนิโรธอันถูกต้องไหม?
๖. มีสติหยุดการ ส่องจิต ส่องกาย หรือจับลมหายใจของตนเอง หรือหยุดเพ่งจี้กายและจิตตนเอง(แอบมองจิตและกายภายในและนอก) ว่า ป๊ติ ไม่ปีติ สุขดี ไม่ดี เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการที่จิตตั้งมั่นขึ้นภายในขณะจิตนั้นเองและเป็นฌาน,สมาธิโดยไม่รู้ตัว ด้วยการเหลือบมองหรือเพ่งจี้เข้าไปในกายและจิตนั่นเอง, อันเป็นการเสพหรือติดเพลินด้วยความเคยชินชนิดหนึ่งโดยไม่รู้ตัว เพราะสังขารที่สั่งสมไว้อันเป็นสภาวะธรรม(ชาติ)อันยิ่งใหญ่เป็นเหตุปัจจัยนั่นเอง จิตส่งในนี่แหละที่ทำให้ไม่สามารถสลัดออกไปได้ด้วยเหตุนี้ประการหนึ่ง
อาการนี้จักคล้ายเต่าที่หดหัวหดขาอยู่ในกระดอง ที่คอยแต่แอบเฝ้ามองกายและจิต
อย่าสับสนกับความหมาย "อย่าส่งจิตออกนอก" อันเป็นธรรมที่ท่านหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ได้กล่าวไว้เนืองๆ อันเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่งยวด, อันมีความหมายว่าอย่าส่งจิตออกไปคิดนึกปรุงแต่งภายนอก หรือ อย่าส่งจิตออกนอกไปเสวยอารมณ์ภายนอก(เวทนา) หรือถ้า "อยู่ในกาย" ก็หมายถึงกายานุปัสสนาคือการพิจารณากาย เช่น ธาตุ๔ สิ่งปฏิกูล เพื่อให้เกิดนิพพิทา ฯ. มิได้หมายถึงการกระทำ "จิตส่งใน" เพื่อเสพรสชาดขององค์ฌานอย่างเด็ดขาด เพราะถ้าสับสนในธรรมข้อนี้แล้วจะไปเพ่งจี้แช่หรือจิตส่งในไปอยู่ภายในกายหรือจิตของตนเองโดยความเข้าใจผิด อันย่อมก่อให้เกิดโทษรุนแรงตามมาภายหลัง
๗. การพิจารณาอย่างสบายๆ ไม่เคร่งเครียดอย่างเด็ดขาด จะนั่ง นอน เดิน อิริยาบถใดก็ได้ แต่ในระยะแรกควรหลีกเลี่ยงในรูปการนั่งสมาธิ, หรือก่อให้เกิดสมาธิจากความสบายต่างๆ เพราะจะควบคุมไม่ได้จะเลื่อนไหลคล้อยตามกลับไปในลักษณะเดิมๆเพราะสังขารในปฏิจจสมุปบาทคือเกิดการแอบติดเพลินขณะพิจารณาอันทําให้น้อมไปตามความเชื่อความคิดผิดๆเท่านั้น ไม่ได้เป็นธรรมแท้จริง, และทำให้กลับสู่สภาพเดิมๆ, แต่ถ้าทําได้หมายถึงเป็นสัมมาสมาธิก็จักเกิดผลที่ดีอย่างรวดเร็ว แต่ผู้เขียนขอแนะว่ายังไม่ควรอย่างยิ่ง นอกจากท่านมีความเข้าใจในธรรมดีจริงๆ มิฉนั้นอาจหลงไปยึดในสิ่งที่เห็นผิดๆนั้นอีกหลายสิบปี หลายภพ หลายชาติก็ได้, ให้ใช้การพิจารณาแบบคิด คือ ใช้สมอง ใช้เหตุใช้ผล ต้องไม่ใช่การท่องจําหรือบริกรรม หรือสวดมนต์จนจิตเป็นสมาธิอีก คือให้จิตคิดนึกค้นหาวนเวียนอยู่ในธรรมชนิดที่ต้องใช้ปัญญาไตร่ตรองเพื่อให้เข้าใจในธรรมนั้นๆ เพราะ วิธีนี้จิตจักหยุดการหมกมุ่นวนเวียนในจิตในกายของตนเองและในองค์ฌาน ปีติ สุข อุเบกขา, เป็นที่วางจิตหรือเครื่องอยู่ของจิตโดยการหันมาสนใจในธรรมที่คิดค้นพิจารณา อันเป็นสัมมาสมาธิในทางวิปัสสนาอย่างถูกต้อง และยังบังเกิดปัญญาญาณทีละน้อยๆโดยไม่รู้ตัวขึ้นในที่สุดอีกด้วย ข้อสําคัญที่สุดขณะพิจารณาอย่าได้ไปสังเกตุหรือส่องจิตหรือจับจิตหรือกายตนเองอย่างเด็ดขาด นั่นไม่ใช่การพิจารณากาย แต่เป็นการเสพสุขโดยการติดเพลิน(นันทิ-ตัณหา) โดยไม่รู้ตัว
การพิจารณากายอยู่ภายในกายของตน หมายถึง พิจารณาให้เข้าใจถึงสภาวะธรรมอันแท้จริงต่างๆของกายตามพระไตรลักษณ์ อันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือกายานุปัสสนา คือพิจารณากายให้เห็นตามความเป็นจริงว่าล้วนแต่เป็นของปฏิกูล, หรือสักแต่ว่าเป็นธาตุ๔....ฯลฯ.เพื่อให้เกิดนิพพิทาและปัญญาหรือญาณจึงเป็นการถูกต้อง.
ขอเน้นการพิจารณาธรรม ต้องทำก่อนนอนด้วยอย่างยิ่ง เพราะจิตเป็นฌานเป็นสมาธินั้นเป็นสังขารในปฏิจจสมุปบาทอันได้สั่งสมอบรมไว้ จึงสามารถผุดขึ้นมาเองได้เช่นกันแม้ขณะหลับ โดยตามปกตินั้นจะเลื่อนไหลเข้าขณะนอนหลับโดยไม่รู้ตัวเป็นเช่นดังความฝัน อันต่างล้วนเป็นขันธ์๕เช่นกัน จึงเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ลำบากยากยิ่ง ท่านจึงจัดเป็นสังโยชน์อย่างละเอียดอันละออกได้ยากยิ่งนัก การพิจารณาอย่างใช้ปัญญา คือใช้สมองอย่างหาเหตุหาผลก่อนนอนจนหลับไปนั้น ช่วยทำให้จิตก่อนหลับไม่เลื่อนไหลลงสู่ภวังค์ได้เป็นอย่างดียิ่งในขั้นต้น เพราะถ้าท่านเลื่อนไหลในขณะนอนหลับนั้น ผลของมันมีเนื่องสัมพันธ์ส่งถึงขณะตื่นขึ้นมาด้วย จึงทำให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในรูปภพ หรืออรูปภพอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว หรือถึงรู้ตัวก็ไม่สามารถควบคุมบังคับได้ ผู้ที่มีอาการมากๆลองพิจารณาดูก็ได้ ท่านสามารถทำจิตได้อย่างเมื่อก่อนเหมือนเป็นคนธรรมดาๆได้ไหม? สักหนึ่งนาทีเท่านั้น? แค่เสี้ยวขณะจิตก็ได้ ! เหมือนพูดเรื่องตลก แต่ก็ตลกไม่ออกอีกเช่นกัน
๘. ขณะมีความทุกข์ทางใจกระทบมากๆ ไม่ควรปล่อยให้เลื่อนไหลเข้าฌานหรือใช้ฌาน เพราะผู้ที่จิตเป็นฌานนั้น โดยปกติธรรมดาจะไหลเลื่อน(ติดเพลิน-นันทิ-ตัณหา)เข้าไปโดยไม่รู้ตัวอยู่เสมอๆอยู่แล้ว อันจะเกิดผลในทางตรงข้ามคือทำให้เป็นทุกข์เพิ่มทวีคูณขึ้น หลายร้อยเท่าทวีคูณ ! และโดยไม่รู้ตัวสักนิด ! เพราะจิตจะไปเกาะติทุกข์เหล่านั้นอย่างเหนียวแน่น
ถ้าท่านเกิดปัญญารู้ สามารถหยุดจิตไม่ให้เลื่อนไหลโดยไม่รู้ตัวไปสู่ฌานหรือมิจฉาสมาธิได้มากพอสมควร ในช่วงระยะแรกๆจะมีอาการคล้ายเมา วิงเวียนเบาๆช่วงสั้นๆสลับไปมาไม่นานนัก, และถ้าไม่เลื่อนไหลไปอีกได้นานขึ้น จะมีเหงื่อออกมากผิดปกติ ตามตัว ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เป็นเวลาหลายอาทิตย์, ตลอดจนมีอาการเคืองตา,แสบตาเบาๆระยะยาว ขึ้นอยู่กับว่าท่านเป็นมากหรือน้อย ไม่ต้องตกใจเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น ไม่ใช่อาการป่วยทางกายใดๆหรือโรคหัวใจใดๆทั้งสิ้น, แต่อย่าขาดสติหรือประมาทว่าแก้ได้แล้วโดยเด็ดขาด มิฉนั้นก็จักไหลเลื่อนกลับมาที่สภาวะเดิมๆโดยธรรมชาติของจิตอย่างจริงแท้แน่นอน , จนกว่าท่านจะก้าวหน้าในธรรม เพราะท่านไม่สามารถถอดถอนออกได้อย่างแน่นอนและเด็ดขาด โดยการปฏิบัติแบบทางโลกๆ แต่ฝ่ายเดียวตามที่ผู้เขียนประยุกต์มาอันเกิดแต่ความเข้าใจในธรรม เพราะเหตุนี้นี่แหละจึงเป็นสังโยชน์ขั้นละเอียด เพราะได้เป็นสังขารอันแน่นแฟ้นเฉกเช่นการอ่านหนังสือออก การว่ายนํ้าเป็น การขี่จักรยาน การเขียนหนังสือได้ บุคคลิก ถ้าท่านสามารถถอดถอนในสิ่งที่ผู้เขียนยกมาเป็นตัวอย่างได้ ท่านจึงจะสามารถถอดถอนด้วยกำลังอย่างทางโลกๆ ได้, การถอดถอนอย่างถาวรมีเพียงหนึ่งเท่านั้น คือสร้างสังขารใหม่อันมิได้เกิดแต่อวิชชา หรือมหาสติ ด้วยความเข้าใจในธรรมของพระองค์อย่างถูกต้องและนำมาปฏิบัติ
หลายๆท่านเมื่อบอกให้หยุดสวดมนต์ชั่วระยะหนึ่ง มีอาการไม่สบายใจ ครั่นเนื้อครั่นตัวโดยเฉพาะท่านที่สวดมนต์นานๆ รวมทั้งกลัวไม่ได้บุญ, การปฏิบัติเพื่อการดับไปแห่งทุกข์โดยตรงอย่างถูกต้องอันรวมการพิจารณาในธรรมด้วยนั้นเป็นอานิสงส์ผลบุญอันสูงที่สุดแล้ว และการพิจารณาในธรรมนั้นเป็นการปฏิบัติบูชา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าดีกว่าการสวดมนต์บนบาน ถวายธูปเทียน อันเป็นการปฏิบัติที่เรียกว่าอามิสบูชา คือบูชาอย่างยังมีอามิสหรือกิเลสแอบแฝงอยู่นั่นเอง
ผู้ปฏิบัติสมาธิที่นั่งนานๆ และกดข่มตัดความคิดดื้อๆ กดความโกรธ เก็บกดความไม่พอใจ กล่าวคือใช้กําลังของสมาธิ หรือกําลังของจิตเข้าระงับ ตลอดจนมีความเครียด วิตกกังวล เพราะความเครียดและความวิตกกังวลก็เป็นสมาธิชนิดหนึ่งอันเกิดแต่จิตที่เวียนวนอยู่ในความคิดนึกปรุงแต่งอันเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลาแต่เป็นมิจฉาสมาธิคือเป็นสมาธิชนิดผิดๆมีแต่โทษแก่ผู้ปฏิบัติ เกิดแต่จิตที่แม้ไม่มีปีติสุขเกิดขึ้นก็อาจเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นได้ เพราะเกิดสารชีวเคมีเช่นกันแต่เป็นสารทุกข์อันให้แต่โทษฝ่ายเดียว, แม้แต่ผู้ที่ฝึกตามลมอย่างมีอามิส(มีกิเลสตัณหา)ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนา ก็อาจมีอาการอึดอัดหายใจไม่เต็มที่และความดันโลหิตขึ้นสูงด้วย อันนี้เป็นประสบการณ์ของผู้เขียนที่ฝึกเองจนต้องเข้าโรงพยาบาลถึง๓วันโดยคิดว่าป่วยแบบทางโลกๆ ซึ่งผู้เขียนก็พึ่งจะเข้าใจในภายหลังเมื่อมองย้อนระลึกขันธ์ อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนประสบเป็นประจําและกล่าวได้ว่าเป็นกันทุกคน คือตัวเองจักกล่าวยืนยันอย่างมั่นคงทั้งต่อตนเองและผู้อื่นว่า ตนเองนั้นไม่เป็น, ไม่เคย, ไม่อยาก, ไม่ใช่, ไม่ได้ปฏิบัติ, ปล่อยตามสบายแล้ว แต่ผู้เขียนก็ขอยืนยันตรงนี้เช่นกัน ผู้ที่ปฏิบัติผิดวิธีและเพราะไม่รู้ในโทษเพราะไม่มีใครกล่าวไว้ หรือเข้าใจได้บ้างอย่างผู้เขียน(ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากเข้าใจธรรมบ้างแล้ว)ก็จักเกิดเช่นนี้ขึ้นทุกคนเพราะเป็นกระบวนการธรรม(ชาติ)ของจิตที่เกิดขึ้นเพราะสมาธิและเกิดการยึดติดผลนั้นเพราะกิเลสตัณหาโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากขาดการใช้ปัญญาเมื่อถอนจากความสงบสบายแล้ว เมื่อเป็นกระบวนการธรรมชาติ "จึงเป็นเช่นนั้นเอง" กันเสียทุกคน คือเกิดการ ทำโดยไม่ได้ทำ หมายถึง ไม่ได้ตั้งใจเจตนากระทำ แต่กระทำโดยไม่ได้ตั้งใจอยู่ตลอดเวลา อันเกิดจากกิเลส ตัณหาและอุปาทานความพึงพอใจโดยตรงที่แอบแฝงนอนเนื่องอยู่ ตลอดจนการปฏิบัติของลัทธิต่างๆ พลังต่างๆ อื่นๆด้วย ต่างก็ล้วนประสบปัญหานี้เช่นกันเพียงแต่ไม่มีผู้รู้หรืออวิชชา ลองโยนิโสมนสิการย้อนระลึกชาติ อาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดภายหลังจากการเริ่มปฏิบัติแล้วจักค่อยๆรู้แจ้งขึ้น หรือสังเกตุดูจากการปฏิบัติใดๆที่เราหยุดไปแล้วมักมีอาการต่างๆเกิดขึ้น!
ข้อนี้ประการหนึ่งจักเกิดขึ้น เมื่อท่านละวิปัสสนูปกิเลสนี้ได้แล้วเสีย ท่านจักทราบความหมายของคําว่า จิตนุ่มนวลควรแก่การใช้งานของพระพุทธองค์ ว่าแตกต่างจากจิตแข็งกร้าว หรือจิตหยาบอันเกิดแต่ผลของฌานหรือมิจฉาสมาธิที่ไม่มีวิปัสสนาญาณอย่างไรได้โดยตัวท่านเอง(ปัจจัตตัง) อันไม่มีผู้ใดสามารถเขียนบรรยายเป็นตัวหนังสือเพื่อสื่อออกมาได้. เหตุเพราะท่านเกิดวิปัสสนูปกิเลสอันแสดงว่าท่านนั้นก็มีวิปัสสนาพอสมควร จึงจักเกิดขึ้นได้ แต่มาติดขัดเพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจตามความเป็นจริงนั่นเอง จึงปฏิบัติผิดพลาด.
วงจรของการทุกข์และติดสุขในฌาน ในแง่รูปธรรมหรือทางโลก
จิต เป็นเหตุเป็นปัจจัยไปกระทบ กาย จึงเป็นเหตุปัจจัยให้หลั่ง ชีวเคมี อันเป็นเหตุปัจจัยไปออกฤทธิ์
จึงเป็นเหตุปัจจัยไปกระทบควบคุม.............................ควบคุมกาย.............. ................ควบคุมสมอง
ข้อคิดของติดสุขในฌาน ในแง่มุมปฏิจจสมุปบาท
ขณะมีความทุกข์กระทบมากๆ ไม่ควรปล่อยให้เลื่อนไหลเข้าฌานหรือใช้ฌานหรือสมาธิ เพราะผู้ที่มีจิตเป็นฌานหรือสมาธินั้น โดยปกติธรรมชาติของฌานและสมาธินั้นจะกดทุกข์ไว้ได้ดีในระดับหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆอยู่แล้วโดยเฉพาะนิวรณ์๕ แต่อุปมาดังหินทับหญ้า เมื่อยกหินออก หญ้านั้นก็จะงอกงามดังเดิม, ยังมิได้เป็นการขุดรากถอนโคนดังวิปัสสนาหรือปัญญาซึ่งเป็นการกําจัดทิ้งอย่างถาวร จิตมีนิสัยชอบเกาะแน่วแน่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งตามปกติก็เป็นองค์ฌาน ต่างๆหรือความสงบ,ความสบายจากสมาธิ เมื่อจิตไม่สามารถเกาะกับองค์ฌานได้บางครั้งเนื่องจากความไม่เที่ยง จึงไปเที่ยวยึดเกาะติดความทุกข์ที่จรหรือแทรกเข้ามาดื้อๆเช่นกัน , ฌานสมาธินั้นเมื่อใดที่ไม่สามารถกดความทุกข์ไว้ได้จะทําให้เกิดผลเสียคือมีอาการต่างๆมากกว่าปกติธรรมดา ตลอดจนหดหู่และกระวนกระวายทรมานกว่าปกติธรรมดาหลายเท่าทวีคูณ แม้แต่ในสิ่งที่ไม่เป็นเรื่องเป็นราว ถ้าพิจารณาจากปฏิจจสมุปบาทกระบวนการเกิดขึ้นและดับไปแห่งทุกข์แล้วจะมองออกได้ว่า เมื่อเราอยู่ในฌานด้วยความติดเพลิน(เป็นตัณหาโดยไม่รู้ตัว)ก็คือการที่กระบวนจิตได้ดําเนินไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทจนเกิดภพอันล้วนจัดเป็นทุกข์ เป็นภพชนิดรูปภพหรืออรูปภพแล้ว อันคือมีการเกิดขึ้นของตัณหา..อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นพึงพอใจในฌานแห่งตัวตนหรือความเป็นตัวกูของกูเกิดขึ้นแล้วโดยไม่รู้ ดังนั้นเมื่อความทุกข์ที่มากระทบเกิดเข้าแทรกได้เพราะกดข่มไว้ไม่อยู่หรือเพราะความรุนแรงของเหตุแห่งทุกข์ที่มาผัสสะในขณะที่จิตอยู่ในภพของฌานนั้น หรือการหลุดจากฌานเพราะความไม่เที่ยงของฌาน จึงทําให้รูปภพนั้นดับไป, จิตก็ดําเนินไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทใหม่และเกิดตัณหาความอยากในฌาน หรือเกิดความไม่อยากในฌานเนื่องมาจากความอึดอัดกระวนกระวาย และไม่สามารถสนองได้ จึงเกิดภพใหม่ขึ้นต่อเนื่องแต่เป็นภพชนิดปฏิฆะขุ่นข้องขัดเคืองใจอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากความไม่สบายทางกายและใจอันเนื่องมาจากการหลุดจากฌาน จึงทําให้สิ่งต่างๆที่มากระทบผัสสะหรือความทุกข์นั้นถูกครอบงําไปตามภพและอุปาทานความยึดมั่นในความพึงพอใจของตัวกูหรือตัวกูของกูไปด้วยและเป็นชนิดที่ไม่ได้รับการตอบสนองดังใจหมายคืออยู่ในภพชนิดปฏิฆะขุ่นเคืองขัดข้องเช่นกันและอย่างรุนแรงกว่าธรรมดาเพราะเพิ่มความขุ่นเคือง ขัดข้อง อึดอัด กระวนกระวายทั้งต่อกายและจิตจากการหลุดออกจากฌานอันเป็นสุขด้วย จึงทําให้การกระทําต่างๆ(อุปาทานขันธ์๕ในชรา)ดังเช่นการกระทําหรือความคิดที่เกิดขึ้นณ.ขณะภพนั้นจึงถูกครอบงําไว้ด้วยความขุ่นข้องขัดเคืองอย่างรุนแรงไปด้วยในทุกสิ่ง จึงทําให้สลัดออกได้ยากหรือเกิดอย่างรุนแรงและรวดเร็วขึ้นได้ ดังแง่มุมที่ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้วข้างต้น เช่นความเก่ง ความหดหู่ ความกระวนกระวาย หลุดง่ายๆในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ทุกข์ทับถมทวีคูณเพราะความรุนแรงของความเป็นตัวกูของกูหรือความยึดมั่นในความสุขความพึงพอใจของกูในฌานนั้นมีรุนแรงกว่าปกติธรรมดามากนัก เพราะจิตจะตั้งมั่นอยู่ในฌานหรือมิจฉาสมาธิ,สนใจในสิ่งอื่นๆน้อยลง อยู่กับความเป็นฌานกู ตัวกู ของกูมากกว่าปกติธรรมดาจึงเกิดอุปาทานอย่างรุนแรงและข้อสําคัญคือเป็นความติดเพลินไม่รู้ตัว ดังนั้นผู้ที่เป็นทุกข์อยู่จึงมิควรจะใช้ฌานหรือมิจฉาสมาธิหรือปล่อยให้เลื่อนไหลไปโดยไม่รู้ตัว แต่ควรใช้วิปัสสนาหรือปัญญาไปคิดพิจารณาธรรมให้เกิดนิพพิทาและความเข้าใจเพื่อปลอบจิตและเกิดปัญญาเป็นการแก้ไขจึงจักถูกต้องและถาวร
ลองมองย้อนระลึกชาติดู, ขณะที่อยู่ในรูปภพนั้น จิตเช่นความคิดต่างๆตลอดจนกายล้วนเบาสบาย คิดอะไรก็ไม่รู้สึกหวั่นไหว รู้สึกเป็นสุขทั้งทางกายและจิต, แล้วลองมองย้อนระลึกชาติดูในขณะที่หลุดออกจากฌานแล้วมีอาการทางกายและจิตเกิดขึ้นไหม? และครอบงํากายและจิตที่จักเกิดขึ้นต่อเนื่องในเรื่องอื่นๆด้วยไหม?
ฌานหรือสมาธิจึงควรมีแค่เป็นเครื่องอยู่คือเป็นแค่เวทนาขันธ์และสังขารขันธ์ของขันธ์๕ตามธรรมชาติอย่างหนึ่งอันจักยังคุณประโยชน์ทั้งต่อกายและจิตตลอดจนการปฏิบัติวิปัสสนา อุปมาเปรียบเทียบได้ดั่งอาหาร เมื่อใดที่เราทานอาหารนั้นเพื่อดับทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาและตามความจําเป็นของร่างกายแล้ว อาหารนั้นก็จัดสิ่งที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอย่างยิ่งยวดชึ่งเป็นกระบวนการขันธ์๕ในการยังชีวิตตามธรรมชาติเป็นธรรมดา แต่เมื่อใดที่เราทานอาหารตามความอยาก(ตัณหา)หรือความต้องการของจิตเป็นพื้นฐานแล้วเช่นทานอาหารทั้งๆที่ไม่จําเป็นหรือเลือกจะทานโน่นทานนี่ตามตัณหาอย่างนี้อาหารนั้นก็จัดว่าไม่มีคุณประโยชน์อย่างแท้จริงก่อให้เกิดทุกข์ดิ้นรนตามตัณหา และเกิดไม่สบายเจ็บป่วยได้, ในกรณีเดียวกันกับฌานหรือสมาธิเมื่อใดที่มีความติดเพลิน(นันทิ อันคือตัณหา) หลงใหล หลงเสพสุข เลื่อนไหล หวังประโยชน์อันล้วนเป็นตัณหาอันเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ฌานหรือสมาธินั้นก็จะดําเนินไปตามวงจรปฏิจจสมุบาทกระบวนธรรมของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์เกิดอุปาทานความยึดมั่นพึงพอใจในผลอันเป็นสุขของมิจฉาสมาธิหรือฌานอันเกิดแก่ตัวแก่ตนโดยไม่รู้ตัวเสียด้วย อันยังให้บังเกิดภพ(รูปภพหรืออรูปภพ)อันเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ในภายหลังนั่นเอง และรุนแรงมากกว่าเวทนาหรือสังขารขันธ์ทั่วๆไปเสียอีก
นิมิตที่เคยเห็น เคยเกิดขึ้นและเป็นจริงในขณะจิตเป็นฌานในระยะแรกๆก็จะเริ่มเสื่อมไปตามสภาวะรูปภพที่ครอบงําด้วยอุปาทาน จึงทําให้การเห็น(จิตรู้จิตเห็นในนักปฏิบัติบางท่าน)ในภายหลังล้วนแล้วแต่เป็นไปตามความนึกคิดหรืออุปาทานของตนเองอันแอบแฝงโดยไม่รู้ตัวเป็นหลัก ไม่หมดจดจากนิวรณ์๕เหมือนการเกิดในช่วงแรกๆ จึงผิดบ้างถูกบ้างเป็นธรรมดา เพราะเมื่ออยู่ในรูปภพแล้วย่อมหมายถึงการถูกครอบงําด้วยตัณหาและอุปาทานแล้วนั่นเอง จิตและปัญญาจึงขาดจากความบริสุทธิ์เจือด้วยกิเลสตัณหาต่างๆโดยไม่รู้ตัว จึงไม่หมดจด สิ่งที่เคยเห็นเคยเกิดย่อมต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา คือเห็นไปตามอํานาจอุปาทานนั่นเอง จึงไม่เหมือนกับญาณอันเกิดจากปัญญาที่เข้าใจสภาวะธรรมอย่างหมดจดที่ยังประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ตลอดจนนําพาให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
วิปัสนูปกิเลสนี้ เมื่อพิจารณาจากวงจรปฏิจจสมุปบาท จะเห็นขั้นตอนการเกิดขึ้น เป็นดังนี้
๑.ในขั้นแรก เมื่อเริ่มการปฏิบัติสมาธิหรือวิปัสสนา เกิดแต่อวิชชา(ความไม่รู้ตามความเป็นจริง) เมื่อปฏิบัติไปจึงเกิดนันทิ(ความติดเพลินหรือตัณหานั่นเอง)โดยธรรมชาติจากความสงบสบายโดยไม่รู้ตัวเป็นธรรมดา ก็เนื่องมาจากความสุขความเบาสบายและความสงบที่เกิดขึ้นทั้งต่อจิตและกายอันเป็นที่ต้องการโดยธรรมชาติของชีวิต
๒.ในระยะที่๒ เพราะอวิชชาและนันทินั้นได้เกิดขึ้นแล้วบ่อยๆ จึงดำเนินไปถึงอาสวะกิเลสสั่งสมจดจำไว้ทุกครั้งทุกที อันเมื่อเป็นปัจจัยร่วมกับอวิชชาจึงเกิดสังขารตามที่ได้สั่งสมในที่สุด อันยังให้เกิดการสังขารตามความเคยชินขึ้นจึงเป็นไปโดยไม่รู้ตัว ยิ่งเมื่อสังขารนี้กล้าแข็งขึ้นจึงเกิดขึ้นบ่อยๆ และเพราะความไม่รู้(อวิชชา)และไม่มีสติรู้ตัวจึงเริ่มก่อปัญหาอย่างรุนแรงขึ้นในที่สุด ระยะขั้นนี้จึงเป็นอย่างรุนแรงและยาวนานและมักมีผลคือทุกขเวทนาทั้งต่อกายและจิต เกิดขึ้นได้เป็นระยะๆเป็นปีๆจวบจนวาระสุดท้าย
๓.ถ้าบังเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง(วิชชา) ในขั้นนี้อาการที่เกิดขึ้นก็ยังมีอยู่แต่มักเป็นผลที่เกิดแต่สังขารตามความเคยชินที่ได้สั่งสมไว้เป็นส่วนใหญ่ อันเป็นสภาวะธรรม(ชาติ)ที่ยากต่อการแก้ไขจึงจักวนๆเวียนๆอยู่ แต่อาการต่างๆมักจะดีขึ้น แต่ยังไงๆก็ยังมีเกิดขึ้นเป็นระยะๆแต่สั้นลง เบาบางและห่างขึ้น, ส่วนความติดเพลินหรือตัณหาโดยตรงนั้นก็มีผลแต่ลดน้อยลงอันเนื่องมาจากความรู้เข้าใจ(วิชชา)ได้บังเกิดขึ้น อันจักเกิดเมื่อขาดสติเลื่อนไหลบ้างเป็นธรรมดาเท่านั้น, ต้องใช้ความเพียรอย่างจริงจังของสติและญาณ(ปัญญา)เป็นกําลังจึงจักหายขาดได้ จึงเกิดขึ้นพร้อมกับความก้าวหน้าในธรรมนั่นเอง
เพราะว่าคนเรา ถึงแม้ยินดี ด้วยความยินดีที่ปราศจากกาม หรือปราศจากอกุศลแล้ว
ก็ยังจัดเป็นสัตว์ที่เลวทรามอยู่
(เช่น ยินดีในรูปฌาน อรูปฌาน อันจัดเป็นนันทิหรือภวตัณหา)
(บาลี มาคัณฑิยสูตร. ปริพพาชกวรรค ม.ม.๑๓/๒๗๔ฝ๒๘๑)
(พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ๒๕๔๒ หน้า๒๕)