|
|
มารู้จักธรรมชาติ ในการทำงานประสานสัมพันธ์ เป็นเหตุปัจจัยกันของขันธ์ทั้ง ๕ หรือชีวิต เพื่อนำไปใช้ในการดับทุกข์
การทำงานของขันธ์ ๕ หรือเรียกว่า"กระบวนธรรมของขันธ์ ๕" นี้ เป็นไปดั่งเช่นวงจรปฏิจสมุปบาท คือ เกิดขึ้นเนื่องจากการเป็นเหตุปัจจัยกันจึงเกิดขึ้น เนื่องสัมพันธ์กันไปเป็นลำดับ เหตุปัจจัยหนึ่ง เป็นเหตุให้เกิด อีกเหตุปัจจัยหนึ่ง ต่อเนื่องกันเป็นลำดับ, กระบวนธรรมของขันธ์ ๕ เมื่อเริ่มขึ้นแล้ว ต้องดำเนินไปจนสุดสิ้นกระบวนธรรมที่สังขารขันธ์ จึงไม่เป็นวงจรดั่งวงจรปฏิจจสมุปบาท เพียงแต่กระบวนธรรมของขันธ์ทั้ง ๕ นี้ เป็นเพียงการแสดงกระบวนธรรมของจิตที่ดำเนินไปตามปกติธรรมดาของชีวิต ที่ไม่ได้เน้นถึงการเกิดขึ้นของทุกข์ ที่มีตัณหาอุปาทานเข้ามาแทรก, แต่การเจริญจิตในกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ อย่างแจ่มแจ้ง ทำให้สามารถรู้ความจริงของชีวิต เพื่อใช้ไปในการดับทุกข์ คือเพื่อรู้ในคุณสมบัติต่างๆของขันธ์ ๕ ดังเช่น อะไรเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกันให้เกิดการสืบเนื่องสัมพันธ์กัน, เป็นอิสระจากเรา, ควบคุมไม่ได้จริง, ทำงานตามหน้าที่เท่านั้น ฯ. อันล้วนยังประโยชน์ยิ่งในการเจริญวิปัสสนา, อีกทั้งอำนวยประโยชน์ในการเจริญจิตในปฏิจจสมุปบาทอีกด้วย เพราะตั้งอยู่บนบาทฐานเดียวกัน คือความเป็นเหตุปัจจัยของขันธ์ทั้ง ๕ จึงเกิดขึ้น, เมื่อมีความเข้าใจ ก็จะตอบปัญหาได้ด้วยตนเองว่าทำไมจึงยังมีสังขารขันธ์หรืออารมณ์ต่างๆ เช่น โกรธ หดหู่ ทุกข์ ฯ. ทำไมจึงยังเกิดขึ้นได้ทั้งในปุถุชนและพระอริยเจ้า แล้วผลในที่สุดทำไมจึงมีความแตกต่างกันได้อย่างไร?
ขณะมีชีวิตอยู่ ขันธ์ทั้ง ๕ ย่อมประกอบร่วมกันอยู่ และยังเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกันอยู่ตลอดเวลาด้วย และขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ยังต้องมีการทำงานที่เนื่องสัมพันธ์กันเป็นเหตุ เป็นปัจจัยกัน อย่างแนบแน่นอยู่ตลอดเวลาในขณะมีชีวิตอยู่อีกด้วย ดังเช่น เมื่อตากระทบรูป ผลก็คือ เนื่องสัมพันธ์ให้เกิดจักขุวิญญาณขึ้นโดยธรรม(ธรรมชาติ)ของชีวิต คือการเห็นหรือรู้แจ้งในรูปที่กระทบกับตานั้น ซึ่งดำเนินไปเอง ไม่ต้องไปสั่ง ไม่ต้องไปควบคุม อีกทั้งควบคุมก็ไม่ได้ เช่น ขอตาเราจงอย่าเห็นรูปนี้เถิด ก็ย่อมไม่ได้ดังปรารถนา, ธรรมารมณ์หรือความคิด กระทบกับใจ ผลก็คือเนื่องสัมพันธ์ให้เกิดมโนวิญญาณขึ้น คือการรู้แจ้งในความคิดนั้น โดยอัตโนมัติคือโดยธรรมชาติ ไม่ต้องไปสั่งหรือไม่ต้องควบคุมบังคับบัญชามันแต่อย่างใด ควบคุมบังคับไม่ให้รู้แจ้ง,ไม่ให้ทำงานเสียก็ไม่ได้, หู จมูก ลิ้น และกาย ก็เฉกเช่นกัน ย่อมไม่สามารถไปควบคุมบังคับไม่ให้เกิดเหล่าวิญญาณทั้ง ๖ ใดๆที่เกิดขึ้นทำงานตามหน้าที่ของตนได้เลย ตลอดจนขันธ์อื่นๆที่จักต้องเกิดดำเนินสืบเนื่องสัมพันธ์กันต่อไปอีกด้วย คือย่อมเกิด เวทนาขันธ์..สัญญาขันธ์..และสังขารขันธ์ ต่างๆเกิดขึ้นตามมา เมื่อมีการกระทบกันแล้วดังกล่าวของอายตนะภายนอกและภายในขึ้น เป็นสภาวะธรรมหรือธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเช่นนี้เอง
ด้วยขันธ์ทั้ง ๕ ล้วนเป็นอนัตตา(อนัตตลักขณสูตร) เพราะต่างก็ล้วนเป็นสังขาร จึงย่อมล้วนเกิดขึ้นมาจากการที่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยแก่กันและกัน จึงเกิดขึ้น ตัวตนที่เป็นของตัวเองอย่างแท้จริงย่อมไม่มี สิ่งที่หลงคิดไปว่าเป็นตัวตนนั้น แท้จริงเป็นเพียงกลุ่มก้อน(ฆนะ)หรือมวลรวมที่เกิดขึ้นจากการประกอบกันขึ้นขององค์ประกอบย่อยๆ มาประชุมปรุงแต่งกันในขณะหรือในระยะเวลาหนึ่งๆเท่านั้น ดังนั้นแท้จริงแล้วสังขารต่างๆมันจึงขึ้นอยู่กับเหล่าเหตุต่างๆที่มาประชุมเป็นปัจจัยแก่กันและกันนั่นเอง ตามหลักเหตุและผล(อิทัปปัจจยตา) จึงล้วนไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เราอย่างแท้จริง และไม่มีตัวตนของมันเองจริง เมื่อไม่ใช่ของเราแท้จริงด้วยเหตุนี้เอง จึงควบคุมบังคับมัน บัญชามันให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ แม้แต่ขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง ดังเช่น
เมื่อ คิดกระทบใจ มโนวิญญาณย่อมเกิดขึ้นได้เองเป็นธรรมดา แล้วท่านทรงเรียกการประจวบการทำงานร่วมกันของธรรม(สิ่ง)ทั้ง ๓ นี้ว่าการผัสสะ แล้วย่อมดำเนินไปตามกระบวนธรรมหรือสภาวธรรมของชีวิตต่อเนื่องไปอีกโดยไปควบคุมบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้เลย คือเมื่อเริ่มเกิดการทำงานของขันธ์ ๕ ขึ้นแล้ว คือเมื่อ"อายตนนะภายนอก" เกิดการกระทบกับ "อายตนะภายใน"แล้ว ย่อมเปรียบได้เหมือนดั่งลูกธนูที่หลุดทะยานออกจากแล่งคือคันศร ที่ย่อมพุ่งทะยานไป คือเมื่อลูกธนูหลุดออกจากคันศรแล้ว เราย่อมไม่สามารถควบคุมบังคับหรือบัญชาในลูกธนูนั้นโดยตรงได้อีกต่อไป คือจะไปควบคุมสั่งการให้เปลี่ยนทิศ เอียงซ้าย เอียงขวา ขึ้น ลง แรง เบา สั่งให้ทะยานเข้าหาเป้า ฯ. ด้วยประการใดๆก็ดี ย่อมควบคุมหรือบังคับไม่ได้อีกต่อไป คือเมื่อลูกธนูหลุดออกจากแหล่งแล้วย่อมพุ่งทะยานเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติของเหตุปัจจัยเท่านั้นเช่น ความแข็งแรงคันธนู, การน้าวธนู การเล็ง ฝีมือ ฯ คือเป็นไปตามเหตุที่เป็นปัจจัยกันก่อนการหลุดออกจากแหล่งคือคันธนูเท่านั้น, ขันธ์ ๕ ก็เฉกเช่นกัน เมื่อเกิดการทำงานแล้ว ก็ย่อมดำเนินไปตามกระบวนธรรมเหมือนลูกธนูนั้นแล เหมือนกันดั่งวงจรปฏิจจสมุปบาท ทำงานทะยานไปเป็นอิสระจากเราทันที จึงย่อมเกิดวิญญาณ เวทนา สัญญา และสังขารขันธ์หรืออารมณ์ทางโลก(อีกทั้งมโนกรรมตามมา) ต้องดำเนินไปตามกระบวนธรรม ไม่อยู่ในอำนาจควบคุมบังคับบัญชาของใครๆ แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เหมือนดั่งลูกธนูที่หลุดออกจากคันศรไปแล้วนั่นเอง ที่ย่อมควบคุมบังคับมันไม่ได้อีกต่อไป มันจะดำเนินเป็นไปตามเหตุปัจจัยหรือดำเนินไปตามธรรมหรือธรรมชาติแวดล้อมเท่านั้นเอง เช่นแรงลม ฯ. และล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปเฉกเช่นเดียวกันในทวารที่เหลืออีกทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
หรือเหมือนดั่งเมื่อมีการเปิดสวิตท์สตาร์ทรถยนต์
เปรียบดั่งเมื่อเครื่องยนต์ติดแล้วคือเริ่มกระบวนธรรม คือเกิดการทำงานขึ้นแล้ว
ตัวเครื่องยนต์ย่อมทำงานของมันตามหน้าที่ตามกลไกในการจุดระเบิด
ดำเนินไปตามหน้าที่กลไกของมันเองตามธรรมชาติโดยอัตโนมัติ
ไม่ต้องไปคอยบังคับบัญชาให้ลูกสูบมันทำงาน จุดระเบิดแต่ละที แต่ละครั้ง แต่ละสูบ มันทำงานตามหน้าที่เอง
ซึ่งแทรกแซงการทำงานการจุดระเบิดของแต่ละกระบอกสูบย่อมไม่ได้เลย
แม้เมื่อมีการเร่งเครื่องยนต์ ก็สักว่าเพียงแต่เร่งเครื่อง
แต่ไม่ได้ไปเปลี่ยนกระบวนธรรมในการทำงานของมันเลย เพียงแต่เร่งเร้ารอบเครื่องหรือความเร็วขึ้นเท่านั้น
ขันธ์ ๕ หรือสิ่งต่างๆก็เช่นกัน แต่ถึงแม้เราควบคุมบังคับบัญชามันไม่ได้โดยตรงๆ
เพราะไม่ใช่ของเรา จึงไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเรา
แต่สามารถใช้สติและปัญญาในการดับที่เหตุได้
ที่มีความหมายว่า ไม่ให้มีเหตุเกิดขึ้นเนื่องต่อไปอีก
เหมือนการดับสวิตท์ไฟรถเสียนั่นเอง เครื่องยนต์จึงดับไป
เพราะเหตุไม่ใช่ขันธ์ ๕, เหตุเป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง ที่ไปปรุงแต่งร่วมกับ"ขันธ์ทั้ง ๕"
เหตุ ก็คืออายตนะภายนอกทั้งหลายนั่นเอง คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์เช่นความคิดนึกต่างๆ
แม้ก็เป็นอนัตตา เราควบคุมบังคับเขาทั้งหลายไม่ได้
แต่เมื่อเกิดการกระทบกับขันธ์ ๕ แล้ว ย่อมเกิดสังขารขันธ์เป็นที่สุด
ซึ่งสังขารขันธ์นี้ ยังให้เกิดความคิดนึกที่เป็นผลจากสังขารขันธ์ ที่เรียกว่ามโนกรรม อันเป็นผล
แม้ย่อมต้องรับในผลนั้นๆตามเหตุปัจจัย แต่เราสามารถ"ไม่เอา" ไปปรุงแต่งต่อไปอีกได้
ด้วยการอุเบกขาเสียนั่นเอง
เหตุก่อที่จะทำให้ทุกข์สืบเนื่องต่อไปจึงไม่มี แม้ทุกข์ที่ย่อมเกิดขึ้นมาแล้วนั้น ก็ต้องเสื่อมดับไปด้วยธรรมนิยาม
แม้เหตุ จักเป็นอนัตตาเช่นกัน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แม้ควบคุมไม่ได้ แต่เมื่อเกิดผลคือเป็นสังขารขันธ์หรือมโนกรรมแล้ว ซึ่งสามารถไปเป็นเหตุก่อคือธรรมารมณ์ได้อีก แต่สามารถ"ไม่เอา" คือสักว่า หรือการอุเบกขาเสีย เพราะเหตุเหล่านี้แม้เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราเช่นกัน แต่จำเป็นต้องมีต้องเอาไว้ใช้ ในการดำรงชีวิต ที่ไม่มีเสียก็ดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้โดยปกติ จึงต้องอุเบกขาที่มโนกรรมเพื่อไม่ให้แปรไปทำหน้าที่เป็นเหตุได้อีก
สภาวธรรมหรือกระบวนธรรมการทำงานของขันธ์ทั้ง ๕ พอจะเขียนเป็นสมการ ให้แลดูพอให้เข้าใจได้ง่ายๆ เพื่อใช้โยนิโสมนสิการ ในการทำงานเนื่องสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นปัจจัยกันของขันธ์ทั้ง ๕ จะได้รู้ว่าเมื่อมีการกระทบกันของอายตนะภายนอก(อันคือเหตุ)กับอายตนะภายในแล้ว ย่อมเกิดการดำเนินไปตามหน้าที่ของขันธ์ทั้ง ๕ เอง อย่างควบคุมบังคับไม่ได้ ขึ้นมาดังนี้
ใจ |
กล่าวคือ
ใจ เมื่อกระทบกับ ความคิด(ธรรมารมณ์) ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด มโนวิญญาณ (โดยธรรมหรือธรรมชาติ คือยังไงก็ต้องเกิดบังคับบัญชามันไม่ได้ และนับตั้งแต่วิญญาณทั้งหลายเป็นต้นไปนี้ ล้วนเกิดขึ้นและดำเนินเป็นไปตามกระบวนธรรมตามธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่อยู่ในอำนาจของใครๆแม้ตัวเรา ดุจดั่งลูกธนูที่หลุดออกจากแล่งไปแล้วนั่นเอง) การประจวบกันของเหตุปัจจัยทั้ง ๓ ทางธรรมเรียกว่า ผัสสะ จึงเป็นเหตุปัจจัยจึงเกิด สัญญา ความจำต่างๆ ในธรรมารมณ์หรือข้อมูลสิ่งต่างๆในความคิดนั้นขึ้นมาได้เอง ตามที่ได้สั่งสมเก็บจำไว้ (เช่นความคิดที่เป็นทุกข์) จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยจึงเกิด เวทนา ความรู้สึกรับรู้ต่างๆที่ย่อมต้องเกิดขึ้นจากการเสวยคือรับรู้ในสิ่งที่กระทบนั้นโดยธรรมคือธรรมชาติของชีวิต เป็นสุขเวทนาบ้าง เป็นทุกขเวทนาบ้าง เป็นอทุกขมสุขเวทนาบ้าง ตามรสสัมผัสจากสัญญาที่มีในสิ่งที่กระทบนั้นๆ จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด สัญญาอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นสัญญาประเภทหมายรู้,คิดอ่านในธรรมารมณ์นั้น ตามที่ได้สั่งสมอบรมมาแต่อดีต(จึงย่อมรวมถึงปัญญาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วด้วย)ขึ้นอีกครั้ง จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดผลขึ้นต่อมาคือสังขารขันธ์ สภาพของจิตหรืออารมณ์(ทางโลก) ที่จักไปปรุงแต่งใจให้เกิดสัญเจตนาคือจงใจหรือคิดอ่าน ให้กระทำสิ่งต่างๆทั้งทางดี ชั่ว และแม้กลางๆที่จำเป็นยิ่งในการดำเนินชีวิตทั่วไป และยังดำเนินต่อไปอีกคือไปเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัญเจตนาหรือความจงใจหรือความคิดอ่านนั้นไปผลักดัน ให้เกิดการกระทำ(กรรม)ในสิ่งต่างๆในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการกระทำต่างๆ(กรรม)ขึ้นได้ ทั้งทางกาย วาจา หรือใจ(กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม) อันเป็นไปตามความเจตนาหรือความคิดอ่านนั้นๆที่เกิดขึ้นจากสังขารขันธ์นั่นเอง กระบวนธรรมทั้งหมดนี้แม้สาธยายมาอย่างยืดยาวนั้นแท้จริงเกิดขึ้นในชั่วพริบตาเร็วกว่าสายฟ้าแลบเสียอีก (เป็นกระบวนการทางไฟฟ้าเช่นกันคือระบบสื่อสารไฟฟ้าของประสาท จึงรวดเร็วยิ่งสายฟ้า) ล้วนเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติ อีกทั้งการฝึกฝนสั่งสมดำเนินมาแต่แรกเกิด จึงจำต้องใช้ปัญญาคือการโยนิโสมนสิการไล่เรียงหาเหตุผลเป็นลำดับ จึงเห็นแจ้งขึ้นได้เท่านั้น
อีกทั้งทวารทั้ง ๕ หรืออายตนะภายในทั้ง ๕ ที่เหลือคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เป็นทวารหรือประตูที่มีไว้ติดต่อสื่อสารต่างๆกับโลก ต่างก็ล้วนทำงานในลักษณาการเดียวกับ ใจ ทั้งสิ้น จึงล้วนส่งผลให้เกิดสังขารขันธ์ต่างๆในที่สุดเหมือนกันทั้งสิ้น แล้วส่งผลให้เกิดการกระทำ(กรรม)ต่างๆขึ้นเช่นกัน ทั้งความคิดนึกอันเป็นผลคือมโนกรรม แม้จากการผัสสะของ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ได้เฉกเช่นเดียวกันกับใจ
ตา |
หู |
จมูก |
ลิ้น |
กาย |
โดยสรุปได้ว่า เมื่อใดก็ตามที ที่มีการกระทบกันของอายตนะภายนอก(รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์)กับอายตนะภายใน(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ย่อมยังให้เกิดผล คือทั้งเวทนาขันธ์และขันธ์ต่างๆย่อมสืบเนื่องสัมพันธ์ต่อๆไปเหมือนดั่งลูกธนูหลุดออกจากแล่งแล้ว ย่อมควบคุมบังคับไม่ได้จึงต้องทะยานไปสู่เป้าหมายเท่านั้นคือสังขารขันธ์(อารมณ์ต่างๆ)อันเป็นที่สุดของกระะบวนธรรมของขันธ์ ๕ เป็นธรรมดา, แต่ปุถุชนย่อมไม่สังเกตุเพราะต้องใช้ปัญญาในการโยนิโสมนสิการโดยละเอียดและแยบคายจึงจักพบความจริงข้อนี้ได้ และเพราะโดยทั่วไปหรือบางทีเป็นเพียงอุเบกขาเวทนา และสังขารขันธ์(อารมณ์)นั้นก็อยู่ในสภาพของใจหรืออาการของจิตนั้นเฉยๆหรือเป็นกลางๆ หรือที่เรียกอุเบกขาเช่นกันแต่มีความหมายถึงแค่อาการของจิตอย่างหนึ่งที่ เป็นกลางๆหรือเฉยๆในอารมณ์ (ในเจตสิก ๕๒ หัวข้อที่ ๓๔ นั่นเอง) จึงแผ่วเบาเสียจนไม่ได้สังเกตุว่าได้เกิดขึ้น อุปมาได้ดั่งการสวมเสื้อผ้าที่ กายกระทบสัมผัสกับเสื้อผ้าตลอดเวลา แต่เคยชินยิ่ง ทั้งสั่งสมมา ถ้าไม่เน้นเพ่งหรือกล่าวถึง ก็ราวกับว่าไม่มีความรู้สึกรับรู้ใดจากการผัสสะ(อทุกขมสุขเวทนา)ระหว่างกายกับเสื้อผ้านี้้ และสังขารขันธ์หรืออารมณ์ที่เกิดเนื่องก็เป็นเพียงชนิดอุเบกขาคืออารมณ์เป็นกลางหรือเฉยๆนั่นเอง จึงแลดูราวกับว่าไม่มีเวทนาและสังขารขันธ์ใดๆเกิดขึ้นเลย จากการกระทบผัสสะกันของเสื้อผ้าและกาย
การหายใจเข้าออกก็เช่นกัน เกิดการกระทบของลมกับกายคือรูจมูกอยู่ตลอดเวลาคือกายสัมผัส(โผฏฐัพพะ) ถ้าไม่เพ่งคือตั้งใจสังเกตุหรือกล่าวถึง ก็ราวกับว่าไม่มีความรู้สึกรับรู้(เวทนา)ใดๆจากลมกระทบกาย อีกทั้งสังขารขันธ์ที่เกิดเนื่องก็เป็นเพียงกลางๆคือเกิดสังขารขันธ์หรืออารมณ์ชนิดอุเบกขาคือเฉยๆกลางๆ ด้วยเคยชินยิ่งตลอดชีวิตมา จึงราวกับว่าไม่มีกระบวนธรรมของขันธ์ใดๆเกิดขึ้นเลย ทั้งๆที่เกิดขึ้นและเป็นไปอยู่ตลอดเวลา โดยไม่รู้ตัว คือเป็นอทุกขมสุขเวทนานั่นเอง
ที่แสดงนี้เพียงเพื่อแจงให้เข้าใจว่า เมื่อมีการกระทบกันของอายตนะต่างๆแล้ว ขันธ์ ๕ ก็ย่อมทำงานดำเนินไปตามหน้าที่ตน ดำเนินไปตามกระบวนธรรมของเขา ไม่มีใครไปหยุด ไปห้ามเขาได้ ทั้งในปุถุชนและพระอริยเจ้า วิธีการดับทุกข์จึงทำได้เพียงวิธีเดียวของพระองค์ท่านเท่านั้น คือมีสติรู้ทัน แล้วปล่อยวาง ไม่ยึดมั่น ไม่ยึดถือ เสียด้วยอาการของการอุเบกขาเสียนั่นเอง เมื่อสติระลึกรู้เท่าทันและปัญญาเล็งเห็นว่าเป็นโทษหรือสมควรแก่เหตุ(ปัญญาที่เกิดขึ้นแล้วย่อมทำหน้าที่เป็นสัญญาหมายรู้อีกด้วย) ว่าเป็นสังขารขันธ์(อารมณ์)อันให้โทษ หรือก็คือวิธีการปฏิบัติแบบ จิตตานุปัสสนา นั่นเอง คือการมีสติเห็นจิตตสังขารคือสังขารขันธ์ต่างๆรวมทั้งมโนกรรมที่ย่อมเกิดขึ้นมาร่วมด้วย และรู้คุณโทษด้วยปัญญาหรือสัญญา แล้วปล่อยวาง ด้วยการไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆ ด้วยเหตุเหล่านี้นี่เองอุเบกขาสัมโพชฌงค์จึงเป็นองค์สำคัญในการปฏิบัติโพชฌงค์ (องค์ของการตรัสรู้)นี่เอง หรือบางทีบางท่านอาจสติรู้เท่าทันในเวทนา(เวทนานุปัสสนา) พรั่งพร้อมด้วยปัญญาพละว่า สักว่าเวทนา ที่เกิดจากเหตุปัจจัยของการที่อายตนะต่างๆได้เกิดการผัสสะกัน จึงย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ตั้งอยู่ แล้วเสื่อมดับไป เป็นธรรมดา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จึงควบคุมบังคับไม่ได้ มันเป็นของมันเช่นนี้เอง(ตถตา) และอุเบกขาต่อสังขารขันธ์ความคิดต่างๆ(มโนกรรม)ที่เกิดตามมา ปุถุชนและพระอริยเจ้าจึงมีความแตกต่างกันดังนี้นี่เอง ท่านจึงไม่รับทุกข์อันเกิดขึ้นเนื่องจากความคิดนึกปรุงแต่งกันต่อๆมา ทั้งจากขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕ ดังภาพ
ธรรมารมณ์ + ใจ + มโนวิญญูาณขันธ์
สังขารขันธ์
มโนกรรม คิดนึก วงจรแสดงขันธ์ทั้ง๕ ที่เกิดการคิดนึกปรุงแต่งจนเป็นวงจร |
ธรรมารมณ์
+ ใจ
สังขารูปาทานขันธ์
มโนกรรมคิดที่เป็นทุกข์ วงจรอุปาทานขันธ์ทั้ง๕ ที่ล้วนถูกครอบงําโดยอุปาทาน |
ความแตกต่างในการดำเนินชีวิตหรือขันธ์
๕ จึงอยู่ที่ มโน
กรรม ที่แสดงข้างต้น
พระอริยเจ้าท่านมีทั้งสติและปัญญาเห็นจริงในลักษณาการดั่งนี้ของขันธ์ทั้ง
๕ อีกทั้งอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ท่านจึงปล่อยวาง ไม่เอา ไม่ยินดียินร้าย หรือการอุเบกขา
ในมโนกรรมต่างๆเสียนั่นเอง
วงจรของทั้งขันธ์ ๕ หรือแม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ย่อมขาดการสืบเนื่องให้ดำเนินต่อไปได้
จึงคลายเสื่อมดับไปด้วยอำนาจธรรมนิยาม หรือ"หยุดคิดนึกปรุงแต่ง"เสียนั่นเอง ส่วนปุถุชนก็จะวนเวียนปรุงแต่งต่อๆไปได้อย่างยาวนาน
และทวีทับถมรุ่มร้อนยิ่งขึ้นๆไปอีก เป็นธรรมดา พระอริยเจ้าไม่ว่าท่านจะปฏิบัติมาทางสายใดก็ตามแต่ท้ายสุดแล้ว
ผลก็ต้องออกมาในลักษณาการดั่งนี้ สติเท่าทันสังขารขันธ์ แล้วอุเบกขาในมโนกรรมอันเป็นผลสืบเนื่องนั่นเอง
เป็นที่สุด พระพุทธองค์จึงทรงแสดงไว้ว่า "อุเบกขา"
เป็นองค์สุดท้ายของสัมโพชฌงค์ ๗ องค์ของการตรัสรู้
ในที่สุด เราก็พอมีความรู้ยิ่ง จนสรุปได้ว่า เมื่อมีการกระทบกันแลัวของอายตนะใดๆก็ตามที ผลก็คือ ต้องเกิดสังขารขันธ์(อารมณ์ทางโลก)เป็นที่สุดของกระบวนธรรม แล้วจึงยังให้เกิดสัญเจตนาคือความเจตนา ความจงใจ ความคิดอ่าน ที่ไปปรุงแต่งจิตหรือใจให้เกิดการกระทำต่างๆ ทั้งทางดี ทางชั่ว แม้กลางๆโดยทั่วไป ได้ทั้งทางกาย(กายกรรม) วาจา(วจีกรรม) ใจ(มโนกรรม) จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรประมาท เพราะล้วนย่อมส่งผลถีงใจเป็นที่สุดเพราะสังขารขันธ์นั้นก็คืออาการต่างๆของจิตหรือใจหรืออารมณ์ทางโลกนั่นเอง ดังมีคำสอนกล่าวไว้ใน"อุณณาภพราหมณสูตร" อีกทั้งปุถุุชนมักคิดนึกปรุงแต่งต่อด้วยความเคยชินจึงไม่รู้ตัว จึงเป็นวงจรของทุกข์วนเวียนเนื่องต่อไปเรื่อย..ๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรมีสติระลึกรู้เท่าทันสังขารขันธ์(อารมณ์)อันให้โทษต่างๆจากทุกอายตนะนั่นเอง เช่น โทสะ โมหะ โลภะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ทุกข์ใจ ริษยา ตัณหา ฯ. บางทีเราจะคิดไปเองด้วยความไม่รู้ว่า สามารถควบคุมให้ไม่เกิดสังขารขันธ์(อารมณ์)ใดๆเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นบ้าง จึงเข้าใจไปว่าเราสามารถควบคุมบังคับ,ห้ามหรือดับสังขารขารขันธ์(อารมณ์)อันเป็นขันธ์นั้นๆได้ โดยไม่รู้ความจริงว่าแท้จริงแล้ว ขันธ์ทั้ง ๕ เขายังคงทำงานตามหน้าที่ของเขาไปจนจบสิ้นกระบวนธรรมของเขาทุกครั้งทุกทีไปโดยธรรมโดยอัติโนมัติ เพียงแต่ว่าสังขารขันธ์(อารมณ์)ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นแบบ เฉยๆหรือกลางๆ ที่เรียกกันว่า อารมณ์อุเบกขา อารมณ์อุเบกขานี้จึงไม่ใช่หมายถึงการปฏิบัติใดๆ เป็นเพียงการแสดงถึงสภาวะหรืออาการของอารมณ์หรือสังขารขันธ์อย่างหนึ่งเท่านั้น ดังจัดอยู่ใน เจตสิก ๕๒(หัวข้อที่ ๓๔) เมื่อเกิดอารมณ์อุเบกขาดังกล่าวขึ้น คือ อารมณ์เฉยๆ กลางๆ จึงเกิดความเข้าใจผิดคิดไปว่าไม่มีสังขารขันธ์หรืออารมณ์ใดๆเกิดขึ้น แต่แท้จริงแล้ว ขันธ์ทั้ง๕ ก็ยังคงทำงานตามหน้าที่ของเขา ไม่มีใครไปห้ามหรือหยุดการทำงานของเขาได้ เขาดำเนินไปตามเหตุต่างๆที่มาเป็นปัจจัยแก่กันและกันได้เท่านั้นเอง จึงเป็นเหตุให้เกิดโมหะความหลงไปว่า สามารถหยุดหรือห้ามไม่ให้เกิดหรือให้ดับสังขารขันธ์หรืออารมณ์ต่างๆได้ เมื่อเข้าใจดังกล่าวจึงเกิดการปฏิบัติชนิดที่พยายามไปหยุดไปห้ามสังขารขันธ์(อารมณ์)ต่างๆที่ไม่ชอบเสีย จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จึงไม่ประสพผลสำเร็จในที่สุด
ดังนั้นครานี้เราได้ความรู้โดยรวมว่า มีขันธ์เกิดขึ้นทุกขันธ์ ในกระบวนจิต ดังนั้นการมีสติระลึกรู้ในขันธ์ต่างๆอันล้วนเป็นสิ่งดีงาม เช่น สติระลึกรู้ในกาย เวทนา หรือจิต(สังขารขันธ์) จึงเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติยิ่่ง การมีสติระลึกรู้ในสิ่งใดก่อนก็ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน อบรม การสั่งสม จริต หรือวสีของแต่ละบุคคลนั่นเอง พร้อมด้วยปัญญาพละว่า สักว่าเกิดแต่เหตุปัจจัย มันเกิดขึ้นเป็นไปเช่นนี้เอง
กระบวนธรรมของชีวิต ถ้าจะแยกออกให้เห็นระยะการทำงานต่างๆ พอจำแนกออกเป็นได้ ๒ ระยะ คือระยะที่ ๑ เป็นกระบวนธรรมของขันธ์ทั้ง ๕ ทำงานประะสานเป็นเหตุปัจจัยของขันธ์ทั้ง ๕ ล้วนๆ ดังภาพ
ตา |
ส่วนระยะที่ ๒ เป็นผลที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากกระบวนธรรมของขันธ์ทั้ง ๕ ที่ทำงานประสานร่วมกันมาและสิ้นสุดกระบวนธรรมที่สังขารขันธ์หรืออารมณ์ต่างๆ แล้วสังขารขันธ์อารมณ์นั้นไปเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสัญเจตนาความคิดอ่าน ให้เกิดกรรม คือ การกระทำต่างๆขึ้น ดังภาพ
|
อีกทั้งขันธ์ทั้ง ๕ แบ่งอย่างหยาบ เป็นฝ่ายกายคือรูปขันธ์หรือร่างกาย และฝ่ายจิตอันมี เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
เนื่องจากขันธ์ทั้ง
๕ มีความเนื่องสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลาในขณะมีชีวิตอยู่ ดังนั้นทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต
ทั้งสองจึงต่างมีความเนื่องสัมพันธ์กันในขณะดำรงชีวิตอยู่ตลอดเวลาโดยธรรมชาติเช่นกัน
ไม่มีใครไปหยุดไปห้ามเขาได้ พิจารณาได้จาก เมื่อจิตหรือใจเกิดความโกรธ
ความกังวล ความกลัว ความหดหู่ ความเสียใจ ความโศรกเศร้า ฯ. ย่อมส่งผลถึงกาย กายเกิดอาการต่างๆของมันเองตามกระบวนธรรมโดยอัติโนมัติเช่นกัน
เช่น หน้าแดง หน้าเขียว ความดันสูง หายใจถี่ ใจสั่น
มือไม้กายสั่น รุ่มร้อน ไม่สบายกาย ปวดหัว ปวดท้อง ผิวพรรณเผือดหรือหมอง ฯ.และยังส่งผลต่อระบบต่างๆในร่างกายอีกอย่างที่คาดนึกไม่ถึงอีกด้วยทั้ง
ระบบการย่อยอาหาร ระบบการหายใจ ระบบฮอร์โมนต่างๆ ก็ย่อมอยู่ในสภาพแปรปรวนไม่สมดุลย์ ฯ. จึงส่งผลให้กายไม่สมดุลย์
ไม่สดชื่น
ไม่สดใส และอาจถึงขั้นเจ็บป๋วยด้วยโรคภัยต่างๆได้เช่นกันถ้ายิ่งได้สั่งสมไว้อยู่เสมอๆ ถ้าเราพิจารณาโดยละเอียดและแยบคายก็จะสังเกตุเห็นความจริงข้อนี้ได้
ถึงธรรมชาติความสัมพันธ์ของขันธ์ ๕ ในฝ่ายกายและจิต
แต่ก็อย่าลืมยังมีเหตุอื่นๆที่ทำให้เจ็บป่วยไข้ได้เช่นกัน เช่น เชื้อโรค สารพิษต่างๆ
พันธุกรรม ฯ. ถ้าเป็นดังนี้ย่อมการต้องดูแลรักษาไปตามเหตุร่วมอีกด้วย (หากไม่ดูแลรักษาตามเหตุนั้นๆร่วมด้วยก็ย่อมเป็นโมหะความหลงด้วยอวิชชา) เมื่อกายเจ็บป่วย
ก็ย่อมส่งผลให้ใจหรือจิตไม่แช่มชื่น ไม่สดใส ดังนั้นในกรณีตรงกันข้าม
เมื่อจิตใจผ่อนคลายคือคลายจากทุกข์หรือปล่อยวาง หรือมีความสุขสบายใจ กายก็ย่อมเกิดอาการตรงข้ามกับที่กล่าวไว้ข้างต้นเช่นกันโดยไม่รู้ตัวด้วย
คือ เกิดการผ่อนคลายสบายกาย ไม่ตึงเครียด และย่อมส่งผลต่อระบบต่างๆในร่างกายให้สมดุลย์ทำงานเป็นไปอย่างปกติธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว
ซึ่งเป็นการดีอย่างที่คาดคิดไม่ถึงเช่นเดียวกัน
ส่วนกายที่ผ่อนคลายก็ย่อมส่งผลที่ดีต่อจิตเช่นกัน เป็นไปดังพุทธพจน์ เมื่อกายสงบ
ย่อมพบสุข
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นไปตามกระบวนธรรมของขันธ์ ซึ่งเราไม่สามารถไปควบคุมบังคับบัญชาการทำหน้าที่ต่างๆของเขาได้เลย
แต่ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัยเป็นธรรมดา เพราะธรรมชาติในการทำงานของขันธ์ ๕
มันเป็นเช่นนี้เอง
ดังนั้น รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ล้วนอนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังคงสภาพอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนจริง จึงควบคุมบังคับเขาไม่ได้เลย จึงยังคงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ท่านจึงสอนให้อย่าไปอยาก ไปยึด อันคือตัณหา ด้วยจักเป็นทุกข์ในที่สุด, ด้วยการไม่ไปยึดมั่น ถือมั่น ปล่อยวาง ไม่เอา หรือด้วยการอุเบกขาเสียนั่นเอง
เมื่อทราบความจริงยิ่งดั่งนี้แล้ว จึงพึงรู้ว่า สุข ทุกข์ ยังคงมีเกิดขึ้นและดับไป...เป็นธรรมดาของขันธ์ ๕ หรือชีวิต เพียงแต่ว่าเรามีหน้าที่พึงมีสติรู้เท่าทันในสิ่งที่ให้โทษต่างๆทั้งของสุขและทุกข์ แล้วอย่าไปต่อความยาวสาวความยืดหรืออุเบกขาเสียนั่นเอง นี่คือความแตกต่างกันระหว่างปุถุชนและพระอริยเจ้า เพราะท่านดับวงจรของความทุกข์หรืออุปาทานขันธ์ ๕ ลงไปนั่นเอง จึงพึงกระทำได้ ดังคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล เรื่องโกรธด้านล่างนี้นั่นเอง
ภาพแสดงกระบวนธรรมของขันธ์ทั้ง๕ ที่เกิดทุกข์หรือการคิดนึกฟุ้งซ่าน จึงสามารถปรุงแต่งวนเวียนเป็นวงจรได้อย่างไม่รู้จบ
ธรรมข้อคิด
ขันธ์ ๕ ย่อมทำงานของเขาไปตามธรรมชาติ ไม่มีใครหยุด หรือห้ามการทำงานของเขาได้ เพียงแต่มีสติ ระลึก รู้ แล้ว วาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็สามารถเป็นอิสระเหนือขันธ์ ๕ ได้ โดยวิธีนี้
หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล
มีผู้เรียนถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ว่า "ท่านยังมีโกรธอยู่ไหม?"
หลวงปู่ตอบสั้นๆว่า "มี แต่ไม่เอา" (อตุโล ไม่มีใดเทียม น.๔๖๑)
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
Webmaster-หลวงปู่ตอบตามความสัจจริงอันยิ่งว่า "มี" เหตุเพราะ "โกรธ" เป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง จึงเป็นไปของเขาเองตามเหตุปัจจัยของขันธ์ ๕ ของเขา ซึ่งบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ จึงยังคง "มี" อยู่เป็นธรรมดา แม้ในครูบาอาจารย์ตลอดจนพระอริยะเจ้า, ซึ่งปุถุชนมักคาดเดากันไปเองว่า"ไม่มี", แต่หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ตอบอย่างชัดเจนว่า "มี" แต่ "ไม่เอา" ที่มีความหมายยิ่งถึง เมื่อสติระลึกรู้ว่าเป็นสังขารขันธ์อันให้โทษ(เช่น ความทุกข์ ความโกรธ ฯ.)แล้ว ท่านก็ปล่อยวาง ไม่ยึดถือ ไม่ยึดมั่น ไม่เอาไปปรุงแต่ง ทั้งปวงก็คือการอุเบกขาสัมโพชฌงค์เสียนั่นเอง แต่นักปฏิบัติทั่วไปมักไปต้องการให้สังขารขันธ์ที่เป็นทุกข์หรืออกุศลสังขารขันธ์ทั้งหลายไม่ให้เกิดไม่ให้มีขึ้นเลย จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่สามารถมีสติรู้เท่าทันอกุศลสังขารขันธ์อันให้โทษ แล้วไม่เอาหรือการอุเบกขาเสียนั่นเอง เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ อกุศลสังขารขันธ์ทั้งหลายเช่นความทุกข์ ความโกรธ ฯ. ก็ย่อมต้องเสื่อมและดับไป
จำให้แม่น สังขารขันธ์ทั้งหลายยังคงมีอยู่ เช่น โกรธ โลภ หลง หดหู่ ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ทุกข์ใจ ฯ. เพราะเป็นขันธ์ทำงานตามหน้าที่เขา ข้อสำคัญอย่าพยายามไป"ละ"มัน คือพยายามไปดับมันหรือดิ้นรนไม่อยากให้มันเกิดขึ้น ด้วยเป็นตัณหาจึงเป็นทุกข์, แต่ไม่เอา คือไม่ยึดถือ ด้วยการไม่เอาความคิดนึกต่างๆ(มโนกรรม)อันเกิดแต่สังขารขันธ์อารมณ์อันให้โทษนั้นไปปรุงแต่งต่อ หรือการอุเบกขาเสียนั่นเอง สังขารขันธ์ทุกข์เหล่านั้นก็ย่อมเสื่อมดับไปเอง
อีกทั้งโกรธนี้ ก็ไม่เป็นอนุสัยคือปฏิฆานุสัย เพราะเป็นไปในแค่ในระดับของขันธ์ ๕ อันเป็นวิสัยโลก ไม่ใช่ในระดับอุปาทานขันธ์ ๕
ผู้เจริญวิปัสสนาทั้งหลาย เมื่ออายตนะภายในและภายนอกมากระทบกันเข้า มีความรู้สึกเกิดขึ้น(ทั้งจากเวทนาและสังขารขันธ์) ย่อมพิจารณาเป็นไตรลักษณญาณอย่างนี้ทุกขณะ ไม่ว่าอิริยบถใดๆทั้งหมด ถ้าพิจารณาจนชำนิชำนาญแล้ว มันจะเป็นไปโดยอัติโนมัติของมันเองมีความรู้เท่าตลอดเวลา จนเห็นว่าอารมณ์(ทางโลก)ทั้งปวง สักแต่ว่าอารมณ์ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปตามสภาพของมัน
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
มรดกที่ ๖๗. ก ข ก กา ของพุทธศาสนา มิได้ตั้งต้น ที่พระรัตนตรัย แต่ตั้งต้น การศึกษาที่ การกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่า ได้ก่อให้เกิด ตัณหา อุปาทาน แล้วเกิดทุกข์ ควบคุมการเกิดเหล่านี้ได้ ก็จะดับทุกข์ได้ แล้วก็จะมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขึ้นมา