"ภิกษุทั้งหลาย  โพชฌงค์ ๗ ประการเหล่านี้   เป็นธรรมทําให้มีจักษุ   ทําให้มีญาณ

ส่งเสริมความเจริญแห่งปัญญา   ไม่เป็นข้างความคับแค้น    เป็นไปเพื่อนิพพาน"

สารบัญ

(สํ.ม. ๑๙/๕๐๒/๑๓๗)

คลิกขวาเมนู

        กุณฑลิยะ     :    ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ  ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว  กระทำให้มากแล้ว  ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์?

        พระพุทธเจ้า  :    ดูกรกุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์.

        กุณฑลิยะ     :    ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็(แล้วยังมี)ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว  ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์?

        พระพุทธเจ้า  :    ดูกรกุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์.

(กุณฑลิยสูตร)

โพชฌงค์ ๗

        โพชฌงค์  ๗  ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ประกอบของการตรัสรู้  หมายถึง ธรรมหรือข้อปฏิบัติเพื่อยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ กล่าวคือ ถึงที่สุดแห่งการดับทุกข์หรือการตรัสรู้  อันมี ๗ ประการ   ซึ่งเมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้องดีงาม ก็ย่อมเป็นปัจจัยส่งเสริมเกื้อหนุนแก่กันและกัน เป็นปฏิจจสมุปบันธรรมกัน เป็นไปเพื่อการดับไปแห่งทุกข์หรือการตรัสรู้ จึงมีความสำคัญมาก  และดังพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ข้างต้นที่แสดงว่า สติปัฏฐาน ๔ มีความสำคัญและเป็นบาทฐานที่เป็นเหตุปัจจัยให้เนื่องสัมพันธ์หรือปฏิจจสมุปบันธรรมกันให้ "โพชฌงค์ ๗" บริบูรณ์ได้ดี, โพชฌงค์ ๗ มี

        ๑,สติสัมโพชฌงค์ สติ ที่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น เป็นสติที่ได้จาการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ เป็นบาทฐานนั่นเอง  จึงมีสติรู้เท่าทันใน กาย เวทนา จิต ธรรม อยู่เนืองๆ

        ๒.ธัมมวิจะยสัมโพชฌงค์ ความเฟ้นธรรม, ความสอดส่อง สืบค้นธรรม, การวิจัยหรือค้นคว้าธรรม การคิดพิจารณาในธรรม เพื่อค้นหาความจริงของธรรมนั้นๆ

        ๓.วิริยะสัมโพชฌงค์ ความเพียรพยายามในการธัมมวิจยะในธรรมต่างๆข้างต้น ด้วยความเพียร บากบั่น ไม่ย่อท้อ สู้กิจ ไม่ถอย

        ๔.ปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อมีความเพียรดีแล้ว ย่อมเกิดความเข้าใจธรรมต่างๆขึ้นได้เป็นลำดับ ที่ย่อมยังให้เกิดความปลาบปลื้ม ความยินดี  ความลิงโลดใจ ซาบซ่าใจ อันปราศจากอามีสเพราะเกิดแต่ปัญญารู้ความจริง

        ๕.ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ความสงบกายสงบใจ จึงเป็นสุข อันเป็นปฏิจจสมุปบันธรรม  อันพึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเมื่อปีติดับไป

        ๖.สมาธิสัมโพชฌงค์ เมื่อกายใจสงบ มีสุข ความตั้งใจมั่น ความแน่วแน่จึงเกิดขึ้น อันเป็นสมาธิเพื่อความหลุดพ้น

        ๗.อุเบกขาสัมโพชฌงค์ การวางใจให้เป็นกลาง วางใจเฉย  ไม่เอนเอียงด้วยชอบชัง ไม่ยินดียินร้าย  ด้วยรู้ความจริงยิ่งของธรรมว่า เมื่อเข้าไปแทรกแซงปรุงแต่งย่อมเกิดการดำเนินต่อไปของขันธ์ ๕ แปรปรวนต่อไปไม่ จนเป็นทุกข์ในที่สุด

๑. สติสัมโพชฌงค์

        สติ ความระลึกรู้ ถ้าจะให้เข้าใจได้ง่ายๆ ก็ลองพิจารณาดูว่าแท้จริงแล้วก็คือ ความนึกขึ้นมาได้ หรือจำขึ้นมาได้ จากความจำคือสัญญานั่นเอง  แต่สติโพชฌงค์ คือการมีสติหรือจำขึ้นมาได้เพื่อการสิ้นอาสวะหรือการหลุดพ้น โดยจากการฝึกและอีกทั้งปฏิบัติดีแล้วจากสติปัฏฐาน ๔ ที่ทำให้สติระลึกรู้เท่าทันในสิ่งอันควรทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต และธรรม และยังให้เกิดปัญญาญาณต่างๆขึ้นอีกด้วยนั้น จึงเป็นปัจจัยเครื่องหนุนสติสัมโพชฌงค์ ให้เจริญงอกงามดังที่กล่าวข้างต้น,  สติในสติสัมโพชฌงค์จึงมีความแตกต่างจากสติในสติปัฏฐาน ๔ คือ เป็นสติเพื่อการปฏิบัติชนิดเน้นเพื่อการดับอาสวะหรือทุกข์  หรือการตรัสรู้ให้ถึงซึ่งวิมุตติ  ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ว่า เมื่อผู้ใดมีสติตั้งแล้วไม่เผลอเรอ  นับว่าสมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ได้เริ่มตั้งต้นขึ้นแล้ว ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์

        สติสัมโพชฌงค์ คือ สติที่เป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ  สติระลึกรู้เท่าทัน ความระลึกได้ นึกได้เท่าทันในปัจจุบันธรรม, ไม่เผลอเรอ, การระลึกหรือคิดนึกขึ้นมาได้ จากการสั่งสมในอดีต(สัญญา)  จึงหมายถึง การระลึกรู้เท่าทันใน กาย เวทนา จิต หรือธรรม  ดังเช่น การมีสติระลึกรู้เท่าทัน(คือ ในสัญญาความจำได้ใน)กาย ที่เกิดในปัจจุบัน, การมีสติระลึกรู้เท่าทันเวทนา ในปัจจุบัน, ความมีสติระลึกรู้เท่าทันจิต นปัจจุบัน(จิตเห็นจิต)ที่เกิดขึ้น จิตที่หมายถึงสังขารขันธ์(อาการหรืออารมณ์ต่างๆของจิตเช่นโทสะ โลภะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ฯ. ) หรือจิตสังขาร(เช่นความคิดนึกปรุงแต่งมโนกรรมคืออาการของจิตที่ฟุ้งซ่านไปปรุงแต่ง ซึ่งเป็นผลของสังขารขันธ์นั่นเอง),  ความมีสติระลึกรู้เท่าทันธรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน,  

        หรือกล่าวได้ว่า สติ คือการดึงความจำ, การนึกขึ้นมาได้, การจำได้ หรือคือการเรียกเอาสัญญาความจำได้หมายรู้(จากอดีตที่ได้สั่งสมอบรมไว้) ขึ้นมาใช้การงานนั้นๆได้ดีนั่นเอง

        ใช้สติหรือการจำได้นี้ ไประลึกรู้เท่าทัน กาย, เวทนา, จิตสังขาร(อารมณ์คืออาการต่างๆของจิต อีกทั้งมโนกรรมความคิดที่พึงเกิดขึ้นจากอารมณ์ต่างๆนั่นเอง) ที่เกิดมาจากการผัสสะ, และธรรม ดังที่ปฏิบัติฝึกดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ มาใช้ในการดำเนินชีวิตหรือในปัจจุบันธรรม

        กล่าวโดยย่อ มีสติ ไม่เผลอเรอในปัจจุบัน ดังในเวทนาหรือจิต เช่นว่า เมื่อมีการผัสสะด้วยอายตนะใดๆก็ตามที สติระลึกรู้ หรือจำได้ว่า ย่อมต้องเกิดเวทนา(ความรู้สึกรับรู้ ที่เกิดจากการผัสสะ) และอาการต่างๆของจิต(สังขารขันธ์)ขึ้นเป็นธรรมดา ทุกครั้งทุกทีไป  หรือเห็นมโนกรรมคือความคิดนึก(จัดว่าเป็นจิตอย่างหนึ่ง)

        อันสติหรือการจำได้หรือการนึกขึ้นมาได้นั้นจักเกิดขึ้นได้ดี จากการฝึกสั่งสมอบรมปฏิบัติดังสังขารอื่นๆ จนเป็นสัญญาจำได้ที่ประกอบด้วยปัญญา เช่นการอ่านเขียนหนังสือ  การท่องแม่สูตรคูณ ฯ. ส่วนในทางธรรมก็ดังเช่นใน สติปัฏฐาน ๔ ที่เป็นเครื่องฝึกสติและใช้สติ ให้นึกขึ้นมาได้ หรือจำได้โดยอาศัยกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นเครื่องฝึกและเครื่องรู้  จึงมีอานิสงส์ที่เนื่องสัมพันธ์ส่งเสริมโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ ดังพุทธดำรัสข้างต้น ด้วยเป็นเครื่องสนับสนุน(ปัจจัย)ให้มีสติ  เมื่อมีสติก็น้อมกระทำธัมมวิจยะ ด้วยปัญญาได้ดี ด้วยเมื่อมีสติ จิตย่อมไม่ฟุ้งซ่านออกไปทั่ว จึงเหมือนดั่งโคที่ผูกกับหลักไว้ดีแล้ว จึงเพียงดิ้นรนอยู่ในวงเชือก 

๒. ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์

        ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ (ธัมมะวิจยะ) เป็นธรรมวิจัย(ธรรมวิจยะ)เพื่อความหลุดพ้น,  ความสอดส่อง การสืบค้นธรรม, การวิจัยหรือค้นคว้าพิจารณาในธรรมอย่างหาเหตุหาผล(ไม่ใช่จากการน้อมเชื่อด้วยอธิโมกข์) อันครอบคลุมถึงการเลือกเฟ้นธรรมที่ ถูกต้อง ดีงาม ถูกจริต, เป็นการค้นคว้า การพิจารณา การไตร่ตรองด้วยปัญญาเป็นสำคัญ  หรือการโยนิโสมนสิการในปัจจุบันธรรมที่เกิดขึ้น ให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง ตามความเป็นจริง เพื่อความหลุดพ้น อันย่อมต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจในธรรมอย่างปรมัตถ์ (สภาวธรรมชาติ โดยเฉพาะของเรื่องทุกข์ ก็เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการดับทุกข์นั่นเอง) จึงต้องไม่ใช่เป็นไปตามความน้อมเชื่อ การบอกเล่า การอ่าน การฟัง หรือความอยากของตน หรือด้วยอาการอธิโมกข์ใดๆ  แต่ต้องพึงเกิดจากการพิจารณา, วิจัย, สืบค้น จนเห็นเข้าใจความจริงต่างๆให้ประจักษ์ได้ด้วยตนเอง,  ตามความเป็นจริงตามเหตุตามผล กล่าวคือ ธรรมที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตราถึงด้วยความพินิจพิจารณาด้วยปัญญา เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์,  เมื่อเจริญธัมมวิจยะดีแล้วย่อมเกิดสัมมาปัญญาความเข้าใจขึ้นไปเป็นลำดับ  ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่สุดในการดับทุกข์คือเกิดสัมมาวิมุตติสุขจากการหลุดพ้นกองทุกข์หรือกิเลส ในสัมมัตตะ ๑๐ เป็นที่สุด

        อนึ่งธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ หรือการคิดนึกในการพิจารณาในธรรมโดยแยบคาย ซึ่งย่อมเป็นการคิดการนึกการพิจารณาที่อาจแลดูว่าวนเวียนไปมา เสมือนหนึ่งราวกับว่าปรุงแต่งวุ่นวายไปนั้น  ไม่นับเนื่องว่าเป็นการคิดนึกปรุงแต่งฟุ้งซ่าน(อุทธัจจะ)อันเป็นโทษแต่อย่างใด แต่กลับเป็นสิ่งที่ควรทำให้เจริญยิ่งๆขึ้น  เพราะเป็นที่อยู่อันควรของจิตอันดียิ่งอีกด้วย ด้วยไม่ส่งเสริมให้จิตมีดำริส่งส่ายออกไปคิดนึกปรุงแต่งในสิ่งเป็นอกุศลหรือกิเลสอื่นๆ(อุทธัจจะ)อีกด้วย  อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดปัญญา(ญาณ)ขึ้นได้ทั้งโดยรู้ตัว หรือค่อยเป็นค่อยไปแบบโดยไม่รู้ตัวก็ดี,  เพราะบางท่านไปตีความเอาเสียว่า การมัวแต่คิดพิจารณาในธรรมก็ถือว่าเป็นความคิดนึกปรุงแต่งไปเสียด้วยก็มี ซึ่งเป็นโมหะความเข้าใจที่ผิด,  จงหยุดแต่การคิดนึกปรุงแต่งฟุ้งซ่านไปในกิเลส(อุทธัจจะ)เท่านั้น  แต่จงคิดนึกพิจารณาในธรรมหรือธรรมะ(ย่อมไม่ใช่การน้อมเชื่อจาการฟังหรืออ่านแต่ฝ่ายเดียว)  

        เพราะการเข้าใจธรรมะให้แจ่มแจ้งได้นั้น ต้องเกิดจาการพิจารณาโดยละเอียดและแยบคายเท่านั้น  ดังมีคำของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล กล่าวไว้ว่า "คิดเท่าไรก็ไม่รู้  ต้องหยุดคิดนะจึงรู้  แต่ก็รู้ได้เพราะคิด" ที่มีความหมายแท้ๆลึกซึ้งยิ่งนักว่า "คิดนึกปรุงแต่ง(อุทธัจจะ)เท่าไรก็ไม่รู้นิโรธหรือความสงบ  ต้องหยุดการคิดนึกปรุงแต่ง(อุทธัจจะ)นั่นแหละจึงพบนิโรธ  แต่การจะรู้สิ่งเหล่านี้ได้ก็เกิดจากการคิดพิจารณาธรรม(ธัมมวิจยะ)นั่นเอง จึงเกิดขึ้นได้"

        อีกประการหนึ่ง ธัมมวิจยะสามารถใช้เป็นอารมณ์(สิ่งที่จิตกำหนดหมาย)ในการเจริญวิปัสสนาสมาธิได้อย่างดีงามยิ่ง  ใช้แทนคำบริกรรมท่องบ่น หรือลมหายใจเข้าออก(อานาปานสติ) ฯลฯ.ได้ดีอย่างยิ่ง  และยังสามารถทำให้เกิดธรรมสามัคคีให้เกิดญาณ(ปัญญา)ได้ดีกว่าอารมณ์(สิ่งที่จิตกำหนดหมาย)ใดๆทั้งสิ้น  สามารถทำได้ในทุกอิริยาบถ  และเป็นที่อยู่อันควรยิ่งของจิต และยังทำให้ไม่ส่งจิตออกไปส่งส่ายหาเรื่องหาราวด้วยกิเลสให้เกิดนิวรณ์ต่างๆ อีกทั้งการอุทธัจจะ(ฟุ้งซ่าน)เสียนั่นเอง

        ข้อคิดไว้พิจารณา-ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ อุปมาได้ดั่งองค์วิตกในฌาน ที่นำข้อธรรมต่างๆ (หรืออาจเช่นเวทนาและสังขารขันธ์จากสติที่ระลึกรู้ ก็ได้)มาเป็นเครื่องอยู่หรือเครื่องพิจารณา(เป็นอารมณ์คือสิ่งที่จิตกำหนดหมาย)ในการพิจารณา  จึงมีความแตกต่างจากองค์วิตกในฌาน ตรงที่เป็นการวิปัสสนาใช้ปัญญาด้วย ไม่ใช่เป็นไปด้วยสมาธิหรือฌานแต่ฝ่ายเดียว  แต่เป็นไปเพื่อปัญญาญาณเพื่อการตรัสรู้อีกด้วย (อาการต่างๆขององค์ฌาน)

        กล่าวโดยย่อ คือพิจารณาธรรมด้วยปัญญา ตามที่ได้ปรารภ(ตั้งต้น,กล่าวถึง)ไว้

        เมื่อมีสติพร้อม แล้วนำสติไปในการวิจัยค้นคว้าพิจารณาในธรรมต่างๆ(ธัมมะวิจยะ) ดังเช่น ธรรมในกาย เวทนา จิต ธรรม ด้วยปัญญา เมื่อพิจารณาด้วยความเพียรย่อมยังให้เกิดความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริงในสภาวธรรมหรือธรรมต่างๆขึ้นเป็นลำดับ  จึงไม่ได้เห็นเป็นไปตามความอยาก, ความเชื่อ, การอ่าน, การฟังแต่อย่างเดียว ฯ. ดังเช่นแต่กาลก่อน,  ดังเช่น  การพิจารณาธรรมจนเข้าใจใน ความเป็นเหตุปัจจัย  ปฏิจจสมุปบาท  พระไตรลักษณ์  อริยสัจ๔  ขันธ์๕  สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ.  ที่เมื่อเกิดความเข้าใจจากการธัมมะวิจยะ ปัญญาย่อมสว่างกระจ่างขึ้น เกิดปัญญาพละ ก็ย่อมรู้คุณ จึงเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนน้อมให้เกิดวิริยะความเพียร

        สติระลึกรู้ หรือสัญญาจำได้นั่นเอง จึงใช้ทั้งสติรู้เท่าทัน คือระลึกรู้เท่าทันตามสภาวะปัจจุบันได้ คือทั้งสติรู้เท่าทันในกายที่เกิดขึ้นในสภาวะปัจจุบัน เช่น กิน นอน เดิน นั่ง(อิริยบถ), ลมหายใจ(อานาปานสติ) หรือเวทนา หรือจิต ฯ. (คือแค่ระลึกรู้อยู่ในที  จึงเป็นเครื่องอยู่อันดีของจิตอีก จึงระงับการดำริพล่าน   ด้วยไม่ส่งส่ายไปฟุ้งซ่าน ปรุงแต่งต่างๆนาๆ สติระลึกรู้นั้นไม่ถึงขนาดแน่วแน่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งดังสมถสมาธิที่เพื่อทำให้จิตสงบระงับไม่รับรู้ ไม่สนใจในสิ่งอื่นใด) และอีกทั้งสติ ที่น้อมนำไปเป็นเครื่องหนุนการธัมมะวิจยะ เช่นการมีสติระลึกรู้ในธรรม ของกาย เช่น กายไม่เที่ยง เป็นทุกข์เพราะคงสภาพอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตาไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา จึงควบคุมบังคับไม่ได้, เป็นของปฏิกูล ฯ. สติระลึกรู้เท่าทันเวทนาดัง สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา อย่างใดอย่างหนึ่งย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเมื่อเกิดการผัสสะ  หรือการมีสติรู้ในธรรม ของเวทนา ว่าเวทนาไม่เที่ยง  เป็นทุกข์เพราะคงสภาพอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตาไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราจึงควบคุมบังคับไม่ได้, มันเกิดขึ้นเช่นนี้เองเมื่อมีการผัสสะ, หรือสติระลึกรู้ว่า เวทนา,แม้ทุกขเวทนาคงมีอยู่เป็นธรรมดาหรือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ฯ.  สติระลึกรู้เท่าทันจิต (สังขารขันธ์ หรือจิตตสังขาร เรียกรวมๆว่าจิต) เช่น โลภ โกรธ หลง หดหู่ คิดฟุ้งซ่าน ฯ. หรือการมีสติรู้ในธรรม ของจิต เช่น จิตคือจิตตสังขาร(คิด)หรือสังขารขันธ์ล้วนไม่เที่ยง  เป็นทุกข์เพราะคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้  เป็นอนัตตาไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จึงควบคุมบังคับไม่ได้, อีกทั้งสังขารขันธ์ทั้งหลายยังคงมีอยู่เป็นธรรมดา แต่ไม่เอาไปปรุงแต่งต่อหรืออุเบกขาสัมโพชฌงค์,  สติระลึกรู้เท่าทันธรรมต่างๆที่เกิดในปัจจุบันจิต หรือสติรู้เท่าทันธรรม ของธรรม ว่าธรรมแม้เที่ยง ไม่แปรปรวน แต่ก็เป็นอนัตตา 

๓. วิริยสัมโพชฌงค์

        วิริยสัมโพชฌงค์  ความเพียร ท่านหมายถึงความเข้มแข็ง ความพยายาม บากบั่น สู้กิจ ไม่ย่อหย่อน ความแกล้วกล้า ไม่ท้อถอยต่อการปฏิบัติ อีกทั้งการพิจารณาธรรม(ธัมมวิจยะ) แม้เผชิญอุปสรรค ความยุ่งยาก ความลำบาก,  อีกทั้งครอบคลุมถึงการเพียร ยกจิตไม่ให้หดหู่ ไม่ท้อแท้ ไม่ท้อถอย มีกำลังในการประคองจิตไว้ไม่ให้ท้อถอยได้,  เพียรสร้างและรักษากุศล  เพียรทำลายในอกุศลและป้องกันอกุศลให้เกิดขึ้น,  การมีความเพียร(วิริยะ)หมั่นกระทำการธัมมวิจยะอยู่เนืองๆ อยู่เสมอๆ ย่อมเกิดความเข้าใจในธรรมจากการพิจารณาธรรม(ธัมมะวิจยะ)เพื่อการหลุดพ้นเป็นที่สุด  ย่อมเห็นคุณค่า, คุณประโยชน์ของการปฏิบัติธรรมวิจัยหรือการธัมมะวิจยะ  เมื่อเกิดความเข้าใจ อุปาทานทุกข์(ทุกข์)ต่างๆย่อมลดน้อยถอยลงหรือเบาบางลง  จึงควรมีความเพียรเป็นเครื่องอยู่เนืองๆ

        ข้อคิดไว้พิจารณา-วิริยสัมโพชฌงค์ อุปมาได้ดั่งองค์วิจารในฌาน คือเกิดการเฝ้าเฟ้นวนเวียนพิจาณาธรรมที่นำมาพิจารณาด้วยความเพียรพยายามยิ่ง จึงคลุกเคล้าจนแนบแน่นเหมือนดั่งองค์วิจารในฌาน  ที่เมื่อคลุกเคล้ากันอย่างดีแล้วจึงยังให้เกิดปีติจากความเข้าธรรม  คือย่อมเกิดปัญญาจากการทำธัมมะวิจัยข้างต้น  จึงเป็นไปเพื่อสัมมาปัญญาให้เกิดสัมมาวิมุติสุขจากการหลุดพ้นกิเลสหรือดับทุกข์ (อาการต่างๆขององค์ฌาน)

        กล่าวโดยย่อ พิจารณาธรรมไม่ย่อหย่อน ด้วยความเพียร ตามที่ปรารภ(ตั้งต้น,กล่าวถึง)ไว้

        เมื่อเห็นคุณของธัมมวิจยะ ย่อมปฏิบัติด้วยความเพียร เมื่อปฏิบัติด้วยความเพียร อย่างแน่วแน่ ย่อมยังให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงขึ้นเป็นลำดับ ย่อมเป็นปัจจัยครื่องหนุนให้เกิดปีติ

๔. ปีติสัมโพชฌงค์ 

        ปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อมีสติพิจารณาในธรรมหรือปัจจุบันธรรม ด้วยความเพียรจนเมื่อเกิดผล คือเกิดปัญญา(ญาณ)บางประการขึ้น จึงย่อมเกิดปีติ  หรือปีติที่พึงเกิดจากการใช้ธัมมวิจยะ(การพิจารณาธรรมได้อย่างแนบแน่น)เป็นอารมณ์ที่จิตกำหนดหมาย จึงเกิดปีติ ความแช่มชื่น ความยินดี ความอิ่มเอิบ อิ่มเอม อิ่มใจ  ดื่มดํ่า ใจฟู  ความปลาบปลื้มได้เช่นกัน  ปีติเป็นอาหารหล่อเลี้ยงจิตใจให้เอิบอิ่ม อาการหูตาสว่างจากปีติสัมโพชฌงค์นั้นเกิดจากการที่ปัญญาไปรู้ความจริงจึงเกิดความยินดีอิ่มเอิบ,  อันพระองค์ท่านได้ตรัสไว้ว่าปราศจากอามิส (ไม่เจือด้วยกิเลส)ขึ้นเป็นธรรมดา จากการไปรู้ตามความเป็นจริงของธรรม  (จึงมิได้หมายถึง ปีติ ชนิดมีอามิส ที่มีความอิ่มเอิบ อันเกิดแต่การตั้งใจอยากได้ อยากเสพ อยากให้เกิดขึ้น จากการปฏิบัติฌานสมาธิแล้วตั้งใจหรืออยากให้เกิดขึ้น จึงเกิดการติดเพลิน, ติดสุข ในที่สุดทั้งโดยรู้ตัวก็ดี หรือไม่รู้ตัวก็ดี  ซึ่งล้วนมีผลทั้งสิ้น อันมักแสดงออกโดยอาการจิตส่งใน  เพราะปีติมีอามิสหรือติดเพลิน(นันทิ)นี้ยังให้โทษในภายหน้าแต่อย่างเดียว อันจัดเป็นหนึ่งในวิปัสสนูปกิเลส ธรรมคือสิ่งที่กั้นคุณธรรมความดี)

        ข้อคิดไว้พิจารณา-ปีติ อุปมาได้ดั่งองค์ปีติในฌาน แต่ปีติสัมโพชฌงค์เป็นความอิ่มเอิบ หรือลิงโลด จากปัญญาความเข้าใจที่ไปรู้ความจริงของธรรมจากการธัมมะวิจยะสัมโพชฌงค์ด้วยความเฟ้นคลุกเคล้าด้วยความเพียร (อาการต่างๆขององค์ฌาน)

        กล่าวโดยย่อ  ปีติปราศจากอามิส เกิดขึ้นแก่ผู้ปรารภ(ตั้งต้น,กล่าวถึง)ด้วยความเพียรแล้ว

        เมื่อวิริยะสัมโพชฌงค์ อย่างแน่วแน่ในธรรมที่พิจารณา(ธัมมวิจยะ) คลุกคลัาไม่ซัดส่ายสอดแส่ไปฟุ้งซ่านในสิ่งอื่นๆ หรือเมื่อเกิดความเข้าใจธรรมหรือธรรมสามัคคี ย่อมบังเกิดอาการปีติความยินดี อิ่มเอิบ อิ่มใจ ความแช่มชื่นขึ้น  ซึ่งเมื่อความยินดี อิ่มเอิบ ความแช่มชื่นจางคลายไป ย่อมเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนให้เกิดปัสสัทธิ กายและจิตสงบระงับ คือเกิดความสงบกายสงบใจเป็นผลตามมา อันเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งของชีวิตเช่นกัน 

๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

        ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์  ความสงบกายและความสงบใจ ความผ่อนคลายกายใจ อันเกิดแต่ ปีติ ที่คลายระงับไป ดังที่กล่าวถึงข้างต้น,  เมื่อปีติความแช่มชื่น ความอิ่มเอม ความอิ่มเอิบ อันเกิดแต่ความเข้าใจกระจ่างสว่างในธรรมสงบระงับลงแล้ว ย่อมยังผลให้ใจเกิดการผ่อนคลาย กล่าวคือ จึงเป็นปัจจัยให้กายสงบระงับเป็นผลตามมาอีกด้วย  เมื่อไม่เครียด ไม่กระวนกระวาย ไม่กังวล  กายใจย่อมมีความโปร่งสบาย  กายใจก็ย่อมเป็นสุขไปด้วย เป็นไปโดยธรรมหรือธรรมชาติ จึงเป็นเช่นนี้เอง  ดังมีพระดำรัสที่ว่า 

"เมื่อกายสงบระงับ ย่อมเกิดความสุข  จึงเกิดการเสวยสุข ขยายความ"

เป็นเหตุเป็นผลกันโดยธรรม(ธรรมชาติ)หรือปฏิจจสมุปบันธรรม

        ข้อคิดไว้พิจารณา-ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อุปมาได้ดั่งองค์สุขในฌาน แต่เป็นสุขที่เกิดแต่ ปีติ จากปัญญาไปรู้ความจริงแล้วจางคลายกิเลสลงไป จนเกิดความสงบ สบาย (อาการต่างๆขององค์ฌาน)

        กล่าวโดยย่อ  ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้ ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมเกิดแก่ผู้ที่ปรารภ(ตั้งต้น,กล่าวถึง)แล้ว

        ซึ่งเมื่อกายสงบระงับแล้วย่อมเป็นสุข  เมื่อเป็นสุขสงบแล้ว  จิตย่อมไม่ซัดส่าย จึงตั้งมั่น(สมาธิ)ในกิจต่างๆได้ดี  ความสงบระงับจึงเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนน้อมนำให้เกิดสมาธิสัมโพชฌงค์คือจิตตั้งมั่นขึ้นได้ดี  

๖. สมาธิสัมโพชฌงค์

        สมาธิสัมโพชฌงค์  เป็นสมาธิภาวนาเพื่อความสิ้นอาสวะ  คือ ความมีจิตตั้งมั่น ตั้งใจ จิตแน่วแน่ คือมั่นคงในกิจที่ทำ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับงาน เพื่อความสิ้นอาสวะ ดังพุทธดำรัสที่ว่า

มีพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า  เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข  เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น(สมาธิ) ขยายความ

        กล่าวคือ เป็นสมาธิภาวนาที่มักเกิดขึ้นจากการใช้การธัมมะวิจยะเป็นอารมณ์คือสิ่งที่จิตไปกำหนดหมาย หรือธัมมะวิจยะสัมโพชฌงค์นั่นเอง จึงเกิดจิตที่ตั้งมั่น (แน่วแน่ กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง) เพราะเมื่อสงบไม่ซัดส่ายสอดแส่ไปฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่งให้เกิดทุกข์จากการผัสสะกับการฟุ้งซ่านใดๆ จึงย่อมพบสุข  จึงมีจิตหรือสติตั้งมั่นอยู่กับกิจหรืองานที่ทําได้ดีกว่า จึงย่อมมีกำลังมาก อันเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติของปฏิจจสมุปบันธรรม นั่นเอง เช่น  มีสติตั้งมั่นอยู่ได้กับกิจหรืองาน หรือธรรมที่พิจารณา (ธัมมะวิจยะ) หรือการปฏิบัติได้อย่างตั้งมั่น ต่อเนื่อง ไม่ซัดส่าย ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวกนั่นเอง ดังเช่น มีสติอยู่กับงาน มีสติระลึกเท่าทันเวทนา หรือมีสติระลึกรู้เท่าทันจิต(อาการต่างๆของจิต)เช่น รู้เท่าทันอาการปรุงแต่งหรือรู้เท่าทันว่าฟุ้งซ่านไปภายนอกอยู่เนืองๆ  คือมีจิตตั้งมั่นนั่นเอง,  การที่เราทำสมาธิภาวนานั้น ก็เป็นไปเพื่อฝึกให้เกิดจิตตั้งมั่นหรือความตัั้งใจมั่นขึ้นเพื่อการนี้นั่นเอง   เพราะจิตตั้งมั่นนั้นย่อมเป็นกําลังแห่งจิตเพื่อความสิ้นอาสวะ ที่ทําให้จิตเข้มแข็งขึ้น ก็เนื่องเพราะความตั้งมั่น ไม่ซัดส่ายไปสอดแส่ให้เกิดทุกข์ในเรื่องต่างๆนั่นเอง เมื่อจิตที่ซัดส่ายรวมเป็นหนึ่งย่อมมีกำลังมาก จึงมีกำลังมาก  จึงย่อมยังให้การปฏิบัติตามความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนั้น(ปัญญา)เป็นไปอย่างมีกําลัง  ดังนั้นสมาธิในสัมโพชฌงค์จึงหมายถึง การมีจิตตั้งมั่นในการปฏิบัติต่อไปคืออุเบกขานั่นเอง  เป็นจิตชนิดที่มีสติปราดเปรียวว่องไว ที่เมื่อระลึกรู้เท่าทันในสิ่งใดได้เนืองๆ เมื่อปัญญาเห็นว่าเป็นโทษก็ปล่อยวาง โดยมีสมาธิสัมโพชฌงค์เป็นกำลังสำคัญของการอุเบกขาสัมโพชฌงค์องค์สุดท้ายของโพชฌงค์ ๗

        สมาธิสัมโพชฌงค์ จึงเป็นสมาธิเพื่อการปฏิบัติเพื่อการสิ้นอาสวะ  เพื่อนำไปเป็นกำลังในการปฏิบัติอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันเป็นองค์สุดท้าย ไม่ใช่ดั่งการปฏิบัติสมถสมาธิ ที่เน้นการมีสติแนบแน่นหรือแน่วแน่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งคือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กำหนดเท่านั้นอย่างแนบแน่น ไม่ปล่อยวาง อันหรือท่านจัดว่าเป็นสมาธิภาวนา ประเภทเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน หรือตามอัตตภาพ ที่เมื่อสติจางคลายหรือขาดไปแล้ว มีองค์ฌานต่างๆหรือสมาธิเป็นผลให้เกิดความสุขสงบสบายขึ้น แต่ย่อมเป็นไปในขณะหรือระยะหนึ่งๆที่อยู่ในสมาธิเท่านั้น  จึงยังจัดว่าเป็นเพียงวิกขัมภนวิมุตติ   จึงควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า สมถสมาธิหรือฌานที่ปฏิบัติกันทั่วไป อันมีมาแต่โบราณกาลแม้ในหมู่พราหมณ์ ก่อนพุทธศาสนาเสียอีกนั้น ดังมีพุทธดำรัสตรัสแสดงว่ารูปฌาน ๔ อีกทั้งอรูปฌาน ๔ มิใช่ทางปฏิบัติในการขัดเกลากิเลสแต่อย่างใด เป็นเพียงเครื่องอยู่ที่ดียิ่งที่ท่านสรรเสริญเท่านั้นใน "สัลเลขสูตร",  ในทางพุทธศาสนาแล้วก็เพียงเพื่อเป็นเครื่องอยู่ให้สบายในวินัย เพื่อการนำไปเจริญวิปัสสนา คือการเจริญปัญญาต่อไป  กล่าวคือ สมาธิสัมโพชฌงค์ คือสมาธิชนิดมีจิตตั้งมั่น แน่วแน่ ไม่ซัดส่ายในกิจที่ทำ ดั่งเช่นในการอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นกำลังอันดียิ่งของจิต

        ข้อคิดไว้พิจารณา-สมาธิสัมโพชฌงค์ จึงอุปมาได้ดั่งองค์เอกัคคตาในฌาน คือ มีความเป็นหนึ่งเดียว แน่วแน่ ตั้งใจมั่น จากปัญญาที่รู้ความจริงยิ่ง จึงมีจิตใจที่ตั้งมั่น แน่วแน่เป็นหนึ่งในการอุเบกขาสัมโพชฌงค์ต่อไป  ไม่ใช่แน่วแน่แบบแน่นิ่งแต่ประการใดๆ เป็นไปในวิถีจิตปกติธรรมดา แต่แน่วแน่มุ่งมั่นปฏิบัติในอุเบกขาสัมโพชฌงค์

        กล่าวโดยย่อ  ผู้มีกายระงับแล้ว ย่อมมีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นตามที่ปรารภ(ตั้งต้น,กล่าวถึง)แล้ว

        เมื่อจิตตั้งมั่น แน่วแน่ (ไม่ใช่ดั่งสมถสมาธิที่เป็นไปเพื่อความอยู่สบาย ชั่วระยะหนึ่ง) จิตย่อมมีกำลัง จากปัญญาจากการปฏิบัติธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ข้างต้นอีกด้วย  เพราะการระงับการดำริพล่าน  ด้วยจิตที่ซัดส่ายไม่ตั้งมั่นนั้น อุปมาดั่งเรื่อง"พ่อสอนลูก"ในนิทานอิสป ที่สอนลูกๆให้นำแขนงไผ่มาคนละอัน แล้วให้ลองหักแขนงไม้ไผ่แต่ละอัน (ที่อุปมาได้ดั่งจิตที่ซัดส่ายไปในความคิดนึกต่างๆนาๆหลายทิศหลายทางดั่งแขนงย่อยๆ ตามการผัสสะต่างๆ) ซึ่งย่อมสามารถหักได้อย่างง่ายดาย แขนงไผ่ย่อมไม่มีกำลังพอจะต้านทานแรงที่กระทำได้  แต่เมื่อให้นำแขนงไม้ไผ่ย่อยๆหลายๆอันเหล่านั้น มามัดรวมกันเป็นหนึ่งเดียวแล้ว ย่อมมีความแข็งแรงแข็งแกร่ง หักไม่ได้ง่ายๆอีกต่อไป เพราะแขนงไม้ไผ่ที่มัดรวมกันเป็นหนึ่งแล้วนั้นย่อมมีกำลังมาก จิตก็เป็นไปในลักษณาการเฉกเช่นนั้น จิตที่ซัดส่ายออกไปหลายๆเรื่องหลายๆทางก็เหมือนแขนงไม้ไผ่เล็กๆแต่ละอัน จึงไม่มีกำลังเพราะกระจัดกระจายไปต่างๆนาๆ  แต่เมื่อจิตหยุดการซัดส่ายสอดแส่ออกไปปรุงแต่งต่างๆนาๆเสียแล้ว คือเมื่อจิตรวมกันเป็นเพียงหนึ่งเดียว จึงย่อมมีกำลังมากดังแขนงไม้ไผ่เล็กๆที่มัดรวมกันเป็นหนึ่งเช่นกัน,  และยังประกอบด้วยกำลังจากปัญญาพละที่เกิดจากการเห็นเป็นไปตามความเป็นจริงด้วยตัวตนเองอีก จึงยิ่งมีกำลังมากกว่าการน้อมเชื่อ ซึ่งย่อมได้มาจากการได้สั่งสมอบรมจากการธัมมวิจยะด้วยความเพียรจนเกิดปัญญา  ปัญญาจึงยิ่งเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนคือกำลังของจิตในการน้อมนำไปใช้ในการอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เพราะความที่ย่อมมีปัญญาพละจากการรู้เหตุรู้ผลด้วยตนเองตามความเป็นจริง  คือ ไม่ใช่การวางเฉยด้วยการบังคับให้นิ่งให้เฉยๆในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งโดยไม่รู้ความ ดั่งในสมถสมาธิที่เพียงให้จิตแน่วแน่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อไม่ให้จิตซัดส่าย

        จะขอกล่าวแบบง่ายๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการจำแนกแยกแยะสมาธิภาวนาให้ถูกต้องเพราะมีด้วยกัน ๔ประเภท ดังมีรายละเอียดอยู่ในเรื่อง"สมาธิภาวนา"  เพื่อป้องกันความสับสนและมีความเข้าใจอันถูกต้องในการปฏิบัติระหว่างสมถสมาธิ กับ สมาธิสัมโพชฌงค์ ซึ่งบางทีก็เรียกกันโดยทั่วไปแบบย่อๆว่า"สมาธิ"เหมือนกัน จึงยิ่งเพิ่มความสับสน จึงเกิดวิจิกิจฉาอันเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติในที่สุด,   การฝึกสมาธิในเบื้องต้นดั่งในสติปัฏฐาน ๔ ดังที่มีกล่าวในหัวข้อธัมมานุปัสสนานั้น ก็คือมรรคองค์ที่ ๘ อันเป็นสัมมาสมาธิอันดีงาม อันท่านกล่าวสรรเสริญนั้น เป็นการกล่าวถึงสมถสมาธิ(ถ้าไม่เข้าไปติดเพลิน ให้เกิดวิปัสสนูปกิเลส) อันเป็นเครื่องอยู่ให้เป็นสุขอันดียิ่ง  เป็นสมาธิหรือฌานเพื่อทำให้ใจหรือจิตสงบระงับการดำริพล่านต่างๆ จิตจึงไม่ซัดส่ายสอดแส่ไปภายนอก  จึงมีกำลังมาก ที่ไปเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนการใช้ปัญญาในการพิจารณาธรรมให้เกิดสัมมาปัญญาหรือมรรคองค์ที่ ๙ ในสัมมัตตะ ๑๐ (มรรคของพระอริยะ)ขึ้นได้,  ส่วนสมาธิสัมโพชฌงค์นั้นมีความหมายถึง สมาธิที่มีใจตั้งมั่น แน่วแน่อยู่กับกิจ หรืองานได้อย่างแนบแน่น เด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง ที่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นเป็นสำคัญ จากการรู้เห็นด้วยปัญญาอย่างแจ่มแจ้งแล้ว เป็นสมาธิที่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้นหรือสิ้นอาสวะ จึงยังประโยชน์อันยิ่งในการอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ของสัมโพชฌงค์ องค์ที่ ๗ องค์ต่อไป  อันเป็นสัมโพชฌงค์องค์สุดท้ายของการตรัสรู้  เพื่อมรรคองค์ที่ ๑๐ คือ สัมมาวิมุตติ หรือสุขจากการหลุดพ้นนั่นเอง

        สติกับสมาธินั้น มีการทำงานประสานอาศัยสนับสนุนซึ่งกันและกันอยู่อย่างใกล้ชิด,  สติ การระลึกได้ การจำได้ การนึกขึ้นมาได้ในสัญญา(ความจำ) ไม่ลืม  ไม่เผลอเรอ เมื่อประสบกับอารมณ์(ที่จิตกำหนดหมายหรือกระทบ) แล้วนำมาใช้การงานได้ดี,  ที่คณาจารย์ผู้รู้ได้อุปมาไว้ว่า เหมือนดั่งเส้นเชือกที่ผูกโคที่ไว้กับหลักดีแล้ว  วัวจึงไม่หายไปไหนไกล ได้แต่เดินวิ่งวนเวียนอยู่ในวงเชือกไม่สามารถหนีหายสูญไปได้นั่นเอง (สติก็เป็นสัญญาอย่างหนึ่งดังกล่าว) จึงอยู่ภายในวงรัศมีของเชือกนั้นนั่นแล เมื่อต้องการวัว ก็ยังพอสามารถแลเห็นหรือจับต้องได้ง่ายในขอบเขตนั้นๆบ้าง แม้อาจต้องออกกำลังไล่จับก็เพียงเล็กน้อย เหมือนดั่งสติที่บางครั้งก็หลงลืมไปบ้างชั่วขณะ,   ส่วนสมาธิก็ทำหน้าที่็คล้ายสติ แต่เมื่อดึงสัญญาหรือสติขึ้นมาได้แล้ว สมาธิจะมีหน้าที่จับไว้ให้อย่างความแน่วแน่ ตรึงจิตไว้กับที่หรือกับกิจได้ดี คือแน่วแน่ต่อกิจหรืองาน ไม่ให้หายไปไหน  เหมือนดั่งวัวที่แม้ผูกเชือกไว้กับหลักดีแล้ว แต่ยังผูกตอกตรึงมัดรัดวัวนั้นให้หมอบอยู่กับที่อย่างแน่นหนาสำทับลงไปอีก ไม่ให้ดิ้นรนดิ้นพล่านหรือเดินพล่านไปในที่ใดๆได้อีกเลย เราก็ย่อมจัดการใดๆกับโคที่ถูกตอกตรึงแน่นหนาดีแล้วนั้นได้ง่าย แม้แต่การนำไปฆ่าเพื่อการชำแหละขายหรือเพื่อการนำไปพิจารณาก็ย่อมทำได้ง่ายขึ้น  หรือใช้ไปในการพิจารณาใดๆ  หรือใช้ตรึงปัญญาไปในปัญหาต่างๆได้แน่วแน่ขึ้นไปอีกนั่นเอง  จึงย่อมสัมฤทธิ์ผลได้ดีกว่าและง่ายกว่าการที่ต้องไปวิ่งไล่จับโคที่ปล่อยเป็นอิสระวิ่งเพ่นพล่านไปทั่วจนเหนื่อยอ่อน หรือแม้แต่ผูกอยู่กับหลักแต่ยังวิ่งวนเวียนหลบหลีกอยู่ในรัศมีวงเชือกเอาไว้แต่อย่างเดียว,  อีกทั้งสมาธิจากสมถะสมาธิยังเป็นกำลังของจิตอันดีเลิศอีกด้วย  แต่อย่าไปติดเพลินจนเป็นมิจฉาสมาธิเสีย ต้องนำมาใช้ประโยชน์เยี่ยงนี้ย่อมดีเลิศ

        สติ จึงเหมือนกับการจับผ้าที่มีข้อความเขียนแขวนเอาไว้ แต่พริ้ว ลอยไปลอยมา ตามแรงลม(คืออารมณ์)ได้นั่นเอง   ดังนั้นผ้านั้นก็ยังย่อมมีการสั่นการไหว ไปตามแรงลม (หรืออารมณ์ต่างๆ) อยู่เป็นธรรมดา  การจะอ่านข้อความใดๆในผ้าให้สมบูรณ์และถูกต้องนั้นย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก,   แต่สมาธิเปรียบเสมือนดั่ง การไปจับตรึง ดึงป้ายผ้านั้นไว้ให้หยุดการสะบัดพริ้วไหว ได้อย่างั่นคง แน่วแน่ แนบแน่น  ผ้าจึงย่อมไม่พริ้วไหวไปมา  ไม่หวั่นไม่ไหวอีกต่อไป  จึงย่อมอ่านข้อความหรือข้อมูลต่างๆนั้นได้อย่างถูกต้องอีกทั้งง่ายดาย  ด้วยเหตุดังนี้จึงต้องมีทั้งสติและสมาธิดังกล่าว

สติ VS สมาธิ ต่างกันอย่างไร โดยพระพรหมคุณาภรณ์

        ยิ่งด้วยมีกำลังของปัญญา หรือปัญญาพละ อันแจ่มแจ้งที่ได้จากการพิจารณา(ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์)จนเกิดความรู้ความเข้าใจยิ่งด้วยตัวตนเองได้ ไม่ใช่แต่การท่องจำแต่อย่างเดียว ดังเช่น เห็นว่าคือเข้าใจว่า เมื่อเกิดการกระทบกันทุกครั้งทุกทีไปของ "อายตนะภายนอก" กับ "อายนะภายใน" ย่อมต้องเกิดวิญญาณ ขึ้นอย่างแน่นอนในผู้มีชีวิตหรือขันธ์ ๕ อยู่ และย่อมยังให้เกิดการผัสสะกันขึ้นตามมาอีกด้วยเป็นธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เหตุเพราะจิตย่อมทำหน้าที่เป็น"มโนทวาราวัชชนจิต" คือกิริยาจิตหรืออาการของจิตที่แฝงอยู่ในมโนทวาร(ใจ) คือกิริยาจิตที่จิตทำตามหน้าที่ของตัวตนเองได้เองคือเกิดมโนวิญญาณ  แล้วจึงย่อมเป็นเหตุปัจจัยที่ยังให้เกิดผลขึ้นมาอีก คือเกิดเวทนาต่างๆ สังขารขันธ์ต่างๆ(โกรธ หดหู่ ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ฯ.)ขึ้นเป็นธรรมดาทุกครั้งทุกทีไปเช่นกัน(ตถตา-มันเป็นเช่นนี้เอง หรือเป็นธรรมดาที่ไม่ธรรมดา) อย่างแน่นอน ด้วยเป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติจึงต้องเป็นเช่นนี้เอง  จึงปล่อยวางได้ด้วยเป็นไปตามธรรมดา อีกทั้งด้วยปัญญาที่รู้ดียิ่งว่า เมื่อสติระลึกรู้ในเหตุอันเป็นโทษแล้ว ถ้ายังปล่อยจิตให้ฟุ้งซ่านต่อไป ย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดเวทนาต่างๆ อีกทั้งสังขารขันธ์ต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นจากการผัสสะอย่างต่อเนื่อง จึงย่อมทำให้เป็นทุกข์ต่อไปได้อีกแสนยาวนานนั่นเอง เป็นธรรมดา,  และรู้ดีว่า เมื่ออุเบกขาในเรื่องนั้นๆแล้ว เวทนาและสังขารขันธ์ทุกข์นั้นๆย่อมต้องคลายเสื่อมจนดับไปในที่สุด ด้วยอำนาจธรรมนิยาม  ดังนั้นเมื่อประกอบด้วยจิตตั้งมั่นและปัญญาพละดังนี้ ที่รู้เหตุรู้ผลอย่างแจ่มแจ้ง ว่ามันต้องเป็นเช่นนี้เอง จึงมีกำลังมาก 

๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์

         อุเบกขาสัมโพชฌงค์  มีสมาธิคือความตั้งมั่นหรือแน่วแน่ เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว ในการอุเบกขาสัมโพชฌงค์ คือ การวางใจเป็นกลาง วางใจเฉย,  ไม่ใช่ความรู้สึกที่พยายามหรือไปบังคับให้ต้องเกิดความรู้สึกเป็นกลาง หรือเฉยๆขึ้น คือมักเข้าใจกันไปว่าเมื่อมีทุกข์จรเข้ามากระทบแล้วต้องเกิดความรู้สึกเฉยๆนิ่งๆ คือมักคิดหรือเข้าใจกันไปเองว่า ถ้าปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติถูกต้องแล้ว ความรู้สึกหรือความนึกคิดต้องเป็นแบบเฉยๆหรือเป็นกลางๆจึงเกิดขึ้น  คือเข้าใจผิดไปเองว่าถ้าปฏิบัติถูกต้องแล้ว คือต้องไม่มีความรู้สึกสุขทุกข์ใดๆเกิดขึ้นเมื่อมีการกระทบอันจรมากระทบเข้าโดยธรรมชาติ  จะต้องเป็นสุข หรือสงบถ้าปฏิบัติอย่างถูกต้องแท้จริง อันเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน  เพราะทั้งเวทนาและสังชารขันธคืออารมณ์ทางโลกต่างๆล้วนเป็นอนัตตา จึงบังคับบัญชาเขาไม่ได้เลยเป็นไปตามเหจุปัจจัยเท่านั้น  จึงมักพากันหงุดหงิดใจตลอดจนเกิดวิจิกิจฉาต่างๆนาๆขึ้นเมื่อมีทุกข์ใดจรมากระทบ แล้วยังเกิดสังขารขันธ์หรือความคิดฝ่ายอกุศลต่างๆ(มโนกรรม)ยังคงเกิดขึ้นได้อยู่  เพราะแท้จริงแล้วอุเบกขาหมายถึง ความเป็นกลาง วางทีเฉย ก็ด้วยมีปัญญาอันยิ่งที่เห็นความจริงในโทษนั้นๆของ เวทนาต่างๆ หรือสังขารขันธ์หรือจิตต่างๆ(มโนกรรม) เช่น โลภ โกรธ หลง หดหู่ ความคิดฟุ้งซ่าน(คือมโนกรรม) ฯ.  เมื่อทั้งสติและปัญญารู้เท่าทันตามความเป็นจริงแล้วในสิ่งนั้นๆแล้ว จึงวางใจเป็นกลาง วางทีเฉย  ด้วยปัญญาอันยิ่งนั่นเอง หมายถึงย่อมรับรู้อยู่ตามความจริงหรือยอมรับตามความจริง,  แต่ละมันเสียโดยการตั้งใจมั่น วางเฉย คือปล่อยวางโดยอาศัยกำลังของจิตอันเกิดแต่สติ, สมาธิ และปัญญานั่นเอง   วางเฉย ที่หมายถึง เกิดความรู้สึกหรือคิดอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงไม่ต้องฝืนเพราะมันเป็นไปตามธรรมคือตามเหตุปัจจัยเช่นนั้นเอง ไปฝืนหรืออยากละมันเสีย ก็คือพ่ายแพ้หรือตัณหา  แต่ต้องมีสติ และตั้งใจกระทำหรือปฏิบัติ เป็นกลางด้วยการไม่ไปคิดนึกปรุงแต่งต่อ ไม่สอดแส่ไปในสังขารขันธ์(โลภ โกรธ หลง ฯ.)อีกทั้งมโนกรรมที่เกิดขึ้นมานั้น  ไม่ว่าจะในทางดีหรือชั่ว(ทางร้าย) กล่าวคือไม่คิดเอนเอียง ไม่สอดแส่ ไม่ซัดส่าย ไม่ยึดมั่นในสิ่งใด คือ ไม่ไปปรุงแต่งด้วยถ้อยคิด หรือกริยาจิตใดๆ ในเวทนา[ความรู้สึกรับรู้เมื่อเกิดการกระทบผัสสะอันอาจถูกใจ(สุขเวทนา)หรือไม่ถูกใจ(ทุกขเวทนา)]ที่เกิดขึ้น หรือในสังขารขันธ์หรือมโนกรรมความคิดนึกต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น จิตฟุ้งซ่าน ,จิตมีโทสะ จิตหดหู่ ฯ.  อีกทั้งไม่ปรุงแต่งคือปล่อยวางถ้อยคิดคือความคิดนึกต่างๆ เช่น การคิดปรุงแต่งหรือการเอนเอียงไปคิดเห็นในสิ่งนั้นๆว่า สิ่งนั้นถูกหรือสิ่งนี้ผิด,  ไม่ปรุงแต่งทั้งในบุญหรือบาป,  ไม่ปรุงแต่งไปทั้งดีหรือชั่ว, ไม่ปรุงแต่งว่าเราถูกหรือเขาผิด,  เกิดความรู้สึกอย่างไรก็เกิดอย่างนั้น ไม่เป็นไร เป็นเรื่องปกติที่ถูกต้องเป็นธรรมดาตามธรรมหรือธรรมชาติอันดีงามแล้ว  แต่เพียงต้องวางจิตหรือสติหรือความคิดให้เป็นกลางด้วยการกระทำ ด้วยการวางทีเฉย  บรรดาทุกข์ที่เกิดขึ้นเมื่อขาดเหตุปัจจัยให้เกิดสืบเนื่องต่อไป ก็ย่อมต้องเสื่อมคลายและดับไปเป็นที่สุดด้วยอำนาจธรรมนิยาม   เพราะการที่ไปปรุงแต่งแม้จะเป็นสิ่งที่ดีหรือสิ่งที่ถูกก็เป็นทุกข์ (แยกแยะให้เข้าใจความหมายถูกต้องด้วย มิได้หมายถึงการไม่ทําความดี แต่หมายถึงการไปคิดนึกปรุงแต่ง แล้วยึดว่าถูก ว่าดี อย่างนั้น อย่างนี้ ฯ.  ด้วยปัญญารู้ดีว่าย่อมล้วนยังให้เกิดเวทนาขึ้นอีกแล้วเกิดสังขารขันธ์ต่างเป็นมโนกรรม คือเมื่อเกิดความคิดขึ้นใหม่ๆผัสสะอีก อันย่อมยังผลเกิดเวทนาต่างๆขึ้นอีกทั้งสิ้น อันล้วนอาจเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา อุปาทาน ชาติอันคือสังขารขันธ์อันเป็นทุกข์ขึ้นในที่สุด) ดังเช่น เราเป็นคนดีมากๆ ช่วยเหลือเกื้อหนุนบุคคลคนหนึ่งอย่างมากๆ เป็นความดีชนิดบริสุทธิ์ใจ  แต่แล้วบุคคลคนนั้นกลับกระทำการสิ่งที่ไม่ดีต่างๆนาๆต่อเราต่างๆนาๆ  เพียงแต่เราคิดปรุงแต่งหรือกระทำโดยอาการพิรี้พิไรรำพันโอดครวญหรือรำลึกในความดีของเรา หรือความชั่วของเขาในเรื่องนั้นๆขึ้นมา ที่แม้เป็นจริงอย่างที่สุดก็ตาม  ท่านก็ย่อมต้องเป็นผู้เสวยทุกข์ขึ้นทันที   ความดีที่เรากระทำอยู่นั้น เราย่อมได้รับอยู่แล้ว เพียงแต่อาจโดยไม่รู้ตัว  แต่เมื่อใดที่เราไปคิดยึดมั่นในความดีด้วยกิเลส คือไปอยากให้ความดีนั้นตอบแทนหรือเห็นผล  ก็ย่อมเกิดอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลนขึ้นแทนทันที   ด้วยเหตุฉะนี้ จึงมักได้ยินพระอริยเจ้าท่านมีคำกล่าวอยู่เนืองๆว่า ไม่ยึดดี ไม่ยึดชั่ว เป็นกลางวางทีเฉย

        อุเบกขาสัมโพชฌงค์ จึงอุปมาได้ดั่งกรรมการผู้ตัดสินในกีฬาต่างๆ ดังเช่น ฟุตบอลนั่นเอง กรรมการที่ดีที่ปฏิบัติถูกต้อง ย่อมเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยความชอบชังส่วนตัวตน ไปในฝ่ายไหน ว่าตามกฏ ถูกหรือผิดตามกติกา ไม่เอาใจตนเองเข้าไปร่วม  เมื่อถูกต้องตามกติกาก็ไม่ห้ามอันใดปล่อยให้เล่นกันไป  แต่เมื่อผิดกฏกติกาก็ต้องทำหน้าที่เป่าเตือนให้หยุดยั้งการกระทำนั้นๆเสีย  ทั้งๆที่กรรมการเองก็มีจิตที่ชอบชังเอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามความเห็นชอบชังของส่วนตัว  แต่ก็ต้องตั้งใจทำหน้าที่ตนอย่างตรงไปตรงมาตามกฏกติกา ด้วยปัญญาเห็นความถูกต้อง จึงจะเป็นกรรมการที่ดีได้   จึงเหมือนดั่งการอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั่นเอง ที่เมื่อเห็นเวทนา,สังขารขันธ์หรือมโนกรรมอันเป็นโทษหรือควรแก่เหตุแล้ว แม้ไม่ถูกใจคือเป็นทุกข์ก็ต้องหยุดยั้งการกระทำคือมโนกรรมต่างๆนั้นเสียด้วยการอุเบกขา

        ข้อคิดไว้พิจารณา-อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อุปมาได้ดั่งองค์อุเบกขาในฌาน แต่เป็นการอุเบกขาที่เกิดแต่ปัญญาญาณแจ่มแจ้งด้วยรู้ดียิ่งว่า"การฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่งใดๆย่อมเกิดการผัสสะให้เกิดเวทนา อีกทั้งสังขารขันธ์(อารมณ์)ต่างๆให้สืบเนื่องเป็นวงจรของทุกข์(ปฏิจจสมุปบาท)ได้สืบเนื่องต่อๆไป"  จึงมีความต่างกับการอุเบกขาในฌาน ที่เกิดจากกำลังของฌานสมาธิแต่ฝ่ายเดียว จึงได้ผลเฉพาะเมื่ออยู่ในฌานสมาธิเท่านั้น)

        กล่าวโดยย่อ  ผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้น ได้เป็น อย่างดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นไปดังที่ปรารภ(ตั้งต้น,กล่าวถึง)แล้ว

        เรามักจะได้ยินครูบาอาจารย์หรือพระอริยสงฆ์กล่าวอยู่เนืองๆ ดังเช่น เวทนามี แต่ไม่เอา,  โกรธมี แต่ไม่เอา, หรือไม่ยึดถือ,  คำว่า"ไม่เอา"หรือ"ไม่ยึดถือ"หรือ"ไม่ยึดมั่น"เหล่านี้นี่เอง ก็คือ การอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั่นเอง

        อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นมโนกรรมคือการกระทำทางใจ(กรรม)อย่างหนึ่ง แต่เป็นฝ่ายกุศลยิ่ง ที่มีเจตนาหรือจิตตั้งมั่นหรือคิดอ่านอันแรงกล้าคือมีสัญเจตนา ที่จะเป็นกลาง ไม่เอนเอียง ไม่แทรกแซงเข้าไปปรุงแต่งในมโนกรรมฝ่ายอกุศลอื่นๆที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ เช่นความโกรธ ทุกข์ใจ กังวลใจ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ฯ. ที่เห็นแล้วว่าเป็นโทษหรือสมควรแก่เหตุแล้วนั่นเอง (ระวังการตีความให้สับสนกับสังขารขันธ์ชนิดอุเบกขา ที่หมายถึงอารมณ์อย่างหนึ่งคือความรู้สึกเป็นกลางๆที่เกิดขึ้น)

ด่าทอต่อว่า                                             ผัสสะ                                                                                                                             ยังให้เกิด                                                                        ส่งผลให้

เสียง     กระทบกัน เช่น ตาเห็นรูป หู   โสตวิญญาณ  anired06_next.gif  สัญญาจํา   เวทนา  สัญญาหมายรู้   สังขารขันธ์ ชนิดโทสะ [ anired06_next.gif สัญเจตนาความคิดอ่านขุ่นเคืองแค้น anired06_next.gif มโนกรรม คือเกิดการกระทำต่างๆ ได้ทั้งทางกาย-ทำร้าย  ทางวาจา-ด่าทอ  และทางใจ-เกิดมโนกรรมเป็นความคิดนึกด่าในใจ, คิดปรุงแต่งว่าไม่น่าเลย น่าเป็นอย่างนั้นน่าเป็นอย่างนี้, ทำไมมาว่ากูอย่างนี้ ฯลฯ.

        ตามปกติจิตหนึ่งเกิดทุกข์ดังโทสะข้างต้นแล้วขึ้นแล้ว  แต่ถ้าสติสมาธิปัญญาบริบูรณ์  สัญญาหมายรู้หรือเจตนาคิดอ่านจากเสียง(สัททสัญเจตนา)นั้น  ทำให้สังขารขันธ์ที่เกิดขึ้นแทนที่จะเป็นโทสะ ก็คิดอ่านแปรไปเป็นชนิดสติหรืออุเบกขาเป็นกลาง จึงมีเจตนา ทำให้เกิดมโนกรรม การกระทำทางใจ คืออุเบกขาการเป็นกลางหยุดการคิดปรุงแต่งเสียก็ได้

  หรืออาจเกิดอีกจิตหนึ่ง ที่เกิดขึ้นแทรก จากการฝึกสติและปัญญาก็เกิดขึ้น

 คิดวางใจเป็นกลาง                                             ผัสสะ                                                                                                                            ยังให้เกิด                                                                      ส่งผลให้

ธรรมารมณ์    กระทบกัน เช่น ตาเห็นรูป ใจ  มโนวิญญาณ  anired06_next.gif  สัญญาจํา   เวทนา  สัญญาหมายรู้   สังขารขันธ์ ชนิดสติ [ anired06_next.gif สัญเจตนา(จงใจเป็นกลางวางเฉย) anired06_next.gif มโนกรรม คือเกิดการกระทำทางใจชนิดอุเบกขาสัมโพชฌงค์ คือการกระทำทางใจโดยการตั้งใจวางใจเป็นกลาง วางเฉย ในมโนกรรมของความคิดนึกต่างๆอันเป็นโทษเช่นทุกข์ใจที่เกิดขึ้นมา

       อุเบกขา-การมีสติระลึกรู้เท่าทันเวทนา,สังขารขันธ์หรืออารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น โทสะ โลภะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน กังวล ความกลัว สุขใจ ทุกข์ใจ ตัณหา จิตหมกมุ่น จิตหลุดพ้น จิตเป็นสมาธิ ฯ.  เมื่อสติระลึกรู้ในสุข ทุกข์อย่างไร ก็เกิดเป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดาตามธรรมของการผัสสะหรือธรรมชาติ  ซึ่งถูกต้องดีงามแล้ว  ทำใจให้ได้เพราะมันเป็นเช่นนี้เองในช่วงแรกๆ อย่าใส่ใจไม่เป็นการถูกการผิดแต่อย่างใด(ข้อนี้สำคัญ) อย่าไปเร่าร้อนดิ้นรนอยากไป"ละ"มันอันเป็น"ตัณหา"โดยเด็ดขาด  ด้วยเหตุนี้สมาธิสัมโพชฌงค์ที่แน่วแน่ ตั้งใจมั่น จึงมีความสำคัญมาใช้งาน,  แต่เมื่อสติระลึกรู้เท่าทันและปัญญาเล็งเห็นว่าเป็นโทษหรือสมควรแก่เหตุแล้ว  ต้องวางใจเป็นกลาง วางทีเฉย ด้วยการไม่เอนเอียงเข้าไปปรุงแต่งด้วยถ้อยคิด(คือความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ) หรือด้วยอาการจิตใดๆ(ชอบ-ชัง, ถูก-ผิด, ดี-ชั่ว, ยินดี-ยินร้าย บุญ-บาป ฯ.) ในมโนกรรมจากสังขารขันธ์นั้นๆ (ความคิดนึกที่เป็นผลเกิดขึ้นมาจากสังขารขันธ์ทุกข์ต่างๆ)ที่เกิดขึ้นมาแล้วนั่นเอง แล้วมันก็ต้องจางคลายดับไปเป็นที่สุดเมื่อขาดเสียซึ่งเหตุก่อให้ต่อเนื่องไปอีกด้วยพลังอำนาจของธรรมนิยามในข้อทุกขังนั่นเอง

อุปมาได้ดั่ง

อุทธัจจะ เป็นสมุทัย เหตุแห่งทุกข์       อุเบกขา เป็นมรรค การปฏิบัติ เพื่อนิโรธการดับทุกข์

 

        อุเบกขาสัมโพชฌงค์ จะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการเจตนาขึ้นเท่านั้น  จึงต้องหมั่นสั่งสมอบรมปฏิบัติ  ไม่ใช่การวางใจเป็นกลางชนิดที่ต้องทําใจเป็นกลางเฉยๆ ชนิดจะไม่ให้รู้สึกรู้สาต่อทุกขเวทนา,สุขเวทนา หรือสังขารขันธ์ทุกข์ต่างๆที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด กล่าวคือ ไปเข้าใจหรือไม่อยากให้มีทุกขเวทนา และความทุกข์(สังขารขันธ์)ทั้งทางกายหรือทางใจใดๆเกิดขึ้นมากระทบได้  เพราะยังไม่รู้ไม่เข้าใจด้วยอวิชชา  อันอาจเคยกระทําได้บ้างแต่ได้เป็นครั้งคราวขณะอยู่ในอำนาจฌาน,สมาธิเท่านั้น อันยังเป็นเพียงโลกียวิโมกข์ (ความหลุดพ้นขั้นโลกีย์)   เป็นกุปปวิโมกข์ (ความหลุดพ้นที่กำเริบคือเปลี่ยนแปลงกลับกลายหายสูญได้)   และเป็นวิกขัมภนวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยข่มไว้ คือ กิเลสระงับไปเพราะถูกกำลังสมาธิข่มไว้  เหมือนเอาแผ่นหินทับหญ้า  ยกแผ่นหินออกเมื่อใด  หญ้าย่อมกลับงอกงามขึ้นได้ใหม่)   เพราะตามความเป็นจริงแล้วทุกขเวทนานั้นยังมีอยู่เป็นธรรมดาแม้ในองค์พระอริยเจ้า แต่ท่านเหล่านี้ไม่มีอุปาทานทุกข์หรืออุปาทานขันธ์ ๕,  จึงต้องเป็นการปฏิบัติด้วยความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริงแล้วว่าเป็นโทษเป็นทุกข์ แล้วจึงปล่อยวาง หรือทําใจเป็นอุเบกขา กล่าวคือรู้ตามความเป็นจริงแล้ว รู้สึก(เวทนา)อย่างไร ก็เป็นเยี่ยงนั้นนั่นเอง  แต่ต้องเข้มแข็ง ไม่คิดนึกปรุงแต่งด้วยการไม่เอนเอียงหรือแทรกแซงไปด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิตใดๆในเรื่องนั้นๆ  ทั้งในทางดีหรือชั่ว(ทางร้าย),    อุเบกขาจึงไม่ใช่อทุกขมสุขเวทนาหรือที่บางทีเรียกกันว่าอุเบกขาเวทนา อันเป็นความรู้สึกเฉยๆ แล้วไปยึดไปเข้าใจผิดว่าเป็นการอุเบกขาสัมโพชฌงค์,   อันอุเบกขาเวทนานั้นเป็นสภาวธรรมที่เกิดการรับรู้ขึ้นจากการผัสสะเป็นธรรมดา กล่าวคือเป็นไปโดยสภาวธรรมชาติ อย่างไรเสียก็ต้องเกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรม  ส่วนการอุเบกขาสัมโพชฌงค์เป็นฝ่ายเหตุคือเป็นสังขารที่เราต้องตั้งใจกระทำขึ้น  ดังนั้นจึงต้องหมั่นฝึกฝนอบรมด้วยความเพียรยิ่ง จนสามารถกระทำอุเบกขานั้นเป็นมหาสติ ได้เหมือนดั่งการอ่านหนังสือ หรือจำแม่สูตรคูณ ที่สั่งสมอบรมไว้ กล่าวคือ กระทำเองโดยอัติโนมัติ เป็นเฉกเช่นสังขารนปฏิจจสมุปบาท แต่ปราศจากเสียซึ่งอวิชชา (มีรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง อุเบกขา)

โพชฌงค์ ๗ จึงล้วนเป็นธรรมเหล่าใดที่บุคคลเจริญแล้ว

กระทำให้มากแล้ว  ย่อมยังให้เกิดวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์

หรือถึงที่สุดแห่งการดับทุกข์นั่นเอง

จิตคือสติ รู้เท่าทันในกาย เวทนา จิต และธรรมอยู่เนืองๆ

กล่าวคือการปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ ย่อมเป็นเครื่องอุดหนุนโพชฌงค์ ๗

โพชฌงค์ ๗

จาก อานาปานสติสูตร

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย  สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ

ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว   สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์

สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ

      เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่  ย่อม(นำสติไป)ค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา ฯ

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา

ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว  สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ

      เธอ เมื่อค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่   ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ฯ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุ
ค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน

ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว   สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ

      ปีติปราศจากอามิส ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ฯ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด
ปีติปราศจากอามิส
เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว

ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว   สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์

สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ

      ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ ฯ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด
ทั้งกายทั้งจิต ของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้
ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว   สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ

      ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว (ย่อมเป็นผลให้)มีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่น ฯ. ขยายความ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด
จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น

ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว   สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์

สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ

      ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉย(เป็นกลาง ด้วย)จิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้น ได้เป็นอย่างดี ฯ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็น
ผู้วางเฉย(ด้วย)จิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี

ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว   สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์

สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ฯ......... ฯลฯ ...........
      [๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร

จึงบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้   ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้

ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ  อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย

ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ...

ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ...

ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ...

ย่อมเจริญปัสสัทธิ สัมโพชฌงค์ ...

ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ...

ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์  

อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย ฯ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ

๑๐. โพชฌงควิภังค์

พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๓๕

สุตตันตภาชนีย์

โพชฌงค์ ๗ นัยที่ ๑

        [๕๔๒] โพชฌงค์ ๗ คือ  ๑. สติสัมโพชฌงค์  ๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์  ๓. วิริยสัมโพชฌงค์  

๔. ปีติสัมโพชฌงค์  ๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์  ๖. สมาธิสัมโพชฌงค์  ๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์

        [๕๔๓] ในโพชฌงค์ ๗ นั้น สติสัมโพชฌงค์ เป็นไฉน  ภิกษุในศาสนานี้

เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติและปัญญาอันยิ่ง ระลึกได้ ระลึกได้บ่อยๆ ซึ่งกิจที่ทำไว้นานๆ หรือวาจาที่กล่าวไว้นานๆ นี้เรียกว่า สติสัมโพชฌงค์

ภิกษุนั้น มีสติอย่างนั้นอยู่ วิจัย เลือกสรร พิจารณา ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา นี้เรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

ความเพียร ความไม่ย่อหย่อน อันภิกษุนั้นผู้วิจัย เลือกสรร พิจารณา ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภแล้วนี้เรียกว่า วิริยสัมโพชฌงค์

ปีติ อันปราศจากอามิส เกิดขึ้นแก่พระภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว นี้เรียกว่า ปีติสัมโพชฌงค์

กายก็ดี จิตก็ดี ของภิกษุผู้มีใจปีติ ย่อมสงบระงับ นี้เรียกว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

จิตของภิกษุผู้มีกายสงบระงับแล้ว มีความสุขสบาย ย่อมตั้งมั่น นี้เรียก ว่า สมาธิสัมโพชฌงค์

ภิกษุนั้น เป็นผู้เพ่งเล็งอยู่ด้วยดี ซึ่งจิตที่ตั้งมั่นอย่างนั้น นี้เรียกว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์

การเจริญโพชฌงค์ตามกาล

อัคคิสูตร

เจริญโพชฌงค์ตามกาล

        มีพุทธพจน์ตรัสแสดงถึงวิธีแก้ไข ความรู้สึกหดหู่ใจ ท้อแท้ใจ ทรงสอนให้แก้ไขโดยการเจริญโพชฌงค์ในธรรม ๔ ข้อ ของ โพชฌงค์ ๗  อันมี

        ๑. สติสัมโพชฌงค์ (ข้อ ๑) สติ ความระลึกได้กํากับใจ,กาย   มีสติ ระลึกรู้ในสังขารขันธ์ว่า หดหู่ ,เหี่ยวแห้ง,ท้อแท้,เสียใจ,อาลัย หรือเห็นจิตฟุ้งซ่าน  แล้วปล่อยวาง  แล้วดำเนินไปในองค์โพชฌงค์ต่อไป

        ๒. ธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ (ข้อ ๒) โดยการโยนิโสมนสิการในธรรมต่างๆ อาทิเช่น อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น  และเป็นการหาที่อยู่ที่ยึดอันควรให้แก่จิต ไม่เคว้งคว้างออกไปปรุงแต่ง โดยการยึดการพิจารณาธรรมที่บังเกิดแก่ใจ, หรือเฟ้นธรรมที่ถูกจริต หรือสงสัยไม่เข้าใจ ขึ้นมาไตร่ตรองอย่างเบิกบานให้เข้าใจ  หรือมองเห็นสิ่งที่พิจารณานั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป(ไตรลักษณ์),  ปัญญามองเห็นอริยสัจ ฯ. หรืออาศัยธรรมเป็นเครื่องอยู่หรือเป็นเครื่องกำหนดของจิต เพื่อไม่ให้จิตคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านออกไปปรุงแต่งในเรื่องที่หดหู่เหล่าใดเหล่านั้นนั่นเอง  และยังเป็นการส่งเสริมการสั่งสมภูมิรู้ภูมิญาณเป็นลำดับขึ้นไปโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย

        ๓. วิริยะสัมโพชฌงค์ (ข้อ ๓) ความเพียร, ความพยายาม  เข้มแข็ง ในธรรมทั้ง ๒ ข้างต้น  และหมายรวมถึงการเพียรยกจิต ไม่ให้หดหู่ถดถอย(ถีนะมิทธะ)  ไม่ปล่อยใจให้ไหลเลื่อนไปตามสถานะการณ์แห่งความหดหู่ใจในภายใน  ซึ่งผู้ปฏิบัติมักมองไม่เห็นหรือนึกไม่ถึง

        ๔. ปิติสัมโพชฌงค์ (ข้อ๔)ความอิ่มใจ ซาบซ่านใจ ใจฟู  ความแช่มชื่นใจ อันเกิดมาแต่ความเข้าใจธรรม  หรือปีติในองค์ฌานที่สามารถทรงขึ้นมาได้ แต่ต้องปราศจากอามิส กล่าวคือ ไม่ใช่ปีติอันมีรากฐานมาจากความติดเพลิน(จึงติดสุข ฯ.)ในองค์ฌานหรือสมาธิ

          กล่าวสรุปโดยย่อ มีสติระลึกรู้เท่าทันว่า "จิตหดหู่ใจ"  ก็ให้พิจารณา(ธรรมวิจยะ)เช่นว่า เกิดมาแต่เหตุปัจจัยใด? เป็นอนุสัย? เป็นอาสวะกิเลส? ฯลฯ. ด้วยความเพียร(วิริยะ)ไม่ปล่อยให้ไหลเลื่อนไปตามยถากรรมในจิตหดหู่นั้น  เมื่อเห็นเข้าใจในธรรมหรือเหตุปัจจัยเหล่านั้น  ย่อมเกิดปีติความสบายใจความยินดีหรือความอิ่มเอิบใจ  จึงคลายจากความหดหู่ใจ เหี่ยวแห้งใจนั้นได้  และจิตหดหู่อันเกิดจากเหตุนั้นก็เป็นอันรู้แล้ว ก็จะไม่ยังผลดังนั้นขึ้นอีก

        และอยู่กับปัจจุบันจิต อย่าคิดนึกปรุงแต่งถึงอดีตที่ผ่านมาแล้ว และอนาคตที่ยังไม่ถึงและไม่แน่นอน  หมายถึงทําสิ่งในปัจจุบันที่เกิดที่เป็น หรือทําหน้าที่ให้ดีที่สุด แล้วอุเบกขา ไม่ปรุงแต่งทั้งทางดีหรือชั่วอันยังให้เกิดเวทนา..ตัณหา..อุปาทาน อันเป็นทุกข์

        และยังทรงกล่าวถึงวิธีระงับความฟุ้งซ่าน ความรำคาญใจ จากการคิดปรุงแต่งต่างๆนาๆทั้งด้านสุขหรือทุกข์,  โดยใช้ ธรรม ๔ ข้อของสัมโพชฌงค์ ๗  อันมี

        ๑. สติสัมโพชฌงค์ (ข้อ๑) มีสติระลึกรู้เท่าทันว่า ฟุ้งซ่าน  คิดปรุงแต่งต่างๆนาๆ

        ๒. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (ข้อ๕) คือผ่อนคลายทั้งกายและใจ ไม่ตั้งจิตหรือกายอย่างเคร่งเครียด ไม่กังวล ให้สงบกายใจ

        ๓. สมาธิสัมโพชฌงค์ (ข้อ๖) จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กําหนด ไม่วอกแวก อยู่กับกิจหรืองานที่ทํา หรือสมาธิ  หรืออยู่ในการพิจารณาธรรมอย่างตั้งมั่น(สมาธิที่ใช้ในวิปัสสนา)  อันเป็นอุบายวิธีเพื่อละความฟุ้งซ่านซัดส่ายส่งไปภายนอก ไปคิดนึกปรุงแต่งให้เกิดเวทนาอันอาจเกิดตัณหา ที่ก่อให้เกิดทุกข์ต่อเนื่องวนเวียนอยู่ในชรานั่นเอง

        ๔. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ (ข้อ๗) รู้ตามความเป็นจริงในสิ่ง(ธรรม)นั้น เมื่อปรุงแต่งต่างๆนาๆขึ้นมาแล้ว ก็ต้องวางใจเป็นกลางวางเฉย, วางเฉยโดยการไม่เอนเอียงแทรกแซงไปคิดนึกปรุงแต่งต่อไปอีกทั้งในด้านดีหรือชั่ว กล่าวคือ ย่อมเกิดผลใดขึ้น เช่น เป็นสุขเป็นทุกข์ก็ตามที  ก็ไม่ไปปรุงแต่งให้เกิดเวทนาหรือสังขารขันธ์ต่างๆขึ้นมาหนุนเนื่องอีก อันอาจจักเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาความอยาก และอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ  กล่าวคือไม่ปรุงแต่งไม่ว่าจะ ดีก็ไม่ ชั่วก็ไม่  /  บุญก็ไม่ บาปก็ไม่  /  สุขก็ไม่ ทุกข์ก็ไม่ คือไม่ปรุงแต่งยึดถือนั่นเอง เช่น ยึดว่าเราถูกก็ไม่ / ยึดว่าเขาผิดก็ไม่  แล้วมันก็ต้องเสื่อมดับไปเองด้วยธรรมนิยาม

          กล่าวสรุปการปฏิบัติโดยย่อ  มีสติระลึกรู้เท่าทัน(สติ)ว่า "ฟุ้งซ่าน คิดนึกปรุงแต่งไม่หยุดหย่อน"  เมื่อรู้ตัวมีสติดังกล่าวแล้วก็ให้ผ่อนคลายกายใจให้สงบลงเสียก่อน(ปัสสัทธิ)  เมื่อสงบลงแล้ว ก็มี "สติ ที่ตั้งมั่น"(สติที่ประกอบด้วยสมาธิ คือสติมีความต่อเนื่องหรือตั้งมั่น) อยู่ใน"อุเบกขา" กล่าวคือ เป็นกลางต่อสังขารนั้น ด้วยการกระทำที่ไม่แทรกแซงไม่เอนเอียงเข้าไปปรุงแต่งในเรื่องนั้นๆ.

 

จาก มรดกของพุทธทาส  โดย ท่านพุทธทาส

         มรดกที่ ๑๑๓. การบรรลุ มรรคผล นิพพาน มิได้มีไว้ เพื่อบอก ให้ผู้อื่นทราบ และแม้ที่จะรู้เอง ก็ไม่จำเป็นต้องรู้ว่า บรรลุขั้นไหนเท่าไร  เพียงแต่รู้ว่า ทุกข์กำลังดับไปๆ จนกว่าจะหมดสิ้น ก็พอแล้ว  เหมือนรองเท้าสึก ก็รู้ว่าสึก (จนกว่าจะใช้ไม่ได้) ก็พอแล้ว ไม่ต้องรู้ว่า มันสึกกี่มิล ในวันหนึ่งๆ.

 

 

ธรรมน่าคิดของ พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท)

ดูไม้ท่อนนี้ซิ ... สั้นหรือยาว
สมมติว่า คุณ
อยากได้ไม้ที่ยาวกว่านี้ ...ไม้ท่อนนี้มันก็สั้น
แต่ถ้าคุณ
อยากได้ไม้สั้นกว่านี้ ... ไม้ท่อนนี้มันก็ยาว
หมายความว่า
ตัณหา ของคุณต่างหาก
ที่ทำให้มีสั้น มียาว มีชั่ว มีทุกข์ มีสุข ขึ้นมา

(Webmaster - ล้วนเป็นไปตามกระบวนธรรมปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง)

โพชฌงค์ ๗ พุทธวิธีเสริมสุขภาพ โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

กลับหน้าเดิม

กลับสารบัญ

Google


ทั่วโลก  ค้นหาเฉพาะใน"ปฏิจจสมุปบาท"