กระดานธรรม ๒/๑๘

      

 คลิกขวาเมนู

        อุเบกขา ในทางพระพุทธศาสนามีคำว่า อุเบกขา อยู่หลายความหมายหรือหลายนัยด้วยกัน ดังเช่น อุเบกขาในสัมโพชฌงค์ ๗,  อุเบกขาในฌาน,  อุเบกขาเวทนา,  อุเบกขาในพรหมวิหาร ๔,  อุเบกขาในสังขารขันธ์(เจตสิก ๕๒)หรืออารมณ์อุเบกขาหรืออารมณ์กลางๆ,  อุเบกขาในวิปัสนูปกิเลสอันเป็นโทษ  จึงควรมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อกล่าวถึงสาระหรือเรื่องนั้นๆจะได้จำแนกแตกธรรมได้ถูกต้อง ตลอดจนไม่เกิดความสับสนเสียจนเกิดวิจิกิจฉาในธรรมนั้นๆ อันจักยังให้ปฏิบัติไปผิดลู่นอกทางอีกด้วย  ดังเช่นไม่เข้าใจผิดไปยึดอุเบกขาในฌานที่แม้ให้ความสุขความสงบในช่วงระยะหนึ่งนั้นๆว่า เป็นหนทางดับทุกข์อย่างถาวรแท้จริง จนเกิดผลร้ายคือวิปัสนูปกิเลสขึ้นได้ จากการติดเพลินโดยไม่รู้ตัว

        อุเบกขาทั้ง ๖ องค์นี้  ถึงแม้ล้วนมีความหมายว่า เป็นกลาง อยู่กลางๆ เฉยๆ  ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดด้วยกันทั้งนั้น  แต่มีเหตุเกิดที่ต่างกัน หรือจากการปฏิบัติที่แตกต่างกันไป ผลที่ออกมาจึงมีความแตกต่างกันไปอย่างมีนัยยะสำคัญเป็นธรรมดา  แต่ก็ดังที่กล่าวแล้ว ล้วนมีนัยว่า เป็นกลางๆทั้งสิ้น,  มีทั้งที่เป็นคุณและโทษ

 อุเบกขา ในโพชฌงค์

        อุเบกขา ในโพชฌงค์ หรือที่เรียกว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์ การทำใจให้เป็นกลาง วางทีเฉย  หมายถึง การกระทำทางใจให้เป็นกลาง โดยการวางทีเฉย เป็นอุเบกขาที่มีเหตุเกิดที่ประกอบด้วยทั้งสัมมาสติ, สัมมาสมาธิ และสัมมาปัญญา ครบทั้ง ๓ อันยิ่ง กล่าวคือการมีสติระลึกรู้เท่าทัน๑ ตั้งใจมั่น๑(คือสมาธิ) อีกทั้งยังต้องพร้อมด้วยปัญญา๑ คือปรีชาที่แจ่มแจ้งอันพึงเกิดจากการพิจารณา(โยนิโสมนสิการ)จนเชื่อมั่นเพราะเห็นตามความเป็นจริงด้วยตนเองจนหมดวิจิกิจฉาจึงเกิดปัญญาพละ ดังเช่น เข้าใจในขันธ์ ๕, ความเป็นเหตุปัจจัย ที่เมื่อมีการปรุงแต่งหรือผัสสะย่อมต้องเกิดเวทนา,  หรือเห็นอนิจจังความไม่เที่ยง เมื่อไปยึดไปอยากย่อมเป็นทุกข์เพราะความที่คงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้ ฯลฯ.  มีสติเห็นตามความเป็นจริงดังนี้ๆ แล้วจึงอุเบกขาเป็นกลาง  กล่าวคือเมื่อเห็นความรู้สึก คือเกิดเวทนาอย่างไรก็ตาม เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ  หรือเกิดอารมณ์ต่างๆ(สังขารขันธ์)เช่น โทสะ โมหะ โลภะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ฯ.  ก็เป็นไปอย่างนั้นตามธรรมหรือธรรมชาติ และปัญญาเห็นว่าให้โทษ  ก็ให้วางใจเป็นกลาง ที่เกิดขึ้นด้วยเจตนาตั้งใจ,ตั้งมั่น(สมาธิสัมโพชฌงค์) โดยการสำรวมคือการระวังไม่เอนเอียง, ไม่แทรกแซง, ไม่ไปปรุงแต่งคือฟุ้งซ่านไปในสิ่งนั้นๆที่สติรู้เท่าทันตามความเป็นจริง  เนื่องด้วยปัญญาที่เข้าใจยิ่งอย่างแจ่มแจ้งดีว่า จะเป็นเหตุก่อ ให้เกิดการปรุงแต่งต่างๆขึ้นมาต่อเนื่องไป กล่าวคือย่อมยังให้เกิดการผัสสะต่างๆ ซึ่งย่อมยังให้เกิดเวทนาและสังขารขันธ์ต่างๆอีกทั้งมโนกรรม ที่เป็นไปในลักษณะเกิดดับ เกิดดับ เป็นวงจรอย่างต่อเนื่องสืบต่อไป จนราวกับว่าเป็นชิ้นเป็นเรื่องๆเดียว ทั้งๆที่ความจริงยิ่งแล้ว เกิดแต่การปรุงแต่งอย่างเกิดดับ เกิดดับ...อยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว  และเวทนาที่เกิดขึ้นเหล่านั้นย่อมอาจเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาอุปาทาน  อันเป็นการดำเนินไปตามวงจรของการเกิดขึ้นของทุกข์คือปฎิจจสมุปบาทธรรม,  จึงเป็นอุเบกขาที่เป็นไปเพื่อให้ถึงวิมุตติความสุขจากการพ้นไปจากทุกข์อย่างไม่กลับกลาย   อุเบกขาเยี่ยงนี้จัดเป็นอุเบกขาในโพชฌงค์ ๗ ซึ่งจัดเป็นองค์สุดท้ายในโพชฌงค์ ๗ จึงเป็นองค์สำคัญที่สุดที่ยังให้ตรัสรู้หรือให้ถึงซึ่งวิชชาและวิมุตติโดยบริบูรณ์ได้ ดังความนี้

กุณฑลิยสูตร

        กุณฑลิยะ     :    ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ  ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว  กระทำให้มากแล้ว  ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์?

        พระพุทธเจ้า :    ดูกรกุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์.

รูป(ธรรมารมณ์) + ใจ + มโนวิญญูาณขันธ์  anired06_next.gif เวทนาขันธ์

มโนกรรม                  กระบวนธรรมของขันธ์ทั้ง ๕                    

สังขารขันธ์(เกิดมโนกรรมขึ้น)                         สัญญาขันธ์

วงจรแสดงขันธ์ทั้ง๕ ที่วนเวียนปรุงแต่ง

 อ่านรายละเอียดของอุเบกขาในโพชฌงค์ ๗  ในเรื่อง อุเบกขา

        "อุเบกขาสัมโพชฌงค์" จึงเป็นการกระทำอย่างหนึ่งของจิต กล่าวคือต้องเจตนากระทำหรือคิดอ่าน(สัญเจตนา)ขึ้นด้วยความตั้งใจนั่นเอง  ที่ต้องใช้ทั้งสติ และสมาธิแน่วแน่ ตั้งมั่น จึงได้ผล จึงต้องลงมือปฏิบัติให้ถูกต้อง ด้วยการตั้งใจไม่เอนเอียงเข้าไปพัวพันปรุงแต่งนั่นเอง,  จึงแตกต่างจาก"อุเบกขาในสังขารขันธ์"ที่เป็นเพียงอาการอย่างหนึ่งของจิต คือเป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง คืออารมณ์เป็นกลางๆ ดังในเจตสิก ๕๒(ข้อที่ ๓๔ ในเจตสิก ๕๒) อันเป็นไปเพียงตามกลไกของธรรมชาติ

 อุเบกขา ในฌาน

        ส่วนอุเบกขาในฌาน อันเป็นองค์ฌานหรือองค์ประกอบหนึ่งใน ๖ ของฌาน อันมีองค์ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา และอุเบกขา (รายละเอียดอยู่ในเรื่อง ฌาน,สมาธิ)  เป็นอาการของจิตอย่างหนึ่งของฌาน ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติสมถสมาธิ ที่หมายถึง เมื่อจิตไปยึดเหนี่ยวหรือกำหนดในอารมณ์สิ่งใดอย่างแน่วแน่ จนเป็นหนึ่ง จึงเป็นเหตุให้ในที่สุดปล่อยวางในสิ่งอื่นๆล้วนสิ้น จึงเข้าสู่ระดับประณีตในจตุถฌานหรือฌาน ๔ ซึ่งแน่วแน่เป็นเอกัคคตารมณ์ กล่าวคือ เมื่อแน่วแน่เป็นเอกอย่างสมบูรณ์หรือเป็นหนึ่งเดียว ขณะนั้นเององค์ฌานอุเบกขาก็จะเกิดเป็นผลขึ้นมาร่วมด้วยเนื่องจากสภาวะเอกัคคตาโดยธรรมหรือธรรมชาตินั้นเอง  กล่าวคือ เพราะแน่วแน่ เป็นหนึ่งเดียวนั่นเอง จึงเป็นการปล่อยวางในสังขารการปรุงแต่งต่างๆทั้งปวง(ความคิดหรือธรรมารมณ์) จึงย่อมเป็นเหตุให้เกิดความเป็นกลางหรือความสงบต่อสังขารอื่นๆนั้นขึ้น โดยธรรมหรือธรรมชาติที่เป็นเหตุปัจจัยกันนั่นเอง   เหตุเพราะเมื่อแน่วแน่เป็นหนึ่ง จิตย่อมไม่ส่งส่ายไปเกิดการผัสสะ(กระทบ)ต่ออารมณ์หรือสังขารทั้งปวงใดๆ  จึงย่อมเกิดความสงบหรืออุเบกขาเป็นกลางขึ้นเองอีกองค์หนึ่ง  อันเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรมหรืออิทัปปัจจยตานั่นเอง

        อุเบกขา ในฌานมีความหมายว่า  ความสงบ, ความมีใจเป็นกลาง, ความวางเฉยต่อสังขารคือสิ่งปรุงแต่งต่างๆ,  เพียงแต่ว่าความเป็นกลางนั้น เกิดมาจากจิตตั้งมั่น ไม่ส่งออกไปซัดส่ายปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านให้เกิดผัสสะกับสิ่งต่างๆนั่นเอง จึงย่อมไม่เกิดเวทนาและสังขารขันธ์ต่างๆขึ้นมารบกวนได้  แต่ยังมิได้เกิดแต่ญาณ คือปัญญาชอบ แต่เกิดจากเพียงการปฏิบัติชอบ

        อุเบกขาในฌาน  จึงมีเหตุเกิดที่แตกต่างจากอุเบกขาในโพชฌงค์ ๗ ตรงที่มิได้เกิดแต่ปัญญาระดับสัมมาญาณที่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์โดยถาวร   แต่เกิดขึ้นจากขณะปฏิบัติฌานสมาธิที่จิตแน่วแน่เป็นเหตุ จึงเกิดเป็นผลขึ้น กล่าวคือเมื่อจิตไม่ได้ปรุงแต่งในสิ่งใดๆเนื่องจากแน่วแน่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนั้น จิตย่อมไม่เกิดการผัสสะกับสิ่งฟุ้งซ่านปรุงแต่งหรือกิเลสใดๆ จึงย่อมยังให้เกิดทุกขเวทนาใดๆขึ้นไม่ได้ จึงเป็นสุขในขณะที่เป็นสมาธิหรือฌานนั้นๆเนื่องจากทุกข์ดับไปชั่วขณะนั้นๆ   และซึ่งเมื่อนำจิตอันสงบดีแล้วไปเป็นเครื่องเกื้อหนุนหรือสนับสนุนในการเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญาต่อไปเพื่อการดับทุกข์อีกทีหนึ่งย่อมมีคุณอันยิ่ง อันเป็นหลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง  กล่าวคือ ภาวะอุเบกขาในฌานที่เกิดขึ้น ย่อมทำให้นักปฏิบัติ มีความสงบไม่ซัดส่ายสอดแส่  บางครั้งจิตเข้าภวังคจิตที่จิตพักผ่อนอย่างสมบูรณ์ เมื่อออกจากอุเบกขาแล้วจึงก่อเป็นกำลังอันสำคัญให้จิต ซึ่งย่อมยังประโยชน์ยิ่งเมื่อนำไปเจริญวิปัสสนา  แต่ถ้าปฏิบัติฌานสมาธิบ่อยๆแล้วไม่นำพาการเจริญวิปัสสนาอย่างจริงจังก็จะเกิดปัญหาการติดเพลินและวิปัสสนูปกิเลสขึ้นในที่สุด อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพราะได้ทำเหตุก่อไปแล้ว ผลจึงย่อมเกิดขึ้น อันเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรม และไม่มีผู้ใดไปฝืนสภาวธรรมหรือธรรมชาติได้,  การปฏิบัติฌานสมาธิจึงควรเป็นไปเพื่อการสนับสนุนปัญญาหรือการวิปัสสนา ดังธรรมที่กล่าวไว้ดังนี้

 "สมาธิปริภาวิตา  ปญฺญามหปฺผลา  โหติ มหานิสํสา"

สมาธิเป็นเครื่องหนุนปัญญา

        อุเบกขาในฌาน  มีสติแต่ขาดสัมปชัญญะ ที่หมายถึงอยู่ในภวังค์คือหยุดการรับรู้ในทวารทั้ง ๖ ในขณะนั้น  มีสติที่เกิดขึ้นจากการสั่งสมในการปฏิบัติที่เพียงรู้อยู่แต่ในความสงบเท่านั้น ที่ต้องนำกำลังและความสงบนั้นมาดำเนินในการวิปัสสนาให้เกิดปัญญาอีกครั้ง จึงยังประโยชน์อันยิ่ง,  ส่วนอุเบกขาในโพชฌงค์นั้นต้องประกอบด้วยสติ,สัมปชัญญะและปัญญาอย่างบริบูรณ์ กล่าวคือ เป็นกลางด้วยได้สติและปัญญาในกิจนั้นๆ,   มิได้เป็นกลางที่เกิดสืบเนื่องขึ้นจากการควบคุมจิตไว้กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพื่อไม่ให้ฟุ้งซ่านออกไปในสังขารทั้งปวงดังเช่นฌาน  (อ่านรายละเอียดของภวังค์ได้ในบท นิมิตและภวังค์)

 อ่านรายละเอียดของอุเบกขาในฌานและการเกิดขึ้น ในเรื่อง ฌาน,สมาธิ

 อุเบกขา ในเวทนาขันธ์

        ส่วนอุเบกขาเวทนา ของเวทนาขันธ์นั้น เป็นอีกชื่อหนึ่งของอทุกขมสุขเวทนานั่นเอง เป็นความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์หรือเฉยๆหรือเปล่าๆ คือเป็นกลางๆ จึงได้ชื่อว่าอุเบกขาเวทนา ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการผัสสะกับอารมณ์ต่างๆ  เป็นสภาวธรรมของผู้มีชีวิต ที่เมื่อเกิดการผัสสะกับอารมณ์ใดแล้ว  ที่ต้องย่อมเกิดความรู้สึกจากการต้องรับรู้แลจำได้ในอารมณ์นั้นๆเกิดขึ้นด้วยในเวทนาต่างๆขึ้น  เป็นสุขบ้าง  เป็นทุกข์บ้าง  เป็นอทุกขมสุขเวทนาหรืออุเบกขาเวทนาบ้าง อย่างใดอย่างหนึ่งต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน   สิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นประจำเสมอๆ  กล่าวคือเป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติของชีวิตอย่างหนึ่ง  ที่ไม่ว่าอย่างไรเมื่อเกิดการผัสสะก็ย่อมต้องเกิดเวทนาใดเวทนาหนึ่งขึ้นเป็นธรรมดา เพียงแต่อาจไม่รู้ไม่เข้าใจเท่านั้นเอง ที่ว่าไม่เกิด,ไม่รู้สึก นั่นแหละอุเบกขาเวทนา  ในวันหนึ่งๆจึงเกิดอุเบกขาเวทนาเช่นนี้อยู่ตลอดเวลา จนนับไม่ถ้วน มากกว่าเวทนาใดๆทั้งสิ้น  ที่พระองค์ท่านตรัสเตือนไว้เสมอๆเป็นอเนกว่า ให้เห็นอุเบกขาเวทนา โดยความไม่เที่ยง ทั้งโดยความไม่ประมาท  ก็เพราะความละเอียดอ่อน,ความแผ่วเบา,ความเคยชิน จึงสังเกตุไม่เห็น จึงมักไม่รู้เท่าทัน จึงประมาท จึงมักแปรปรวนไปปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านจนเกิดเป็นทุกข์ขึ้นในที่สุด   อุเบกขาเวทนา จึงเป็นการเกิดขึ้นโดยธรรมหรือธรรมชาตินั่นเอง ไม่จำเป็นต้องประกอบด้วยสติ สมาธิ ปัญญาแต่อย่างใด. อีกทั้งควบคุมบังคับเขาไม่ได้ด้วยเป็นอนัตตา เป็นไปตามเหตุปัจจัย

อ่านรายละเอียดของอุเบกขาเวทนา ในเรื่อง อทุกขมสุขหรืออุเบกขาเวทนา

 อุเบกขา ในพรหมวิหาร ๔

         ส่วนอุเบกขาในพรหมวิหาร ๔ ก็แสดงความเป็นกลางวางทีเฉยเหมือนกับในโพชฌงค์  แต่เป็นข้อปฏิบัติหรือหลักประพฤติ ที่ผู้ปฏิบัติตามด้วยศรัทธา แล้วย่อมยังผลให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขในการดำรงชีวิต จึงเป็นธรรมประจำใจของผู้ที่เสมอด้วยพรหม   จากการอุเบกขาที่เป็นกลางไม่เอนเอียงไปปรุงแต่งในสังขารนั้นๆที่เห็นคุณโทษแล้ว หรือสมควรแก่เหตุแล้ว  แต่เป็นการปฏิบัติแบบตรงๆด้วยกำลังศรัทธาตามคำเชื่อหรือคำสั่งสอน กล่าวคือ เป็นอุเบกขาที่ประกอบด้วยศรัทธาและสติเป็นสำคัญ ทั้งปัญญา แต่ยังไม่เป็นปัญญาระดับปัญญาญาณ(สัมมาญาณ)หรือปรีชาหยั่งรู้ดังอุเบกขาสัมโพชฌงค์ข้างต้นที่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์หรือหลุดพ้นจากกิเลสที่ประกอบด้วยปัญญาพละ,  ดังเช่น ยังไม่เห็นความเป็นเหตุปัจจัย หรือความเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรม จนเกิดปัญญาพละ ดังอุเบกขาสัมโพชฌงค์

อ่านรายละเอียดของอุเบกขาในพรหมวิหาร ๔  ในเรื่อง พรหมวิหาร ๔

 อุเบกขา ในสังขารขันธ์  

        อุเบกขา อีกอย่างหนึ่งคือ อุเบกขาในสังขารขันธ์เป็นหนึ่งในเจตสิก ๕๒ ข้อที่๓๔ หรือก็คืออารมณ์อุเบกขา เป็นเพียงการกล่าวแสดงถึงอาการของจิต ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง(ก็คือ อารมณ์หรือสังขารขันธ์นั่นเอง)ว่าเป็นกลางๆ หรือเฉยๆ เช่น อารมณ์เฉยๆ ก็คืออารมณ์เป็นกลางๆ เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นเพียงการกล่าวแสดงอาการของจิตชนิดหนึ่งเท่านั้น ดังเช่น อารมณ์อุเบกขา(สังขารขันธ์ชนิดอุเบกขา)ก็คืออารมณ์เฉยๆ อารมณ์เรื่อยๆ จึงไม่ได้หมายถึงการปฏิบัติใด แต่จัดเป็นเพียงหนึ่งในอาการของจิตใน เจตสิก ๕๒ (ในหัวข้อที่ ๓๔)  เป็นเพียงการบ่งบอกถึงอารมณ์หรือสังขารขันธ์อย่างหนึ่งเท่านั้น  จึงเป็นเพียงการกล่าวถึง อาการโดยธรรมชาติอย่างหนึ่งของจิตอย่างหนึ่งเท่านั้น  ที่บางท่านมักกล่าวว่ามีอารมณ์เฉยๆ ไม่รู้สึกอะไร เปล่าๆ ไม่เกิดอารมณ์หรือไม่รู้สึกอะไรเลยนั้นไม่ใช่ไม่มีสังขารขันธ์หรืออารมณ์เกิดขึ้น เพียงแต่คืออารมณ์ประเภทอุเบกขานี้เอง

 อุเบกขา ในวิปัสสนูปกิเลส 

             อุเบกขา อีกประการหนึ่งก็มีการกล่าวถึงในวิปัสสนูปกิเลส คืออุปสรรคหรือผลร้ายอันเกิดขึ้นจากการปฏิบัติสมถวิปัสสนาแบบผิดๆ คืออารมณ์อุเบกขา แต่อุเบกขาในวิปัสสนูปกิเลสนี้ เป็นอารมณ์หรือสังขารขันธ์แบบผิดๆ  หมายถึงอารมณ์อุเบกขาแบบเฉยๆ ไม่รู้สึกรู้สา รู้สึกสงบปลอดจากทุกข์ จึงเกิดการยึดติด  อันเกิดจากการปฏิบัติแบบผิดๆ ขาดทั้งสติและปัญญา จึงนิ่งเฉยโดยขาดเหตุขาดผล เกิดจากการไปยึดติดในความสุข ความสงบ ความสบายใจ อันเกิดจากสมาธิ เนื่องจากเพียงจิตไม่ส่งส่ายออกไปปรุงแต่งให้เกิดการผัสสะใดๆ จึงย่อมเกิดความสงบความสบายขึ้นในชั่วขณะหนึ่ง  อันเกิดแต่อำนาจของมิจฉาสมาธิโดยไม่รู้ตัว เลยไปยึดถือในความสงบ เฉยๆ กลางๆนั้นว่าเป็นของดี ถูกต้องแล้ว จึงพยายามทำอยู่เสมอๆทั้งโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ดี จนเกิดการติดเพลิน จึงจัดเป็นอุเบกขาฝ่ายอกุศล อันให้โทษ

 

 

กลับหน้าเดิม

กลับสารบัญ