ปุจฉา - วิสัชนา เรื่องฌานสมาธิ
ถาม - ตอบ เรื่องของฌาน,สมาธิ |
คลิกขวาค้นหา |
webmaster-เขียนเรื่องนี้ในแนวถาม-ตอบปัญหา เพื่อให้ดำเนินไปในฌาน,สมาธิได้อย่างถูกต้องดีงาม
ที่ใช้ไปในทางสนับสนุนการวิปัสสนาให้เกิดปัญญาญาณ อันเป็นประโยชน์ยิ่งจนถึงวันสิ้นภพสิ้นชาติ
ปุจฉา แยกแยะได้อย่างไรว่า สมาธิที่ปฏิบัติเป็นมิจฉาสมาธิ หรือสัมมาสมาธิอันเป็นองค์มรรค
วิสัชนา แยกแยะได้อย่างง่ายๆ ถ้าปฏิบัติสมาธิจนมีใจหรือจิตที่สงบสบายแล้ว นำไปดำเนินในการเจริญวิปัสสนา ดังเช่นพิจารณาธรรมหรือเจริญปัญญาให้เห็นความจริงในกาย เวทนา จิต ธรรม ก็เป็นสัมมาสมาธิอันมีคุณยิ่ง ส่วนเมื่อปฏิบัติสมาธิแล้ว จมสงบแล้วปล่อยหรือเพลิดเพลินอยู่ในความสงบ สุข สบาย ก็ย่อมเป็นมิจฉาสมาธิในที่สุดโดยไม่รู้ตัว เหตุเพราะเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ย่อมหมายถึงการที่จิตแน่วแน่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้ดีแล้ว หมายถึงย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้จิตย่อมไม่ซัดส่ายออกไปปรุงแต่งให้เกิดการกระทบผัสสะให้เกิดทุกข์ต่างๆขึ้นนั่นเอง จึงย่อมเกิดความสงบขึ้นเป็นธรรมดา เมื่อสงบจึงเป็นสุข เมื่อเป็นสุขจึงเกิดความสบาย เมื่อปฏิบัติแต่สมาธิฝ่ายเดียวเสมอๆด้วยไม่รู้(อวิชชา) จึงเกิดความติดเพลิน ในความสงบ ความสุข ความสบายต่างๆขึ้น ถึงขั้นเสพติดในที่สุด คือเสพติดไปได้ทั้งใน ปีติ สุข ความสงบ(ปัสสัทธิ) ฯลฯ.(อ่านรายละเอียดได้ใน วิปัสสนูปกิเลส) ซึ่งเรียกกันรวมๆทั่วๆไปว่า ติดสุข
ปุจฉา ที่ว่าเมื่อติดเพลินในฌานหรือสมาธิแล้ว ย่อมให้ทุกข์โทษภัยนั้น จะแสดงออกมาเมื่อใดหรือครับ ผมปฏิบัติมานานแล้ว มีความสุขสบายในฌานสมาธิเป็นอย่างดียิ่ง สามารถนั่งได้คราวละนาน ไม่ได้วิปัสสนาเป็นสำคัญเลย ไม่เห็นเป็นอะไรเลยครับ จึงอยากทราบว่า ข้อมูลที่กล่าวนั้นถูกต้องดีหรือเปล่าครับ
วิสัชนา ครับถูกต้องอย่างยิ่ง ไม่ผิดพลาดแต่ประการใด ดังที่ได้กล่าวไว้โดยละเอียดในเรื่องสมาธิและฌาน ว่าฌานสมาธินั้นมีวิสัยเป็นอจินไตย เนื่องจากประกอบด้วยเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยกันอย่างมากหลายและแสนละเอียดอ่อน จึงไม่อาจระบุอย่างเฉพาะเจาะจงได้ดังที่ได้กล่าวไว้โดยละเอียดดีแล้วในบทสมาธิและฌาน แต่เมื่อทำเหตุแล้ว ย่อมเกิดผลคือ วิบากกรรม(ผลของการกระทำ)อย่างแน่นอน กล่าวคือ เพียงขึ้นกับเวลาเท่านั้นเอง คือเมื่อปฏิบัติสั่งสมผิดมากๆขึ้นจนถึงระดับหนึ่งที่กายทนไม่ได้ หรือมีทุกข์จรมากระทบจนจิตหวั่นไหวเลื่อนไหล ทรงอยู่ในฌานสมาธิไม่ได้ ก็จะเกิดทุกข์โทษภัยขึ้นอย่างรุนแรงกว่าปกติธรรมดา ดังนั้นอย่ามัวเพลิดเพลินอยู่แต่ในฌานสมาธิแต่อย่างเดียวจนเสียการ ให้หันมาใช้สมาธิเป็นเครื่องหนุนการเจริญวิปัสสนา เพื่อให้เกิดปัญญา โดยการพิจารณาธรรมอย่างจริงจัง(วิปัสสนา)กัน จึงจักยังประโยชน์อย่างแท้จริง
ปุจฉา ควรใช้สมาธิระดับใดในการเจริญวิปัสสนา
วิสัชนา วิปัสสนาสมาธิ ครับ
ปุจฉา เวลาที่นั่งสมาธิ ทำไมรู้สึกเสียวๆ หรือหนาววูบขึ้นมาคะ, แล้วมันเกี่ยวข้องกับญาณหรือเปล่าคะ
วิสัชนา อาการเสียวๆหรือรู้สึกวูบวาบ เป็นลักษณะอาการของการตกภวังค์คือภวังคบาต เป็นอาการของจิตที่หยุดการรับรู้จากทวารทั้ง ๖ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติสมาธิหรือฌาน อ่านรายละเอียดที่เกิดขึ้นและเป็นไปได้ในเรื่อง นิมิตและภวังค์, ส่วนอาการหนาววูบ ขนลุก ซู่ซ่าหรือซาบซ่าน เป็นอาการของปีติครับ อ่านรายละเอียดของปีติอันเป็นองค์ฌานได้ใน ฌาน,สมาธิ(รายละเอียดเรื่องปีติ)ครับ เป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติของฌาน ที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาครับ, ไม่เกี่ยวข้องกับญาณคือปัญญาครับ แต่เกี่ยวข้องกับสมถสมาธิ คือฌานหรือสมาธิโดยตรงครับ ที่เมื่อปฏิบัติถูกต้องก็เป็นสัมมาสมาธิในองค์มรรค ถ้าปฏิบัติผิดก็เป็นมิจฉาสมาธิ ดังแสดงไว้โดยละเอียดในเรื่องฌาน,สมาธิเช่นกัน
ปุจฉา เมื่อปฏิบัติสมาธิ มักเห็นภาพต่างๆ หรือเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้น หรือก็คือเกิดนิมิตให้เห็นโน่นเห็นนี่ขึ้นอยู่เสมอๆ อยากทราบว่านิมิตหรือภาพ,เรื่องราวที่เห็นนั้น เป็นความจริงหรือไม่? และควรทำอย่างไรกับนิมิตนั้น
วิสัชนา ขอตอบเรื่องนิมิตและภวังค์ไปที่ Linkนี้ครับ
ปุจฉา
ก่อนนั้นดิฉันหลีกเลี่ยงการนั่งสมาธิมาโดยตลอดนะคะ ด้วยเหตุผลที่ การนั่งหลับตาไม่ค่อยถูกกับจริตของตัวเองเท่าไหร่ และก็พบว่า สามารถเป็นสมาธิได้ในขณะที่ทำงานอย่างอื่นมากกว่า (เช่นพวกงานบ้านงานฝีมือน่ะค่ะ) แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกว่านั่งสมาธิได้ง่ายขึ้น และจากการที่ปฏิบัติและศึกษามาเรื่อยๆ ก็เข้าใจว่า การนั่งสมาธิ เป็นหนทางที่สำคัญที่จะช่วยให้จิตมีกำลัง และสามารถขจัดกิเลสได้ดีขึ้น จึงเริ่มที่จะนั่งสมาธิให้จริงจังมากยิ่งขึ้น
รบกวนช่วยตอบข้อสงสัยดังนี้ค่ะ ปัญหาเรื่องฟุ้งซ่านมีไม่ค่อยมากนะคะ เพราะพบว่าสามารถดึงให้จิตสงบได้แบบไม่ยากเย็นนัก แต่ปัญหาที่พบคืออาการปวดขา หลายสำนักมักจะแนะนำให้พิจารณาที่ความปวดจนกระทั่งมันหายไป แต่ก็ยังไม่เข้าใจนะคะ แต่สิ่งที่ทดลองกับตัวเองก็คือ เคยลองเพ่งไปที่ความปวด กลับพบว่า มันยิ่งปวดมากขึ้น จนบางครั้งต้องหยุดทำสมาธิไปเลย ในครั้งหลังเลยลองไม่สนใจ คือเอาจิตไปจับอยู่ที่ลมหายใจต่อไป พบว่า อาการปวดก็ยังอยู่ แต่ทนได้ แต่จิตก็ไม่นิ่งนะคะ วิ่งไปมา อยู่ที่ลมหายใจบ้าง วิ่งไปตรงที่เจ็บบ้าง วิ่งไปที่ปวดทีไรก็รู้ได้เลยว่าปวดจริงๆ วิธีอย่างหลังนี่ ทำให้นั่งได้นานขึ้น แต่พอเลิกสามาธิที่ไรก็พบว่า ขาชามาก จนต้องเอามืองัดออกเลยล่ะค่ะ เลยเกิดความสงสัยว่า ความพอดีมันอยู่ตรงไหน และควรทำอย่างไรจึงจะถูก
วิสัชนา ขอตอบไปที่ Linkนี้ครับ
ปุจฉา แยกแยะได้อย่างไรว่า ปฏิบัติอย่างไรเป็นสมถสมาธิ ปฏิบัติอย่างไรเป็นการวิปัสสนา
วิสัชนา มีหลักในการพิจารณาง่ายๆดังนี้
หลักปฏิบัติ สมถสมาธิ(สมถกรรมฐาน)
- ให้หยุดคิดหยุดนึกทั้งปวง มีแต่สติหรือจิตตั้งมั่นอยู่แต่ในอารมณ์ อันมีกำลังยิ่ง
หลักปฏิบัติ วิปัสสนา(วิปัสสนากรรมฐาน)
- ให้หยุดแต่การคิดนึกปรุงแต่ง มีแต่สติหรือจิตอยู่กับการคิดพิจารณา(ใช้ปัญญา)ในเหล่าธรรมอันเป็นกุศล อันเป็นปัญญายิ่ง
หลักปฎิบัติ สมถวิปัสสนา คือ การใช้ทั้งสมถสมาธิและการวิปัสสนาร่วมกัน
- เมื่อปฏิบัติสมถสมาธิ(สมถกรรมฐาน)เป็นกำลังแล้ว ให้เจริญวิปัสสนา(วิปัสสนากรรมฐาน) จึงยังทั้งกำลังและปัญญาอันยิ่งๆขึ้น
และหนึ่งในสมถวิปัสสนาอันดีงามยิ่ง คือการใช้ วิปัสสนาสมาธิ ในการปฏิบัติ
ปุจฉา สมาธิระดับใดที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนา
วิสัชนา เป็นปัญหาที่สงสัยใคร่รู้หรือวิจิกิจฉาในนักปฏิบัติ ว่าควรใช้สมาธิระดับใดในการปฏิบัติจะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องดีงาม การใช้สมาธิในการเป็นเครื่องเกื้อหนุนในกิจของการเจริญวิปัสสนา สมาธิที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนานั้น พอแยกออกได้เป็น ๒ วิธีด้วยกัน คือ
๑.เข้าสมาธิ จนถึงฌาน ๔ หรือตามกำลังสมาธิของตนเอง แล้วเมื่อถอนออกมาก็ให้ดำเนินการวิปัสสนาในธรรม ที่ควรมีตระเตรียมไว้ในใจ
๒.สมาธิระดับขณิกสมาธิ แล้วเจริญวิปัสสนาเลย สมาธิระดับขณิกสมาธิก็คือในระดับที่จิตตั้งมั่น ตั้งอยู่ในกิจหรือในงานได้อย่างมั่นคง ไม่สอดแส่ ซัดส่ายไปในกิจอื่นๆนั่นเอง ลองพิจารณาจากงานที่กระทำด้วยความตั้งใจ ด้วยความชอบ นั่นเป็นอาการของขณิกสมาธิ จะสังเกตุได้ว่าจิตจะอยู่ในกิจของตนได้อย่างแน่วแน่พอควร ไม่ซัดส่ายสอดแส่ไปในสิ่งต่างๆ ตั้งอกตั้งใจอยู่ในกิจหรือในธรรม และในการปฏิบัติแบบที่ ๒ นี้ เมื่อเจริญวิปัสสนาหรือปัญญาอยู่นั้น ฌานสมาธิก็สามารถประณีตขึ้นไปเป็นลำดับ กล่าวคือ เข้าสู่สภาวะของฌานสมาธิอันประณีตขึ้นเองได้โดยธรรมหรือธรรมชาติเช่นกัน อันเนื่องจากจิต วิตก วิจาร อยู่ในธรรมได้อย่างแน่วแน่นั่นเองจึงดำเนินไปในฌาน (อ่านรายละเอียดในเรื่อง ฌานสมาธิ) อันมีข้อดีคือขาดตัณหาในองค์ฌานของฌานสมาธิโดยตรง แต่เกิดขึ้นและเป็นไปโดยธรรม หรือเรียกวิธีนี้ว่า "วิปัสสนาสมาธิ"
ถ้าถามผู้เขียนว่า แล้วปฏิบัติอย่างใดดี ก็ต้องตอบว่า ปฏิบัติแบบข้อ ๒ เหตุที่กล่าวดังนี้เพราะ
ในสมัยนี้การปฏิบัติฌานสมาธิให้ถึงระดับประณีตโดยตรงทุกครั้งเป็นเรื่องลำบากทีเดียว ทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาส กล่าวคือต้องมีระยะเวลาในช่วงปฏิบัติ ที่สงัด สงบ ไม่ใช่ ๗ วัน ๑๐ วันเท่านั้น กล่าวคือต้องปลีกวิเวก มิฉนั้นก็ถูกรบกวนด้วยสิ่งหรือเรื่องราวทางโลกต่างๆ อันวุ่นวายตามวิวัฒนาการความเจริญของโลก จึงเป็นการยากลำบากในการเจริญเจโตวิมุตติแต่ฝ่ายเดียวจนเชี่ยวชาญชำนาญยิ่งอย่างจริงจัง และมีโอกาสเกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้นก่อน จนเสียการได้ง่ายมากๆ หากขาดการเจริญวิปัสสนาอย่างจริงจังควบคู่กันไปด้วย และการขาดครูบาอาจารย์ผู้รู้ธรรมที่ต้องอบรมควบคุมจิตไม่ให้ออกไปนอกลู่ผิดทางในการปฏิบัติสมถสมาธิ ที่เมื่อพลาดพลั้งไปแล้ว มักจะไม่ยอมฟัง ยอมเชื่อใครง่ายๆเนื่องด้วยแต่อำนาจของฌานสมาธิเป็นเหตุให้ดึงดันในมิจฉาทิฏฐิ หรือมิจฉาญาณที่เกิดขึ้น อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน สมาธิขั้นใด? ที่จำเป็นในการปฏิบัติ
ปุจฉา ผมปฎิบัติสมาธิมาได้ระยะหนึ่งแล้ว หลังๆนี่ผมสังเกตุว่า เกิดหรือทรงอาการขององค์ฌาน,สมาธิ เช่น ปีติ, สุข, สงบ ฯ. ขึ้นได้ ในขณะที่ดำเนินอยู่ในชีวิตประจำวันตามปกติ กล่าวคือเมื่อคุยธรรมะหรือกระทำอะไรที่ถูกจริตถูกใจ หรือตั้งจิตตั้งใจในสิ่งใด ก็มักเกิดปีติขนลุกซู่อิ่มเอิบขึ้นมาง่ายๆเหมือนดังเวลาเกิดปีติในการปฏิบัติสมาธิ บางครั้งก็อิ่มเอิบใจง่ายๆเมื่อระลึกถึงสิ่งที่นับถือ,ศรัทธาหรือปลาบปลื้ม และยังสามารถทรงขึ้นมาดื้อๆ หรือประคองให้ปีติ สุข สงบเหล่านี้ให้คงอยู่ได้ไปนานๆ ทำไมสิ่งเหล่านี้จึงเกิดขึ้นได้ ทั้งๆที่ไม่ได้ปฏิบัติพระกรรมฐานใดๆในขณะนั้นๆ แล้วดีหรือไม่ดีอย่างไร
วิสัชนา องค์ฌานต่างๆในฌานสมาธินั้น เช่น ปีติ สุข ฯ.นั้น เมื่อปฏิบัติไปจนเกิดความชำนาญแล้ว จิตจะเกิดสัญญาหรือความจำได้รวมทั้งการหมายรู้ในเหล่าองค์ฌานสมาธิขึ้นในที่สุด เหมือนดังความจำได้ในจิตสังขารต่างๆทั่วไป ดังนั้นเมื่อปฏิบัติบ่อยๆจึงเกิดความชำนาญยิ่ง จึงน้อมระลึกองค์ฌานขึ้นมาได้อย่างง่ายๆจากสัญญาหรือความทรงจำนั้นๆ เนื่องจากการปฏิบัติอย่างสมํ่าเสมอบ่อยๆจึงเกิดเป็นสัญญาโดยไม่รู้ตัว องค์ฌานเหล่านี้จึงสามารถเกิดขึ้นได้อย่างง่ายๆเมื่อเพียงน้อมนึกถึงหรือถูกกระตุ้นเร้าด้วยการผัสสะเช่นการสนทนาธรรมที่ถูกใจ หรือตาไปผัสสะในสิ่งที่ศรัทธา เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติพระกรรมฐานแต่อย่างใดในการทำให้เกิดขึ้น จึงทำให้จิตและกายสดชื่นได้อย่างง่ายๆ กล่าวคือ จิตได้นำสัญญาในองค์ฌานสมาธิมา วิตก วิจารเคล้าจนเกิดองค์ฌานหรือองค์สมาธิ เช่น ปีติ สุข สงบขึ้นนั่นเอง แต่ก็ควรมีความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด เพราะองค์ฌาน,สมาธิดับกิเลสในขณะนั้นลงได้ระยะหนึ่ง จึงให้ความสุข สงบ สบายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อปฏิบัติได้จึงมักพากันติดเพลินไปในลักษณาการของจิตส่งในก็เป็นอีกเหตุหนึ่งเช่นกันที่ทำให้เกิดความชำนาญขึ้นแต่อย่างผิดๆคือเกิดแต่ติดเพลินโดยไม่รู้ตัว เพราะเมื่อสามารถน้อมระลึกหรือทำให้เกิดขึ้นได้อย่างง่ายๆแล้ว หรือเกิดจากกระทำจิตส่งในบ่อยๆโดยไม่รู้ตัวเพราะจ้องเสพความสุขสบาย และด้วยอวิชชาจึงมักเข้าใจผิดไปว่าเป็นการปฏิบัติวิปัสสนาอันถูกต้องดีงามแล้วทั้งๆที่ยังเป็นเพียงการปฏิบัติสมถสมาธิ จึงมักพาไปให้น้อมระลึกทำให้เกิดขึ้น ประคองให้คงอยู่ และเป็นไปบ่อยๆเพื่อเสพสุข ด้วยเป็นสุขอย่างยิ่ง จึงทำให้เกิดการติดเพลินในองค์ฌานสมาธิเหล่านั้นขึ้นในที่สุด ที่เรียกกันทั่วไปว่า ติดสุข ที่หมายถึงติดเพลินในเหล่าองค์ฌานต่างๆ เช่น ปีติ สุข อุเบกขา เอกกัคคตา ถ้าเป็นเยี่ยงนี้แล้วฌานสมาธิอันมีคุณประโยชน์ในการเป็นเครื่องหนุนการวิปัสสนาเหล่านั้น ล้วนจัดเป็นมิจฉาฌาน,มิจฉาสมาธิ ยังให้เกิดวิปัสสนูปกิเลส และยังให้เกิดโทษทั้งต่อธาตุขันธ์ของกายและทั้งจิตอย่างรุนแรงขึ้นในภายหน้า อย่างไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ เพราะได้ทำเหตุเสียแล้ว จึงต้องรับผลหรือวิบากกรรมในที่สุด เป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตาอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีผู้ใดไปฝืนได้นั่นเอง ดังนั้นจึงควรจดจำไว้อย่างแม่นยำอย่างหนึ่งว่า เราปฏิบัติสมาธิเพื่ออำนวยประโยชน์ไปในการเป็นเครื่องหนุนการวิปัสสนาให้เกิดปัญญา เพื่อให้เกิดนิพพิทาญาณ จึงเป็นจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการปฏิบัติ แต่ถ้าติดใจไปเสพรส หรือแอบเสพรสที่หมายถึงแม้โดยไม่ตั้งใจแต่ด้วยความเคยชินโดยไม่รู้ตัว เช่นพยายามทำให้เกิดขึ้น หรือประคองให้ทรงอยู่นานๆ เพื่อเสพรส หรือเพื่อประโยชน์ทางโลกๆ โดยไม่ได้นำไปอำนวยประโยชน์ในการเป็นเครื่องหนุนการวิปัสสนาอย่างจริงจังแล้ว แสดงว่าได้ปฏิบัติผิด ได้ออกนอกลู่ผิดทางเสียแล้ว เมื่อกระทำบ่อยๆครั้งจากการเป็นเพียงสัญญา คือจำได้ในปีติสุขสงบเหล่านั้นที่เกิดขึ้น ก็กลับกลายเป็นความจำได้ชนิดอาสวะกิเลสความจดจำได้ที่เกิดมาจากนันทิความติดใจอยากหรือตัณหา จึงยังให้เกิดอุปาทานในสุขหรือองค์ฌานเหล่านั้นที่เกิดขึ้น อันเป็นการดำเนินและเป็นไปตามวงจรของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ปฏิจจสมุปบาท จึงส่งผลให้เกิดสังขารกิเลสขึ้นในที่สุดได้เองโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา หรือรู้ตัวก็ไม่สามารถหยุดได้เสียแล้วเนื่องจากเป็นสังขารอันแก่กล้าที่เกิดมาแต่อาสวะกิเลสเสียแล้ว จึงกระทำหรือปรุงแต่งขึ้นเองได้เสมอๆแม้แต่ในขณะหลับ จึงต้องรับผลหรือวิบากกรรมนั้นไปอีกนานแสนนาน
ปุจฉา ผมไม่ใช่นักปฏิบัติ เป็นนักธุรกิจ มีความเครียดมาก ความรับผิดชอบสูง พร้อมทั้งมีปัญหาครอบครัว จึงมักกังวล นอนไม่ใคร่หลับ และมีโรคแทรกซ้อนต่างๆนาๆหาเหตุไม่ได้ เป็นไปอย่างนี้เกือบตลอดเวลา คิดว่าทุกข์ช่างรุมเร้าเสียเหลือเกิน ผมคิดว่าจะปฎิบัติสมาธิเพื่อช่วยให้ผ่อนคลาย ตามที่มีเพื่อนๆหลายคนแนะนำมา ดีหรือไม่ประการใดครับ
วิสัชนา ผมขอตอบตามตรง ถ้าคุณหมายถึงปฏิบัติสมาธิล้วนๆเพื่อแก้ไขผลหรือทุกข์ดังกล่าวข้างต้นแต่อย่างเดียว ขอตอบว่าไม่ดีครับ ขอแนะนำว่าอย่าทำเลยครับ หาอย่างอื่นทำเพื่อการผ่อนคลายดีกว่า เหตุเพราะมีผลเสียมากกว่าเกิดตามมาที่คุณยังไม่รู้เพราะอวิชชา แต่ถ้าคุณหันไปศึกษาธรรมละก็ขอตอบว่าดี ช่วยให้ปล่อยวางจางคลายจากทุกข์เหล่านั้นลงได้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าปฏิบัติสมาธิพร้อมทั้งศึกษาธรรม หมายถึง เมื่อทำสมาธิจนใจสงบสบายทุกครั้งแล้วต้องนำธรรม(เฟ้นธรรม-ธรรมะวิจยะ อันเป็นแก่นธรรม)มาศึกษา มาพิจารณา อย่างหาเหตุหาผลอย่างจริงจังและจริงใจร่วมด้วยทุกครั้งไป เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่แจ่มแจ้ง หรือก็คือการปฏิบัติสมถวิปัสสนา (สมาธิ+วิปัสสนา) ถ้าเป็นไปเยี่ยงนี้ผมขอตอบเลยว่าดีที่สุด เป็นอานิสงส์สูงสุดไม่มีอานิสงส์ผลบุญกุศลใดเทียบเท่าได้อีกแล้ว เป็นทั้งทางลัดและตัดสั้นตรงที่สุดไปในทางดับทุกข์อย่างถาวรทีเดียว จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง และสามารถแก้ปัญญาต่างๆข้างต้นของคุณได้ทุกประการและอย่างถาวรอีกด้วย รวมทั้งโรคทั้งหลายที่เกิดแต่จิตเป็นเหตุทั้งหลายทั้งปวงที่ทำให้เกิดได้สารพัดโรคเกินกว่าที่ปุถุชนคาดคิดไว้ ส่วนโรคอันเกิดแต่กายหรือการติดเชื้อทั้งหลายทั้งปวง ก็ต้องพึ่งพาหมอเป็นธรรมดา ซึ่งพระพุทธองค์ตลอดจนพระอริยเจ้าทุกองค์เมื่อเจ็บป่วยกายล้วนต้องพึ่งพาหมอกันทุกคน ตั้งแต่หมอชีวกโกมารทัตแพทย์ประจำพระองค์ เป็นต้น อันล้วนเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติของกายสังขารภายใต้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง
ส่วนการปฏิบัติสมาธิล้วนๆ หรือพลังต่างๆ ที่คนทั้งโลกเขาแนะนำและฝึกฝนกันนั้น ว่าช่วยให้นอนหลับ ผ่อนคลายความเครียด ความกังวล รักษาโรคภัยต่างๆ มีฤทธิ์มีเดช, ตลอดจนสุขสบายอย่างยิ่งนั้น เพราะเขาเหล่านั้นยังไม่รู้ตามความเป็นจริงเพราะอวิชชาว่า สมาธินั้นเปรียบประดุจดั่งมีดหรือยา กล่าวคือ ย่อมมีทั้งคุณและโทษอยู่ในตัวของมันเอง อันเป็นมัชฌิมาหรือทางสายกลาง ไม่ใช่มีคุณอนันต์แต่ฝ่ายเดียว แต่ให้โทษมหันต์เช่นกันถ้านำไปใช้ผิดๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้นำไปใช้หรือคุณนั่นเอง เมื่อปฏิบัติสมาธิเพื่อดับกังวลหรือทุกข์เหล่านั้นจึงเกิดปัญหาให้โทษรุนแรงขึ้นโดยไม่รู้ตัวทุกคนเพราะอวิชชาอย่างแน่นอน เพราะในขั้นต้น ยังให้เกิดสภาวะจิตฮึกเหิม จิตกล้าขึ้น จิตแกร่งขึ้น จิตเก่งขึ้น ตลอดจนความรู้สึกที่สงบ สบาย หรือถึงขั้นเป็นสุข จึงย่อมเกิดการติดเพลิน,ติดใจอยากในความสุขสงบสบายและความกล้าที่จะพึงเกิดขึ้นจากสมาธิหรือฌาน อันเป็นสภาวธรรมชาติที่ปุถุชนพึงปรารถนาที่ได้สั่งสมกันมาตั้งแต่เกิด จึงเกิดการติดเพลินหรือเสพติดขึ้นในภายภาคหน้า แล้วจึงยังให้เกิดโทษขึ้นทั้งต่อร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงโดยตรงและไม่รู้ตัวเสียด้วย กล่าวคือเกิดผลตรงกันข้ามกับที่ได้รับในช่วงแรก ก่อความเครียด ความกังวล จิตหดหู่ ทั้งนอนหลับยาวไม่ได้ในภายหลัง อันมีผลทั้งต่อตัวคุณและครอบครัวรุนแรงกว่าเดิมทวีคูณในภายภาคหน้า และแก้ไขได้ยากมาก ไม่ใช่แก้ไขได้ง่ายๆ (อย่าคิดไปตายเอาดาบหน้า) แก้ไขไม่ง่ายดังที่คุณอาจคิดไปแก้ไขเอาในภายหน้า คราครั้งนี้แม้แต่หมอเทวดาก็ต้องส่ายหน้า ได้แต่รักษาไปตามอาการ แต่ถ้าปฏิบัติควบคู่กับการปฏิบัติวิปัสสนาจึงจะยังให้คุณอนันต์อย่างแท้จริงดังที่กล่าวว่า สมควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง เป็นอานิสงส์สูงสุดไม่มีบุญกุศลใดเทียบเท่าได้อีกแล้ว ในการดับไปแห่งทุกข์
ปุจฉา โดยปกติผมมักทำสมาธิเป็นประจำ มีความสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง คือ ทำไมขณะตื่นนอน บางวันจะมีความรู้สึกสดชื่นมากๆ บางวันมีความรู้สึกหดหู่ หงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายๆโดยเหมือนไม่มีสาเหตุ เป็นเพราะเหตุใดครับ
วิสัชนา เนื่องจากทั้งฌานและสมาธิก็เป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่งเช่นกัน จึงเหมือนกับความฝัน จึงสามารถทำได้หรือผุดขึ้นมาเองแม้ในขณะหลับโดยไม่รู้ตัวหรือเจตนาแต่อย่างใดเหมือนความฝันทั้งหลาย เกิดขึ้นเนื่องจากการปฏิบัติโดยชํ่าชองหรือสมํ่าเสมอและมักขาดการวิปัสสนา กล่าวคือมีการติดเพลินในฌาน,สมาธิเสียแล้ว คือเมื่อปฏิบัติโดยชำนาญขึ้นจนมักอยู่ในสภาวะเลื่อนไหลหรือกระทำขึ้นเองแต่โดยไม่รู้ตัวบ่อยๆครั้ง ดังนั้นแม้ในขณะหลับจึงเกิดการกระทำโดยไม่รู้ตัวขึ้นหรือเรียกว่าเลื่อนไหลไปเอง วันใดที่ตื่นขึ้นมาสดชื่นแสดงว่าเลื่อนไหลอยู่ในฌานสมาธิอย่างบางเบาต่อเนื่องจนตื่นขึ้นมา จึงมีความรู้สึกสดชื่น ไม่ง่วงเหงาหาวนอน อิ่มเอิบสบายใจ ส่วนวันใดที่หงุดหงิดหรืออึดอัดนั้นก็เกิดขึ้นเนื่องจากการหลุดหวั่นไหวไปจากฌานสมาธินั่นเอง อันอาจเนื่องจากการฝัน ท่านอน อาหารที่ทาน หรือการแช่เลื่อนไหลในขณะหลับอยู่นานเกินไปจนกายรับภาระไม่ไหวทั้งในการสร้างและเสพสารชีวเคมี
ปุจฉา ผมปฏิบัติสมาธิ โดยกำหนดลมหายใจ ไม่ได้ปฏิบัติฌานเลย ไม่รู้แม้กระทั่งฌานคืออะไร ทำไมบางท่านกล่าวว่า ผมเป็นฌานด้วย แล้วต้องใช้สมาธิหรือฌานระดับใดในการปฏิบัติวิปัสสนา
วิสัชนา สมาธิและฌาน เป็นเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์กันอยู่อย่างแนบแน่นเป็นเหตุเป็นผลแก่กันและกัน เพราะฌาน ก็คือ ภาวะจิตสงบประณีต ซึ่งมีสมาธิเป็นองค์ธรรมหลัก ดังนั้นเมื่อปฏิบัติสมาธิได้ผลดีก็อาจเกิดผลเป็นฌานอันเป็นไปตามสภาวธรรมชาติได้เอง เพียงแต่อาจจะไม่รู้ตัวเพราะยังไม่มีความรู้ความเข้าใจ จึงคิดว่าเป็นสมาธิแต่ฝ่ายเดียว ปฏิบัติสมาธิแต่เพียงอย่างเดียวล้วนๆก็จริงอยู่ และเป็นไปอย่างได้ผลเป็นสมาธิที่พอควรหรือแน่วแน่เป็นบางครั้ง จิตจึงเกิดการลื่นไหลไปสู่ภาวะของฌานเอง จึงกล่าวว่ามีจิตเป็นฌาน เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาเพียงแต่ไม่รู้เท่านั้นเอง เกิดขึ้นและเป็นไปโดยสภาวะธรรมชาติเอง ฌานมีสภาวะจิตทางด้านความสงบประณีตกว่าเพราะไปจับยึดเอาอารมณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงมีองค์ประกอบหรือองค์ฌานของฌานเพิ่มขึ้นประกอบร่วมด้วย ส่วนสมาธิใช้ในการวิปัสสนาได้ดีกว่าเพราะจิตตั้งมั่น แต่มิว่าอย่างไร ฌาน-สมาธิ สามารถเกิดสลับกันไปมาได้ อ่านรายละเอียดเพื่อศึกษาเป็นแนวทางได้ใน ฌาน, สมาธิ
สมาธิหรือฌาน ระดับใดที่ใช้ในการวิปัสสนา ขอให้คลิกไปอ่านที่คำถามนี้ด้านล่าง
ปุจฉา ฌาน,สมาธิ ดับกิเลสอะไรได้บ้าง
วิสัชนา การบรรลุถึงฌาน,สมาธิได้นั้น ต้องพึงปราศจาก นิวรณ์ ๕(กิเลสที่เป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี สูงขึ้นไป)เสียก่อน อันจัดเป็นองค์ธรรมที่เป็นศตรูหรือปฏิปักษ์กับการปฏิบัติฌาน,สมาธิ กล่าวคือเมื่อยังมีกิเลสเหล่านั้นในจิตขณะเมื่อปฏิบัตินั้น ย่อมยังไม่ให้บรรลุถึงสมาธิหรือฌานได้ ก็เนื่องจากเป็นเหตุปัจจัยให้จิตฟุ้งซ่านไปภายนอก หรือส่งส่ายสอดแส่ออกไป จนจิตหวั่นไหวปรุงแต่งไปในกิเลสของนิวรณ์ทั้ง ๕ จนไม่สามารถบรรลุถึงสมาธิได้นั่นเอง อันมี
๑. กามฉันทะ ความพอใจหรือราคะหรือความอยากหรือความไม่อยากใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส(อันรวมเพศสัมผัสด้วย) ใดๆในขณะนั้น
๒. พยาบาท ความโกรธแค้น ความเกลียดชัง ความอาฆาต พยาบาท ขุ่นเคือง หงุดหงิด อันย่อมทำให้จิตซัดส่ายมีโทสะและโมหะ
๓. ถีนมิทธะ ถีนะ-ความหดหู่ ความท้อแท้ใจ ความซึมเศร้า, มิทธะ-ความง่วงเหงาหาวนอน ความง่วงงุน, จึงหมายความว่า ความหดหู่และเซื่องซึม, ความที่จิตหดหู่และเคลิมเคลิ้ม ความง่วงเหงาซึมเซา อันย่อมไม่มีสมาธิ หรือพาลหลับไปเสียแต่ต้นมือ
๔. อุทธัจจะ กุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน ความรำคาญใจ ในสิ่งต่างๆที่สอดแทรกปรุงแต่งกระทบจิตอยู่ตลอดเวลาดุจดั่งระลอกคลื่นบนผิวนํ้า
๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยเพราะความไม่รู้ หรือเพราะความอยากรู้ ในการปฏิบัติฌานสมาธิหรือในธรรมต่างๆนั่นเอง เช่นว่า ถูกต้องไหม ดีไหม ใช้อะไรเป็นเครื่องกำหนดจิตจึงจะดีที่สุด ผิดหรือเปล่า ของใครดีกว่ากัน แบบไหนเหมาะกับเรา เอะ นี่ใช่ปีติหรือเปล่าหนอ เอะ ฌานอะไรหนอ ต้องปฏิบัติวิปัสสนาด้วยไหมหนอ ฯลฯ. จนจิตใจว้าวุ่น วุ่นวาย ไม่สงบลงไปได้ เหล่านี้เป็นต้น
พึงพินิจพิจารณาดู เมื่อกิเลสเหล่านี้เกิดขึ้นในจิต ณ ขณะปฏิบัตินั้น จึงย่อมทำให้จิตส่งออกนอกหรือจิตฟุ้งซ่านไปปรุงแต่ง หรือซัดส่ายสอดแส่ออกไปปรุงแต่งจนไม่สงบ และบางครั้งการกระทบกับคิดปรุงแต่งอันเป็นกิเลสเหล่านั้นก็ยังให้เกิดอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลนจนต้องเลิกราไป จึงย่อมมิอาจบรรลุถึงฌานหรือสมาธิขึ้นได้ หรือแม้แต่เมื่อเกิดขึ้นเมื่อใดก็ตาม ก็ย่อมทำให้จิตหวั่นไหวเลื่อนหลุดไปจากฌานสมาธิหรือองค์ฌานต่างๆได้เช่นกัน เพราะทั้งฌานและสมาธิมีความเนื่องสัมพันธ์กันอยู่แล้วดังที่กล่าวไว้ในเรื่องฌาน,สมาธิ คือมีองค์ประกอบหลักใหญ่สุดเบื้องต้นคือ ความมีจิตแน่วแน่อยู่ในกิจหรืองานที่กระทำนั่นเอง ดังนั้นจิตที่ส่งไปซัดส่ายสอดแส่ปรุงแต่งในกิเลสเยี่ยงนั้นจึงเป็นเหตุปัจจัยเป็นเครื่องขัดขวางการเจริญฌานหรือสมาธินั่นเอง, ดังนั้นเมื่อบรรลุถึงฌานสมาธิได้แล้ว จึงย่อมหมายถึงว่า นิวรณ์ ๕ หรือกิเลสขั้นต้นทั้ง๕ เหล่านั้นได้ระงับหรือดับไป เกิดวิกขัมภนวิมุติขึ้น แต่พึงเข้าใจอย่างถูกต้องด้วยว่า การดับไปนี้เป็นไปอย่างสงบระงับไปชั่วคราวเท่านั้น ดังสภาพ แผ่นหินกดทับหญ้า หญ้าย่อมเหี่ยวเฉางอกเงยไม่ได้เป็นธรรมดา แต่เมื่อยกหินออก หญ้าย่อมกลับงอกงามขึ้นดังเดิม ท่านจึงเรียกการหลุดพ้นของฌาน,สมาธิว่าเป็นโลกิยวิมุตติ(ความหลุดพ้นขั้นโลกีย์) เป็นกุปปธรรม (ความหลุดพ้นที่กำเริบคือเปลี่ยนแปลงกลับกลายหายสูญได้) และเป็นวิกขัมภนวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยข่มหรือกดข่มไว้ คือ กิเลสระงับไปเพราะถูกกำลังสมาธิข่มไว้ เหมือนเอาแผ่นหินทับหญ้า ยกแผ่นหินออกเมื่อใด หญ้าย่อมกลับงอกงามขึ้นได้ใหม่) กล่าวคือ ระงับดับกิเลสเหล่านั้นเมื่ออยู่ในจิตอยู่ในสภาวะของฌาน,สมาธิ และก็ยังส่งผลต่อเนื่องไปในสภาวะจิตตื่นหรือวิถีจิตปกติอีกยาวนานทีเดียว แต่ถึงอย่างไรก็ตามกิเลสเหล่านั้นก็กลับมาสู่สภาพเดิมๆในไม่ช้า จึงกลับเป็นทุกข์อย่างเดิม นี่คือขีดจำกัดหรือฌานวิสัยของฌาน,สมาธิในการกำจัดกิเลสขั้นกลางลงไปเท่านั้น และเป็นไปในลักษณาการเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือตามกำลังที่ทรงอยู่ได้ จึงยังไม่เป็นการถาวรหรือเที่ยงแท้เหมือนการวิปัสสนาให้เกิดปัญญา อันท่านได้กล่าวไว้ว่า เป็นการขุดรากถอนโคนกำจัดทิ้งอย่างถาวร อันจักติดตัวไปทุกภพทุกชาติจวบจนดับขันธ์, ด้วยเหตุที่ฌาน,สมาธิสามารถดับกิเลสขั้นกลางได้ชั่วคราว จึงยังให้จิตในสภาวะนี้มีกำลังเนื่องจากไร้นิวรณ์ ๕ อันว้าวุ่น ตลอดจนมีการหลั่งสารชีวเคมีภายในกายเองอันให้พลังงานอย่างสูงยิ่งในขณะเป็นสมาธิหรือฌาน จึงเหมาะอย่างยิ่งแก่การนำไปใช้เป็นกำลังในทางสนับสนุนปัญญา กล่าวคือ นำไปใช้พิจารณาธรรมด้วยเหตุดังนี้นี่แล
แต่เมื่อไม่ได้นำไปใช้ในทางวิปัสสนาอย่างจริงจัง หวังแต่ในความสุขความสงบความสบาย หรือเพราะมีความสุขความสบายจึงขี้เกียจ หรือเพราะอวิชชาอันมีพร้อมกับการเกิดก็ตามที กล่าวคือ ไม่ได้นำสติไปพิจารณาธรรมให้เกิดปัญญาก็กลับกลายเป็นให้โทษอย่างรุนแรงในภายหน้าได้ เพราะจิตจะไปจดจ่อแน่วแน่แช่นิ่งในสภาวะอารมณ์ปลอดจากทุกข์อันเนื่องจากกิเลสทั้ง๕นั้นได้ดับลงไปในขณะนั้นชั่วขณะ จึงมีความสุขหรือความสบายอย่างยิ่งในระดับหนึ่งที่ประณีตลึกซึ้งกว่าสภาวะจิตธรรมดาทั่วไป จึงเกิดอาการพึงพอใจโดยไม่รู้ตัว ในที่สุดจึงเกิดติดเพลิน(นันทิ)ในองค์ฌาน,สมาธิ หรืออาการต่างๆที่เรียกกันว่า ติดสุขบ้าง ติดฌานบ้าง ติดสมาธิบ้าง ดังเช่น ติดปีติ ติดสุข ติดสงบ ติดสบาย ติดจิตแช่นิ่ง ติดนิมิตต่างๆนาๆ อันล้วนให้โทษก่อทุกข์อย่างแน่นอน เพราะเกินดีไปแล้วจนเกิดนันทิ(ตัณหา)ในเวทนาหรืออาการนั้นๆ จึงย่อมดำเนินไปตามวงจรการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ปฏิจจสมุปบาท จึงหมายความว่าได้ก่อทุกข์ขึ้นแล้วแต่โดยไม่รู้ตัว, ซึ่งถ้าติดสุขแล้ว กิเลสในนิวรณ์ ๕ ย่อมระงับไปชั่วคราวและครานี้เป็นการระงับเป็นไปอย่างยาวนานก็จริงอยู่เพราะแอบกระทำโดยไม่รู้ตัวอยู่เสมอๆเนื่องเพราะติดสุข จึงจมแช่เลื่อนไหลอย่างต่อเนื่องยาวนานในชีวิตประจำวัน แต่จะส่งผลร้ายให้เกิดกิเลสที่ให้ผลตรงกันข้ามกับกิเลสทั้ง๕เดิมขึ้นแทน อันเป็นไปในลักษณาการของวิปัสสนูปกิเลส อันจักก่อทุกข์โทษภัยแก่กายและจิตในที่สุด
ปุจฉา ที่ว่าเมื่อ"ติดสุข"ในฌานสมาธิแล้ว แทนที่จะระงับนิวรณ์ ๕ อย่างดีงาม แต่กลับแปรไปส่งเสริมกิเลสบางประการขึ้นแทน ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นเป็นอย่างไร
วิสัชนา กล่าวคือ เมื่อติดสุขหรือติดฌาน,สมาธินั้นรุนแรง ที่หมายถึงว่า กระทำโดยเจตนาโดยการพยายามทรงให้มีอยู่ในวิถีจิตตื่น หรือโดยการเลื่อนไหลไปโดยไม่รู้ตัวอยู่เสมอๆ โดยขาดการวิปัสสนา ก็จะยังผลให้เกิดกิเลสที่ยังผลตรงกันข้ามกับกิเลสในนิวรณ์ ๕ อันมีอาการขาดสติแต่ไม่รู้ตัวเป็นตัวร่วม จึงเริ่มรุนแรงเพราะเลื่อนไหลไปกระทำหรือเสพอยู่เสมอๆ ดังเช่น แสดงออกโดยอาการของจิตส่งใน, กล่าวคือ กิเลสในนิวรณ์ ๕ แทนที่จะระงับดับไปชั่วคราวเช่นการปฏิบัติในฌานสมาธิที่ถูกต้อง ก็เกิดการดับระงับลงไปเช่นกัน แต่ส่งผลรุนแรงเกินดี จึงยังให้กลับกลายเป็นเกิดสภาวะตรงกันข้ามขึ้น อันดำเนินและเป็นไปดังนี้
กามฉันทะ ที่ทำให้เกิดความอยากหรือราคะในกามทั้ง๕ กลับกลายเป็นความอิ่มอกอิ่มใจขึ้นเสพแทน กล่าวคือเสพในอารมณ์ฌานสมาธินั่นเอง เสพในความสุข ความสงบ ความสบายต่างๆที่เกิดขึ้น จึงไม่อยากในกามคุณ ๕ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แต่เป็นไปอย่างขาดสติ เกินขนาดพอดี และไปปรุงแต่งว่าดีงามเข้าไปร่วมอีกด้วย คิดไปว่าปล่อยวางในสิ่งเหล่านั้นลงไปได้อย่างถาวร จึงพาลปรุงแต่งเตลิดเปิดเปิงไปต่างๆนาๆว่า ดีอย่างนั้น ปล่อยวางในกามคุณ ๕ ได้อย่างนั้นอย่างนี้ บรรลุมรรคบรรลุผลอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นต้น ไม่รู้ว่ายังเป็นการชั่วคราวเป็นโลกิยวิมุตติ มารู้ตัวอีกครั้งก็ติดเพลินไปในฌานสมาธิเสียแล้ว จนละไม่ได้เสียแล้ว
พยาบาท กลับกลายจากพยาบาท โทสะ เคียดแค้น เป็นปล่อยวาง อะไรๆก็ปล่อยวางเสียเลยเถิดเลยควรเลยพอดี คือขาดสติ ขาดเหตุผล กล่าวคือ สิ่งที่ควรกระทำไม่ควรปล่อยวาง กลับปล่อยวาง(เหตุเพราะในขณะนั้นติดเพลินอยู่ในความสุข,ความสงบ,ความสบายต่างๆ) สิ่งที่น่าปล่อยวาง กลับไม่ปล่อยวาง(เหตุเพราะจิตหวั่นไหวจนหลุดจากความสงบความสลาย จึงเกิดโทสะ) จนเสียการเสียงาน เสียผู้เสียคน เสียเงินเสียทองในสิ่งที่ไม่ควร แม้แต่ทำบุญทำทานก็ทำอย่างขาดสติจนเป็นที่เดือดร้อน จึงก่อความทุกข์ทั้งแก่ตนเองและผู้ใกล้ชิด
ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน,หดหู่ กลับกลายเป็นสภาวะจิตตื่น สดชื่น ไม่ง่วงไม่นอน ไม่หดหู่ แจ่มใส พาลไม่หลับไม่นอนตามความจำเป็น นอนสั้นๆ ตื่นๆหลับๆ กลับปรุงเอาไปเป็นว่าวิเศษไปเสียอีก ว่านอนนิดเดียวแล้วสดชื่น การอดนอนหรือนอนไม่พอในระยะยาวจึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการขาดสติเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว และยังร่วมกับกิเลสอื่นๆที่เกิดร่วมด้วยได้ง่ายจนร่างกายอ่อนล้าทรุดโทรมโดยไม่รู้ตัว จึงหงุดหงิดง่าย และเจ็บป่วย,ภูมิแพ้ และอาการต่างๆนาๆเกินคาดคิดโดยไม่รู้เหตุ รักษาได้แค่ตามอาการ จึงเกิดๆดับๆอยู่เรื่อยๆเสมอมา หมอเทวดาก็ยังต้องส่ายหน้าด้วยไม่รู้เหตุ ได้แต่รักษาตามอาการ
อุทธัจจะ กุกกุจจะ กลับกลายจากฟุ้งซ่าน,หงุดหงิดใจ ไปเป็นจิตสงบ แล้วเลื่อนไหลไปเป็นจิตแช่นิ่ง เลื่อนไหลเสพสุขเสพสงบเสพสบายอยู่ภายในจิต ภายในกายตนเอง แต่โดยขาดสติไม่รู้ตัว ไม่ปรุงแต่งสังขารชนิดที่ควรทำให้เกิด ให้มี ให้เป็น คือปัญญาเลย ปัญญาจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้
วิจิกิจฉา กลับกลายจากความลังเลความสงสัย เป็นเชื่อมั่นอย่างทิฏฐุปาทาน หรือศรัทธาแต่อย่างงมงายขาดปัญญาที่เรียกว่าอธิโมกข์ เชื่อมั่นอย่างยิ่งในการปฏิบัติ, ความคิดความเห็นของตนอย่างแรงกล้าแต่ขาดสติและปัญญา จึงมักผิดพลาด ก่อโทษภัย เชื่อมั่นอย่างงมงายไม่รับฟังความเห็นผู้อื่น คิดแต่ว่าตัวเองปฏิบัติดี ปฏิบัติถูก หรือถูกแต่ฝ่ายเดียว เมื่อยึดมั่นเชื่อมั่นอะไรแล้วก็เป็นอย่างแรงกล้า จึงยึดมั่นอย่างงมงาย เช่น ยึดมั่นศรัทธาในครูบาอาจารย์อันตามปกติเป็นสิ่งที่ดีงามถูกต้องแต่กลับกลายเป็นไปอย่างงมงายขาดปัญญาไม่พิจารณาแยกแยะผิดถูกด้วยปัญญา เอาแต่น้อมเชื่ออย่างขาดเหตุผลจึงกลับกลายเป็นโทษรุนแรงเสีย น้อมเชื่อในนิมิตอย่างยึดมั่นงมงาย จนอาจเสียเงินเสียทอง จึงก่อทุกข์โทษภัยต่างๆให้โดยไม่รู้ และยังพาลให้รับธรรมอันถูกต้องดีงามไม่ได้อีกต่อไป
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอาการของวิปัสสนูปกิเลสที่เคยเกิดขึ้นและเป็นไปกับผู้เขียนมาเองแล้ว มารู้เมื่อมองระลึกย้อนอดีตหรือภพชาติที่เคยเกิดขึ้นและเป็นไป เพื่อเป็นเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติ เมื่อเกิดความเข้าใจในธรรมบ้างแล้ว จึงกล้ากล่าวยืนยันอย่างมั่นคง
เหล่านี้คือผลอันจักพึงเกิดขึ้นจาการปฏิบัติฌาน,สมาธิ แล้วเกิดการติดในองค์ฌานสมาธิ อันเพลิดเพลินจน ติดสุข ติดสงบ ติดสบาย ติดจิตแช่นิ่ง ติดนิมิต อันเกิดขึ้นเนื่องจากการขาดการวิปัสสนาในธรรมเพื่อยังให้เกิดปัญญาอย่างจริงจัง จึงเป็นไปในลักษณาการเช่นเดียวกับวิปัสสนูปกิเลสนั่นเอง เพียงแต่ผู้เขียนพิจารณาให้เห็นในอีกแง่มุมหนึ่ง หรืออีกธรรมหนึ่งเท่านั้นเอง
เพราะธรรมทั้งหลายของพระองค์ท่านล้วนเป็นจริงอย่างปรมัตถ์ หรือโดยธรรมชาติ จึงเที่ยงแท้และคงทนต่อทุกกาลสมัย จึงไม่ขึ้นต่อพระไตรลักษณ์ในข้ออนิจจังและทุกขังนั่นเอง
ปุจฉา ผมเจริญฌานสมาธิไม่ได้ผลดีเลย คงเกิดแต่นิวรณ์ ๕ นี้เป็นเหตุนั่นเอง ผมคิดว่ามีปัญหาในข้อ ถีนมิทธะ คือจิตหดหู่ และมีอาการง่วงเหงาหาวนอนทุกทีเมื่อปฏิบัติ ควรแก้ไขประการใดดีครับ
วิสัชนา นิวรณ์ ๕ ก็มีธรรมที่เป็นคู่ปรับโดยตรง กล่าวคือ เมื่อรู้แน่แก่ใจว่านิวรณ์ใดเป็นเหตุโดยตรง ก็ให้เน้นปฏิบัติในธรรมที่เป็นคู่ปรับกับนิวรณ์นั้นๆโดยตรง อันย่อมยังผลให้การเจริญสมาธิเป็นไปได้ดี จึงขออาราธนาธรรมบรรยายของท่านพุทธทาส มาแสดง ณ ที่นี้
๑. ให้พิจารณาในทางอสุภะและปฏิกูล เช่น กายคตาสติ เป็นต้น ซึ่งกำจัดกามฉันทะได้
๒. ให้เจริญเมตตา โดยนัยเป็นต้นว่า ให้เห็น โดยความเป็น เพื่อนสัตว์ ที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมด ทุกคน ทุกชีวิต นี่ ย่อมกำจัดพยาบาท
๓. ให้ทำในใจถึง แสงสว่างเป็นอารมณ์ เช่น การเจริญอาโลกสัญญาเป็นต้น ย่อมกำจัด ถีนมิทธะ ข้อนี้ แม้การทำในใจ ถึงสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่ง ความเลื่อมใส หรือ อิ่มใจ เช่น การเจริญ พุทธานุสติ เป็นต้น ก็ อาจจะช่วยกำจัดถีนมิธะ ได้ตามสมควร
๔. ให้ทำจิต จดจ่อ อยู่ที่ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งง่ายแก่การจดจ่อ เช่น การเจริญกสิณ ทั่วๆไป หรือแม้แต่การเจริญอานาปานสติ ย่อมกำจัดอุทธัจจะกุกกุจจะได้
๕. ให้ทำความเชื่อ ในสิ่งที่ควรเชื่อ แน่ใจในสิ่งที่ควรแน่ใจ ทำให้รู้ในสิ่งที่ควรรู้ เช่น เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า แน่ใจในเรื่องกรรม หรือทำความรู้ในเรื่องไตรลักษณ์ อย่างนี้เป็นต้น ย่อมกำจัดวิจิกิจฉา ให้สิ้นไป
ถ้ากล่าวกลับกันอีกทางหนึ่ง ถ้าผู้ใดสามารถทำสมาธิให้เกิดขึ้นโดยวิธีใดก็ตาม จนกระทั่งเป็น อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิที่แน่วแน่แล้ว นิวรณ์ทั้ง ๕ ย่อมเป็นอันระงับไปหมดสิ้น ฉะนั้นในอันดับแรกนี้ บุคคลควรเริ่มต้นด้วยการเจริญสมาธิที่สะดวกสบาย เช่น อานาปานสติ เป็นต้น ต่อเมื่อทำไปไม่สำเร็จเพราะนิวรณ์อย่างใดรบกวนพิเศษ จึงค่อยหันไปเจริญสมาธิที่เป็นคู่ปรับกับนิวรณ์นั้นโดยตรง จะเป็นวิธีที่สะดวกกว่า และได้ผลดีกว่า
ความไม่มีนิวรณ์ หมายถึง จิตมีลักษณะบริสุทธิ์ ผ่องใส เยือกเย็น ปลอดโปร่ง เป็นความพร้อมที่จะรู้แจ้งเห็นจริง ในอรรถะและธรรมอันลึก นับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีหรือต้องฝึกหัด สำหรับผู้ที่ประสงค์จะก้าวหน้าไปในทางธรรม แม้จะกล่าวกันอย่างโลกๆ เวลาที่จิตไม่ถูกนิวรณ์รบกวน ก็กล่าวได้ว่า เป็นเวลาที่มีความผาสุกที่สุด จึงได้มีผู้หลงใหลในรสของสมาธิหรือฌาน จนถึงสิ่งนี้เคยถูกบัญญัติเหมาเอาว่าเป็นนิพพานมาแล้วในยุคหนึ่ง คือ ยุคที่ยังไม่มีความรู้ในทางจิตสูงไปกว่านั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน นิวรณ์ ๕ โดยท่านพุทธทาส)
ปุจฉา ผมปฎิบัติสมาธิ สามารถนั่งได้ ๓๐ - ๖๐ นาที มีแต่ความสงบ แต่ไม่เคยเกิดองค์ฌานต่างๆ เช่น ปีติ สุข อุเบกขา เอกัคคตาใดๆดังที่เขากล่าวๆกัน ผมปฏิบัติผิดอย่างไรหรือไม่ครับ จึงไม่เคยเกิดองค์ฌาน มีโทษหรือไม่, ผมคงไม่ ติดสุขในฌาน ดังที่กล่าวๆกันใช่ไหม
วิสัชนา ไม่ผิดใดๆครับ กล่าวคือ คุณเป็นสมาธิ มีสติแน่วแน่อยู่ในการปฏิบัตินั้นๆ ไม่เลื่อนไหลไปสู่ฌาน ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามเป็นสติปัฏฐาน๔นั่นเอง ถ้าเป็นสมาธิดังกล่าวแล้ว ใช้สติดำเนินการพิจารณาในกาย เวทนา จิต หรือธรรม เพื่อให้เกิดปัญญา ซึ่งจะเป็นการปฏิบัติอย่างถูกต้องดีงามยิ่ง มีคุณประโยชน์และไม่ออกนอกลู่แนวทาง อย่าอยู่แต่กับลมหายใจหรือคำบริกรรมแต่อย่างเดียว และเมื่อชำนาญแล้วก็ควรอย่างยิ่งที่ปฏิบัติอย่างอื่นบ้าง ไม่ใช่อยู่แต่กับลมหรือคำบริกรรมแต่อย่างเดียว เพราะย่อมได้แต่ความสงบแต่ไม่เกิดปัญญา
แต่ถ้าหลังจากจิตเป็นสมาธิแล้ว คือเมื่อจิตสงบไม่ซัดส่ายแล้ว ไม่ปฏิบัติวิปัสสนากล่าวคือไม่ได้ใช้ไปพิจารณาธรรมใดๆให้เกิดปัญญา ก็ถือว่าผิดครับ เพราะเมื่อกระทำบ่อยๆก็มีโทษเช่นกัน คือจะเกิดการติดหรือติดเพลิน(นันทิ)ในความสงบความสบายที่เกิดขึ้นจากสมาธิโดยไม่รู้ตัว เมื่อออกมาสู่โลกภายนอกตามความเป็นจริงที่เหตุแห่งทุกข์อันเป็นสภาวธรรมชาติ จึงยังคงมีอยู่ เข้ามากระทบให้หวั่นไหวจึงเกิดปัญหาขึ้น เช่น หลุดให้เกิดโทสะเอาง่ายๆอย่างไม่น่าเชื่อ เกิดโทสะเพราะจิตหวั่นไหวจนเลื่อนหลุดจากความสงบที่เสพเพลินอยู่โดยไม่รู้ตัวนั่นเอง ดังนั้นคำถามสุดท้ายของคุณขอตอบว่า แต่คุณอาจติดสงบครับ จึงยังผลให้อาจติดสุข(จากความไม่ทุกข์อันเกิดแต่ผลของสมาธิ,แม้จะไม่ใช่จากองค์ฌานสุข) ควบคู่กันด้วยก็ได้ครับ ถ้าจิตหวั่นไหวแล้วเป็นดังที่กล่าว
ที่กล่าวว่า เหตุแห่งทุกข์อันเป็นสภาวธรรมชาติ จึงยังคงมีอยู่ กล่าวคือ ทุกข์อริยสัจทั้ง ๗ อันมี ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก การปรารถนาในสิ่งใดแล้วไม่ได้ในสิ่งนั้น เหล่านี้เป็นทุกข์โดยสัจจ์ หรือโดยสภาวธรรม หรือธรรมชาติที่ยังไรเสียก็ต้องคงเกิด คงมี คงเป็นเช่นนั้นเอง (แต่ก็ย่อมลดน้อยถอยลงหรือดีขึ้นในบางสิ่ง ตามเหตุปัจจัยของกรรมดีที่ปฏิบัตินั่นเองเป็นเหตุ) สิ่งเหล่านี้จึงยังคงเกิดขึ้นและเป็นไปแม้แต่ในองค์พระศาสดาและพระอรหันต์ทุกพระองค์ ดังนั้นการปฏิบัติ จึงมิได้เป็นไป เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับเรา ตามที่ชอบอฐิษฐานกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ฝืนสภาวธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ที่เที่ยงแท้ และคงทน อันย่อมต้องเกิดขึ้นและเป็นไปเช่นนั้นเอง (อ่านเหตุผลในบทอนัตตา) แต่ปฏิบัติเพื่อเมื่อสิ่งเหล่านี้หรือทุกข์อริยสัจทั้ง ๗ มากลํ้ากรายเกิดขึ้นแล้ว เราไม่เป็นอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลน กล่าวคือ ไม่มีผู้รับผลทุกข์นั้น หรือไม่มีผู้รับผลกรรมนั้น หรือเหนือกรรมนั่นเอง
การใช้ขณิกสมาธิ ระดับใจสงบสบายไม่ซัดส่ายไปในเรื่องอื่นๆเป็นจุดเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนาเป็นที่ดีงามแล้ว เพราะเมื่อจิตแนบแน่นกับการพิจารณาธรรมได้นั้น บางครั้งจิตจะประณีตเลื่อนไหลไปสู่ฌานต่างๆจนถึงฌาน๔ ได้เองโดยขาดเสียจากการแอบติดใจเสพรสเพลิน ยิ่งเมื่อถอนออกมาจากฌานต่างๆแล้วก็พิจารณาอีกครั้งหนึ่งก้ยิ่งดี เพราะมีกำลังมาก ไม่จำเป็นต้องฝึกสติสมาธิอย่างเดียวเป็นเวลานานๆ บางทีบางท่านใช้เวลาหลายเดือนหลายปีแล้วจึงเริ่มการวิปัสสนา ซึ่งกลับกลายเป็นไปติดเพลินในองค์ฌานหรือสมาธิต่างๆเสียแล้ว อันเมื่อเป็นสังขารความเคยชินตามที่สั่งสมแล้วแก้ไขได้อยาก ลองพิจารณาดูจากสังขารที่สั่งสมในการว่ายนํ้าได้เป็นต้น
ปุจฉา ติดสุขพอเข้าใจ แต่ติดสงบเป็นอย่างไร ไม่เข้าใจ ก็แค่สงบเฉยๆไม่มีอะไร ก็น่าจะดี น่าถูกต้องแล้วนี่ ปฏิบัติสมาธิก็เพื่อให้สงบไม่ใช่หรือ
วิสัชนา ใช่ครับ แต่แค่แลดูว่าดีว่าถูกต้อง แต่ยังไม่ถูกต้องทั้งหมดจึงอาจกลายเป็นผิดไปก็ได้ คุณนั่งสมาธิได้นานดังนั้นเพราะอะไร ก็เพราะมีความสงบ ที่คุณบอกว่าไม่มีอะไร จริงๆแล้วมีอะไร ก็คือความสงบนั่นแหละคืออะไรนั้นที่มองไม่เห็นหรือไม่เข้าใจ ตามความเป็นจริงแล้วความสงบที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยที่จิตหยุดปรุงแต่งต่างๆนาๆ มาแน่วแน่อยู่กับการบริกรรรมหรือเครื่องกำหนดอันใดก็ตาม จิตจึงไม่ซัดส่ายไปกระทบสัมผัส(ผัสสะ)กับการปรุงแต่งให้เกิดทุกข์ หรือนิวรณ์๕ระงับไป เมื่อทำเหตุดังนี้จึงยังผลให้เกิดความสงบนั้นขึ้น ดังนั้นสงบ เพราะจิตเป็นเหตุ ไม่ไปปรุงไม่ไปแต่งมันจึงไม่เป็นทุกข์ หรือดับทุกข์ไว้ใช่ไหม(แต่เพียงแค่ชั่วคราวระยะหนึ่งนะอย่าลืม) ดังนั้นเมื่อกระทำบ่อยๆเข้าโดยขาดการพิจารณาธรรมหรือวิปัสสนาเพื่อการดับทุกข์ไปอย่างถาวรด้วยปัญญา จึงเกิดติดใจเพลิดเพลินไปในความสงบเหล่านั้นจนเป็นนิสัยโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา ซึ่งความจริงก็คือการไปชอบติดใจในความไม่ทุกข์(หรือสุข)นั้นนั่นเอง ซึ่งย่อมเป็นที่แสวงหาของคุณหรือโดยธรรมชาติของมนุษย์หรือชีวิตอยู่แล้วจึงติดใจอยาก เพียงแต่ว่าสิ่งเหล่านี้ เกิดแต่สมาธิ อันเป็นสังขารที่ยังต้องปรุงต้องกระทำขึ้น จึงยังมีความไม่เที่ยง มีสภาพทนอยู่ไม่ได้ ไม่มีตัวตนแก่นแกนให้ควบคุมบังคับได้อย่างจริงจัง จึงกล่าวว่าต้องดำเนินวิปัสสนาควบคู่อย่างจริงจังทุกครั้งไปจนกว่าจะเกิดปัญญาญาณ อันเป็นการดับกิเลสดับอุปาทานทุกข์ไปอย่างถาวร
ดังนั้นผู้ที่ติดสงบ หรือเพลิดเพลินอยู่ในความสงบ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบให้หวั่นไหวเลื่อนเคลื่อนหลุดจากความสงบ ก็จะเกิดโทสะหรือรู้สึกเป็นทุกข์ขึ้น เพราะเพลิดเพลินอยู่ในความสงบอย่างขาดสติคือเป็นไปโดยไม่รู้ตัว และจะรู้สึกเป็นทุกข์ขึ้นมากกว่าตามความเป็นจริง
ปุจฉา ผมเป็นนักปฏิบัติเช่นกัน มีความสงสัยอยู่ว่า โดยปกตินั้น ผมมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ มีความรู้สึกสงบ สบาย ร่มเย็น คลายจากทุกข์เป็นอันมากอันเนื่องมาจากการปฏิบัติ แต่ก็ยังแปลกใจอยู่อย่างหนึ่ง กล่าวคือ ทำไมในบางครั้งผมจึงหลุด เกิดโทสะเอาง่ายๆ ในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง เหมือนคนไร้เหตุผล ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้ ผมก็คงไม่มีโทสะในเรื่องอย่างนี้แน่ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นครับ
วิสัชนา เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจาก จิตนั้นยังจมแช่หรือติดเพลินอยู่ในความสงบ ความสบายต่างๆ อันเกิดจากอำนาจของฌาน,สมาธิ หรือองค์ฌานต่างๆ โดยขาดสติคือเป็นไปอย่างแช่เลื่อนไหลแต่ไม่รู้ตัว เมื่อจิตเกิดหวั่นไหวเคลื่อนหลุดไปด้วยเหตุอันใด เช่น ได้ยินในสิ่งที่ไม่ถูกใจเท่านั้น ก็จะเกิดโทสะได้อย่างง่ายดาย เพราะกำลังติดสงบสบายอย่างเพลิดเพลินโดยไม่รู้ตัว เป็นอาการของจิตส่งในไปในความสงบอย่างหนึ่งอันยังให้เกิดวิปัสสนูปกิเลส (ไปหัวข้อปุจฉา)
ปุจฉา ผมนั่งสมาธิทำไมมันคันเหมือนมียุงมากัด ตอนไม่นั่งสมาธิทำไมไม่คัน และบางครั้งพอเริ่มเป็นสมาธิมีอาการตัวโยกตัวคลอนสั่นเทิ้มเหมือนเจ้าเข้า เจ้าหรือผีเข้าเป็นไปได้หรือเปล่าครับ
วิสัชนา ทั้ง๒ ล้วนเป็นอาการของ ปีติ อย่างหนึ่งครับ อันเป็นองค์ฌานอันเป็นผลที่เกิดขึ้นแต่ฌาน อย่างแรกเรียกว่า ขณิกาปีติ เป็นปีติชั่วขณะรู้สึกแปลบๆ ดุจฟ้าแลบ หรือดั่งยุงกัด มดไต่ ไรตอม หรือคล้ายมีประจุไฟฟ้าอ่อนๆ ยุบยิบ หรือแปลบๆตามบางส่วนของกายหรือหน้า ส่วนอาการที่ ๒ เป็นปีติแบบอุพเพคาปีติ ไม่ใช่อาการของเจ้าหรือผีเข้าแต่ประการใด ไม่ใช่อาการของบุญของบาปแต่ชาติก่อนๆแต่อย่างใดเช่นกัน อาการอย่างนี้เป็นฌานวิสัยของแต่ละคนอันเป็นอจินไตยเท่านั้นเอง เพียงแต่อย่าให้จิตไปยึดเวทนาคือจดจ่อต่ออาการยุบยิบนั้นจนเกิดความรำคาญ หรือสงสัยต่างๆเพราะจะไม่สามารถดำเนินต่อไปในสมาธิหรือฌานได้ (อ่านรายละเอียดของ ปีติได้ ในบท ฌาน สมาธิ) เพียงแต่เมื่อจิตสงบเป็นขณิกสมาธิแล้ว หรือเมื่อถอนออกจากฌานสมาธิอันประณีตสงบสบายในลำดับขั้นใดก็ตามแล้ว (แล้วแต่จริตและความชำนาญความเชื่อของคุณ) ขอให้ใช้สติดำเนินการวิปัสสนาในข้อธรรม หรือพิจารณาให้เกิดปัญญาด้วยทุกครั้งไป จึงจะยังประโยชน์อย่างแท้จริง และจะยังให้ไม่เกิดโทษตามที่กล่าวๆกันมา
ปุจฉา สมาธิอย่างไรที่ใช้ในการปฏิบัติวิปัสสนา
วิสัชนา สมาธิที่ใช้ในการปฏิบัติวิปัสสนานั้น เป็นสมาธิชนิดที่ต้องให้มีสติอยู่อย่างต่อเนื่อง ถ้าสติขาดเสียก่อนก็จะเลื่อนไหลไปสู่ภวังค์หรือองค์ฌาน,สมาธิระดับประณีตสูงขึ้นแต่ไม่สามารถปฏิบัติวิปัสสนาได้, ดังนั้นสมาธิที่ใช้ในการปฏิบัติวิปัสสนาจึงหมายถึงการมีสติอย่างต่อเนื่องในการปฏิบัติเช่น มีสติเห็นกาย มีสติเห็นเวทนา มีสติเห็นจิต มีสติเห็นธรรม อย่างนี้จึงเป็นสัมมาสมาธิที่ถูกต้องในการวิปัสสนา หรือใช้สมาธิระดับขณิกสมาธิหรือปฐมฌาน(ฌานที่๑)เท่านั้น ถ้าลึกหรือประณีตกว่านี้แล้วสติจะไม่บริบูรณ์พอที่จะพิจารณาธรรม(วิปัสสนา)จะเคลิบเคลิ้ม สงบสบาย พักผ่อน หรือลงภวังค์ อันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องสมาธิ ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสนาโดยตรง, ดังนั้นเมื่อต้องถอนออกมาในที่สุดแลัว จึงจะดำเนินวิปัสสนาพิจารณาธรรมได้ แต่ส่วนใหญ่เมื่อเข้าสมาธิหรือฌานในระดับลึกแล้วก็มีความสงบ,สบายเกิดขึ้น เมื่อถอนออกมาก็ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนาใดๆ ด้วยความเข้าใจว่าได้ปฏิบัติวิปัสสนาไปแล้ว หรือเป็นเพราะจมแช่ความเบาสบายสงบจึงพอใจแล้ว
ข้อสังเกตุ อานาปานสติ ในสติปัฏฐาน๔ อันเป็นการปฏิบัติวิปัสสนานั้น เป็นการฝึกให้มีสติอย่างต่อเนื่องและใช้สตินั้นในการติดตามดูรู้เข้าใจในลมหายใจอันจัดว่าเป็นกายสังขารชนิดหนึ่ง ตลอดจนติดตามดูรู้เข้าใจใน เวทนา จิตคิด และธรรม การปฏิบัติทั้งหมดในสติปัฏฐาน๔นั้นก็ต่างล้วนต้องใช้สติที่ต่อเนื่องในการปฏิบัติทั้งสิ้น โดยให้จิตเห็นในสิ่งเหล่านั้น ที่เกิดขึ้นบ้าง ที่ตั้งอยู่บ้าง ที่ดับไปบ้าง มิได้จำเพาะเจาะจงในการการเพ่งแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่สติอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจิตเหล่านั้น แล้วก็ปล่อยวางสิ่งที่สติเห็นเหล่านั้นในที่สุด, ในการปฏิบัติสมถะสมาธิล้วนๆก็มีผู้นิยมใช้ลมหายใจหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นเครื่องล่อหรือเครื่องอยู่ของจิตเช่นกัน เพื่อให้จิตรวมเป็นหนึ่งหรือไปยึดตรึงกับสิ่งหนึ่งๆที่เป็นเครื่องล่อหรือเครื่องอยู่ เมื่อยึดตรึงกับสิ่งหนึ่งได้แล้วก็ย่อมเกิดความสงบเป็นหนึ่งไม่ซัดส่าย แล้วเลื่อนไหลไปสู่องค์ฌานสมาธิเป็นลำดับ จึงมักเกิดการเข้าใจและปฏิบัติสับสนกัน บางทีปฏิบัติสมถสมาธิล้วนๆแต่ฝ่ายเดียว แต่ไปเข้าใจว่าปฏิบัติวิปัสสนาเสีย
อ่านรายละเอียดความแตกต่างของสติในสมถะและสติในวิปัสสนาได้ใน
เหตุใดสติที่ตามทันขณะปัจจุบัน จึงเป็นหลักสำคัญของวิปัสสนา
โดยท่านพระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตฺโต)
หรืออ่านรายละเอียดของอานาปานสติสูตร
ปุจฉา การปฏิบัติสมาธิได้บุญกุศลอย่างที่เขากล่าวๆกันหรือไม่
วิสัชนา การปฏิบัติสมาธิหรือฌานแต่ฝ่ายเดียวนั้น ไม่ได้กุศลแต่อย่างใด ได้อานิสงส์ก็แต่เพียงบุญคือความใจฟู อิ่มเอิบ มีความสบายอันเกิดแต่กายและจิตอันเป็นผลของสมาธิชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ยังไม่เที่ยง คงทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา อุปมาดุจดั่ง หินทับหญ้า เมื่อยกหินออก ก็งอกงามขึ้นมาดังเดิม เพราะมิได้ขุดรากถอนโคนอันเป็นการกำจัดสิ้น และถ้าปฏิบัติบ่อยๆอย่างผิดพลาดก็จะเกิดผลร้ายวิปัสสนูปกิเลสขึ้นได้ง่ายๆโดยไม่รู้ตัวและแก้ไขยาก ทั้งสมาธิและฌานนั้นเป็นสภาวะธรรมธรรมดาอันเป็นเช่นนั้นเอง เป็นสิ่งที่มีมาก่อนพุทธกาลเสียอีก สามารถเกิดได้ในกับชนทุกชาติ ทุกภาษา ทุกศาสนา และมีมากมายในศาสนาและลัทธิต่างๆเพียงแต่แตกต่างในรูปแบบของการปฏิบัติเท่านั้น ดังเช่น โยคี แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีเป็นจำนวนมากนับเป็นล้านในประเทศอินเดีย แต่ละท่านนั้นถ้ากล่าวถึงความกล้าแข็งของสมาธินั้น ต้องถือว่าเป็นเลิศ จนสามารถใช้สมาธิควบคุมกายและจิตบางประการได้ แลดูประหนึ่งมีฤทธิ์มีอำนาจ แต่ก็ไม่แท้จริงยังคงอยู่ในอำนาจของพระไตรลักษณ์อย่างจริงแท้แน่นอนเพราะเป็นเพียงสังขาร อันถูกปรุงแต่งขึ้นอย่างหนึ่งเช่นกัน และก่อให้เกิดผลเสียทั้งต่อกายและจิต ไม่สามารถพ้นทุกข์ได้และกลับก่อให้เกิดทุกข์โดยไม่รู้ตัว, และสิ่งเหล่านั้นล้วนมิใช่แนวทางปฏิบัติเพื่อสุขจากการหลุดพ้นหรือจางคลายจากทุกข์ตามฐานะแห่งตนในทางพระพุทธศาสนา, แต่ถ้าเป็นการปฏิบัติสมาธิเพื่อเป็นฐาน เป็นบันได เป็นกำลังของจิตในการปฏิบัติวิปัสสนา (สมถะวิปัสสนา - สมาธิ+วิปัสสนา) อย่างนี้จึงถูกต้องเป็นแก่นแกนในการปฏิบัติทางพุทธศาสนาอย่างแท้จริง และได้ทั้งบุญกุศลเต็มที่ เพราะเป็นการปฏิบัติสายตรงที่สุด มิได้ผ่านเส้นทางอ้อม ดังเช่น มัวแต่สาละวนแต่กับการสะสมบุญ สะสมกุศล สะสมสมาธิ จนขาดการปฏิบัติวิปัสสนาคือพิจารณาธรรมจนบังเกิดภูมิรู้ภูมิญาณ(ความเข้าใจ-สัมมาญาณ)เพื่อการดับภพ ดับชาติ หรือดับทุกข์โดยตรงๆ, อันเป็นการปฏิบัติโดยตรงสู่ความสุขอย่างยิ่งคือการดับทุกข์โดยตรงๆนั่นเอง จึงได้รับอานิสงส์ของบุญ และ กุศล(แปลว่า แผ้วถาง ให้ราบเตียนไป)อย่างโดยตรงสูงสุดและเต็มกำลัง เป็นไปดังคำสอนของท่านหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระอริยเจ้าที่ได้กล่าวไว้ดังนี้
"เรื่องพิธีกรรม หรือบุญกริยาวัตถุต่างๆทั้งหลาย ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยังให้เกิดกุศลได้อยู่ หากแต่ว่าสําหรับนักปฏิบัติแล้ว อาจถือได้ว่าเป็นไปเพื่อกุศลเพียงนิดหน่อยเท่านั้นเอง" (อตุโล ไม่มีใดเทียม, น.๕๐๐)
"เออ ก็ดีแล้วที่ได้ผล พูดถึงความสุขในสมาธิมันก็สุขจริงๆ จะเอาอะไรมาเปรียบเทียบมิได้ แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้น มันก็ได้แค่นั้นแหละยังไม่เกิดปัญญาอริยมรรค ที่จะตัด ภพ ชาติ ตัณหา อุปาทาน ให้ละสุขนั้นเสียก่อน แล้วพิจารณาขันธ์ ๕ ให้แจ่มแจ้งต่อไป" (อตุโล ไม่มีใดเทียม, น. ๔๙๕)
"ในการเจริญสมาธิ ก็เป็นอย่างเดียวกันอีก คือ สมาธิเอาบุญ ก็ได้ เอากุศลก็ได้ สมาธิเพื่อดูนั่นดูนี่ ติดต่อกับคนโน้นคนนี้ที่โลกอื่น ตามที่ตนกระหาย จะทำให้เก่งกว่าคนอื่น หรือ สมาธิเพื่อการไปเกิดในภพนั้น ภพนี้ อย่างนี้เรียกว่า สมาธิเอาบุญ หรือ ได้บุญ เพราะทำใจให้ฟู ให้พอง ตามความหมาย ของมันนั่นเอง ซึ่งเป็นของที่ปรากฏว่า ทำอันตรายแก่เจ้าของถึงกับต้องรับการรักษาเป็นพิเศษ หรือ รักษาไม่หายจนตลอดชีวิต ก็มีอยู่ไม่น้อย เพราะว่าสมาธิเช่นนี้ มีตัณหาและทิฎฐิ เป็นสมุฎฐาน แม้จะได้ผลอย่างดีที่สุด ก็เพียงได้เกิดในวัฏสงสารตามที่ตนปรารถนาเท่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน ส่วนสมาธิ ที่มีความมุ่งหมาย เพื่อการบังคับใจตัวเองให้อยู่ในอำนาจ เพื่อกวาดล้างกิเลสอันกลุ้มรุมจิตให้ราบเตียน ข่มขี่มิจฉาทิฎฐิอันจรมาในปริมณฑลของจิต ทำจิตให้ผ่องใส เป็นทางเกิดของวิปัสสนาปัญญา อันดิ่งไปยังนิพพาน เช่นนี้เรียกว่า สมาธิได้กุศล ไม่ทำอันตรายใคร ไม่ต้องหาหมอรักษา ไม่หลงวนเวียน ในวัฎสงสาร จึงตรงกันข้ามจากสมาธิเอาบุญ" (จาก บุญ กับ กุศล โดย ท่านพุทธทาส)
ปุจฉา ทำไมดับทุกข์ จึงเป็นสุขอย่างยิ่ง สู้ความสุขทางโลกๆได้หรือ
วิสัชนา สุขทางโลกๆก็ดีอยู่หรอก มันก็สุขอย่างหนึ่งจริงๆเหมือนกัน แต่มันไม่เที่ยง อยู่ใต้อำนาจพระไตรลักษณ์ คงทนอยู่ไม่ได้ ต้องดับไป ไม่สามารถบังคับให้คงทนอยู่ได้ตลอดไป และยังให้เกิดเป็นอาสวะกิเลสในรูปของปริเทวะคือเกิดอาการโหยไห้ อาลัยหาในสุขอันเกิดแต่อดีต อันจักก่อเป็นทุกข์โทษภัยในภายภาคหน้าอีกอย่างแน่นอนโดยไม่รู้ตัว(อ่านรายละเอียดในปฏิจจสมุปบาท) จึงอยู่ในสภาวะเกิดๆดับๆ เป็นสุข เป็นทุกข์ อยู่เช่นนี้ตลอดไป เมื่อโยนิโสมนสิการปฏิจจสมุปบาทจนกระจ่างจะค้นพบความจริงอย่างยิ่งว่า ปุถุชนนั้นสร้างแต่ทุกข์และดับทุกข์ขึ้นเท่านั้น, "สุข" เป็นเพียงแค่ภาษาโลกสมมุติของคำว่า "ดับทุกข์" นั่นเอง อันล้วนแล้วแต่เป็นมายาของจิต เมื่อพิจารณาโดยแยบคายจักเห็นกระบวนจิตได้อย่างแจ่มแจ้งว่า ปุถุชนนั้นเมื่อปรารถณาในสิ่งใด จริงๆแล้วก็คือการเกิดขึ้นของตัณหาอันยังให้เกิดความรุ่มร้อนเป็นทุกข์ขึ้นก่อนนั่นเอง อันเป็นสภาวะธรรมเช่นนั้นเอง และถ้าสิ่งที่ปรารถนานั้นได้รับการตอบสนองหรือดับทุกข์นั้นๆลงไปได้นั่นเอง ก็เกิดภพหรือภาวะจิตที่ได้รับการตอบสนองหรือเป็นสิ่งที่เราเรียกโดยโลกสมมุติว่าความสุขขึ้น ถ้าดับไม่ได้ก็เป็นความทุกข์อันเร่าร้อน กระวนกระวาย เกิดๆดับๆอยู่ต่อไป, ลองพิจารณาโดยละเอียดและแยบคายจะพบว่าสุขนั่นแหละคือการดับทุกข์ โดยที่เราต้องสร้างต้องก่อทุกข์นั้นๆขึ้นมาก่อนโดยไม่รู้ตัวและยังสั่งสมเก็บงำไว้ ตลอดจนยังให้เกิดทุกข์เพราะดูแลรักษาในสุขเหล่านั้น ส่วนทุกข์ไหนที่รุนแรงเข้มข้นกระวนกระวายทะยานอยากมาก ถ้าได้รับการตอบสนองหรือก็คือดับทุกข์นั้นได้ ก็จะรู้สึกว่าเป็นสุขมาก อันเป็นไปตามกำลังของความทุกข์ ที่เกิดที่สร้างขึ้นด้วยตนเองโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง ทุกข์ใดที่ดับไม่ได้ ก็เกิดการร้อนลนทุรนทุรายเร่าร้อนเมื่อผุดคิดขึ้นมา เป็นระยะๆไปอีกนานแสนนาน, ส่วนความสุขจากการหลุดพ้นหรือสุขทางธรรมนั้นเป็นสภาวะที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง เป็นสุขที่ไม่ต้องก่อ,ไม่ต้องสร้างความทุกข์ ความเร่าร้อน การแสวงหาใดๆขึ้นก่อน เป็นภาวะสุข อันสงบ บริบูรณ์และบริสุทธิ์ ดังนั้นการดับทุกข์ทั้งปวงจึงเป็นสุขอย่างยิ่ง อันเป็นอานิสงส์ผลบุญสูงสุดทั้งหลายทั้งปวง ไม่มีสิ่งใดเหนือจากนี้อีกต่อไปแล้ว อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดทางพระพุทธศาสนา (ไปหัวข้อปุจฉา)
ปุจฉา การปฏิบัติสมาธิ ควรใช้อะไรเป็นเครื่องอยู่หรือเครื่องล่อจิต
วิสัชนา การจะใช้สิ่งใดเป็นเครื่องล่อจิต ขึ้นอยู่กับจริตและการฝึกของผู้ปฏิบัติเป็นหลัก ไม่เป็นกฏตายตัว แม้แต่พระองค์ท่านก็ทรงสอนไว้เป็นแบบต่างๆเรียกว่ากรรมฐาน๔๐ หมายถึงมี ๔๐กอง และหลังจากนั้นยังมีการแตกแขนงออกไปแบบต่างๆอีกมากมาย ดังนั้นจึงมีหลากหลายวิธีตามแต่สำนักปฏิบัติหรือนักปฏิบัตินั้นๆจะยึดปฏิบัติ เช่น การตามลมหายใจ ยุบหนอพองหนอ(ตามท้องหรือกระบังลมที่ยุบพองตามลมหายใจ) การบริกรรมเช่นพุทโธ การเพ่งกสิณ การใช้จิตติดตามการเคลื่อนไหวกาย(ใช้อริยาบถการเคลื่อนไหวบดบังทุกขังอย่างต่อเนื่อง)ต่างๆเหล่านี้ ล้วนเป็นอุบายวิธีในการปฏิบัติเพื่อล่อจิตให้รวมเป็นหนึ่งเท่านั้นเอง ดังนั้นการปฏิบัติจึงขึ้นอยู่กับจริตและความชำนาญนั้นๆของผู้ปฏิบัติ ดังเช่นบางท่านนั้นเมื่อตามลมหายใจ จิตอาจตั้งมั่นจดจ้องเกินไป จนเกิดความอึดอัด หายใจไม่สะดวก หรือแน่นจมูก แม้ปรับแก้ผ่อนปรนก็ไม่หาย ก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะแก่ผู้นั้น ควรใช้อุบายวิธีอื่นแทน แต่ไม่ว่าจะกระทำโดยวิธีใดก็ตาม เมื่อจิตตั้งมั่นไม่ซัดส่ายไปสอดแส่ปรุงแต่งในสิ่งใดๆแล้ว(ขณิกสมาธิ) ก็ต้องปฏิบัติวิปัสสนาต่อเนื่องไปจึงจักถูกต้อง
ปุจฉา การทำสมาธิควรปฏิบัติแบบลืมตา หรือหลับตา
วิสัชนา จะลืมตาหรือหลับตาก็ได้ แล้วแต่จริตและความถนัดของแต่ละบุคคลเช่นกัน แต่ควรหัดลืมตาไว้ด้วย เพราะจะเกิดความชำนาญสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ดังเช่น สติปัฏฐาน๔นั้น เมื่อฝึกสติหรือปฏิบัติในสมถะวิปัสสนาแล้ว จำเป็นยิ่งที่ต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน คือเห็นเวทนา หรือเห็นจิต แม้กระทั่งรู้ระลึกถึงกาย(กายานุปัสสนา)และธรรม(ธรรมานุปัสสนา)ต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะดำเนินชีวิตประจำวัน จึงจะยังประโยชน์สูงสุดในการปฏิบัติและถูกต้อง เพราะเราต้องการดับทุกข์ให้เป็นสุขอย่างยิ่งในทุกสภาพกาล มิใช่แต่ในสมาธิฝ่ายเดียว (ไปหัวข้อปุจฉา)
ปุจฉา เวลานั่งสมาธิควรทำจิตให้สงบ เพื่อลิ้มรสของความสุข ความสงบ ความอิ่มเอิบ ซาบซ่าน ใช่ไหม
วิสัชนา โดยสมาธิแล้วใช่ แต่จุดประสงค์ของสมาธิในทางพุทธศาสนาแล้ว มิได้มีวัตถุประสงค์ในความสงบ ความสุข ความสบายที่เกิดขึ้นเหล่านั้นแต่ประการใด เพราะยังเป็นเรื่องทางโลกๆอยู่ ซึ่งมีเกิดขึ้นก่อนสมัยพุทธกาลเสียอีก ยังไม่เที่ยง เกิดๆ ดับๆ มีอาการแปรปรวนไปมาได้, จุดประสงค์สำคัญที่แท้จริงทางพระพุทธศาสนาคือสมถะวิปัสสนา(สมาธิ+วิปัสสนา) กล่าวคือเมื่อจิตเป็นสมาธิ จิตนั้นจักไม่ซัดส่าย สอดแส่ไปปรุงแต่ง ไปในสิ่งต่างๆร้อยแปดพันเก้า ตามวิถีจิตปกติธรรมดาของปุถุชน จิตจึงย่อมมีกำลังของจิตเกิดขึ้นโดยธรรมชาติเป็นธรรมดา เหมือนกับสุภาษิตเรื่องพ่อสอนลูกที่กล่าวเรื่องการรวมกันของไม้เล็กๆที่เมื่อรวมกันเป็นหนึ่งแล้วก็ทำให้แข็งแกร่งจนไม่สามารถหักงอได้ฉันใด จิตก็ฉันนั้น เมื่อจิตรวมตัวกันไม่ซัดส่ายไปสอดแส่ในสิ่งต่างๆร้อยแปดพันเก้าแต่กลับรวมกันเป็นหนึ่งและอย่างมีสติ เช่นมีสติอย่างต่อเนื่องอยู่ในการพิจารณาธรรมโดยการโยนิโสมนสิการ ดุจไม้เล็กๆที่มารวมกันย่อมต้องมีกำลังและความแข็งแกร่งของจิตหรือสติมากกว่าเป็นธรรมดา ตลอดจนเป็นธรรมชาติของชีวิตที่เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วจะบังคับกายให้หลั่งสารชีวเคมีบางประการซึ่งให้พลังงานออกมาในกาย ซึ่งถ้าน้อมนำไปใช้อย่างถูกต้องเป็นกำลังแห่งจิตก็เป็นกำลังสำคัญอันยิ่งอีกอย่างหนึ่ง อันเมื่อนำกำลังแห่งจิตที่เกิดขึ้นนี้มาพิจารณาเฟ้นเลือกธรรมที่ถูกต้อง,ถูกจริต(ธรรมวิจยะ) และโยนิโสมนสิการเพื่อให้เห็นธรรมชาติของธรรมต่างๆเช่น ไตรลักษณ์ ขันธ์๕ เวทนา จิตสังขาร ฯลฯ. การปฏิบัติเยี่ยงนี้จึงเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องยิ่งตามหลักพุทธศาสนา หรือที่เรียกกันว่า สมถะวิปัสสนา คือกระทำสมาธิเพื่อให้เป็นบาทฐานหรือขั้นบันไดในการก้าวไปสู่การปฏิบัติวิปัสสนาเพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงของธรรม(ชาติ)นั้น ควบคู่กันไป อย่างนี้จึงจะเป็นการถูกต้องเป็นไปดังคำกล่าวที่ว่า สมาธิทำให้เกิดปัญญา คือสมาธิเป็นบาทฐานเพื่อนำไปปฏิบัติในการพิจารณาธรรมโดยการโยนิโสมนสิการ เพื่อให้เกิดสัมมาปัญญา, มิใช่หมายถึงตัวสมาธิเองตรงๆ ที่ทำให้เกิดสัมมาปัญญา
ปุจฉา ควรใช้ สมาธิ หรือ ฌาน ระดับใดในการพิจารณาธรรม(ธรรมวิจยะ) หรือโยนิโสมนสิการ
วิสัชนา สมาธิที่ใช้ในการพิจารณาธรรมหรือโยนิโสมนสิการควรอยู่ที่ระดับขณิกสมาธิ หรือถ้าฌานก็อยู่ในระดับวิตกวิจารมีปีติ (คือ อยู่ในปฐมฌานกล่าวคือยังครบองค์ฌานทั้ง๕) ไม่ควรลึกไปกว่านี้ให้มากนัก เพราะถ้าสมาธิหรือฌานในระดับลึกหรือสูงกว่านี้แล้วเมื่อถอนออกมาจึงกระทำวิปัสสนาได้ เนื่องจากฌานสมาธิระดับสูงจิตมักจะมีอาการสงบ สบาย เคลิบเคลิ้มหรือลงภวังค์ง่าย ดังนั้นจิตจึงไม่สามารถใช้สติได้อย่างบริบูรณ์ที่ในการวิปัสสนาพิจารณาธรรม และมักเกิดนิมิตต่างๆในขณะพิจารณาที่ไม่อยู่ในแนวธรรม สมาธิหรือณานในระดับสูงหรือลึกกว่านี้แล้วเป็นไปเพื่อการพักผ่อนหรือจุดประสงค์อื่น แต่ขณะที่พิจารณาธรรมจิตอาจเลื่อนไหลลงสู่สมาธิหรือณานในระดับสูงโดยธรรมชาติ เพราะการที่จิตวนเวียนพิจารณาธรรมได้อย่างแนบแน่นนั้นเป็นสัมมาสมาธิอันถูกต้อง กล่าวคือขณะที่จิตกำลังเฟ้นพิจารณาธรรมอยู่นั้นเป็นอาการ วิตก วิจาร ในองค์ฌาน (ที่บางทีใช้การบริกรรม พุทโธ หรือลมหายใจเป็นเครื่องอยู่ของจิต อันเป็นองค์ฌานวิตก วิจาร นั่นเอง), ดังนั้นเมื่อเลื่อนไหลไปในระดับที่ลึกขึ้นจึงเกิดภาพนิมิตชนิดที่มีคุณประโยชน์อย่างยิ่งยวด ดังเช่นการพิจารณาอสุภกรรมฐานนั้นถ้าจิตแนบแน่นอยู่ที่การพิจารณาธรรมได้อย่างแนบแน่นแล้ว เมื่อเกิดการเลื่อนไหลเข้าในสมาธิที่ลึกขึ้นก็จะเกิดการเห็นภาพนิมิตเช่นเห็นสังขารอันเน่าเปื่อยผุพังเป็นลำดับเกิดขึ้นแก่จิตอย่างชัดเจน อย่างนี้เป็นนิมิตที่มีคุณประโยชน์คือทำให้เกิดนิพพิทา แต่ในบางครั้งก็อาจเกิดเมื่อขาดสติ หรือบางครั้งเพื่อการพักผ่อนจากความอ่อนล้าในขณะพิจารณาธรรมก็ได้เป็นธรรมดา อันมีคุณประโยชน์ในแง่พักผ่อนและสร้างกำลังของจิตอย่างดียิ่ง และไม่เป็นโทษใดๆเพราะมิได้เกิดแต่การติดเพลิน(นันทิหรือตัณหา)นั่นเอง จึงกลับกลายเป็นเพียงแค่เครื่องอยู่หรือวิหารธรรมอันถูกต้อง หรือขันธ์๕ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ยังคุณประโยชน์อย่างสูงยิ่งเท่านั้น
ปุจฉา นิมิตหรือภาพที่เห็นขณะปฏิบัติสมาธิ เป็นของจริงหรือไม่
วิสัชนา ภาพนิมิต ตลอดจนนิมิตต่างๆของ แสง สี เสียง ฯลฯ.ตลอดจนนามนิมิตต่างๆ อันแสนวิจิตร ชวนให้ตื่นตา ตื่นใจ พิศวง งงงวย ล้วนชวนให้ติดใจ ติดตาม ที่ปรากฎขึ้นขณะปฏิบัติสมาธินั้น ล้วนเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติของจิตเป็นธรรมดาที่เกิดขึ้นเมื่อเป็นสมาธิ จึงมิควรที่จะใส่ใจติดตามหรือยึดถือหรือติดเพลิน(นันทิ) ยกเว้นนิมิตนั้นเป็นไปตามธรรมอันถูกต้อง(ธรรมวิจยะ)ที่เกิดเห็นขึ้นขณะพิจารณาโยนิโสมนสิการซึ่งเมื่อเกิดแล้วเป็นไปเพื่อนิพพิทาหรือความเข้าใจในธรรมตามความเป็นจริง ในกรณีอย่างนี้ยกเว้น ดังเช่นพิจารณากายโดยอสุภกรรมฐาน เมื่อพิจารณาจนจิตแนบแน่นอยู่กับการพิจารณากายอันเป็นสัมมาสมาธินั่นเอง จิตจึงเลื่อนไหลขึ้นสู่สมาธิในระดับสูงขึ้น แล้วเกิดเห็นภาพอสุภต่างๆ เห็นการเน่าเปื่อยผุพังเกิดขึ้นเป็นลำดับ เห็นแล้วน้อมให้เกิดนิพพิทาดังนี้เป็นต้น, แต่ภาพนิมิตโดยรวมที่เกิดขึ้นนั้น ต้องขอยืมคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่ได้เคยตอบเรื่องนิมิตไว้อย่างชัดเจนว่า " สิ่งที่เห็นนะ เห็นจริง แต่สิ่งที่เห็นไม่จริง" เป็นการเห็นตามสัญญาหรือความเชื่อหรือตามแรงจูงจิตของนักปฏิบัติเอง ดังนั้นเมื่อเกิดขึ้นและไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ก็จะก่อปัญหาในการปฏิบัติอย่างร้ายแรง ดังนั้นเมื่อเกิดขึ้นก็ไม่ติดตามหรือใส่ใจ เพราะนิมิตที่เกิดขึ้นนั้นเสมือนจริงจนจิตจะไปยึดถือให้เป็นเรื่องเป็นราวให้เกิดวิปัสสนูปกิเลส ถ้านิมิตนั้นมิได้เกิดจากการทำเหตุมาถูกคือพิจารณาในธรรมอันถูกต้อง ไม่เป็นไปเพื่อความเข้าใจในธรรมะหรือธรรมชาติแล้วเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งยวด เพิกถอนจากนิมิตอย่าปล่อยให้เลื่อนไหลไปด้วยสติ แม้สิ่งที่เห็นหรือปรากฎจะเป็น พระพุทธเจ้า สวรรค์ วิมาน เทวดา อดีต อนาคต สิ่งที่คิดปรารถณาไว้ต่างๆนาๆ ก็อย่าใส่ใจปล่อยจิตตามไปอย่างเด็ดขาด ก็เพราะ "สิ่งที่เห็นนั้นไม่จริง" อันเมื่อเกิดไปยึดหมายหรือยึดเชื่อแล้วก็จะเป็นโทษอย่างรุนแรงได้จริงๆ (อ่านรายละเอียดใน นิมิต และ ภวังค์)
บางท่านอาจรู้สึกหงุดหงิดใจ ก็กล่าวว่า นิมิตโดยรวมไม่ดี แล้วทำไมจึงต้องมีแต่ คือนิมิตที่เกิดจากการที่จิตแนบแน่นกับการพิจารณาธรรมอันถูกต้องแล้วเกิดเป็นนิมิตเป็นบางครั้งขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ดี
ทุกสรรพสิ่งนั้นไม่มีดีหรือชั่วอย่างแท้จริง มีทั้งดีและชั่วในตัวเองทั้งสิ้น พระพุทธองค์จึงทรงให้ยึดทางสายกลาง ในกรณีนิมิตจึงเป็นเช่นเดียวกัน นิมิตอันเกิดแต่การเลือกเฟ้นธรรมอันถูกต้อง แล้วเกิดขึ้นนั้นย่อมอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ปฏิบัติ คือ น้อมเชื่ออย่างแน่นแฟ้นเป็นกำลังของจิตในสิ่งที่เห็นอย่างถูกต้องนั้นตามความเป็นจริงของธรรม, มิได้เกิดขึ้นจากอวิชชาหรือจิตใต้สำนึก(สัญญา)หรือตัณหาความอยากที่แอบซ่อนอยู่ และไม่ได้เกิดจากการน้อมนำของผู้อื่นที่น้อมนำไปผิดๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จักยังให้เกิดนิมิตชนิดเลื่อนไหลไปเองตามกำลังของตัณหาความอยากที่แอบซ่อนเร้นภายในจิตโดยไม่รู้ตัว หรือเลื่อนไหลไปตามความเชื่อ ความยึด ตลอดจนสัญญา(ความจำเดิมๆ) อันซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่มีคุณประโยชน์ที่แท้จริงเลย ทำให้เกิดความน้อมเชื่ออย่างรุนแรงในสิ่งที่ได้เห็นได้สัมผัส อันมักเป็นการเห็นอย่างผิดๆไม่ถูกต้องแห่งธรรม จึงแทนที่จะเป็นผลดีต่อผู้ปฏิบัติ กลับกลายเป็นยังให้เกิดผลร้ายหรือเกิดการติดเพลินขึ้นโดยไม่รู้ตัวในที่สุด
ปุจฉา เมื่อเกิดปีติ สุข ในขณะปฏิบัติ ควรปล่อยอยู่ในสภาพนั้นหรือไม่
วิสัชนา ถึงจะเป็นการฝึกสมาธิแต่ฝ่ายเดียว ก็ไม่ควรปล่อยแช่เลื่อนไหลโดยเฉพาะการส่งจิตไปคอยจับจ้อง แช่นิ่ง หรือเลื่อนไหลคอยเสพรสอยู่ที่ผลของความสุขความสบายต่างๆหรือความสงบที่เกิดขึ้นทั้งต่อกายและจิต หรือที่เรียกว่า " จิตส่งใน " คือจิตคอยสอดส่องดูกายดูจิตของตนเองอยู่ตลอดเวลาเพราะติดเพลินในความสุข ความสงบต่างๆที่เกิดขึ้น เมื่อความสุขความสงบหายไปก็คอยส่องหาส่องดูด้วยความกระวนกระวาย จนทำให้เกิดเป็นสังขารที่สั่งสมและเคยชินโดยไม่รู้ตัว อันจะยังให้เกิดโทษในภายหลัง(วิปัสสนูปกิเลส)ที่เรียกว่าติดสุข ติดความสงบ โดยไม่รู้ตัว และไม่อาจห้ามหรือหยุดได้เสียด้วยเพราะเป็นสังโยชน์ขั้นละเอียด และปัญหาใหญ่ก็คือนักปฏิบัติไม่รู้ตัวเสียด้วย, โดยตามปกตินั้นเมื่อไม่จดจ่อจดจ้องหรือจิตส่งในและเป็นสมาธิอยู่ จิตก็จะเลื่อนไปเป็นลำดับขั้นของสมาธิหรือฌานเองโดยธรรมชาติ และเมื่อถอนออกมาควรกระทำวิปัสสนา มิฉนั้นจะอยู่ติดเพลินกับความสบายความสงบต่างๆแต่ฝ่ายเดียว อันยังโทษในภายหลัง
ปุจฉา ขณะปฏิบัติสมาธินั้นคำบริกรรม หรือลมหายใจขาดหายไป ควรกลับไปทำใหม่หรือไม่
วิสัชนา ควรทราบว่าสิ่งเหล่านี้นั้นล้วนเป็นอุบายวิธี เพื่อเป็นเครื่องล่อจิตให้มีสติตั้งมั่นอย่างต่อเนื่องเท่านั้น เปรียบได้ดัง เหยื่อตกปลา ถ้าปลาฮุบเหยื่อแล้ว เราจะไปสนใจกับเหยื่อล่อปลาอีกทำไม เราต้องสนใจแต่ปลามิใช่หรือ, แต่ถ้าปลายังไม่ฮุบเหยื่อหรือหลุดไปก็อาจจำเป็นที่ต้องล่อเหยื่อใหม่เท่านั้น (ไปหัวข้อปุจฉา)
ปุจฉา ถ้าไม่สามารถรวมจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ได้ ก็ไม่สามารถปฏิบัติวิปัสสนาได้ ใช่หรือไม่
วิสัชนา ไม่ใช่ครับ เพราะการปฏิบัติสมาธิเพื่อการวิปัสสนาพิจารณาในธรรมให้เห็นตามความเป็นจริงของธรรม(ชาติ)นั้นใช้สมาธิระดับขณิกสมาธิหรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "สมาธิชั่วขณะ" ความจริงคือจิตยังมีแว๊บออกไปปรุงแต่งหรือเกิดคิดนึกขึ้นเอง(สังขารในปฏิจจสมุปบาท)บ้างเป็นธรรมดา มิใช่จิตที่เป็นสมาธิชนิดแน่วแน่ แน่นิ่ง ในระดับประณีตแต่อย่างใด, ดังนั้นในขณิกสมาธิถ้าผู้ปฏิบัติเห็นความคิดนึกที่ผุดขึ้นมาเอง(สังขาร)หรือเห็นการคิดนึกปรุงแต่งที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจหรือมีภูมิรู้ ไม่หงุดหงิดไปตามกระแสความคิดนั้นๆ แต่กลับพลิกการปฏิบัติไปสังเกตุเห็นว่า นี่เองความคิดนึกปรุงแต่ง นี่เองสังขารที่สั่งสมไว้ มันเกิดขึ้นอย่างนี้ เมื่อพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุหาผลด้วยความเพียรก็จะเกิดภูมิรู้ขึ้น อย่างนี้ถือได้ว่าได้คุณประโยชน์สูงยิ่งกว่าจิตที่สงบแน่นิ่งเสียอีก เป็นการวิปัสสนาโดยตรง, และขณะที่จิตพิจารณาไตร่ตรองอยู่อย่างแนบแน่นนั้น บางครั้งจิตก็เป็นสมาธิดีเสียยิ่งกว่าการตั้งใจทำสมาธิโดยตรงเสียอีก คือเกิดเป็นสมาธิที่มีคุณประโยชน์อย่างยิ่งโดยไม่รู้ตัวคือจิตตั้งมั่นแนบแน่นอยู่ในการพิจารณาหาเหตุหาผลโดยไม่รู้ตัวไม่วอกแวกออกไปสอดแส่ปรุงแต่งภายนอก อันเป็นสัมมาสมาธิอย่างแท้จริง, และการเข้าสู่สภาวะของสมาธิหรือฌานในระดับลึกเกินไปนั้นก็ไม่สามารถปฏิบัติวิปัสสนาได้ เพราะจิตหรือสติจะอยู่ในสภาพพักตัวหรือเคลิบเคลิ้ม ไม่สามารถใช้สติได้อย่างเต็มที่ในการคิดพิจารณาธรรมอันละเอียดอ่อนได้
ปุจฉา ขณะนี้มีปัญหา ชอบตามลมหายใจอยู่ตลอดเวลา แม้ขณะทำงาน บางครั้งเมื่อตื่นขึ้นจากการนอนก็รู้อยู่ว่าตามลมหายใจอยู่ แต่ภายหลังมีความรู้สึกอึดอัดไม่สบายเป็นอย่างมาก พยายามเลิกแล้วก็ไม่สำเร็จ
วิสัชนา มักเกิดแต่การปฏิบัติหนักไปทางสมาธิแต่ฝ่ายเดียว คือการตามลมหายใจนั้นเพื่อเป็นแค่เครื่องอยู่หรือเครื่องล่อให้จิตนั้นรวมตัวตั้งมั่นเพื่อปฏิบัติวิปัสสนากล่าวคือให้มีสติตามดูรู้เข้าใจตามลมหายใจ และบางครั้งเกิดการเลื่อนไหลไปสู่ฌาน ไม่ได้อยู่กับสติโดยไม่รู้ตัว เพราะสตินั้นขาดเสียก่อน หรือไปยึดติดเพลินในความสบาย ความสงบ อันเกิดแต่สมาธิ(ทั้งๆที่ไม่มีองค์ฌานต่างๆเช่นปึติ,สุข) อันเกิดจากการตามลม จึงเป็นการปฏิบัติแต่สมาธิฝ่ายเดียว และบางท่านแม้จิตนั้นเริ่มเป็นสมาธิแล้วแทนที่จะปฏิบัติวิปัสสนา แต่พอรู้ตัวก็จะกลับมาตามลมอย่างเดิม ด้วยกลัวว่าจะหลุดจากสมาธิ หรือกลัวว่าไม่สามารถเข้าองค์ฌาน ปีติ สุข อุเบกขาได้ (ยึดอยากในสมาธิหรือฌานด้วยความไม่รู้เป็นเหตุ) บางครั้งก็กระทำในชีวิตประจำวันอยู่ตลอดเวลาโดยมิได้กระทำวิปัสสนาใดๆเลยคือทำไปตามความเคยชิน เพราะต้องการใช้ไปดับทุกข์แบบดื้อๆ, เพียงเพ่งจี้อยู่แต่กับลมหายใจหรือสิ่งที่ปฏิบัติแต่ฝ่ายเดียวและด้วยเข้าใจว่าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องจนเกิดความเคยชินเป็นสมาธิแต่ฝ่ายเดียวแต่ขาดปัญญา ไม่เคยพิจารณาธรรมเลย ใหม่ๆก็รู้สึกดีเพราะสงบจึงคิดว่าได้ปฏิบัติธรรมได้บุญได้กุศล แต่เป็นเพราะจิตไม่ซัดส่ายไปคิดนึกปรุงแต่งให้เกิดทุกข์ชั่วขณะระยะเพ่งจี้อยู่ที่ลม แต่ด้วยความไม่เข้าใจไม่รู้(อวิชชา)จึงไปยึดการปฏิบัตินั้นดื้อๆตรงๆว่าเป็นเหตุให้ไม่ทุกข์ ทั้งๆที่เหตุให้ไม่ทุกข์หรือทุกข์ลดน้อยลงนั้นจริงๆแล้วเกิดแต่จิตหยุดการปรุงแต่งลงชั่วขณะ(เพราะจิตไปกระทำหน้าที่ตามลมอย่างแน่วแน่) ดังนั้นเมื่อปฏิบัติเช่นนี้บ่อยๆ จนจิตเกิดความเคยชิน(สังขาร)แล้ว จึงเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น จิตจะเริ่มกระทำการสังขารขึ้นเองโดยไม่ได้เจตนาหรือโดยไม่รู้ตัวหรือโดยอัติโนมัติ อันเป็นสังขารที่แก้ไขลำบากเพราะเป็นการกระทำตามสังขารวิบากหรือสังขารกิเลส คือตามที่ตนได้สั่งสมอบรมไว้นั่นเอง อันเป็นสภาวะธรรมของชีวิตอย่างหนึ่งที่เรียนรู้แล้วอย่างลงตัวแล้วจดจำ จึงเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่แก้ไขได้ยาก การติดเพลินดังนี้มิใช่แต่การตามลมเท่านั้น เกิดกับการปฏิบัติแบบอื่นๆเช่นกันที่มีความสบายความสุขความสงบเป็นผลแต่อย่างเดียวแต่ไม่ก่อให้เกิดปัญญา เช่น การใช้อิริยบถ(การเคลื่อนไหวของกายอย่างต่อเนื่องเป็นเครื่องล่อ) ขอให้สังเกตุอาการที่จิตปฏิบัติเองโดยไม่รู้ตัว ดังเช่นบางครั้งจะสังเกตุเห็นในขณะตื่นว่า กำลังกระทำสิ่งนั้นอยู่โดยไม่รู้ตัว(หมายถึงไม่ได้เจตนาหรือสัญเจตนาขึ้น) ควรแก้ไข วิธีแก้ไขให้ไปอ่านใน บทที่๑๖ ติดสุข และอาการต่างๆของนักปฏิบัติ (ไปหัวข้อปุจฉา)
ปุจฉา เวลาปฏิบัติสมถวิปัสสนา มักเลื่อนไหลลงสู่ภวังค์หรือสมาธิ,ฌานในระดับประณีต จนไม่สามารถพิจารณาธรรมคือเจริญวิปัสสนาได้ ควรแก้ไขอย่างไรดี.
วิสัชนา เมื่อปฏิบัติแล้วมักเลื่อนไหลลงไปลึก ก็ให้ลืมตาขึ้น หรือใช้เดินพิจารณาจงกรมอย่างไม่ต้องคอยจับจ้องอริยาบถ แล้วใช้จิตที่ไม่วอกแวกออกไปคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนั้น(ขณิกสมาธิ) พิจารณาธรรมได้เลย
ปุจฉา การปฏิบัติสมาธิมีแต่คุณ ไม่มีโทษใดๆใช่หรือไม่ และปฏิบัติอย่างไรจึงเป็นสัมมาสมาธิ
วิสัชนา ไม่ใช่ ทุกสรรพสิ่งมีคุณและโทษอยู่ในตัวเอง แม้แต่การปฏิบัติธรรมอันดีงามยิ่ง ถ้าปฏิบัติผิด ล้วนดำเนินอยู่ในทางสายกลางทั้งสิ้น เหมือนดังยา ถ้าเรากินถูกต้องตามขนาดและเวลาก็เป็นคุณ ถ้าเราทานเกินขนาดก็เกิดโทษร้ายแรงเช่นกัน, มีดที่ใช้ในครัว ถ้าขาดเสียก็ประสบกับความลำบากแสนเข็ญเมื่อเข้าครัวปรุงอาหาร จึงมีคุณอนันต์ แต่มีดเล่มเดียวกันนี้ถ้านำไปใช้เพื่อทําร้ายตนเองหรือผู้อื่นแล้ว ย่อมก่อให้เกิดโทษมหันต์เช่นเดียวกัน, สมาธิหรือฌานจึงเป็นเช่นเดียวกัน ขึ้นกับผู้ใช้หรือนักปฏิบัตินั่นเอง ถ้าเป็นสัมมาสมาธิใช้น้อมไปพิจารณาให้เห็นธรรมอย่างถูกต้อง(วิปัสสนา)ย่อมก่อให้เกิดคุณอย่างอนันต์ แต่ถ้าใช้ผิดเป็นมิจฉาสมาธิหรือเกิดการติดเพลินโดยไม่รู้ตัวก็ย่อมก่อให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสอันเป็นโทษมหันต์ ทั้งต่อธาตุขันธ์(กาย)และจิตเช่นเดียวกัน
มีผู้ถามผู้เขียนอยู่เสมอๆว่า เยี่ยงไรเป็นสัมมาสมาธิ เยี่ยงไรเป็นมิจฉาสมาธิ ผู้เขียนขอตอบณ.ที่นี้เลย
ถ้าสมาธินั้นเป็นไปเพื่อการวิปัสสนา เป็นไปโดยมิได้เกิดจากการติดเพลิน หรือตัณหา(ต้องตรวจสอบตนเองอย่างละเอียดให้ดี) อย่างนี้ถือว่าเป็นสัมมาสมาธิ คำว่าติดเพลินนี้บางคนก็ตีความหมายไม่ถูกอีก อันครอบคลุมละเอียดอ่อนพอสมควร ดังเช่นการปล่อยเลื่อนไหลในสมาธิทั้งขณะที่รู้ตัว และครอบคลุมถึงโดยขณะไม่รู้ตัวอันเกิดจากความเป็นสังขารที่ได้สั่งสมไว้แล้วก็ตาม โดยที่ไม่เห็นจิตของตนว่ามีความชอบ ความอยาก ความใคร่ ความเพลิดเพลินในผลที่เกิดขึ้นจากสมาธิหรือฌานนั้นๆ ไม่เห็นขณะจิตที่เมื่อความสุขความสบายตลอดจนความสงบเหล่านั้นมันหายไป ก็มีความกระวนกระวาย เฝ้าปฏิบัติ เฝ้าค้นหา ถวิลหา คอยส่องคอยดู เมื่อปฏิบัติสมาธิจิตก็มิได้สนใจในวิปัสสนาให้เกิดความรู้แจ้งอย่างจริงๆอย่างแท้จริง เสพแต่รสอร่อยของฌานสมาธิ หรือแอบจิตเสพสนใจแต่ในผลความสงบความสบายของสมาธิที่บังเกิดขึ้นทั้งโดยรู้ตัวก็ดี ไม่รู้ตัวก็ดี ถ้าเป็นอย่างนี้เป็นมิจฉาสมาธิอย่างแน่นอน
ปุจฉา มีผู้กล่าวว่า ฌาน ความว่าง เป็นวิหารธรรม หรือเครื่องอยู่ของเหล่าพระอริยเจ้า แม้แต่ในตำราหรือคำภีร์ก็มีระบุอย่างชัดแจ้ง ว่าแม้แต่พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสไว้ว่า ท่านมีฌานเป็นวิหารธรรมหรือเครื่องอยู่ แล้วทำไมเมื่อเราปฏิบัติกันแล้วจึงกล่าวว่าอาจเป็นโทษได้ เป็นมิจฉาสมาธิบ้าง เป็นมิจฉาฌานบ้าง, อย่างไรถูก อย่างไรผิดกันแน่ สับสนไปหมดแล้ว
วิสัชนา ถ้าท่านมีความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทและขันธ์๕พอควร ลองโยนิโสมนสิการจะพบความแตกต่างระหว่างสัมมาสมาธิหรือฌาน กับมิจฉาสมาธิหรือมิจฉาฌานได้อย่างแจ่มแจ้ง, ในเหล่าพระอริยเจ้าหรือผู้มีสัมมาสมาธินั้น เมื่อเกิดเวทนาความสุขสบายของสมาธิหรือขององค์ฌานขึ้นแล้ว ท่านเหล่านี้มิได้มีความติดเพลิน(นันทิ)หรือตัณหาใดๆต่อความรู้สึก(เวทนา)ที่เกิดขึ้นนั้น ดังนั้นจึงเป็นขันธ์๕อันเป็นปกติวิสัยในการยังชีวิตเป็นธรรมดา ความมีสติของท่านจึงมิได้ก่อเป็นสังขารที่สั่งสมไว้อันเกิดแต่อวิชชา จึงกลับกลายเป็นมีคุณประโยชน์ในแง่ของการพักผ่อนอย่างผ่อนคลายเป็นที่สุด จึงเป็นวิหารธรรมหรือเครื่องอยู่ที่มีคุณประโยชน์อย่างสูงยิ่ง
ส่วนมิจฉาสมาธินั้น มีความติดเพลินโดยไม่รู้ตัว อันเกิดแต่ความไม่รู้ จึงมักจะคิดแต่ว่าตนปฏิบัติธรรม ปฏิบัติสมาธิอันเป็นเลิศ และได้บุญได้กุศลแล้ว จึงไม่สังเกตุเห็นความติดเพลินบ้าง ความเลื่อนไหลไปเพราะความเป็นสังขารที่ได้สั่งสมไว้บ้าง ความเพลิดเพลินบ้าง หรือตัณหาในความสุข ความสบาย ความสงบต่างๆที่เกิดขึ้น อันแอบซ่อนเร้นอยู่ในจิต ด้วยเหตุเพราะยึดหมายว่าปฏิบัติธรรมและคิดว่าปฏิบัติถูกต้องดีแล้ว(สีลัพพตตุปรามาส) เมื่อกระทำไป(ก่อเหตุ)ย่อมเกิดภพ(ผล)ของรูปภพ(รูปฌาน)หรืออรูปภพ(อรูปฌาน)ขึ้น อันเป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมดา อันท่านได้กล่าวไว้ว่า เมื่อใดเกิดภพ เกิดชาติ เมื่อนั้นเป็นทุกข์ (หรือจะต้องเกิดทุกข์ขึ้นภายหน้าอย่างแน่นอน) เมื่อปฏิบัติบ่อยครั้ง สิ่งเหล่านั้นก็กลับกลายเป็นสังขารอันเกิดแต่อวิชชา จึงเป็นสิ่งที่เลิกได้ยากเมื่อกลับกลายเป็นสังขารความเคยชินไปแล้ว ก็กลับกลายเป็นให้โทษต่อธาตุขันธ์(กาย)และจิต
ปุจฉา บางครั้งเมื่อนั่งสมาธิและได้อารมณ์สมาธิดี มีความรู้สึกว่ามือ เท้า หรือตัวหายไป, บางครั้งก็รู้สึกว่าตัวเบาราวกับลอยได้ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? ดีหรือไม่ดีประการใด? มีโทษไหม?
วิสัชนา ขณะนั้นอยู่ในสภาวะจิตเฉียดๆเข้าฌานที่ ๔ หรืออาจเข้าสู่ภวังคจิตที่เรียกว่าภวังคจลนะ หรือเข้าภวังคุปัจเฉทะ อันเป็นอาการของจิตที่หยุดการรับรู้จากทวารทั้ง ๖ จึงมีการหยุดการรับรู้ทางกายด้วย(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน นิมิตและภวังค์) อันจักเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นเป็นธรรมดา ต้องมีความเข้าใจอย่างถูกต้องว่าเป็นอาการธรรมดาหรือโดยธรรมชาติของการปฏิบัติฌานหรือสมาธิ อย่าตกใจหรือดีใจขอให้ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา และอย่าไปยึด ไปอยากในความตื่นตา ตื่นใจเหล่านั้นเพราะเป็นสภาวธรรมอันเป็นธรรมดา หรือ มันเป็นเช่นนั้นเอง เพราะโดยธรรมชาติของจิตจะยึดจะหมายในสิ่งที่สร้างความสุขความสบาย มิฉะนั้นจิตจะไปยึดถือในสิ่งที่สัมผัสได้นั้นว่าเป็นสิ่งที่สุดวิเศษ หรือเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ อันชวนให้ตื่นตา ตื่นใจ ชวนให้หลงใหล อันจักพาให้เข้ารกเข้าพงไปเสีย เพียงแต่รักษาจิตให้อยู่ในสมาธิ (หรือถ้ากระทำวิปัสสนาควบคู่ไปด้วยเมื่อถอนออกมาแล้ว ก็ให้จิตมีสติแนบแน่นอยู่กับธรรม(อันถูกต้อง)นั้น โดยอย่าปล่อยให้เลื่อนไหลลงสู่ภวังค์หรือองค์ฌานอีก) โดยไม่จับจ้องอันคือยึดติดเพลินในความสุขอันชวนพิศวง งงงวยเหล่านั้น จิตก็จะสามารถเลื่อนไหลเข้าสู่เอกัคคตารมณ์หรือฌาน๔ได้ในที่สุด อันเป็นอาการของจิตที่เป็นหนึ่ง มีสติรู้อยู่ในความสงบเท่านั้น, อาการเคลิบเคลิ้มตลอดจนนิมิตต่างๆเช่นแสง สี เสียง ต่างๆที่เกิดจากสภาวะสุขหรือฌานต่างๆเหล่านั้นก็จักหายไป อันฌานที่๔หรือเอกัคคตารมณ์(บางทีก็เรียกว่าอุเบกขาเช่นกัน)เป็นฌานที่มีคุณประโยชน์สูงสุดในการพักผ่อนทั้งต่อธาตุขันธ์(กาย)และจิต ดังนั้นเมื่อถอนหรือหลุดออกมาแล้ว จิตย่อมมีกำลังมากเป็นพิเศษอย่างแน่นอนเป็นธรรมดา ดังนั้นถ้าออกจากสมาธิแล้วนำไปพิจารณาธรรมต่อเนื่องไปย่อมเกิดคุณอนันต์ต่อการปฏิบัติพิจารณาธรรมให้เกิดปัญญานั่นเอง แต่ผู้เขียนขอเน้นแนะว่าการพิจารณาธรรมมิจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างนี้ทุกคราวเกิดแต่เพียงเป็นครั้งคราวเท่านั้น โดยปกติขอให้ใช้แค่ขณิกสมาธิอันไม่เป็นเรื่องยุ่งยาก และสามารถทำได้ง่ายๆและก็ประณีตขึ้นเป็นฌานลำดับสูงได้เองด้วย มิฉนั้นท่านจะมุ่งอยู่แต่ในสมาธิหรือฌานในระดับสูงจนขาดการวิปัสสนา เกิดเป็นสังขารอันให้โทษเสีย ก่อนที่ได้จะเริ่มวิปัสสนาให้เกิดปัญญาเสียอีก
ส่วนอาการตัวเบาราวกับลอยได้นั้นเป็นอาการของปีติ ที่เรียกว่าอุพเพคาปีติ อันเป็นปกติธรรมดาของผู้ได้ปีติเยี่ยงนี้ อันเป็นอจินไตย หาอ่านรายละเอียดปีติได้ในเรื่อง ฌาน,สมาธิ
ปุจฉา จำเป็นต้องฝึกสมาธิก่อนไหม ในการปฏิบัติ บางท่านก็ว่าไม่จำเป็น บางท่านก็ว่าจำต้องฝึกสมาธิก่อน ถ้าจำเป็นแล้ว ต้องใช้สมาธิและฌานระดับใดในการวิปัสสนา
วิสัชนา ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ถามกันบ่อยมากในหมู่นักปฏิบัติ และมักได้คำตอบอันเป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ ทั้งๆที่บางครั้งผู้ที่ตอบคำถามเหล่านี้ก็ตอบได้อย่างถูกต้อง แต่มิได้แจงรายละเอียด, หรือบางทีเกิดจากผู้ที่ฟังไม่เข้าใจว่า สิ่งที่พูดนั้นเป็นการเน้นเฉพาะบุคคล, หรือบางครั้งผู้สอนก็ยังไม่เข้าใจ จึงมักเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เนืองๆ เช่น บางครั้งผู้ตอบ ตอบว่าไม่จำเป็น อันมีความหมายว่าแค่ขณิกสมาธิก็เป็นที่เพียงพอแล้วแก่การเริ่มต้นแล้ว เพราะเมื่ปฏิบัติถูกต้องก็จักลื่นไหลไปสู่ฌานอันประณีตลำดับสูงเป็นลำดับได้เอง หรือในผู้ที่เป็นมิจฉาสมาธิอยู่แล้วก็หมายถึงไม่ต้องเข้าสมาธิในระดับสูงเพราะมักเลื่อนไหลไปแช่นิ่งสงบสบายตามความเคยชินที่ได้สั่งสมไว้ และขณิกสมาธิมิจำเป็นถึงขนาดต้องปฏิบัติในรูปนั่งสมาธิหลับตาก็ได้ ขอให้มีจิตที่โปร่งสบาย ไม่ซัดส่าย สามารถจดจ่อหรือแนบแน่นอยู่กับกิจหรืองานที่ทำหรือความมีสตินั่นเองก็เป็นสัมมาสมาธิอันถูกต้องแล้ว ดูการเดินจงกรมเป็นต้น จึงสามารถปฏิบัติในอริยบถใดก็ได้ ดังนั้นจึงมีความหมายถึงการไม่ต้องฝึกสมาธิจนถึงเข้าสมาธิหรือฌานในระดับสูงหรือประณีตสูงแต่อย่างใด เพราะถ้าสูงหรือลึกกว่านี้แล้ว สติก็จะอยู่ในสภาวะเคลิบเคลิ้มหรือภวังค์ ซึ่งไม่มีผลดีแต่อย่างใดในการพิจารณาธรรม แต่ถ้าพิจารณาในขณิกสมาธิอันมีจิตที่ไม่วอกแวก ไม่ซัดส่ายพอควร แล้วให้จิตอยู่ในการพิจารณาธรรมได้อย่างแนบแน่นคือเป็นสัมมาสมาธิอย่างถูกต้อง, ในบางครั้งจิตอาจจะเลื่อนไหลไปสู่สมาธิที่ลึกหรือประณีตสูงขึ้นไปได้เอง และอาจแสดงนิมิตที่เป็นคุณในการปฏิบัติ เช่นการพิจารณาในธาตุ๔ หรืออสุภกรรมฐานอยู่อย่างแนบแน่นได้ จิตอาจเลื่อนไหลเข้าสู่สมาธิที่สูงขึ้น จนไปเห็นความเป็น ธาตุ๔ หรือ อสุภะ อย่างชัดเจนขึ้นแก่จิตได้เองก็ได้
ถ้าจะให้ตอบกระชับขึ้นก็ขอตอบดังนี้ สมาธิเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติวิปัสสนาอย่างแน่นอน เป็นมรรคแห่งการปฏิบัติโดยถูกต้องและจำเป็น โดยเฉพาะระดับขณิกสมาธิ ส่วนสมาธิในระดับสูงกว่านี้กล่าวคือ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ (หรือถ้าในฌาน ก็ฌานที่๑หรือปฐมฌานเท่านั้น) ไม่จำเป็นต้องฝึกจนได้ระดับประณีตสูงกว่านั้นแล้วจึงเริ่มปฏิบัติวิปัสสนา เพราะถ้าปฏิบัติวิปัสสนาระดับขณิกสมาธิหรือปฐมฌานได้และจิตแนบแน่นอยู่กับธรรมที่พิจารณาก็สามารถเกิดสมาธิหรือฌานระดับประณีตสูงขึ้นเหล่านั้นได้เองอย่างง่ายดาย และอย่างถูกต้องเสียด้วยอันเป็นสัมมาสมาธิ เพราะมิได้เกิดแต่การติดเพลินหรือตัณหาอันมักแอบแฝงซ่อนตัวมาด้วยกับการอยากได้ในสมาธิหรือฌาน เพราะความสงบ สบาย ปลอดนิวรณ์ หรืออิทธิฤทธิ์ใดๆ, บางท่านทั้งๆที่เคยปฏิบัติสมาธิมาเป็นเวลาหลายๆปีไม่เคยได้สมาธิหรือฌานในระดับสูงเลย แต่เมื่อกระทำดังนี้กลับกลายเป็นได้สมาธิหรือฌานระดับประณีตสูงขึ้นอย่างง่ายดาย และอย่างเป็นสัมมาคืออย่างถูกต้องอีกด้วย
แม้แต่ท่านที่ได้สมาธิหรือฌานระดับประณีตสูงแล้วอันให้ความสงบสบายเป็นกำลังของจิตอย่างหนึ่ง ไม่ว่าในขั้นสูงประณีตใดก็ตาม เมื่อปฏิบัติสมถะสมาธิหรือฌานแล้ว ก็ต้องพึงถอนออกจากความสงบ หรือสมาธิหรือฌานในระดับต่างๆ มาทำการวิปัสสนาที่ระดับประมาณขณิกสมาธิหรือปฐมฌานเช่นกัน ถ้าไม่ทำวิปัสสนาย่อมยังให้เกิดโทษได้ดังที่กล่าวอยู่เนืองๆ
หลายท่านยึดตามแต่ตำราหรือคัมภีร์ ดังเช่น ศึกษาสติปัฏฐาน๔ ในหัวข้อธรรมานุปัสสนา อันกล่าวถึงสัมมาสมาธิ อันมีการแจงถึงองค์ฌานทั้ง๖ ก็ตีความตามอักษรอย่างผิดๆไปว่า สมาธิในการปฏิบัติวิปัสสนานั้นจำเป็นต้องได้ฌาน๔(เอกัคคตารมณ์)เสียก่อนจึงเป็นสัมมาสมาธิ จึงมัวแต่ฝึกอยู่ในสมาธิหรือฌานแต่ฝ่ายเดียวก่อน ด้วยพึงหวังในฌาน๔ หรืออัปนาสมาธิ ด้วยคิดว่าได้ฌานสมาธิแก่กล้าเสียก่อนแล้วจึงค่อยดำเนินการวิปัสสนา อย่างนี้ผิดอย่างแน่นอน และหลงทางได้ง่ายๆเสียด้วย เพราะการปฏิบัติผิดนั้นคือการทำเหตุนั่นเอง ผลจึงย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา อย่างแน่นอนหลีกเลี่ยงไม่ได้แม้จะเป็นการปฏิบัติธรรมก็ตาม ก็เกิดผลเสียขึ้นได้
ปุจฉา ผมมีอาการ"ติดสุข"ดังที่กล่าว ผมควรทำอย่างไร
วิสัชนา ในช่วงแรกควรต้องหยุดการปฏิบัติฌานและสมาธิเสียก่อนเป็นเบื้องต้น เหมือนดังคนป่วยที่ต้องหยุดอาหารบางอย่างเป็นการชั่วคราว เพราะการดันทุรังทำต่อไปนั้นยังแต่จะก่อให้เกิดผลร้ายมากขึ้น ต้องแก้ไขในการติดเพลิน,เลื่อนไหลเสียก่อน ให้อ่านวิธีแก้ไขใน ติดสุข และอาการต่างๆของนักปฏิบัติ แต่ท่านสามารถปฏิบัติวิปัสสนาได้ ใช้จิตที่สงบ ไม่ซัดส่ายไปปรุงแต่ง ไปพิจารณาธรรม เลือกเฟ้นธรรมที่ก่อให้เกิดภูมิรู้ ภูมิญาณ หรือเกิดนิพพิทา โดยการโยนิโสมนสิการได้ ในอริยาบถใดๆก็ได้ เช่นเดินสบายๆ(อย่างไม่จับจ้อง) แต่ไม่ควรสบายเกินไปหรือในรูปแบบใดๆที่ได้เคยปฏิบัติมาเป็นประจำ เพราะสังขาร(ปฏิจจ.)ที่ได้สั่งสมไว้แล้วนั้นจะพาเลื่อนไหลไปสู่สภาพเดิมๆโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นผู้ที่กำลังมีปัญหาอยู่จึงควรมีความระมัดระวังในเรื่องนี้ให้ดีเพราะเป็นสภาวะธรรม(ธรรมชาติของชีวิต)อย่างหนึ่งที่กล้าแข็งยิ่ง, เมื่อเกิดนิพพิทาเมื่อใดอาการต่างๆก็จะทุเลาเบาบางทันที
ปุจฉา เมื่อก่อนผมเป็นคนใจเย็นมาก แต่หลังจากที่หัดทำสมาธิจนเกิดความสงบได้บ่อยครั้งจนกระทั่งร่างกายตัวตนหายไป ลมหายใจหายไป เหลือเพียงสภาพว่างเปล่าแบบไม่มีอะไรเลยจริงๆ แล้วหลังจากนี้ไม่นาน ผมได้สังเกตุว่าผมเริ่มจะเป็นคนอารมณ์ร้าย หงุดหงิด มานะสูง และโกรธง่ายขึ้นกว่าเดิม และคิดมากขึ้นกว่าเดิม มันเกิดจากอะไรครับ ทำไมได้ความสงบแล้วแทนที่จะเป็นคนหนักแน่นและใจเย็นแต่ผลออกมากลับตรงกันข้าม ผมปฏิบัติผิดยังไงครับ และควรจะแก้ไขยังไงดี และมีโรคประจำตัวเพิ่มเข้ามาเป็นอยู่ทุกวันเลย คืออาการท้องอืดไม่หาย และท้องผูก ขอบคุณครับ
วิสัชนา เกิดแต่ติดสุข หรือติดสงบ ติดสบาย อันเกิดแต่อำนาจขององค์ฌานหรือสมาธิ คือ แม้ในสภาพวิถีจิตปกติก็ยังคงสภาพขององค์ฌานอยู่บ้าง คือมีความสุขความสบายและความสงบอยู่ภายใน เมื่อหวั่นไหวเคลื่อนหลุดด้วยเหตุอันใด ดังเช่น ไม่ถูกใจในสิ่งใดเล็กน้อยแต่ทำให้เคลื่อนหลุดจากองค์ฌานที่ติดยึดอยู่โดยไม่รู้ตัว จึงมีความหงุดหงิดหรือโกรธที่มาทำให้หลุดจากความสงบสบายเหล่านั้น อาการท้องอืดและท้องผูกของคุณก็เช่นกันเกิดแต่เมื่อจิตหวั่นไหวเคลื่อนหลุดจากองค์ฌานครับ ควรรีบแก้ไข เพราะแม้ปฏิบัติด้วยกุศลเจตนา แต่ก็ยังเป็นมิจฉาฌาน,สมาธิอยู่ครับคือยังไม่ถูกต้อง อันยังให้โทษรุนแรงต่อธาตุขันธ์และจิตครับ อ่านรายละเอียดการแก้ไขใน ฌาน,สมาธิ จิตส่งใน ติดสุข
ปุจฉา เมื่อนั่งสมาธิแล้วปวดขามาก ควรปฏิบัติแบบใด เพ่งที่ปวดหรือเวทนา หรือตามลมหายใจอย่างเดิมดี
ปุจฉา แยกแยะได้อย่างไรว่า ปฏิบัติอย่างไรเป็นสมถสมาธิ ปฏิบัติอย่างไรเป็นการวิปัสสนา
ปุจฉา สมาธิระดับใดที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนา
ปุจฉา ผมปฎิบัติสมาธิมาได้ระยะหนึ่งแล้ว หลังๆนี่ผมสังเกตุว่า เกิดหรือทรงอาการขององค์ฌาน,สมาธิ เช่น ปีติ, สุข, สงบ ฯ. ขึ้นได้ ในขณะที่ดำเนินอยู่ในชีวิตประจำวันตามปกติ กล่าวคือเมื่อคุยธรรมะหรือกระทำอะไรที่ถูกจริตถูกใจ หรือตั้งจิตตั้งใจในสิ่งใด ก็มักเกิดปีติขนลุกซู่อิ่มเอิบขึ้นมาง่ายๆเหมือนดังเวลาเกิดปีติในการปฏิบัติสมาธิ บางครั้งก็อิ่มเอิบใจง่ายๆเมื่อระลึกถึงสิ่งที่นับถือ,ศรัทธาหรือปลาบปลื้ม และยังสามารถทรงขึ้นมาดื้อๆ หรือประคองให้ปีติ สุข สงบเหล่านี้ให้คงอยู่ได้ไปนานๆ ทำไมสิ่งเหล่านี้จึงเกิดขึ้นได้ ทั้งๆที่ไม่ได้ปฏิบัติพระกรรมฐานใดๆในขณะนั้นๆ
ปุจฉา โดยปกติผมมักทำสมาธิเป็นประจำ มีความสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง คือ ทำไมขณะตื่นนอน บางวันจะมีความรู้สึกสดชื่นมากๆ บางวันมีความรู้สึกหดหู่ หงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายๆโดยเหมือนไม่มีสาเหตุ เป็นเพราะเหตุใดครับ
ปุจฉา ผมไม่ใช่นักปฏิบัติ เป็นนักธุระกิจ มีความเครียดมาก ความรับผิดชอบสูง พร้อมทั้งมีปัญหาครอบครัว จึงมักกังวล นอนไม่ใคร่หลับ และมีโรคแทรกซ้อนต่างๆนาๆหาเหตุไม่ได้ เป็นไปอย่างนี้เกือบตลอดเวลา ผมคิดว่าจะปฎิบัติสมาธิเพื่อช่วยให้ผ่อนคลาย ตามที่มีเพื่อนๆหลายคนแนะนำมา ดีหรือไม่ประการใดครับ
ปุจฉา ผมปฏิบัติสมาธิ โดยกำหนดลมหายใจ ไม่ได้ปฏิบัติฌานเลย ไม่รู้แม้กระทั่งฌานคืออะไร ทำไมบางท่านกล่าวว่า ผมเป็นฌานด้วย แล้วต้องใช้สมาธิหรือฌานระดับใดในการปฏิบัติวิปัสสนา
ปุจฉา ฌาน,สมาธิ ดับกิเลสอะไรได้บ้าง
ปุจฉา กิเลส ที่ให้ผลตรงข้าม ที่กล่าวไว้ข้างต้นเป็นอย่างไร
ปุจฉา ผมเจริญฌานสมาธิไม่ได้ผลดีเลย คงเกิดแต่นิวรณ์ ๕ นี้เป็นเหตุนั่นเอง ผมคิดว่ามีปัญหาในข้อถีนมิทธะ คือจิตหดหู่ และง่วงเหงาหาวนอนทุกทีที่ปฏิบัติ ควรแก้ไขประการใดดีครับ
ปุจฉา ผมปฎิบัติสมาธิ สามารถนั่งได้ ๓๐ - ๖๐ นาที มีแต่ความสงบ แต่ไม่เคยเกิดองค์ฌานต่างๆ เช่น ปีติ สุข อุเบกขา เอกัคคตาใดๆดังที่เขากล่าวๆกัน ผมปฏิบัติผิดอย่างไรหรือไม่ครับ จึงไม่เคยเกิดองค์ฌาน มีโทษหรือไม่, ผมคงไม่ ติดสุขในฌาน ดังที่กล่าวๆกันใช่ไหม
ปุจฉา ติดสุขพอเข้าใจ แต่ติดสงบเป็นอย่างไร ไม่เข้าใจ ก็แค่สงบเฉยๆไม่มีอะไร ก็น่าจะดี น่าถูกต้องแล้วนี่ ปฏิบัติสมาธิก็เพื่อให้สงบไม่ใช่หรือ
ปุจฉา ผมเป็นนักปฏิบัติเช่นกัน มีความสงสัยอยู่ว่า โดยปกตินั้น ผมมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ มีความรู้สึกสงบ สบาย ร่มเย็น คลายจากทุกข์เป็นอันมากอันเนื่องมาจากการปฏิบัติ แต่ก็ยังแปลกใจอยู่อย่างหนึ่ง กล่าวคือ ทำไมในบางครั้งผมจึงหลุด เกิดโทสะเอาง่ายๆ ในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง เหมือนคนไร้เหตุผล ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้ ผมก็คงไม่มีโทสะในเรื่องอย่างนี้แน่ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นครับ
ปุจฉา ผมนั่งสมาธิทำไมมันคันเหมือนมียุงมากัด ตอนไม่นั่งสมาธิทำไมไม่คัน และบางครั้งพอเริ่มเป็นสมาธิมีอาการตัวโยกตัวคลอนสั่นเทิ้มเหมือนเจ้าเข้า เจ้าหรือผีเข้าเป็นไปได้หรือเปล่าครับ
ปุจฉา สมาธิอย่างไรที่ใช้ในการปฏิบัติวิปัสสนา
ปุจฉา การปฏิบัติสมาธิได้บุญกุศลอย่างที่เขากล่าวๆกันหรือไม่
ปุจฉา ทำไมดับทุกข์ จึงเป็นสุขอย่างยิ่ง สู้ความสุขทางโลกๆได้หรือ
ปุจฉา การปฏิบัติสมาธิ ควรใช้อะไรเป็นเครื่องอยู่หรือเครื่องล่อจิต
ปุจฉา การทำสมาธิควรปฏิบัติแบบลืมตา หรือหลับตา
ปุจฉา เวลานั่งสมาธิควรทำจิตให้สงบ เพื่อลิ้มรสของความสุข ความสงบ ความอิ่มเอิบ ซาบซ่าน ใช่ไหม
ปุจฉา ควรใช้ สมาธิ หรือ ฌาน ระดับใดในการพิจารณาธรรม(ธรรมวิจยะ) หรือโยนิโสมนสิการ
ปุจฉา นิมิตหรือภาพที่เห็นขณะปฏิบัติสมาธิ เป็นของจริงหรือไม่
ปุจฉา เมื่อเกิดปีติ สุข ในขณะปฏิบัติ ควรปล่อยอยู่ในสภาพนั้นหรือไม่
ปุจฉา ขณะปฏิบัติสมาธินั้นคำบริกรรม หรือลมหายใจขาดหายไป ควรกลับไปทำใหม่หรือไม่
ปุจฉา ถ้าไม่สามารถรวมจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ได้ ก็ไม่สามารถปฏิบัติวิปัสสนาได้ ใช่หรือไม่
ปุจฉา ขณะนี้มีปัญหา ชอบตามลมหายใจอยู่ตลอดเวลา แม้ขณะทำงาน บางครั้งเมื่อตื่นขึ้นจากการนอนก็รู้อยู่ว่าตามลมหายใจอยู่ แต่ภายหลังมีความรู้สึกอึดอัดไม่สบายเป็นอย่างมาก พยายามเลิกแล้วก็ไม่สำเร็จ
ปุจฉา เวลาปฏิบัติสมถะวิปัสสนา มักเลื่อนไหลลงไปในสมาธิหรือฌานจนไม่สามารถพิจารณาธรรมได้ จะแก้ไขอย่างไรดี
ปุจฉา การปฏิบัติสมาธิมีแต่คุณ ไม่มีโทษใดๆใช่หรือไม่ และปฏิบัติอย่างไรจึงเป็นสัมมาสมาธิ
ปุจฉา มีผู้กล่าวว่า ฌาน ความว่าง เป็นวิหารธรรม หรือเครื่องอยู่ของเหล่าพระอริยเจ้า แม้แต่ในตำราหรือคำภีร์ก็มีระบุอย่างชัดแจ้ง ว่าแม้แต่พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสไว้ว่า ท่านมีฌานเป็นวิหารธรรมหรือเครื่องอยู่ แล้วทำไมเมื่อเราปฏิบัติกันแล้วจึงกล่าวว่าอาจเป็นโทษได้ เป็นมิจฉาสมาธิบ้าง เป็นมิจฉาฌานบ้าง, อย่างไรถูก อย่างไรผิดกันแน่ สับสนไปหมดแล้ว
ปุจฉา บางครั้งเมื่อนั่งสมาธิและได้อารมณ์สมาธิดี มีความรู้สึก ว่ามือ เท้า หรือตัวหายไป บางครั้งก็รู้สึกว่าตัวเบาราวกับลอยได้ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? ดีหรือไม่ดีประการใด? มีโทษไหม?
ปุจฉา จำเป็นต้องฝึกสมาธิก่อนไหม ในการปฏิบัติ บางท่านก็ว่าไม่จำเป็น บางท่านก็ว่าจำต้องฝึกสมาธิก่อน ถ้าจำเป็นแล้ว ต้องใช้สมาธิและฌานระดับใดในการวิปัสสนา
ปุจฉา ผมมีอาการติดสุขดังที่กล่าว ผมควรทำอย่างไร
ปุจฉา เมื่อก่อนผมเป็นคนใจเย็นมาก แต่หลังจากที่หัดทำสมาธิจนเกิดความสงบได้บ่อยครั้งจนกระทั่งร่างกายตัวตนหายไป ลมหายใจหายไป เหลือเพียงสภาพว่างเปล่าแบบไม่มีอะไรเลยจริงๆ แล้วหลังจากนี้ไม่นาน ผมได้สังเกตุว่าผมเริ่มจะเป็นคนอารมย์ร้าย หงุดหงิด และโกรธง่ายขึ้น และคิดมากขึ้นกว่าเดิม มันเกิดจากอะไรครับ ทำไมได้ความสงบแล้วแทนที่จะเป็นคนหนักแน่นและใจเย็นแต่ผลออกมากลับตรงกันข้าม ผมปฏิบัติผิดยังไงครับ และควรจะแก้ไขยังไงดี และมีโรคประจำตัวเพิ่มเข้ามาเป็นอยู่ทุกวันเลย คืออาการท้องอืดไม่หาย และท้องผูก ขอบคุณครับ
-------------------
มิจฉาสมาธิ ย่อมบังเกิดแก่ผู้มีมิจฉาสติ
สัมมาสมาธิ ย่อมบังเกิดแก่ผู้มีสัมมาสติ
มิจฺฉาสติสฺส มิจฺฉาสมาธิ ปโหติ
สมฺมาสติสฺส สมฺมาสมาธิ ปโหติ
(อวิชชาสูตร ๑๙/๑)
ควรอ่าน
ติดสุข และอาการต่างๆของนักปฏิบัติ
ขอแนะนำ
วิธีเจริญจิตภาวนา ของท่านหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
ในการปฏิบัติวิปัสสนา
ธรรมข้อคิดของพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท)
ลงท้ายแล้ว
แนวทางการทำสมาธิภาวนาทุกแบบ
ต้องเป็นไปเพื่อการปล่อยวาง
ผู้ปฏิบัติต้องไม่ยึดมั่น
.. แม้ในตัวอาจารย์
แนวทางใดที่นำไปสู่การปล่อยวาง สู่การไม่ยึดมั่นถือมั่น
ก็เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง
ถาม-ตอบ อันเนื่องมาจากสมุดเยี่ยม